ออกแบบเว็บไซต์ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 21 Dec 2021 09:27:27 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 GoDaddy จูงใจ SMEs ไทยเปิดเว็บไซต์ส่วนตัว อย่าฝากร้านไว้กับโซเชียลมีเดียเท่านั้น https://positioningmag.com/1367981 Tue, 21 Dec 2021 07:53:51 +0000 https://positioningmag.com/?p=1367981 บริษัทรับจดโดเมนเนมรายใหญ่จากสหรัฐฯ “GoDaddy” อัปเดตหลังบุกตลาดไทย 1 ปีกว่า ความท้าทายหลักยังเป็นการจูงใจให้ SMEs ที่ทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซสนใจเปิดเว็บไซต์ส่วนตัวควบคู่กับร้านบนโซเชียลมีเดีย เน้นสื่อสารข้อดีของการมีเว็บไซต์ และปัจจุบันมีทีมคนไทยคอยดูแลแล้ว พร้อมตอบรับเศรษฐกิจดิจิทัลไทยที่จะโต 17% ภายในปี 2568

GoDaddy เป็นบริษัทให้บริการเกี่ยวข้องกับเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ มีธุรกิจหลัก 3 อย่างคือ รับจดโดเมนเนม, โฮสติ้ง และให้บริการออกแบบเว็บไซต์ด้วยตนเอง (DIY) และตัวแทนจำหน่ายแอปพลิเคชันเพื่อธุรกิจ เช่น Office365 ช่วงไตรมาส 3/2021 บริษัท GoDaddy มีรายได้ทั่วโลก 964 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 32,500 ล้านบาท) เติบโต 14% YoY

ตลาดหลักของบริษัทยังอยู่ในสหรัฐอเมริกา แต่เมื่อ 2-3 ปีก่อน บริษัทเริ่มขยายตัวออกสู่ตลาดต่างประเทศอย่างจริงจัง รวมถึงในไทยด้วย แต่ตลาดฝั่งเอเชียนั้นพฤติกรรมผู้บริโภคมีความแตกต่างจากตะวันตก

“สายทิพย์ (นิกกี้) เชวงทรัพย์” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ GoDaddy อัปเดตธุรกิจหลังเริ่มทำตลาดในไทยประมาณ 1 ปีกว่า มีธุรกิจไทยติดต่อเข้ามาพอสมควรจากหลากหลายธุรกิจ เช่น สินค้ารีเทล ร้านอาหาร บริษัททัวร์ บริษัทสถาปนิก ฯลฯ โดยบริษัทแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มหลัก ที่มีความต้องการสร้างเว็บไซต์ของบริษัทด้วยจุดประสงค์ต่างกัน ดังนี้

  • Small & Growing เป็นสตาร์ทอัพหรือผู้ประกอบการรายใหม่ที่เริ่มทำธุรกิจมาไม่ถึง 1 ปี ต้องการสร้างแบรนด์และมองหาโอกาสทำธุรกิจให้เติบโต
  • Small & Steady เป็นธุรกิจเล็กที่เริ่มมีรายได้คงที่แล้ว กำลังเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ต้องการจะเติบโตอย่างยั่งยืน
  • Large SMB เป็นธุรกิจขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่ มีทีมงานมากกว่า 10 คน เริ่มมองหาการขยายธุรกิจให้โตก้าวกระโดด เป็นกลุ่มที่รู้ว่าตัวเองต้องการมุ่งเป้าไปในทิศทางไหน

GoDaddy

จากการทำตลาดจะพบว่า พฤติกรรมคนเอเชียรวมถึงคนไทยจะสลับกับฝั่งตะวันตก กล่าวคือฝั่งตะวันตกเมื่อเริ่มทำธุรกิจ มักจะสร้างเว็บไซต์ของแบรนด์ขึ้นมาก่อน จากนั้นจึงเปิดหน้าร้านบนโซเชียลมีเดีย แต่ฝั่งเอเชียจะนิยมเปิดร้านบนโซเชียลมีเดียก่อน จนติดตลาดแล้วจึงพิจารณาเรื่องการเปิดเว็บไซต์ ซึ่งทำให้ตลาดโตช้ากว่าในตะวันตก

 

โจทย์ใหญ่: ผู้บริโภคมองว่าทำไมต้องมี “เว็บไซต์” ?

