สื่อโซเชียลมีเดีย – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Fri, 14 Jun 2024 03:48:26 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ป้องกันนักสืบโซเชียล! “X” (ชื่อเดิม: Twitter) เริ่มล็อกไม่ให้คนอื่นส่องได้ว่าเรากด “Like” อะไรบ้าง https://positioningmag.com/1478095 Thu, 13 Jun 2024 10:07:10 +0000 https://positioningmag.com/?p=1478095 “X” (หรือ Twitter เดิม) เริ่มปรับฟีเจอร์กด “Like” ไม่ให้คนอื่นเข้ามาส่องได้ว่าเจ้าของบัญชีกดหัวใจให้ทวีตอะไรบ้าง ข้อมูลการ Like จะเป็นส่วนตัวมีเฉพาะเจ้าของบัญชีที่กดและเจ้าของทวีตนั้นๆ เท่านั้นที่รู้ ถือเป็นนโยบายล่าสุดจาก “อีลอน มัสก์” ที่ไม่ชอบปุ่ม Like มานานแล้ว

ตั้งแต่เมื่อหลายสัปดาห์ก่อน “เห่าเฟยหวัง” ผู้อำนวยการด้านวิศวกรรมของ X เปิดเผยว่า แพลตฟอร์มกำลังจะมีการปรับปรุงฟีเจอร์ใหม่ และเป็นการปรับเพื่อ “ปกป้องภาพลักษณ์สาธารณะของผู้ใช้งาน” เพราะ “หลายคนรู้สึกไม่กล้ากด Like คอนเทนต์ที่ล่อแหลม”

จนวันนี้ฟีเจอร์ใหม่ที่ว่าเป็นไปตามแนวคิดของ X นั่นคือ การปรับให้ผู้อื่นไม่สามารถมองเห็นได้ว่าเจ้าของบัญชีกด Like อะไรไปบ้าง จากเดิมสามารถเข้าไปดูได้ที่หน้าโปรไฟล์

ฟีเจอร์ใหม่จะมีแต่เจ้าของบัญชีเท่านั้นที่กลับไปดูย้อนหลังได้ว่าตนเคย Like คอนเทนต์ไหน รวมถึงเจ้าของทวีตนั้นๆ สามารถดูได้ว่ามีใครมา Like ตัวเองบ้าง 

การปรับฟีเจอร์นี้จึงทำให้การ Like “ถูกล็อก” คนทั่วไปไม่สามารถเข้าไป “ส่อง” ได้ง่ายๆ

หน้า Like บนบัญชีส่วนตัวจะมีข้อความขึ้นมาแจ้งว่า “การ Like ของคุณเป็นส่วนตัว มีแต่คุณเท่านั้นที่เห็น”

สำหรับการ Like นั้นมีฟังก์ชันที่ต่างจากการ Repost เพราะการ Repost จะทำให้ทวีตนั้นขึ้นหน้าหลักในโปรไฟล์ของบัญชี แต่ Like จะไม่แสดงที่หน้าหลัก

ทำให้หลายๆ คนมักจะเลือก Repost คอนเทนต์ที่ตัวเองต้องการจะเผยแพร่บอกต่อ ส่วน Like เหมือนมีไว้กดบอกเจ้าของทวีตว่าชอบคอนเทนต์แต่ไม่อยากให้ใครเห็นชัดๆ ว่าเราอยากช่วยเผยแพร่

ปัญหาคือ ทวีตที่ถูก Like มากมายจึงมักจะเป็น “เรื่องลับๆ” ที่สุ่มเสี่ยงต่อกระแสสังคม เช่น แนวคิดรุนแรงทางการเมือง เหยียดเพศ/เหยียดผิว ภาพโป๊ เป็นต้น หลายคนกด Like โดยไม่คิดว่าจะเป็นปัญหา จนกระทั่งนักสืบโซเชียลส่องเจอ ยกตัวอย่างในสหรัฐฯ “เท็ด ครูซ” วุฒิสมาชิก เคยใช้บัญชีส่วนตัวกด Like คลิปโป๊ และมีคนพบเห็น ทำให้เขาตกเป็นเป้าทางการเมืองทันที

ถ้าถามว่าทำไม X ไม่นำปุ่ม Like ออกไปเลยเสียทีเดียว? สำนักข่าว Independent ให้ความเห็นว่า เป็นเพราะพฤติกรรมการใช้งานโซเชียลมีเดียของคนเรา มักจะต้องการกดปุ่มอะไรสักอย่างระหว่างชมคอนเทนต์เพื่อมีส่วนร่วมกับคอนเทนต์นั้นๆ การนำปุ่ม Like ออกไปเลยจะทำให้การมีส่วนร่วมของผู้ใช้ลดลงมาก

สรุปได้ว่า ต่อไปนี้ผู้ใช้ X จะสามารถกด Like คอนเทนต์สุ่มเสี่ยงทั้งหลายได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องกลัวว่าจะมีใครมาส่องเจอ

หลังจาก X แถลงอย่างเป็นทางการว่ามีการล็อกหน้า Like แล้ว “อีลอน มัสก์” เจ้าของ X คนปัจจุบันได้นำข่าวนี้มาเผยแพร่ประกอบข้อความของตนเองว่าเรื่องนี้ “สำคัญมากเพราะเป็นการปล่อยให้ผู้ใช้งานได้กด Like โพสต์ต่างๆ โดยไม่ต้องถูกสังคมโจมตีอีกต่อไป!”

