สุขภาพจิต – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Fri, 25 Oct 2024 06:45:24 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “TikTok” เปิดแคมเปญ “Mindful Makers” ดึงครีเอเตอร์ดังทำคอนเทนต์ “สุขภาพจิต” ดูแลใจเยาวชน https://positioningmag.com/1495583 Fri, 25 Oct 2024 05:59:54 +0000 https://positioningmag.com/?p=1495583
  • เยาวชนไทย 85% ใช้สื่อสังคมออนไลน์หาข้อมูลเรื่องที่สนใจ ทำให้การเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องในโซเชียลมีเดียเป็นประเด็นสำคัญ
  • จิตแพทย์เด็กเผยสถิติ 10% ของเยาวชนไทยวัยต่ำกว่า 18 ปีเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า และ 17% เสี่ยงฆ่าตัวตาย
    • TikTok จึงเปิดตัวแคมเปญ Mindful Makers รวมครีเอเตอร์และผู้เชี่ยวชาญทำคอนเทนต์ส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับ “สุขภาพจิต” และสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เยาวชน

    ยุคนี้โซเชียลมีเดียกลายเป็นสิ่งที่เข้ามามีอิทธิพลต่อผู้คนมากขึ้นโดยเฉพาะกับกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ จากข้อมูลการสำรวจผ่านแบบสอบถามของ lovefrankie (ครีเอทีฟเอเจนซี่ที่มุ่งแก้ไขปัญหาการพัฒนาสังคม เพื่อพัฒนาสังคม) สำรวจกลุ่มตัวอย่างเยาวชนไทยจำนวน 500 คน (อายุ 16-24 ปี) โดยมีสัดส่วนเพศชายและหญิงเท่ากัน ในประเด็นด้าน “สุขภาพจิต” ของเยาวชนไทย

    การสำรวจนี้พบว่า เยาวชนส่วนใหญ่ให้คุณค่ากับคอนเทนต์ที่สร้างแรงสนับสนุนทางอารมณ์และความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน รวมถึงคอนเทนต์ที่แบ่งปันเรื่องราวจากชีวิตจริง สร้างการมีส่วนร่วมในรูปแบบที่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน นอกจากนี้เยาวชนยังแสดงออกว่ามีความต้องการข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจน และเชื่อถือได้ผ่านโซเชียลมีเดีย

    ผลการสำรวจยังพบว่า 85% ของผู้ตอบแบบสอบถามใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นที่ตนสนใจอีกด้วย ทำให้การเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือในโลกโซเชียลมีเดียถือเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องตระหนักและให้ความสำคัญอย่างมาก เพื่อส่งเสริมความเข้าใจและสนับสนุนด้านสุขภาพจิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

    เยาวชนไทย 10% เสี่ยงซึมเศร้า 17% เสี่ยงฆ่าตัวตาย

    ปัญหาสุขภาพจิต เป็นปัญหาระดับโลกที่ไม่เคยมีอัตราตัวเลขลดลงเลยในช่วง 34 ปีที่ผ่านมา จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกเปิดเผยว่า 1 ใน 8 ของผู้คนทั่วโลกกำลังมีปัญหาด้านสุขภาพจิต โดยทุกๆ 40 วินาที ในโลกนี้จะมีคนฆ่าตัวตาย 1 คน

    ‘ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์’ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น รองโฆษกกระทรวงสาธารณสุข และ TikTok Safety Advisory Councils เปิดเผยว่า ปัญหาด้านสุขภาพจิตของเยาวชนไทยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี จากข้อมูลการสำรวจของกรมสุขภาพจิตระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-ตุลาคม 2567 พบว่า ในไทยมีเยาวชนไทยวัยต่ำกว่า 18 ปีราว 500,000 คน มากกว่า 10% ในจำนวนนี้หรือคิดเป็นประมาณ 50,000 คนมีความเสี่ยงเป็นโรคซีมเศร้า และอีก 17% หรือราว 80,000 คน มีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย 

    ดร.นพ.วรตม์กล่าวด้วยว่า กลุ่มเด็กวัยรุ่นนั้นเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบทางลบต่อจิตใจสูงกว่าวัยอื่น เนื่องจากเป็นวัยที่โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิต ทำให้การใช้สื่อในเชิงบวกและปลอดภัยจะส่งผลดีต่อสุขภาพจิตของคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะกับกลุ่มวัยรุ่นที่มีความเปราะบางมากกว่า

    ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรมีความรับผิดชอบในการดูแลการเลือกรับชมสื่อของเด็กๆ อีกทั้งครีเอเตอร์และผู้ผลิตสื่อทุกคนก็ควรให้ความสำคัญต่อการผลิตคอนเทนต์อย่างมีความรับผิดชอบ โดยการช่วยกันสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่จะช่วยสร้างการตระหนักรู้เรื่องการดูแลสุขภาพจิตด้วยตัวเอง ตลอดจนถึงการเอาใจใส่คนรอบข้างและคนที่เราพบเจอบนโลกออนไลน์ เพื่อสร้างสังคมออนไลน์ให้เป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความสุขสำหรับทุกคน

    ‘Mindful Makers’ แคมเปญจาก ‘TikTok’ เพื่อดูแล ‘สุขภาพจิต’

    TikTok ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมาแรงแห่งยุคจึงต้องการจะช่วยสร้างสังคมออนไลน์ที่ดีต่อสุขภาพจิตมากขึ้น ‘ชนิดา คล้ายพันธ์’ Head of Public Policy, Thailand กล่าวว่า มีผู้คนนับล้านเข้ามาที่ TikTok ทุกวันเพื่อแบ่งปันและค้นหาคอมมูนิตี้ที่ตรงกับความสนใจ ซึ่งหนึ่งในประเด็นที่มีการค้นหาข้อมูลนั้นเกี่ยวข้องกับด้าน “สุขภาพจิตTikTok พบว่ามีผู้ใช้เข้ามาค้นหาแหล่งข้อมูลในด้านนี้บนแพลตฟอร์มถึงกว่า 500,000 คนต่อเดือน

    เหตุนี้ TikTok จึงต้องการจะสร้างความมั่นใจว่าผู้ใช้แพลตฟอร์มจะได้รับข้อมูลที่เชื่อถือได้บนแพลตฟอร์มนี้ผ่านการเปิดตัวแคมเปญ ‘Mindful Makers‘ โครงการที่ช่วยส่งเสริมการตระหนักรู้และทักษะความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพจิตผ่านชุมชนออนไลน์

