เงินติดล้อ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 28 Apr 2021 13:13:03 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เปิดตำนาน “เงินติดล้อ” ปฏิวัติธุรกิจสินเชื่อห้องแถวสีเทาๆ สู่การกู้แบบโปร่งใส https://positioningmag.com/1329573 Wed, 28 Apr 2021 08:20:48 +0000 https://positioningmag.com/?p=1329573 พูดคุยกับ “ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล” หัวเรือใหญ่ของ “เงินติดล้อ” อีกหนึ่งบริษัทเนื้อหอมที่กำลังจะเข้า IPO ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เร็วๆ นี้ เป็นหนึ่งในธุรกิจสินเชื่อห้องแถว แต่สามารถเติบโตขยายเครือข่ายได้ทั่วประเทศ มีแผนที่ต้องการเปลี่ยนภาพลักษณ์ธุรกิจเงินกู้สีเทาๆ ให้เป็นธุรกิจสีขาวมีมาตรฐาน

จากสินเชื่อห้องแถว สู่เครือข่ายทั่วประเทศ

ในตอนนี้หลายคนคงคุ้นหูคุ้นตากับ “เงินติดล้อ” กันมากขึ้น จากแต่เดิมคุ้นจากโฆษณา แต่ตอนนี้กำลังจะเป็นหุ้นอีก 1 ตัวสุดฮอต เตรียมเทรดในตลาดหลักทรัพย์ช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อเป็นการทำความรู้จักกับเงินติดล้อเพิ่มเติม ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) จะมาเล่าถึงตำนาน และทิศทางต่อไปของเงินติดล้อ

เงินติดล้อเริ่มต้นเมื่อปี 2523 ทำธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถในจังหวัดเพชรบูรณ์ ในนาม บริษัท ศรีสวัสดิ์ เพชรบูรณ์ จำกัด จากนั้นในปี 2534 เริ่มขยายธุรกิจไปจังหวัดต่างๆ 130 สาขา ทั่วประเทศ และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ศรีสวัสดิ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (1991) จำกัด

ปี 2550 กลุ่ม AIG เข้าซื้อสินทรัพย์เครือข่ายสาขาจากบริษัท ศรีสวัสดิ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (1991) จำกัด และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ซีเอฟจี เซอร์วิส จำกัด และเมื่อปี 2552 ธนาคารกรุงศรีอยุธยาเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดจากกลุ่ม AIG ทำให้บริษัทฯ กลายเป็นบริษัทในเครือของธนาคาร

ปิยะศักดิ์ บอกว่า เงินติดล้อเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถเจ้าแรกมีเครือข่ายทั่วประเทศ ตอนที่มาศึกษาตลาดนี้ แต่เดิมเจอธุรกิจเฉพาะพื้นที่ หรือภูมิภาค เช่น ถ้าภาคเหนือจะเจอนิ่ม ซีเส็ง ตอนนั้นมี 400 สาขา ใน 8 จังหวัด ในภาคกลางเจอควิก ลีซซิ่ง

ในอดีตคนรู้จักสินเชื่อจำนำทะเบียนน้อยมาก คนไม่รู้ว่าถ้าเราเป็นเจ้าของมอเตอร์ไซค์ ถ้าเราผ่อนหมดแล้ว เราเอาทะเบียนมาจำนำของสินเชื่อได้ เงินติดล้อจึงทำให้อุตสาหกรรมนี้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เริ่มทำโฆษณาปี 2553 พูดถึงสินเชื่อจำนำทะเบียนมอเตอร์ไซค์ครั้งแรกของประเทศไทย ผลงาน “ต่อ ฟีโนมีน่า” ผลตอบรับดีมาก ทำให้มีคนเข้าคิวที่สาขาเยอะมาก

การปล่อยสินเชื่อทะเบียนรถจะอ้างอิงตามมูลค่าตัวรถ ปิยะศักดิ์บอกว่า แต่หลักการอย่าปล่อยวงเงินเกินมูลค่าทรัพย์สิน ไม่อย่างนั้นจะเกิดการขายรถขึ้นได้ เรายังอยากให้ลูกค้ามีหลักประกัน ผ่อนได้ และเอารถคืนไป ในอดีตมีการปล่อยวงเงิน 50% เช่น รถซื้อขายอยู่ที่ 100,000 บาท ให้สินเชื่อ 50,000 บาท แต่ตอนนี้ขึ้นอยู่แต่ละกรณี บางเคสให้ 85-100% เงินติดล้อสามารถปล่อยได้สูงสุด เพราะมีระบบจัดการความเสี่ยงสไตล์ธนาคาร

ปรับบรรยากาศเข้าท้องถิ่น

ปิยะศักดิ์ทำงานร่วมกับเงินติดล้อมา 13 ปี เกิดและเติบโตที่สหรัฐอเมริกา เป็นครอบครัวชนชั้นกลาง พ่อแม่ มีธุรกิจเล็กๆ จึงได้เรียนรู้การทำงานตั้งแต่วัยเด็ก จนพอถึงวัยที่จะเข้ามหาวิทยาลัย ไม่ได้เรียนในมหาวิทยาลัยที่ตั้งใจอะไร จึงย้ายมาที่ประเทศไทยเรียน ม.ธรรมศาสตร์ ภาคอินเตอร์

ตอนแรกที่มาอยู่ที่ไทยก็มีความคิดแบบอเมริกันชนมาก ต่อต้านทุกเรื่อง เพราะวัฒนธรรมไทยขัดแย้งกับสิ่งที่โตขึ้นมา แต่แล้วก็มีโอกาสได้เข้าทำงานพาร์ตไทม์เป็นล่ามที่บริษัททำวิจัยการตลาด มีลูกค้าต่างชาติที่ต้องการศึกษาผู้บริโภคในไทย เดินทางไปต่างจังหวัดเยอะ ไปนั่งในบ้านชาวบ้าน ดูว่าใช้สินค้าอะไร ทำให้ได้เห็นวัตนธรรมไทยต่างจังหวัด