ตัวอีลอน มัสก์เองก็เคยประสบภัยจากการถูกส่องว่ากด Like อะไรบ้างมาแล้ว เช่น เมื่อเดือนมิถุนายน 2023 ซึ่งเป็นช่วง Pride Month มัสก์มีการ Like ทวีตข่าวและมุกตลกที่สื่อถึงการต่อต้านทรานส์เจนเดอร์ และตกเป็นเป้าวิจารณ์ของสังคม LGBTQ+ จึงเป็นไปได้สูงว่าการนำปุ่ม Like ออกคือนโยบายโดยตรงมาจากมัสก์นี่เอง

ที่มา: The Verge, Independent, Them US

]]>
1478095
‘มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก’ ลุยปรับลดการมองเห็นคอนเทนต์ ‘การเมือง’ บน Faecbook ทั่วโลก https://positioningmag.com/1317108 Fri, 29 Jan 2021 09:08:45 +0000 https://positioningmag.com/?p=1317108 มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กซีอีโอเเละผู้ก่อตั้ง Facebook เริ่มเอาจริงกับการเดินหน้าลดการเเสดงคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับการเมืองบน News Feed โดยยกให้เป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของปีนี้เลยทีเดียว

เจ้าพ่อโซเชียลมีเดีย กล่าวถึงประเด็นดังนี้ในงานแถลงผลประกอบการไตรมาส 4 ปีของ 2020 ว่า Facebook จะเริ่มลดการมองเห็นเนื้อหาทางการเมืองในแพลตฟอร์ม เเละหยุดการแนะนำกลุ่มและเพจการเมืองบน News Feed  เพื่อลดความแตกแยก ซึ่งจะเริ่มทำจริงจังในปีนี้

ผู้ใช้งาน Facebook ไม่ได้ต้องการให้การเมืองและการปะทะบนคีย์บอร์ดมาทำลายประสบการณ์ใช้งานของแพลตฟอร์ม เราจะมุ่งทำงานเพื่อสร้างพลังบวกและสร้างความใกล้ชิดระหว่างผู้คนมากขึ้น

บริษัทเริ่มปรับลดความสำคัญของคอนเทนต์การเมืองลงเรื่อยๆ นำร่องด้วยการหยุดแนะนำกลุ่มการเมืองในสหรัฐฯ ในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดี 2020 รวมไปถึงการประกาศ ‘แบน’ บัญชีของโดนัลด์ ทรัมป์ จนกว่าโจ ไบเดนจะเข้ารับตำแหน่ง เพื่อป้องกันการปลุกปั่น

โดยหลังจากนี้ Facebook จะลดการนำเสนอคอนเทนต์ทางการเมืองด้วยอัลกอริทึมในระยะยาวเเละจะไม่จำกัดเเค่ในอเมริกาอีกต่อไป เเต่จะขยายให้ครอบคลุมเเพลตฟอร์มทั่วโลก

Photo : Shutterstock

อย่างไรก็ตามซักเคอร์เบิร์กไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเเน่ชัดว่า เนื้อหาเเบบใดที่จะเข้าข่ายว่าเป็นกลุ่มการเมือง เเละไม่ได้ระบุว่าการนโยบายใหม่นี้จะกระทบต่อการรับข้อมูลข่าวสารบน News Feed ของผู้ใช้หรือไม่ เเต่เขาเน้นย้ำว่า เสรีภาพในการแสดงออกบน Facebook ยังมีอยู่และจะไม่มีจำกัดการเเสดงความคิดเห็นทางการเมืองแน่นอน

ที่ผ่านมา Facebook ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่สร้างความแตกแยกทางการเมือง โดยมีการเรียกร้องให้จำกัดการแนะนำ ‘Facebook Group’ ของระบบอัลกอริทึม เนื่องจากมีผู้ใช้บางกลุ่มทำเป็นเป็นช่องทางเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ ปั่นข่าวปลอม (Fake News) หรือนัดจัดกิจกรรมที่มีความรุนแรง เป็นต้น

Facebook เปิดเผยผลประกอบการไตรมาส 4/2020 มีรายได้รวมอยู่ที่ 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 33% มีผลกำไรอยู่ที่ 11,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 53% เมื่อเทียบกับปีก่อน

ส่วนรายได้ของตลอดทั้งปี 2020 อยู่ที่ 8.59 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 22% จากปี 2019 โดยเป็นรายได้จากค่าโฆษณาถึง 98% ซึ่งเป็นอานิสงส์จากการล็อกดาวน์ในช่วงเพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้ผู้คนใช้เวลากับโซเชียลมีเดียขณะเดียวกันธุรกิจต่างๆ ก็หันมาทุ่มงบทำตลาดในเเพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น

 

ที่มา : Engadget , BBC , Reuters , Yahoo

]]>
1317108
เจาะลึกพฤติกรรม Gen Y ทำไมเป็นวัยหนี้ท่วม? https://positioningmag.com/1254769 Mon, 25 Nov 2019 11:39:54 +0000 https://positioningmag.com/?p=1254769 ใครๆ ก็ว่าชาว Gen Y เป็นกลุ่มที่น่าห่วงที่สุดในเรื่องของการใช้เงิน จริงหรือไม่ (ลองถามใจดู) เนื่องด้วยพฤติกรรมยุคใหม่ที่ต้องตามเทคโนโลยีให้ทัน แฟชั่นก็ต้องมา ของอร่อยก็เยอะ ทำให้วัยนี้ที่เริ่มมีรายได้มั่นคงมากขึ้นกว่าช่วงเรียนจบใหม่ มักมีค่าใช้จ่ายแบบไม่จำเป็นเพิ่มตามไปด้วย และในที่สุดก็กลายเป็นหนี้

เปิดสำรวจพฤติกรรมใช้เงิน Gen Y

เปิดมาด้วยประโยคสะเทือนใจว่า จำนวนคนกลุ่ม Gen Y (ช่วงอายุ 23-38 ปี) ในไทยมีอยู่ 14.4 ล้านคน โดยกว่า 50% (ราว 7.2 ล้านคน) ของชาว Gen Y ทั้งหมดเป็นหนี้และเฉลี่ยภาระหนี้ตัวหัวสูงถึง 4.23 แสนบาท และที่สำคัญคือ “กว่า 1.4 ล้านคน เป็นหนี้แบบผิดนัดชำระ” ซึ่งคิดเป็นหนี้เสีย 7% ของยอด NPL รวม

