“ไทย” ติดอันดับ 5 ประเทศ Non-OIC ที่เป็นมิตรต่อ “นักท่องเที่ยวมุสลิม” แห่งปี 2024

นักท่องเที่ยวมุสลิม
นักท่องเที่ยวมุสลิมขณะนั่งเรือยอชต์ใน จ.ภูเก็ต (Photo: Shutterstock)
  • Mastercard จัดทำรายงานดัชนีการท่องเที่ยวของชาวมุสลิมประจำปี 2024 “ไทย” ติดอันดับ 5 ประเทศที่เป็นมิตรกับ “นักท่องเที่ยวมุสลิม” มากที่สุดในกลุ่มประเทศ Non-OIC
  • ตลาดนักท่องเที่ยวมุสลิมทั่วโลกปีนี้คาดว่าจะมีกว่า 168 ล้านคน โตขึ้น 5% จากช่วงก่อนโควิด-19 ถือเป็นอีกกลุ่มนักท่องเที่ยวสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

Mastercard จัดทำรายงาน “ดัชนีการท่องเที่ยวของชาวมุสลิมทั่วโลกประจำปี 2024” (The Mastercard-Crescent Rating Global Muslim Travel Index หรือ GMTI 2024) เพื่อจัดอันดับประเทศที่เป็นมิตรต่อ “นักท่องเที่ยวมุสลิม” มากที่สุดในโลก สร้างโอกาสดึงดูดการเข้ามาท่องเที่ยวของชาวมุสลิมจากหลายประเทศ

โดยดัชนีนี้มีตัวชี้วัดแบ่งออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ 1)การบริการ เช่น มีห้องละหมาดในสถานที่ต่างๆ มีอาหารฮาลาลให้เลือก โรงแรมและสนามบินที่เป็นมิตรกับมุสลิม 2)สิ่งแวดล้อม เช่น ความปลอดภัยโดยทั่วไปต่อคนมุสลิม ระเบียบข้อบังคับที่ไม่กระทบต่อศรัทธา 3)การเข้าถึง เช่น มีเที่ยวบินเข้าถึงง่าย การให้วีซ่า 4)การสื่อสาร เช่น การทำการตลาดต่อคนมุสลิมโดยตรง

ดัชนีนี้มีการวัดใน 145 ประเทศทั่วโลก และมีการแยกกลุ่มประเทศที่ไม่ใช่ประเทศที่เป็นสมาชิกขององค์การความร่วมมืออิสลาม (Non-OIC) ในการจัดอันดับไว้ด้วย เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าประเทศที่ไม่ใช่ประเทศมุสลิมก็สามารถดึงดูดด้านการท่องเที่ยวฮาลาลได้

5 อันดับแรกประเทศ OIC ที่เป็นมิตรต่อนักท่องเที่ยวมุสลิมมากที่สุด ปี 2024

อันดับ 1 (ร่วม) อินโดนีเซีย (76 คะแนน)
อันดับ 1 (ร่วม) มาเลเซีย (76 คะแนน)
อันดับ 3 ซาอุดิอาระเบีย (74 คะแนน)
อันดับ 4 ตุรกี (73 คะแนน)
อันดับ 5 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (72 คะแนน)

5 อันดับแรกประเทศ Non-OIC ที่เป็นมิตรต่อนักท่องเที่ยวมุสลิมมากที่สุด ปี 2024

อันดับ 1 สิงคโปร์ (66 คะแนน)
อันดับ 2 สหราชอาณาจักร (58 คะแนน)
อันดับ 3 ไต้หวัน (55 คะแนน)
อันดับ 4 ฮ่องกง (54 คะแนน)
อันดับ 5 ไทย (52 คะแนน)

ประเทศไทยโดดเด่นเรื่องอาหารฮาลาลมีให้เลือกหลากหลาย (Photo: Shutterstock)

สำหรับประเทศ “ไทย” นั้นรายงาน GMTI ของ Mastercard ประเมินว่า ไทยมีความพยายามที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวมุสลิมเสมอมา ด้วยการสนับสนุนร้านอาหารฮาลาลและผลิตภัณฑ์ฮาลาลในสถานที่ท่องเที่ยว และยังใช้ประโยชน์จากการมีชุมชนคนมุสลิมในประเทศมาสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในจุดหมายปลายทางสำคัญ ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต และกระบี่ ซึ่งจะมีร้านอาหารฮาลาลทุกระดับให้เลือกไม่เว้นแม้แต่สตรีทฟู้ด

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีแผนยุทธศาสตร์ 5 ปีมุ่งสู่การเป็น “ศูนย์กลางฮาลาล” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในปี 2027 ด้วย มุ่งเน้นการขยายอุตสาหกรรมฮาลาลหลายด้าน เช่น อาหาร ท่องเที่ยว บริการ เครื่องแต่งกาย ซึ่งน่าจะทำให้ประเทศไทยยังอยู่ในระดับต้นๆ ของการวัดดัชนี GMTI ในอนาคต

 

“นักท่องเที่ยวมุสลิม” ตลาดที่ไม่ควรมองข้าม

รายงาน GMTI ยังคาดการณ์ด้วยว่า ปี 2024 นี้จะมีนักท่องเที่ยวมุสลิมออกท่องเที่ยวต่างประเทศกว่า 168 ล้านคน เพิ่มขึ้น 5% จากก่อนโควิด-19 และประเมินว่าภายในปี 2028 น่าจะมีนักท่องเที่ยวมุสลิมขึ้นไปแตะ 230 ล้านคน เนื่องจากประเทศมุสลิมหลายประเทศมีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้นและมีรายได้สูงขึ้น

นักท่องเที่ยวมุสลิม
(Photo: Ihsan Adityawarman / Pexels)

ด้านกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวมุสลิม หากวัดจากจีดีพีต่อหัวของประชากรซึ่งยิ่งสูงก็ยิ่งมีโอกาสที่จะใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้นนั้น 10 อันดับประเทศมุสลิมที่มีจีดีพีต่อหัวมากที่สุด ได้แก่ 1)กาตาร์ 2)สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 3)คูเวต 4)บรูไน 5)บาห์เรน 6)ซาอุดิอาระเบีย 7)โอมาน 8)ตุรกี 9)คาซัคสถาน และ 10)มาเลเซีย

อย่างไรก็ตาม มีประเทศมุสลิมอื่นด้วยที่น่าสนใจด้วยจำนวนประชากรมากและมีกลุ่มผู้มีฐานะมาก โอกาสจะออกมาท่องเที่ยวต่างประเทศสูง เช่น อินโดนีเซีย อิหร่าน อียิปต์ ปากีสถาน เป็นต้น

กลุ่มนักท่องเที่ยวมุสลิมเป็นคนวัยไหน? ด้วยโครงสร้างประชากรมุสลิมทั่วโลก 70% คือคนวัยไม่เกิน 40 ปี แตกต่างจากเทรนด์ประชากรโลกที่จะสูงวัยมากกว่า

หากเจาะลึกลงไป กลุ่มที่น่าจะเดินทางท่องเที่ยวจะเป็นคนวัย 21-40 ปีเป็นหลักซึ่งเป็นวัยทำงาน การเดินทางจึงมักจะแบ่งเป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ “กลุ่มเดินทางกับครอบครัว” กลุ่มนี้จะต้องการที่พักและสถานที่ท่องเที่ยวที่เหมาะกับเด็กหรือไปได้ทั้งครอบครัว และอีกกลุ่มคือ “กลุ่มยังโสด” ซึ่งต้องการประสบการณ์การท่องเที่ยวหลากหลาย มีทั้งมาพักผ่อน และมาทำธุรกิจ