ธนาคารไทย ตามหา “ขุมทรัพย์ใหม่” เเย่งลงทุนอาเซียน ส่ง “ดิจิทัลเเบงกิ้ง” เข้าถึงท้องถิ่น

เห็นได้ชัดว่าช่วงนี้ ธนาคารใหญ่ในไทยกำลังหา “บ่อเงิน” เเห่งใหม่ ด้วยการเข้าไปเจาะประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน
ที่เป็นตลาดเติบโตใหม่ เป็นโอกาสทองที่จะเข้าไปปูทางสร้าง “ดิจิทัลเเบงกิ้ง” ให้เข้าถึงประชากรจำนวนมาก
ในยามที่คู่เเข่งยังไม่เยอะ

ธนาคารกรุงเทพ เพิ่งปิดดีลซื้อ “Permata” เเบงก์ใหญ่อันดับ 12 ของอินโดนีเซียเเบบ “เสร็จสมบูรณ์” ไปหมาดๆ
ขณะที่ “เมียนมา” ดึงดูดสุดๆ ทั้ง SCB เเละ KBANK รุมเเย่งเข้าลงทุน ส่วนกรุงศรี ขอขยับไปลุยฟิลิปปินส์เเละเวียดนาม

อินโดฯ เนื้อหอม ตลาดใหญ่…โตได้อีก

เมื่อ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เพิ่งปิดดีลซื้อ “พอร์มาตา” (Permata) ธนาคารใหญ่อินโดนีเซีย เเบบเสร็จสมบูรณ์ไปเป็นที่เรียบร้อย หลังประกาศทำสัญญาซื้อขายกันมาตั้งเเต่ช่วงปลายปี 2019 โดยมีการโอนเงินกว่า 73,722 ล้านบาทจ่ายค่าหุ้น 89.12% พร้อมเดินหน้าทำคำเสนอซื้อหุ้นที่เหลือทั้งหมดอีก 10.88% จากผู้ถือหุ้นรายย่อยต่อไป ซึ่งจะทำให้ BBL เป็นเจ้าของพอร์มาตา 100% ในอนาคต

BBL ปิดดีลซื้อ “เพอร์มาตา” เเบงก์อินโดฯ โอนเงิน 7.37 หมื่นล้าน จ่ายค่าหุ้น 89.12% เสร็จสมบูรณ์

ถือเป็นดีลประวัติศาสตร์ของเเบงก์ในอาเซียน โดยพอร์มาตา เป็นธนาคารขนาดใหญ่อันดับ 12 ของอินโดนีเซีย มีสินทรัพย์ 366,595 ล้านบาท (หรือประมาณ 167,394,076 ล้านรูเปียห์ หรือ 11,349 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) มีฐานลูกค้าจำนวน 3.75 ล้านราย และสาขา 312 แห่งทั่วอินโดนีเซีย มีจุดเด่นเรื่องฐานเงินฝากและเทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูง นับเป็นสมาชิกใหม่ในกลุ่มธุรกิจการเงินของธนาคารกรุงเทพที่มีขนาดใหญ่ที่สุด

ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า การดำเนินการในครั้งนี้
จะส่งผลให้สัดส่วนของสินเชื่อในตลาดต่างประเทศต่อสินเชื่อรวมของ BBL เพิ่มขึ้นจาก 17% เป็น 25%
เป็นไปตามกลยุทธ์เพื่อการเติบโตของธนาคาร โดยวางเป้าหมายจะเจาะลูกค้าลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และ SMEs
ทั้งนี้ BBL ได้เข้าไปเปิดสาขาในกรุงจาการ์ตาเเห่งเเรก มาตั้งเเต่ปี 1968

ตลาดการเงินอินโดนีเซียนั้นหอมหวานในสายตายักษ์ใหญ่การเงินไทยและญี่ปุ่น เพราะธนาคารกรุงเทพไม่ใช่รายเดียวที่สนใจซื้อหุ้นธนาคารอินโดนีเซีย โดย SMFG หรือ Sumitomo Mitsui Financial Group Inc. ก็ยื่นข้อเสนอประมูลครั้งนี้เช่นกัน เเต่พ่ายไป

