เซ็นทรัล – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 30 Jan 2023 09:40:34 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ย้อนรอย ‘JD Central’ ยักษ์ใหญ่ที่กำลังโบกมือลาอีคอมเมิร์ซไทยตามรอย ‘11Street’ https://positioningmag.com/1417229 Mon, 30 Jan 2023 09:27:51 +0000 https://positioningmag.com/?p=1417229 หากพูดว่าตลาด อีคอมเมิร์ซ ไม่หมูก็คงไม่เกินจริงนัก เพราะมองจากข้างนอกก็คงจะเห็นว่าแต่ละแพลตฟอร์มนั้นเผาเงินทำการตลาดรวมถึงโปรโมชันต่าง ๆ กันหนักมาก นับเฉพาะแค่ ดับเบิลเดย์ ที่มีให้เห็นแทบทุกเดือนนักช้อปเคยชินกันไปแล้ว ดังนั้น สายป่าน ไม่ยาวจริงก็คงต้องยกธงขาวยอมแพ้ไป เหมือนที่ 11Street เคย และ JD Central ที่กำลังจะไป

ก่อนมี JD Central เคยมี 11Street มาก่อน

ย้อนไปเมื่อปี 2012 ผู้เล่นอีคอมเมิร์ซรายแรกสุดที่เข้ามาทำตลาดในไทยก็คือ ลาซาด้า (Lazada) แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ทำตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนกระทั่งในปี 2014 ลาซาด้าก็ได้ถูก อาลีบาบา (Alibaba) บริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของจีนมาซื้อไป ซึ่งนั่นก็ยิ่งเสริมความแข็งแกร่งให้กับแพลตฟอร์มในการที่จะ เผาเงิน ทำโปรโมชันในตลาดอีคอมเมิร์ซไทย

หลังจากที่ลาซาด้าทำตลาดได้ 2 ปี ช้อปปี้ (Shopee) แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของ ซี กรุ๊ป (Sea Group) สตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นของภูมิภาคที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม Garena ที่คอเกมบ้านเราน่าจะคุ้นเคยกันดี อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ถือหุ้นใหญ่ใน Sea Group ก็คือ เทนเซ็นต์ (Tencent) บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน พูดง่าย ๆ ว่า 2 แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ต่างมีแบ็กจากจีนทั้งหมด

ถัดมาในปี 2016 ก็มีอีคอมเมิร์ซสัญชาติเกาหลีใต้ลองของเข้ามาทำตลาดในไทยโดยใช้ชื่อว่า อีเลฟเว่น สตรีท (11Street) ที่มี เอสเคเพลนเน็ท ถือหุ้นใหญ่ภายใต้กลุ่ม เอสเค เทลเลคอม ช่วงแรกใช้เงินกว่า 1,000 ล้านบาทในการลงทุน ในจำนวนนี้เป็นงบการตลาดมากถึง 300 ล้านบาท ถึงขนาดดึงซุปตาร์จากเกาหลี ซงจุงกิ ประกบนักแสดงสาว มิว–นิษฐา จิรยั่งยืน มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ แต่ที่สุดก็ต้อง ม้วนสื่อกลับบ้าน หลังเข้ามาเปิดธุรกิจเพียงสองปีเศษเท่านั้น

5 ปีในตลาดของ JD Central ยังห่างชั้นผู้นำ

หลังจากที่อีเลฟเว่น สตรีท ต้องยอมแพ้ มาปี 2018 ก็มีผู้เล่นคนใหม่เข้ามาในตลาดอีคอมเมิร์ซไทยซึ่งก็คือ JD Central (เจดี เซ็นทรัล) โดยที่หลายคนเชื่อว่าจะมาสามารถแข่งกับ 2 แพลตฟอร์มเจ้าตลาดได้ เพราะเป็นการร่วมทุนของ JD.Com อีคอมเมิร์ซเบอร์ 2 ของจีนที่อยู่ในตลาดนานกว่า 20 ปี และ เซ็นทรัล กรุ๊ป โดยการร่วมทุนครั้งนี้มีวงเงินกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 17,500 ล้านบาท ทำให้ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยกลายเป็นพื้นที่ขับเคี่ยวของทุนยักษ์ใหญ่จากจีน

