อุปกรณ์การแพทย์ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 09 Dec 2020 13:58:45 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ยิ่งมีวัคซีนยิ่งต้องใช้ “ถุงมือยาง” ศรีตรังทุ่ม 4.8 หมื่นล้านเพิ่มกำลังผลิตแย่งตลาดมาเลย์ https://positioningmag.com/1309820 Wed, 09 Dec 2020 10:59:48 +0000 https://positioningmag.com/?p=1309820
  • สมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทยเปิดตัวเลขความต้องการ “ถุงมือยาง” ทั่วโลกปี 2563 โต 20% ปี 2564 โตต่อไม่ต่ำกว่า 10% ประเมินความสำเร็จของวัคซีน COVID-19 ไม่ใช่ปัจจัยลบ และอาจเป็นปัจจัยบวกเพราะต้องใช้ถุงมือยางเพิ่มในการฉีดวัคซีน
  • วางเป้าพาประเทศไทยชิงส่วนแบ่งในตลาดโลกเพิ่มจาก 13% เป็น 20% ภายใน 5 ปี วอนรัฐสนับสนุนที่ตั้งโรงงาน-แหล่งเงินทุน
  • รายใหญ่ของไทย “ศรีตรัง” ชี้ตลาดยังอยู่ในภาวะ “โอเวอร์ดีมานด์” ราคาเติบโตจากปีก่อน 300% วางแผนลงทุน 4.8 หมื่นล้านบาทเพิ่มกำลังผลิตเป็น 1 แสนล้านชิ้นต่อปีภายในปี 2569 เริ่มปีแรก 2564 ลงทุน 1 หมื่นล้านบาท เปิด 4 โรงงานใหม่ภาคใต้
  • “วีรสิทธิ์ สินเจริญกุล” นายกสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์ตลาดโลกปี 2563 อ้างอิงข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางมาเลเซีย (MARGMA) พบว่า ตลาดมีความต้องการสูงขึ้น 20% จากปีก่อน หรือเท่ากับ 3.6 แสนล้านชิ้นต่อปี เนื่องจากผลกระทบของโรคระบาด COVID-19 และคาดว่าปี 2564 ความต้องการจะยังโตต่อเนื่องอย่างน้อย 10% หรือเท่ากับ 3.9 แสนล้านชิ้นต่อปี

    แม้ว่าจะมีข่าวดีเรื่องการผลิตวัคซีนป้องกัน COVID-19 ประสบผลสำเร็จ แต่วีรสิทธิ์มองว่า ไม่น่าจะทำให้ดีมานด์การใช้ถุงมือยางลดลง และอาจเป็นผลบวกให้ความต้องการยิ่งสูงขึ้นด้วย เพราะการปูพรมฉีดวัคซีนให้กับประชากรโลกต้องใช้ถุงมือยาง ดังนั้น ตลาดน่าจะยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง

    “วีรสิทธิ์ สินเจริญกุล” นายกสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย

    ชิงจังหวะพาถุงมือยางไทยตีตลาดจากมาเลย์

    สำหรับศักยภาพของประเทศไทย ปัจจุบันสมาคมฯ มีสมาชิกที่เป็นผู้ผลิตถุงมือยาง 19 ราย มีกำลังผลิตรวมกันในกลุ่มนี้ 4.6 หมื่นล้านชิ้นต่อปี และประเทศไทยมีส่วนแบ่งในตลาดโลก 13% เป็นอันดับ 2 ของตลาด ขณะที่อันดับ 1 ของโลกคือ “มาเลเซีย” มีส่วนแบ่งสูงถึง 62%

    วีรสิทธิ์กล่าวว่า สมาคมฯ มีเป้าที่จะผลักดันให้ไทยมีส่วนแบ่งตลาดโลกเพิ่มเป็น 20% ภายใน 5 ปี และเป็น 40% ภายใน 10 ปี เป้าหมายนี้นับเป็น “งานหนัก” เพราะเจ้าตลาดคือมาเลย์มีความแข็งแรงมาก และคู่แข่งอีก 3 ประเทศคือ จีน อินโดนีเซีย และเวียดนามก็ต้องการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดเช่นกัน

    “สิ่งที่ต้องพัฒนาหลักๆ คือหนึ่ง ไทยต้องตั้งโรงงานผลิตถุงมือยางได้ง่ายกว่านี้ ปัจจุบันการตั้งโรงงานจะติดล็อกผังเมืองไม่ใช่เขตอุตสาหกรรม ขณะที่จีนกับเวียดนามการเปิดโรงงานใหม่ง่ายมากๆ สองคือ อุตสาหกรรมถุงมือยางเข้าถึงแหล่งเงินทุนยาก ธนาคารไม่อนุมัติเงินกู้” วีรสิทธิ์กล่าว

    โดยเขาระบุว่าภาครัฐควรจะให้ความสำคัญและผลักดันอุตสาหกรรมถุงมือยางไทยมากขึ้น เพราะมีโอกาสเป็น “โปรดักต์ แชมเปี้ยน” ของประเทศ ด้วยศักยภาพประเทศไทยมีทั้งผู้ผลิตที่เชี่ยวชาญ เป็นแหล่งน้ำยางธรรมชาติ และตลาดโลกมีดีมานด์เติบโต แม้จะพ้นอานิสงส์ COVID-19 เชื่อว่าจะยังโตต่อได้เพราะเทรนด์ธุรกิจการแพทย์กำลังเป็นขาขึ้น โดยช่วงปี 2560-62 ตลาดนี้เติบโตเฉลี่ย 8-12% ต่อปีอยู่แล้ว

    วีรสิทธิ์กล่าวว่า ด้วยความยากในการตั้งโรงงานใหม่ ทำให้ปีนี้กำลังผลิตถุงมือยางไทยน่าจะยังคงอยู่ที่ 4.6 หมื่นล้านชิ้นต่อปีเท่าเดิม แต่ข้อมูลจาก กรมศุลกากร ชี้ให้เห็นว่าถุงมือยางกลายเป็นสินค้าส่งออกที่ทวีมูลค่าแม้จะไม่สามารถเพิ่มปริมาณได้ จากมูลค่าการส่งออกถุงมือยางปี 2562 อยู่ที่ 3.7 หมื่นล้านบาท ปี 2563 เฉพาะช่วง 10 เดือนแรกมีการส่งออกไปแล้วถึง 5.4 หมื่นล้านบาท โดยมูลค่าการส่งออกเติบโตอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา

     

    ตลาดสดใส ราคาถุงมือยางพุ่งทะยาน 300%

    ด้าน บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) หรือ STGT บริษัทที่เพิ่งเปิด IPO ไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 กำลังรับทรัพย์อู้ฟู่จากกระแสความต้องการเหล่านี้ โดยปัจจุบันศรีตรังมีส่วนแบ่งตลาดถุงมือยางโลกอยู่ 6-7% และส่วนแบ่งตลาดถุงมือยางไทย 80% เป็นรายใหญ่ที่สุดของประเทศ

    “ธนวรรณ เสงี่ยมศักดิ์” ผู้อำนวยการสายงานบัญชีและการเงิน STGT กล่าวว่า ปัจจุบันถุงมือยางไม่ใช่แค่ “ไม่เพียงพอ” เท่านั้น แต่อยู่ในระดับที่ “ขาดแคลนรุนแรง” ซึ่งทำให้ตลาดมีลักษณะเป็นตลาดของผู้ขายอย่างชัดเจน ในรอบ 9 เดือนแรกของปี 2563 ราคาถุงมือยางปรับขึ้นเฉลี่ยมากกว่า 300% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ ราคามีการปรับขึ้นสูงยิ่งกว่าช่วงครึ่งปีแรก

     

    เพิ่มกำลังผลิต เป้าหมายอนาคต 1 แสนล้านชิ้น

    “จริญญา จิโรจน์กุล” กรรมการผู้จัดการใหญ่ STGT กล่าวว่า ด้วยกระแสความต้องการทั้งจาก COVID-19 และเทรนด์ธุรกิจการแพทย์ ทำให้ศรีตรังเชื่อว่าตลาดจะมีดีมานด์สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงตั้งเป้าหมายการลงทุนรวม 4.8 หมื่นล้านบาทเพื่อตั้งโรงงานใหม่ ขยายกำลังผลิตเป็น 1 แสนล้านชิ้นต่อปีภายในปี 2569 จากปัจจุบันมีกำลังผลิตอยู่ 3.3 หมื่นล้านชิ้นต่อปี

    เฟสแรกเริ่มลงทุนแล้ว 4 โรงงาน มูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นใน จ.สุราษฎร์ธานี 2 แห่ง และ อ.สะเดา จ.สงขลา 2 แห่ง ทั้งหมดจะเริ่มผลิตได้ภายในปี 2564 ส่งให้กำลังผลิตของศรีตรังปีหน้าเพิ่มขึ้นเป็น 3.6 หมื่นล้านชิ้นต่อปี

    เฟสต่อไปจะใช้เงินลงทุนอีกราว 1.0-1.5 หมื่นล้านบาท เพื่อก่อสร้างโรงงานอีก 3 แห่ง แบ่งเป็นใน จ.ชุมพร 1 แห่ง และ จ.ตรัง 2 แห่ง กำหนดการสร้างเสร็จภายในปี 2566 และจะทำให้ศรีตรังมีกำลังผลิตเพิ่มเป็น 6.5 หมื่นชิ้นต่อปี หรือเกือบเท่าตัวของปัจจุบัน

    การเร่งเพิ่มกำลังผลิตเหล่านี้ ธนวรรณเสริมว่า บริษัทประเมินว่าจะไม่โอเวอร์ซัพพลาย โดยปัจจัยเรื่องการฉีดวัคซีนให้ประชากรน่าจะเป็นบวกกับบริษัท และคาดว่าจะเป็นบวกยาวไปถึงปี 2565 ด้วย เพราะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะเริ่มฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่ปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า แต่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอาจจะต้องรอคิวการผลิตวัคซีน คาดว่าจะเริ่มฉีดให้ประชากรได้จริงช่วงปลายปี 2564 และจะทยอยฉีดต่อเนื่องไปถึงปี 2565

    ส่วนหลังจากนั้นตลาดจะเป็นอย่างไร จริญญากล่าวว่า ศรีตรังจับตามองอย่างต่อเนื่อง แต่เชื่อว่าจะเกิด New Normal ในการใช้ชีวิตประจำวัน การให้บริการต่างๆ ระมัดระวังเรื่องความสะอาดขึ้น เหมือนเช่นปัจจุบันที่การใช้ถุงมือยางไม่จำกัดเฉพาะแวดวงการแพทย์ แต่นำไปใช้ในธุรกิจอื่น เช่น ร้านอาหาร การบิน โรงแรม งานบริการ และอาจจะยังคงเดิมแม้โรค COVID-19 สามารถควบคุมได้แล้ว

    ]]>
    1309820
    Face Shield จาก Nike มาแล้ว! แปลงชิ้นส่วนทำรองเท้ามาเป็นหน้ากากใส https://positioningmag.com/1272634 Fri, 10 Apr 2020 05:54:26 +0000 https://positioningmag.com/?p=1272634 อย่าเพิ่งตกใจ Nike ไม่ได้ใช้รองเท้าเก่า แต่ใช้ชิ้นส่วนที่เตรียมไว้ผลิตรองเท้ารุ่น Nike Air เปลี่ยนมาผลิต Face Shield ก่อนเป็นการเฉพาะกิจ เพื่อนำไปบริจาคให้กับมหาวิทยาลัยสุขภาพและวิทยาศาสตร์โอเรกอน (OHSU)

    จากความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรมระหว่าง Nike กับ OHSU ทำให้ Nike พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นผลสำเร็จเพื่อตอบสนองสถานการณ์ระบาดของไวรัส COVID-19 โดยเป็นผลิตภัณฑ์ Face Shield ปกป้องทั้งใบหน้าจากการกระเด็นของของเหลว และเลนส์สำหรับใช้กับหมวกป้องกันเชื้อแบบเต็มใบ โดยเลนส์นี้สามารถกรองอากาศบริสุทธิ์ได้ด้วยฟังก์ชัน PAPR (Powered Air-purifying Respirator)

    การผลิตครั้งนี้ Nike ได้เปลี่ยนส่วนประกอบที่ใช้สำหรับผลิตรองเท้าและเสื้อผ้ามาผลิต Face Shield นั่นคือส่วนบุด้านหลังรองเท้า เชือกที่ใช้ผลิตเสื้อผ้า และพลาสติก TPU ที่มีความยืดหยุ่นสูงจากไลน์ผลิต Nike Air มาใช้ในการผลิตอุปกรณ์การแพทย์เหล่านี้แทน

