เปิดดีล AIS x อมตะ ยกระดับนิคมอุตสาหกรรมสู่ Smart City เทียบโมเดล “โยโกฮาม่า”

AIS สานต่อความร่วมมือกับอมตะ ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ปูพรมนำเทคโนโลยีสร้างโครงข่ายดิจิทัลภายในนิคมฯ เพื่อยกระดับนิคมอุตสาหกรรมสู่ Smart City ดึงดูดนักลงทุนจากต่างแดน โดยยกเทียบเท่าโมเดล “โยโกฮาม่า” ประเทศญี่ปุ่น

ปูพรม 4 ปี วางรากฐาน Infrastucture

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา AIS ได้ขับเคลื่อนองค์กรเพื่อให้เป็นมากกว่า “โอเปอเรเตอร์” ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ แต่ต้องต้องเป็นผู้ให้บริการ Digital Service ที่ครบวงจร ยิ่งในช่วงปีที่ผ่านมานี้เริ่มมีสัญญาณการมาของ 5G ทำให้ได้เห็น AIS เร่งสร้างพันธมิตรแก่ทุกอุตสาหกรรม เพื่อสร้างนวัตกรรมดิจิทัลที่ทันสมัย

ล่าสุด AIS ได้สานต่อความร่วมมือกับ “อมตะ” ในการเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City ด้วยการนำโครงข่ายดิจิทัลเข้าไปช่วยยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตในนิคมอุตสาหกรรม

บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2532 ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมอมตะ บริหารงานโดย “วิกรม กรมดิษฐ์” ประธานกรรมการ และ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) และได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2540

จริงๆ แล้วดีลนี้ได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2559 ภายใต้ “บริษัท อมตะ เน็ทเวอร์ค จำกัด” ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านหุ้น เป็นเงิน 100 ล้านบาท โดย บริษัท แอดวานซ์ บรอดแบนด์ เน็ทเวอร์ค จำกัด (ABN) ถือหุ้น 60% คิดเป็นเงินลงทุนรวม 60 ล้านบาท และบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) (AMATA) ถือหุ้น 40% คิดเป็นเงินลงทุนรวม 40 ล้านบาท

ในปีแรกที่เริ่มผนึกกำลังกันนั้น เป็นการเริ่มวางระบบโครงข่าย Infrastructure ต่างๆ ที่อมตะซิตี้ ชลบุรี  จากนั้นเมื่อมีการลงทุน 5G จึงสานต่อในการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการผลิตมากขึ้น

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ  AIS  กล่าวว่า

“ตั้งแต่ปี 2559  AIS และอมตะ ได้ทำงานร่วมกันในการนำโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่สำคัญและนำนวัตกรรม IoT เข้าไปสนับสนุนการบริหารงาน การผลิต และระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่อมตะซิตี้ชลบุรี ซึ่งวันนี้เมื่อเทคโนโลยี 5G มีความพร้อมและได้กลายเป็น The Real New Normal ด้านเทคโนโลยี ที่มีประสิทธิภาพทั้งด้านคุณสมบัติด้านความเร็ว ความเสถียร และการรองรับอุปกรณ์จำนวนมาก AIS จึงได้ขยายความร่วมมือกับอมตะไปอีกขั้น เพื่อสร้างเมืองอัจฉริยะที่สมบูรณ์แบบ

โดยนำเทคโนโลยีอัจฉริยะอย่าง 5G ทั้ง 5G Stand Alone (5G SA) และ 5G Network Slicing รวมถึงโครงข่ายใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) และ ICT Infrastructure เข้าไปยกระดับการทำงานในอมตะซิตี้ ชลบุรี ซึ่งมีโรงงานตั้งอยู่มากกว่า 750 แห่ง เพื่อเสริมขีดความสามารถด้านผลิตให้กับภาคอุตสาหกรรมไทยให้ทัดเทียมเวทีโลก ตลอดจนพัฒนาโซลูชั่นส์ที่เอื้อต่อการสร้างเมืองอัจฉริยะที่ทันสมัย ทั้งด้านการบริหารจัดการการใช้ทรัพยากร การขนส่ง และระบบการดูแลรักษาความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่”

