สปอร์ตแวร์ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 14 Mar 2024 11:13:44 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 Adidas “ขาดทุน” ครั้งแรกในรอบ 30 ปี! ผลจากตลาดสหรัฐฯ หดตัวแรง และปัญหารองเท้า “Yeezy” https://positioningmag.com/1466124 Wed, 13 Mar 2024 11:02:55 +0000 https://positioningmag.com/?p=1466124 ยักษ์เสื้อผ้ากีฬา Adidas รายงานผลประกอบการปี 2023 “ขาดทุน” ครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1992 หลังตลาดสหรัฐฯ หดตัวแรง ความนิยมสปอร์ตแวร์ลดลง และผลต่อเนื่องจากการยกเลิกการขายรองเท้า “Yeezy”

“Adidas” บริษัทเสื้อผ้ากีฬาเยอรมัน รายงานผลประกอบการปี 2023 ขาดทุนสุทธิ 58 ล้านยูโร (ประมาณ 2,260 ล้านบาท) ถือเป็นการขาดทุนครั้งแรกในรอบ 30 ปีของบริษัท

ปัญหาของ Adidas เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2022 เมื่อบริษัทประกาศตัดขาดสัญญาคอลแลปแบรนด์กับ “คานเย่ เวสต์” นักร้องที่มีปัญหาเรื่องเหยียดเชื้อชาติ ทำให้รองเท้า “Yeezy” ที่คอลแลปร่วมกันต้องหยุดขายทันทีและกลายเป็นสินค้าค้างสต็อก ซึ่งรองเท้ารุ่นนี้ถือเป็นตัวทำกำไรอย่างงามให้กับ Adidas มาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ “บีจอร์น กัลเดน” รับตำแหน่งซีอีโอคนใหม่ของ Adidas เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2023 เขาสั่งการให้แบรนด์นำ Yeezy ที่ค้างสต็อกออกมาเคลียร์ขายออกให้หมด โดยตั้งราคาขายอย่างน้อยต้องไม่ขาดทุน และมีการลดราคาเป็นระยะๆ เพื่อกระตุ้นผู้บริโภค

นอกจากนโยบายนี้ กัลเดนยังเร่งผลักดันให้แบรนด์ส่งเสริมการขายรองเท้ารุ่นฮิตรุ่นอื่นของแบรนด์ คือ Samba กับ Gazelle ซึ่งเป็นรองเท้าข้อต่ำที่กำลังกลับมาอยู่ในเทรนด์แฟชั่นอีกครั้ง จนทำให้ยอดขายรองเท้า Adidas กลับมาโต 8% ในช่วงไตรมาส 4 ปีก่อน

“แม้ว่าผลประกอบการปี 2023 จะไม่ดีพอ แต่ก็ดีกว่าที่ผมคาดไว้เมื่อตอนต้นปี” กัลเดนกล่าว

Adidas
“บีจอร์น กัลเดน” ซีอีโอ Adidas (Photo: Adidas)

อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ Adidas ยอดขายตกต่ำลงมาจากยอดขายฝั่งสหรัฐอเมริกาที่ตกลง 16% ตลอดปี 2023 โดยเฉพาะไตรมาส 4 ปีก่อนถือว่าหนักที่สุดเพราะยอดขายลดลง 21% บริษัทยังคาดการณ์ด้วยว่าปี 2024 ตลาดสหรัฐฯ น่าจะยังไม่ดีขึ้นและยอดขายน่าจะตกลงอีก 5% เพราะดีมานด์สินค้าสปอร์ตแวร์ในตลาดค่อนข้างต่ำ และร้านค้าปลีกยังสต็อกสินค้าไว้สูงจนต้องมีการลดราคาสินค้าหลายแบรนด์เพื่อล้างสต็อก

อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมของ Adidas บริษัทเชื่อว่าจะกลับมาเติบโตได้ โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีหลัง 2024 น่าจะโตแบบดับเบิลดิจิต แม้ว่าความนิยมในเสื้อผ้าสปอร์ตแวร์โดยรวมจะลดลง แต่ Adidas เชื่อว่าแบรนด์จะชิงส่วนแบ่งตลาดกลับมาจากแบรนด์อื่นๆ ได้สำเร็จ

สภาวะตลาดเครื่องกีฬานั้นไม่ได้มีแค่ Adidas ที่ประสบปัญหา เมื่อเดือนก่อน Nike ก็เพิ่งจะประกาศเลย์ออฟพนักงานออก 2% ของบริษัท หรือเท่ากับตำแหน่งงาน 1,600 ตำแหน่ง เพื่อลดต้นทุนในช่วงที่อุปสงค์ในตลาดต่ำลง

“ทิศทางบริษัทกำลังไปในทางที่ถูกต้องตั้งแต่ บีจอร์น กัลเดน เข้ามารับตำแหน่งซีอีโอ” โธมัส โจเคล ผู้จัดการพอร์ตที่ Union Investment วิเคราะห์ “ความร้อนแรงของแบรนด์เริ่มดีขึ้น วัดได้จากการลดราคาสินค้าที่เริ่มมีให้เห็นน้อยลงแล้ว”

ปี 2024 นี้ ตลาดที่ Adidas คาดหวังมากว่าจะฟื้นตัวดีคือ “จีน” เพราะเมื่อปี 2023 ตลาดจีนโต 8% และเชื่อว่าปี 2024 จะโตแบบดับเบิลดิจิตได้

รองเท้ารุ่น Yeezy ที่ Adidas คอลแลปกับคานเย่ เวสต์

สำหรับปัญหารองเท้า Yeezy นั้น คริสติน่า เฟอร์นันเดซ นักวิเคราะห์จาก Telsey Advisory Group มองว่า “ยังคาดการณ์ได้ยาก” ว่าจะทำได้เร็วแค่ไหนและกำไรมากน้อยเท่าใด แม้ว่าที่ผ่านมาแบรนด์จะทำยอดขายล้างสต็อกสินค้าตัวนี้ได้ดีก็ตาม

ปีที่แล้ว Adidas ทำรายได้จากการขาย Yeezy ไป 750 ล้านยูโร (ประมาณ 29,200 ล้านบาท) ได้กำไรสุทธิ 300 ล้านยูโร (ประมาณ 11,700 ล้านบาท) ซึ่งในจำนวนนี้บริษัททำการแบ่งกำไร 140 ล้านยูโร (ประมาณ 5,500 ล้านบาท) บริจาคให้กับองค์กรการกุศลที่ต่อสู้กับการเหยียดเชื้อชาติและเหยียดชาวยิว

Source

]]>
1466124
16 ปีแห่งความหลัง “Champion” คัมแบ็กตลาดไทย สู้ศึกตลาดแฟชั่น 2.4 หมื่นล้าน https://positioningmag.com/1186164 Tue, 04 Sep 2018 05:56:57 +0000 https://positioningmag.com/?p=1186164 เรื่อง : Thanatkit

การแต่งตัวแนว “สปอร์ตแวร์” กำลังเป็นเทรนด์ร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ สังเกตได้จากคนทำงานออฟฟิศ ที่ไม่จำเป็นต้องใส่สูทผูกไทอีกแล้ว หากสามารถใส่เสื้อยืด กางเกงยีนส์ ทับด้วยสูทและรองเท้าผ้าใบ ก็ดูเป็นชุดลำลองที่สุภาพ และเข้าทำงานได้

เป็นหนึ่งในปัจจัยที่กระตุ้นให้ตลาดแฟชั่น ของเมืองไทยในปี 2018 เติบโตขึ้น 20-30% มีมูลค่าราว 704 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 24,640 ล้านบาท (คูณด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่ 35 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐ)