    พลาสติก TPU ดังกล่าวยังจะถูกใช้ผลิตเป็นเลนส์ที่มีคุณสมบัติกรองอากาศได้ เพื่อนำไปประกอบกับหมวกป้องกันเชื้อ ซึ่งจะมีประโยชน์มากเมื่อบุคลากรการแพทย์อยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อผ่านอากาศ อย่างช่วงเวลาที่ต้องรักษาดูแลผู้ป่วยติดเชื้อ

    Nike แถลงว่าบริษัทได้เริ่มบริจาค Face Shield และเลนส์ PAPR ให้กับ OHSU ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. 2563 และจะเริ่มกระจายให้กับหน่วยงานสาธารณสุขอื่นๆ ในรัฐโอเรกอนต่อไป

    Source

    ]]>
    1272634
    สหรัฐฯ เข้าสู่สัปดาห์ “จุดพีค” ของการระบาดไวรัส COVID-19 “นิวยอร์ก” หลังพิงฝา https://positioningmag.com/1272005 Tue, 07 Apr 2020 05:56:58 +0000 https://positioningmag.com/?p=1272005 จำนวนผู้เสียชีวิตในสหรัฐฯ จากการระบาดของไวรัส COVID-19 ทะลุ 10,000 ราย โดยรัฐคาดการณ์ว่า สัปดาห์นี้สหรัฐฯ จะเข้าสู่ “จุดพีค” ของการระบาด ด้านรัฐนิวยอร์กโดยเฉพาะนิวยอร์กซิตี้อยู่ในสถานการณ์สาหัส คาดเครื่องช่วยหายใจมีเพียงพอถึงแค่วันที่ 9 เมษายนนี้ หากไม่ได้รับซัพพลายเพิ่ม

    สหรัฐฯ ประกาศจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมทำให้ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตสะสม 10,941 ราย สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากอิตาลีและสเปน และคาดการณ์ว่าสัปดาห์นี้จะเป็น “จุดพีค” ของยอดผู้เสียชีวิต

    “สัปดาห์นี้จะกลายเป็นช่วงพีคทุกด้าน ทั้งการดูแลรักษาในโรงพยาบาล ห้องไอซียู และยอดผู้เสียชีวิต” พล.ร.อ.เบรตต์ กีรอย สมาชิกหน่วยปฏิบัติการพิเศษไวรัสโคโรนาของทำเนียบขาว กล่าวกับสำนักข่าว ABC โดยเขาเสริมว่า พื้นที่เสี่ยงมากที่สุดได้แก่ รัฐนิวยอร์ก รัฐนิวเจอร์ซีย์ รัฐคอนเนคทิคัต และเมืองดีทรอยต์ในรัฐมิชิแกน

    ปัจจุบันประชาชนอเมริกันมากกว่า 90% ได้รับคำสั่งจากผู้ว่าการรัฐให้อยู่บ้านและหลีกเลี่ยงการเข้าสังคมแล้ว เหลือเพียง 8 รัฐที่ยังไม่มีคำสั่งดังกล่าวออกบังคับใช้ แต่รัฐบาลยังคาดการณ์ว่ายอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจะยังพุ่งทะยานในสัปดาห์นี้ เพราะจากการสำรวจช่วงวันที่ 23-27 มีนาคมที่ผ่านมา พบว่าโรงพยาบาลส่วนใหญ่ “ขาดแคลน” ชุดตรวจหาเชื้อไวรัส COVID-19 อย่างรุนแรง ทำให้การตรวจหาเชื้อต้องใช้เวลานาน

    (27 มี.ค. 63) เมืองนิวยอร์ก : ประชาชนเดินบนท้องถนน ตามนโนบายเว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้ทางการปิดถนนบางส่วนมิให้รถสัญจร เพื่อให้คนเดินเท้ามีพื้นที่กว้างขึ้นในการเดินห่างๆ กัน (photo: Noam Galai/Getty Images)

    สำหรับรัฐนิวยอร์กโดยเฉพาะเมืองนิวยอร์ก ตกอยู่ในสถานการณ์วิกฤต โดย แอนดรูว์ คูโอโม ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก ประกาศว่ารัฐนี้มีเครื่องช่วยหายใจเพียงพอถึงแค่วันที่ 9 เม.ย. 63 เท่านั้น หากยังไม่ได้รับซัพพลายเพิ่มเติม โดยรัฐนิวยอร์กคือศูนย์กลางการระบาดของสหรัฐฯ มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 92,000 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ติดเชื้อในมหานครนิวยอร์กมากกว่า 52,000 คน

    คูโอโมประกาศไปแล้วก่อนหน้านี้ว่า หากโรงงานหรือบริษัทใดๆ มีความสามารถในการผลิตเครื่องช่วยหายใจหรืออุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นอื่นๆ รัฐนิวยอร์กพร้อมที่จะจ่ายสูงกว่าเพื่อขอซื้อสินค้าเหล่านั้น หรือกระทั่งยอมจ่ายค่าเปลี่ยนเครื่องจักรในโรงงานเพื่อปรับมาผลิตเครื่องช่วยหายใจ

    ขณะที่ บิล เดอ บลาซิโอ นายกเทศมนตรีเมืองนิวยอร์ก กล่าวว่า ไม่เพียงแต่อุปกรณ์ที่ขาดแคลน แต่เมืองนี้กำลังขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ด้วย โดยเขาร้องขอบุคลากรทางการแพทย์มาเสริมทัพในเมืองนิวยอร์กถึง 45,000 คน เพื่อรับมือสถานการณ์ตลอดเดือนเมษายนนี้

    “เราต้องการอุปกรณ์การแพทย์ แต่เราก็ต้องการคนมาสวมใส่มันด้วย” เดอ บลาซิโอกล่าว

    เฉพาะเมืองนิวยอร์กมีผู้เสียชีวิตจากไวรัส COVID-19 แล้วกว่า 3,100 ราย ทำให้ มาร์ค เลอวีน หนึ่งในคณะกรรมการด้านสาธารณสุขของเมืองนิวยอร์กทวีตในบัญชีทวิตเตอร์ว่า พวกเขากำลังพิจารณาขุดสวนสาธารณะเป็นที่ฝังศพชั่วคราว ก่อนที่ เฟรดดี้ โกลด์สตีน เลขานุการนายกเทศมนตรีต้องออกมาแก้ข่าวว่าไม่มีการพิจารณาสวนสาธารณะเป็นที่ฝังศพ แต่กำลังสำรวจเกาะ Hart ทางตอนเหนือของเมืองเป็นที่ฝังศพชั่วคราว หากจำนวนผู้เสียชีวิตพุ่งไปมากกว่านี้