หลังจากนั้นทำงานเป็นที่ปรึกษาที่บอสตัน คอนเซาติ้ง กรุ๊ป แล้วย้ายไป AIG ในช่วงก่อนวิกฤตแฮมเบอเกอร์ AIG อยากทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อ เลยตั้งทีมมาซื้อกิจการเงินติดล้อ จึงอยู่ในทีมที่ช่วยปิดดีลตั้งแต่ปี 2550 พอปี 2551 เริ่มทำด้านการตลาด และเป็น MD ในปี 2556

“มองย้อนกลับไปเหมือนสตอรี่ถูกสร้างมาให้ทำงานที่นี่ ตอนเป็นล่ามได้เห็นพฤติกรรมชาวบ้าน พอทำที่ปรึกษาทำ 2 โปรเจกต์ใหญ่ๆ คือธนาคาร และประกันรถยนต์ ผ่านมา 13 ปีมันเชื่อมโยงกันได้หมด ตอนแรกไม่ได้วางแผนด้วยซ้ำ”

ปิยะศักดิ์บอกว่า อยู่เงินติดล้อมา 13 ปี มีความยากตลอดเลย ปีแรกๆ พอเข้ามา ต้องโอนถ่ายมาจากท้องถิ่น การสร้างระบบให้ถูกต้องเป็นสิ่งท้าทายมาก แต่ก่อนธุรกิจนี้จะสีเทาๆ ออกดำ หลายแห่งจะตั้งใจไม่ให้คู่สัญญา หรือใบเสร็จ เพราะเวลามีปัญหาจะฟ้องไม่ได้ ร้องเรียนไม่ได้ แต่เราเข้ามาจะต้องทำให้ขาวให้ได้

การเปลี่ยนความคิดของทีมงานมาจากธนาคารก็ยาก ตีกันเองภายในระหว่างวิถีแบงก์ กับวิถีท้องถิ่น ต้องปรับบรรยากาศจากใส่สูทผูกไท คนแบงก์ก็จะมีวิธีการว่าถ้าไม่มีสเตทเมนต์เงินเดือน จะไม่ปล่อยสินเชื่อเด็ดขาด ก็ต้องปรับให้เข้ากันได้มากที่สุด

ทำสินเชื่อให้โปร่งใส มีเจตนาดี

อีกหนึ่งจุดที่ท้าทายที่สุดก็คือ “แบรนด์” ความสับสนของแบรนด์ ปิยะศักดิ์บอกว่า วันหนึ่งมาคิดว่าเราเป็นธุรกิจไม่มีจุดแข็ง ทำไมลูกค้าต้องมาห้องแถวนี้ พนักงานบอกไม่ได้ พนักงานคิดว่าจุดแตกต่างคือ เรามีแบงก์เป็นผู้ถือหุ้น เหมือนบอกว่าเราโดดเด่นเพราะพ่อแม่รวย แต่เราไม่ได้เก่ง เราต้องหาจุดเก่งของตัวเองให้ได้

จากนั้นมีวันหนึ่งได้ประชุมพนักงาน มีโจทย์ให้พนักงานว่าจะตอบคำถามนี้อย่างไร เลยนึกย้อนหลังไปว่าทำอะไรมาบ้าง จากการที่ศึกษาไมโครไฟแนนซ์ทั่วโลก ศึกษาพฤติกรรมคู่แข่ง ไปตกที่คำเดียว “เจตนา” ถ้าเรามีเจตนาที่ดี เราจะไปในทิศทางที่ดีกว่าเยอะ

ธุรกิจปล่อยสินเชื่อ ดูได้ว่าใครเจตนาดี หรือไม่ดี ตอนลูกค้าร้อนเงิน เราต้องเป็นที่พึ่งให้เขาได้ เคยไปดูคู่แข่งเจ้าหนึ่ง รถยนต์คันละแสนบาท ลูกค้าต้องการ 60,000 บาท คู่แข่งมองว่าเป็นการซื้อรถในราคาถูก ถ้าลูกค้าผ่อนได้ก็ดี เขาก็ได้ดอกเบี้ย แต่ผ่อนไม่ได้คือยึดรถ แล้วเอาไปขายต่อแสนนึง แล้วได้ส่วนต่าง 40,000 บาท

สิ่งที่เงินติดล้อทำมาตลอด ทำสิ่งที่ถูกต้อง คืนส่วนต่างให้ลูกค้า มีการประกาศค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ยบนเว็บไซต์ ทำให้เป็นมาตรฐาน แต่ก่อนค่าธรรมเนียมไม่มีมาตรฐาน พนักงานบางคนเก็บ 300 บาทก็ได้ ขาดโปร่งใส เรากำไรน้อยกว่าคู่แข่งมาตลอด เพราะทำสิ่งที่ถูก

“รถเป็นทรัพย์สินสำคัญของลูกค้า ไม่อันดับ 1 ก็อันดับ 2 พอปิดบัญชีจะคืนเล่มให้ลูกค้าภายใน 14 วัน บางเจ้ายื้อ คืนช้า ใช้เวลา 2-3 เดือน หวังลูกค้าเดือดร้อนแล้วกลับมาใหม่ เพราะถ้าคืนเล่มให้ลูกค้าเขาจะไปที่อื่นได้”

ลูกค้ากู้ เพราะไปลงทุน

พฤติกรรมลูกค้าที่มาใช้บริการขอสินเชื่อ จะพบว่าลูกค้าจะไม่มาใช้บริการ ถ้าไม่มีความจำเป็น จะต่างจากลูกค้าที่มีเงินเดือนประจำ ถ้าอยากได้มือถือก็สมัครบัตรเครดิต มันคือ การบริโภคเพื่อซื้อสินค้า แต่ลูกค้าของเงินติดล้อ ส่วนใหญ่จะใช้เพื่อ “การลงทุน” มากกว่า แต่ในปีที่แล้วช่วง COVID-19 ที่ลูกค้าต้องการหมุนเงิน ต้องการใข้เงินเพื่อการบริโภคบ้าง เช่น ลูกต้องเรียนผ่าน iPad หรือนำไปจ่ายค่าเช่า ก็จะมากู้เงิน

