จับอินไซต์พฤติกรรมรูดบัตรเครดิต “กรุงศรี” หลัง COVID-19 กำลังซื้อลด ระวังหนี้เสีย “เรื้อรัง” 

ธุรกิจบัตรเครดิตสินเชื่อเจองานหินจากผลกระทบของ COVID-19 ฉุดยอดใช้จ่ายผ่านบัตรร่วง ตลาดรวมฟื้นบ้างเเต่ยังติดลบผู้คนระมัดระวังการใช้จ่าย มนุษย์เงินเดือนรู้สึกไม่มั่นคงต้องจับตาหนี้เสียที่อาจเกิดขึ้น

เรามาดูกันว่า พฤติกรรมของผู้ใช้บัตรเครดิต หลังวิกฤต COVID-19 ได้เปลี่ยนเเปลงไปอย่างไร

กรุงศรี คอนซูมเมอร์’ ผู้ให้บริการบัตรเครดิตเเละสินเชื่อส่วนบุคคลรายใหญ่ ที่มีฐานลูกค้าทั่วไทยกว่า 8-9 ล้านคน ยอมรับว่า ปี 2563 ลูกค้าสมัครบัตรใหม่จะลดลงถึง 44% 

ณญาณี เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ บอกว่า จากผลกระทบโรคระบาดเเละมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลกระทบ ‘โดยตรง’ กับยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเเละธุรกิจสินเชื่อ อย่างต่อเนื่องเเละในปี 2564 ก็ยังหนักหนาอยู่

ภาพรวมการใช้จ่ายผ่านบัตรจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า 8 เดือนแรกของปีนี้ ตลาดรวมหดตัวที่ -12%

สำหรับไตรมาส 3/63 ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ อยู่ที่ 196,000 ล้านบาท ขณะที่ยอดสินเชื่อปล่อยใหม่อยู่ที่ 58,000 ล้านบาท สินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 133,000 ล้านบาทติดลบเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อนหน้า

โดยไตรมาส 4/63 คาดว่า ภาพรวมของธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบัตรจะปรับตัวดีขึ้นราว 25% จากไตรมาส 3/63 ถ้าเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จะติดลบราว 7-8% เพราะผลกระทบทางเศรษฐกิจยังเรื้อรัง

ส่วนคาดการณ์ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ในไตรมาสที่ 4 มองว่าจะเติบโต 20% เทียบกับในไตรมาสที่ 3 และคาดว่าตลอดทั้งปี 2563 จะมียอดใช้จ่ายผ่านบัตร 280,000 ล้านบาท ยอดสินเชื่อใหม่ 83,000 ล้านบาท และยอดสินเชื่อคงค้าง 144,000 ล้านบาท…เเม้จะปรับตัวดีขึ้น เเต่ยังต้องระวังในปัจจัยหลายประการ 

คนไทยใช้บัตรเครดิตอย่างไร หลังวิกฤต COVID-19 ?

การใช้จ่ายของผู้บริโภค จะยังไม่กลับมาในระดับเทียบเท่ากับปีที่แล้ว แต่ก็เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น

จากข้อมูลการวิเคราะห์พฤติกรรมใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและบัตรสินเชื่อในเครือกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงกันยายน 2563 ชี้ให้เห็นว่า วิกฤต COVID-19 ที่เกิดขึ้นส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ทุกวัยเริ่มคุ้นชินกับความสะดวกสบายที่ได้จากบริการออนไลน์ แม้คลายล็อกดาวน์แล้ว บริการเหล่านี้ก็ยังเป็นที่นิยม เช่น หมวดช้อปออนไลน์, สินค้าตกแต่งบ้าน, บริการสั่งอาหาร, สตรีมมิ่งและบันเทิงออนไลน์

ขณะที่บางหมวดหลังคลายล็อกดาวน์ ก็เริ่มมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เช่น หมวดโรงแรมในประเทศ, หมวดร้านอาหาร, ห้างสรรพสินค้า, แฟชั่น, ความงามและเครื่องสำอาง

“หมวดที่ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ยังมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา คือ หมวดประกันภัย และซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ยังคงเป็นหมวดใช้จ่ายผ่านบัตรที่สูงที่สุดเป็นอันดับ 1 และ 2 ตามลำดับ”

โดยมีพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้ถือบัตรเครดิต ที่น่าสนใจ ดังนี้

ยอดใช้จ่ายในหมวดช้อปปิ้งออนไลน์ยังคงเติบโตต่อเนื่อง แต่เริ่มมีแนวโน้มช้าลง

ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ยอดใช้จ่ายออนไลน์เติบโตกว่าปีที่แล้วกว่า 150% แต่หลังเดือนพฤษภาคม เติบโตเพียง 75% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยลูกค้าทุกวัย ยังคงมีแนวโน้มใช้จ่ายในหมวดช้อปปิ้งออนไลน์เพิ่มขึ้น

