“ท่องเที่ยวเชิงเกษตร” เทรนด์ที่กำลังมาแรง เมื่อคนเมืองอยากสัมผัสชีวิตชนบท หนี COVID-19

ท่องเที่ยวเชิงเกษตร
(Photo by Artem Beliaikin from Pexels)
“ท่องเที่ยวเชิงเกษตร” เป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่กำลังจะขึ้นมาเป็นกระแสหลักหลัง COVID-19 จากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญหลายคนที่มองว่า การท่องเที่ยวแบบนี้ตอบโจทย์ทั้งการหลีกหนีพื้นที่ชุมชนหนาแน่น ได้ประสบการณ์กึ่งผจญภัย ได้เรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือจุดหมายที่น่าจะได้ประโยชน์จากเทรนด์นี้มากที่สุด

South China Morning Post รายงานกระแสมาแรงของเทรนด์ท่องเที่ยวในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นคือเทรนด์ “ท่องเที่ยวเชิงเกษตร” ที่ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสประสบการณ์ในแถบถิ่นชนบท และเป็นไปได้ว่าจะยิ่งได้รับความนิยมมากขึ้นช่วงหลัง COVID-19

“ฉันแทบรอไม่ไหวที่จะได้ทิ้งโลกในเมืองและกลับไปอยู่กับธรรมชาติ ได้อยู่ห่างจากชุมชนหนาแน่น และไปอยู่ที่ไหนสักแห่งที่ฉันจะได้สัมผัสชนบทจริงๆ” แอชลีย์ ชุง กล่าว เธอเป็น expat ชาวฮ่องกงที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ มาแล้ว 3 ปี

ชุงเป็นหนึ่งในนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่ต้องการไปสัมผัสประสบการณ์ชนบท ที่ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้หลีกหนีผู้คนมากมายในยุคหลัง COVID-19 หรือแม้กระทั่งช่วงที่เรายังต้องอดทนและรับมือกับ COVID-19 อยู่ก็ตาม

ทริปปั่นจักรยานชมแปลงนา จัดโดยโรงแรมโฟร์ซีซันส์ รีสอร์ต บาหลี แอท ซายัน (photo : Facebook@FourSeasonsResortBali)

ผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวมองว่า จุดหมายปลายทางในแถบถิ่นธรรมชาติจะเป็นที่ต้องการมากขึ้น การท่องเที่ยวเชิงเกษตรซึ่งขับเคลื่อนด้วยชุมชนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะได้รับประโยชน์จากเทรนด์นี้ โดยกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งยังเต็มเปี่ยมไปด้วยวิถีชีวิตชนบท น่าจะอยู่ในจุดที่สุกงอมพร้อมเก็บเกี่ยวจากเทรนด์นี้ได้เต็มที่

“ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีเทรนด์ความสนใจในการท่องเที่ยวเชิงเกษตร สิ่งแวดล้อม เวลเนส และผจญภัยสูงขึ้น” คริสโตเฟอร์ ลุนด์ หัวหน้าฝ่ายธุรกิจโรงแรมจาก Colliers International บริษัทบริหารการลงทุนและอสังหาริมทรัพย์ระดับโลก ให้ข้อมูล “เทรนด์ทั้ง 4 อย่างนี้ไปกันได้กับการเว้นระยะห่างทางสังคมซึ่งเป็นวิถีชีวิตใหม่ในขณะนี้ เพราะเป็นการท่องเที่ยวกลางแจ้งท่ามกลางธรรมชาติ พักผ่อนในบ้านพักกลางป่า และเน้นการรับประสบการณ์”

 

“ฟาร์มสเตย์” ช่วยชุมชนเกษตร

สำหรับการ “ท่องเที่ยวเชิงเกษตร” มักจะให้ประสบการณ์แบบ “ฟาร์มสเตย์” มีกิจกรรมให้ทำ เช่น ปลูกและเก็บเกี่ยวพืชผัก ดูแลปศุสัตว์ สำรวจฟาร์ม ไปจนถึงเข้าคลาสหัดทำอาหาร นอกจากจะได้ประสบการณ์ใหม่แล้วยังมีจุดเด่นที่ให้ความรู้สึกเหมือนได้ผจญภัยด้วย

“การท่องเที่ยวเชิงเกษตรเป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมในการช่วยชุมชนยากจน เพราะปกติชุมชนเหล่านี้มักจะพึ่งพิงเฉพาะการทำเกษตร แต่สิ่งนี้จะช่วยให้ชุมชนมีรายได้พิเศษ” เซยะ อะชิกะริ ผู้ประกอบการเพื่อสังคมชาวญี่ปุ่นผู้ก่อตั้ง Ecologgie กล่าว โดยบริษัทของเขาทำการผลิตขนมและแป้งโปรตีนที่ทำจากจิ้งหรีด

(ขวา) เซยะ อะชิกะริ ผู้ก่อตั้ง Ecologgie ในฟาร์มจิ้งหรีด (Photo : Twitter@ashikari_seiya)