    University of Washington คาดการณ์ล่าสุดว่า สหรัฐอเมริกาจะมีผู้เสียชีวิตสะสมสูงถึง 81,766 คนภายในวันที่ 4 ส.ค. 63 และคาดว่าสหรัฐฯ จะเข้าสู่จุดพีคในวันที่ 16 เม.ย. 63 โดยจะมีผู้เสียชีวิต 3,130 คนภายในวันดังกล่าววันเดียว

    Source: Aljazeera, Forbes

    ]]>
    1272005
    บทเรียนจากเยอรมนี : อ่านค่าสถิติผู้เสียชีวิตจากไวรัส COVID-19 ทำไมจึงยังอยู่ในระดับต่ำ? https://positioningmag.com/1271904 Mon, 06 Apr 2020 07:21:51 +0000 https://positioningmag.com/?p=1271904 เยอรมนีมีจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 เป็นอันดับ 4 ของโลก โดยมีผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 1 แสนราย แต่มีผู้เสียชีวิตเพียง 1,584 ราย คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 1.58% เทียบกับประเทศฝรั่งเศสซึ่งมีผู้ติดเชื้อกว่า 92,000 คน กลับมีอัตราเสียชีวิตสูงถึง 8.7% น่าสนใจว่าทำไมสถิติผู้เสียชีวิตในเยอรมนีจึงยังอยู่ในระดับต่ำแม้ว่าจะมีผู้ติดเชื้อสูงถึงหลักแสนคนแล้ว

    (ข้อมูลผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต วันที่ 5 เม.ย. 63 อ้างอิงจาก worldometers.info)

    ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า อัตราการตายในเยอรมนีนั้นต่ำมาก เกิดจาก การระดมปูพรมตรวจหาเชื้อ “ในบางประเทศ เช่น อิตาลี ผู้ที่ได้รับการตรวจจะมีเฉพาะกลุ่มที่แสดงอาการรุนแรงเท่านั้น แต่ในบางประเทศ เช่น เยอรมนี กลยุทธ์ระดมตรวจแบบปูพรมถูกนำมาใช้” ดร.เดียทริช รอธเท่นเบเคอร์ ผู้อำนวยการสถาบันระบาดวิทยา มหาวิทยาลัย Ulm ในเยอรมนี กล่าวกับสำนักข่าว TIME

    นั่นหมายความว่า แม้เยอรมนีจะมีผู้ติดเชื้อมากเป็นอันดับ 4 ของโลก แต่มีโอกาสน้อยกว่าที่จะมีผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้รับการตรวจหลงเหลืออยู่ หากเทียบกับประเทศที่ตรวจเฉพาะเคสอาการหนักเท่านั้น

     

    ระบบราชการช่วยให้ผลิตชุดตรวจได้เร็ว

    เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 63 ขณะนั้นเยอรมนีมีอัตราการตรวจหาเชื้อ 2,023 คนต่อประชากร 1 ล้านคน อัตรานี้ยังตามหลังอยู่ 3 ประเทศ คือ เกาหลีใต้, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และออสเตรเลีย

    แต่ต่อมาในวันที่ 20 มี.ค. 63 โลธาร์ วีลเลอร์ ประธานสถาบัน Robert Koch สถาบันที่เป็นแกนหลักในการดูแลสาธารณสุขของเยอรมนี กล่าวว่า แล็บทดลองเยอรมนีพร้อมแล้วที่จะตรวจหาเชื้อได้ถึง 1.6 แสนครั้งต่อสัปดาห์ จากก่อนหน้านั้นหากจะตรวจได้ถึงระดับนี้ต้องใช้เวลา 2 เดือน

    ย้อนกลับไปถึงเดือนมกราคม เยอรมนีคือหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่สามารถพัฒนาชุดตรวจหาเชื้อ COVID-19 ได้สำเร็จ เนื่องจากระบบการปกครองที่นี่ไม่ได้ถูกกดทับด้วยระบบราชการรวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลาง ระบบสาธารณสุขจะถูกกำกับควบคุมในกฎหมายระดับรัฐ ทำให้บริษัทเอกชนได้รับอนุญาตและทำงานได้เร็วกว่าเพื่อผลิตชุดตรวจจำนวนมาก มีสถิติระบุว่า จนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ บริษัทแห่งหนึ่งในกรุงเบอร์ลินสามารถผลิตชุดตรวจได้อย่างน้อย 1.4 ล้านชิ้นเพื่อให้องค์การอนามัยโลก (WHO) กระจายต่อไปทั่วโลก

    เทียบกับระบบรวมศูนย์ส่วนกลางอย่างในสหรัฐอเมริกา ซึ่งการอนุมัติเวชภัณฑ์ขึ้นอยู่กับองค์การอาหารและยา (FDA) เท่านั้น ทำให้กว่าจะมีบริษัทได้รับอนุญาตให้ผลิตชุดตรวจเองก็เป็นช่วงต้นเดือนมีนาคมแล้ว ทำให้ชุดตรวจไม่เพียงพอ

     

    ยิ่งตรวจมาก ตัวเลขอัตราการตายยิ่งต่ำ

    “เพราะเยอรมนีสามารถผลิตชุดตรวจได้เร็วมาก นั่นทำให้ประเทศนี้มีแนวโน้มที่จะเลือกตรวจเคสที่อาการไม่รุนแรงได้มากขึ้น” ดร.เลียม สมีธ ศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยาจาก London School of Hygiene and Tropical Medicine กล่าว

    เขาเสริมว่า ในทางกลับกัน ประเทศที่ไม่มีชุดตรวจมากเท่าจึงถูกบีบโดยปริยายให้ตรวจเฉพาะเคสที่มีอาการรุนแรง แยกคนที่มีอาการไม่รุนแรงออกจากสถิติการตรวจหาเชื้อ ดังนั้นยิ่งตรวจคนที่มีอาการน้อยจำนวนมากเท่าไหร่ ก็จะทำให้อัตราการตายออกมาน้อยลง