นี่คือผลงานวิจัยล่าสุดจาก ธนาคารทหารไทย หรือทีเอ็มบี จับมือกับ Wisesight (ไวซ์ไซท์) สำรวจพฤติกรรมทางการเงินของ Gen Y ผ่านแคมเปญ #ของมันต้องมีก่อน40 เพื่อหวังจะช่วยกระตุ้นในเกิดการออมเงินที่ดีขึ้น

โดย 3 ทัศนคติที่ก่อให้เกิดหนี้ทั้งที่อาจจะไม่จำเป็นนั้นมาจาก

  • การบริโภคนิยม
  • ตัดสินใจซื้อแบบไม่คิด
  • ความสุขที่ซื้อด้วยประสบการณ์
Photo : Pixabay

ฝันอยากมีบ้าน มีรถ ความจริงน่าเศร้า…มีแต่หนี้

นริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร TMB Analytics เปิดเผยข้อมูลว่า จากการสำรวจความใฝ่ฝันของชาว Gen Y ที่อยากมีก่อนอายุ 40 ปี นั้นพบว่าอยากมีบ้านมากที่สุดถึง 48% รองลงมาเป็นรถยนต์ 22% และเงินออมทรัพย์-สินทรัพย์ 13%

แต่เมื่อกลับมาสู่โลกความเป็นจริงพบว่า Gen Y มียอดใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าที่เข้าข่าย “ของมันต้องมี” มากถึง 69% สวนทางกับสิ่งที่ฝันอยากมี เช่น บ้าน และรถยนต์ ที่มีสัดส่วนที่ลดลงมากแค่ 12% และ 10% ตามลำดับ รวมทั้งสัดส่วนเงินออมที่มีอยู่เพียง 9% เท่านั้น

ส่วนใหญ่ Gen Y หมดเงินไปกับ “ของมันต้องมี” ปีละเกือบแสนหรือ 1 ใน 4 ของรายได้ต่อปี โดยเฉลี่ยตกคนละ 95,518 บาทต่อปี จากรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีอยู่ที่ 377,694 บาท โดยใช้ซื้อสินค้ายอดฮิตอย่าง สมาร์ทโฟน 22% เสื้อผ้า 11% เครื่องสำอาง 8% อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 5% กระเป๋า 4% และนาฬิกา/เครื่องประดับ 2%

รายจ่ายของมันต้องมี พุ่งปีละ 1.37 ล้านล้าน

ถ้าขยายภาพให้ชัดเจนในแต่ละปีกลุ่ม GEN Y ใช้เงินไปกับ“ของมันต้องมี” ถึงปีละ 1.37 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าสูงเทียบได้กับ 13% ของรายได้ประเทศ (GDP) หรือ 8 เท่าของมูลค่าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หรือ 91% ของมูลค่าการลงทุนในโครงการ EEC 5 ปี

ทำไมชาว GEN Y อยากได้ “ของมันต้องมี”

จากผลสำรวจพบว่า มีเหตุผลหลักๆ เช่น ซื้อตามเทรนด์กลัวเอาท์ (42%) มากกว่ามองเป็นของจำเป็น (37%)  แถมเงินที่ใช้ซื้อนั้น คนส่วนใหญ่ (70%) บอกมีเงินไม่พอ แต่ใช้การกู้จากธนาคารและใช้บัตรเครดิตกับบัตรกดเงินสดในการใช้จ่าย ซึ่งเมื่อลงรายละเอียดพบว่ามากกว่า 70% ของ GEN Y มีการผ่อนชำระที่ต้องเสียดอกเบี้ย

นริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร TMB Analytics

อยากมีเงินเก็บเป็นล้าน แต่ออมเงินได้ไม่กี่พัน

กลุ่ม GEN Y ที่เริ่มต้นทำงานเฉลี่ยตั้งเป้าอยากมีเงินเก็บ 6 ล้านบาท แต่ออมเงินแค่เฉลี่ยเดือนละ 5,500 บาท ซึ่งถ้าเก็บด้วยอัตรานี้ต้องใช้เวลาถึง 90 ปี ซึ่งยาวนานกว่าอายุขัยเฉลี่ยของคนปกตินั่นเอง

และเมื่อเจาะลึกพฤติกรรมทางการเงินและทัศนคติของ GEN Y พบว่า GEN Y ที่มีพฤติกรรมการใช้จ่าย “ของมันต้องมี” น้อยกว่าเงินเก็บมีสัดส่วน 53% ขณะที่กลุ่มที่มีพฤติกรรมค่าใช้จ่าย “ของมันต้องมี” มากกว่าเงินเก็บอยู่ที่ 47% แม้สัดส่วนน้อยกว่าอีกกลุ่ม แต่เมื่อคิดเป็นจำนวนแล้วมีถึง 6.8 ล้านคน จึงเป็นสิ่งต้องให้ความสำคัญอยู่

ใช้เงินก่อนออม VS ออมเงินก่อนใช้

หากแบ่งแบ่ง GEN Y ได้เป็น 2 กลุ่มตามพฤติกรรมการใช้จ่าย ได้แก่

  1. กลุ่ม GEN Y “ของมันต้องได้ แต่เงินไม่มี”

โดยพฤติกรรมการใช้เงินก่อนออม เมื่อมีรายได้เข้ามาแต่ละเดือน จะนำไปชำระหนี้และซื้อของอุปโภคบริโภคก่อน (60%) ส่วนที่เหลือค่อยเก็บเป็นเงินออม อีกทั้งมักเก็บเงินผิดที่ คือมีเงินกองอยู่ในบัญชีออมทรัพย์ทั่วไปในสัดส่วนที่สูง

2) กลุ่ม GEN Y “ของมันต้องมี และเก็บเงินได้”

กลุ่มนี้จะมีพฤติกรรมที่ตรงข้าม คือพอมีรายได้เข้ามา ก็จะกันเงินส่วนหนึ่งไว้สำหรับเงินออมเป็นสัดส่วนที่สูง (33%) ก่อนที่จะใช้จ่าย หรือพูดได้ว่าเป็น GEN Y ที่มีวินัยทางการเงิน อีกทั้งยังมีการวางแผนการออมและการลงทุนสะท้อนจากการมีเงินในบัญชีเงินฝากดอกเบี้ยสูงและลงทุนในหุ้นหรือตราสารทางการเงินอื่นๆ รวมแล้วเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าโดยเปรียบเทียบ

