“สภาพัฒน์” แถลงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2563 หดตัว -1.8% คาดทั้งปีติดลบ 5-6% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัวได้ 1.5-2.5% มองไตรมาส 2 จะหนักที่สุด จากผลกระทบ COVID-19 ฉุดส่งออกเเละท่องเที่ยวทรุด
วันนี้ (18 พ.ค.) ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสที่ 1/2563 ลดลงร้อยละ 1.8 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 1.5 ในไตรมาสที่ 4/2562 ปัจจัยหลักมาจากการลดลงของการส่งออกสินค้าและบริการ การลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน และการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาล
ขณะที่การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2563 นี้ ประเมินว่าจะหดตัวอยู่ในกรอบ -5 ถึง -6% โดยมีค่าเฉลี่ยกลางที่ -5.5% เนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอลงและกระทบปริมาณการค้าของโลก รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศลดลง
ทั้งนี้ การประเมินว่าจีทั้งปีจะติดลบ 5-6% นั้นอยู่ภายใต้สมมติฐานว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 สามารถควบคุมได้ภายในไตรมาส 2 และไม่มีการแพร่ระบาดรอบ 2
“คาดว่าเศรษฐกิจจะติดลบหนักที่สุดในไตรมาส 2 จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เพราะทุกอย่างถูกล็อกดาวน์ เเต่หวังว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ในไตรมาส 3 นักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะทยอยเดินทางเข้ามาในไทยได้ในไตรมาส 3 และ 4 เเละยังหวังว่าในปี 2564 จะมีวัคซีน COVID-19 ออกมาจะช่วยให้โลกกลับมาเหมือนเดิมอีกครั้ง”
สำหรับรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 1/2563 ของ สศช. มีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชนชะลอตัวลง การผลิต ภาคเกษตรลดลงต่อเนื่องร้อยละ 5.7 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ภาคนอกเกษตรลดลงร้อยละ 1.4 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.0 ในไตรมาสที่ 4/2562 โดยการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมลดลงต่อเนื่องร้อยละ 2.7 เทียบกับการลดลงร้อยละ 2.2 ในไตรมาสก่อนหน้า
ภาคบริการ ลดลงร้อยละ 1.1 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 4.1 ในไตรมาสก่อนหน้าตามการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งส่งผลให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะสาขาขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า และสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารลดลง
ส่วนสาขาบริการที่สำคัญอื่น ๆ เช่น สาขาการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ สาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร สาขาอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัว
การใช้จ่าย การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.0 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 4.1 ขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาล
การลงทุนและการส่งออกและนำเข้าสินค้าและบริการ ลดลงร้อยละ 2.7 ร้อยละ 6.5 ร้อยละ 6.7 และร้อยละ 2.5 ตามลำดับ หลังปรับปัจจัยฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1/2563 ลดลงร้อยละ 2.2
การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชน ขยายตัวร้อยละ 3.0 ชะลอลงจากร้อยละ 4.1 ในไตรมาสที่ 4/2562
โดยการอุปโภคในกลุ่มสินค้าคงทน และกลุ่มสินค้ากึ่งคงทน ลดลงร้อยละ 8.8 และร้อยละ 4.4 ตามลำดับ ขณะที่หมวดสินค้าไม่คงทนและกลุ่มบริการขยายตัวร้อยละ 2.8 และร้อยละ 9.3 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.6 และร้อยละ 8.5 ในไตรมาสที่ 4/2562 ตามลำดับ
การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาล ลดลงร้อยละ 2.7 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 0.9 ในไตรมาสที่ 4/2562 โดยรายจ่ายค่าซื้อสินค้าและบริการลดลงร้อยละ 10.4 ค่าตอบแทนแรงงานขยายตัวร้อยละ 1.1 ชะลอลงจากร้อยละ 1.4 ในไตรมาสที่ 4/2562 ส่วนการโอนเพื่อสวัสดิการสังคมที่ไม่เป็นตัวเงิน ขยายตัวร้อยละ 10.0
การลงทุนรวม ลดลงร้อยละ 6.5 จากการขยายตัวร้อยละ 0.8 ในไตรมาสที่ 4/2562 โดยการลงทุนภาคเอกชนลดลงร้อยละ 5.5 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.6 ในไตรมาสก่อนหน้าเป็นผลจากการลงทุนด้านการก่อสร้างภาคเอกชนลดลงร้อยละ 4.3 และการลงทุนด้านเครื่องจักรเครื่องมือภาคเอกชนลดลงร้อยละ 5.7 ส่วนการลงทุนภาครัฐลดลงร้อยละ 9.3 เทียบกับการลดลงร้อยละ 5.1 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการลงทุนด้านก่อสร้างลดลงร้อยละ 13.4 โดยเฉพาะการก่อสร้างรัฐบาลที่ได้รับผลกระทบจากความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณประจำปี 2563
ส่วนเปลี่ยนสินค้าคงเหลือ มูลค่า ณ ราคาประจำปีเพิ่มขึ้น 133.6 พันล้านบาท สินค้าคงคลังสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวสาร น้ำตาล เครื่องประดับอัญมณี เนื้อสัตว์ปีกแช่แข็ง และคอมพิวเตอร์ สำหรับสินค้าคงคลังที่ลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือก เคมีภัณฑ์ เฟอร์นิเจอร์ และทองคำ
ดุลการค้าและบริการ ณ ราคาประจำปี เกินดุล 325.1 พันล้านบาท โดยดุลการค้าเกินดุล 253.6 พันล้านบาท และดุลบริการเกินดุล 71.5 พันล้านบาท
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 1/2563 และแนวโน้มปี 2563