ปีหน้าฟื้นยาก! KKP หั่นเป้า GDP ปี 2021 โตแค่ 3.4% ท่องเที่ยวซบยาว ธุรกิจกลาง-เล็ก จ่อปิดกิจการ

KKP Research ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2564 จาก 5.2% เหลือ 3.4% กรณีเลวร้ายสุดอาจโตเเค่ ระดับ 0%-1% เท่านั้น มองภาคท่องเที่ยวฟื้นตัวช้ากว่าเดิม คาดนักท่องเที่ยวลดเหลือเเค่ 6.4 ล้านคน เเละมีความเสี่ยงจะต่ำกว่านี้ หากไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้จริง แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่ผลกระทบต่อภาคธุรกิจ การว่างงาน ความเสี่ยงปิดกิจการ ยังน่าเป็นห่วง

ไทยจะฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่น หากยังไม่เปิดรับนักท่องเที่ยว

KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ออกบทวิเคราะห์ฉบับล่าสุด แสดงความกังวลถึงเศรษฐกิจไทยในปีหน้า ระบุว่า เเม้ไทยประสบความสำเร็จในการควบคุมการติดเชื้อในประเทศ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาอีกครั้ง 

เเต่เมื่อพิจารณาโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย พบว่ามีการพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นสัดส่วนมากถึง 12% ของ GDP ประกอบกับเศรษฐกิจไทยที่อ่อนแออยู่แล้วตั้งแต่ก่อนวิกฤต COVID-19 จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ยากและช้ากว่าประเทศอื่นๆ มากในภาวะที่การท่องเที่ยวยังไม่กลับมา

หนึ่งในสัญญาณที่อาจสามารถสะท้อนให้เห็นทิศทางของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปได้บ้าง คือ แนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดหุ้นไทยซึ่งเปรียบเทียบแล้วตลาดหุ้นไทยแทบไม่ฟื้นตัวในขณะที่หุ้นในหลายประเทศฟื้นตัวกลับไปใกล้เคียงกับจุดก่อนเกิดการระบาดของ COVID-19 แล้ว

สำหรับในปี 2020 นี้คาดว่าจะไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาในประเทศอย่างมีนัยสำคัญ จากเดิมที่คาดว่าจะเริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้ามาได้บางส่วนในช่วงปลายปีนี้ 

โดยมองไปในปี 2021 ไทยจะยังคงเผชิญกับโจทย์อันท้าทายในการเปิดรับนักท่องเที่ยวในวงกว้าง เนื่องจากข้อจำกัดทั้งทางด้านความสามารถในการกักตัวและติดตามนักท่องเที่ยว ประกอบกับพัฒนาการของวัคซีนที่มีแนวโน้มจะยังไม่สามารถใช้ได้ทันในช่วงครึ่งปีแรก ทำให้ต้องเปลี่ยนการคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2021 จาก 17 ล้านคน เหลือเพียง 6.4 ล้านคน

คาดว่านักท่องเที่ยวจะเริ่มกลับเข้ามาได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น ในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ของปี 2021 แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับปกติก่อน COVID-19 ที่มีจำนวนมากถึง 40 ล้านคน

KKP Research จึงปรับการคาดการณ์การเติบโตของ GDP ปี 2021 เหลือเพียง 3.4% เมื่อเทียบกับการหดตัวถึง 9% ในปีนี้ จะทำให้เศรษฐกิจไทยอาจต้องใช้เวลานานถึงประมาณ 3-4 ปีกว่าที่จะกลับเข้าสู่ระดับปกติ 

อย่างไรก็ตาม สมมติฐานในการประมาณการเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนอยู่ค่อนข้างมาก ในกรณีเลวร้ายที่ประเทศไทยอาจไม่สามารถเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวได้เลยในช่วงปี 2021 จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อทั้งการจ้างงานและการเลิกกิจการของบริษัทในวงกว้าง การเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของหนี้เสีย (NPL) ที่จะฉุดรั้งการบริโภคและการลงทุนในประเทศ เป็นความเสี่ยงที่ทำให้เศรษฐกิจจะหดตัวลึกไปกว่าเดิม และอาจโตได้ในระดับ 0%-1% เท่านั้น

เราเที่ยวด้วยกัน ยังกระตุ้นไม่พอ

ผลกระทบจากการไม่มีนักท่องเที่ยวทำให้หลายพื้นที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวในระดับสูง โดยจังหวัดที่มีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (Gross Domestic Product: GPP) อยู่ในระดับสูง (มากกว่า 50% ของ GPP) คือ ภูเก็ต และพังงา ยังคงมีอัตราการเข้าพักอยู่ในระดับต่ำภายหลังสิ้นสุดมาตรการปิดเมือง เฉลี่ยไม่ถึง 10% ในเดือนกรกฎาคม จากระดับปกติที่เกือบ 80% ในปี 2019