แน่นอนว่าการแข่งขันของตลาดอีคอมเมิร์ซไทยนั้นดุเดือดมาก อย่างลาซาด้าเองก็ขาดทุนมาโดยตลอด หากนับเฉพาะปี 2017-2019 ลาซาด้า ขาดทุนสะสมถึง 6,920 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ลาซาด้านับเป็นอีคอมเมิร์ซรายเดียวที่สามารถทำกำไร โดยในปี 2020 มีกำไรที่ 226.9 ล้านบาท และในปี 2022 มีกำไรประมาณ 3,200 ล้านบาท จากรายได้รวม 38,000 กว่าล้านบาท ส่วนตัว ช้อปปี้ เองเฉพาะปี 2021 ขาดทุนประมาณ 4,900 กว่าล้านบาท จากรายได้ทั้งกลุ่มอยู่ที่เกือบ 43,000 ล้านบาท

ตัดมาที่ JD Central ที่เรียกได้ว่ายังห่างชั้นกับ 2 เจ้าใหญ่อย่างมาก แม้ว่าในปี 2021 แพลตฟอร์มพยายามจะรีแบรนด์ แถมยังได้ ก่อลาภ สุวัชรังกูร ผู้บุกเบิกตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ประเทศไทยทั้ง LINE MAN และ Gojek มานั่งตำแหน่งประธานบริหารฝ่ายการตลาดคนใหม่แทนที่ รวิศรา จิราธิวัฒน์ ที่ไปดำรงตำแหน่งประธานบริหารฝ่ายการตลาด บจก.สรรพสินค้าเซ็นทรัลแทน

แต่จากข้อมูลจากเว็บไซต์ ipricethailand.com ระบุว่า ในช่วง Q1/2022 JD Central มีผู้เข้าชมเว็บไซต์เพียง 2 ล้านกว่าราย ขณะที่ช้อปปี้มีอยู่ที่ 56 ล้านราย และลาซาด้าอยู่ในระดับ 36 ล้านราย ขณะที่ปี 2021 มีรายได้รวม 7,443 ล้านบาท ขาดทุน 1,930 ล้านบาท โดยปัจจุบัน ก่อลาภได้ย้ายไปเป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารที่บริษัท โอ ช้อปปิ้ง จำกัด หลังจากที่ร่วมงานกับ JD CENTRAL ได้ประมาณ 1 ปี

เปิดใจ ‘ก่อลาภ’ กับภารกิจดัน ‘JD CENTRAL’ เทียบชั้น 2 เจ้าตลาด

2022 เริ่มเห็นสัญญาณไม่ดี

มาปี 2022 หลายคนน่าจะสังเกตว่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยไม่ค่อยคึกคัก หลังจากที่ตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างมากในช่วงที่ COVID-19 ระบาด แต่ในปี 2022 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจทั่วโลกก็เจอกับปัญหาเงินเฟ้อ ดังนั้น จะเห็นว่าบริษัทเทคโนโลยีหลายรายได้รับผลกระทบ อย่าง Sea Group ก็ต้องปลดคนงาน พร้อมกับยุติการขยายธุรกิจอีคอมเมิร์ซใน 4 ประเทศ ได้แก่ ชิลี โคลอมเบีย เม็กซิโก และอาร์เจนตินา

ขณะที่ JD.com เองก็มีข่าวว่าบริษัทได้เลิกจ้างพนักงานกว่า 200 คน เพื่อลดค่าใช้จ่าย และได้เรียกผู้บริหารระดับสูงในไทยกลับประเทศจีนหลายราย หลังจากธุรกิจในไทยนั้นโตไม่ได้ตามเป้า โดยรวมแล้ว JD.Com ขาดทุนสูงถึง 5 หมื่นล้านบาท จากการทำตลาดในประเทศไทยและอินโดนีเซีย

ส่งผลให้ในช่วงช่วงปลายปี 2022 มีข่าวว่า JD.com เตรียม ถอนตัวจากไทยและอินโดนีเซีย เพื่อขอกลับไปเน้นธุรกิจในจีนเป็นหลักจากเดิมที่เคยต้องการบุกตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนกระทั่งล่าสุด JD Central ได้ประกาศยุติกิจการในไทยโดยมีผล 3 มี.ค. 2023 เป็นต้นไป ปิดฉาก 5 ปีในตลาดอีคอมเมิร์ซไทย

