รัฐบาลออสเตรเลียประกาศเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า จะให้การช่วยเหลือประชาชนบนเกาะฮ่องกงที่ต้องการลี้ภัยออกจากเกาะ เนื่องจากรัฐบาลปักกิ่งประกาศบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงของรัฐฉบับใหม่เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2020 โดยออสเตรเลียเป็นดินแดนแห่งที่สามที่ประกาศต้อนรับผู้ลี้ภัยชาวฮ่องกงต่อจากไต้หวันและสหราชอาณาจักร
“ออสเตรเลียเป็นประเทศแห่งผู้อพยพ และเรายังคงตามหา ‘ทาเลนต์’ จากทั่วโลก” อลัน ทัดจ์ รัฐมนตรีกระทรวงโครงสร้างพื้นฐานของเมืองและประชากร ประเทศออสเตรเลีย กล่าวกับสำนักข่าว CNBC
ข้อกำหนดของออสเตรเลียคือ ชาวฮ่องกงที่มีทักษะอาชีพและบัณฑิตจบใหม่ที่ถือวีซ่าชั่วคราวออสเตรเลีย จะได้รับการต่อวีซ่าออกไปอีก 5 ปี ซึ่งจะปูทางให้บุคคลเหล่านั้น “มีสิทธิเป็นผู้พำนักถาวร (PR)” หลังจากสิ้นสุดการถือวีซ่า 5 ปีดังกล่าว
เหตุที่ออสเตรเลียต้องการกลุ่มทาเลนต์จากทั่วโลก ทัดจ์ระบุว่า เป็นเพราะออสเตรเลียเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนนับแสนคนต้องตกงาน และประชาชนต้องการให้รัฐบาลออกนโยบายมุ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้คนมีงานทำอีกครั้ง ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องการแรงงานที่มีทักษะเข้ามาช่วยพัฒนาประเทศ
ในกรณีฮ่องกง ออสเตรเลียจะเน้นให้สิทธิกับ นักเรียนนักศึกษา และ บุคคลที่มีความสามารถหรือ ‘ทาเลนต์’ อย่างสูง รวมถึง บริษัทที่ต้องการย้ายสำนักงานใหญ่ออกจากฮ่องกง เพื่อให้เขาเหล่านั้นมาช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างเศรษฐกิจแก่แดนจิงโจ้
สำหรับกลุ่มธุรกิจ ทัดจ์กล่าวว่ากลุ่มบริษัทประเภทบริการทางการเงิน บริษัทที่ปรึกษา และบริษัทสื่อ คือกลุ่มที่กำลังมองหาโลเคชันใหม่ในการย้ายสำนักงาน และออสเตรเลียต้องการสร้างแรงดึงดูดใจให้บริษัทที่จะย้ายฐานเข้ามาที่นี่ ดังนั้นการให้วีซ่าระยะยาวและสิทธิที่จะได้เป็นผู้พำนักถาวรในอนาคตจึงสำคัญยิ่ง เพราะทำให้พนักงานระดับสูงของบริษัทสามารถย้ายมาทำงานที่ออสเตรเลียได้
ส่วนเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีซึ่งสำคัญมากกับกลุ่มธุรกิจ ทัดจ์กล่าวว่าจะมี “การจัดการทางการเงินให้เป็นพิเศษ” เพื่อเสนอแก่กลุ่มธุรกิจส่วนตัวที่ต้องการย้ายเข้ามา ทั้งนี้ ปัจจุบัน ภาษีนิติบุคคลของฮ่องกงอยู่ที่ 16.5% แต่ภาษีนิติบุคคลของออสเตรเลียสามารถขึ้นไปสูงสุดถึง 30% ดังนั้น นี่อาจจะเป็นข้อด้อยที่ทำให้ออสเตรเลียไม่ใช่ตัวเลือกได้
ความเป็นไปได้ที่ชาวฮ่องกงและธุรกิจฮ่องกงจะย้ายออกจากเกาะนั้น เป็นเพราะการคืนเกาะฮ่องกงจากสหราชอาณาจักรกลับไปให้จีนเมื่อปี 1997 แต่ชาวฮ่องกงต้องการเสรีภาพแยกจากจีนแผ่นดินใหญ่ ด้วยระบบเศรษฐกิจและกฎหมายที่แยกจากกันชัดเจน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลปักกิ่งมีนโยบาย “จีนเดียว” ซึ่งจะบีบให้ฮ่องกงต้องเป็นดินแดนหนึ่งที่ใช้ระบบกฎหมายเดียวกันกับจีน และไม่มีการเลือกตั้งตามหลักประชาธิปไตย
แรงกดดันจากปักกิ่งทำให้ชาวฮ่องกงประท้วงมานานหลายเดือน แต่รัฐบาลจีนยังคงตั้งมั่นในนโยบาย โดยล่าสุดเพิ่งออก กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ ดังกล่าว ระบุให้ 4 การกระทำเหล่านี้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ได้แก่ การล้มล้างการปกครอง, แบ่งแยกดินแดน, ก่อการร้าย และสมคบคิดกับกองกำลังต่างชาติก่ออันตรายแก่ความมั่นคงแห่งชาติ โทษของกฎหมายร้ายแรงมากโดยมีโทษจำคุกขั้นต่ำ 10 ปีจนถึงจำคุกตลอดชีวิต รวมถึงศาลมีสิทธิให้พิจารณาโดยทางลับ ไม่มีคณะลูกขุน และไม่เปิดเผยต่อสาธารณะจนกว่าการตัดสินจะสิ้นสุด
เป็นหมุดหมายสำคัญของข้อพิพาทระหว่างจีนกับฮ่องกง ที่น่าจะส่งแรงกระเพื่อมให้ชาวฮ่องกงบางกลุ่มตัดสินใจย้ายถิ่นฐานจากบ้านเกิดไปสู่อิสระเสรี
]]>HK’s GDP stalls as Guangzhou, Singapore soar past
By KG Chan
เศรษฐกิจฮ่องกงกำลังย่ำแย่ทำท่าตกลงสู่ภาวะถดถอย โดยเป็นผลพวงของสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน และกระแสการประท้วงอย่างยืดเยื้อในเขตบริหารพิเศษแห่งนี้เอง สภาพเช่นนี้ทำให้ในปีนี้อันดับของฮ่องกงในรายชื่อนครในแดนมังกร ซึ่งมีขนาดของจีดีพีสูงที่สุดหล่นลงไปอยู่อันดับ 5 หลังจากปีที่แล้วก็ถูกสิงคโปร์ ซึ่งเป็นคู่แข่งรายสำคัญระดับนานาชาติ แซงเลยหน้าไปเล็กน้อย ทว่าถ้าวัดกันที่ตัวเลขจีดีพีเฉลี่ยต่อหัวประชากรแล้ว ก็จะถูกสิงคโปร์ทิ้งห่างถึง 40% ทีเดียว