ถึงแม้จะมีมาตรการรัฐอย่าง “เราเที่ยวด้วยกัน” ก็ยังไม่สามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวได้ตามที่คาดหวังไว้ เเต่จากการใช้มาตรการมากว่า 2 เดือน ยังมีการใช้สิทธิ์จองที่พัก เพียง 1 ล้านจาก 5 ล้านสิทธิ์ หรือ 20% เท่านั้น

โดยพื้นที่ที่ได้ประโยชน์จากมาตรการรัฐยังคงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ และสามารถเดินทางไปด้วยรถยนต์ได้ อาทิ หัวหิน พัทยา เนื่องจากความกังวลต่อ COVID-19 ยังคงมีอยู่ทำให้คนส่วนใหญ่ยังคงเลือกเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวมากกว่าเครื่องบิน อีกทั้งคนที่ยังมีกำลังซื้อส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพ ฯ จึงทำให้หลายพื้นที่ยังไม่ได้รับผลประโยชน์จากมาตรการนี้

ถึงแม้ว่าหลายพื้นที่จะได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ แต่รายได้จากนักท่องเที่ยวไทยยังคงไม่เพียงพอที่จะชดเชยรายได้ที่สูญไปจากการขาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ

โดยในปีที่ผ่านมารายได้จากนักท่องเที่ยวไทยคิดเป็นเพียง 1 ใน 3 ของรายได้จากนักท่องเที่ยวในประเทศทั้งหมด ส่งผลให้รายได้ของโรงแรมลดลงและหลายโรงแรมต้องปิดตัวไป โดยปัจจุบันโรงแรมกว่า 40% ของโรงแรมทั้งหมดยังคงปิดบริการชั่วคราวอยู่ 

ข้อมูลจากการขอใช้สิทธิ์เราเที่ยวด้วยกัน ยังแสดงให้เห็นความแตกต่างของการฟื้นตัวในกลุ่มโรงแรมที่พักด้วยกันเอง โดยคนใช้สิทธิ์จองที่พักมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2,900 บาทต่อคืน หรือกล่าวได้ว่าโรงแรมที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการส่วนใหญ่เป็นกลุ่มโรงแรมระดับ 3 ดาวขึ้นไป

ขนส่ง-ค้าปลีก เริ่มฟื้นครึ่งปีหลัง 

ธุรกิจแต่ละประเภทได้รับผลกระทบแตกต่างกันจากการหดตัวของนักท่องเที่ยว เมื่อย้อนดูข้อมูล GDP ไตรมาส 2 ปี 2020 ที่หดตัว 12.2% มากที่สุดตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งปี 1997 และเมื่อมองในระดับธุรกิจเราจะเห็นผลกระทบที่ต่างกันไป โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้เเก่

  • ธุรกิจที่พักอาศัยและอาหาร -50.2%
  • การเดินทาง -38.9%
  • การผลิต -14.4%
  • ค้าปลีก -9.8%

ส่วนธุรกิจที่ยังพอขยายตัวได้ คือ การก่อสร้าง +7.3% บริการทางการเงิน +1.7% และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร +1.6%

นอกจากนี้ ผลกระทบจากการปิดเมือง เป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้ธุรกิจหดตัวลงในช่วงไตรมาส 2 โดยผลกระทบที่ใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นใน ธุรกิจการเดินทางและการขนส่ง การค้าปลีก และที่พักและอาหาร ซึ่งผลจากการปิดเมืองทำให้รายได้ของธุรกิจกลุ่มนี้หายไปประมาณ 10% 

อย่างไรก็ดี ในช่วงไตรมาส 3 และ ไตรมาส 4 ของปีนี้ธุรกิจในกลุ่มนี้อาจปรับตัวดีขึ้นบ้างหลังการเปิดเมือง แต่ยังคงอยู่ในแดนติดลบจากนักท่องเที่ยวที่ยังไม่กลับมาเป็นปกติ

“ในปี 2021 การฟื้นตัวจะแตกต่างกันในแต่ละธุรกิจ จากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในแต่ละกลุ่มที่ไม่พร้อมกัน กลุ่มธุรกิจที่พึ่งพานักท่องเที่ยวสูงจะยังไม่สามารถฟื้นตัวได้มากนัก ขณะที่กลุ่มที่พึ่งพาการบริโภคในประเทศและการส่งออกเป็นหลัก เช่น การค้าปลีก ค้าส่ง เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และภาคการผลิต จะสามารถกลับมาขยายตัวได้บ้างตามการฟื้นตัวของการบริโภค ในขณะที่ภาคการก่อสร้างอาจฟื้นตัวจากโครงการลงทุนของภาครัฐ”