การเเข่งขันของธุรกิจการเงินในอินโดนีเซียคงดุเดือดต่อไป ด้วยความน่าดึงดูดของศักยภาพการเติบโตด้านเศรษฐกิจ ที่โตกว่า 5% เเละเเม้จะเจอพิษ COVID-19 ในไตรมาส 1/2020 ทำให้ขยายตัวเพียง 2.97% ต่ำสุดในรอบ 19 ปี เเต่ไทยก็จีดีพีหดตัวถึง -1.8%

อีกทั้ง อินโดนีเซียยังมีประชากรกว่า 260 ล้านคน มากเป็นอันดับ 4 ของโลกเเละการเมืองมีเสถียรภาพ ผู้คนในท้องถิ่นอีกจำนวนมหาศาลที่ยังไม่เข้าถึงดิจิทัลเเบงกิ้ง เเละอัตราการเข้าถึงสินเชื่อยังอยู่ในระดับต่ำที่ 36% ในขณะที่ประเทศไทยอัตรานี้เกิน 100% แล้ว เเสดงว่ามี “ช่องว่าง” ของตลาดอีกมาก เป็นโอกาสทองที่ต้องรีบคว้าไว้ให้ได้

ด้านคู่เเข่งอย่าง ธนาคารกสิกรไทย (KBank) ไม่น้อยหน้า บุกตลาดอินโดฯ เช่นเดียวกัน ด้วยการเข้าถือหุ้นในธนาคาร “แมสเปี้ยน” เต็มเพดาน 40% วางเป้าปั้นธุรกรรมดิจิทัล เจาะลูกค้าท้องถิ่น

โดยเมื่อต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา บริษัท กสิกร วิชั่น ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้น ธนาคารแมสเปี้ยน (PT Bank Maspion Indonesia Tbk) ของอินโดนีเซีย ในสัดส่วนถือหุ้นรวมเป็น 40% โดยเป็นการเพิ่มสัดส่วนจากที่ธนาคารกสิกรไทยมีอยู่เดิม 9.99% ตั้งแต่ปี 2017

KBank สยายปีกอาเซียน บุก “อินโดฯ-เมียนมา” ลุยซื้อหุ้นเเบงก์เเมสเปี้ยน 40%

“การเพิ่มสัดส่วนถือหุ้นในธนาคารแมสเปี้ยน ถือเป็นทางเลือกของการเข้าไปลงทุนที่คุ้มค่าต่างจากการที่ต้องเข้าไปลงทุนเองใหม่ทั้งหมด แม้ธนาคารแมสเปี้ยนยังเป็นธนาคารขนาดเล็ก แต่มีเครือข่ายสาขาครอบคลุมครบทุกเมืองสำคัญ” ภัทรพงศ์ กัณหสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย และประธานกรรมการ บริษัท กสิกร วิชั่น จำกัด (KVision) กล่าว

ธนาคารแมสเปี้ยน (PT Bank Maspion Indonesia Tbk) ในอินโดนีเซีย

ผู้บริหารกสิกรไทย มองว่าอินโดนีเซีย เป็นตลาดขนาดใหญ่ที่ยังเติบโตและมีอนาคตสดใสในอาเซียน
ที่สามารถใช้ความเชี่ยวชาญทางผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคาร รวมถึงจะใช้รูปแบบการทำธุรกิจที่เป็น Asset-Light และการลงทุนพัฒนาดิจิทัลแบงกิ้ง ตามแนวโน้มพฤติกรรมของลูกค้าในอินโดนีเซียที่จะทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้นเรื่อย ๆ

“KBank จะมุ่งเน้นการให้สินเชื่อให้กับกลุ่มลูกค้าขนาดกลางและย่อมในอินโดฯ โดยใช้ Data Lending และ Formula Lending Model ผลิตภัณฑ์ Payroll เเละขยายธุรกิจร้านค้ารับบัตร รองรับการชำระเงินเเบบไร้เงินสด ผลักดันสินเชื่อมีหลักประกัน เช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อบุคคล ฯลฯ”

เปิดโลกดิจิทัล ขุมทรัพย์ “เมียนมา”