JD.com เตรียมถอนตัวจากไทยและอินโดนีเซีย หลังจากนี้เน้นธุรกิจในจีนเป็นหลัก

ทิศทางออนไลน์ของเซ็นทรัลจากนี้

ที่ผ่านมา กลุ่มเซ็นทรัลได้วางโรดแมปในการเข้าสู่อีคอมเมิร์ซเต็มตัว โดยก่อนที่จะร่วมทุนกับ JD.Com บริษัทได้เข้าซื้อ ออฟฟิศเมท ในปี 2012 แล้วเปลี่ยนโฉมออฟฟิศเมทเป็นบริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) ในปี 2015 จากนั้นก็ล้างภาพจำออฟฟิศเมทที่จำหน่ายของใช้ในสำนักงานจนกลายเป็นแพลตฟอร์ม เซ็นทรัล ออนไลน์ (Central Online) อย่างเต็มตัว ซึ่งจำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ใน Q1/2022 นั้นอยู่ที่ 2.5 ล้านราย นับเป็น อันดับ 3 ซึ่งสูงกว่า JD CENTRAL แพลตฟอร์มที่ร่วมทุนกับ JD.Com เสียอีก

และในส่วนของ Central App ก็มีอัตราการเติบโตของยอดดาวน์โหลดเพิ่มมากกว่า 60% จากปี 2021 และคาดว่าในปี 2022 จะมีสมาชิกมากกว่า 5 ล้านคน โดยในฝั่งของแพลตฟอร์มเซ็นทรัล ออนไลน์นี้ ทางเซ็นทรัลก็ได้วางตัวว่าจะเน้นจับ กลุ่มสินค้าพรีเมียม ซึ่งจะแตกต่างจากแพลตฟอร์มใหญ่ ๆ ที่เน้นขายสินค้าแมสมากกว่า

สรุป คงไม่ใช่แค่เรื่องการแข่งขันที่ทำให้ JD.Com ตัดสินใจถอนตัวออกจากไทย แต่ภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกที่ส่งผลกระทบต่อตัวบริษัทแม่เอง รวมถึงตลาดอีคอมเมิร์ซไทยก็ชะลอการเติบโตลงหลังจากที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงที่ COVID-19 ระบาด โดยศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดว่า ในปี 2023 ภาพรวมของตลาดอีคอมเมิร์ซแบบ B2C คาดว่าตลาดอาจขยายตัวราว 4-6% ซึ่งต่ำสุดเมื่อเทียบกับ 3 ปีที่ผ่านมาที่ขยายตัวเฉลี่ย 26% ต่อปี ดังนั้น หากยื้อต่อไปก็จะยิ่งเจ็บตัวเปล่า ๆ

]]>
1417229
CPN คัมแบ็คสร้างแบรนด์ผ่าน “เซ็นทรัลพัฒนา” รีแบรนด์ชื่อศูนย์ฯ เป็น “เซ็นทรัล” ทั้งหมด https://positioningmag.com/1374872 Tue, 22 Feb 2022 12:54:53 +0000 https://positioningmag.com/?p=1374872 เซ็นทรัลพัฒนา หรือ CPN ขอกลับมาสร้างแบรนด์ผ่านชื่อเซ็นทรัลพัฒนาเป็นหลัก เป็นการสร้างจุดยืนนักพัฒนาโครงการ พร้อมกับการรีแบรนด์ชื่อศูนย์การค้าเป็นเซ็นทรัลเหมือนกันทั้งหมด ไม่มีเซ็นทรัลพลาซ่า และเซ็นทรัล เฟสติวัลอีกต่อไป

สร้างจุดยืนในการพัฒนา

ก่อนหน้านี้เซ็นทรัลพัฒนา หรือเราจะคุ้นเคยกับการเรียกว่า CPN เสียมากกว่า เนื่องจากเป็นชื่อย่อในตลาดหลักทรัพย์ฯ และเป็นชื่อย่อที่เรียกง่าย ทำให้แบรนด์ดิ้งของเซ็นทรัลพัฒนาถูกสร้างผ่าน CPN เสียส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการออกสื่อ ออกข่าว ล้วนใช้ชื่อ CPN

เซ็นทรัลพัฒนาได้เริ่มใช้ชื่อย่อ CPN ตามตัวย่อในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งแต่ปี 2538 หรือราวๆ 27 ปีแล้ว ในแง่ของการทำข่าว หรือการสื่อสาร ค่อนข้างเป็นชื่อที่จำง่าย เขียนง่าย และดูเป็นสากล