โดย TMB Analytics ฝากคำแนะนำถึงชาว GEN Y ว่าจะต้องทำอย่างไรหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างไรเพื่อนำไปสู่การมีพฤติกรรมทางการเงินที่ดีหรือมีวินัยทางการเงิน สิ่งแรกคือ ลดเงินที่ใช้กับ“ของมันต้องมี” ลงแค่ 50% เพราะหากเลิกทั้งหมดคงจะดูหักดิบเกินไป และต้องทำควบคู่กับวางแผนการบริหารเงินให้ดีโดยเพิ่มการออมการลงทุนให้ถูกที่ แค่นี้ GEN Y จะมีเงินสะสมเพิ่มขึ้น 43,000 บาทต่อปี เช่นหากเก็บไว้ 10 ปีจะซื้อรถยนต์ได้ 20 ปี เซ้งร้านขายกาแฟที่ทองหล่อได้ และ 30 ปี ซื้อคอนโดมิเนียมย่านห้วยขวางได้ เป็นต้น

พลังของ Influencer กับแคมเปญ #ของมันต้องมีก่อน40

พุทธศักดิ์ ตันติสุทธิเวท ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูล บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด เผยถึงข้อมูลที่ได้จากวิเคราะห์เก็บข้อมูล ว่า ปัจจุบันคนไทยใช้สื่อสังคมออนไลน์ 74% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งคิดเป็น อันดับ 8 ของโลก

สำหรับจำนวนผู้ใช้โซเชียลในประเทศไทย พบว่าสื่อสังคมออนไลน์ยอดนิยมที่ครองใจคนไทยในยุคนี้ และมีผู้ใช้งานบน Facebook 56 ล้านบัญชี Instagram 13 ล้านบัญชี และ Twitter 9.5 ล้านบัญชี และระยะเวลาที่ใช้คิดเป็น  3 ชั่วโมง 11 นาที เวลาเฉลี่ยใน 1 วัน และยังพบว่า 80% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย เคยซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ และกว่า 50% เป็นคน GEN Y

จำนวนโพสต์โดย Influencers ในช่วง 3 เดือน (สิงหาคม-ตุลาคม 2562) มีจำนวน 545,000+ ( facebook 72% , Instagram 15% , Twitter 10%, Youtube 4%) โดยมี Engagement ที่เกิดขึ้น 1.3 พันล้าน (facebook 67% , Instagram 22% , Twitter 3%, Youtube 7%)

“การทำแคมเปญ #ของมันต้องมีก่อน40 ในครั้งนี้ สามารถวิเคราะห์ข้อมูลถึงพฤติกรรมเชิงลึกของกลุ่มคน GEN Y ที่ได้จุดกระแสผ่านบรรดา Influencer จะเห็นได้ว่าการแสดงความคิดเห็น แชร์ มีความคิดเห็นที่คล้ายคลึงกับ Influencer ที่กดติดตามกันดังนี้ คนที่ติดตาม กอล์ฟ ฟักกลิ้ง ฮีโร่ กันต์ กันตถาวร และกาละแมร์ พัชรศรี ก็จะเป็นเป้าหมายเรื่องการเก็บเงิน มีบ้าน สร้างความมั่นคงในชีวิต ด้านกลุ่มคนที่ติดตามบล็อกเกอร์สายเที่ยว ก็จะมีเป้าหมายเรื่องเที่ยว เรื่องการใช้ชีวิตแบบอิสระ โดยมีการวิเคราะห์ทั้งหมดจาก 14,140 คอมเมนต์”

โดยเพจ I ROAM ALONE ผู้ติดตามกว่า 20 % เลือกเป้าหมายการใช้เงินไปที่การเที่ยว ตามมาด้วยเพื่อความสุข 12% ส่วนเพจ F.HERO เลือกเป้าหมายเป็นมีบ้าน 21 % ตามมาด้วย ปลดหนี้ 16% เป็นต้น

 

]]>
1254769
Facebook แนะวิธีดูข่าวปลอมก่อนแชร์ https://positioningmag.com/1217615 Mon, 04 Mar 2019 09:07:30 +0000 https://positioningmag.com/?p=1217615 ข่าวไหนจริง ข่าวไหนปลอม กำลังเป็นปัญหาของผู้ใช้สื่อโซเชียลมีเดียเวลานี้ เพราะบางทีกว่าจะรู้ว่าเป็นข่าวปลอมก็ข่าวชิ้นนั้นถูกแชร์ออกไปมากมาย จนส่งผลกระทบไปตามๆ กัน

Facebook จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท แนะนำเคล็ดลับในการตรวจสอบข่าวปลอมได้อย่างรอบคอบยิ่งขึ้น

1. ดูแหล่งที่มาของข้อมูล

ตรวจสอบเนื้อหาอื่นๆ ที่ถูกนำเสนออยู่บนเว็บไซต์ แง่มุมในการนำเสนอข่าว และรายละเอียดติดต่ออื่นๆ ที่ปรากฏบนเว็บไซต์ แต่ต้องระวังเว็บไซต์ปลอมที่แสร้งว่าเป็นองค์กรข่าวที่ดูน่าเชื่อถือซึ่งมักจะใช้วิธีเลียนแบบรูปแบบการจัดหน้าและการใช้ URL ที่มีชื่อคล้ายคลึงกัน

ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับผู้เขียน

ศึกษาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับผู้เขียนว่าเป็นบุคคลที่น่าเชื่อหรือมีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ และเป็นบุคลากรที่อยู่ในแวดวงการรายงานข่าวมาเป็นระยะเวลามากน้อยอย่างไร นอกจากนี้ คุณยังสามารถตรวจสอบด้วยการอ่านเรื่องราวอื่นๆ ที่เขียนโดยผู้เขียนคนเดียวกันได้