ฮ่องกงน่าจะจมถลำลงสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิคไปเรียบร้อยแล้วนับตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ ขณะที่เศรษฐกิจของเขตพิเศษแห่งนี้ซึ่งประสบความยากลำบากจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ –ที่เป็น 2 คู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของนครแห่งนี้— อยู่แล้ว แถมยังต้องถูกตีกระหน่ำเพิ่มขึ้นอีกจากความไม่สงบในนครซึ่งยืดเยื้อเข้าสู่เดือนที่ 4
ในรอบครึ่งแรกของปี 2019 เศรษฐกิจของฮ่องกงอยู่ในอาการโซซัดโซเซแล้ว โดยสามารถขยายตัวได้เพียงแค่ 0.5% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นฝีก้าวที่เชื่องช้าที่สุดนับตั้งแต่ตอนประสบภาวะถดถอยในปี 2009 จากนั้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา ทั้งจำนวนผู้เดินทางมาเยือนและยอดการค้าปลีกต่างตกลงฮวบฮาบ ขณะที่การส่งออกยังคงทรุดตัวต่อเนื่อง เช่นเดียวกับอารมณ์ความรู้สึกทั้งของภาคธุรกิจ การลงทุน และผู้บริโภค ต่างดำดิ่งลงลึกกันทั่วหน้า
เหรินหมินรึเป้า (พีเพิลส์เดลี่) หนังสือพิมพ์ที่เป็นปากเสียงอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ออกมาเตือนอีกครั้งหนึ่งว่า อิทธิพลบารมีทางเศรษฐกิจของฮ่องกงนั้นกำลังหดหายลดทอนลงเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเปรียบเทียบกับพวกนครที่กำลังบูมจำนวนหนึ่งบนแผ่นดินใหญ่ หรือกับสิงคโปร์ ซึ่งเป็นนครรัฐที่มีฐานะเป็นคู่แข่งขันรายสำคัญ
ในการจัดอันดับเมืองต่างๆ ในความปกครองของจีนโดยใช้เกณฑ์ผลผลิตทางเศรษฐกิจในรอบปี ฮ่องกงทำท่าจะหล่นลงไปอยู่อันดับ 5 ในปีนี้ ขณะที่ กว่างโจว มีหวังจะแซงหน้าขึ้นไปได้ เนื่องจากเมืองเอกของมณฑลกวางตุ้งและเป็นข้อต่อที่กำลังรุ่งเรืองของการค้า การพาณิชย์ และอุตสาหกรรมการผลิตในบริเวณภาคใต้ของจีนแห่งนี้ สามารถยืนท้าทายลมปะทะระดับโลกทั้งหลาย และทำอัตราเติบโตได้อย่างเข้มแข็งในระดับ 7.1% ต่อปี จนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในมียอดอยู่ที่ 1.17 ล้านล้านหยวน (165,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ในรอบครึ่งปีแรกของปี 2019
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จำนวนผู้โดยสารและตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ที่เข้าออกสนามบินและท่าเรือของกว่างโจวนั้น ต่างแซงหน้าฮ่องกงไปแล้วในระหว่างเวลาดังกล่าว
นี่หมายความว่า เวลานี้นครใหญ่ของจีนซึ่งคุยอวดได้ว่ามีขนาดเศรษฐกิจใหญ่โตกว่าฮ่องกงไปเรียบร้อยแล้ว จะประกอบด้วย เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง เซินเจิ้น และกว่างโจว
ขณะเดียวกัน ขนาดเศรษฐกิจของฮ่องกงเมื่อเปรียบเทียบกับยอดจีดีพีโดยรวมของทั่วทั้งประเทศจีน ก็ได้หล่นวูบลงมาจากที่เคยขึ้นไปสูงสุดคือ 27% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศโดยรวมของจีนเมื่อปี 1993 แต่มาถึงปี 2017 ก็ถอยกรูดจนเหลือไม่ถึง 3% นี่เป็นอีกจุดหนึ่งที่ข้อเขียนชิ้นนี้ในเหรินหมินรึเป้าตั้งข้อสังเกต
ในปี 1997 ตอนที่อังกฤษส่งมอบนครแห่งนี้กลับคืนมาอยู่ในอำนาจอธิปไตยของจีนนั้น จีดีพีของฮ่องกงยังมีขนาดเท่ากับประมาณ 20% ของแผ่นดินใหญ่ และใหญ่กว่าผลผลิตทางเศรษฐกิจของมณฑลกวางตุ้งทั่วทั้งมณฑล ทั้งนี้ในสมัยที่รุ่งเรืองที่สุด นครแห่งนี้ในช่วงที่ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ได้แสดงบทบาทที่สำคัญยิ่งด้วยการเป็นคนกลางเรื่องการค้าและการลงทุนของจีน กับส่วนอื่นๆ ของโลก
มีความคิดเห็นกันด้วยว่า แม้กระทั่งพวกนครของแผ่นดินใหญ่ที่ถือเป็นนครชั้นสองระดับรองๆ ลงมาอีก เป็นต้นว่า ฉงชิ่ง (จุงกิง) เทียนจิน (เทียนสิน) ซูโจว อู่ฮั่น เฉิงตู และ หนานจิง (นานกิง) ก็อาจพากันวิ่งเลยหน้าฮ่องกง จนกระทั่งทำให้นครแห่งนี้ตกจากอันดับท็อป 10 ไปเลยภายในช่วงทศวรรษหน้า ขณะที่ศูนย์กลางชุมชนเมืองบนแผ่นดินใหญ่เหล่านี้ต่างกำลังมีเศรษฐกิจที่เติบโตขยายตัว เนื่องจากมีการลงทุนที่คึกคักเข้มแข็ง และฐานประชากรของพวกเขาก็มีความมั่นคง
เมื่อปีที่แล้ว สิงคโปร์ได้แซงหน้าฮ่องกงในเรื่องจีดีพีเป็นครั้งที่สองในรอบ 10 ปี ถึงแม้นำไปไม่มากไม่มาย นั่นคือ 364,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ 362,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ต้องไม่ลืมว่าสิงคโปร์มีประชากร 5 ล้านคน เปรียบกับฮ่องกงซึ่งมี 7 ล้านคน ดังนั้นเมื่อดูที่ตัวเลขจีดีพีเฉลี่ยต่อหัวประชากรแล้ว ของสิงคโปร์จะอยู่ในระดับสูงกว่าของฮ่องกงราวๆ 40% ทีเดียว ทั้งนี้ตามตัวเลขของเหรินหมินรึเป้า
จวบจนถึงเวลานี้ สิงคโปร์ยังคงสามารถหลีกเลี่ยงไม่ตกลงสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค ซึ่งมีคำจำกัดความทางวิชาการว่าหมายถึงอัตราเติบโตของเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า อยู่ในสภาพติดลบติดต่อกัน 2 ไตรมาสขึ้นไป ทั้งนี้เศรษฐกิจของนครรัฐแห่งนั้นในไตรมาส 3 ขยายตัวได้ 0.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว และอยู่ในระดับโตได้ 0.6% เมื่อเปรียบกับไตรมาสก่อนหน้า