    บรรยากาศในกรุงเบอร์ลิน เยอรมนี วันที่ 5 เม.ย. 63 ยังไม่มีการล็อกดาวน์ในประเทศ แต่รัฐบาลได้สั่งปิดโรงเรียน มหาวิทยาลัย และหลายธุรกิจร้านค้า เพื่อให้ประชาชนใช้ชีวิตในที่สาธารณะน้อยลง (Photo by Maja Hitij/Getty Images)

    แม้ว่าเยอรมนีและอิตาลีจะมีกลุ่มอายุประชากรใกล้เคียงกัน โดยเป็นสองประเทศที่มีผู้สูงอายุจำนวนมากที่สุดในสหภาพยุโรป แต่ค่าเฉลี่ยอายุประชากรของเยอรมนีที่ติดเชื้อไวรัส COVID-19 กลับต่ำกว่ามากโดยอยู่ที่อายุ 46 ปี ขณะที่อิตาลีอยู่ที่ 63 ปี อย่างไรก็ตาม สมีธกล่าวเช่นกันว่าน่าจะเกิดจากการระดมตรวจแบบปูพรมนั่นเอง

    “หากคุณตรวจหาเชื้อมากขึ้น คุณก็น่าจะได้ค่าเฉลี่ยอายุของเคสผู้ติดเชื้อต่ำลง” สมีธกล่าว “สถิตินี้ไม่ได้หมายความว่าค่าเฉลี่ยอายุผู้ติดเชื้อในความเป็นจริงจะต่างกันเสมอไป”

     

    เตียงรับเคสโคม่าจำนวนมาก

    เยอรมนียังเป็นประเทศที่มี “เตียงผู้ป่วย” จำนวนมาก ทำให้โรงพยาบาลไม่เต็มจนล้นจากเคสผู้ป่วย COVID-19 เหมือนกับในอิตาลีตอนเหนือ

    จากงานวิจัยเมื่อปี 2555 พบว่าเยอรมนีมีเตียงผู้ป่วยอาการหนักสูงถึง 29.2 เตียงต่อประชากร 1 แสนคน เกือบจะเป็นเท่าตัวของอิตาลีซึ่งมีจำนวนเตียงเพียง 12.5 เตียงต่อประชากร 1 แสนคน และปกติแล้วเตียงผู้ป่วยหนักในเยอรมนีจะมีการใช้งานอยู่ที่ 70-80% เท่านั้น ดังนั้นจึงมีเตียงผู้ป่วยหนักเพียงพอสำหรับรับผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 เข้ารักษาเพิ่ม

    อย่างไรก็ตาม สถิติผู้เสียชีวิตที่ต่ำของเยอรมนีอาจไม่เป็นเช่นนี้ไปตลอด เพราะ COVID-19 อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการหนักได้นานหลายสัปดาห์ก่อนที่จะคร่าชีวิตผู้ป่วย และเยอรมนียังอยู่ในขั้นเริ่มต้นของโรคระบาดเท่านั้นหากเทียบกับสถานการณ์ในอิตาลี

    “เยอรมนียังอยู่ในระยะเริ่มต้นของการระบาดเท่านั้น” รอธเท่นเบเคอร์กล่าว “จำนวนผู้เสียชีวิตมักจะช้ากว่าสถานการณ์จริงในปัจจุบันเสมอ ใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า ตัวเลขอาจจะแตกต่างจากนี้”

    Source

    ]]>
    1271904
    โรงงานรถยนต์สหรัฐฯ จะเปลี่ยนมาผลิต “เครื่องช่วยหายใจ” ไอเดียช่วยชาติที่ดีแต่ทำจริง “ไม่ง่าย” https://positioningmag.com/1270771 Mon, 30 Mar 2020 10:00:21 +0000 https://positioningmag.com/?p=1270771 โรงงานรถยนต์อเมริกันเป็นผู้ช่วยเหลือชาติมาตลอดเมื่อมีซัพพลายขาดแคลนในช่วงสงคราม  Ford สร้างเครื่องบินทิ้งระเบิด GM สร้างเรือสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก ดังนั้นย่อมเป็นเรื่องธรรมชาติที่เมื่อเกิดสถานการณ์วิกฤตขาดแคลน “เครื่องช่วยหายใจ” ในสหรัฐฯ จากการระบาดของไวรัส COVID-19 โรงงานรถยนต์จึงยื่นมือเข้ามาช่วยเหลืออีกครั้ง

    ขณะนี้ Ford, GM, Toyota และ Tesla ซึ่งปิดโรงงานชั่วคราวไปในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ออกแถลงการณ์แล้วว่าพวกเขาจะเปลี่ยนโรงงานมาใช้ผลิตเครื่องช่วยหายใจแทน

    โดยเมื่อวันศุกร์ที่ 27 มีนาคม 2563 โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังใช้อำนาจตาม กฎหมายการผลิตเพื่อการป้องกัน (Defense Production Act) เพื่อใช้บังคับให้ GM “ยอมรับ, ปฏิบัติการ และให้ความสำคัญ” กับสัญญาต่อรัฐที่จะผลิตเครื่องช่วยหายใจ

    กฎหมายนี้น่าจะช่วยเร่งให้การผลิตเร็วขึ้น แต่การเปลี่ยนจากการผลิตรถยนต์มาเป็นเครื่องช่วยหายใจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเครื่องช่วยหายใจเป็นเครื่องจักรที่มีความซับซ้อน ต้องการซอฟต์แวร์ระดับสูงและชิ้นส่วนพิเศษ บริษัทหลายแห่งที่ต้องการจะเปลี่ยนมาผลิตเครื่องช่วยหายใจต้องพบเจอกับอุปสรรคความยุ่งยาก ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินทางปัญญา แรงงานทักษะที่ฝึกฝนมาเป็นพิเศษ การได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่รัฐ และการพิจารณาเรื่องความปลอดภัย

    โรงงานประกอบยนต์ของ Ford จะเปลี่ยนมาช่วยผลิตเครื่องช่วยหายใจแทนได้หรือไม่?