    Mindful Makers จะมีการรวบรวมครีเอเตอร์ชั้นนำและผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตมาร่วมสร้างพื้นที่สร้างสรรค์และปลอดภัย โดย TikTok จับมือกับกับ “กระทรวงสาธารณสุข” ของประเทศไทย แอปพลิเคชัน “SATI” และเครือข่ายผู้สร้างคอนเทนต์เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ เพื่อส่งเสริมการนำคอนเทนต์ที่น่าสนใจและเชื่อถือได้เกี่ยวกับสุขภาวะทางจิตใจเข้าสู่แพลตฟอร์ม

    ในโครงการนี้ TikTok มีการเชิญเหล่าครีเอเตอร์ที่จะมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์และเผยแพร่ข้อมูลด้านสุขภาพจิตที่เชื่อถือได้มากมาย เช่น หนึ่ง-ปฐมาภรณ์ ตันจั่นพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการไลฟ์สตรีมมิ่ง และเจ้าของช่อง @this.is.neung , แจน-วรินรำไพ ไตรพัชรพัฒน์ เจ้าของช่อง @janjanuary1 นอกจากนี้ยังมีครีเอเตอร์ภายใต้โครงการอีกหลายท่าน ได้แก่ @ppeachy28 @dr.tangmakkaporn @tam.kulissara @caraunited และ @kruyuy.supaporn เป็นต้น

    ทั้งนี้ โครงการ Mindful Makers โดย TikTok ก่อตั้งขึ้นในฐานะโครงการริเริ่มระดับชาติในประเทศไทย ที่มีความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก (WHO – World Health Organization) โดยมีเป้าหมายเพื่อมอบข้อมูลด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้และมีหลักฐานอ้างอิงแก่ผู้คน 

    ]]>
    1495583
    จุดสมดุลในการ “ลาหยุดพักผ่อน” คือ “8 วัน” ไม่น้อยไปจนเหมือนไม่ได้หยุด ไม่มากไปจนรู้สึกเบื่อ https://positioningmag.com/1482586 Sat, 13 Jul 2024 10:43:31 +0000 https://positioningmag.com/?p=1482586 เคยไหม? ไปเที่ยวสั้นไปจนเหมือนกะพริบตาทีเดียวต้องกลับมาทำงานแล้ว แต่บางครั้งก็เที่ยวนานไปจนเริ่มเบื่อ งานวิจัยพบว่าจุดสมดุลที่สุดในการ “ลาหยุดพักผ่อน” ของคนเราคือ “8 วัน” ต่อทริป เป็นจุดที่เหมาะสมกำลังดีในการเติมพลังจากการท่องเที่ยว

    หากตัดปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลาหยุดเพื่อไปเที่ยวพักผ่อนออกไป เช่น งบประมาณ จำนวนวันลาพักร้อนที่บริษัทอนุญาต นักวิทยาศาสตร์มีการวิจัยพบว่า จำนวนวันที่ดีที่สุดในการลาหยุดไปเที่ยวต่อหนึ่งทริปคือ “8 วัน”

    งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Happiness Studies ในปี 2012 มีการศึกษาวิจัยว่าจำนวนวันหยุดพักผ่อนมากน้อยส่งผลต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีอย่างไร ผลปรากฏว่าความสุขของคนเราระหว่างไปเที่ยวจะขึ้นสู่จุดสูงสุดในวันที่ 8 ของการท่องเที่ยว

    งานวิจัยยังพบด้วยว่า หลังจากกลับมาทำงานแล้วความสุขของคนเราจะกลับสู่จุดปกติภายใน 1 สัปดาห์ แม้ว่าจะไปเที่ยวมานานแรมเดือนก็ตาม ทุกอย่างจะกลับเป็นปกติในสัปดาห์เดียว

    Woman traveler on boat joy nature view rock island scenic landscape Khao Sok National Park, Famous attraction adventure place travel Thailand, Tourism beautiful destinations Asia holiday vacation trip

    Jessica de Bloom หนึ่งในนักวิจัยงานดังกล่าว ให้สัมภาษณ์กับ The Washington Post เมื่อปี 2024 ว่า การวิจัยครั้งนั้นยากที่การวัดผล เพราะแต่ละคนมีวิธีพักผ่อนในแบบที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ทุกคนก็จะรู้สึกว่าจุดพีคของการไปเที่ยวจะอยู่ในช่วงประมาณวันที่ 8 รวมถึงคนที่ไปเที่ยวยาวนานกว่า 8 วันก็รู้สึกเช่นเดียวกัน

    ด้าน Ondrej Mitas นักวิจัยและวิทยากรอาวุโสด้านความเป็นอยู่ที่ดีและคุณภาพชีวิตจาก Breda University กล่าวกับ The Washington Post ว่า เหตุที่จุดที่มีความสุขที่สุดระหว่างการท่องเที่ยวอยู่ที่ช่วงสัปดาห์กว่าๆ เท่านั้น เป็นเพราะถ้าผ่านระยะเวลาไปนานกว่านั้น ประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ได้รับระหว่างท่องเที่ยวจะเริ่มกลายเป็นความเคยชิน ในทางกลับกัน ถ้าการท่องเที่ยวสั้นเกินไปก็จะยังไม่รู้สึกว่าได้หลีกหนีจากโลกการทำงานนานเพียงพอ

    Photo : Shutterstock

    อย่างไรก็ตาม ทริปเที่ยว 8 วันอาจจะเป็นตัวเลขในอุดมคติ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะทำตามได้ เพราะกฎหมายและวัฒนธรรมในการลาหยุดงานที่ต่างกันทั่วโลก อย่างใน “ทวีปยุโรป” มีค่าเฉลี่ยวันลาพักร้อน 25 วันต่อปี ขณะที่ “สหรัฐฯ” พนักงานเอกชนมีวันลาพักร้อน 11-20 วันต่อปี และพนักงานจำนวนมากที่ไม่มีวันลาพักร้อนโดยได้รับเงินเดือนเลย หรืออย่างใน “ไทย” จำนวนวันลาพักร้อนส่วนใหญ่จะอยู่ระหว่าง 6-15 วันต่อปี ทำให้คนทำงานหลายประเทศอาจจะไม่สามารถลาได้ยาวถึง 8 วัน