สิงคโปร์อยู่ในฐานะที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดจากความปั่นป่วนวุ่นวายในฮ่องกง เนื่องจากพวกคนมั่งคั่งร่ำรวยระดับอัลตร้าริชของฮ่องกง พากันมองหาสถานที่ซึ่งมีความปลอดภัยมากกว่า สำหรับนำทรัพย์สินของพวกเขาไปจอดพักเอาไว้ ส่วนพวกบรรษัทนานาชาติก็เริ่มต้นตัดแยกแบ่งการดำเนินงานบางส่วนออก และโยกย้ายไปไว้ที่ศูนย์ธุรกิจและการเงินซึ่งมีเสถียรภาพมากกว่า
สิงคโปร์ในปีนี้ยังสามารถน็อกเอาต์สหรัฐฯ แซงขึ้นสู่อันดับหนึ่งในรายงานความสามารถในการแข่งขันประจำปี 2019 ที่จัดทำโดย เวิลด์อีโคโนมิกฟอรั่ม (World Economic Forum) สำหรับเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ก็ยังถือว่าทำได้ไม่เลว โดยวิ่งขึ้นมาอยู่ในอันดับสาม (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.weforum.org/reports/how-to-end-a-decade-of-lost-productivity-growth).
]]>Photo : SCMPHongKong
ผู้ประท้วงในฮ่องกงยิ่งบ้าระห่ำ พุ่งเป้าโจมตีกิจการร้านค้าจากจีน ล่าสุดเซาท์ ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์รายงานว่ากลุ่มผู้ประท้วงในเขตมงก๊ก บุกเผาร้านค้าต่างๆ ได้แก่ ร้านขายโทรศัพท์มือถือแบรนด์ดัง “เสี่ยวหมี่” ร้านสาขาของยักษ์ใหญ่ยาแผนจีน “ถง เหรินถัง” และ Best Mart 360 นอกจากนี้ยังจุดไฟเผาบริเวณทางออกของสถานีรถไฟใต้ดินมงก๊ก
สถานการณ์ประท้วงในฮ่องกงตอนดึกวันที่ 20 ต.ค. ตำรวจปราบจลาจลและผู้ประท้วงในฮ่องกงลุยศึกแลกแก็สน้ำตาและระเบิดขวด ขณะที่ประชาชนหลายหมื่นคนหลั่งไหลมาเข้าร่วมการเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลซึ่งผิดกฎหมาย ร้านค้า กลุ่มธนาคารของจีน และสถานีรถไฟใต้ดิน ได้ตกเป็นเป้าหมายของกลุ่มประท้วง
สถานีรถไฟใต้ดิน MTR รวมทั้งสิ้นอย่างน้อย 14 แห่ง ปิดบริการ การเดินทางโดยรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมฮ่องกงกับแผ่นดินใหญ่ก็หยุดชะงัก
กลุ่มผู้ประท้วงได้ปาระเบิดขวดใส่สถานีตำรวจกิมซาจุ่ยในเกาลูนหลังจากที่ตำรวจยิงแก็สน้ำตาสลายกลุ่มประท้วง นอกจากนี้ผู้ประท้วงสร้างสิ่งกีดขวางที่ถนนนาธาน (Nathan Road) แหล่งค้าปลีกในเกาลูน ขณะที่ตำรวจยกโขยงมาประจันหน้ายิงแก็สน้ำตา อีกทั้งมีการยิงปืนฉีดน้ำแรงดันสูงสลายกลุ่มประท้วง พ่นน้ำสีฟ้าใส่ผู้ประท้วงเพื่อระบุตัวพวกเขา ขณะที่ผู้ประท้วงทั้งปาระเบิดขวดและก้อนอิฐโต้ตอบ
ระหว่างที่เดินขบวนไปตามถนน ผู้ประท้วงได้เข้าไปป่วนสถานีรถไฟใต้ดิน ร้านค้า และธนาคารจีน ขณะนี้กลุ่มที่มีสายสัมพันธ์กับจีนในฮ่องกงวิตกความปลอดภัยของตน
ในตอนดึกวันที่ 20 ต.ค. ผู้ประท้วงในมงก๊ก ได้บุกเผาร้านค้าสาขาของแบรนด์จีน ได้แก่ ร้านโทรศัพท์มือถือ เสี่ยวหมี่ ยักษ์ใหญ่ร้ายยาแผนจีน ถงเหรินถัง และ Best Mart 360
สำหรับ Best Mart 360 นี้ กลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลหัวรุนแรงชี้ว่ามีเอี่ยวกับ “ฝูเจี้ยน แก๊งส์” ซึ่งโจมตีผู้เดินขบวน แต่ Best Mart 360 ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหา
ตำรวจเผยว่าพวกเขาได้จับกุมผู้ประท้วงที่ปาระเบิดขวด กว่า 40 คน
ทั้งนี้ตำรวจได้ประกาศให้การเดินขบวนในวันอาทิตย์เป็นการประทำผิดกฎหมายเนื่องจากความวิตกต่อความปลอดภัยสาธารณะ แต่กลุ่มประท้วงก็หลั่งไหลออกมา มีทั้งเด็กนักเรียนและคนแก่ หลายคนถือร่มบังหน้า ไม่ให้กล้องวงจรปิดที่ติดตั้งอยู่ตามถนนบันทึกภาพของตน และถูกจับกุมตัว
การประท้วงในช่วงสองสามชั่วโมงแรกเป็นไปอย่างสงบสันติ ผู้ประท้วงชูป้าย “ปลดปล่อยฮ่องกงเป็นอิสระ”
ทั้งนี้ฮ่องกงถูกปกครองภายใต้สูตรการปกครอง “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ซึ่งให้อิสระเสรีแก่ฮ่องกงอย่างที่แผ่นดินใหญ่ไม่มี เช่น การศาลยุติธรรมที่อิสระ
แต่ผู้ประท้วงไม่พอใจผู้นำ แคร์รี่ แลม ว่าล้มเหลวในการปกป้องเสรีภาพ โดยปล่อยให้ปักกิ่งเข้ามาครอบงำอำนาจปกครองบริหาร และการแถลงนโยบายประจำปีของแลม ก็ไม่ตอบสนองข้อเรียกร้องของผู้ประท้วง ได้แก่ การปฏิรูปการเลือกตั้ง ตั้งคณะกรรมาธิการอิสระมาไต่สวนการกระทำของตำรวจ อภัยโทษผู้ที่ถูกจับกุมหรือถูกตั้งข้อหา หยุดระบุว่าผู้ประท้วงเป็นผู้ก่อจลาจล และถอนกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปดำเนินคดีที่จีนอย่างเป็นทางการ
ฝ่ายประท้วงชี้ว่าแม้แลมบอกว่ากฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปจีนได้ตายแล้วแต่มันยังไม่ถูกถอดถอนอย่างเป็นทางการ
ขณะนี้ฮ่องกงเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษซึ่งเป็นผลกระทบจากความไม่สงบ.