สำหรับเหตุผลที่ AIS เลือกจับมือกับอมตะนั้น AIS มองว่าอมตะเป็นผู้นำด้านนิคมอุตสาหกรรม ต่างคนต่างเป็นเบอร์หนึ่งกันทั้งคู่ มีวิสัยทัศน์ที่ตรงกันในการยกระดับนิคมด้วยนวัตกรรม ซึ่ง AIS จะใช้โมเดลพาร์ตเนอร์อยู่แล้ว ไม่มีการลงทุนเองเพื่อสร้างแข่ง แต่เป็นการเติบโตไปด้วยกัน

ยกโมเดล “โยโกฮาม่า” ปั้นอมตะสู่ Smart City

เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในทุกอุตสาหกรรม รวมถึง 5G ที่จะเข้ามาเขย่าวงการครั้งใหญ่ ภาพของนิคมอุตสาหกรรม หรือภาคการผลิตต้องเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน จะต้องมีเทคโนโลยี ซึ่งมีการวางแผนว่านิคมฯ อมตะจะต้องเป็น Smart City เพื่อเพิ่มขีดจำกัดในการแข่งขันกับต่างประเทศให้ได้

ภาพรวมของอมตะในปัจจุบัน ถ้านับเฉพาะในประเทศไทย มีลูกค้าโรงงานรวมกว่า 1,200 โรง มีประชากรอาศัยเกือบ 3 แสนคน แต่เดิมอมตะใช้โครงข่ายการสื่อสารแบบเดิมๆ เป็นสายทองแดง การร่วมมือกับ AIS จึงมีการวางระบบไฟเบอร์ออฟติก ทำให้การสื่อสารรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ คล่องตัวขึ้น โรงงานอินเตอร์ต่างๆ ที่เวลาไปลงทุนต้องใช้ความรวดเร็ว ทำให้เกิดความแตกต่างจากอดีต ทำให้โรงงานทำงานได้คล่องตัวขึ้น เอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย

อมตะเองมีนโยบายการทำ Smart City การใช้ 5G Infrastructure จะช่วยยกระดับได้ ซึ่งมีเมือง “โยโกฮาม่า” เป็นโมเดล

วิกรม กรมดิษฐ์ เล่าว่า “ตอนนี้อมตะเปลี่ยนตัวเองจากสายการผลิตไปสู่นวัตกรรมใหม่ ร่วมกับเมืองโยโกฮาม่าเริ่มมา 4 ปีแล้ว จะเห็นว่าเมืองโยโกฮาม่าเป็น Smart City ทั้งเมืองเลย  ร่วมกับรัฐบาลโยโกฮาม่า มาตั้งเป็นโยโกฮาม่า 2 เรากำลังก้าวเข้าสู่ Smart City ไม่ใช่เรื่องสายการผลิตอย่างเดิม การมี AIS มาช่วยทำให้ขยับตัวได้คล่อง”

ยกตัวอย่าง “ฮิตาชิ” มาสร้าง Lumada Center แห่งแรกของโลก เรียกว่าเป็นสมองของ IoT การทำงานต่อไปจะไม่ใช่แค่คนกับเครื่องจักร แต่ต่อไปจะเป็นเครื่องจักรจะคุยกับเครื่องจักรได้ โดยใช้ Smart City ในแบบโยโกฮาม่า แต่ใช้ระบบของฮิตาชิเข้ามาต่อยอด โรงงานรันด้วยตัวเองได้มากขึ้น เพราะบางช่วงถ้าต้องใช้คน บางครั้งจะมีเรื่องของเวลา

ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้โรงงาน ดูดนักลงทุนต่างชาติ

ความสำคัญของการร่วมมือกันครั้งนี้ นอกจากทางโรงงานจะได้เทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานแล้ว การยกระดับสู่ Smart City ยังช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรม พร้อมทั้งขยายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลไปยังนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ ใน EEC

วิกรมเสริมว่า พื้นที่ EEC ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่จะเชื่อมโยงเส้นทางการค้า – การลงทุนของภูมิภาคอาเซียนเข้ากับตลาดโลก อมตะจึงมีความตั้งใจที่จะพัฒนาอมตะซิตี้ ชลบุรี ไปสู่มาตรฐานสากล และก้าวสู่การเป็น Smart City อย่างสมบูรณ์แบบพร้อมทั้งเป็นต้นแบบให้กับนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลกให้สนใจมาสร้างฐานการผลิตในพื้นที่ EEC