แต่ว่าตั้งแต่ปี 2564 ที่ผ่านมา เซ็นทรัลพัฒนาเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงการสื่อสาร โดยกลับมาใช้ชื่อเซ็นทรัลพัฒนาเป็นหลัก ทั้งในการสร้างแบรนด์ และการออกสื่อ เริ่มตั้งแต่ต้นปี 2564 ที่ผ่านมา เหตุผลที่กลับมาใช้ชื่อนี้เป็นหลัก ก็เพื่อต้องการสื่อสารถึงสปิริตในการเป็นนักพัฒนาโครงการต่างๆ นั่นเอง

แต่ส่วนชื่อ CPN ก็ยังเป็นตัวย่อในตลาดฯ ดังเดิม เพียงแต่ไม่ได้นำมาใช้ในการสื่อสารออกข่าว หรือสร้างแบรนด์เป็นหลัก

รีแบรนด์ชื่อศูนย์ฯ เป็นเซ็นทรัลทั้งหมด

อีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงสำคัญก็คือ ทางเซ็นทรัลพัฒนาได้รีแบรนด์ชื่อศูนย์การค้าทั้งหมดให้เป็นเซ็นทรัล และตามด้วยจังหวัด หรือสาขานั้นๆ จากที่แต่เดิมจะมีการแบ่งเซ็กเมนต์เป็นเซ็นทรัลพลาซ่า และเซ็นทรัลเฟสติวัล

โดยที่เซ็นทรัลพลาซ่า ส่วนใหญ่จะอยู่ในโลเคชั่นทั่วๆ ไป เช่น เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว, เซ็นทรัลพลาซ่า รามอินทรา ส่วนเซ็นทรัลเฟสติวัล จะอยู่ในโลเคชั่นที่เป็นเมืองท่องเที่ยว เช่น เซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่ หรือเซ็นทรัลเฟสติวัล หาดใหญ่ เป็นต้น

เซ็นทรัลพัฒนาได้เริ่มทยอยรีแบรนด์ชื่อมาตั้งแต่ปี 2564 เช่นกัน เริ่มจากการสื่อสารต่างๆ ที่เรียกศูนย์การค้าเป็นเซ็นทรัลเหมือนกันทั้งหมด สำหรับป้ายชื่อศูนย์การค้าอาจจะมีการเปลี่ยน แต่ต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะต้องใช้งบประมาณเยอะ

เหตุผลที่มีการรีแบรนด์ชื่อนั้น ทาง ดร. ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ได้เล่าว่า

“เซ็นทรัลพัฒนามีการเปลี่ยน Identity เป็นการวางจุดยืน Center of Life ศูนย์กลางการใช้ชีวิตของทุกคน และทุกชุมชนที่โครงการเราไปตั้งอยู่ คำว่าเซ็นทรัลจึงมาจากคำว่า Centrality และเราให้ความสำคัญกับที่ดิน หรือโลเคชั่นนั้นๆ ต้องการสื่อว่าเราเป็นศูนย์กลางของสถานที่นั้นๆ ที่เราไปตั้ง”

วัลยา จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)

สำหรับปีนี้ทางเซ็นทรัลพัฒนาได้มีการจัดทัพใหม่ แต่งตั้ง วัลยา จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ถือว่าเป็น CEO หญิงคนแรกของเซ็นทรัลพัฒนา

พร้อมกับวางงบลงทุน 120,000 ล้านบาทใน 5 ปี (2022-2026) ลงทุนโครงการ Mixed-use Development ใหม่ และพลิกโฉมโครงการปัจจุบัน โดยจะครอบคลุมมากกว่า 30 จังหวัด โดยให้ศูนย์การค้าเป็นแกนหลักรวม 50 โครงการ เติมเต็มด้วยฟอร์แมตและเทรนด์ใหม่, ที่พักอาศัย 68, อาคารสำนักงาน 13 โครงการ และโรงแรม 37 โครงการ

]]>
1374872
เมื่อ ‘สัตว์เลี้ยง’ ตลาดใหญ่ไร้ผู้นำ ‘เซ็นทรัล’ เลยส่ง ‘PET ‘N ME’ เพ็ทช็อปครบวงจรชิงตำแหน่ง https://positioningmag.com/1365864 Wed, 08 Dec 2021 11:35:29 +0000 https://positioningmag.com/?p=1365864 คงไม่ต้องบอกว่าตอนนี้ ‘ตลาดสัตว์เลี้ยง’ ร้อนแรงแค่ไหน เพราะขนาด ‘เฮียฮ้อ’ แห่ง ‘อาร์เอส’ ยังเอาด้วยโดยเปิดตัวแบรนด์อาหารสัตว์ ‘Lifemate (ไลฟ์เมต)’ หรือแม้แต่ 1 ใน 3 ร้านค้าออนไลน์ในลาซาด้าที่โกยยอดขายหลักล้านภายในวันเดียวก็เป็นร้านขายอาหารและอุปกรณ์สำหรับสัตว์เลี้ยง ล่าสุด ‘เซ็นทรัล’ เองก็ขอขยับเข้ามาสู่ตลาดเต็มตัวโดยเตรียมเปิด ‘PET ‘N ME’ Specialty Store สัตว์เลี้ยงครบวงจร ว่าแต่ทำไมตลาดสัตว์เลี้ยงถึงมาได้รับความนิยมเอาตอนนี้เราจะไปเจาะลึกกัน