    นอกจากนี้ การทำงานรูปแบบใหม่ที่ “ทำงานจากที่ไหนก็ได้” ก็จะทำให้การปลีกตัวจากการทำงานได้ตลอดทริปยากยิ่งขึ้น มีการศึกษาในสหรัฐฯ เมื่อปี 2018 พบว่า 52% ของลูกจ้างตอบว่าตนหยิบงานขึ้นมาทำบ้างระหว่างลาพักร้อน (งานเล็กๆ น้อยๆ เช่น ตอบอีเมล เข้าประชุมออนไลน์) ซึ่งหลังจากผ่านโควิด-19 เชื่อแน่ว่าตัวเลขนี้จะยิ่งเพิ่มขึ้นด้วยการปรับตัวของที่ทำงานให้ยืดหยุ่นกับการทำงานจากที่ไหนก็ได้ได้มากกว่าเดิม

    น่าสนใจว่าด้วยสภาวะการทำงานที่เปลี่ยนไป พนักงานถูกตามงานได้ทุกที่ หรือกระทั่งจัดทริป ‘Bleisure’ เพื่อไปนั่งทำงานจากริมทะเลแบบพักผ่อนไปด้วยทำงานไปด้วย จำนวนวันที่เหมาะสมในการลาหยุดจะเปลี่ยนตามไปด้วยไหม หรือระยะเวลาจะไม่สำคัญอีกต่อไปแล้ว

    Source

    ]]>
    1482586
    “HACK ใจ” แฮกกาธอนด้านสุขภาพจิตครั้งแรกในไทย สร้าง 8 นวัตกรรมฮีลใจ Thai PBS และภาคีฯ เตรียมผลักดันสู่ระดับนโยบาย https://positioningmag.com/1467029 Sat, 23 Mar 2024 03:30:19 +0000 https://positioningmag.com/?p=1467029

    ในยุคปัจจุบันนี้ “สุขภาพจิต” กลายเป็นอีกหนึ่งหัวข้อที่ได้รับการพูดถึงอย่างแพร่หลาย และถูกให้ความสำคัญไม่แพ้สุขภาพกายเลยทีเดียว การดูแลสุขภาพจิตให้แข็งแรงก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราทุกคนไม่ควรมองข้ามไปเลยเช่นกัน เพราะในยุคนี้คนไทยมีปัญหาด้านสุขภาพจิตกันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าปล่อยทิ้งไว้ ไม่แก้ปัญหา อาจจะกลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่ยากเกินเยียวยา

    สถานการณ์ด้านสุขภาพจิตในประเทศไทยถือว่าค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ก็พบว่าคนไทยมีปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้นเรื่อยๆ มีการประเมินตัวเลขว่าในปี 2566 มีผู้ป่วยสูงถึง 4.4 ล้านราย เพิ่มขึ้นจาก 2.5 ล้านคนในปี 2565 โดยสาเหตุหลักของปัญหาสุขภาพจิตนั้นมีหลายปัจจัย ทั้งจากสภาพแวดล้อม ความเครียด ความกังวลต่างๆ

    เพราะสุขภาพจิต ไม่มีวัคซีนป้องกัน หรือมียารักษา เหมือนสุขภาพกาย… การจะป้องกัน หรือรักษาการป่วยทางจิตได้อย่างไร จึงเป็นประเด็นที่หลายภาคส่วนต้องพูดกันมากขึ้น

    หลายคนอาจจะเคยเห็นโครงการแฮกกาธอนกันมาบ้างแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นกิจกรรมในการระดมสมอง ระดมไอเดียใหม่ๆ สำหรับกลุ่มสตาร์ทอัพ ในการต่อยอดเป็นธุรกิจใหม่ๆ เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้คนมีไอเดียตัวเล็กๆ ได้ปล่อยของ

    ล่าสุด ประเทศไทยได้มีโครงการแฮกกาธอนด้านสุขภาพจิตเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในชื่อว่าHACK ใจ – เพราะสุขภาพใจเป็นเรื่องของทุกคน”ระดมสมองหาไอเดีย สร้างนวัตกรรมตอบ 8 โจทย์ ฮีลใจ  ให้เป็นพื้นที่สร้างพลังใจ นำไปสู่การต่อยอดนโยบายขยายสู่ระดับประเทศ

    งานนี้องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส ได้จับมือร่วมกับกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP Thailand) และภาคีเครือข่าย ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “HACK ใจ – เพราะสุขภาพใจเป็นเรื่องของทุกคน” ขึ้น  เพื่อระดมสมองหาไอเดียกันแบบเข้มข้น  ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2 วัน เมื่อวันที่ 29 ก.พ. – 2 มี.ค. 67 ที่ผ่านมา กับโจทย์ที่ท้าทาย 8 โจทย์ จาก 8 กลุ่มผู้เข้าร่วมจากทั้งจากภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องด้านการส่งเสริมป้องกันสุขภาพจิต

    เหตุผลที่ทางไทยพีบีเอสจัดกิจกรรมนี้ขึ้นมานั้น “รศ. ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ ส.ส.ท” เริ่มเล่าว่า

    “ไทยพีบีเอส ในฐานะสื่อสาธารณะ ให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาวะทางจิต และสุขภาพใจ เราไม่อยากทำหน้าที่เพียงรายงานข่าว เมื่อเกิดเหตุเศร้าสลดใจในสังคมเท่านั้น แต่เราอยากมีส่วนช่วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งของสังคม เป็นตาข่ายความปลอดภัยทางสังคม (Social Safety Net) ให้สังคมมีความแข็งแรง ดังนั้น การจัดกิจกรรมวันนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมากในการสร้างความเข้มแข็งสร้างพลังใจ ไม่ใช่ประเด็นเฉพาะทางการแพทย์เมื่อเจ็บป่วยแล้วเท่านั้น เชื่อมั่นว่า การระดมสมองของเหล่านักแฮกจากหลากหลายวงการในกิจกรรมครั้งนี้  จะสามารถสร้างนวัตกรรมที่จะไปตอบโจทย์สุขภาวะทางจิตได้  เพราะสุขภาพใจเป็นเรื่องของทุกคน”