“ภาพรวมของธุรกิจสินเชื่อ ใครมีเครดิตก็เข้าถึงธนาคารได้ หลุดจากธนาคารก็ไปสถาบันอย่างอิออน หลุดจากนั้นมาที่สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ถ้าไม่มีรถเป็นประกัน สุดท้ายไปกู้นอกระบบ การติดตามหนี้เสียต่ำมาก อินไซต์คือ พอลูกค้าไปที่ไหนไม่ได้ และมีไม่กี่ที่ที่ให้เงิน ลูกค้าจะพยายามรักษาเครดิตตัวเอง ไม่ต้องการให้ทรัพย์สินโดนยึด ถ้าเราไม่ได้ปล่อยวงเงินสูงเกินไปก็ไม่ขาดทุน”

เงินติดล้อจึงต้องสร้างเครือข่ายให้ไปถึงลูกค้าทั่วประเทศ สาขาสินเชื่อทะเบียนรถจะแตกต่างจากธนาคาร โดยที่ธนาคารส่วนใหญ่จะมีสาขาในกรุงเทพฯ 40% และที่เหลืออยู่ตามหัวเมืองใหญ่ แต่สินเชื่อทะเบียนจะอยู่ตามชุมชน เข้าถึงคนมากกว่า

สินเชื่อห้องแถว เข้าถึงรากหญ้าได้ดีกว่าธนาคาร

ปิยะศักดิ์บอกว่า ความแตกต่างของธุรกิจสินเชื่อห้องแถว กับธนาคาร ชาวบ้านจะรู้สึกว่าเข้าถึงสินเชื่อห้องแถวได้ดีกว่า เพราะธนาคารจะสร้างตึก สร้างสาขาไว้ดูภูมิฐาน ชาวบ้านเลยรู้สึกมีช่องว่าง

“เคยทำผลสำรวจด้วยการเยี่ยมชาวบ้าน จะเห็นว่าชาวบ้านจะมีปฏิทิน มีวันที่วงเอาไว้ ซึ่งเป็นวันที่จะต้องไปธนาคาร เขาบอกว่าวันนี้ต้องแต่งตัวดีหน่อย เพราะเราทำธุรกรรมน้อย ไม่อยากให้เขามองไม่ดี ชาวบ้านมองว่าธนาคารเป็นบริการของคนมีเงินเก็บเยอะๆ มากกว่า” 

แต่เงินติดล้อสาขาเป็นห้องแถว เปิดแอร์ เปิดไฟ มีรองเท้าวางหน้าร้าน เป็นวัฒนธรรมที่เข้าถึงคนต่างจังหวัดได้มากกว่า ปัจจุบันมีสาขาในกรุงเทพฯ แค่ 15-20% และสาขาในต่างจังหวัด 75-80% ต่างจากธนาคารที่อยู่ในกทม. 40%

ปัจจุบันตลาดสินเชื่อมีทะเบียนเป็นประกันมีมูลค่า 3-4 แสนล้าน รวมทั้งทะเบียนบ้าน ที่ดิน รถยนต์ เงินติดล้อมูลค่า 50,000 ล้านบาท ส่วนแบ่งตลาด 10% แต่ถ้าสินเชื่อทะเบียนรถเป็นเบอร์หนึ่ง

โครงสร้างรถจดทะเบียนในไทย มอเตอร์ไซค์ 20 ล้านคัน รถยนต์ 17.5 ล้านคัน รถบรรทุก 1.5ล้านคัน ตลาดนี้ส่วนใหญ่จะนำรถมอเตอร์ไซค์มาจำนำ คิดเป็น 60% ของตลาด ส่วนคนมีรถยนต์จะเข้าถึงสินเชื่ออื่นๆ ได้มากกว่า

สำหรับเงินติดล้อมีสัดส่วนรายได้จากสินเชื่อทะเบียนรถ 92% ในแง่มูลค่ามีสัดส่วนจากรถเก๋ง/กระบะ 65% รถบรรทุก 23% และมอเตอร์ไซค์ 12% ถ้าในเชิงปริมาณจะเป็นรถมอเตอร์ไซค์ 55% รถเก๋ง/กระบะ 35% และรถบรรทุก 5-10%

โดยรถที่นิยมนำมาจำนำมากที่สุดได้แก่ มอเตอร์ไซค์ : ฮอนด้าเวฟ 100, รถกระบะ : อีซูซุ ส่วนรถเก๋ง : แคมรี่ และวีออส

ส่วนธุรกิจประกันตอนนี้มีสัดส่วนรายได้ 8% แต่มีการเติบโต 42%

สลัดภาพ “ศรีสวัสดิ์” สุดท้าทาย

“เพราะเราทำโฆษณาดีเกินไป คนถึงจำได้ และติดภาพศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ”

เมื่อปี 2561 เงินติดล้อได้แยกออกจากศรีสวัสดิ์ และได้ทำแคมเปญใหญ่ “เงินติดล้อ คือ เงินติดล้อ” เพื่อสร้างการรับรู้ และไม่ให้ลูกค้าสับสน แต่ยังคงต้องใช้ระยะเวลาอีกสักพัก เพราะลูกค้ายังคงจำสับสนแบรนด์กันอยู่

“เมื่อก่อนลูกค้า 3 ใน 4 ยังคิดว่าเป็นบริษัทเดียวกัน ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าในเมือง ในอดีตแยกไม่ออก เป็นห้องแถวติดๆ กัน ตอนนั้นเราออกโฆษณาเยอะ โฆษณาคงดีเกินไป แต่จุดที่เป็นปัญหาคือ เจอลูกค้าร้องเรียนเข้ามา แบบว่าเจอปัญหาอีกที่ แล้วมาโวยที่เรา ซึ่งไม่ใช่ลูกค้าเรา”

ปิยะศักดิ์เสริมว่า ที่ต้องทำการรับรู้ใหม่ ด้วยการตัดคำว่าศรีสวัสดิ์ออก เพราะเราอยากอยู่ระยะยาว อยากสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับพนักงาน นักลงทุน ลงทุนกับแบรนด์นี้ไปเยอะ ถ้าตัดความสับสนของแบรนด์ไปได้ จะมีโอกาสอีกเยอะ