แม้ตัวเลขเศรษฐกิจน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว เศรษฐกิจในประเทศค่อย ๆ ฟื้นตัว แต่ยังมีความท้าทายจากอีก 3 ปัจจัยสำคัญ ดังนี้

ธุรกิจขนาดกลาง-เล็ก เสี่ยงเลิกกิจการ 

หากสถานการณ์การปิดประเทศยังคงลากยาว แต่ผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของธุรกิจอาจเลวร้ายลง โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีการพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก โรงแรมจะยังประสบปัญหาอัตราการเข้าพักที่ยังไม่กลับมาจนถึงระดับที่คุ้มทุนในการดำเนินกิจการ

เมื่อดูตัวเลขกำไรจากการดำเนินงานในรูปเงินสด (EBITDA) ของบริษัทในกลุ่มโรงแรมที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) พบว่ากระแสเงินสดเปลี่ยนจากตัวเลขบวก เป็นติดลบในไตรมาส 2 ของปีนี้ ซึ่งจะกระทบต่อความสามารถในการดำเนินธุรกิจและการชำระหนี้ของบริษัท

“สถานการณ์มีแนวโน้มจะรุนแรงมากกว่า สำหรับโรงแรมขนาดกลางและขนาดเล็กที่ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์” 

นอกจากนี้ ธุรกิจอีกหลายกลุ่มยังมีความเสี่ยงที่ผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เเละหากเศรษฐกิจยังฟื้นตัวอย่างเปราะบาง ธุรกิจยังคงมีกระแสเงินสดที่ติดลบต่อเนื่อง อาจทำให้ธุรกิจต้องปิดกิจการซึ่งจะเป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อการจ้างงานในระยะต่อไป

“ว่างงาน” อาจรุนแรงขึ้นอีก

ความเสี่ยงด้านกระแสเงินสดอาจส่งผลต่อเนื่องมายังการจ้างงาน แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นบ้างจากการผ่อนคลายการปิดเมือง แต่เรายังคาดว่าผลที่จะเกิดขึ้นกับการจ้างงานยังไม่ถึงจุดต่ำสุด จากความเสี่ยงในการเลิกกิจการในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวที่จะยิ่งสูงขึ้นหากสถานการณ์ลากยาวต่อไป

ตัวเลขชั่วโมงการทำงานในเดือนมิถุนายนปรับตัวลดลงถึง 12% เมื่อเทียบกับปีก่อนและหดตัวลงในแทบทุกกลุ่มอาชีพ สะท้อนให้เห็นว่าลำพังเฉพาะตัวเลขสำรวจการจ้างงานในไตรมาส 2 ที่ระบุว่ามีการว่างงานประมาณ 7 แสนคน หรือ 1.9% อาจไม่ใช่ปัจจัยที่สะท้อนสถานการณ์ในตลาดแรงงานได้ทั้งหมด

หากนับรวมกลุ่มคนที่ถูกพักงานไม่ได้รับเงินเดือน หรือคนที่ถูกลดจำนวนชั่วโมงทำงานลง จะทำให้ตัวเลขนี้รวมกับคนว่างงานในปัจจุบันสูงถึงกว่า 3 ล้านคน KKP Research คาดว่าจำนวนการว่างงานอาจสูงถึง 5 ล้านคน หรือมากกว่านั้นได้หากเศรษฐกิจเข้าสู่กรณีเลวร้ายที่นักท่องเที่ยวไม่สามารถกลับมาได้ในปีหน้า

ปัญหาการขาดรายได้และการว่างงานเป็นวงกว้างเช่นนี้ไม่เพียงแต่จะกระทบต่อชีวิตผู้คน ซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนและปัญหาทางสังคมอื่นๆ เท่านั้น แต่ยังส่งผลทางอ้อมต่อเศรษฐกิจอีกรอบหนึ่งอีกด้วยผ่านการชะลอลงของการบริโภค โดยเฉพาะการบริโภคในกลุ่มสินค้าคงทน เช่น บ้าน รถยนต์ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 18% ของการบริโภคทั้งหมด ทำให้การบริโภคในปี 2021 อาจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดได้