ไลฟ์สไตล์ยุคใหม่เลี้ยงสัตว์แทนลูก

หากคนทั่วไปที่ไม่ใช่ทาสหมาทาสแมวคงจะไม่รู้ว่าเหล่าทาสหมดเงินไปกับสัตว์เลี้ยงเฉลี่ยเดือนละกว่า 4,000 บาท โดยปัจจุบันตลาดสัตว์เลี้ยงมีมูลค่าถึง 40,000 ล้านบาท เติบโตราว 10% ต่อเนื่องตลอด 5 ปี โดยแบ่งเป็น

  • อาหารสัตว์ 70%
  • บริการ และการรักษา 20 – 30%
  • แฟชั่น และสินค้าไลฟ์สไตล์ 5%

สำหรับปัจจัยที่ทำให้ตลาดสัตว์เลี้ยงเติบโตก็เพราะ ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็น

  • โสดมากขึ้น หลายประเทศทั่วโลกคนแต่งงานช้าลง และเป็นโสดมากขึ้น อย่างในไทยข้อมูลการจดทะเบียนสมรสของกรมการปกครองพบว่าจากปี 2550 เทียบกับปี 2560 จำนวนการจดทะเบียนสมรสลดลง 5.1%
  • คู่รักไม่มีลูก หากอ้างอิงจากอัตราการเกิดในไทยปี 2564 เกิดต่ำกว่า 6 แสนคนครั้งแรกในรอบ 3 ปี และมีแนวโน้มจะลดลงอีก ซึ่งคนมีคู่หลายคนเลือกจะไม่มีลูก รวมถึงคู่รักกลุ่ม LGBTQ+ ที่ไม่สามารถมีลูกได้ ดังนั้น การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงแทนถือเป็นอีกทางเลือก
  • สังคมสูงวัย ไทยกำลังจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกของโลกที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ (Aged Society) ในปี 2565 ปัจจุบัน ประชากรอายุ 60 ปีขึ้น มีสัดส่วน 10% ของประชากรทั้งประเทศ และการเลี้ยงสัตว์ไว้คลายเหงา ก็เป็นหนึ่งในเทรนด์
  • อยู่บ้านมากขึ้น เมื่อ COVID-19 ทำให้คนอยู่บ้านมากขึ้น หลายคนเลือกที่จะเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเพื่อเป็นเพื่อนเพื่อคลายเหงา
  • Social Media จะเห็นถึงการเติบโตของเพจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงที่มียอดผู้ติดตามเป็นหลักล้าน ซึ่งความน่ารักของเหล่าสัตว์เลี้ยงเซเลบก็อาจจะตกให้หลายคนหันมาเลี้ยงสัตว์มากขึ้น
  • ความต้องการสินค้าหลากหลายขึ้น เช่น เตียง ชุด เริ่มมีขายเยอะขึ้น การดูแลก็ดีขึ้น มีสปา ต้องให้วิตามิน มีโรงพยาบาล ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มตาม จะเห็นว่าองค์ประกอบต่าง ๆ ทำให้ดูน่าสนใจมาก

ตลาดใหญ่ไร้ผู้นำ

จะเห็นว่าตลาดสัตว์เลี้ยงถือเป็นตลาดที่ใหญ่ และมีปัจจัยบวกจำนวนมาก แต่ที่น่าสนใจคือ ยังไม่มีผู้นำตลาดชัดเจน เพราะ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้เล่นรายย่อยและร้านแบบครบวงจรก็มีน้อย ส่วนใหญ่มี 1-2 สาขาเท่านั้น ดังนั้น ทาง เซ็นทรัล เลยถือโอกาสเปิดตัวแบรนด์ใหม่ PET ‘N ME เพื่อรุกตลาดสัตว์เลี้ยงเพิ่มเติม จากเดิมที่เคยมีแบรนด์อย่าง PETSTER และ Cool Pets