    ในที่สุดก็ได้ 8 ไอเดีย 8 นวัตกรรมที่ช่วยดูแลปกป้องสุขภาพจิตคนไทย โดยส่วนใหญ่เน้นการเข้าถึงระบบส่งเสริม และป้องกันก่อนการป่วย โดยหลังจากที่เสร็จสิ้นกิจกรรมแล้ว ไทยพีบีเอสเตรียมผลักดัน 8 นวัตกรรมนี้ให้เกิดผลลัพธ์ได้จริง ต่อยอดไปสู่ระดับนโยบายให้ได้เห็นผลจริง ประกอบไปด้วย

    1. ใจฟู Community – นวัตกรรมระบบบริการสุขภาพจิตไทย (Innovation) เจ้าของโจทย์ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรมหาชน)

    โมเดลการใช้ชุมชนเป็นฐาน เพื่อลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ สร้างสุขภาพใจที่ดีอย่างยั่งยืน ด้วยนวัตกรรมจาก NIA โดยมี ใจฟู Creator ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่สนใจประเด็นสุขภาพจิตกระจายอยู่ทั่วประเทศ ดำเนินงานให้ความรู้ ความเข้าใจในเรื่องสุขภาพใจ เช่น การจัดนิทรรศการให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไป และระบบที่ 2 คือการดึง influencer เป็นกาวใจในการพูดเรื่องสุขภาพจิต ระบบที่ 3 ใช้บ้าน วัด โรงเรียน เป็นแกนนำสร้างชมรวมส่งเสริมสุขภาพจิต และระบบที่ 4 คือ กลุ่มผู้ป่วยจิตเวชที่ผ่านการรักษาเป็นแรงบันดาลใจเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย จนในท้ายที่สุดเกิด ecosystem ที่ดีทางสุขภาพจิต ให้เป็นบรรทัดฐานใหม่ของสังคมไทยให้ได้

    1. ฟังกันก๊อนนน – องค์กรส่งเสริมความสุข และสุขภาวะทางจิต (Happy Work) เจ้าของโจทย์ Food passion  

    ในปัจจุบันสถานที่ทำงานก็ก่อให้เกิดการเจ็บป่วยทางจิตใจได้ ในแต่ละองค์กรมีความแตกต่างที่ต่างกัน จึงจำเป็นต้องแผนงานต้องมีการสร้างแบบประเมินเกณฑ์ ความเครียดของพนักงานในองค์กร โดยในแบบสำรวจระบุว่าปัจจัยอะไรที่เข้าถึงความเครียด เช่น หัวหน้า เพื่อนร่วมงาน การทำงาน ลักษณะงาน ครอบครัว การเงิน ฯลฯ และเพื่อให้ได้ข้อมูลในการช่วยแก้ปัญหา มีการสร้างหลักสูตรพื้นฐานในการดูแลสุขภาพใจกันและกัน ฟังกัน เพื่อป้องกันการเกิดปัญหา และในแผนระยะยาว คือการสร้างพื้นที่ปลอดภัยพร้อมรับฟังด้วยหัวใจ จนออกมาเป็นนโนบายในการแก้ปัญหา เช่น ที่ปรึกษาด้านการเงินเพื่อลดปัญหาความเครียดจากภาวะทางเศรษฐกิจ

    1. ศูนย์ฝึกและอบรมแห่งการเปลี่ยนแปลง นวัตกรรมระบบสุขภาพจิตเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิด (Justice System) เจ้าของโจทย์กรมพินิจ และคุ้มครองเด็ก และเยาวชน

    ศูนย์ฝึกและอบรมแห่งการเปลี่ยนแปลง จะขับเคลื่อนใน 3 ส่วน คือ การฝึกฝนอบรมเจ้าหน้าที่โดยใช้จิตวิทยาเชิงบวกในการรับฟังเด็กและเยาวชนที่มีพฤติกรรมรุนแรง, ระยะที่ 2 มีระบบการแก้ไขที่เฉพาะเจาะจงในการดูแลเด็กที่มีความยุ่งยากซับซ้อนและรุนแรง และระยะสุดท้ายขับเคลื่อนเชิงนโยบายที่ไม่ใช่แค่เชิงระบบกับบุคลากรอย่างเดียว แต่ไปถึงเชิงโครงสร้างของตัวศูนย์แห่งนี้ให้มีความมั่นคงปลอดภัย

    1. Happy Hub – Digital Economy สุขภาพใจวัยทำงานแห่งอนาคต เจ้าของโจทย์ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

    ใช้นวัตกรรมสร้างพื้นที่ Sandbox เพื่อรวมภาคีฯ สร้าง Happy Hub ของคนทำงาน เพื่อเก็บข้อมูลผลสัมฤทธิ์จากการทดลองลดกฎ เพิ่มเกณฑ์ ที่ปิดกั้นอิสระและความสุขของคนทำงานออกไป เพิ่มเกณฑ์เพื่อการันตีมาตรฐานสุขภาพใจวัยทำงานแห่งอนาคต ผ่านการสนับสนุนจากองค์กรที่ทำงานด้านสุขภาพจิต ขยายจนเกิดเป็นเครือข่ายองค์กร แลกเปลี่ยนรูปแบบการทำงานซึ่งกันและกัน

    1. อุ่นใจ เตือนภัยมิจจี้ – พลังของเทคโนโลยีการสื่อสารต่อสุขภาพจิตสังคมไทย (Communication) เจ้าของโจทย์ แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS 

    นวัตกรรมป้องกันการถูกหลอกในโลกออนไลน์ จนนำมาสู่ความเครียด ฆ่าตัวตาย โดยมีแกนนำหลักอย่าง AIS ร่วมมือกับตำรวจไซเบอร์ ให้การให้ภูมิคุ้มกัน ระบบแจ้งเตือนเบอร์น่าสงสัยที่โทรเข้ามา ศูนย์กลางในการรับแจ้งคดีความถูกหลอกในออนไลน์ มีระบบให้คำปรึกษาเยียวยาจิตใจ และให้คำแนะนำเรื่องการจัดการการเงินหลังถูกหลอก

    1. Hack Jai Insurance – ระบบประกันสุขภาพจิตที่ครอบคลุมสำหรับคนไทย (Insurance) เจ้าของโจทย์ กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน)