ตรวจสอบข้อมูลสนับสนุน

ข้อมูลประกอบในบทความนั้นสนับสนุนเนื้อหาหลักของเรื่องราวอย่างสมเหตุสมผลหรือไม่ ข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์หรือข้อมูลที่ถูกหยิบมาเพียงแค่บางส่วนหรือออกนอกบริบท สามารถนำมาเป็นเครื่องมือเพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริงได้

ตรวจสอบวันที่

อย่าลืมดูวันที่ที่เนื้อหาถูกตีพิมพ์ เพราะเรามักพบเห็นผู้คนแชร์ ‘ข่าว’ เก่าอยู่บ่อยครั้งบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งข่าวเก่าอาจจะไม่ใช่ข้อมูลที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ถูกต้องเสมอไป นอกจากนี้ ข่าวปลอมอาจประกอบด้วยการรายงานช่วงเวลาที่เหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างสมเหตุสมผล รวมถึงมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลวันที่ที่เหตุการณ์เกิดขึ้นด้วย

2. อย่าอ่านแค่พาดหัวข่าว

ข่าวปลอมและข่าวที่มีคุณภาพต่ำมักมีการพาดหัวข่าวที่กระตุ้นความรู้สึกเพื่อให้เกิดจำนวนการคลิกมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ นอกจากนี้ เนื้อหาของข่าวปลอมมักประกอบด้วยภาษาที่กระตุ้นอารมณ์และบางครั้งอาจเป็นภาษาที่ใช้คำรุนแรง รวมถึงใช้วิธีการเขียนที่ผิดหลักภาษาและมีการสะกดคำผิด

อีกหนึ่งกลวิธีที่ใช้ในการเผยแพร่ข่าวปลอมหรือข่าวที่มีคุณภาพต่ำคือ การหาผลประโยชน์จากพฤติกรรม ‘นักอ่านเวลาน้อย’ เมื่อผู้คนมักใช้เวลาอ่านเพียงพาดหัวข่าวหรือข้อความในย่อหน้าแรกก่อนแชร์เรื่องราวนั้นต่อ ผู้ประสงค์ร้ายจึงฉวยโอกาสนี้ด้วยการเขียนพาดหัวข่าวและย่อหน้าแรกที่ตรงไปตรงมาและประกอบด้วยข้อเท็จจริง โดยเรื่องราวส่วนที่เหลือเป็นข่าวปลอมและข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง

ในประเทศไทย ร้อยละ 71 ของผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่า พวกเขาอ่านบทความจนจบก่อนที่จะแชร์ต่อ

3. แยกแยะระหว่างการแสดงความคิดเห็นและข่าว

คนเรามีแนวโน้มที่จะเชื่อข้อมูลซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อส่วนตัวของเรา ก่อนที่คุณจะระบุว่าเรื่องราวใดๆ‘ไม่เป็นความจริง’ ควรไตร่ตรองให้ดีว่าอคติส่วนตัวของคุณไม่ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อการพิจารณาเนื้อหาดังกล่าวในขณะนั้น

เคล็ดลับเพิ่มเติม

หากเรื่องราวนั้นเป็นบทความที่ปรากฏชื่อผู้เขียน (by-line) ควรคำนึงไว้ว่าผู้เขียนคนนั้นจะเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบต่อเนื้อหาทั้งหมด และคุณควรตรวจสอบบทความอื่นๆ ที่ผู้เขียนคนดังกล่าวเขียนด้วย

หากเรื่องราวนั้นเป็นบทความแสดงความคิดเห็นโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือตัวแทนจากองค์กร (op-ed) ควรคาดการณ์ไว้ก่อนว่าบทความอาจมีเนื้อหาที่ลำเอียงหรือมีอคติ แม้ว่าจะประกอบด้วยข้อเท็จจริง แต่เนื้อหาประเภทนี้มักสะท้อนความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนหรือหน่วยงานและมีบทสรุปแบบไม่เป็นกลาง

4. ข่าวปลอมมักทำให้ดูน่าเชื่อถือ

เรื่องราวบางเรื่องถูกจงใจสร้างขึ้นด้วยข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง ดังนั้น ควรแชร์ข่าวที่มั่นใจว่าเป็นข่าวที่เชื่อถือได้เท่านั้น ข่าวปลอมมักจะประกอบด้วยภาพหรือวิดีโอที่ถูกปรับแต่ง ซึ่งในบางครั้ง รูปภาพนั้นอาจเป็นรูปภาพที่แท้จริง แต่ถูกนำมาเปลี่ยนแปลงบริบท ซึ่งสามารถค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับภาพนั้นเพิ่มเติมเพื่อยืนยันที่มาที่ถูกต้อง.

]]>
1217615
“เรียลไทม์ มาร์เก็ตติ้ง” ต้องมา! แบรนด์เกาะกระแสเลือกตั้ง ปั้นสารพัด “พรรค” https://positioningmag.com/1213789 Wed, 13 Feb 2019 06:33:49 +0000 https://positioningmag.com/?p=1213789 ด้วยจำนวนผู้ใช้สื่อโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มหลัก เฟซบุ๊ก 51 ล้านบัญชี ไลน์ กว่า 44 ล้านบัญชี ทวิตเตอร์ กว่า 12 ล้านบัญชี อินสตาแกรม กว่า 14 ล้านบัญชี ไม่เพียงแต่เป็นสื่อที่เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี แต่วันนี้สามารถเข้าถึงคนทุกวัย 

โซเชียลมีเดีย จึงกลายมาเป็น “สื่อหลัก” ที่บรรดาแบรนด์ต่างๆ ต้องใช้เป็น “ช่องทาง” ดึงดูดความสนใจผู้คนในทุกจังหวะที่เกิด “กระแส” สำคัญ