    จนถึงปัจจุบัน เหล่าผู้ผลิตรถยนต์ต่างประกาศให้ความร่วมมือกับผู้ผลิตเครื่องช่วยหายใจเพื่อให้ผลิตได้มากขึ้น และโรงงานอย่าง Ford กับ GM ยังกำลังหาทางผลิตเครื่องช่วยหายใจในโรงงานตัวเองอยู่ด้วย

    แต่กระบวนการเหล่านี้คือการแข่งขันกับเวลา

    จำนวนผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลไปเรียบร้อยแล้วในรัฐนิวยอร์ก และรัฐนี้กำลังหวาดกลัวสถานการณ์แบบเดียวกับในอิตาลีที่อาจจะมาถึง เมื่อเครื่องช่วยหายใจไม่เพียงพอ บีบให้แพทย์ต้อง “เลือก” ว่าผู้ป่วยรายใดมีสิทธิรอดมากที่สุดและควรจะใช้เครื่องช่วยหายใจกับผู้ป่วยรายนั้น

    “จำนวนเครื่องช่วยหายใจที่เราต้องการนั้นมหาศาลมาก” แอนดรูว์ คูโอโม ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก กล่าวเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 และเสริมว่า บางโรงพยาบาลเริ่มหาทางแก้แบบทดลองกันแล้ว เช่นทดลองให้ผู้ป่วยสองรายใช้เครื่องช่วยหายใจเครื่องเดียวกัน

    ในสหรัฐฯ นั้นมีเครื่องช่วยหายใจทั้งหมด 160,000 เครื่อง แต่ศูนย์ความปลอดภัยทางสุขภาพ Johns Hopkins ประเมินว่าประเทศนี้จะต้องใช้เครื่องช่วยหายใจถึง 740,000 เครื่อง!

    เครื่องช่วยหายใจเป็นสิ่งจำเป็นที่สามารถช่วยผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัส COVID-19 และมีอาการรุนแรงจนไม่สามารถหายใจเองได้ อุปกรณ์นี้จะช่วยให้ผู้ป่วยหายใจได้ และทำให้ปอดของผู้ป่วยได้พักขณะที่ร่างกายกำลังต่อสู้กับไวรัส

     

    หาทางให้ผู้ผลิตรถยนต์เข้ามาช่วยได้เร็วที่สุด

    เครื่องช่วยหายใจไม่ได้เหมือนกันหมดทุกเครื่อง บางเครื่องจะซับซ้อนกว่ารุ่นอื่น สำหรับผู้ป่วยจากการติดเชื้อ COVID-19 ที่อาการหนักที่สุด ปอดของพวกเขาอาจจะตึงตัวจนต้องใช้อุปกรณ์ระดับไฮเอนด์ซึ่งราคาสูงถึง 50,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อเครื่อง (ประมาณ 1.63 ล้านบาท) เพราะอุปกรณ์ระดับนี้จะสามารถปรับค่าให้ตรงกับความต้องการของผู้ป่วยได้อย่างเฉพาะเจาะจง และต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่ฝึกการใช้เครื่องนี้มาโดยเฉพาะมาดำเนินการ

    เครื่องช่วยหายใจระดับไฮเอนด์ที่ซับซ้อนในการผลิตของ Medtronic (photo: CNN)

    ดังนั้น การผลิตอุปกรณ์ระดับไฮเอนด์จะดีที่สุดหากให้ผู้ผลิตเครื่องช่วยหายใจที่เชี่ยวชาญเป็นผู้จัดการ

    “เพราะนี่คืออุปกรณ์เพื่อช่วยชีวิตคน มันไม่สามารถผิดพลาดได้ การฝึกฝนและประสบการณ์ในการผลิตชิ้นส่วนจึงสำคัญอย่างมาก” วาฟา จามาลี รองประธานบริษัท Medtronic หนึ่งในไม่กี่บริษัทผู้ผลิตเครื่องช่วยหายใจ กล่าวกับ CNN

    ทำให้ส่วนประกอบสำคัญของเครื่องต้องใช้พนักงานที่มีประสบการณ์ของ Medtronic ไม่สามารถให้โรงงานอื่นภายนอกช่วยผลิตได้ แม้แต่โรงงานรถยนต์ก็ไม่สามารถทำได้ หรืออย่างน้อยต้องใช้เวลาฝึกฝนก่อนระยะหนึ่ง

    Medtronic เองเพิ่มกำลังผลิตไปแล้วตั้งแต่เดือนมกราคม ทำให้ผลิตเครื่องช่วยหายใจเพิ่มจากปกติได้ 40% โดยปัจจุบันโรงงานดำเนินการผลิตตลอด 24 ชั่วโมง และบริษัทยังวางแผนในช่วงหลายสัปดาห์ข้างหน้าโรงงานจะเพิ่มกำลังผลิตอีก 200% โดยการเพิ่มพนักงานผลิตอีกเท่าตัว

    เป้าหมายของบริษัทคือการผลิตเครื่องช่วยหายใจให้ได้ 500 เครื่องต่อสัปดาห์ หรือเพิ่มขึ้น 5 เท่าจากก่อนหน้านี้

    รัฐนิวยอร์กเริ่มสร้างที่เก็บศพชั่วคราวไว้นอกโรงพยาบาลหลายแห่งตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. 63 หลังจากผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นจากการระบาดของไวรัส COVID-19 โดย ณ วันที่ 29 มี.ค. 63 รัฐนิวยอร์กมีผู้เสียชีวิตทะลุ 1,000 รายแล้ว จากผู้ติดเชื้อทั้งหมด 59,513 ราย มากกว่าครึ่งหนึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้ติดเชื้อในมหานครนิวยอร์ก (photo: Ron Adar / Echoes Wire/Barcroft Media via Getty Images)

    แต่การเพิ่มเป็น 500 เครื่องก็ยังไม่เพียงพอ เพราะทีมแพทย์กำลังต้องการเครื่องช่วยหายใจเพิ่มอีกหลักพันเครื่อง ทำให้บริษัทยอมตอบรับไอเดียของโรงงานรถยนต์ที่จะเข้ามาช่วยผลิต โดย Medtronic เริ่มคุยกับ Tesla, GM และ Ford แล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่มีแผนการผลิตร่วมกันอย่างเป็นทางการออกมา

    อย่างไรก็ตาม GM ยังคุยกับผู้ผลิตเครื่องช่วยหายใจเจ้าอื่นด้วย โดยบริษัทประกาศเมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมาว่า บริษัทมีแผนจับมือกับ Ventec Life Systems เพื่อช่วยเพิ่มกำลังผลิตให้บริษัทนี้แล้ว และคาดว่าจะทำให้เพิ่มกำลังผลิตเครื่องช่วยหายใจไปถึง 10,000 เครื่องต่อเดือนได้ โดยลอตแรกจะออกสู่ตลาดภายในเดือนเมษายนนี้ ทั้งนี้ โรงงาน GM ที่จะนำมาช่วยผลิตคือโรงงานประกอบยนต์ในเมืองโคโคโม รัฐอินเดียนา และขณะนี้กำลังเริ่มจัดจ้างพนักงานเพิ่ม