    จากข้อมูลพบว่า 46.2% ของผู้เข้ารับการรักษาสุขภาพจิต เคยหยุดการรักษากลางคันเหตุเพราะมีค่าใช้จ่ายที่สูง โดยกรุงเทพประกันภัยหนึ่งในธุรกิจประกันภัยที่เข้าร่วมการ Hack ในครั้งนี้ นำเสนอว่า ในอนาคตจะร่วมกับกรมสุขภาพจิตในการรณรงค์สร้างความรู้ ความเข้าใจให้คนไทยห่างไกลจากภาวะซึมเศร้าโดยมุ่งหวังให้สังคมช่วยดูแลประคับประคองอย่างยั่งยืน ขณะที่ไตรมาสที่ 2 บริษัทจะขยายความคุ้มครองในกรมธรรม์ประกันสุขภาพมาตรฐาน โดยเพิ่มการให้บริการตรวจรักษาของโรคที่เกี่ยวเนื่องกับภาวะทางจิตใจหรือจิตเวช และไตรมาสที่ 4 บริษัทและภาคีฯ จะมีการให้บริการคำปรึกษาและรักษาโรคที่เกี่ยวเนื่องกับภาวะทางจิตใจผ่านระบบ Telemedicine Service ซึ่งในระยะแรกสำคัญที่สุดคือการเข้าถึงฐานข้อมูลด้านสุขภาพจิตในธุรกิจประกันภัย รู้ความเสี่ยง ปริมาณของผู้คน เป็นฐานข้อมูลเพื่อแบ่งปันให้กับบริษัทประกันภัยอื่น ๆ ในการขยายผลครอบคลุม คุ้มครองระบบสุขภาพจิตคนไทย

    1. Hero Protecter – เจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์สุขภาพจิตคนไทย (Law Enforcer) เจ้าของโจทย์ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง

    “ข้าราชการตำรวจมีสุขภาวะทางจิตที่ดี ดูแลช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มประสิทธิภาพ” ผ่านการใช้นวัตกรรมนำจิตวิทยาเชิงบวกมาปรับใช้  โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) แผนการปฏิบัติงานระยะสั้น Hero Protecter Club House ที่มีภาคีฯ ด้านสุขภาวะจิต ร่วมจัดกระบวนการเพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ระบายความรู้สึก ขยายผลโมเดลไปยังตำรวจหน่วยอื่นๆ โดยตัวชี้วัดและการประเมินผล ได้แก่ ดัชนีชี้วัดความสุขก่อนและหลังการร่วมกิจกรรม และความต่อเนื่องในการเข้าร่วมกิจกรรมระยะแรก

    1. พื้นที่เมืองแห่งความสุข – Smiling Cities จากเจ้าของโจทย์ Urban Planning – Future Tales Lab by MQDC 

    การพัฒนารูปแบบเมืองที่ใช้นวัตกรรมทำให้ผู้คนในเมืองรู้สึก ปลอดภัย ผ่าน Urban Data Platform ระบบการป้องกันภัยล่วงหน้า ป้องกันภัยพิบัติเหตุอาชญากรรม รวมถึงผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนในเมืองทั้งกาย และจิต สวยงามน่าอยู่ ออกแบบหลักสูตรคำแนะนำ ในการส่งเสริมเมืองที่คำนึงถึงสุขภาพจิตต้องเป็นอย่างไร เพื่อส่งต่อให้กับ กทม.และ อปท. ปรับปรุงพื้นที่ให้สวยงาม สร้างให้เกิดเมืองที่รองรับคนทุกกลุ่ม ส่งเสริมสุขภาพจิต ร่วมกับหน่วยงานด้านสุขภาพจิตสร้างพื้นที่บริการสุขภาพจิตส่งเสริม Mental Health Literacy ให้ทุกคนเข้าถึงพื้นที่ และบริการสุขภาพจิตได้อย่างทั่วถึง โดยระยะสั้น วางแผนสร้างแพลตฟอร์มทดลองพื้นที่นำร่อง ระยะกลาง 3-5 ปี กระจายโหนดขยายเครือข่าย และระยะสุดท้าย 6-10 ปี ขยายผลทุกพื้นที่ในเมือง นำไปสู่การปรับแก้กฎหมาย

    จากกิจกรรม HACK ใจ ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ นำไปสู่ 8 นวัตกรรมที่สามารถเปลี่ยนโลกได้อย่างแน่นอน ช่วยสร้างความมั่นใจว่าเรื่องของสุขภาวะทางจิต มีทางออก มีรูปธรรม เพื่อนำไปสื่อสารให้เกิดผลสะเทือนกับสังคม ซึ่งแต่ละประเด็นมีผู้เชี่ยวชาญที่นำไปสานต่อได้ในทันที ส่วนไทยพีบีเอสไม่พลาดที่จะหยิบยก 8 ประเด็นนี้ไปสื่อสารต่อแก่คนไทย เพื่อผลักดันต่อในเชิงนโยบาย และให้เห็นผลเป็นรูปธรรม สร้างสุขภาวะทางจิตในสังคมให้มีความแข็งแรง

    สามารถติดตามรับชมย้อนหลังได้ทาง Facebook และ YouTube : ThaiPBS และ The Active  

    สามารถติดตามไทยพีบีเอสทุกช่องทางออนไลน์ ได้ที่ 

    ▪ Social Media Thai PBS : Facebook, YouTube, X (Twitter), LINE, TikTok, Instagram

    ▪ Website : www.thaipbs.or.th

    ▪ Application : Thai PBS

    ]]>
    1467029
    งานวิจัยพบ “ล็อกดาวน์” เพราะโควิด-19 ส่งผลให้อายุ “สมอง” วัยรุ่นแก่ตัวเร็วผิดปกติ https://positioningmag.com/1411066 Sat, 03 Dec 2022 08:14:46 +0000 https://positioningmag.com/?p=1411066 งานวิจัยล่าสุดพบว่า การล็อกดาวน์ในช่วงเกิดโรคระบาดโควิด-19 มีผลกระทบต่อ “สมอง” ของวัยรุ่นในเชิงกายภาพ ทำให้อายุสมองแก่ตัวลงเร็วผิดปกติ ซึ่งเกิดขึ้นในส่วนของสมองที่มีผลต่อ “อารมณ์” และสุขภาพจิตในวัยรุ่น