พักชำระหนี้…กำลังจะหมดลง

หลังจากที่มีการระบาดของ COVID-19 ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจผ่านธนาคารพาณิชย์ในหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการลดอัตราดอกเบี้ย การพักและเลื่อนการชำระหนี้ออกไป 3-6 เดือน การเพิ่มระยะเวลาในการคืนหนี้ ซึ่งแตกต่างกันไปตามประเภทของหนี้และสถาบันการเงิน

“จำนวนลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย ณ เดือนกรกฎาคม โดยรวมมีถึง 12.5 ล้านบัญชี รวมมูลค่า 7.2 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของหนี้ทั้งระบบ” 

เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ประกาศว่าหลังจากเดือนตุลาคมเป็นต้นไปจะไม่มีการต่อโครงการพักชำระหนี้แบบทั่วไปเช่นในปัจจุบันอีก เพื่อป้องกันปัญหาการเข้าร่วมโครงการทั้งที่อาจจะไม่ได้รับผลกระทบจริง (Moral Hazard) และป้องกันความเคยชินจากการไม่จ่ายหนี้ของลูกหนี้ ธนาคารแต่ละแห่งอาจจะต้องปรับโครงสร้างหนี้กับลูกค้าเป็นราย ๆ ไป ทำให้เรายังต้องจับตาดูว่าหลังจากนี้จะมีลูกหนี้สัดส่วนมากน้อยเพียงใดที่จะไม่สามารถกลับมาจ่ายหนี้ได้ และหนี้จำนวนมากแค่ไหนที่จะกลายเป็นหนี้เสีย (NPL)

สถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงจะทำให้ธนาคารไม่ปล่อยกู้เพิ่มเติม จะเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่จะกดดันการบริโภคสินค้าคงทน เช่น บ้าน รถยนต์ รวมถึงการลงทุนที่ต้องพึ่งพาการกู้ยืมเงินจากธนาคาร

เศรษฐกิจยังอ่อนเเอ เเนะรัฐออก “มาตรการเพิ่มเติม” 

จากมุมมองต่อเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าที่ยังอ่อนแอและมีความไม่แน่นอนสูง ภาครัฐยังจำเป็นต้องมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยประคับประคองเศรษฐกิจให้เดินหน้าและรองรับแรงงานที่ตกงานจำนวนมหาศาล แม้ว่ารัฐบาลจะมีการออกชุดมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจมาแล้วในจำนวน 1 ล้านล้านบาท (6% ของ GDP) แต่การใช้จริงยังทำได้น้อยมาก

“ในจำนวน 6 แสนล้านบาทที่เป็นมาตรการเยียวยามีการใช้เงินไปเพียง 390,000 ล้านบาท ผ่านโครงการแจกเงิน 5,000 บาทให้กับชาวนาและแรงงานนอกระบบจำนวน 24 ล้านคน และที่เหลืออีก 4 แสนล้านบาทที่จะใช้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ก็มีเพียง 42,000 ล้านบาทที่ใช้ไปเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวในประเทศ” 

KKP Research ประเมินว่า รัฐยังมีความสารถในการทำนโยบายการคลังเพิ่มเติมหลังจากนี้ แม้ว่าจะมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับหนี้สาธารณะที่มีแนวโน้มจะแตะระดับ 60% ซึ่งเป็นเพดานตามกฎหมายในปัจจุบัน แต่จากต้นทุนในการกู้ยืมเงินของรัฐที่ต่ำลงมากเมื่อเทียบกับอดีต (อัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี อยู่ที่ 1.5% เทียบกับ 3.5% ในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา) ทำให้ประเมินว่าประเด็นเรื่องความสามารถในการจ่ายหนี้และความมั่นคงทางการคลังจะไม่เป็นปัญหามากนักบนเงื่อนไข 3 ข้อ ได้เเก่

(1) หนี้ที่กู้ยืมมาต้องถูกใช้ไปอย่างเหมาะสมเพื่อสร้างการเติบโตของ GDP ในอนาคต

(2) ตลาดยังมีความเชื่อมั่นในความมั่นคงทางการคลังและอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง

(3) รัฐมีการวางแผนในการลดการขาดดุลการคลังในอนาคตที่ชัดเจนเช่นการปฏิรูปภาครัฐเพื่อลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้ภาครัฐในอนาคต

“ภายใต้สถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูงเช่นนี้รัฐจำเป็นต้องเร่งออกมาตรการอื่น ๆ เพิ่มเติม และคิดถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อเตรียมเครื่องมือให้พร้อมหากสถานการณ์ไม่ได้เป็นไปตามคาด”

 

อ่านบทวิเคราะห์ฉบับเต็ม (ที่นี่)