พิษ COVID-19 สะเทือนเศรษฐกิจไทย “สภาพัฒน์” แถลงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2563 ติดลบถึง 12.2% หนักสุดในรอบ 22 ปี หั่นคาดการณ์จีดีพีทั้งปีติดลบ 7.5% จากเดิมคาดว่าจะติดลบ 5-6% จับตาสถานการณ์โรคระบาดที่เริ่มควบคุมได้ ภาคธุรกิจเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง
สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ปีนี้ นับว่าเป็นช่วงที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 หนักมากที่สุด ลดลงจากไตรมาสแรก 6.9% จากมาตรการล็อกดาวน์ปิดสถานที่ต่างๆ รวมถึงภาคส่งออกที่ติดลบ 10% ทำให้จีดีพีหดตัวลงมาก การลงทุนรวมในไตรมาสก่อนลดลง 8% ขณะที่การบริโภคเอกชนลดลง 6.6%
ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า “เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว โดยไตรมาส 2/2563 ถือเป็นช่วงที่เศรษฐกิจหดตัวลึกที่สุดในประวัติศาสตร์ นับตั้งเเต่ไตรมาส 2/2541 ที่จีดีพีติดลบ 12.5% (ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง) อย่างไรก็ตาม มองว่า เศรษฐกิจไทยจะหดตัวน้อยลงเรื่อย ๆ เเต่การจะกลับมาเติบโตปกติเท่าก่อนโรคระบาด ต้องรอไปถึงปี 2565”
นอกจากนี้ สภาพัฒน์ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้ลง โดยคาดว่าจะติดลบในช่วงระหว่าง -7.8% ถึง -7.3% จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ในช่วง -5% ถึง -6% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ -1.2% ถึง -0.7% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.5% ของจีดีพี
สำหรับรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2/2563 ของ สศช. มีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
ด้าน การใช้จ่าย การเเพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้กํารส่งออกสินค้าและบริการการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวลดลงขณะที่การใช้จ่ายเเละการลงทุนภาครัฐขยายตัว
การบริโภคภาคเอกชน ปรับตัวลดลง 6.6% เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.7 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการลดลงของฐานรายได้ในระบบเศรษบกิจเเละการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคในช่วง COVID-19 รวมถึงการดำเนินมาตรการควบคุมเเละป้องกันโรคระบาดของภาครัฐทำให้การบริโภคในหมวดสินค้าคงทนกึ่งคงทนเเละหมวดบริการสำคัญ เช่น
- การซื้อยานยนต์ ลดลง 43.0%
- เสื้อผ้าเเละรองเท้า ลดลง 21.4%
- การใช้จ่ายในร้านอาหารเเละโรงเเรม ลดลง 45.8%
- การใช้จ่ายเครื่องดื่มเเอลกอฮอล์ ลดลง 17.1%
- การใช้จ่ายเพื่อค่าน้ำเเละค่าไฟฟ้า เพิ่มขึ้น 3.8%
รวมครึ่งแรกของปี 2563 การบริโภคภาคเอกชนลดลง 2.1% และการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลลดลง 0.7%
การลงทุนรวม ปรับตัวลดลง 8.0% เทียบกับ 6.5% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวลดลง 15% ต่อเนื่อง จากการลดลง 5.4% ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการลดลงของการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักร และการลงทุนในสิ่งก่อสร้าง 18.4% และ 2.1% ตามลำดับ การลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้น 12.5% เทียบกับปรับตัวลดลง 9.3% ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่การลงทุนรัฐวิสาหกิจลดลง 0.8% รวมครึ่งแรกของปี 2563 การลงทุนรวมลดลง 7.2%
ด้านการส่งออก มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงิน USD ลดลง 17.8% (ต่ำสุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่สองของปี 2552 ที่ลดลง 25.6%) เทียบกับการขยายตัว 1.4%ในไตรมาสเเรก โดยปริมาณการส่งออกลดลง 16.1% เเละราคาส่งออกลดลงร้อยละ 2.0
การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ (+8.9%) หักอาวุธ, ยานพาหนะซ้อมรบ (+1.1%) จีน (+12.1%) ญี่ปุ่น (-13.5%) อาเซียน (9) (-22.3%) EU (15) (-30.3%) ออสเตรเลีย (-16.1%) และตะวันออกกลาง (15) (-19.7%)
สินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกลดลง ได้เเก่ รถยนต์นั่ง (-45.2%) รถกระบะและรถบรรทุก (-67.7%) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ (-45.0%) อิเล็กทรอนิกส์(-6.6) ปิโตรเคมี (- 18.9%) ข้าว (-0.9%) ยาง (-41.0%)
และน้ำตาล (-28.4%)
การผลิตสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ลดลง 50.2% ต่อเนื่องจากการลดลง 23.3% ในไตรมาสเเรก โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศลดลง 100% รายรับรวมจากการท่องเที่ยว 0.019 ล้านล้านบาท ลดลง 97.1% รวม H1/63 สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ลดลง 36.2% จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศลดลง 66.2% อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 29.01%
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2/2563 และแนวโน้มปี 2563