นอกจากเข้าลงทุนในอินโดนีเซียเเล้ว KBank ยังขยับไปหาขุมทรัพย์ใหม่ เพื่อนบ้านที่คุ้นเคยกันดีอย่าง “เมียนมา”
โดยธนาคารกสิกรไทย ได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการโดยธนาคารกลางของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
ในการเข้าร่วมลงทุนในสัดส่วน 35% ของ ธนาคารเอยาวดี ฟาร์มเมอร์ ดีเวลลอปเม้นท์แบงก์ หรือ เอแบงก์
(Ayeyarwaddy Farmers Development Bank – A bank) ซึ่งธนาคารกสิกรไทย เป็นธนาคารต่างชาติรายแรกที่ได้รับการอนุญาตให้เข้าไปลงทุนในธนาคารพาณิชย์ของเมียนมา

“การร่วมลงทุนในธนาคารกับเอแบงก์ในครั้งนี้ เป็นรูปแบบการเข้าไปดำเนินธุรกิจในประเทศเมียนมา
ที่ใช้เงินลงทุนที่น้อยและมีประสิทธิผลกว่าการเข้าไปดำเนินธุรกิจในรูปแบบสาขาต่างประเทศและธนาคารท้องถิ่น
โดยการเข้าไปร่วมลงทุนในเอแบงก์สามารถดำเนินธุรกิจได้ทันที”

สำหรับ “เอแบงก์” ปัจจุบันมีสินทรัพย์ 314 พันล้านจ๊าด หรือราว 6.4 พันล้านบาท มีทุนจดทะเบียน 40 พันล้านจ๊าด หรือ 820 ล้านบาท ก่อตั้งเมื่อปี 2014

ธนาคารเอยาวดี ฟาร์มเมอร์ ดีเวลลอปเม้นท์แบงก์ หรือ เอแบงก์ (Ayeyarwaddy Farmers Development Bank – A bank) ในเมียนมา

กลยุทธ์ที่สำคัญของ KBank ในการรุกเมียนมา คือการขยายธุรกิจธนาคารดิจิทัล ที่มุ่งเน้นการพัฒนาระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ พัฒนาโมบายล์แอปพลิเคชัน เพื่อครอบคลุมลูกค้าส่วนบุคคลทั่วประเทศ ซึ่งยังมีสัดส่วนในการเข้าถึงธนาคารค่อนข้างต่ำ รวมถึงธุรกิจรับชำระเงิน เพื่อตอบโจทย์การชำระสินค้าและบริการ ซึ่งจะช่วยลดภาระในการใช้และบริหารเงินสดในประเทศรวมถึงจะขยายช่องทางธนาคารตัวแทน (Agent Banking) และการเพิ่มจำนวนเครื่อง ATM ในเมียนมาด้วย

ฝั่ง “ธนาคารไทยพาณิชย์” (SCB) ก็ประกาศบุกเมียนมาเต็มสูบเช่นกัน หลังรับอนุมัติจัดตั้ง “ธนาคารลูก” อย่างเป็นทางการ โดยตั้งเป้า 5 ปี ยอดสินเชื่อแตะ 7 พันล้านบาท เจาะลูกค้าทุกกลุ่มทั้งรายใหญ่ SMEs เเละรายย่อย

อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า
เมียนมาเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจและธุรกิจอันดับต้นๆ ของภูมิภาคที่นักลงทุนจากทั่วทุกมุมโลกให้ความสนใจ

โดยใน 5 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการขยายตัวของจีดีพีเฉลี่ยประมาณ 6-7% และมีมูลค่าการลงทุนตรงจากประเทศไทย (FDI) ที่ได้รับการอนุมัติแล้วจนถึงปัจจุบันที่ 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่เป็นอันดับที่ 3 รองจากสิงคโปร์และจีน นอกจากนั้นประเทศไทยยังเป็นคู่ค้าในลำดับที่ 2 รองจากจีน มีมูลค่าการค้า 7.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2019 โดยไทยพาณิชย์เริ่มต้นให้บริการผ่านสำนักงานผู้แทนธนาคารในเมียนมาตั้งแต่ปี 2012