สำหรับ PET ‘N ME จะเป็น Specialty Store สัตว์เลี้ยงครบวงจร ของเซ็นทรัล รีเทล ขณะที่ PETSTER จะเป็นโซนจำหน่ายอาหารและของใช้สำหรับสัตว์ในเครือ ท็อปส์ เน้นจับกลุ่มลูกค้าทั่วไป ส่วน Cool Pets เป็นโซนจำหน่ายอาหาร ของเล่น ของใช้โดยจะเปิดในโซนห้างเซ็นทรัล ปัจจุบันมี 7 สาขา

โดยคอนเซ็ปต์ PET ‘N ME คือ pet lover community โดยจะมีโซนขายอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยง, โซนอุปกรณ์สำหรับสัตว์เลี้ยง grooming ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นขน รวมกว่า 6,000 รายการ มีโซน other pet ไว้บริการ เช่น บริการตรวจเช็กสุขภาพ อาบน้ำ ตัดขน และสปา มีพื้นที่ pet park สามารถพาสัตว์เลี้ยงมาวิ่งเล่นได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และมี cafe จาก Arigato ให้บริการเครื่องดื่มและอาหารทานเล่น

ลูกค้า The one card กว่า 18 ล้านคน มีราว 4 แสนคนที่ซื้อสินค้าเกี่ยวกับสัตว์ แนวโน้มก็เริ่มมาใช้เงินกับสัตว์เลี้ยงมากขึ้น เราเห็นเทรนด์ว่ามันเพิ่มขึ้นแน่นอน และเรามองว่าตอนนี้ไม่มีใครให้ประสบการณ์กับลูกค้าได้ครบ” ไท จิราธิวัฒน์ รองประธานฝ่ายการเงิน บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ เซ็นทรัล รีเทล กล่าว

ปักเป้า พันล้าน ปีแรก ขยาย 50 สาขาใน 5 ปี

เบื้องต้น PET ‘N ME เปิดสาขาแรกที่เซ็นทรัลเวสต์เกต และจะขยายให้ได้ 50 สาขาภายใน 3-5 ปี เน้นเปิดในศูนย์การค้า หรือติดกับศูนย์การค้า ทั้งของเซ็นทรัลพัฒนา,​ โรบินสัน ไลฟ์สไตล์ และใน Community Mall ที่เซ็นทรัลพัฒนาซื้อกิจการจากสยามฟิวเจอร์ดีเวลลอปเมนท์​ (SF) โดยวางไว้ 4 รูปแบบ คือ

  • ร้านขนาดเล็ก 100 – 150 ตารางเมตร จำนวน 25 – 30 สาขา
  • ร้านขนาดกลาง 300 – 400 ตารางเมตร จำนวน 10 – 15 สาขา
  • ร้านขนาดใหญ่ 600 – 700 ตารางเมตร จำนวน 8 สาขา
  • Flagship 1,000 ตารางเมตร จำนวน 2 สาขา

และในปีหน้า PET ‘N ME จะเดินกลยุทธ์แบบ Omnichannel โดยเปิดช้อปออนไลน์ที่มีสินค้ากว่า 10,000 รายการควบคู่กันไป สามารถซื้อออนไลน์, Click and Collect สั่งออนไลน์รับของที่ร้าน หรือส่งด่วนใน 2 ชั่วโมง รวมถึงสามารถคุยกับพนักงานผ่านโทรศัพท์หรือไลน์เพื่อให้ช่วยเลือกสินค้าได้ด้วย โดยภายในปีแรกตั้งเป้ารายได้ที่ 1,000 ล้านบาท

เล็งจับพาร์ตเนอร์ขยายบริการ

PET ‘N ME มีแผนที่จะต่อยอดไปบริการอื่น ๆ เช่น สร้างช่องทางออนไลน์ให้เป็น Community คนรักสัตว์ โดยสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้เชี่ยวชาญได้ รวมถึงเพิ่มบริการ ฝึกสัตว์เลี้ยง ซึ่งทาง PET ‘N ME จะเน้น ‘จับมือ’ กับผู้เชี่ยวชาญที่ให้บริการในด้านนั้น ๆ อาทิ โรงพยาบาลสัตว์, สถานที่รับฝากสัตว์เลี้ยง, Training Center เป็นต้น