  • หมวดสินค้าตกแต่งบ้าน ช่วงล็อกดาวน์ ลูกค้าซื้อสินค้าหมวดสินค้าตกแต่งบ้าน ผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นถึง 6 เท่าตัว และหลังปลดล็อก ยอดขายหน้าร้านก็เพิ่มสูงขึ้นมาก แสดงถึงความสนใจในการตกแต่งบ้านที่เพิ่มขึ้น
  • ยอดใช้จ่ายในหมวดบริการสั่งอาหาร (Food Delivery) ยังคงเติบโตต่อเนื่อง เติบโตขึ้นกว่าในช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 3 เท่าตัว
  • หมวดบริการสตรีมมิ่งและความบันเทิงออนไลน์ เติบโตสูง แม้หลังช่วงคลายล็อกดาวน์ โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Y 
  • หมวดความบันเทิง เช่น ธุรกิจโรงหนัง ยังคงซบเซา แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มหันมาใช้บริการสตรีมมิ่งและความบันเทิงออนไลน์มากขึ้น

shopping online

หมวดโรงแรมในประเทศ  ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า แฟชั่น ความงามและเครื่องสำอาง มีสัญญาณที่ดีขึ้นหลังคลายล็อกดาวน์

  • ท่องเที่ยวในประเทศ “เริ่มฟื้น”

ยอดจองโรงแรมในเดือนสิงหาคมถึงกันยายน มีแนวโน้มสูงขึ้น คาดว่าเป็นผลจากความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค รวมถึงมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวจากภาครัฐ

“ยอดจองตั๋วเครื่องบิน ยอดใช้จ่ายในหมวดตัวแทนท่องเที่ยว โดยรวมส่วนใหญ่ยังซบเซา ยกเว้นตัวแทนท่องเที่ยวที่เป็นพันธมิตรหลักในโครงการเราเที่ยวด้วยกันของรัฐ และยอดจองตรงกับโรงแรม ซึ่งมียอดสูงขึ้น” 

นอกจากนี้ ยอดใช้จ่ายในหมวด “บริการเช่ารถ” ยังเติบโตขึ้น แสดงถึงความนิยมในการเดินทางท่องเที่ยวแบบส่วนตัวมากขึ้น

  • คนเริ่มกลับมารับประทานอาหาร “ที่ร้าน” มากขึ้น

แม้ว่ายอดใช้จ่ายในหมวดร้านอาหาร จะยังไม่กลับมาในระดับที่เทียบเท่ากับปีที่แล้ว แต่ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ยอดใช้จ่ายในแต่ละครั้ง สูงขึ้นกว่าช่วงล็อกดาวน์ ถึง 64% ยอดใช้จ่ายในหมวดนี้ในช่วงหลัง 2 ทุ่ม ก็กลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยเฉพาะในคืนวันศุกร์ แสดงให้เห็นว่า คนเริ่มกลับมารับประทานอาหารที่ร้านมากขึ้น

  • หลังคลายล็อคดาวน์ คนเริ่มกลับเข้าห้าง ในเดือนสิงหาคม 2563 ยอดใช้จ่ายในหมวดห้างสรรพสินค้าสูงกว่ายอดในเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา 3% ก่อนจะลดลงในช่วงเดือนกันยายน
  • ยอดใช้จ่ายสินค้าแฟชั่น เริ่มกลับมากระเตื้องขึ้น ที่น่าสนใจคือ ยอดใช้จ่ายในการซื้อสินค้าแบรนด์หรูเติบโตสูงกว่าแบรนด์ระดับกลาง แสดงว่าผู้บริโภคส่วนหนึ่งยังคงมีกำลังซื้อ และใช้จ่ายต่อเนื่อง
  • หมวดความงามและเครื่องสำอาง กลับมากระเตื้องขึ้นหลังคลายล็อกดาวน์ โดยยอดใช้จ่ายในหมวดสินค้าประเภทสกินแคร์ เติบโตสูงกว่าสินค้าประเภทเครื่องสำอาง
ท่องเที่ยว ประเทศไทย
Photo : Shutterstock

ลูกค้าบัตรใหม่จะหายไปถึง 44% 

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตร “เฉลี่ยต่อคน” ยังไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก แต่จำนวนคนที่ใช้จ่ายกลับลดลง ความเสี่ยงหนี้เสียยังไม่เเน่นอน ทำให้บริษัทต้องระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อใหม่ โดยคาดว่าปีนี้จำนวนลูกค้าสมัครใหม่จะอยู่ที่ 500,000 ใบ ลดลงถึง 44% จากปีก่อน