การถอดแอปนี้เกิดขึ้นหลังจากหนังสือพิมพ์ของรัฐบาลจีนวิจารณ์ Apple ที่ปล่อยให้ซอฟต์แวร์นี้แจ้งเกิด ด้าน Google ก็โอนอ่อนถอดแอปที่เปิดให้ผู้ใช้สวมบทบาทเป็นผู้ประท้วง อ้างว่าเป็นการละเมิดกฏเรื่องไม่อนุญาตให้มีการใช้ประโยชน์จากเหตุการณ์อ่อนไหวแบบไม่เหมาะสม
Tim Cook ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Apple ปฏิเสธในเชิงว่าการตัดสินใจครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับแรงกดดันจากรัฐบาลจีน โดยแจ้งต่อพนักงาน Apple ว่าการถอดแอปจะปกป้องผู้ใช้ได้ดีที่สุด
สำหรับแอปพลิเคชันที่ถูก Apple ถอดจากร้านแอปสโตร์นั้นมีชื่อว่า HKmap.live ซึ่งเป็นแอปแสดงจุดที่ตั้งของทั้งตำรวจและผู้ประท้วง การปล่อยให้แอปพลิเคชันเปิดให้ดาวน์โหลดได้เสรีบนแอปสโตร์ ทำให้ Apple ได้รับแรงกดดันจากความตึงเครียดทางการเมืองที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นระหว่างจีนและผู้ประท้วง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อธุรกิจอื่นในสหรัฐฯ และฮ่องกงหลายราย
การถอดแอป HKmap.live ครั้งนี้เกิดขึ้นในเวลาเพียง 1 สัปดาห์ที่ Apple ได้อนุมัติแอปหลังจากไม่อนุมัติแอปพลิเคชันเมื่อต้นเดือนตุลาคม 2562
ไม่เพียง Apple ที่ได้รับเผือกร้อนในมือ ยังมี Google ที่ต้นสังกัดอย่างอัลฟาเบ็ต (Alphabet) ซึ่งออกแถลงการณ์ในวันพฤหัสบดี ที่ 10 ตุลาคม 2562 กล่าวว่าได้ถอดแอปพลิเคชันเกมจากเพลย์สโตร์ เนื่องจากแอปพลิเคชันนั้นเปิดให้ผู้เล่นแกล้งรับบทเป็นผู้ประท้วงในฮ่องกง โดยให้เหตุผลว่าเป็นการตัดสินใจตามนโยบายห้ามนักพัฒนาฯ ใช้ประโยชน์จากเหตุการณ์ที่อ่อนไหว
อย่างไรก็ตาม Google กล่าวว่าไม่พบการละเมิดนโยบายในแอปพลิเคชัน HKmap.live และยืนยันว่าแอปพลิเคชันติดตามตำแหน่งในการประท้วงนั้นยังพร้อมใช้งานในเพลย์สโตร์ของ Google
สถานการณ์แอปพลิเคชันประท้วงในฮ่องกงนั้นกำลังทวีความกดดันมากขึ้น เห็นได้ชัดจากหนังสือพิมพ์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ตีพิมพ์เมื่อวันอังคารที่ 8 ตุลาคมโดยเรียกแอปพลิเคชันติดตามตำแหน่งเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าเป็นภัยต่อประเทศ และยังประณามว่าการกระทำของ Apple ถือเป็นการช่วยเหลือผู้ประท้วงฮ่องกง
ด้าน Apple ยอมรับในแถลงการณ์ว่าได้มีการสอบสวนทันทีหลังจากมีลูกค้าจำนวนมากในฮ่องกงดาวน์โหลดแอปนี้ไปใช้งาน และ Apple พบว่าแอปเข้าข่ายละเมิดกฎหมายและผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ โดยอ้างการทำงานร่วมกับ Hong Kong Cybersecurity and Technology Crime Bureau หรือสำนักความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ตและอาชญากรรมทางเทคโนโลยีของฮ่องกง จนพบว่าแอปดังกล่าวถูกใช้เพื่อกำหนดเป้าหมายและซุ่มโจมตีตำรวจ รวมถึงคุกคามความปลอดภัยสาธารณะ
ปัจจุบัน Apple ยังไม่ออกมาแสดงความเห็นอื่นเพิ่มเติม รวมถึงกรณีที่สั่งถอดแอป BackupHK ซึ่งเป็นแอปแยกต่างหากและทำงานลักษณะเดียวกับแอป HKmap.live เหตุการณ์เหล่านี้ได้รับความสนใจมากเพราะ Apple กำลังอยู่ในช่วงเริ่มวางจำหน่าย iPhone รุ่นใหม่อย่าง iPhone 11 และตลาดจีนรวมถึงฮ่องกงนั้นเป็น 1 ในตลาดที่สำคัญมากที่สุดของ Apple.