อุปสรรคของธุรกิจรับออกแบบเว็บไซต์และจดโดเมน คือ SMEs ไทยจะไม่เห็นความจำเป็นในการเปิดเว็บไซต์ เพราะผู้บริโภคไทยเองก็เคยชินกับการ ‘ทักแชท’ ซื้อขายแบบโซเชียลคอมเมิร์ซ เป็นช่องทางที่สะดวกและตรงจริตคนไทยอยู่แล้ว นอกจากนี้ ยังมองว่าการเปิดเว็บไซต์นั้นยุ่งยาก ต้องมีความรู้เทคนิค และต้องลงทุนสูง

อย่างไรก็ตาม สายทิพย์ชี้ให้เห็นอีกมุมหนึ่งว่า การมีเว็บไซต์ส่วนตัวของแบรนด์มีข้อดีที่เหนือกว่าการฝากร้านไว้กับโซเชียลมีเดียเท่านั้น ดังนี้

  • กระจายความเสี่ยงการเปลี่ยนอัลกอริทึมของโซเชียลมีเดีย – บางครั้งโซเชียลมีเดียปรับอัลกอริทึมใหม่จนทำให้โพสต์ของร้านถูกลดการมองเห็นลงอย่างมาก ร้านค้าต้องลงทุนบูสต์โพสต์สูงขึ้นเพื่อให้ยังคงยอดขายไว้ได้ แต่หน้าเว็บไซต์มีโอกาสคงอยู่ใน Google Search ง่ายกว่า เสถียรกว่า
  • ปัญหาการจัดเก็บข้อมูลบนโซเชียลมีเดีย – เมื่อเราโพสต์ข้อมูลบนโซเชียลมีเดีย โพสต์จะเลื่อนหล่นลงไปเรื่อยๆ และหาได้ยาก การจัดเก็บไม่เป็นระบบเมื่อลูกค้าจะเข้ามาชมข้อมูล การจะหาข้อมูลต่างๆ ค่อนข้างยาก แต่หน้าเว็บไซต์สามารถออกแบบให้หาข้อมูลสำคัญได้ง่าย
  • แสดงตัวตนของแบรนด์ได้ชัดเจน – เมื่ออยู่บนโซเชียลมีเดียก็ยังมีเทมเพลตของโซเชียลมีเดียนั้นๆ กำกับ แต่เว็บไซต์เป็นพื้นที่ของแบรนด์เอง 100% แสดงตัวตนได้ชัดเจน
  • ลูกค้าเกิดความเชื่อถือ – ผลทางจิตวิทยาทำให้ลูกค้ารู้สึกว่า แบรนด์ที่มีเว็บไซต์ของตนเองเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจอย่างจริงจัง น่าเชื่อถือสูง
  • เก็บข้อมูลลูกค้าเพื่อใช้ประโยชน์ – การซื้อขายผ่านโซเชียลมีเดีย การจัดเก็บดาต้าลูกค้ายุ่งยากกว่า และทำการตลาดจูงใจให้ซื้อซ้ำหรือ CRM ได้ยากกว่าการเปิดเว็บไซต์ของตนเอง

GoDaddy

ในแง่ของการลงทุน เป็นคำถามใหญ่ที่ผู้ประกอบการมักจะสอบถาม ซึ่งสายทิพย์ชี้ให้เห็นว่า การฝากร้านไว้บนโซเชียลมีเดียก็ไม่ได้เป็นการใช้ฟรีเสมอไป เพราะทุกร้านมีการลงทุนบูสต์โพสต์แต่เนื่องจากอาจจะจ่ายเป็นรายวัน ทำให้รู้สึกว่าลงทุนต่ำ แต่รวมแล้วจริงๆ แล้วมีค่าใช้จ่ายหลักพันต่อเดือน ส่วนการสร้างเว็บไซต์กับ GoDaddy สามารถเริ่มต้นด้วยแพ็กเกจ 250 บาทต่อเดือนได้ ไม่จำเป็นต้องลงเงินก้อนใหญ่แต่แรก