“โดยรวมทุกบัตรเครดิตของกรุงศรีฯ ลูกค้ายังเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้ออยู่ เเต่บัตรกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ (Krungsri First Choice) จะได้รับผลกระทบหนักที่สุด เพราะลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มฐานราก กลุ่มพนักงานที่อาจะโดนลดเงินเดือน หรือลูกค้าผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19”

เมื่อมีความเสี่ยงหนี้เสียเพิ่มขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจ เเละลูกค้าบัตรใหม่ “ลดลง” กลยุทธ์จึงเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าที่มีความสามารถในการใช้จ่ายและชำระหนี้ มีการคัดกรองที่เข้มงวดมากขึ้น เเละพัฒนาการเข้าถึงผ่านช่องทางออนไลน์ เเละหากลุ่มลูกค้าใหม่ อย่างล่าสุดกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ได้จับมือกับ Grab เพื่อปล่อยสินเชื่อให้กับไรเดอร์ (คนขับ) บนเเพลตฟอร์ม ฯลฯ

ด้านแอปพลิเคชัน UChoose ของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ปัจจุบันมีผู้ใช้งาน 5.3 ล้านบัญชี จากฐานลูกค้าทั้งหมดที่มีอยู่ 8-9 ล้านบัญชี พร้อมมีการพัฒนา “AI มะนาว” เพื่อให้บริการตอบคำถามเบื้องต้นกับลูกค้า

ต้นปี 64 จับตาหนี้เสีย “เรื้อรัง” 

สำหรับสถานการณ์หนี้เสีย หรือ NPL ของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ในช่วงไตรมาส 3/63 อยู่ที่ 2.25% เพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปีที่เพิ่งมีการเเพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ 2.14% ซึ่งคาดว่าทั้งปี 2563 คงจะไม่เกิน 2.25% โดยอัตราหนี้เสียของบัตรต่างๆ จะเผยยอดให้เห็นชัดในไตรมาส 1/64

ที่ผ่านมา มีลูกค้ากรุงศรี คอนซูมเมอร์ ใช้มาตรการพักชำระหนี้จากวิกฤต COVID-19 อยู่ราว 1 ล้านคน ซึ่งบริษัทได้มีมาตรการช่วยเหลืออย่าง การลดอัตราดอกเบี้ย โดยโครงการรีไฟแนนซ์เพื่อยืดการผ่อนชำระ มีลูกค้าเข้าร่วม ราว 93,000 บัญชี มูลค่ารวม 4 พันล้านบาท

ลูกค้ากลุ่มดังกล่าว ยังมีความไม่เเน่นอนที่ต้องจับตา เพราะหากช่วงปลายปียังไม่สามารถชำระหนี้ได้ ก็สามารถเข้าสู่กระบวนการขอปรับโครงสร้างหนี้ (TDR) ได้ โดยจะให้ระยะเวลาในการผ่อนชำระหนี้สูงสุด 96 เดือน (8 ปี) ปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมที่อยู่ราว 48 เดือน ทั้งนี้ ปัจจุบันกรุงศรี คอนซูมเมอร์มีมีลูกค้าเข้าโครงการ TDR จำนวน 32,400 ราย คิดเป็นยอดสินเชื่อคงค้าง 2,500 ล้านบาท

เเม่ทัพคนใหม่ ในบ้านหลังเดิม

ณญาณี ให้สัมภาษณ์ถึงความรู้สึกเเละก้าวต่อไป หลังขึ้นมารับตำเเหน่งคุมบังเหียนใหญ่ในกรุงศรี คอนซูมเมอร์ เเทน “ฐากร ปิยะพันธ์” ที่กระโดดไปนั่งเก้าอี้ CEO บมจ.เครือไทย โฮลดิ้งส์ เมื่อช่วงที่ผ่านมาว่า “เป็นความท้าทายที่อบอุ่น” ด้วยความที่เติบโตในบ้านกรุงศรีฯ มานาน เเม้จะมารับตำเเหน่งในช่วงวิกฤต COVID-19 ที่สะเทือนธุรกิจ เเต่การมีทีมงานที่เข้าใจกันเเละเชื่อใจกัน รู้จักกันมานานทำให้มีกำลังใจฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ

“มั่นใจว่าเราจะเติบโตไปได้อีก อยู่ในครอบครัวเดิม เป็นคนเดิม เเต่ต้องทำหน้าที่เพิ่มขึ้น”

ณญาณี เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์

ส่วนการเข้ามาในช่วงวิกฤต COVID-19 ก็มีส่วนช่วยให้ต้องมีการปรับองค์กรเร็วขึ้น ปรับกลยุทธ์การทำงานให้เป็นดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งตอนนี้กำลังวางเเผนอยู่ ปีหน้าคงจะมีการปรับการทำงานของพนักงานเเบบเต็มสูบ เรียกว่าเป็นการ “ปรับรูปแบบการทำงานใหม่” ให้เข้ากับสถานการณ์โลกต่อไป…