เซ็กเมนต์ที่มีขนาดใหญ่สุดและเติบโตสูงคือเสื้อผ้า ที่มีมูลค่าประมาณ 16,415 ล้านบาท คาดว่าปีนี้จะเติบโตอยู่ที่ 22.4% โดยมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 1,044 บาท/ชิ้น

ที่สำคัญเสื้อผ้ายังมีแนวโน้มที่สัดส่วนในตลาดจะเพิ่มจาก 37.8% ในปี 2018 ไปเป็น 51.1% ภายในปี 2022

ด้วยแนวโน้มของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปิดรับ และสถานการณ์ตลาดที่เติบโตต่อเนื่อง ทำให้สปอร์ต รีโวลูชั่นผู้นำเข้า จำหน่าย และบริหารธุรกิจร้านค้าปลีก สินค้ากลุ่มสปอร์ตและไลฟ์สไตล์แฟชั่น ตัดสินใจนำ “Champion” (แชมเปี้ยน) แบรนด์สปอร์ตแฟชั่นสัญชาติอเมริกา ที่มีอายุ 99 ปีให้เข้ามาให้เมืองไทยอีกครั้ง

หลังจากที่ก่อนหน้านี้เมื่อ 16 ปีที่แล้ว Champion เคยมีผู้รับสิทธิ์เข้ามาวางขายแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ด้วยสินค้ายังไม่ตอบโจทย์ลูกค้าเท่าไหร่นัก จึงต้องออกจากตลาดไป และเริ่มกลับเป็นที่รู้จักอีกครั้งเมื่อ 3 ปีก่อน ด้วยการพรีออเดอร์ของกลุ่มผู้ที่ชื่นชอบ และมีบางร้านเช่น Footwork Noir ที่นำเข้ามาวางขาย แต่ก็ไม่ได้เป็นดิสทริบิวเตอร์

พรศักดิ์ ชินวงศ์วัฒนา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สปอร์ต รีโวลูชั่น จำกัด กล่าวว่า

ดีลนี้ใช้เวลากว่า 2 ปีในการเจรจา และเพิ่งเซ็นสัญญาไปเมื่อปลายปีก่อน โดยสปอร์ต รีโวลูชั่นจะเป็นดิสทริบิวเตอร์รายเดียวในเมืองไทย และถือเป็นรายแรกของอาเซียนด้วย ทั้งๆ ที่เมื่อเทียบกันแล้วตลาดแฟชั่นในสิงคโปร์ใหญ่ที่สุด รองลองมาเป็นไทยที่สูสีกับมาเลเซีย แต่ Champion ตัดสินใจเซ็นสัญญากับเรา ซึ่งเชื่อว่าเหตุผลที่เลือกมาจากภาพรวมตลาดที่โตต่อเนื่อง และมั่นใจในตัวสปอร์ต รีโวลูชั่นที่มีประสบการณ์ในด้านนี้

พรศักดิ์ ชินวงศ์วัฒนา

เขายังกล่าวอีกว่าการนำเข้า Champion จะช่วยเข้ามาเสริมภาพความเป็นไลฟ์สไตล์แฟชั่นของสปอร์ต รีโวลูชั่นให้มากขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้แบรนด์ที่มีอยู่ในมือจำนวน 13 แบรนด์ ส่วนใหญ่เป็นแบรนด์กีฬาทั้งนั้น เช่น Nike, Under Armour, ASICS เป็นต้น

Champion สาขาแรกเปิดขึ้นที่ชั้น 3 โซนเอเทรียม ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อ 1 กันยายน 2018 โดยวางให้เป็นแฟล็กชิพสโตร์ ใช้งบลงทุน 20 ล้านบาท มีพื้นที่ประมาณ 80 – 100 ตารางเมตร