ยกตัวอย่างกรณีของ Ecologgie อะชิกะริทำธุรกิจว่าจ้างเกษตรกรผู้ทำฟาร์มจิ้งหรีดในเขตจังหวัดกำปงธมและจังหวัดตาแก้ว ประเทศกัมพูชา ให้ผลิตสินค้าให้กับเขา

Ecologgie ยังเริ่มจัด โปรแกรมทัวร์ฟาร์มจิ้งหรีดและแมงมุมทารันทูล่า ในกัมพูชาเมื่อช่วงปลายปีก่อน เพื่อช่วยเสริมรายได้ให้กับกลุ่มเกษตรกรเหล่านี้ นักท่องเที่ยวจะได้รับข้อมูลและสัมผัสฟาร์มจิ้งหรีดของจริง รวมถึงมีกิจกรรมผจญภัยเข้าป่าไปล่าแมงมุมทารันทูล่ากับนายพราน จากนั้นสามารถนำทารันทูล่าที่จับได้ให้ร้านพันธมิตรนำไปทอดกรอบเป็นอาหารให้ลองชิม

อะชิกะริกล่าวว่า นักท่องเที่ยวให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ แต่น่าเสียดายที่หลังจากออกทัวร์ไปได้ 2 รอบก็เกิดโรคระบาด COVID-19 ขึ้นเสียก่อน แต่เขาเชื่อว่าหลังการท่องเที่ยวกลับมาดำเนินการได้ กิจกรรมผจญภัยที่แตกต่างแบบของเขาจะได้รับความนิยม

 

ธุรกิจโรงแรมออกโปรแกรมทัวร์จับกระแส

กลุ่มโรงแรมก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่อาศัยเกาะกระแสท่องเที่ยวเชิงเกษตร ผ่านการออกแบบโปรแกรมประสบการณ์ใหม่ให้กับแขกผู้เข้าพัก โดยร่วมมือกับพันธมิตรเกษตรกรในท้องถิ่น ยกตัวอย่างเช่น โรงแรมโฟร์ซีซันส์ รีสอร์ต บาหลี แอท ซายัน มีการว่าจ้างกลุ่มชาวนาที่ทำนาอยู่ใกล้เคียงให้จำหน่ายข้าวส่งตรงเข้าโรงแรม โดยโรงแรมจะให้ราคาข้าวที่สูงกว่าตลาด แลกเปลี่ยนกับชาวนาจะต้องเปิดโอกาสให้แขกของโฟร์ซีซันส์เข้าไปสัมผัสการดำนา เกี่ยวข้าว แบบเดียวกับชาวนาตัวจริง

โปรแกรมทัวร์ของโฟร์ซีซันส์ รีสอร์ต บาหลี แอท ซายัน ประเทศอินโดนีเซีย ให้แขกได้ทดลองดำนาในแปลงเกษตรของจริง (photo : Facebook@FourSeasonsResortBali)

ที่รีสอร์ต ซิกส์เซนส์ เกาะยาวน้อย ประเทศไทยก็มีโปรแกรมคล้ายคลึงกัน โดยแขกสามารถเข้าฟาร์มไก่ออร์แกนิกของรีสอร์ตเอง และเลือกไข่ไก่สดกลับไปให้รีสอร์ตทำเป็นอาหารให้

หรือรีสอร์ต ซิกส์เซนส์ เกาะกระบัย กัมพูชา มีทริปให้แขกไปเยือนฟาร์มเกษตรเพื่อเข้าคลาสทำอาหารและจะได้รับประทานมื้ออาหารแบบ farm-to-table ทริปเหล่านี้เป็นสิ่งที่ “เจฟฟรีย์ สมิธ” รองประธานด้านความยั่งยืนของ Six Senses Hotel Resorts Spa กล่าวว่าบริษัทจะนำไปใช้กับโรงแรมอื่นๆ ของบริษัทในอนาคตให้มากขึ้น

ฟาร์มไก่ออร์แกนิกของซิกซ์เซนส์ ยาวน้อย (photo : Facebook@sixsenseyaonoi)

 

รวมพื้นที่เกษตรเป็นส่วนหนึ่งของโครงการโรงแรม

ฟิลิปปินส์เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีทรัพยากรพร้อมตอบรับเทรนด์ ด้วยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย ทำให้ฟิลิปปินส์เหมาะมากกับการทำท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ณ ชายฝั่งเกาะปังเลาที่เชื่อมต่อกับเกาะโบฮอล เป็นที่ตั้งของ รีสอร์ต เซาธ์ ปาล์ม เฟสสอง ซึ่งเป็นรีสอร์ตติดหาดเพื่อความยั่งยืนซึ่งจะมีทั้งร้านอาหารและคลับสำหรับเด็ก กำลังก่อสร้างเตรียมเปิดบริการในปี 2022