ทั้งนี้ ภายใต้ Subsidiary License ทำให้สามารถเปิดธนาคารในรูปแบบบริษัทลูกที่มีธนาคารไทยพาณิชย์เป็นผู้ถือหุ้น 100% และสามารถประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ได้เต็มรูปแบบเหมือนธนาคารท้องถิ่น เเละสามารถเปิดสาขาใน
แหล่งธุรกิจที่สำคัญได้ 10 สาขา

โดย SCB วางแผนจะทำตลาดเจาะลูกค้ารายย่อยชาวเมียนมา ด้วยผลิตภัณฑ์ทางด้านเงินฝาก สินเชื่อบุคคล ดิจิทัลแบงกิ้ง และกลุ่มลูกค้ามั่งคั่ง รวมถึงกลุ่มนักลงทุนไทยที่เข้าไปลงทุนในเมียนมา ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้านักธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนที่เมียนมาและมีความสนใจใช้บริการกับธนาคารแล้วกว่า 100 ราย จากกลุ่มอุปโภคบริโภค พลังงาน นิคมอุตสาหกรรม ภาคการผลิต และอุตสาหกรรมการเกษตร โดยธนาคารตั้งเป้าประมาณการวงเงินสินเชื่อ 7,000 ล้านบาท ภายในปี 2024

“ตลาดลูกค้ารายย่อยของเมียนมา ถือว่าเป็นโอกาสที่น่าสนใจอย่างมากสำหรับธุรกิจธนาคาร ด้วยประชากรกว่า 54
ล้านคน ถือเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพที่ธนาคารจะพัฒนาการเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินขั้นพื้นฐานให้แก่ชาวเมียนมา”

ลุยปล่อยสินเชื่อรายย่อย ฟิลิปปินส์-เวียดนาม 

ขณะที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กำลังเดินหน้าร่วมมือกับธนาคารพันธมิตรที่อยู่ในเครือข่าย MUFG ที่เป็นบริษัทเเม่ โดยมีการเข้าไปร่วมทุน (Joint Venture) โดยถือหุ้น 50% ในบริษัท เอสบี ไฟแนนซ์ คอมปานี อิงค์ (SBF)
บริษัทไฟแนนซ์ในฟิลิปปินส์ ซึ่ง SBF เป็นบริษัทลูกของ Security Bank Corporation ที่ทาง MUFG ถือหุ้นอยู่ 20%

“ฐากร ปิยะพันธ์” ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์เเละผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรม กล่าวว่า มีการศึกษาตลาดเเละเตรียมเเผนงานร่วมกันเรียบร้อย ซึ่งจะเริ่มรุกตลาดด้วยสินเชื่อส่วนบุคคลก่อน จะนำกรุงศรี เฟิร์สช้อยส์ ไปทดลองเเละดูว่าเเบบไหนได้ผลดี จากนั้นปีต่อไปจึงจะขยายไปสินเชื่อรถจักรยานยนต์และรถยนต์

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรุงศรี คอนซูเมอร์ ได้เริ่มธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ในลาว (asset รวมอยู่ที่ 6 พันล้านบาท) และธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ในกัมพูชา (asset รวมอยู่ที่ 3.3 พันล้านบาท)

นอกจากฟิลิปปินส์เเล้ว ในเเผนประจำปี 2020 ของกรุงศรียังกำลังมองหาโอกาสลงทุนในเวียดนามเเละอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดใหญ่เเละมีการเติบโตสูงในกลุ่ม CLMV คาดว่าจะมีการนำ “สินเชื่อรายย่อย” ไปตีตลาดก่อน จากนั้นจึงขยายไปสู่ธุรกิจใหญ่เเละบริการอื่นๆ

ธุรกิจการเงินในไทยต้องเเข่งขันสูง มีกฎเข้มงวดเเถมตลาดยังอิ่มตัวเเล้ว ส่วนตลาดในประเทศเพื่อนบ้านยังเติบโตได้อีก เเน่นอนว่าหลังผ่านพ้นวิกฤต COVID-19 เราคงจะได้เห็น “เเบงก์ไทย” หาลู่ทางสู่โอกาสใหม่กันอีกหลายเจ้า