ออกแบบ “ออฟฟิศ” หลัง COVID-19 : 4 สิ่งที่ควรปรับด่วน และ 4 สิ่งที่ควรเปลี่ยนในระยะยาว

(Photo : Fauxels)
หลายบริษัทเริ่มให้พนักงานกลับไปทำงานที่ออฟฟิศแล้ว หรือแบ่งทีมกันทยอยกลับไปใช้ชีวิต (เกือบ) ปกติในที่ทำงาน แต่ไวรัส COVID-19 ยังไม่สามารถรักษาหรือป้องกันได้ 100% ทำให้การออกแบบออฟฟิศควรปรับใหม่เพื่อรับมือกับโรคระบาด ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

Gensler บริษัทที่ปรึกษาและออกแบบสถาปัตยกรรมระดับโลก ศึกษาวิจัยการปรับการดีไซน์ “ออฟฟิศ” เมื่อเรายังคงต้องรับมือกับไวรัส COVID-19 และต้องคำนึงถึงอนาคตที่โลกอาจเกิดโรคระบาดใหม่ขึ้นอีก

โดยบริษัทให้คอนเซ็ปต์คร่าวๆ ว่า การออกแบบออฟฟิศหลังจากนี้จะต้องคำนึงถึง “สุขภาพส่วนบุคคล” เป็นหลัก และต้องปรับเปลี่ยนได้ง่าย เพราะการค้นพบทางการแพทย์อาจจะเปลี่ยนไปได้ตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่น ขณะนี้แพทย์แนะนำให้คนเราอยู่ห่างกันอย่างน้อย 1.8 เมตรเพื่อป้องกันโรค ถ้าหากอนาคตมีการเปลี่ยนแปลงระยะดังกล่าว ออฟฟิศก็จะต้องเปลี่ยนตาม

ที่ผ่านมามีหน่วยงานให้การรับรองอาคารที่ตรวจสอบแล้วว่ามีระบบสร้างความปลอดภัยแก่สุขภาพมนุษย์ คือ มาตรฐานอาคาร WELL เป็นสถาบันตรวจสอบและให้คะแนนเกี่ยวกับระบบน้ำ อากาศ แสง ฯลฯ แต่เมื่อพบกับโรคระบาด Gensler จึงแนะนำการปรับปรุงอาคารสำนักงานดังต่อไปนี้ เพื่อทำให้ผู้ใช้อาคารเกิดความมั่นใจมากยิ่งขึ้น

 

“4 สิ่งที่ควรปรับในระยะสั้น”

1.เปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับพื้นที่พบปะของผู้คน

คงไม่ใช่เรื่องที่ดีนักหากจะให้คนเข้าไปแออัดกันในห้องประชุมที่ระบบถ่ายเทอากาศไม่ดีพอ หลังจากนี้เจ้าของออฟฟิศหรืออาคารควรลดอัตราจำนวนคนที่จุได้ในห้องประชุมลงครึ่งหนึ่ง ส่วนคนที่เหลือที่เข้ามาไม่ได้ ควรเข้าร่วมประชุมแบบเสมือนจริงแทน

2.ออกแนวทางปฏิบัติการทำความสะอาดแบบลงดีเทล

แม้จะมีเครื่องจ่ายเจลล้างมือ น้ำยาล้างมือในห้องน้ำ และการเช็ดทำความสะอาดเปลี่ยนมาใช้น้ำยาฆ่าเชื้อแล้ว แต่ผู้ใช้อาคารก็ยังต้องการความอุ่นใจมากกว่านั้น

Gensler พบว่าพื้นที่ที่คนให้ความสนใจเรื่องความสะอาดมากที่สุดคือ “โต๊ะทำงานแบบใช้ร่วมกัน” ดังนั้นเจ้าของอาคารควรออกแนวทางปฏิบัติเน้นย้ำการทำความสะอาดสำหรับโต๊ะทำงานแบบใช้ร่วมกัน รวมถึงพื้นที่ใช้ร่วมกันอื่นๆ เช่น ห้องประชุม โต๊ะประชาสัมพันธ์ พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ และควรจะใช้มาตรฐานกลางจากองค์กรภายนอกเพื่อให้ผู้ใช้อาคารมั่นใจว่าเป็นแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม

(Photo: Marley Clovelly)