ประเด็นที่เป็น “วาระแห่งชาติ” ในช่วงนี้ต้องยกให้ “การเลือกตั้ง” ในวันที่ 24 มีนาคม 2562 เรียกว่าทุกพรรคการเมือง ต่างใช้สื่อโซเชียลมีเดียรายงานความเคลื่อนไหวผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่นเดียวกับ “สื่อออฟไลน์-ออนไลน์” ก็ต้องเกาะติดรายงานประเด็นฮอต ไม่เพียงเท่านั้น บรรดา “แบรนด์” ต่างๆ มองโอกาสในการใช้ “เรียลไทม์ มาร์เก็ตติ้ง” มาครีเอตคอนเทนต์ที่เชื่อมโยงกับการเมือง ในมุมที่ทำให้เรื่องหนักๆ กลายเป็นเรื่องสนุกๆ กับสารพัด #พรรค

“แบรนด์” ปั้นพรรคใหม่

เจ้าพ่อเรียลไทม์ มาร์เก็ตติ้ง อย่าง Major Group หรือโรงภาพยนตร์เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ที่ขึ้นชื่อเรื่องความเร็วในการจับกระแสและแอดมินไม่หลับไม่นอน ปล่อยคอนเทนต์เกี่ยวกับ “พรรค” มาแรง ออกมาหลายเวอร์ชันเช่นกัน ทั้งชวนมาตั้งชื่อให้เหล่า “ไวกิ้ง” ขี่มังกร ของ “ฮิคคัพ” #HowToTrainYourDragon3  ภาพยนตร์ของค่ายดรีมเวิร์ค  

หรือชวนมากา “เบอร์ ว่า รับ แถบ” กับ “พรรคพาล่องลอย” โปรโมตหนัง “สงกรานต์แสบสะท้านโลกันต์” เข้าฉายวันที่ 11 เมษายนนี้ เช่นเดียวกับการเปิดนโยบาย “ไรหนี้ ไร้จน ไร้ปราณี” ของ “พรรคกลับชาติมาเกิด” กับภาพยนตร์เรื่อง The Prodigy เข้าโรง 21 กุมภาพันธ์นี้ กว่าจะถึงวันเลือกตั้ง 24 มีนาคมนี้ คงเปิดตัวนโยบายและพรรคใหม่มาให้ประชาชนออนไลน์เลือกกันอีกเพียบ

ยืนหนึ่งเป็นเจ้าแห่งเรียลไทม์ มาร์เก็ตติ้ง เช่นกัน สำหรับ KFC ที่ใช้ความไวจับกระแส ไม่แพ้ใครในปฐพีนี้ ประเดิมเปิดตัวคอนเทนต์แนะนำ “พรรคกินไก่ เท่าไหร่ก็ไม่พอ” มาให้ชาวโซเชียลเป็นตัวเลือกของสารพัดพรรคในช่วงนี้ ตอกย้ำนโยบาย “ส่งจริง ส่งไว ใกล้ไกลไม่เกี่ยง เย็นสายบ่ายเที่ยง เราพร้อมส่ง” ขอเป็นตัวเลือกให้สายกิน “เลือก KFC เป็นมื้อต่อไป” ตบท้ายด้วยกดเบอร์ 1150

ด้าน Tops Thailand ท็อปส์ ไทยแลนด์ เปิดตัว “พรรคเพื่อช็อป” กับนโยบาย 1 บาท ก็ซื้อได้ เดินหน้าความคุ้มค่าทั่วไทย ขนสินค้ามาเปิดตัวพรรคเครือข่ายอีกเพียบ ไม่ว่าจะเป็น “พรรคชาวประชาห้ามหาว” กับสินค้ากาแฟแบรนด์  Moccona “พรรคคู่ฟันขาว” กับยาสีฟัน Sparkle หรือ “พรรคหมดจดสดใส” สินค้า Pigeon

แบรนด์น้ำดื่ม “คริสตัล” มากับ “พรรคนี้ก็จะน่ารักหน่อยๆ” ผ่านพรีเซ็นเตอร์คนหล่อ นาย ณภัทร เสียงสมบุญ อ้อนแม่ยกกันสุดๆ “หากคิดถึงก็ดื่มน้ำ รักน้ำก็ดื่มน้ำ เหนื่อยก็ดื่มน้ำ ท้อก็ดื่มน้ำ” เป็นการตอกย้ำ Message ที่ต้องการสื่อสารของน้ำดื่มไปพร้อมกัน

ฟาก Grab เสนอตัวเลือก “พรรคเถอะ” กับการเลือกพักผ่อนตามอัธยาศัย วางใจ ใช้แกร็บ ทั้งส่งคน ส่งของ สั่งอาหาร เลือกได้ทุกเซอร์วิส GrabCar GrabBike GrabExpress GrabFood

ธุรกิจธนาคารไม่พลาดกระแสเลือกตั้งเช่นกัน ME By TMB เปิดตัว “พรรคเพื่อเงิน” กับนโยบาย สวัสดิการดี ฟรีค่ารักษาบัญชี ทำงาน 24 ชั่วโมง โปร่งใส SMS แจ้งเตือนทุกการโอนถอนฟรี

ธุรกิจสื่อ-คนบันเทิงแห่เกาะเทรนด์

แวดวงสื่อ ธุรกิจบันเทิงและนักแสดง ไม่พลาดกระแสเลือกตั้งเช่นกัน Netflix บริการวิดีโอ สตรีมมิง” ที่ต้องแข่งขันกับความง่วงของผู้ชม จึงมากับ “พรรคก่อนเนาะ” ชวนมาเลือกองค์ชายชางใน Kingdom ซีรีส์เกาหลี ออริจินัลคอนเทนต์ที่ Netflix

ด้าน MonoMax บริการดูหนังออนไลน์ ออกแคมเปญเข้าคูหากาพรรคไหนดีกับซีรีส์จีน-เกาหลี แบบเลือกคนที่รัก กาพรรคที่ใช่ ไฮไลต์อยู่ที่ “พรรคโบกอม” หากต้องการเลือกคนดีศรีโซซอน “โบกอมมี่” ต้องเข้าคูหากาหัวใจอย่างเดียว กับรวมซีรีส์ของ “พัคโบกอม”