ใช้ดาต้าในการขยายสาขา

ธุรกิจสินเชื่อห้องแถว จำเป็นต้องมีการขยายสาขาจำนวนมากเพื่อให้ครอบคลุมลูกค้าในระดับชุมชน เงินติดล้อจึงมีการขยายสาขาเพิ่มขึ้นทุกปี และใช้ดาต้าในการเลือกสาขา ได้สร้างโมเดลหนึ่งขึ้นมา ทั่วไปเวลาจะเปิดสาขาตรงไหน จะมีข้อมูลทั่วไปอย่างตัวเลขประชากร รถจดทะเบียน แต่สิ่งที่อยากรู้เพิ่มเติมว่าการเปิดใกล้โรงพยาบาล ปั๊มน้ำมัน ร้านทอง โรงรับจำนำ จะมีผลอะไรหรือไม่ และการเปิดใกล้ หรือไกลคู่แข่งกี่รัศมีถึงจะเหมาะสม

ปิยะศักดิ์ เล่าว่า สิ่งที่เราทำคือ ให้พนักงานในแต่ละเมืองขี่มอเตอร์ไซค์ตะเวนถ่ายรูปส่งมาให้ที่สำนักงานใหญ่ แต่ละรูปจะมีพิกัดอยู่ ก็จะปักหมุดไว้ แล้วมาวางบนแผนที่อีกที เอาไปเปรียบเทียบกับทราฟฟิกในสาขา ฐานลูกค้า สัดส่วนมอเตอร์ไซค์ รถกระบะ โมเดลนี้จะบอกได้ว่าควรจะเปิดที่ไหนบ้าง

ปัจจุบันมีทั้งหมด 1,100 สาขา ปีนี้ขยายไม่ต่ำกว่า 100-200 สาขา โมเดลบอกได้เปิดอีก 500 สาขา

ในเดือนพฤษภาคมเงินติดล้อจะติดนามสกุล “มหาชน” อย่างเต็มตัว เข้า IPO ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ใช้ชื่อว่า TIDLOR คาดว่าจะเข้าทำการซื้อขายวันแรกวันที่ 10 พฤษภาคม 2564 เคาะราคาที่ 36.50 บาทต่อหุ้น เสนอขายหุ้น รวมทั้งสิ้น 1,043,542,800 หุ้น (รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน) โดยมีมูลค่าเสนอขายรวมประมาณ 38,089 ล้านบาท

โดยการจัดสรรหุ้นเพิ่มเติมให้กับผู้จองซื้อรายย่อย รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 75,000,000 หุ้น หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 2,737 ล้านบาทที่ราคาเสนอขายสุดท้าย

เงินติดล้อวางเป้าหมายในการระดมทุนครั้งนี้เพื่อต้องการลดสัดส่วนหนี้ที่กู้จากตลาดเงินทุน ถ้าเทียบกับเจ้าอื่นสัดส่วนหนี้อาจจะสูงกว่าหน่อย เลยต้องการเอาเงินทุนเข้ามามากขึ้น เพราะปีที่แล้วเจอสภาพตลาดเงินทุนที่ทำงานไม่ปกติ

อีกทั้งยังต้องการลงทุนต่อเนื่อง จะเปิดอีก 400-500 สาขา จะลงทุนด้านดิจิทัล 200-300 ล้านต่อปี รวมถึงธุรกิจประกันต้องใช้เม็ดเงินอีกเยอะ ตอนนี้คนรู้จักเยอะว่าเงินติดล้อขายประกัน แต่มีแค่ 70% ถ้าคนรู้จักมากขึ้น ผลตอบแทนน่าจะดีขึ้น ปกติใช้งบลงทุนขยายสาขาเฉลี่ย 4-7 แสนต่อสาขา รวมถึงมองเป้าหมายในการเติบโต 20% ต่อปี

]]>
1329573
เปิดเเผน 3 ปี ‘กรุงศรี’ รุกอาเซียน ทุ่ม 8.5 พันล้านลงทุนดิจิทัล ดัน ‘เงินติดล้อ’ เข้าตลาดหุ้น https://positioningmag.com/1317776 Wed, 03 Feb 2021 13:11:30 +0000 https://positioningmag.com/?p=1317776 เเบงก์กรุงศรีประกาศแผนธุรกิจระยะกลาง 3 ปี รุกหนักลงทุนอาเซียน ไม่หวั่นความไม่เเน่นอนทางการเมือง ทุ่มงบดิจิทัล 8,000-8,500 ล้านบาทต่อปี ตั้งเป้าสินเชื่อโต 3-5% เน้นธุรกิจใหญ่ คุมหนี้เสียไม่เกิน 2.7% คงนโยบายตั้งสำรองสูง เดินหน้าส่ง ‘เงินติดล้อเข้า IPO ตลาดหุ้นไทย

กรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY ในเครือของมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) ประกาศแผนธุรกิจระยะกลางฉบับใหม่ปี 2564 – 2566

เซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BAY กล่าวถึง ทิศทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้ว่า การเติบโตยังคงชะลอตัว จากผลกระทบของการระบาด COVID-19 ระลอกใหม่ เเต่ก็ยังมีปัจจัยหนุนให้เติบโตได้ อย่าง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เเละการกระจายวัคซีน

ความท้าทายที่สุดของปีนี้ ยังคงเป็นเรื่อง COVID-19 คาดว่าในช่วงไตรมาส 2 กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ จะกลับมาเเละฟื้นตัวดีขึ้น

โดยแผนธุรกิจระยะกลางฉบับใหม่ดังกล่าว จะเน้นให้ความสำคัญกับการตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ดีขึ้น ควบคู่กับการเร่งสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในตลาดใหม่ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน ผ่านกลยุทธ์การขับเคลื่อนธุรกิจ 5 ประการได้เเก่

1) ปฏิรูปธุรกิจลูกค้ารายย่อยให้เป็นหนึ่งเดียว (One Retail Transformation) โดยอาศัยฐานข้อมูลลูกค้าขนาดใหญ่ของกรุงศรี เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เข้าถึงความต้องการเฉพาะตัวของลูกค้า

2) เสริมสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจด้านลูกค้าธุรกิจ (Commercial Business Enhancement) ผ่านการเร่งสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับห่วงโซ่ธุรกิจและการให้บริการข้ามกลุ่มลูกค้า