    ขณะที่ Ford จับมือกับ GE Healthcare เพื่อช่วยเพิ่มกำลังผลิต จิม บอมบิก รองประธานบริษัท Ford กล่าวว่า บริษัทเข้าไปช่วยดูสายการผลิตของ GE เพื่อทำให้มันมีประสิทธิภาพสูงขึ้น (Ford คือบริษัทผู้คิดค้นระบบสายพานการผลิตเป็นครั้งแรก) และช่วยหาซัพพลายเออร์เพิ่มเติมสำหรับบางชิ้นส่วนที่ใช้ผลิตเครื่องช่วยหายใจ เพื่อไม่ให้เกิดคอขวดในการผลิตของ GE บริษัท Ford ยังเสนอให้ GE เปลี่ยนชิ้นส่วนบางอย่างด้วยเพื่อให้หาซัพพลายเออร์ได้ง่ายขึ้น

    GE ไม่ได้ให้ข้อมูลจากฝั่งของบริษัทว่าทำงานร่วมกับ Ford อย่างไรบ้าง บอกแต่เพียงว่าบริษัทคาดว่าจะเพิ่มกำลังผลิตเป็นเท่าตัวได้ภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้

    ด้าน Toyota ประกาศการจับมือกับผู้ผลิตเครื่องช่วยหายใจ 2 แห่งเพื่อช่วยบริษัทเหล่านั้นเพิ่มกำลังผลิตเช่นกัน แต่ Toyota ไม่ได้เปิดเผยชื่อบริษัทที่ร่วมมือด้วย

     

    ช่วยผลิตเครื่องช่วยหายใจรุ่นที่ซับซ้อนน้อยกว่า

    บริษัท Medtronic ยังผลิตเครื่องช่วยหายใจรุ่นสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงน้อยกว่าด้วย และบริษัทกำลังพิจารณาเปิดแบบเครื่องช่วยหายใจ 1-2 รุ่นให้เป็นแบบ open source เพื่อให้โรงงานอื่นสามารถนำไปใช้ผลิตได้เลย

    สำหรับเครื่องรุ่นที่ซับซ้อนน้อยกว่านี้ จามาลีเชื่อว่ากลุ่มผู้ผลิตรถยนต์น่าจะสามารถผลิตได้สำเร็จ

    แต่เขายังกล่าวเสริมด้วยว่า “คำถามก็คือ ‘กรอบเวลาของจังหวะเริ่มต้นผลิตจนถึงเมื่อคุณสามารถนำเครื่องช่วยหายใจออกวางตลาดได้จะเป็นเมื่อไหร่’ ”

    ส่วนการจับมือกันของ Ford กับ GE Healthcare เองก็กำลังตอบโจทย์นี้เช่นกัน โดยกำลังร่วมกันดีไซน์เครื่องช่วยหายใจรุ่นใหม่ที่เน้นให้ผลิตง่าย โดยบอมบิกกล่าวว่านักออกแบบกำลังใช้เครื่องดมยาสลบเป็นต้นแบบ เพราะเครื่องนี้มีแกนกลางสำคัญคือการเป็นเครื่องช่วยหายใจ ดังนั้นถ้านำส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการช่วยหายใจออก ก็น่าจะทำให้ได้เครื่องช่วยหายใจแบบไม่ซับซ้อน

    บอมบิกกล่าวว่าหากดีไซน์สำเร็จจะทำให้มีแบบเครื่องช่วยหายใจที่ผลิตในโรงงานอื่นนอกจาก GE ได้ แต่ Ford ยังไม่ได้ให้ตารางเวลาว่าเมื่อไหร่จะสามารถเริ่มผลิตได้

    ฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐผู้กำกับดูแล องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) กล่าวว่า หน่วยงานได้เปลี่ยนกฎระเบียบครั้งใหญ่ เพื่อให้ผู้ผลิตรถยนต์และโรงงานที่ไม่ใช่ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์อื่นๆ สามารถเข้ามาช่วยงานการผลิตครั้งนี้ได้

    “ข้อความจาก FDA นั้นชัดเจนมาก” FDA ประกาศในวันที่ 22 มีนาคม 2563 “ถ้าคุณต้องการช่วยขยายกำลังการผลิตเครื่องช่วยหายใจเพื่อช่วยชีวิตชาวอเมริกันจากการระบาดใหญ่ครั้งนี้ เราจะทำงานร่วมกับคุณเพื่อกำจัดกำแพงขวางทางทุกอย่างออกให้”

    ตัวอย่างการผ่อนปรนของ FDA เช่น หน่วยงานจะไม่บังคับใช้กฎที่ว่า ผู้ผลิตเครื่องช่วยหายใจต้องได้รับการอนุมัติจาก FDA ก่อนทุกครั้งก่อนที่จะมีการปรับแก้แม้เพียงเล็กน้อยในตัวอุปกรณ์

    FDA กล่าวว่า การผ่อนปรนกฎนี้จะทำให้ผู้ผลิตที่ต้องการขึ้นไลน์ผลิตเพิ่ม หรือเพิ่มแหล่งผลิตชั่วคราว ซึ่งอาจจะมีอุปกรณ์ผลิตแตกต่างไปจากเดิม สามารถทำงานได้สะดวกขึ้น

     

    อุปสรรคสำคัญคือทรัพย์สินทางปัญญา

    บริษัทผู้ผลิตเครื่องช่วยหายใจบางแห่งยังลังเลที่จะทำงานกับบริษัทภายนอก เพราะพวกเขากังวลว่า หากเกิดข้อผิดพลาดในการผลิต “มันจะเป็นหายนะครั้งใหญ่ถ้าหากคุณกระจายอุปกรณ์พวกนั้นออกไปอย่างกว้างขวางแล้ว” จามาลีกล่าว “คุณอาจจะสร้างความเสียหายอย่างมากมายต่อผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงที่สุด”

    เครื่องช่วยหายใจของ GE Healthcare

    นอกจากนี้ ประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาอาจจะเป็นอีกหนึ่งอุปสรรค เพราะการออกแบบเครื่องช่วยหายใจ ซอฟต์แวร์ที่ใช้ หรือส่วนประกอบสำคัญของเครื่องนั้น ปกติแล้วจะมีการจดสิทธิบัตรหรือเกี่ยวข้องกับความลับทางการค้า

    โดยอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์นั้น “มีประวัติที่ชัดเจนว่าเป็นอุตสาหกรรมที่อ่อนไหวอย่างมากต่อประเด็นการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา” เด็บบี้ หวัง นักวิเคราะห์จาก Morningstar กล่าว “และฉันไม่คิดว่าประเด็นนี้จะหายไป แม้กระทั่งเมื่อโลกต้องเผชิญกับการระบาดใหญ่”

    แพทริก คีน ทนายความด้านทรัพย์สินทางปัญญา เห็นตรงกันว่า ประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาอาจจะทำให้ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ลังเลที่จะทำงานร่วมกับบุคคลภายนอก

    แต่กฎหมายการผลิตเพื่อการป้องกันที่ทรัมป์ลงนามแล้วนั้น จะกลายเป็นเครื่องมืออันทรงพลังจากรัฐเพื่อให้ทำเนียบขาวเป็นผู้ชี้ทางการผลิตเครื่องมืออันสำคัญยิ่ง กล่าวคือบริษัทที่ได้รับคำสั่งให้ผลิตเครื่องช่วยหายใจตามกฎหมายฉบับนี้ พวกเขาจะไม่ต้องรับผิดเรื่องการละเมิดสิทธิบัตรในภายหลังหลังจากวิกฤตผ่านพ้นไปแล้ว

    ปัจจุบันประธานาธิบดีทรัมป์กำลังถูกกดดันจากหลายฝ่ายให้เริ่มใช้อำนาจตามกฎหมายฉบับนี้เสียที เพื่อให้การประสานงานและร่วมกันผลิตเครื่องช่วยหายใจทำได้ดีขึ้น เพื่อช่วยยกภูเขาออกจากอกให้กับบรรดาผู้ว่าการรัฐ อย่างเช่น คูโอโมแห่งรัฐนิวยอร์กที่กำลังเข้าตาจนกับการหาเครื่องช่วยหายใจเพิ่ม

    อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วประเด็นปัญหาจะกลับมาที่การเติมซัพพลายให้ทัน และเป็นการแข่งขันกับเวลา ไลน์ผลิตเครื่องช่วยหายใจที่มีอยู่นั้นไม่เพียงพอกับความต้องการอย่างมาก และการเปิดไลน์ผลิตใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

    Source

    ]]>
    1270771
    Dyson พัฒนา “เครื่องช่วยหายใจ” สำเร็จภายใน 10 วัน รัฐบาลอังกฤษจองแล้ว 10,000 เครื่อง https://positioningmag.com/1270494 Fri, 27 Mar 2020 10:23:03 +0000 https://positioningmag.com/?p=1270494 Dyson บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าสัญชาติอังกฤษ ออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ “เครื่องช่วยหายใจ” CoVent สำเร็จใน 10 วัน ตอบสนองปัญหาเครื่องช่วยหายใจไม่เพียงพอจากเหตุการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 ปัจจุบันอยู่ระหว่างขอใบอนุญาต อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอังกฤษออกคำสั่งจองซื้อแล้ว 10,000 เครื่อง

    บริษัท Dyson รายงานว่า บริษัทได้พัฒนาแบบเครื่องช่วยหายใจขึ้นมาภายใน 10 วัน โดยพื้นฐานเครื่องผลิตจากเทคโนโลยีดิจิทัล มอเตอร์ที่มีอยู่แล้วของบริษัท ขณะนี้แบบเครื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างรออนุมัติใบอนุญาตผลิตและจำหน่ายจากรัฐ

    อย่างไรก็ตาม แม้จะยังไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นทางการ รัฐบาลอังกฤษได้ออกคำสั่งซื้อเครื่องช่วยหายใจ Dyson CoVent แล้ว 10,000 เครื่อง เนื่องจากระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ (NHS) ของอังกฤษกำลังขาดแคลนเครื่องช่วยหายใจอย่างรุนแรง

    CoVent เป็นเครื่องช่วยหายใจแบบเคลื่อนที่ได้และติดตั้งกับเตียงผู้ป่วยได้ และมีฟังก์ชันให้ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่แทนได้หากจำเป็น เครื่องช่วยหายใจนั้นเป็นอุปกรณ์สำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส COVID-19 ที่มีอาการรุนแรงจนไม่สามารถหายใจด้วยตนเองได้

    เครื่องช่วยหายใจ
    ภาพตัวอย่างเครื่องช่วยหายใจ Dyson

    “อุปกรณ์ใหม่นี้สามารถผลิตได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และผลิตปริมาณมากได้” เจมส์ ไดสัน ผู้ก่อตั้งบริษัท Dyson กล่าว “เครื่องนี้ออกแบบโดยเน้นไปที่ความต้องการของผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส COVID-19 โดยเฉพาะ” ทั้งนี้ Dyson คือแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่โด่งดังจากสินค้ายอดฮิตอย่างเครื่องดูดฝุ่นและไดร์เป่าผม

    นอกจากจะเปิดรับคำสั่งซื้อแล้ว บริษัท Dyson จะผลิตเครื่องช่วยหายใจ 5,000 เครื่องสำหรับส่งบริจาคทั่วโลก 1,000 เครื่องในจำนวนนี้จะบริจาคให้รัฐบาลอังกฤษ ประเทศแม่ของบริษัท

    “การแข่งขัน (กับเวลา) หลังจากนี้คือนำแบบเข้าสู่การผลิต” ไดสันกล่าว ทั้งนี้ โฆษกของบริษัทให้สัมภาษณ์กับ CNN ว่า เครื่องช่วยหายใจจะพร้อมใช้งานในช่วงต้นเดือนเมษายนนี้

    Dyson ไม่ใช่บริษัทใหญ่รายเดียวที่มุ่งพัฒนาแบบและผลิตเครื่องช่วยหายใจในระยะนี้ กลุ่มผู้ประกอบการรถยนต์หลายราย เช่น Ford, Tesla และ General Motors ออกแถลงการณ์แล้วว่าบริษัทได้ปรับเปลี่ยนไลน์ผลิตในโรงงานรถยนต์เพื่อมาพัฒนาผลิตอุปกรณ์การรักษาที่สำคัญยิ่งนี้แทน หลังจากทั่วโลกเกิดซัพพลายขาดแคลนมากขึ้นเรื่อยๆ

    Source

    ]]>
    1270494