    Ian Gotlib หัวหน้าทีมวิจัยจาก Stanford University ตีพิมพ์งานวิจัยชิ้นนี้ใน Biological Psychiatry: Global Open Science โดยเนื้อหางานวิจัยระบุถึงการที่ “สมอง” ของวัยรุ่นได้รับผลกระทบหลังผ่านการล็อกดาวน์ในช่วงเกิดโรคระบาดโควิด-19 ทำให้อายุสมองแก่ตัวลงเร็วขึ้น

    “เราทราบอยู่แล้วจากงานวิจัยชิ้นอื่นที่พบว่าโรคระบาดโควิด-19 มีผลต่อสุขภาพทางจิตในวัยรุ่น แต่ที่เราไม่เคยรู้คือ ผลกระทบนั้นมีผลทาง ‘กายภาพ’ โดยตรงในสมองของวัยรุ่น” Gotlib ระบุในงานวิจัย

    Gotlib กล่าวว่า ปกติแล้วโครงสร้างทางสมองของคนเราจะมีการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติเมื่อเรามีอายุเพิ่มขึ้น โดยในวัยเจริญพันธุ์และวัยรุ่นตอนต้น ร่างกายของเด็กจะเปลี่ยนแปลงหลังสมองเกิดการเติบโตทั้งในส่วนฮิปโปแคมปัสและอะมิกดาลา สมองในส่วนฮิปโปแคมปัสจะช่วยในการควบคุมด้านความทรงจำ และส่วนอะมิกดาลาจะควบคุมเรื่องอารมณ์

    การวิจัยนี้มีการสแกน MRI สมองของเด็ก 163 คน โดยสแกนเทียบช่วงก่อนเกิดโรคระบาดกับหลังเกิดโรคระบาด Gotlib พบว่า อายุของสมองวัยรุ่นถูกเร่งการเติบโตผิดปกติเมื่อต้องผ่านประสบการณ์ “ล็อกดาวน์” ในช่วงเกิดโควิด-19

    ก่อนจะเกิดโรคระบาดโควิด-19 เขาระบุว่าการเร่งโตของอายุสมองเด็กจะถูกพบเฉพาะในเด็กที่ผ่านประสบการณ์สถานการณ์ร้ายในชีวิตมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ความรุนแรง การถูกทอดทิ้ง ครอบครัวมีปัญหา หรือหลายๆ ปัจจัยเหล่านั้นรวมกัน และเด็กที่ผ่านประสบการณ์เหล่านี้มักจะเกิดปัญหาสุขภาพจิตในภายหลังเมื่อเติบโตขึ้น

    อย่างไรก็ตาม งานวิจัยของ Gotlib ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าการเปลี่ยนโครงสร้างทางสมองที่เขาและทีมค้นพบจะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตในลักษณะเดียวกันหรือไม่ และยังไม่ทราบว่าอายุสมองที่แก่ตัวล่วงหน้าอายุจริงจะเป็นเช่นนี้ถาวรหรือไม่

    “สำหรับคนวัย 70-80 ปี คุณจะคาดการณ์ได้เลยว่าปัญหาการจดจำและความทรงจำจะเริ่มเกิดขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในสมอง แต่สำหรับเด็กอายุ 16 ปี ถ้าอายุสมองแก่ตัวลงเร็วผิดปกติ จะเกิดผลอย่างไรนั้นยังไม่แน่ชัด” Gotlib กล่าว

    ทั้งนี้ งานวิจัยของ Gotlib ไม่ได้ตั้งใจจะศึกษาเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น เดิมเขาเริ่มงานวิจัยตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด-19 เพื่อวิจัยหัวข้อภาวะซึมเศร้าในช่วงวัยเจริญพันธุ์ แต่เมื่อเกิดโควิด-19 ระบาดขึ้นทำให้งานวิจัยมีการเลื่อนออกไปชั่วคราว และเมื่อทีมกลับมาวิจัยกันอีกครั้งหลังหยุดไปเกือบ 1 ปี กลับกลายเป็นการค้นพบว่าภาวะโรคระบาดทำให้สมองของเด็กวัยรุ่นแก่ตัวเร็ว

    การวิจัยครั้งนี้มีความสำคัญในแง่ที่ว่า ในโลกนี้ไม่มีใครที่รอดพ้นไปจากการระบาด ทุกคนได้เผชิญล็อกดาวน์เพราะโควิด-19 กันทั้งหมด และหากวัยรุ่นทั่วโลกเผชิญการเปลี่ยนแปลงของสมองแบบเดียวกัน นั่นหมายความว่าทั้งเจนเนอเรชันนี้อาจมีความผิดปกติในการเติบโตของสมองเหมือนกันทั้งหมด และอาจจะมีผลเมื่อพวกเขาโตเป็นผู้ใหญ่

    Jonas Miller นักวิจัยร่วมในทีมนี้จาก University of Connecticut อธิบายว่า การล็อกดาวน์และดิสรัปชันเพราะโรคระบาด ทำให้กิจวัตรประจำวันเปลี่ยนแปลงไป และเป็นเหมือนสถานการณ์ทางลบที่มีผลกระทบในชีวิตอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจจะทำให้สมองของเด็กวัยรุ่นในช่วงที่ผ่านโรคระบาดไม่เหมือนกับเด็กในยุคก่อนหน้านี้

    Source

    ]]>
    1411066
    ‘Instagram’ อัปเดต 6 ฟีเจอร์ใหม่ หวังช่วยลดปัญหา ‘สุขภาพจิต’ https://positioningmag.com/1355835 Sun, 10 Oct 2021 05:41:56 +0000 https://positioningmag.com/?p=1355835 ประเด็นสุขภาพจิตมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านชีวิตส่วนตัว ด้านความสัมพันธ์ ด้านการทำงาน และด้านการเรียนรู้ ซึ่งการใช้งานโซเชียลมีเดีย ก็ถือเป็นดาบ 2 คม หากเราไม่ตระหนักรู้และไม่ดูแลสุขภาพจิตอย่างเหมาะสม ก็จะเกิดผลกระทบตามมามากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์โควิดตอนนี้ ซึ่งสร้างความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจิตได้ง่ายขึ้น