รายการข่าวบันเทิงเบอร์หนึ่งของทีวีไทย Nine Entertain เปิดตัว “พรรคภูมิใจเผือก” สโลแกนพรรค “เข้าถึงเรื่องของชาวบ้าน ยกเว้นเรื่องตัวเอง” หากชอบพรรคนี้ เลือกเลยเบอร์ 9 ตามติดมากับ “เจ้าพ่อตีสิบ” วิทวัส สุนทรวิเนตร์ กับ “พรรคสนทนากันสักครู่” เบอร์ 33 โปรโมตรายการตีสิบเดย์ ทุกบ่าย 3 โมงวันเสาร์ ช่อง 33

ช่วงนี้คนบันเทิงเองหลายคนต่างประกาศเปิดตัวพรรค ลงสมัครรับเลือกตั้งกันเช่นกัน ล่าสุด ติ๊ก เจษฎาภรณ์ ผลดี ขอตามกระแสอีกคน เปิดตัว “พรรคที่จะล้อม” บอกคุณสมบัติผู้สมัครกับสโลแกน “ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน ผลดีพิสูจน์ใจ”

“แบรนด์” ดูทันสมัย แต่มาไวไปไว

ต้องยอมรับว่าเมื่อสื่อออนไลน์กลายเป็น “สื่อแมส” ที่เข้าถึงผู้ใช้งานระดับ 50 ล้านคน แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียจึงเป็นช่องทางหลักที่แบรนด์ใช้สร้างปฏิสัมพันธ์ (Engagement) กับผู้บริโภคได้ตลอดเวลา

เมื่อช่วงเวลาใดมีคอนเทนต์ที่เป็น talk of the town แบรนด์ นักการตลาดและนักสื่อสาร ต้องไม่พลาดหยิบกระแสมาเล่นเป็น “เรียลไทม์ มาร์เก็ตติ้ง” เพื่ออยู่ในกระแสสนใจของผู้คน แต่ต้องอาศัยความไวและคอนเทนต์ที่สร้างสรรค์ได้แบบโดนใจ สร้างให้เป็นกระแส “บอกต่อ” พร้อมสร้างการรับรู้ (Awareness) และทำให้แบรนด์อยู่ใน top of mind ปลายทางคือต้องการให้เกิด action ตัดสินใจซื้อ

ไตรลุจน์ นวะมะรัตน นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) มองว่า กลยุทธ์เรียลไทม์ มาร์เก็ตติ้ง เป็นสิ่งที่แบรนด์นำมาใช้ระยะสั้น เพื่อดึงดูดความสนใจผู้บริโภค แต่ต้องอาศัยความไว เพราะรายที่มาก่อนหากมีไอเดียดี จะสร้างการรับรู้ได้ก่อน

ปีก่อนหลายแบรนด์เกาะกระแส “บุพเพสันนิวาส” และมีแบรนด์ที่ทำได้ดี เช่นเดียวกับช่วงนี้ ที่ผู้คนติดตามเรื่องการเลือกตั้ง การหยิบประเด็นนี้มาสร้างสรรค์เป็นคอนเทนต์ในโซเชียลมีเดีย หากน่าสนใจจะทำให้เกิดการค้นหาข้อมูลรายละเอียดของแบรนด์ ถือเป็นการ remind แบรนด์ที่ดี

กระแสล้อเลียนตั้งพรรคใหม่ ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง มีหลายแบรนด์นำมาใช้ รวมทั้งคนทั่วไปก็หยิบมาเล่น หากจะเล่นกับกระแสต้องทำเร็ว การมาก่อนจะสร้างการรับรู้ได้ก่อน

ทางด้าน แพน จรุงธนาภิบาล รองผู้อำนวยแผนกพัฒนาและการตลาด และ ณัฐวีร์ ณีว มาวิจักขณ์ หัวหน้าแผนกพัฒนาและการตลาด กรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย) ร่วมกันให้มุมมองว่า “เรียลไทม์ มาร์เก็ตติ้ง” ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่เกิดจากพลังของผู้บริโภคที่ต้องการมีส่วนร่วมในสถานการณ์ที่เป็นกระแส แบรนด์ต่างๆ จึงสร้างสรรค์คอนเทนต์และนำเสนอผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เพื่อให้ผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งแบรนด์เองจะได้ภาพลักษณ์ที่ทันสมัยเกาะติดเทรนด์   

“การเล่นกับกระแส ต้องยอมรับว่าเป็นสิ่งที่มาไวไปไว บางกระแสอยู่เพียงแค่ 1 วันก็จบ การจะเล่นกับกระแสจึงต้องคาดการณ์และจับทิศทางให้ได้ว่าแบรนด์จะได้อะไร”

สำหรับ ภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจ สายงานการวางแผน และกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ เอ็มไอ มองว่า สร้างสรรค์คอนเทนต์ล้อเลียนกระแสการเลือกตั้ง ด้วยการตั้งพรรคต่างๆ เป็นการนำประเด็นที่กำลังอยู่ในความสนใจของผู้คน มาสร้างโอกาสให้เกิดความสนใจพูดถึงและทำให้แบรนด์ดูทันสมัยเกาะติดทุกเทรนด์.