แม้จะเป็นการเปรียบเทียบกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ประกอบการควรเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ควรจะใช้ทั้งสองช่องทางควบคู่กัน โดยมีการศึกษาวิจัยในต่างประเทศพบว่าร้านค้าที่มีหน้าร้านทั้งเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียจะทำให้การมองเห็นของลูกค้าเพิ่มขึ้น และทำยอดขายเพิ่ม 20%

 

ทีมคนไทยพร้อมดูแล

ด้านธุรกิจของ GoDaddy เอง ช่วงที่ผ่านมาได้ปรับตัวให้เข้ากับคนไทยมากขึ้น นั่นคือการตั้งทีมงานคนไทยเพิ่มเพื่อบริการให้คำปรึกษาและดูแลงาน จากที่ผ่านมาอาจจะมีคนไทยพูดไทยได้จำกัด ลูกค้าไม่สะดวกที่จะติดต่อกับพนักงานที่พูดภาษาอังกฤษ ทำให้ขณะนี้สายทิพย์มองว่า GoDaddy เป็นผู้เล่นระดับโลกรายเดียวในไทยที่มีทีมงานคนไทยพร้อมดูแล

“สายทิพย์ (นิกกี้) เชวงทรัพย์” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ GoDaddy

ส่วนการพัฒนาในระยะต่อไป เล็งเห็นแล้วว่าโจทย์ของไทยคือการซื้อขายจะเคยชินกับการทักแชท รวมถึงช่องทางชำระเงินควรจะเพิ่มฟีเจอร์จ่ายผ่านอีวอลเล็ตด้วย ซึ่งทางบริษัทจะนำไปศึกษาเพิ่มเติมว่าจะแก้โจทย์เหล่านี้อย่างไร

สายทิพย์มองว่า โอกาสการเติบโตในไทยยังมีสูง เนื่องจากผลการศึกษาของ Google คาดว่าเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยจะเติบโต 17% ในช่วงปี 2564-68 และการระบาดของ COVID-19 เป็นปัจจัยส่ง ทำให้มีผู้บริโภคดิจิทัลเพิ่มขึ้นแล้ว 9 ล้านคน ร้านค้าต่างปรับตัวเข้าสู่อีคอมเมิร์ซกันมากขึ้นด้วยสถานการณ์บังคับ เป็นโอกาสอันดีของธุรกิจรับจดโดเมนและออกแบบเว็บไซต์

“การใช้เว็บไซต์ของบริษัทคู่กับโซเชียลมีเดียเพื่อส่งเสริมกันและกัน จะเป็นเทรนด์อนาคตของอีคอมเมิร์ซ” สายทิพย์กล่าว

]]>
1367981
เปิดเคล็ดลับการใช้ “สี” ออกแบบเว็บไซต์ ให้แบรนด์ถูกจดจำ https://positioningmag.com/1214500 Sat, 16 Feb 2019 02:57:38 +0000 https://positioningmag.com/?p=1214500 ภาพจาก : freepik

สีสันทำให้การออกแบบเว็บไซต์มีชีวิตชีวา และทุกแห่งมีสี อยู่ที่จะหยิบมาใช้อย่างไรให้ถูก ให้สามารถส่งเสริมหรือกระตุ้นอารมณ์ในแบบที่แบรนด์ต้องการ โดยเฉพาะจากผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์