    โดยใน Instagram ได้อัปเดตฟีเจอร์ใหม่ ๆ เพื่อช่วยประเด็นด้านสุขภาพจิต ได้แก่

    • การซ่อนยอดไลก์ Instagram มอบทางเลือกให้ผู้คนสามารถเลือกได้ว่าต้องการให้ผู้อื่นเห็นยอดไลก์บนโพสต์ของพวกเขาหรือไม่ และยังสามารถเลือกได้ว่าต้องการเห็นยอดไลก์บน Instagram หรือไม่
    • การควบคุมด้านการส่งข้อความและการมีปฏิสัมพันธ์ การตั้งค่าที่ช่วยให้ผู้คนสามารถเลือกได้ว่าต้องการอนุญาตให้ทุกคน ไม่อนุญาตใครเลย หรืออนุญาตเฉพาะผู้คนที่พวกเขาติดตาม ให้สามารถส่งข้อความ แท็ก หรือกล่าวถึงพวกเขาในช่องแสดงความคิดเห็น คำบรรยายใต้ภาพ Stories หรือการส่งข้อความตรง
    • จำกัด Instagram ช่วยป้องกันไม่ให้ผู้รังแก (bullies) สามารถมองเห็นหรือเข้ามามีส่วนร่วมกับเนื้อหาของผู้ใช้ได้ โดยที่ผู้รังแกจะไม่ได้รับการแจ้งเตือน
    • ลิมิต Instagram ช่วยให้ผู้คนสามารถซ่อนความคิดเห็นและคำขอในการส่งข้อความตรงโดยอัตโนมัติ จากผู้คนที่ไม่ได้ติดตามหรือผู้คนที่เพิ่งเริ่มติดตามพวกเขาในช่วงที่ผ่านมา
    • การควบคุมเนื้อหาที่มีความอ่อนไหว ผู้คนสามารถเลือกเนื้อหาที่พวกเขาเห็นในหน้า Instagram Explore ได้ตามความต้องการของตัวเอง จากการมอบทางเลือกในการเห็นเนื้อหาที่อาจถูกมองว่ามีความอ่อนไหว (sensitive) จำนวนมากขึ้นหรือน้อยลงก็ได้ Instagram ยังกรองเนื้อหาบางประเภทออกจากหน้า Explore ซึ่งเป็นเนื้อหาที่อาจถูกมองว่ามีความอ่อนไหว หรือสร้างความขุ่นเคือง (offensive) และผู้ใช้วัยรุ่นจะเลือกเห็นเนื้อหาประเภทนี้ในจำนวนน้อยลงได้อย่างเดียวเท่านั้น
    • การเตือน (Nudges) นอกจากนี้ Instagram กำลังพัฒนาฟีเจอร์ที่สนับสนุนให้ผู้คนหยุดพักและไตร่ตรองว่าเนื้อหาประเภทไหนที่พวกเขาต้องการรับชม และหวังที่จะช่วยเชื่อมต่อผู้คนเข้ากับเนื้อหาที่สร้างแรงบันดาลใจและยกระดับจิตใจของพวกเขา

    นอกจากนี้ Instagram ยังเปิดตัว Instagram Guides ฟีเจอร์เพื่อช่วยให้การค้นพบคำแนะนำ เคล็ดลับ และเนื้อหาอื่น ๆ จากครีเอเตอร์ บุคคลสาธารณะ องค์กร และผู้ผลิตเนื้อหา (publishers) บน Instagram เป็นเรื่องง่ายยิ่งขึ้น โดยการเข้าดูไกด์ต่าง ๆ คุณสามารถไปที่หน้าโปรไฟล์ของ โนอิ้งมายด์ อูก้า และ สมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย จากนั้นกดไปที่ปุ่มไอคอนไกด์เพื่อรับชมไกด์ของพวกเขา

    โดยในขณะเยี่ยมชมไกด์ ผู้ใช้จะเห็นโพสต์และวิดีโอต่าง ๆ ที่ครีเอเตอร์ได้เลือกสรรมาจัดแสดง ซึ่งจะถูกจับคู่กับเคล็ดลับและคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ นอกจากนี้ คุณยังสามารถแชร์ไกด์เหล่านี้ไปยัง Instagram Stories หรือส่งเป็นข้อความ (Direct) ด้วยการกดปุ่มแชร์ที่ด้านขวาบน

    ที่ผ่านมา ประเด็นด้านสุขภาพจิตมีการพูดถึงในมุมมองที่กว้างขึ้นบนโลกออนไลน์ โดยมีผู้คนจำนวนกว่า 200,000 คน เป็นสมาชิกในกลุ่มบน Facebook ราว 2,000 กลุ่ม ที่มีวัตถุประสงค์ในการ ให้ความช่วยเหลือผู้คนที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต นอกจากนี้ คีย์เวิร์ดที่เกี่ยวกับประเด็นด้านสุขภาพจิตยังผลักดันให้เกิดพูดคุยและมีปฏิสัมพันธ์บน Instagram เป็นจำนวนกว่า 2.2 ล้านครั้ง ในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา

    สื่อแฉ ‘Facebook’ ศึกษาผลด้านลบของ ‘Instagram’ ต่อวัยรุ่นกว่า 3 ปีแต่ไม่เปิดเผย

    ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิตระบุว่า การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้คนไทยจำนวนกว่า 3.3 ล้านคน ที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีปัญหาด้านสุขภาพจิต ไม่ว่าจะเป็นอาการวิตกกังวล โรคซึมเศร้า และความคิดอยากฆ่าตัวตาย และจากผลการศึกษาขององค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ (UNICEF) ประจำปี 2563 พบว่า 7 ใน 10 ของเด็กและเยาวชนชาวไทย ได้รับผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพจิต ซึ่งกระตุ้นให้เกิดความเครียด ความทุกข์ และความวิตกกังวล จากความไม่แน่นอนทางด้านการเงินและโอกาสในการถูกจ้างงานในอนาคต

    ]]>
    1355835
    หุ่นดีแล้ว “สุขภาพจิต” ก็ต้องดีด้วย! Fitbit ออกสมาร์ตวอตช์ใหม่ ติดตามระดับ “ความเครียด” ได้ https://positioningmag.com/1294350 Thu, 27 Aug 2020 10:58:04 +0000 https://positioningmag.com/?p=1294350 Fitbit ออกจำหน่ายสมาร์ตวอชต์เชิงพาณิชย์รุ่นแรกของโลกที่สามารถติดตามระดับ “ความเครียด” ของผู้ใช้ได้ ผ่านเซ็นเซอร์ล้ำสมัยเรียกว่า EDA ในอีกมุมหนึ่ง เทคโนโลยีนี้ทำให้เกิดความกังวลหากมีการนำมาใช้ในที่ทำงาน อาจทำให้ความเป็นส่วนตัวของพนักงานสูญเสียไป

