KBank แยก กสิกร อินเวสเจอร์ เป็นบริษัทใหม่ โฟกัสธุรกิจสินเชื่อกับลูกค้ารายย่อยที่แบงก์เข้าไม่ถึง

KBank ประกาศแยก “บริษัท กสิกร อินเวสเจอร์ จำกัด” หรือ KIV เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการรุกธุรกิจให้บริการการเงินกับลูกค้ารายย่อย โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่ธนาคารเข้าไม่ถึง จากการร่วมทุนกับบริษัทต่างๆ

ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย (KBank) กล่าวถึงการดำเนินการของธุรกิจธนาคารในปัจจุบันทั้ง 4 ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านของบริการจ่ายเงิน บริการสินเชื่อทั้งลูกค้าบริษัทและลูกค้ารายบุคคล บริการด้านการลงทุนและประกัน รวมถึงการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ได้กล่าวถึงการแยก บริษัท กสิกร อินเวสเจอร์ จำกัด หรือ KIV นั้นเพื่อสร้างรายได้บนความเสี่ยงที่คุ้มค่า ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม และมองว่าธุรกิจ KIV มีความคล้ายคลึงกับธุรกิจของธนาคารใน 4 ด้านในข้างต้น แต่ลูกค้าของ KIV แตกต่างกับธุรกิจของธนาคาร ซึ่งต้องใช้วิธีคิดที่แตกต่างไปจากเดิม

โดยเธอได้กล่าวว่าก่อนที่จะมีการเปิดตัว KIV ในวันนี้ได้มีการทดลอง แยกธุรกิจมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว เมื่อประสบความสำเร็จจึงค่อยแยกตัวออกมา เธอยังได้กล่าวเสริมว่า KIV คือ Game Changer ของ KBank สามารถเป็นแหล่งรายได้ใหม่ และยังทำให้ลูกค้าเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากกว่าเดิม

ปัจจุบัน บริษัทที่อยู่ในโครงสร้างของ KIV ประกอบด้วย 14 บริษัท มีมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 30,000 ล้านบาท โดยบริษัทที่น่าสนใจเช่น การลงทุนใน Grab ของธนาคาร การร่วมทุนกับ LINE ในชื่อ Kasikorn LINE ที่เป็นเจ้าของ LINE BK การร่วมทุนกับกลุ่มคาราบาวภายใต้ชื่อ KBao เป็นต้น

ข้อมูลจาก KBank

พัชร สมะลาภา Group Chairman ของ บริษัท กสิกร อินเวสเจอร์ จำกัด ได้กล่าวถึงปัญหาของลูกค้ารายย่อยนั้นไม่สามารถที่จะเข้าถึงสินเชื่อได้ ซึ่งเขาให้ข้อมูลว่า 60% ของผู้ขอสินเชื่อนั้นธนาคารไม่แน่ใจว่าจะกลับมาจ่ายเงินหรือไม่ ขณะเดียวกันทางธนาคารเองก็ต้องแบกรับความเสี่ยงจากปัญหาผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้จากการสำรองหนี้

เขาชี้ว่าเป้าหมายของ KIV คือ เพิ่มความสามารถในการให้บริการการเงินกับกลุ่มลูกค้ารายย่อย ซึ่งมีโจทย์สำคัญคือ ต้องลดต้นทุนการดำเนินงาน (Operating Cost) และลดต้นทุนความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อ (Credit Cost) ซึ่งจะทำให้สามารถดำเนินงานในการปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น

นอกจากนี้ KIV ยังได้อาศัยความเชี่ยวชาญของพันธมิตรในแต่ละด้าน รวมกับการใช้โครงสร้างและทรัพยากรของธนาคารกสิกรไทยที่มีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของข้อมูล ระบบไอที เงินทุนซึ่งมีต้นทุนการเงินที่ถูกกว่า

พัชรยังชี้ว่ากระบวนการทำงานของ KIV ได้แตกต่างไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นการใช้พนักงานเข้ามาตรวจสอบลูกค้าว่ามีตัวตนจริงๆ ไม่ใช้เอกสารปลอม หรือแม้แต่กรณีการปล่อยสินเชื่อกับลูกค้าที่หาเช้ากินค่ำนั้นก็ดูวงเงินที่เหมาะสม ซึ่งผลที่ได้คือ NPL ของ KIV ลดลงมาต่ำแล้ว

ขณะเดียวกันในการร่วมทุนกับพันธมิตรนั้นก็ทำให้ KIV สามารถเก็บเงินจากลูกค้าที่เป็นหนี้เสียได้มากขึ้น ส่งผลทำให้ Credit Cost ลดลง

โดย KIV ตั้งเป้าว่าในปีนี้จะมีกำไรราวๆ 900-1,000 ล้านบาท ขณะที่เป้าหมายในปี 2026 จะมีมูลค่าของพอร์ตสินเชื่อ 75,000-80,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่า 1 เท่าเมื่อเทียบกับพอร์ตสินเชื่อในปัจจุบัน และคาดว่าจะมีกำไรมากถึง 4,500-5,000 ล้านบาท