แม้สีจะไม่ใช่องค์ประกอบในการสร้างเว็บที่สมบูรณ์ แต่สีมีอิทธิพลต่อความรู้สึกและการดึงดูดโดยตรง เพราะอะไรอย่างน้อยในการพัฒนาเว็บแบรนด์ก็ควรมีหลัก หรือทฤษฎีสีเพื่อเป็นเครื่องมือที่จะพัฒนาเครื่องมือดิจิทัล อย่างเว็บไซต์ ให้เกิดประสิทธิภาพต่อ และโดดเด่น 

วิธีการเลือกสีที่เหมาะสมสำหรับการออกแบบเว็บ

การเลือกสีเป็นมากกว่าเรื่องของความชอบส่วนตัว แต่ละสีมีความหมายแตกต่างกัน และสามารถมีอิทธิพลต่อมนุษย์ในรูปแบบเฉพาะ เพราะมันมีพลังในการถ่ายทอดหรือสื่อข้อความที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจได้ทันที

โทนสีแต่ละสีก็จะให้ความหมายและความรู้สึกที่ต่างกันไปดังนี้ 

โทนสีอบอุ่น หรือโทนสีร้อน

  • สีแดง – ปราดเปรียว, อารมณ์, ความรัก, ความแข็งแกร่ง, ความรุนแรง
  • ชมพู – หวานโรแมนติก ขี้เล่น อบอุ่น มีเมตตาเห็นอกเห็นใจ
  • ส้ม – อบอุ่น ความกระตือรือร้น ความสำเร็จ ความมุ่งมั่นเป็นมิตร
  • สีเหลือง – อ่อนเยาว์มีชีวิตชีวา สดชื่น มองโลกในแง่ดี

ตัวอย่างเว็บไซต์ที่เลือกใช้โทนสีอบอุ่นหนึ่ง เป็นเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับสตาร์ทอัพด้านไวน์ เลือกใช้สีแดงเพื่อสื่อถึงแพชชั่น แต่ถ้าใช้เพียงสีเดียวจะทำให้เกิดความรู้สึกถูกกระตุ้นมากเกินไป ดังนั้นจึงมีการผสมกับสีโทนเย็นและสีธรรมชาติอย่าง สีดำ, สีขาว, สีเทา และสีน้ำตาล

สีโทนเย็น

  • สีเขียว – สดชื่น, สงบ, ผ่อนคลาย, เชื่อถือได้, เงียบสงบ, มีความหวัง, เยียวยา
  • สีน้ำเงิน – ความสะดวกสบาย ความชัดเจน ความสงบ ความน่าเชื่อถือ ความซื่อสัตย์ ความภักดี ความลอยัลตี้
  • สีม่วง – ความเย้ายวนใจ, พลัง, ความคิดถึง, ความหรูหรา, ความทะเยอทะยาน, จิตวิญญาณ

ตัวอย่างสีเหล่านี้ มีผลต่อผู้ชม และคือเหตุผลว่าทำไมสีเหล่านี้จึงเป็นสีที่ใช้บ่อยที่สุดบนเว็บไซต์ แต่ต้องระวัง หากใช้มากเกินไปจะทำรู้สึกเย็นชาและไร้อารมณ์ได้

สีธรรมชาติ

  • สีเทา – การเคารพ, ปัญญา, ความอดทน, ความทันสมัย ,ความยืนยาว, ความเฉลียวฉลาด
  • สีดำ – ทรงพลัง, กล้าหาญ, จริงจัง, สง่างาม, หรูหรา, น่าทึ่ง, เป็นทางการ
  • น้ำตาล – มิตรภาพ, โลก, บ้าน, เอาต์ดอร์, ความน่าเชื่อถือ, ความเรียบง่าย, ความอดทน

สีพวกนี้เหมาะในการผสมกับโทนสีอบอุ่นหรือสีโทนเย็น และมักใช้เพื่อลดโทนสีหลักและสร้างสมดุลในการออกแบบเว็บ