]]>
1213789
“กันตาร์” เผยผู้บริโภคชาวไทยอยากได้แบรนด์จริงใจ ไม่ทำเพื่อสังคมแบบผิวเผิน https://positioningmag.com/1201909 Fri, 07 Dec 2018 10:29:29 +0000 https://positioningmag.com/?p=1201909 กันตาร์ (Kantar) บริษัทวิจัยเกี่ยวกับแบรนด์ ได้เปิดเผยถึงผลสำรวจ Purpose in Asia  พบว่า ผู้บริโภค 90% ในเอเชีย และ 93% ในประเทศไทย อยากให้แบรนด์ต่างๆ เข้ามามีบทบาทในประเด็นที่ตนเองให้ความใส่ใจ หมายความว่า ผู้บริโภคคาดหวังให้แบรนด์มีส่วนร่วมอย่างจริงจังมิใช่เป็นเพียงการสร้างภาพ

โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 63%ในประเทศไทย แนวโน้มที่จะซื้อสินค้าของแบรนด์ที่มีอุดมการณ์ตรงกับตนเอง ขณะที่ 53 % ระบุว่าพวกเขายินดีที่จะจ่ายเงิน เพิ่มขึ้นอีกนิดเพื่อซื้อสินค้าของแบรนด์ที่ดำเนินธุรกิจที่มีความน่าเชื่อถือบนนโยบายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ผลการสำรวจดังกล่าว ยังระบุด้วยว่า สองประเด็นที่ได้รับความสนใจในวงกว้างในเอเชียนั้น ได้แก่เรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและการให้ความเท่าเทียมกันทางเพศ แต่ประเด็นที่ใกล้ตัวและผู้บริโภคให้ความสำคัญมากกว่า คือเรื่องของสุขภาพ การมีคุณภาพชีวิตที่ดี และการยุติความยากจน

ผลการสำรวจครั้งนี้ได้ชูบทบาทของ สื่อโซเชียลมีเดีย ในการกระจายข้อมูลข่าวสารในประเด็นต่าง ๆ  สื่อโทรทัศน์ยังคงเป็นช่องทางที่บอกกล่าวถึงปัญหาทางสังคมให้ผู้คนได้รับรู้มากที่สุด

อย่างไรก็ดีการแพร่หลายของสื่อโซเชียลมีเดียในหลาย ๆ ประเทศทั่วเอเชียทำให้ผู้คนตื่นตัวกันมากขึ้น โดยผู้ตอบแบบสำรวจ 66 %ในประเทศไทยเผยว่า ตนได้เข้าไปกดไลค์และโพสต์บนโซเชียลมีเดียที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประเด็นที่ตนสนใจและให้ความสำคัญ ขณะที่ 51 %ของผู้ตอบแบบสำรวจได้กดแชร์โพสต์หรือส่งต่อบทความ

ด้วยเหตุนี้โซเชียลมีเดียจึงได้เข้ามามีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค 71% ของผู้ตอบแบบสำรวจในประเทศไทยเผยว่า ตนรู้สึกตระหนักต่อประเด็นทางสังคมในชีวิตประจำวันมากขึ้นหลังจากที่ได้เห็นโพสต์เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวทางโซเชียลมีเดีย ขณะที่ 41% เผยว่า พฤติกรรมของตนได้เปลี่ยนไปด้วยสาเหตุนี้

สำหรับคำถามที่ว่าแบรนด์ต่าง ๆ ควรเข้ามามีบทบาทในประเด็นเหล่านี้อย่างไรนั้น การแสดงออกถึงความตั้งใจจริงคือคำตอบ เพราะผู้บริโภคมักรู้ทันแบรนด์ที่ออกตัวทำเพื่อสังคมแบบผิวเผิน แต่ขณะเดียวกันกลับมีปัญหากับแนวทางการทำธุรกิจของตนเอง หรือไม่ก็แบรนด์ที่เลือกใช้แนวทางในการสื่อสารผิด ๆ ในประเด็นอ่อนไหว ผู้บริโภคในตลาดพัฒนาแล้วรู้สึกไม่มั่นใจกับบทบาทของแบรนด์มากกว่าตลาดอื่น ๆ ซึ่งเพียง 33% ของผู้ตอบแบบสำรวจในประเทศออสเตรเลียที่รู้สึกว่าแบรนด์ต่าง ๆ สามารถเข้ามามีส่วนทำเพื่อสังคมอย่างแท้จริง เมื่อเทียบกับในประเทศอินเดีย มีผู้ตอบแบบสำรวจมากถึง 74% ที่ให้ความเชื่อถือและไว้ใจในกิจกรรมลักษณะนี้

ผู้บริโภคเชื่อว่าแบรนด์ต่าง ๆ มีบทบาทสำคัญในการเข้ามาช่วยเหลือในประเด็นที่ผู้คนให้ความสำคัญ การให้ความรู้แก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับประเด็นที่เกิดขึ้นนั้นเป็นกิจกรรมที่ผู้ตอบแบบสำรวจพูดถึงมากที่สุด ตามมาด้วยการริเริ่มให้ทุนอุดหนุนโครงการเพื่อสนับสนุนประเด็นดังกล่าว และการให้เงินสนับสนุนองค์กรต่าง ๆ โดยตรง

จอย ลี ที่ปรึกษาด้านดิจิทัลประจำภูมิภาค จากธุรกิจ Insights Division ของกันตาร์ กล่าวว่า ความท้าทายในเรื่องนี้อยู่ที่ว่า เราจะหาประเด็นที่ตรงใจชาวเอเชียที่มีความแตกต่างกันได้อย่างไร และจะเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจังได้อย่างไร ทุกวันนี้แบรนด์ต่าง ๆ สามารถเข้ามามีส่วนร่วมและสร้างความแตกต่างได้  ซึ่งข้อดีคือ  แบรนด์เหล่านี้ไม่จำเป็นต้องประกาศกร้าวให้รู้ไปถึงทั่วโลกเสมอไป เพราะการสนับสนุนโครงการและริเริ่มในระดับท้องถิ่น สร้างการขับเคลื่อนและการเปลี่ยนแปลงที่แม้จะเล็กแต่มีความหมายนั้นเป็นสิ่งที่ผู้คนให้ความสำคัญที่สุด”

ผลสำรวจของ Purpose in Asia ได้ออกสำรวจความคิดเห็น กลุ่มอายุมากกว่า 18 ปี ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตเป็นจำนวนรวมกันกว่า 3,000 ราย โดยมีบริษัท Lightspeed เป็นผู้จัดทำ ในตลาด 9 แห่ง ได้แก่ ออสเตรเลีย อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลี มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และไต้หวัน.

]]>
1201909