3) สร้างระบบนิเวศของกรุงศรีเองและการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจใหม่ (Ecosystem and Partnership) เพื่อขยายฐานลูกค้า

4) ขยายธุรกิจสู่ระดับภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Expansion) เปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ สำหรับกรุงศรีและลูกค้าในตลาดอาเซียน โดยตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้จากการลงทุนและการช่วยเหลือลูกค้าในการแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ในอาเซียน

5) การสร้างรายได้จากธุรกิจใหม่ (New Revenue Stream) โดยอาศัยความแข็งแกร่งและศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนาของกรุงศรีในการพัฒนานวัตกรรมโซลูชั่นใหม่ๆ

เซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ทุ่มงบดิจิทัล 8,000-8,500 ล้านบาทต่อปี

ซีอีโอกรุงศรี มองว่า การพัฒนาศักยภาพทางด้านดิจิทัล เป็นหัวใจสำคัญในการแสวงหาเทคโนโลยีใหม่เเละจะช่วยผลักดันกลยุทธ์ต่างๆ ให้ไปสู่เป้าหมาย เพราะต่อไป ‘องค์กรจะขับเคลื่อนด้วยข้อมูล’

ธนาคารจึงได้ตั้บงบประมาณในการลงทุนด้านไอที ราว 8,000-8,500 ล้านบาทต่อปี โดยส่วนใหญ่จะลงทุนในด้าน ‘Big Data’ พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) สร้างระบบนิเวศเทคโนโลยี และต่อยอดการเป็น ‘ดิจิทัลเเบงกิ้ง’ เพื่อขยายฐานลูกค้าไปยังตลาดต่างประเทศ

ตั้งเป้าสินเชื่อ 3-5% เน้นธุรกิจใหญ่

สำหรับเป้าหมายทางการเงินในปี 2564 กรุงศรีฯ หวังว่า การเติบโตของสินเชื่อจะอยู่ที่ระดับ 3-5% ซึ่งจะเน้นไปที่สินเชื่อของธุรกิจขนาดใหญ่ราว 5-6% และสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และรายย่อยอยู่ที่ 3-4%

ด้านต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 3.1-3.3% การเติบโตของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับเดียวกับปีที่ผ่านมา และจะพยายามควบคุมคุณภาพหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ให้ไม่เกิน 2.7%

ขณะที่การตั้ง ‘สำรองหนี้สงสัยจะสูญ’ ในปีนี้ กรุงศรียังใช้นโยบายการตั้งสำรองในระดับสูงเช่นเดิม เเต่ตัวเลขน่าจะต่ำลงเมื่อเทียบกับปีก่อน

ทั้งนี้ รายงานผลประกอบการในปี 2563 กรุงศรีมีกำไรสุทธิจำนวน 23,040 ล้านบาท ลดลง 14.5% เมื่อเทียบกับปี 2562 อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ 42.52% สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ 2% และอัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 175.12% ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนอยู่ที่ 19.10%

Photo : Shutterstock

ดันขาย IPO เงินติดล้อ 

สำหรับความคืบหน้าการเข้าตลาดหุ้นไทยของบริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ NTL ซึ่งเป็นกิจการร่วมค้าของธนาคารกรุงศรีที่ถือหุ้นอยู่ 50% และ Siam Asia Credit Access Ple Ltd (SACA) ถือหุ้นอยู่ 50%

ดวงดาว วงศ์พนิตกฤต ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านการเงิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า อยู่ระหว่างการดำเนินการออกและเสนอขายหุ้นต่อประชาชนครั้งแรก (IPO) และจะนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)

“ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการรอสำนักงาน ก.ล.ต. อนุมัติไฟลิ่ง คาดว่าจะใช้เวลาในการอนุมัติใน 6 เดือน ซึ่งภายหลังการอนุมัติ บริษัทจะดำเนินการภายในเวลาอีก 1 ปี ดังนั้นระยะเวลาปิดรายการแล้วเสร็จ น่าจะเห็นภายในสิ้นปีนี้ หรือกลางปี 2565” 

ด้าน ‘ราคา’ กำลังพิจารณาอยู่นั้น ยังไม่สามารถบอกได้ เพราะต้องดูความสนใจของตลาดเเละมหาชนเป็นหลัก โดยกรุงศรีจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเป็นไม่ต่ำกว่า 30%

รุกลงทุนอาเซียน ไม่หวั่นการเมือง ‘ไม่เเน่นอน’

สำหรับเศรษฐกิจในอาเซียนนั้น กรุงศรี ประเมินว่า จะมีการฟื้นตัวเร็ว เเละจะขยายตัวอย่างแข็งแกร่งกว่าภูมิภาคอื่น ด้วยอานิสงส์จากต่างประเทศ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ การลงทุนของภาครัฐ และการขยายเศรษฐกิจสู่ระดับภูมิภาค โดยมองว่าตลาดอาเซียนจะเติบโตสูง หลังวิกฤตโรคระบาด

ส่วนเศรษฐกิจโลก จะเริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่การระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ส่งผลให้ความเสี่ยงในภาคอุตสาหกรรมบริการเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ความแข็งแกร่งของภาคการผลิต ประกอบกับมาตรการต่างๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จะยังคงเป็นปัจจัยที่ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ

เมื่อถามว่า ความไม่เเน่นอนทางการเมืองในอาเซียน ส่งผลต่อการลงทุนของธนาคารหรือไม่นั้น ผู้บริหารกรุงศรีตอบว่า

“การลงทุนในประเทศ Emerging Market ย่อมหนีไม่พ้นเรื่องการเมืองที่ไม่เเน่นอน เเต่ไม่ได้ทำให้เป้าหมายใหญ่เปลี่ยนไป เพราะธนาคารเน้นมองในภาพใหญ่และเป็นเป้าหมายในระยะยาวมากกว่า ซึ่งตลาดอาเซียนมีเเนวโน้มเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไปเเละเป็นโอกาสสำคัญในการลงทุน” 