หากดูจากแผนแล้วก็ต้องถือว่าเซ็นทรัลรุกหนักตลาดสัตว์เลี้ยง แต่ต้องยอมรับว่าไม่ใช่แค่เซ็นทรัลที่เห็นโอกาส เพราะอาร์เอสเองก็ประกาศว่าไม่หยุดแค่อาหารสัตว์แน่นอน ที่น่าห่วงอาจเป็นผู้เล่นรายย่อยที่ต้องเจอคู่แข่งสุดแข็งที่ทุนหนากว่ามาแย่งลูกค้า

]]>
1365864
พลิกโฉม “โรบินสันขอนแก่น” สู่ “ห้างเซ็นทรัล” ชิพท์แบรนด์ในเครือ จับโลเคชั่นทำเลทอง https://positioningmag.com/1365835 Wed, 08 Dec 2021 09:15:38 +0000 https://positioningmag.com/?p=1365835 ห้างเซ็นทรัลเดินหน้าชิพท์แบรนด์ในเครือ ปรับโฉม “โรบินสัน” เป็น “ห้างเซ็นทรัล” ล่าสุดปรับโรบินสันขอนแก่น เป็นห้างเซ็นทรัล ถือเป็นศูนย์ที่ 3 ที่มีการเปลี่ยนแบรนด์ เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 64 ที่ผ่านมา

ใช้แบรนด์ “เซ็นทรัล” จับทำเลทอง

หลังจากที่เมื่อต้นปี 2563 ทางกลุ่มเซ็นทรัลได้ปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ โดยได้รวมธุรกิจค้าปลีกอยู่ในบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC และเปิด IPO ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ รวมถึงได้เสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของ ROBINS หรือห้างโรบินสัน เท่ากับว่าได้ควบรวมโรบินสันอยู่ภายใต้ CRC อย่างเป็นทางการ

ทำให้ CRC มีแบรนด์กลุ่มห้างสรรพสินค้าในเครือทั้งห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล และโรบินสัน ซึ่งทาง CRC ก็ได้ทำการจัดพอร์ตใหม่ พร้อมกับกลยุทธ์การเปลี่ยนแบรนด์ โรบินสัน ให้เป็นเซ็นทรัล พิจารณาจากทำเลที่ตั้ง กลุ่มลูกค้าที่อาศัยในโซนนั้น

CRC ได้ประเดิมเปลี่ยน “โรบินสัน เมกาบางนา” เป็น “ห้างเซ็นทรัล เมกาบางนา” แห่งแรก เมื่อช่วงเดือนก.ค. 2563 หลังจากเปิดให้บริการมา 8 ปี เพื่อจับโซนทำเลศักยภาพย่านบางนา-ตราด เป็นทำเลทองที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูงด้วย

แต่เดิมโรบินสัน เมกาบางนามีพื้นที่รวม 13,000 ตารางเมตร ทำเลที่ตั้งอยู่ในย่านเศรษฐกิจ มีหมู่บ้านจัดสรรใหญ่ๆ รายล้อม 18 โครงการ และมีที่พักอาศัยอยู่กว่า 70,000 ครัวเรือน มีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเป็นประตูสู่ภาคตะวันออก โดยกลุ่มที่อาศัยอยู่ย่านนั้นส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ วัยทำงาน มีกำลังซื้อค่อนข้างสูง

CENTRAL KHON KEAN

เท่ากับว่า CRC มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการใช้แบรนด์ “เซ็นทรัล” บุกทำเลทอง ทำเลศักยภาพ หรือหัวเมืองใหญ่ๆ ส่วนแบรนด์ “โรบินสัน” เจาะทำเลภูมิภาค เป็นการปรับโมเดลธุรกิจใหม่ให้สอดรับกับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจทั้งระบบ ทั้งระดับจังหวัด และชุมชนโดยรอบ

หลังจากนั้นก็ได้ปรับโฉม “โรบินสันอุดรธานี” เป็นห้างเซ็นทรัลเป็นแห่งที่ 2 ในปีที่แล้วเช่นกัน ตอนนี้ยังไม่มีเปลี่ยนจากห้างเซ็นทรัลเป็นโรบินสัน

“ห้างเซ็นทรัลขอนแก่น” ทรานส์ฟอร์มแห่งที่ 3

ในปีนี้ทาง CRC ได้ปรับโฉมโรบินสัน เป็นห้างเซ็นทรัลอีก 1 สาขา เป็นคิวของ “โรบินสันขอนแก่น” ได้เปิดให้บริการ “ห้างเซ็นทรัลขอนแก่น” CENTRAL KHON KEAN อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 64