จิตวิทยาแห่งสีและการจดจำแบรนด์

ด้วยตัวอย่างและความหมายของสีที่ยกมา สามารถสะท้อนสิตวิทยาแห่งสีและการจดจำแบรนด์ ในฐานะที่สีเป็นตัวทำหน้าที่หลักในการดึงดูดความสนใจ สร้างความปรารถนาและสร้างลอยัลตี้ต่อผู้เข้าชม เพราะบางครั้งการเห็นแค่สีที่ถูกเลือกมาอย่างเหมาะสม สามารถทำให้ผู้บริโภคมองเห็นถึงแบรนด์ที่คุ้นเคยได้โดยไม่ได้เห็นแม้โลโก้แบรนด์ 

นอกเหนือจากความหมายทั่วไปที่อยู่เบื้องหลังแต่ละสีที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว ยังมีแนวโน้มบางอย่างที่แบรนด์มักจะทำเพื่อสร้างการรับรู้ผ่านสี ดังตัวอย่างต่อไปนี้

  • ร้านอาหารมักจะเป็นสีแดงและสีส้ม 
  • ธนาคารและสถาบันการเงินมักจะเป็นสีน้ำเงิน
  • ผลิตภัณฑ์หรูหรามักบรรจุในแพ็กเกจสีดำ
  • โรงแรมมักจะเป็นสีขาว สีน้ำเงิน สีดำหรือสีเขียว

ดังเช่นตัวอย่างแบรนด์ที่มีชื่อเสียงบางแห่งที่รู้จักกันดีในเรื่องสี เช่น CNN ที่เป็นสีแดงสีขาวและสีดำ สีเหลืองนั้นคือ National Geographic และ McDonald’s ต้องสีแดงและสีเหลืองผสมกัน

ขั้นตอนการใช้ทฤษฎีสีในการออกแบบเว็บ

เมื่อทราบแล้วว่า สีมีผลต่อกลุ่มเป้าหมายอย่างไร แบรนด์สามารถผสมและใช้สีเพื่อให้มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของผู้ใช้มากขึ้นผ่านทฤษฎีสีได้ด้ย

โดยสรุปทฤษฎีสีเป็นศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังการทำงานร่วมกันของสีสำหรับการออกแบบ โดยโครงสร้างที่ยอมรับกันทั่วไปนั้นมี 3 อย่าง คือ triadic (การเลือกใช้สีแบบสมดุลใช้รูปสามเหลี่ยมในวงล้อสี) , complementary (เลือกใช้สีคู่ตรงข้ามสร้างความโดนเด่นกระตุ้นอารมณ์) และ analogue colors (สามสีเรียงกันเป็นโทนสีที่ใช้สีถัดไปในวงล้อสี)

1. การเลือกโทนสีหลัก

ในการเริ่มต้นการออกแบบเว็บเป็นอันดับแรก คือการสร้างสีหลักสำหรับแบรนด์ของคุณ สิ่งนี้ควรพิจารณาจากโลโก้หรือองค์ประกอบอื่นๆ ของแบรนด์ แต่ถ้าทำไม่ได้ ให้ใช้จิตวิทยาสี

2. การพัฒนาโทนสีและเฉดสี

เมื่อมีสีหลักในใจสำหรับเว็บไซต์แล้ว บางเว็บไซต์สามารถใช้เพียงแค่สีเดียวสำหรับการออกแบบ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วต้องการเฉดสีหรือสีอ่อนๆ อย่างน้อยสองสามสี และไม่ควรใช้สีหลักตลอดการออกแบบทั้งชิ้นงาน โดยสามารถลดระดับความอ่อนเข้มของโทนสีเพื่อสร้างความหลากหลายบนเว็บไซต์ ในขณะที่ยังคงสีฐานเดิมไว้

ตัวอย่างเช่น หากเลือกเฉดสีอ่อนของสีใดสีหนึ่งสำหรับส่วนต่างๆ ของเว็บไซต์ ก็สามารถใช้โทนสีหลักหรือสีที่โดดเด่นที่สุดสำหรับปุ่ม CTA เพื่อให้โดดเด่นยิ่งขึ้น

โดยหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดสำหรับการเลือกสีคือ Adobe Color Wheel ที่จะช่วยตั้งค่าตัวเลือกกลางให้เป็นสีหลัก แล้วเล่นกับกฎสี เครื่องมือนี้ใช้งานง่ายและสามารถช่วยได้มากเมื่อสำรวจโทนสีสำหรับเว็บไซต์

3. กฎ 60-30-10

การปฏิบัติการตามกฎ 60-30-10 ซึ่งออกแบบโดย JPSDesign เทคนิคนี้ง่าย แต่มีประสิทธิภาพสำหรับการผสมสีที่ต่างกัน นั่นคือ ควรผสมสีในสัดส่วน 60% – 30% – 10% แต่ไม่จำเป็นต้องออกแบบด้วยสามสีเสมอไป แต่วิธีนี้ถือว่าเป็นจำนวนที่สมดุลมากที่สุด

หากเลือกใช้วิธีนี้ วิธีการก็คือ 60% ควรเป็นสีเด่น 30% เป็นสีรองและ 10% เป็นสีที่ใช้เน้น เพราะสัดส่วนนี้เป็นที่พอเหมาะต่อสายตาของมนุษย์เนื่องจากจะช่วยให้องค์ประกอบภาพปรากฏออกมาทีละน้อย

4. ความแตกต่าง

ความแตกต่างของสีเป็นส่วนสำคัญขององค์ประกอบภาพ ตัวอย่างเช่นหากต้องการให้ผู้เข้าชมใส่ใจเป็นพิเศษกับพื้นที่เฉพาะของเว็บไซต์ (เช่นปุ่ม CTA) สามารถใช้สองสีที่แตกต่างกัน เช่น การจับคู่สีอย่างสีส้มและสีเขียว หรือสีแดงและสีน้ำเงินสำหรับพื้นหลังและปุ่ม แต่ต้องใช้อย่างระมัดระวัง แนะนำให้ใช้แค่ที่ต้องการเน้นจะเหมาะกว่า เพราะหากใช้ทั้งหมดจะทำให้อ่านข้อความยาก

5. ทำงานกับรูปภาพ

หากมีภาพอยู่ในใจที่สามารถกำหนดแบรนด์หรือลูกค้าได้ จงเลือกภาพที่สามารถดึงสีหลักจากที่นั่น แต่การทำงานกับภาพหลายภาพอาจเป็นเรื่องยุ่งยาก เพราะจะต้องหาวิธีในการสร้างความกลมกลืนของสีในการออกแบบ แต่ก็มีหลายวิธีในการปรับสมดุลภาพ เช่น

  • เปลี่ยนให้เป็น ระบบสี Grayscale
  • ปรับความสั่นไหวของภาพเพื่อลดโทนสี
  • ใช้สีธรรมชาติเพื่อปรับสมดุลของภาพ
  • หรือสร้างการไล่ระดับสีด้วยเฉดของสีที่เลือกเพื่อออกแบบเว็บ ซึ่งจะใช้วิธีใดก็ขึ้นอยู่กับวิธีการแก้ปัญหาไม่จำเป็นต้องเลือกใช้ทุกวิธี

เคล็ดลับเหล่านี้ น่าจะใช้ประโยชน์ได้สำหรับคนที่ต้องการปรับปรุงหรือกำลังคิดจะออกแบบเว็บไซต์ แต่ทั้งนี้ ก็ต้องจำไว้ว่า ในการออกแบบไม่มีกฎที่ตายตัว และในความเป็นจริง การออกแบบที่ดีที่สุดมักจะโดดเด่นได้ด้วยการฉีกกฎเกณฑ์เดิมๆ จิตวิทยาสีจึงเป็นแค่แนวทางเริ่มต้น สิ่งสำคัญกว่าคือ ต้องไม่กลัวที่จะเชื่อสัญชาตญาณการสร้างสรรค์ในการออกแบบ

ที่มา : https://99designs.com/blog/web-digital/web-design-colors/

]]>
1214500