    Fitbit Sense สมาร์ตวอชต์ใหม่ล่าสุดเพิ่งจะเปิดตัวในสัปดาห์นี้ โดยเครื่องมือนี้มีการบรรจุเซ็นเซอร์ EDA (Electrodermal Activity) ติดตั้งเข้าไปด้วย ทำให้สามารถติดตามระดับความเครียดของผู้ใช้ อ่านค่าจากระดับ 1-100 แสดงบนนาฬิกาและแอปพลิเคชันที่เชื่อมต่อได้เลย

    หลักการทำงานของ EDA คือ ผู้ใช้วางฝ่ามือลงบนหน้าปัดของเครื่อง เครื่องจะวัดปฏิกิริยาการตอบสนองต่อกระแสไฟฟ้าในระดับชั้นเหงื่อของผิวหนัง เมื่อวิเคราะห์ออกมาแล้ว หากอยู่ในระดับที่มีความเครียด Fitbit จะแนะนำการบริหารจัดการความเครียดด้วยวิธีต่างๆ เช่น ฝึกหายใจ ฝึกสมาธิ นอนให้เร็วขึ้น และเป็นดัชนีชี้วัดให้ผู้ใช้ตัดสินใจได้ว่าตนเองควรลุยโปรเจกต์งานใหม่ๆ หรือพักก่อน

    ในประเทศไทย Fitbit Sense จะจำหน่ายในราคา 11,990 บาท ทั้งนี้ สมาร์ตวอชต์ตัวใหม่ของบริษัทรุ่นนี้ถือเป็นการกรุยทางไปสู่อุตสาหกรรมเวลเนสที่ได้รับความนิยมสูงในยุคนี้

    Fitbit Sense สามารถแจ้งระดับความเครียด และแนะนำการจัดการความเครียดเหล่านั้นได้

     

    จะใช้ได้จริงหรือไม่?

    สมาร์ตวอชต์แต่ละแบรนด์กำลังแข่งขันกันเพิ่มความสามารถในเชิงการแพทย์ โดย อเดล เลายู ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท NeuTigers บริษัทด้านแมชชีนเลิร์นนิ่ง ให้ความเห็นกับ Business Insider ว่า ด้วยเทคโนโลยีเซ็นเซอร์และแมชชีน เลิร์นนิ่งที่ล้ำสมัยขึ้นจะทำให้สมาร์ตวอชต์สามารถตรวจหาโรคได้หลายพันโรคในอนาคต

    NeuTigers เองเป็นผู้นำในการวิจัยด้านนี้ โดยมีการพัฒนางานวิจัยเชิงคลินิกเพื่อพิสูจน์คอนเซ็ปต์ว่าแมชชีนเลิร์นนิ่งและเซ็นเซอร์เหล่านี้สามารถวินิจฉัยโรคอย่างโรคเบาหวาน ซึมเศร้า จิตเภท และไบโพลาร์ได้จริง

    อย่างไรก็ตาม เลายูชี้ให้เห็นว่า NeuTigers ร่วมกับสถาบัน MIT พัฒนาเซ็นเซอร์ในระดับงานวิจัยได้สำเร็จก็จริง แต่ไม่แน่ใจว่าเซ็นเซอร์ EDA ของ Fitbit มีการผ่านการพิสูจน์วิจัยทางคลินิกหรือยัง “การนำเซ็นเซอร์ไปติดตั้งในสมาร์ตวอตช์เป็นเรื่องหนึ่ง แต่การสาธิตให้เห็นว่าสมาร์ตวอชต์นั้นอยู่ในระดับที่ใช้ได้จริงทางการแพทย์คืออีกเรื่องหนึ่งเลย”

    Fitbit Sense

    ถึงอย่างนั้นก็ตาม ความเป็นไปได้เชิงพาณิชย์ของเซ็นเซอร์ EDA ก็มีสูงมาก เพราะที่ผ่านมานักวิจัยก็ใช้เซ็นเซอร์นี้วัดระดับทางอารมณ์ เช่น ความกลัว ความโกรธ ความสุข ความประหลาดใจ ได้อย่างแม่นยำ

     

    ความเป็นส่วนตัวของพนักงานอาจลดลง?

    ศักยภาพในการวินิจฉัยโรคของสมาร์ตวอชต์ ในอีกมุมหนึ่งก็ทำให้เกิดความกังวลด้านความเป็นส่วนตัวด้วย เพราะบริษัทใหญ่อย่าง Apple และ Fitbit (ซึ่งบริษัท Google เข้าซื้อไปด้วยเม็ดเงิน 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อปี 2562) ต่างก็ออกโปรแกรมสมาร์ตวอชต์ให้กับองค์กรต่างๆ เพื่อสนับสนุนเรื่องสุขภาพในที่ทำงาน โปรแกรมเหล่านี้พยายามจูงใจถึงผลประโยชน์แบบวิน-วินของบริษัทกับพนักงาน เพราะบริษัทจะได้บุคลากรที่สุขภาพดีขึ้น ทำงานได้ดีขึ้น ส่วนพนักงานก็จะมีโปรแกรมดูแลสุขภาพแบบเฉพาะรายบุคคล

    แต่โปรแกรมเหล่านี้ก็ทำให้เกิดข้อกังวลด้านความเป็นส่วนตัว ยกตัวอย่างเช่น ขณะนี้ Fitbit มีโปรแกรมชื่อ Ready for Work เพื่อใช้ตรวจสอบว่าพนักงานมีแนวโน้มจะติดเชื้อไวรัสโคโรนาหรือไม่ และข้อมูลพนักงานจะถูกส่งตรงไปที่ผู้ว่าจ้าง

    เมื่อสมาร์ตวอชต์สามารถวิเคราะห์ได้ถึงขั้นสุขภาพใจของพนักงาน ผสมกับโปรแกรมของบริษัทเทคโนโลยีที่จับมือกับองค์กรโดยตรง หากไม่มีการป้องกัน ต่อไปองค์กรอาจจะสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของพนักงานทั้งร่างกายไปถึงจิตใจก็ได้

    Source

    ]]>
    1294350