3.เน้นเรื่องคุณภาพอากาศในอาคาร

เทคโนโลยีมีส่วนสำคัญยิ่งในการเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับการใช้อาคาร สำหรับอาคารที่ก่อสร้างเสร็จไปแล้ว อาจจะหาเทคโนโลยีช่วยกรองและทำลายไวรัส/แบคทีเรียภายในอาคาร เช่น การติดตั้งระบบแสงยูวีฆ่าเชื้อ

4.แสดงระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับสุขอนามัย สร้างความมั่นใจ

เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ใช้อาคาร เจ้าของอาคารควรแสดงผลการทำความสะอาดและระเบียบปฏิบัติตามจุดต่างๆ ในอาคารที่คนส่วนใหญ่จะรับข้อมูลได้ เช่น ล็อบบี้ ลิฟต์ หรือส่งข้อมูลผ่านทางแอปพลิเคชัน ในอนาคต อาคารสำนักงานอาจจะมีการวัดเกรดความสะอาดเหมือนกับที่ร้านอาหารมีก็ได้

 

“4 สิ่งที่ควรปรับในระยะยาว”

ต่อไปนี้คือการปรับการออกแบบออฟฟิศในอนาคต โดยตั้งอยู่บนสมมติฐานว่าผู้ใช้อาคารจะยังเน้นเรื่องสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญก่อนเลือกเช่าออฟฟิศ

1.เปลี่ยนแนวคิดด้านระบบถ่ายเทอากาศ

ใช้หน้าต่างที่สามารถเปิดปิดได้ หน้าต่างแบบนี้น่าจะกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งเพราะสามารถเปิดเพื่อช่วยถ่ายเทอากาศในอาคารได้ง่าย และยังทำให้ผู้เช่ารู้สึกว่าตนเองสามารถควบคุมสภาพแวดล้อมอาคารในส่วนที่ตนเองเช่าอยู่ได้มากขึ้น

(Photo: Andrea Piacquadio)

2.เพิ่มพื้นที่กลางแจ้ง

ก่อนหน้านี้ เทรนด์การออกแบบอาคารสำนักงานเริ่มให้ความสำคัญกับพื้นที่กลางแจ้งมากขึ้นอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการใช้พื้นที่รูฟท็อปหรือระเบียงกลางแจ้งขนาดใหญ่ เมื่อพบกับโรคระบาด เจ้าของโครงการน่าจะให้ความสำคัญมากขึ้นกับการเพิ่มการใช้งานรูฟท็อปทั้งในโครงการใหม่หรือการรีโนเวตตึกเก่า เพื่อให้เป็นพื้นที่รับอากาศบริสุทธิ์ของผู้ใช้อาคาร

3.องค์ประกอบ “ต้นไม้” ภายในอาคาร

การออกแบบโดยผสมผสานธรรมชาติไว้ในอาคาร (biophilic design) จะได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น เพราะการนำต้นไม้และการจำลองธรรมชาติมาไว้ในออฟฟิศช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ ลดความเครียด ช่วยให้มนุษย์ฟื้นจากความเจ็บป่วยได้เร็วขึ้น

(Photo: Marc Mueller)

4.เปลี่ยน floor-plan

หลายอย่างในการออกแบบ floor-plan และองค์ประกอบในอาคารจะเปลี่ยนไป เช่น ขณะนี้หลายอาคารพยายามลดความหนาแน่นของจำนวนคนภายในอาคารโดยคิดภาพเพียงระยะสั้น แต่การลดความหนาแน่นเหล่านี้อาจจะต้องคิดต่อให้เป็นภาพระยะยาว

จุดสำคัญยิ่งอีกจุดหนึ่งในอาคารคือการออกแบบ “ห้องน้ำ” ซึ่งเป็นจุดใช้งานร่วมกันหลายคน ออฟฟิศควรดีไซน์ห้องน้ำไร้ประตู เหมือนที่ใช้งานตามสนามบิน เพื่อลดการสัมผัสมือจับประตูอันเป็นจุดเสี่ยงการแพร่ระบาดของเชื้อโรค หรืออาจจะเปลี่ยนประตูเป็นแบบใช้เท้าเปิดปิด ใช้ประตูอัตโนมัติ ประตูสั่งการด้วยเสียง หรือสั่งการด้วยการเคลื่อนไหวมือ (hand gesture)

Gensler ย้ำว่า การดีไซน์อาคารเพื่อรับมือโรคระบาดยังเป็นสิ่งที่ต้องศึกษาต่อเนื่อง เพื่อหาโซลูชันที่ดีที่สุดในการปกป้องผู้ใช้อาคารทุกคน