]]>นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า การประท้วงของฮ่องกงก่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูญเสียเงินในช่วง “สัปดาห์ทอง” วันชาติจีน ประมาณ 2,800 ล้านเหรียญฮ่องกง หรือราวๆ 10,815 ล้านบาท
ในส่วนของภาคธุรกิจต่างๆ เช่น ค้าปลีก ร้านอาหารและโรงแรม อาจสูญเสียมากถึง 1,900 ล้านเหรียญฮ่องกง ในช่วงวันหยุดสามวัน เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
ผู้เชี่ยวชาญยังประเมินว่า บริษัท MTR Corp สูญเสียรายได้จากตั๋ว 500 ล้านเหรียญฮ่องกงในช่วงสุดสัปดาห์วันชาติ โดยอ้างถึงการก่อกวนของผู้ประท้วง
นอกจากนี้ยังพบว่าเริ่มมีคนตกงานเพิ่มมากขึ้น คนหลายพันคนไม่ได้ทำงานเนื่องจากมีร้านอาหารหลายร้อยแห่งอยู่ใกล้กับการประท้วงต่อต้านรัฐบาล และการชะลอตัวของการท่องเที่ยว
อาชีพกลุ่มอาหาร และเครื่องดื่มได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะความไม่สงบ ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยว หรือคนใช้บริการ ภาคอุตสาหกรรมกระตุ้นให้รัฐบาล จัดสรรเงินอุดหนุนสำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ในวงการฯ กล่าวกันว่าร้านอาหารหลายร้อยแห่งจำต้องปิดตัวท่ามกลางการประท้วงต่อต้านรัฐบาล ทำให้คนหลายพันคนออกจากงาน
เฮนรี หม่า รองประธานสถาบันศิลปะอาหารจัดเลี้ยง ได้กล่าวว่า สมาคมการจัดการธุรกิจค้าปลีกฮ่องกงเรียกร้องให้รัฐบาลให้การช่วยเหลือทางการเงินแก่ธุรกิจในรูปแบบของเงินอุดหนุนค่าสาธารณูปโภค ลดค่าเช่า เมื่อภาคธุรกิจโดนมรสุมเศรษฐกิจที่มีการประท้วง
หม่ายังกล่าวอีกว่า สมาชิกของสถาบันแจ้งว่า ไม่ได้ว่าจ้างคนทำงานอิสระอีกต่อไป ในขณะที่คนงานเต็มเวลาบางคนถูกขอให้ลางานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง.
]]>สถานการณ์อันสลับซับซ้อนที่กำลังเกิดขึ้นในฮ่องกงเวลานี้ ไม่สามารถจัดการคลี่คลายได้อย่างง่ายๆ เนื่องจากมีต่างชาติเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอย่างมากมาย ผลกระทบของหลักสูตรการศึกษาที่ใช้กันในยุคที่ตกเป็นอาณานิคมถูกปกครองโดยอังกฤษ ข้อจำกัดต่างๆ ภายใต้โครงสร้างแห่ง “หนึ่งประเทศ สองระบบ” และความแตกแยกกันภายในรัฐบาลฮ่องกงตลอดจนภายในประชากรของฮ่องกง
เป็นเวลาหลายเดือนมาแล้วที่พวกนักเคลื่อนไหว “ฝักใฝ่ประชาธิปไตย” ได้สร้างความเดือดร้อนเสียหายอย่างมหาศาลให้แก่ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของฮ่องกง โดยเริ่มแรกทีเดียวมาจากการประท้วงร่างแก้ไขกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ร่างกฎหมายที่ก่อให้เกิดการโต้เถียงขัดแย้งฉบับนั้นเวลานี้ได้ถูกถอนออกไปแล้ว กระนั้นความรุนแรงอย่างไร้สติก็ยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่ได้ลดถอยลง แต่มันกำลังเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.theguardian.com/world/2019/sep/04/hong-kong-lam-to-withdraw-extradition-bill-say-reports)
ในวันที่ 3 ต.ค. ที่ผ่านมา ผู้ประท้วงที่เป็นหนุ่มวัยรุ่นคนหนึ่งได้ถูกตำรวจยิงด้วยกระสุนจริง จนได้รับบาดเจ็บที่บริเวณหน้าอก (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.asiatimes.com/2019/10/article/hk-protester-shot-on-chinas-national-day/) ทว่าในประเทศจำนวนมากนั้น หากพวกเขากำลังเผชิญกับความรุนแรงอย่างที่ฮ่องกงกำลังอดทนอดกลั้นอยู่ในเวลานี้แล้ว ปฏิกิริยาเช่นนี้จากผู้มีอำนาจหน้าที่ย่อมเป็นสิ่งที่ได้รับการคาดหมายว่าจะต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว โดยพวกซึ่งรับผิดชอบสำหรับความรุนแรงดังกล่าวจะต้องถูกจับกุมหรือกระทั่งถูกยิง ด้วยเหตุนี้จึงมีคำถามว่า ทำไมรัฐบาลฮ่องกงและรัฐบาลจีนจึงยอมปล่อยให้ความโกลาหลวุ่นวายนี้ดำเนินต่อไป?