เเผนการขยายธุรกิจในอาเซียนของธนาคารกรุงศรีฯ

ในปีที่ผ่านมา กรุงศรีขยายฐานธุรกิจไปยังภูมิภาคอาเซียน เช่น การยกระดับ Hattha Kaksekar Ltd. บริษัทไมโครไฟแนนซ์เครือกรุงศรีในกัมพูชาขึ้นเป็นธนาคารพาณิชย์ Hattha Bank Plc. รวมถึงการเข้าซื้อหุ้น 50% ในบริษัท SB Finance Company, Inc. (SBF) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในเครือ Security Bank Corporation (SBC) หนึ่งในธนาคารชั้นนำของฟิลิปปินส์ การลงทุนและสร้างพันธมิตรทางธุรกิจกับ Grab

โดยจะเน้นไปที่ตลาด ‘สินเชื่อรายย่อย’ เพื่อเข้าถึงประชากรในอาเซียนที่มีจำนวนมาก ในยามที่คู่เเข่งยังไม่เยอะ

 

 

]]>
1317776
“เงินติดล้อ” สน “แบงกิ้ง เอเย่นต์” เดินเกมเขย่าองค์กร สร้างค่านิยม 7 ข้อ ปรับพนักงานให้ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจระยะยาว https://positioningmag.com/1230637 Mon, 20 May 2019 02:43:55 +0000 https://positioningmag.com/?p=1230637 การสร้างวัฒนธรรมองค์กร” ที่แข็งแกร่งมีความสำคัญเป็นอันดับแรก ในการหล่อหลอมคนซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ ให้สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีได้อย่างทันการณ์ เพราะไม่ว่าจะธุรกิจจะลงทุนด้านเทคโนโลยีด้วยเงินจำนวนมากเพียงใด หากแต่พนักงานไม่พร้อมเรียนรู้ ทดลอง นำมาใช้ การขับเคลื่อนคงไม่ใช่เรื่องง่าย

ดังนั้นเมื่อ 3 ปีก่อน เงินติดล้อ ที่อยู่ในธุรกิจสินเชื่อรถยนต์จึงเชื่อว่าการบินตรงไปอเมริกาเพื่อศึกษา know-how จาก Zappos ที่ประสบความสำเร็จในการใช้วัฒนธรรมขับเคลื่อนองค์กร จนกลายเป็นเว็บไซต์ขายรองเท้าออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ก่อนจะใช้เวลาอีก 1 ปีในการกำหนดวิสัยทัศน์และพันธกิจ ที่เรียกว่า ‘Why’ and ‘How’ รวมถึงค่านิยมองค์กร 7 ข้อ ทั้งหมดนี้ถูกนำมาปรับใช้กับพนักงานกว่า 5,000 คน โดยเริ่มจากการให้ผู้บริหารทำเป็นตัวอย่าง ก่อนจะนำไปสู่พนักงานในระดับถัดมา ตั้งแต่สรรหาพนักงาน การประเมินงาน ไปจนถึงการปรับบทลงโทษ

ขณะเดียวกันได้มีการนำแนวคิดการทำงาน agile รวมทั้ง scrum มาใช้ รวมไปถึงได้ออกแบบพื้นที่ทำงานของสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ให้พี้นที่ส่วนกลางคิดเป็น 30% นอกจากนี้แล้วยังมีสวัดดิการใหม่ๆ ให้กับพนักงานทั้งทุนเรียนต่อระดับปริญญาโท การส่งไปศึกษาดูงานในต่างประเทศ รวมไปถึงสินเชื่อช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน

อาฑิตยา พูนวัตถุ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล และฝ่ายนายหน้าประกันภัย บริษัท เงินติดล้อ จำกัด อธิบายว่า เดิมตอนที่ยังไม่ได้สร้างวัฒนธรรมองค์กรอย่างเป็นจริงเป็นจัง มีบ้างที่พนักงานมองลูกค้าไม่มีทางเลือก จึงไม่ได้อธิบายข้อมูลและดูแลเท่าที่ควร แต่ตอนนี้พนักงงานก็จะเข้าใจถึงองค์กร ก็กระตือรือร้นดูแลลูกค้าเป็นทางดี

ในส่วนของธุรกิจเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Siam Asia Credit Access PTE LTD ซึ่งถือหุ้นโดยกองทุน CVC Capital Partners Asia Fund IV (CVC) และ Equity Patners Limited (EPL) ได้เข้ามาถือหุ้น 50% โดยซื้อต่อจากธนาคารกรุงศรี

การเข้ามาของผู้ถือหุ้นใหม่เงินติดล้อระบุว่า ไม่ได้เข้ามากำหนดทิศทางในการบริการ เพราะเห็นว่าทิศทางในปัจุบันดำเนินไปในทางที่ดีอยู่แล้ว แต่ถือเป็นเรื่องดีมากกว่า เพราะผู้ถือหุ่นใหม่มีการทำธุรกิจที่คล้ายๆ กันในเอเชีย ซึ่งสามารถนำ know-how เทคโนโลยีต่างๆ มาปรับใช้ได้

ปิยะศักดิ์ อุกฤษฏ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเงินติดล้อจำกัด กล่าวว่า  สิ้นปี 2018 เงินติดล้อมียอดสินเชื่อคงค้าง 39,713 ล้านบาท โดยสามารถแบ่งสัดส่วนสินเชื่อ 2 รูปแบบ คือคิดจากมูลค่าจำนวนเงินพอร์ตสินเชื่อหลักประกอบด้วย สินเชื่อทะเบียนรถยนต์และรถกระบะคิดเป็นสัดส่วน 63% สินเชื่อทะเบียนรถสิบล้อรถแทรกเตอร์คิดเป็น 20% และสินเชื่อทะเบียนรถจักรยานยนต์คิดเป็น 9% 

หากคิดจากจำนวนทะเบียนรถ สินเชื่อทะเบียนรถจักรยานยนต์จะมีสัดส่วนเป็น 58% ของจำนวนลูกค้าทั้งหมด ซึ่งฐานลูกค้าหลักเป็นกลุ่มที่มีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท มีจำนวนบัญชีลูกค้า 450,000 บัญชี

