ศูนย์วิจัยกสิกรไทยออกบทวิเคราะห์เกี่ยวกับกลุ่มธนาคารไทยที่จะมีการประกาศผลประกอบการในไตรมาส 2 นี้ โดยคาดว่าอัตราการเติบโตของสินเชื่อนั้นจะอยู่ในช่วง 0.5-0.7% เท่านั้น ทางด้านของ NPL นั้นจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่ครึ่งหลังของปีนี้ก็มองว่ามีโจทย์ท้าทายรออยู่ข้างหน้า ซึ่งอาจกดดันอัตราการทำกำไรได้
รายงานล่าสุดเกี่ยวกับกลุ่มธนาคารไทยที่จัดทำโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ซึ่งมองภาพรวมของอุตสาหกรรมธนาคารไทยที่กำลังจะมีประกาศผลประกอบการในไตรมาส 2 นี้ โดยคาดการณ์ว่าในไตรมาส 2 นี้กำไรรวมของกลุ่มธนาคารไทยจะอยู่ที่ 64,300-66,300 ล้านบาท และกำไรในช่วงครึ่งปีแรกนั้นอยู่ที่ 119,000-121,000 ล้านบาท
ในไตรมาส 2 นี้รายงานดังกล่าวยังชี้ถึงการเติบโตของสินเชื่อที่ขยายตัวช้าลงอยู่ที่ 0.5-0.7% เท่านั้น รวมถึงต้นทุนของธนาคารที่เพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มในช่วงที่ผ่านมา ปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลทำให้รายได้ดอกเบี้ยและส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ของกลุ่มธนาคารไทยขยับเพิ่มขึ้นได้ในกรอบจำกัด โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 2.96-3.00% เท่านั้นในไตรมาส 2 นี้
ขณะที่เรื่องของหนี้เสีย (NPL) รายงานดังกล่าวชี้ว่า คุณภาพหนี้อาจด้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มลูกค้าเปราะบางและกลุ่มลูกหนี้ที่มีปัญหาเฉพาะ สาเหตุสำคัญคือเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวช้า และลูกค้าบางส่วนทยอยออกจาก มาตรการช่วยเหลือของธนาคาร
บทวิเคราะห์ดังกล่าวยังชี้ถึงอุปสรรคของกลุ่มธนาคารไทยครึ่งปีหลังไม่ว่าจะเป็น
- สภาวะเศรษฐกิจไทย ในรายงานชี้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจท่ีฟื้นตัวแบบไม่ทั่วถึงยังส่งผลกระทบต่อสถานการณ์รายได้และความสามารถในการชำระคืนหนี้ของลูกหนี้บางกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจและครัวเรือนรายย่อยที่มีรายรับ ไม่สม่ำเสมอ และกลุ่มลูกหนี้ที่เพิ่งออกจากมาตรการช่วยเหลือของสถาบันการเงิน
- กฏเกณฑ์ กติกา หรือมาตรการของทางการท่ีกาลังจะทยอยปรับเปลี่ยน อาจมีผลจำกัดการเติบโตของรายได้จากธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ในระยะข้างหน้า เช่น การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ การเข้ามาดูแลโครงสร้างของค่าธรรมเนียมต่างๆ
สำหรับในช่วงท่ีเหลือของปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าแม้กำไรของกลุ่มธนาคารไทยจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกเมื่อเทียบกับปี 2022 ที่ผ่านมา แต่ยังต้องพบกับความท้าทายอีกมากจาก 2 ปัจจัยดังกล่าว