เห็นได้อย่างชัดเจนว่า สถานการณ์อันสลับซับซ้อนคราวนี้ไม่สามารถจัดการคลี่คลายได้อย่างง่ายๆ เนื่องจากมีต่างชาติเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอย่างมากมาย ผลกระทบของหลักสูตรการศึกษาที่ใช้กันในยุคที่ตกเป็นอาณานิคมถูกปกครองโดยอังกฤษ ข้อจำกัดต่างๆ ภายใต้โครงสร้างแห่ง “หนึ่งประเทศ สองระบบ” และความแตกแยกกันภายในรัฐบาลฮ่องกงตลอดจนภายในประชากรของฮ่องกง
สถาปัตยกรรมด้านการปกครองแบบ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ซึ่งอนุญาตให้ฮ่องกงยังคงสามารถรักษา “สถานะเดิม” ก่อนอังกฤษส่งคืนดินแดนนี้ให้แก่จีน โดยมีข้อยกเว้นในเรื่องกิจการด้านการต่างประเทศและการป้องกันแห่งชาติ คือสิ่งที่มัดมือจีนเอาไว้ การส่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีนเข้าไปปราบปรามบดขยี้พวกผู้ประท้วง จะเป็นการเชื้อชาติเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และการแซงก์ชั่นคว่ำบาตรจากฝ่ายตะวันตก
โดยที่รัฐบาลส่วนกลางในปักกิ่งถูกกล่าวหาว่าไม่ได้กระทำตามคำมั่นสัญญาที่ได้ให้ไว้เมื่อตอนถ่ายโอนอำนาจอธิปไตยเหนือนครแห่งนี้จากอังกฤษมาสู่จีนในปี 1997 การใช้กำลังจะเป็นการเชื้อเชิญบรรดาข้อกล่าวหาโจมตีที่ว่าจีนกำลังเข่นฆ่าคนหนุ่มสาวของตนอย่างเดียวกับในคราวปราบปรามที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี 1989 ดังนั้นจึงกำลังทำให้รัฐบาลส่วนกลางตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มีทางได้ชัยชนะ
บางทีอาจจะเป็นด้วยต้องการฉวยคว้าความได้เปรียบจากการที่จีนมีทางเลือกที่จะกระทำได้เพียงจำกัด พวกผู้จัดตั้งดำเนินการจึงได้ทำให้การประท้วงครั้งนี้บานปลายขยายตัว เพิ่มพูนความเสียหายที่พวกเขาก่อขึ้นกับบรรดาสถาบันทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของฮ่องกงให้ได้มากที่สุด
มันไม่ได้ช่วยอะไรเลยเมื่อพวกสมาชิกสภานิติบัญญัติและกลุ่มพลเมืองต่างๆ ของฮ่องกง เกิดการโต้เถียงในหมู่พวกเขากันเองเกี่ยวกับสิ่งที่พึงกระทำเพื่อยุติความรุนแรงคราวนี้ ขณะที่พวกสมาชิกสภานิติบัญญัติที่เป็น “ฝ่ายประชาธิปไตยทั้งมวล” (pan-democrat) ไม่เห็นด้วยกับทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งพวกสมาชิกฝ่ายนิยมปักกิ่งเสนอ อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อตอนที่ฝ่ายหลังเสนอให้ถมทะเลขยายพื้นที่เพื่อให้มีที่ดินสำหรับการสร้างโครงการอาคารสงเคราะห์ในปี 2017 ขณะที่กลุ่มพลเมืองฝ่ายนิยมการรวมประเทศเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ต้องการให้รัฐบาลใช้อำนาจสูงสุดเพื่อยุติการประท้วง ทว่าคนซึ่งนิยมการเป็นเอกราชกลับสนับสนุนพวกผู้ประท้วง สรุปแล้ว ฮ่องกงที่แบ่งแยกแตกร้าวกันเช่นนี้ได้ทำให้รัฐบาลฮ่องกงกลายเป็นอัมพาต ทำให้รัฐบาลฮ่องกงไม่สามารถที่จะใช้มาตรการอันทรงประสิทธิภาพใดๆ เพื่อขจัดความรุนแรง
บางทีปัจจัยข้อใหญ่ที่สุดซึ่งมีส่วนอยู่ในความรุนแรงอย่างยืดเยื้อคราวนี้ ได้แก่การเข้ามาแทรกแซงก้าวก่ายของฝ่ายตะวันตก ร่างกฎหมาย “สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยฮ่องกง” (Hong Kong Human Rights and Democracy Bill) ที่กำลังใกล้จะผ่านออกมาจากสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ โดยมีสาระสำคัญเป็นการเปิดทางให้รัฐบาลอเมริกันแซงก์ชั่นคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ฮ่องกงหรือเจ้าหน้าที่จีนคนใดก็ตาม หากพวกเขาใช้กำลังเข้าจัดการกับการประท้วง คือการเพิ่มกำลังใจเสริมความกล้าให้แก่ฝูงชนที่จะ “ทำลายฮ่องกงให้ล่มจม” (wreck Hong Kong) บางทีพวกผู้ประท้วงอาจคิดว่าไม่มีเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นคนไหนหรอกที่กล้าจะต่อสู้เผชิญกับการใช้สิทธิสภาพนอกอาณาเขต (extraterritoriality) ของสหรัฐฯ เช่นนี้ เนื่องจากบางคนอาจจะมีผลประโยชน์ทางการเงินอยู่ในอเมริกันหรือในดินแดนต่างๆ ซึ่งอเมริกาสามารถเข้าถึงได้
ไม่ว่าสาเหตุจะเป็นอะไรก็ตามที ความรุนแรงจะต้องยุติลง ขณะที่พลเมืองมีสิทธิที่จะดำเนินการประท้วงเพื่อประกาศปกป้องสิ่งที่พวกเขาเชื่อถือศรัทธา แต่พวกเขาย่อมไม่มีสิทธิที่จะสร้างอันตรายให้แก่ความปลอดภัยสาธารณะและทำลายทรัพย์สินต่างๆ ยิ่งไปกว่านั้น เศรษฐกิจของฮ่องกงกำลังอยู่ในอาการโซซัดโซเซแล้ว การท่องเที่ยวลดต่ำลงถึง 40% และธุรกิจต่างๆ กำลังโยกย้ายออกไปจากนครแห่งนี้ ถ้าความรุนแรงยังไม่ยุติลง ความเสียหายทางเศรษฐกิจและทางทรัพย์สินมากยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกจะต้องเกิดขึ้นมา กระทั่งชีวิตของประชาชนก็อาจต้องตกอยู่ในความเสี่ยง