ความร่วมมือกับ AIS นำเทคโนโลยีอัจฉริยะ 5G และนวัตกรรมใหม่ๆ มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และความสามารถในการแข่งขันให้โรงงานอุตสาหกรรม เพื่อลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้พลังงาน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทยก้าวทันประเทศชั้นนำอย่าง จีน เกาหลีใต้ หรือญี่ปุ่น ที่ได้นำ 5G มาเพิ่มมูลค่าไปแล้ว

ถ้ารวมกิจการในประเทศเวียดนามจะมีโรงงานรวม 1,400 โรง คิดเป็นมูลค่า 2 ล้านล้านบาท โดยโรงงานส่วนใหญ่ 85% เป็นโรงงานข้ามชาติ มีความต้องการประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และนวัตกรรมใหม่ๆ อยู่แล้ว

ปัจจุบันอมตะมีคนทำงานมาจาก 30 กว่าประเทศ รวม 3 แสนกว่าคน การทำ Smart City คิดค้น วิจัยสิ่งใหม่ๆ คู่กับสายการผลิตได้ วิกรมคาดว่าต่อไปจะขยายไปได้ถึง 3,000 กว่าโรง มีประชากรทำงานกว่าล้านคนได้ ซึ่งต่อไปจะไม่ใช่แค่เรื่องแรงงาน แต่เป็นทักษะใหม่ๆ

“อมตะจะไม่ใช่แค่ขายพื้นที่เปล่าๆ แต่ต้องเป็น Intelligence ต้องสร้างผลประโยชน์ระยะยาว ทำให้ไทยแข่งขันได้ดีขึ้น เพราะไทยยังไม่มี Smart City ต้องสร้างเป็นสินค้าใหม่ ทำให้แข่งกับในภูมิภาคได้ ต้องเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ การบิรหารงานใหม่ๆ เข้ามาเติม”

เทคโนโลยีช่วยลับสกิล เสริมทักษะมนุษย์

เทคโนโลยีเข้ามา หลายคนกังวลเรื่องบทบาทการทำงานของมนุษย์ จะทำให้คนตกงานมากขึ้นหรือไม่?

วิกรมมองในประเด็นนี้ว่า ต่อให้มีเทคโนโลยีอย่างไร คนก็ยังสำคัญ แต่การจ้างการจะเปลี่ยนไป จะเป็นคนที่มีสกิลใหม่ๆ เป็นไฮเทคเทคโนโลยี นอกจากพัฒนาอุตสาหกรรม จะพัฒนาแรงงานคนด้วย จะช่วยปลดล็อกแก้ปัญหาแรงงานราคาถูกที่สู้กับต่างชาติไม่ได้ แก้เชิงพัฒนาคน แต่ทางรัฐบาลต้องช่วยพัฒนาทักษะให้มีฝีมือ คนที่มีทักษะจะอยู่ได้ในยุคดิจิทัล

ยกตัวอย่างตลาดไต้หวันน่าสนใจ มีโครงการซอฟต์แวร์พาร์ค ในพื้นที่ 120 ไร่ สร้างเป็นแท่งๆ มีแรงงาน 20,000-30,000 คน แรงงานปริญญาตรี-เอกทั้งนั้น การผลิตมีมูลค่า GDP ถึง 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เราต้องมาทำเรื่องนวัตกรรมใหม่ ต้องเรียนรู้ว่าเอานวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามา การสื่อสารเร็วๆ ทำให้คนไทยมีความรู้ไปสู่สายตรงนั้น ต้องเรียนรู้วิทยาศาสตร์”

เท่ากับว่าการร่วมมือกันของ 2 ยักษ์ใหญ่ในครั้งนี้ จะช่วยยกระดับภาพอุตสาหกรรมในประทเศไทยได้อย่างสิ้นเชิง รวมถึงจะสามารถเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงานต่อไปในอนาคตได้ด้วย เมื่อมีนวัตกรรมเข้ามา ช่วยส่งเสริมให้คนมีทักษะมากขึ้น ช่วยเพิ่มขีดจำกัดในการแข่งขันกับต่างประเทศได้อย่างแน่นอน

“ประเทศไทยมีแค่งานสายการผลิต ถ้ามีการเพิ่มสายนวัตกรรม เป็นการเพิ่มโอกาสของคนในการทำงานในแง่ของเทคโนโลยีได้ เป็นการจ้างงานให้มีแรงงานสูงขึ้น”