สำหรับในปีนี้ตั้งเป้าเติบโตสินเชื่อ 6% คิดเป็นยอดสินเชื่อใหม่ 35,000 ล้านบาท บัญชีเพิ่มเป็น 560,000 บัญชี ตั้งเป้าเปิดสาขาเพิ่ม 187 สาขา ส่งผลให้จำนวนสาขาเพิ่มเป็น 1,000 สาขา  สิ้นปีนี้ โดยจะขยายในกรุงเทพและภาคใต้ หลัง 2 ปีก่อนเน้นขยายในภาคเหนือและภาคอีสาน

ด้านธุรกิจประกันรถยนต์ตั้งเป้าหมายเติบโต 25-30% หรือคิดเป็นเม็ดเงิน 2,700 ล้านบาท จากปีก่อนที่ 1,700 ล้านบาท มีลูกค้าประมาณ 200,000 กรมธรรม์ ทั้งประกันรถยนต์อุบัติเหตุส่วนบุคคล จากเบี้ยประกันทั้งระบบที่ 1.2 แสนล้านบาท

เรื่อง Banking Agent ที่กำลังได้รับความสนใจจากแวดวงธนาคาร ซึ่งเงินติดล้อเองก็มีผู้ถือหุ้นเป็นธนาคารเช่นเดียวกัน กำลังอยู่ในระหว่างศึกษาความเป็นไปได้และความเสี่ยงอยู่ ด้วยเรายังไม่เคยรับฝากเงินสด แต่จริงๆ ก็ไม่ยากหากเราจะทำ แต่ต้องขอดูทิศทางก่อน

]]>
1230637
ปลดล็อก “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” ขอปิดฉากแบรนด์เก่า รีแบรนด์ใหม่ เหลือแค่ “เงินติดล้อ” https://positioningmag.com/1163305 Mon, 26 Mar 2018 10:45:25 +0000 https://positioningmag.com/?p=1163305 นับเป็นการเปลี่บนแปลงเกมการตลาดครั้งใหญ่! ของ “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” ธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถและโบรกกอร์ประกันวินาศภัยในเครือธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ที่ต้องลงมือ “รีแบรนด์” ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ ตัดคำว่า “ศรีสวัสดิ์” ให้เหลือเพียง “เงินติดล้อ” เท่านั้น

สาเหตุของการลุกมารีแบรนด์ครั้งใหญ่ เกิดจากผู้บริโภค “มีความสับสนในแบรนด์” ของศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ และเข้าใจผิด กับบริษัทอีกแห่งที่ให้บริการสินเชื่อบ้าน รถที่ดินแบรนด์ “ศรีสวัสดิ์ เงินสดทันใจ”

ที่มาของเรื่องนี้ มาจากธนาคารกรุงศรีฯ เข้าซื้อกิจการ “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” จากกลุ่มบริษัท “เอไอจี” หรือ อเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนล กรุ๊ป กลุ่มธุรกิจประกันและผู้ให้บริการทางการเงินยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกัน และธุรกิจเข้ามาอยู่ในอาณาจักรแบงก์เมื่อปี 2554

แต่จากการสำรวจ กลุ่มตัวอย่างผู้ใช้สินเชื่อทะเบียนรถยนต์ทั่วประเทศจำนวน 57% พบว่า ยังมีเข้าใจผิดคิดว่าเงินติดล้อมีความเกี่ยวข้องหรือเป็นบริษัทเดียวกับผู้ให้บริการสินเชื่อรายอื่นที่ใช้ชื่อเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายบริการของบริษัทฯ 

หลังจากนั้นในปี 2560 บริษัท เงินติดล้อทุ่มงบประมาณด้านการสื่อสาร เพื่อทำการปรับโฉมแบรนด์ (Rebranding) ปรับเปลี่ยนสัญลักษณ์ของแบรนด์เงินติดล้อ ลดขนาดคำว่า “ศรีสวัสดิ์ให้เล็กลง” เปลี่ยนตำแหน่ง “โลโก้” ให้อยู่ด้านล่าง เพิ่ม “ไอคอนใหม่” มาจากรูปแบบธนบัตร 2 ใบกำลังหมุน สื่อถึงแนวคิด ความน่าเชื่อถือ รวดเร็ว และโปร่งใส เป็นแสงแห่งความหวังที่ช่วยแก้ปัญหาทางการเงินให้กับลูกค้า พร้อมกับสโลแกนใหม่ “ชีวิตหมุนต่อได้”

แต่ก็ยังสร้าง “ความสับสน” ให้กับลูกค้าและประชาชนส่วนใหญ่เรียกแบรนด์เงินติดล้อว่า “ศรีสวัสดิ์” เห็นได้จากผลสำรวจในปี 2560 พบผู้ใช้สินเชื่อทะเบียนรถถึง 24% ยังมีความเข้าใจผิดด้านแบรนด์ และจากสถิติยังพบว่ามี “กลุ่มลูกค้า” ของ “บริษัทสินเชื่อรายอื่น” ที่ใช้ชื่อเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายบริการของบริษัทฯ เข้าใจผิดติดต่อเข้ามาที่ Call Center เงินติดล้อ จำนวน 400-500 คนต่อเดือน และยังมีผู้เข้าใจผิดเข้ามาติดต่อที่เงินติดล้อเฉลี่ยทุกสาขาทั่วประเทศมากกว่า 1,000 คนต่อเดือน

จึงเป็นที่มาของการปรับแบรนด์ครั้งใหญ่ (Rebranding) ครั้งใหญ่ โดยตัดคำว่า “ศรีสวัสดิ์” ออกจากแบรนด์ โดยปรับโลโก้เหลือเพียงคำว่าเงินติดล้อ และไอคอนสัญลักษณ์รูปเงินหมุน พร้อมกับออกแคมเปญภาพยนตร์โฆษณาชุด “ขอโทษ” เพื่อแก้ปัญหาความเข้าใจผิดให้กับกลุ่มลูกค้าพร้อมกับตอกย้ำสร้างการรับรู้ด้านแบรนด์ “เงินติดล้อ” อีกด้วย