แท้ที่จริงแล้ว การปล่อยให้ความรุนแรงและการทำลายล้างยังคงยืดเยื้อต่อไป อาจสามารถตีความได้ว่าคือการทอดทิ้งหน้าที่และความรับผิดชอบ รัฐบาลนั้นดำรงคงอยู่ขึ้นมาก็เพื่อส่งเสริมสนับสนุนและพิทักษ์ปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติ และนี่แหละคือเหตุผลที่รัฐบาลจะต้องมีกองทัพและกำลังตำรวจ
การไม่อนุญาตให้ตำรวจสามารถปกป้องคุ้มครองพวกเขาเอง หรือ “ใช้ไฟมาสู้ไฟ” อาจจะเป็นสิ่งถูกต้องที่จะกระทำก็เป็นได้ ทว่าพวกผู้ยุยงและพวกผู้ประท้วงดูเหมือนมองท่าทีการแสดงออกเช่นนี้ว่าคือความอ่อนแอ ไม่ว่าทางฝ่ายนักการเมืองจะพูดอะไร หรือพวกเขาจะยินยอมอ่อนข้อมากแค่ไหนก็ตาม ก็ดูเหมือนไม่เพียงพอไปเสียทั้งนั้น เพราะการประท้วงคราวนี้จริงๆ แล้วไม่ได้เกี่ยวกับประชาธิปไตย แต่เป็นกลอุบายร้ายกาจที่ต้องการทำลายฮ่องกงให้ล่มจม และบ่อนทำลายเสถียรภาพของจีนแผ่นดินใหญ่
ถึงแม้ความขัดแย้งในทางภูมิรัฐศาสตร์ (ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน) และการเมืองภายในท้องถิ่น อาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ความรุนแรงบานปลายจนควบคุมกันไม่อยู่ กระนั้นมันก็ไม่น่าจะเป็นไปได้อย่างยิ่งว่า พวกนักเคลื่อนไหว “ฝักใฝ่ประชาธิปไตย” จะเป็นผู้ชนะในศึกคราวนี้ เมื่อพิจารณาจากความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและทางการทหารของประเทศจีน ซึ่งถึงอย่างไรก็กำลังเพิ่มพูนมากขึ้นทุกวัน การตรวจพลสวนสนามเมื่อวันอังคาร (1 ต.ค.) ที่ผ่านมา ในวาระครบรอบ 70 ปีแห่งการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน มีการอวดโอ่อาวุธอันก้าวหน้าจำนวนหนึ่ง เป็นต้นว่า ขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง (ซูเปอร์โซนิก) แบบ ดี-17 (supersonic D-17 missile) ซึ่งสามารถที่จะฝ่าผ่านพวกระบบป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐฯ แล้วจีนยังมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจที่จะสร้างฮ่องกงขึ้นมาใหม่ไม่ว่าในเวลานี้หรือในอนาคตข้างหน้า
พิจารณาจากสภาวการณ์เช่นนี้ พวกผู้ประท้วงควรที่จะยุติก่อนที่พวกเขาจะเผชิญกับ “ชะตากรรมแบบจัตุรัสเทียนอันเหมิน” หลังจากการปราบปรามเมื่อปี 1989 พวกผู้ยุยงและพวกผู้นำของการประท้วงคราวนี้ต่างหลบหนีไปสู่โลกตะวันตก ขณะที่เยาวชนคนหนุ่มสาวส่วนข้างมากที่สุดซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ถูกชี้นำไปในทางที่ผิดและเดินตามพวกเขาไปอย่างมืดบอดนั้น กลับถูกทอดทิ้งเอาไว้เบื้องหลังและต้องแบกรับผลต่อเนื่องที่เกิดตามมา
(ข้อเขียนซึ่งบุคคลภายนอกเป็นผู้ส่งเรื่องมาให้ ทางเอเชียไทมส์ไม่ขอรับผิดชอบทั้งต่อความคิดเห็น ข้อเท็จจริง หรือเนื้อหาด้านสื่อใดๆ ที่นำเสนอ)
เขียนโดย เคน โมค สอนวิชาทฤษฎีเศรษฐกิจ นโยบายภาคสาธารณะ และกระแสโลกาภิวัตน์ในระดับมหาวิทยาลัยมาเป็นเวลา 33 ปี เขายังเป็นผู้เขียนร่วมของหนังสือเรื่อง China’s Economic Rise and Its Global Impact (Palgrave McMillan, 2015) สำหรับหนังสือเล่มที่ 2 ของเขาซึ่งใช้ชื่อว่า Developed Nations and the Impact of Globalization ได้รับการจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Palgrave McMillan Springer.
]]>ฮ่องกงเป็นพื้นที่ติดอันดับ 1 ใน 5 จุดหมายปลายทางท่องเที่ยวของนักช้อปที่ชื่นชอบสินค้าหรูหรา เพราะแบรนด์ใหญ่เลือกฮ่องกงเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการตั้งร้านค้าเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่ สถิติจาก Bernstein ระบุว่าฮ่องกงครองสัดส่วน 5-10% ของยอดขายสินค้าฟุ่มเฟือยทั่วโลก ซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณปีละ 285,000 ล้านเหรียญ
แต่ข้อมูลวันที่ 2 ตุลาคมแสดงว่า ยอดค้าปลีกในฮ่องกงประจำเดือนสิงหาคม 62 ลดลง 23% จากปี 61 ซึ่งเป็นสถิติการหดตัวมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ในขณะที่มูลค่ายอดขายสินค้ากลุ่มอัญมณี นาฬิกา และสินค้ามีค่ารายการอื่นทำสถิติลดลง 47.4%
Annie Yau Tse ประธานสมาคมการค้าปลีกฮ่องกง Hong Kong Retail Management Association ยอมรับว่ายังไม่เห็นแสงสว่างของวิกฤติพิษประท้วงฮ่องกง บนสถิติล่าสุดที่สรุปแล้วว่าจำนวนนักท่องเที่ยวมาเยือนฮ่องกงลดลง 39% โดยจำนวนนักท่องเที่ยวแผ่นดินใหญ่ลดฮวบ 42.3%
ไม่ว่าจะ Hermes หรือ Tiffany รวมถึงหลายแบรนด์ที่ต้องปิดร้านในฮ่องกงชั่วคราวตั้งแต่เกิดการประท้วงในเดือนมิถุนายน ต่างเลี่ยงที่จะเปิดเผยผลกระทบต่อผลประกอบการในไตรมาส 2 แต่การสำรวจของบริษัท RBC คาดว่าแบรนด์ส่วนใหญ่จะประสบภาวะยอดขายลดลงระหว่าง 30-60% ซึ่งจะปรากฏเป็นตัวเลขในรายงานไตรมาส 3