“รีสอร์ตเซาธ์ ปาล์มแห่งใหม่นี้เราจะนำเอาวัฒนธรรมเกษตรของเกาะโบฮอลมาเป็นส่วนหนึ่งของโรงแรม เพื่อเชิดชูความเป็นชนบทของฟิลิปปินส์” โฮป ยุย กรรมการผู้จัดการของรีสอร์ต ผู้เติบโตจากครอบครัวเกษตรกรบนเกาะ กล่าวถึงโปรเจกต์นี้

แขกของเซาธ์ ปาล์ม รีสอร์ต ปังเลา สามารถไปเยี่ยมฟาร์มเกษตรใกล้เคียงเพื่อช่วยเกษตรกรทำงานได้ (Photo : SCMP)

ฟาร์มเกษตรใกล้เคียงรีสอร์ตนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของมาสเตอร์แพลนโครงการ แปลงเกษตรออร์แกนิกจะพัฒนาขึ้นเพื่อให้แขกได้สัมผัส และเครื่องจักรเกษตรเก่าจะนำมาจัดแสดงเป็นสนามเด็กเล่นให้กับเด็กๆ ที่มาเที่ยวฟาร์ม กลุ่มหัตถกรรมท้องถิ่นจะได้รับว่าจ้างให้ผลิตเครื่องปั้นและเครื่องสานทันทีที่การล็อกดาวน์สิ้นสุด โครงการยังมีโปรแกรมในอนาคตที่จะสร้างฟาร์มแพะเพื่อผลิตนมและชีส รวมถึงให้แขกได้ลองรีดนมแพะกันด้วย

“เราต้องการสร้างบางสิ่งที่แขกจะได้สัมผัสประสบการณ์และลงมือทำเอง” ดรูว์ แอนเดอร์สัน ผู้อำนวยการ Topo Design Studio ผู้ออกแบบโครงการเซาธ์ ปาล์ม กล่าว “เราต้องการให้แขกได้เห็นท้องไร่ท้องนาของจริง ได้เรียนรู้เกี่ยวกับวัตถุดิบอาหารสดๆ ที่พวกเขาจะทานเป็นอาหารค่ำ ได้เดินสำรวจในฟาร์มเพื่อกระตุ้นให้พวกเขารู้จักพื้นที่และวัฒนธรรมท้องถิ่น”

 

farm-to-table จะยิ่งมาแรงขึ้นอีก

ความเคลื่อนไหวสำคัญของเทรนด์ท่องเที่ยวเชิงเกษตรคือมื้ออาหารแบบ farm-to-table พ่วงด้วยคำว่า “ออร์แกนิก” ซึ่งกลายเป็นบัซเวิร์ดที่พูดถึงกันมาก ดีมานด์ที่มีต่อวัตถุดิบอาหารปลอดสารพิษและยาฆ่าแมลงสดจากฟาร์มในชนบทพุ่งสูงมากตั้งแต่ช่วงก่อน COVID-19 แล้ว

ตัวอย่างร้านที่ใช้คอนเซ็ปต์ farm-to-table : ร้าน TAAN ในกรุงเทพฯ มีการใช้วัตถุดิบอาหารส่งตรงจากท้องถิ่นมาปรุงเป็นเมนูระดับ fine dining (Photo : Facebook@taanbangkok)

“แรงดึงดูดของกระแสนี้คือความรู้สึกสบายใจที่ได้รู้ว่าอาหารของคุณมาจากไหน และการได้ตระหนักรู้ว่าที่มาของอาหารส่งผลดีต่อตัวคุณและโลกนี้มากกว่าเดิม” แอนเดอร์สันกล่าว “COVID-19 สร้างความตื่นตกใจแก่พวกเราแต่ก็สร้างสิ่งที่ดีให้กับโลก เป็นการรีเซตในช่วงเวลาที่เหมาะสม สิ่งที่คนตระหนักมากขึ้นจากเรื่องนี้คือการรับรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม ชุมชน สุขภาพ และอนามัย”

เขากล่าวต่อว่า farm-to-table คือสิ่งที่สอดคล้องกับกระแสนี้ เพราะส่งประสบการณ์อาหารสด ดีต่อสุขภาพ และอร่อยกว่า ให้นักท่องเที่ยวได้ลิ้มลอง และได้รู้ว่าอาหารของตนมาจากไหน

ด้าน “ทิม กอร์ดอน” รองประธานอาวุโสของ Radisson Hotel Group กล่าวว่าเทรนด์ท่องเที่ยวเชิงเกษตรเริ่มต้นขึ้นแล้วตั้งแต่ 5-10 ปีก่อนเกิดโรคระบาด

“จากนี้เทรนด์ท่องเที่ยวเชิงเกษตรจะกลายเป็นกระแสหลักในเวลาอันรวดเร็ว เมื่อคนมองหาจุดหมายปลายทางที่แตกต่าง เพื่อประสบการณ์ในรูปแบบเหล่านี้” กอร์ดอนกล่าว

source