ที่ผ่านมา บริษัทฯ ต้องควักงบการตลาดไม่ต่ำกว่า 1,300 ล้านบาท ใช้สื่อสารการตลาด (Marketing Communications) เพื่อสร้างการรับรู้ด้านแบรนด์ (Brand Awareness) ไม่ว่าจะเป็นแคมเปญภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ สื่อป้ายโฆษณากลางแจ้ง กิจกรรมส่งเสริมการตลาด สื่อสาขา และ ไลน์ และยังต้องมีหน้าเว็บไซต์ไว้ปัญหาแก้ความสับสนด้านแบรนด์มากมาย พร้อมตั้มรายการให้ค้นหา “อย่าสับสน” เรียงคู่กับสินค้าและบริการทางการเงินด้วย

กิจกรรมเหล่านั้นส่งผลให้การรับรู้ด้านแบรนด์เงินติดล้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากเดิม 20% เพิ่มขึ้นเป็น 95% และจากการสำรวจกลุ่มลูกค้าและผู้ใช้บริการสินเชื่อทะเบียนรถยนต์ พบว่าแบรนด์ “เงินติดล้อ” เป็นแบรนด์อันดับ 1 ที่ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าด้วย

ถึงแม้จะตัดคำว่าศรีสวัสดิ์ออกจากแบรนด์แล้วก็ตาม แต่ยังคงเป็นเจ้าของและสามารถใช้ชื่อทางการค้าและเครื่องหมายบริการ ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” ซึ่งได้รับการจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่การใช้แบรนด์ “เงินติดล้อ” เป็นประโยชน์ที่กลุ่มลูกค้าจะได้รับความสะดวกในการพิจารณาเลือกรับบริการสินเชื่อทะเบียนรถทุกประเภท หรือผลิตภัณฑ์ประกันวินาศภัยจากบริษัทชัดเจนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ที่มาของความสับสนชื่อแบรนด์ “ศรีสวัสดิ์” เกิดจาก “ผู้บุกเบิกแบรนด์คือตระกูล “แก้วบุญตา” โดยมี “เสี่ยฉัตรชัย แก้วบุญตา” เจ้าของธุรกิจอู่ซ่อมรถในจังหวัดเพชรบูรณ์ที่มีเครือข่าย “ลูกค้า” ในมือที่นำรถยนต์มาใช้บริการที่อู่ประจำ และมักเจอปัญหาการขอกู้เงินจากธนาคาร จึงเห็นโอกาสและเปิดธุรกิจปล่อยเงินกู้ด้วยวิธีจำนำทะเบียนรถเป็นหลักประกัน

ส่วนแบรนด์ “ศรีสวัสดิ์” เสี่ยฉัตรชัยได้มานั้น ชื่อมารดา “ศรีสวัสดิ์ แก้วบุญตา” มาตั้ง พร้อมขยายสาขาไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ จนเป็น “เบอร์ 1” ในตลาดสินเชื่อรถแลกเงิน

เมื่อธุรกิจโตจนเตะตา! ธุรกิจประกันและผู้ให้บริการทางการเงินยักษ์ใหญ่อเมริกันอย่าง “เอไอจี” หรือ อเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนล กรุ๊ป ในเครือของเอไอเอ มาขอเจรจาร่วมทุนกับกลุ่มศรีสวัสดิ์และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ซีเอฟจี เซอร์วิส จำกัด สร้างแบรนด์ทางการค้า “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” ทำตลาดทั่วประเทศ

กระทั่งปี 2552 เกิดวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐฯ หรือแฮมเบอร์เกอร์ไครซิส กระทบธุรกิจเอไอจีจนขาดสภาพคล่อง จึงต้องตัดขายธุรกิจที่ไม่ใช่ Core Business ออกไป รวมถึง “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” และธนาคารกรุงศรีอยุธยาที่ขณะนั้นกลุ่ม “จีอี แคปปิตอล อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้งคอร์ปอเรชั่น” (GECIH) ถือหุ้นใหญ่เข้ามาซื้อกิจการต่อ 100% ตระกูล “แก้วบุญตา” พยายามเจรจาซื้อธุรกิจและแบรนด์กลับคืนจากเอไอจีเช่นกัน แต่ไม่สำเร็จ

เมื่อซื้อคืนไม่ได้ ก็สร้างเองซะเลย! ด้วยการตั้งบริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 เข้ามาทำธุรกิจรับจ้างเก็บหนี้และบริการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถส่ง “ศรีสวัสดิ์ เงินสดทันใจ” มีสโลแกน “มีบ้าน มีรถ เงินสดทันใจ” เพื่อเข้าแข่งและทวงคืนฐานลูกค้า สร้างอาณาจักรเติบโตอย่างรวดเร็ว พร้อมจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

การใช้ชื่อ “ศรีสวัสดิ์” เป็นตัวเดินเกมเช่นเดียวกับธนาคารกรุงศรีฯ จึงทำให้ลูกค้าเกิดความสับสน! และกลายเป็นชนวนเหตุแห่งการฟ้องร้องกันในที่สุด เมื่อกลุ่มจีอีฯ ยื่นฟ้องต่อศาลบังคับให้บริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ฯ ยกเลิกการใช้แบรนด์ “ศรีสวัสดิ์” ทำตลาด ทว่าสุดท้าย ศาลไม่ได้มีคำสั่งตามคำร้องขอของธนาคารกรุงศรีอยุธยา โดยให้เหตุผลว่า ชื่อ “ศรีสวัสดิ์” เป็นชื่ออำเภอในจังหวัดกาญจนบุรี และเป็นชื่อทั่วไปที่สามารถนำมาจดจัดตั้งบริษัทได้ ขณะที่ตัวแบรนด์มีความแตกต่างกัน เนื่องจากกลุ่มศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ฯ ไม่ได้หยิบคำว่า “ศรีสวัสดิ์” เข้ามาอยู่ในโลโก้และแบรนด์

ปัจจุบัน “เงินติดล้อ” มีสาขาให้บริการสินค้าและประกันวินาศภัยกว่า 600 สาขาทั่วประเทศ ขณะที่ “ศรีสวัสดิ์ เงินสดทันใจ” มีสาขาให้บริการกว่า 2,400 สาขาทั่วประเทศ ในปี 2559 เงินติดล้อมีรายได้รวมกว่า 4,700 ล้านบาท ขณะที่กลุ่มศรีสวัสด์มีรายได้รวม 5,000 ล้านบาท.

]]>
1163305