บริษัทวิจัย Bain & Co มองว่าภาวะนี้จะส่งผลให้ภาพรวมธุรกิจสินค้าหรูหราหรือ luxury sector ระดับโลกมีการเติบโตระดับต่ำในปีนี้ คิดเป็นการเติบโต 4-6% เท่านั้น
แบรนด์ผู้ผลิตนาฬิกามีแนวโน้มที่จะเป็นกลุ่มเจ็บหนัก เพราะฮ่องกงเป็นศูนย์กลางการค้านาฬิการะดับไฮเอนด์ เห็นได้ชัดจากที่กลุ่ม Swatch Group สัญชาติสวิตเซอร์แลนด์และกลุ่ม Richemont เจ้าของแบรนด์ Cartier ทำเงินจากตลาดฮ่องกงมากกว่า 11-12% จากยอดขายทั่วโลก
ห้างสรรพสินค้าหลักมากกว่า 30 แห่งตัดสินใจปิดบริการชั่วคราวในวันที่ 1 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปีของการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยไม่เพียงห้างสรรพสินค้า แต่แบรนด์หรูยังจำเป็นต้องปิดสาขาในสนามบินด้วย หนึ่งในนั้นคือ Hermes ผู้ผลิตกระเป๋าหนังสุดหรู Birkin ใบละ 6 แสนถึงเฉียด 3 ล้านที่เผยเมื่อกันยายนที่ผ่านมาว่าถูกกดดันให้ปิดร้านชั่วคราวทั้งหมด 5 สาขาในเกาะฮ่องกง
น่าเสียดายที่แบรนด์อื่นไม่เปิดเผยจำนวนร้านสาขาที่ปิดทำการชั่วคราว แต่สิ่งที่ชัดเจนคือทุกแบรนด์สูญเสียการขายอย่างชัดเจน เพราะการปิดห้าง 1 ต.ค. เกิดขึ้นในช่วงวันหยุดประจำปีซึ่งเรียกกันว่า Golden Week ที่ปกติจะเป็นช่วงเวลาที่คึกคักสุดขีดสำหรับผู้ค้าปลีกในฮ่องกง
นอกจากการปิดร้าน งานอีเวนท์ของแบรนด์ก็ต้องระงับด้วย หนึ่งในนั้นคือ Chanel ที่วางแผนจัดแสดงแฟชั่นโชว์วันที่ 6 พฤศจิกายนเพื่อนำเสนอคอลเลคชั่น “Cruise” ก็ตัดสินใจเลื่อนโดยหยอดคำหวานว่างานแสดงแฟชันจะเกิดขึ้นในอนาคต ในช่วงเวลาที่เหมาะสมกว่านี้
การสำรวจตลาดพบด้วยว่าแบรนด์กำลังหาทางเข้าถึงนักท่องเที่ยวชาวจีนผ่านแหล่งช้อปปิ้งอื่นแทนฮ่องกง นอกจากบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างญี่ปุ่น นักวิเคราะห์มองว่าเกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ เป็นพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากการถดถอยในตลาดฮ่องกง.
]]>พอล ชาน รัฐมนตรีการคลังแห่งฮ่องกง ออกมาเผยว่าสถานการณ์นักท่องเที่ยวที่มายังฮ่องกงหดหายไปถนัด คิดเป็นอัตราลดลงเกือบ 40%
ชาน เผยเมื่อวันอาทิตย์ (8 ก.ย.) ผ่านบล็อกของตน
แหล่งข่าวอุตสาหกรรมระบุว่า กลุ่มโรงแรมในบางเขต อัตราการเข้าพักร่วงไปถึงครึ่งหนึ่ง ราคาห้องพักตกลงไป 40 – 70%
จากข้อมูลการท่องเที่ยวฮ่องกงระบุ อัตรานักท่องเที่ยวที่มายังฮ่องกงในเดือนก.ค. ลดลงที่ 4.8% โดยนับเป็นการปรับตัวลงรายปีเป็นครั้งแรกนับจากเดือนม.ค. 2018 และเป็นอัตราลดลงอย่างมากที่สุดนับจากเดือนส.ค. 2016 ขณะที่ยอดค้าปลีกในเดือนก.ค. หดลงอย่างแย่ที่สุดนับจากเดือนก.พ. 2016
การค้าฮ่องกง ได้แก่ การส่งออกในเดือนก.ค. ตกลง 5.7% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่สินค้านำเข้าที่ส่งกลับออกไป (re-export value) ยังสหรัฐฯ ลดลง 15.2% จากปีก่อนหน้า.
]]>เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ รายงานว่า “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) และมหาเศรษฐีในประเทศไทย ได้ซื้อโฆษณาหน้าหนังสือพิมพ์ชั้นนำในฮ่องกง อาทิ โอเรียนทัล เดลี นิวส์, ชิงเต่า เดลี และหมิงเป้า ลงข้อความสื่อสารสาธารณะ เรียกร้องให้เกิดสันติภาพและความสงบบนท้องถนนในฮ่องกง
โดยเจ้าสัวธนินท์ ได้ซื้อโฆษณาในนามกิจการจีน “เจี๋ยก๊กมิน” ซึ่งซีพีจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงตั้งแต่ปี 2531 และเข้าไปถือหุ้นในบริษัทหลายแห่งที่จดทะเบียนในฮ่องกง รวมทั้งถือหุ้น 23.3% ในบริษัทประกันอันดับหนึ่งของจีน ผิงอัน อินชัวแรนซ์ กรุ๊ป
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม มหาเศรษฐีฮ่องกง ลี กาชิง ก็เพิ่งลงโฆษณา นสพ.หลายฉบับ “ไม่เอาความรุนแรง หยุดโกรธด้วยความรัก” อันเป็นการส่งสารแสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์ประท้วงฮ่องกงสู่สาธารณะครั้งแรก โดยลงโฆษณาหน้าแรกของหนังสือพิมพ์ชั้นนำในฮ่องกงหลายฉบับ เนื้อหาโฆษณาชิ้นนี้เรียกร้องให้ประชาชน “หยุดความโกรธด้วยความรัก” และ “หยุดความรุนแรง” โดยลงลายมือชื่อ “พลเมืองฮ่องกง ลี กาชิง” กำกับข้อความโฆษณา
ลี กาชิง อดีตประธาน CK Hutchison Holdings มิได้กล่าวถึงการสนับสนุนรัฐบาลหรือผู้นำสูงสุดแคร์รี ลัม ในข้อความโฆษณาของเขา ซึ่งมีเนื้อหามุ่งเพื่อเตือนสติถึงความรัก 6 ประการ คือ รักชาติจีน รักฮ่องกง รักตนเอง รักเสรีภาพ รักเห็นใจกัน และรักเคารพกฎหมาย
บริษัทการวิจัย Capital Economics ได้ทำรายงานเตือนเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 ส.ค. ว่า การประท้วงจะผลักฮ่องกงสู่ภาวะถดถอยและเสี่ยงต่อกระแสเงินทุนไหลออก ตลาดอสังหาริมทรัพย์ฮ่องกงซึ่งเป็นตลาดที่มูลค่าสูงสุดในโลกจะเสียหายอย่างหนัก.
]]>