สินค้าถูกนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น 100% ซึ่งหลักๆ แล้วสินค้าของ Champion จะมีฐานผลิตอยู่ที่อเมริกาและญี่ปุ่น แต่เหตุผลที่เลือกญี่ปุ่นเนื่องจากมีดีไซน์แบบมินิมอล (Minimal) และมีขนาดที่เหมาะกับคนไทย ส่วนอเมริกาจะเน้นสินค้ากลุ่มสปอร์ตมากกว่าไลฟ์สไตล์ อีกทั้งถ้านำเข้าจากที่นี้จะเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับบริษัท

ราคาจะห่างจากญี่ปุ่นประมาณ 10-15% มีตั้งแต่ 1,100 บาท เป็นเสื้อทีเชิ้ต ไปจนถึง 7,000 บาท ที่เป็นแจ็กเก็ต โดยรวมๆ จะมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 3,200 บาท

Champion วางตำแหน่งตัวเองให้อยู่ในกลุ่มเสื้อผ้าไลฟ์สไตล์ และเสื้อผ้ากีฬา โดยมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายระดับ B ขึ้นไป อายุ 18-34 ปี เป็นผู้ชาย 60% และผู้หญิง 40%

เป้าหมายหลักจะเป็นกลุ่มวัยรุ่นถึงวัยทำงานตอนต้นถึงกลาง มีกำลังซื้อสูง มีพฤติกรรมความต้องการสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ มีสไตล์เป็นของตนเอง ส่วนกลุ่มรองลงมาคือกลุ่มวัย 40 ปีขึ้นไปที่เคยใช้ Champion มาก่อน และอยากจะใช้อีกครั้ง

ส่วนแผนการตลาดในเบื้องต้นมีเป้าหมายสร้างการรับรู้ให้กับกลุ่มเป้าหมายว่า Champion กลับมาแล้ว จะเน้นใช้ช่องทางดิจิทัลผ่านสื่อออนไลน์และ Influencers เข้ามาเสริม

สปอร์ต รีโวลูชั่น จะพยายามไม่ให้มีอุปสรรคในเรื่องของราคา แต่จะกระตุ้นให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อด้วยสินค้า ไปพร้อมๆ กับการสร้างลอยัลตี้

ถามว่าคู่แข่งของ Champion คือใคร ถ้าเป็นทางตรงก็คงไม่มี เนื่องจากเสื้อผ้าและ Accessories มี Category เป็นของตัวเอง ซึ่งไม่ใช่แค่ในไทย แต่ในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ก็เป็น ส่วนทางอ้อมก็เป็นแบรนด์กีฬาอื่นๆ ที่มีสินค้าไลฟ์สไตล์อยู่ในพอร์ต

นอกจากสาขาแรกที่เซ็นทรัลเวิลด์แล้ว ในปีนี้ยังวางแผนเปิดอีก 2 สาขา ไอคอนสยาม และเมกาบางนา คาดว่าจะสามารถเปิดร้านได้ในเดือนพฤศจิกายน

ส่วนปีหน้าวางแผนเปิดอีก 5-6 สาขา หลักๆ มีสถานที่เตรียมไว้หมดแล้ว ส่วนใหญ่อยู่ในทำเลใจกลางเมืองและเดินทางสะดวกด้วยรถไฟฟ้า คาดว่าจะใช้งบลงทุนสาขาละ 20 ล้านบาท มีพื้นที่ 80-100 ตารางเมตร โดยปีถัดไปวางแผนจะเริ่มขยายไปในหัวเมืองอื่นๆ ด้วย

สำหรับสปอร์ต รีโวลูชั่นปีนี้คาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 2,600 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนที่มีรายได้ 2,000 ล้านบาท หลักๆ จะมาจาก 4 แบรนด์ คือ Nike, Under Armour, ASICS และ Crocs

ส่วน Champion มีการตั้งเป้ารายได้ 500 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนรายได้ 20-25% ภายในปี 2020 หรือจะมีรายได้รวมทั้งบริษัทที่ 3,000 ล้านบาท หลังจากนี้มีแผนที่จะนำเข้าแบรนด์ใหญ่อีก 2-3 แบรนด์.

]]>
1186164