โอลิวิเยร์ บรง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มห้างสรรพสินค้า ในเครือเซ็นทรัลรีเทล กล่าวว่า 

ห้างโรบินสันขอนแก่น เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2552 เป็นห้างที่อยู่เคียงข้างลูกค้าชาวขอนแก่น และจังหวัดใกล้เคียง สอดรับกับไลฟ์สไตล์ และพฤติกรรมลูกค้าทั้งยังรองรับกำลังซื้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ด้วยการพลิกโฉม “โรบินสันขอนแก่น เปลี่ยนเป็น ห้างเซ็นทรัลขอนแก่น” ซึ่งเป็นห้างเซ็นทรัล สาขาที่ 25 และลำดับที่ ของภาคอีสาน เตรียมพร้อมต้อนรับลูกค้าท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว”

CENTRAL KHON KEAN

การปรับโฉมในครั้งนี้มีการดีไซน์ด้วยการดึงเสน่ห์ของวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของภาคอีสาน ผ่านการออกแบบภายใต้คอนเซ็ปต์ “Isan Playground” สนามช้อปปิ้งสุดสนุกของภาคอีสาน บนพื้นที่กว่า 15,508 ตร.ม. ตกแต่งภายในด้วยการนำวัสดุธรรมชาติมาใช้ พร้อมๆ กับส่งเสริมสินค้าจากท้องถิ่นอีสาน

อาทิ กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์พื้นเมืองบ้านดินทรายอ่อน ที่ออกแบบผ้าทอ ผ้าไหมมัดหมี่ และผ้าฝ้าย รวมทั้งวัสดุอื่นๆ อย่าง ผ้าทอลาย เชือกถัก หวายสาน และโครงไม้ไผ่ ผสานกับสีสันสดใสที่ได้แรงบันดาลใจจากลวดลายผ้าทอพื้นบ้าน สร้างมู้ดบรรยากาศ ออกแบบดีไซน์แต่ละชั้น ให้เดินช้อปเพลินไม่รู้จบราวกับอยู่ในสวนสนุก

พร้อมทั้งมีไฮไลต์บริเวณโถงกลาง ของชั้น 1 ที่ออกแบบเป็นศาลาไม้ไผ่สาน พร้อมนำต้นคูน ต้นไม้ประจำจังหวัดขอนแก่น ขนาด 4 x 4 เมตร ตั้งตระง่านกลางห้าง ชูความสวยงามเป็นแลนด์มาร์กแห่งภาคอีสานที่มีเอกลักษณ์และมีความโดดเด่นของจังหวัด

ขอนแก่น จังหวัดศักยภาพ

การเปิดห้างเซ็นทรัลขอนแก่นครั้งนี้ ยังสอดรับกับความพร้อมของศักยภาพจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 6 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีประชากรมากเป็นอันดับที่ 3 ของภาค มีความโดดเด่นหลายด้าน ทั้งเป็นเมืองด้านการศึกษา มีแหล่งท่องเที่ยวและวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์

เป็นศูนย์กลาง Medical hub เป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ และในอนาคตจะมีรถไฟความเร็วสูง หรือรถไฟทางคู่ในจังหวัดขอนแก่นที่มีการวางแผนสร้างรถไฟรางเบา และยังมีเป้าหมายสู่การเป็นเมืองแห่งการประชุมและสัมมนา (MICE CITY)

CENTRAL KHON KEAN

ภายใน 3 ปี จึงจะทำให้มีผู้เดินทางมาที่จังหวัดขอนแก่นมากขึ้น ทาง CRC จึงเล็งเห็นโอกาสในการต่อยอดอุตสาหกรรมค้าปลีกและการท่องเที่ยวไทย ที่จะสามารถเชื่อมโยงและกระจายวงกว้างออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านต่อไปได้อีก

]]>
1365835
CPN เปิด “Central Kitchen” จุดรวมร้านอาหาร ซื้อแบบ Take Home หน้าซูเปอร์ฯ ได้ https://positioningmag.com/1346510 Fri, 13 Aug 2021 06:25:35 +0000 https://positioningmag.com/?p=1346510 เซ็นทรัลพัฒนา หรือ CPN เปิดบริการ Central Kitchen ตั้งจุดรวมร้านอาหารดัง มีช่องทางสั่งทั้งแชท โทร มารับเอง หรือซื้อแบบ Take Home บริเวณหน้าซูเปอร์มาร์เก็ตได้ ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล 21 แห่งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ชลบุรี ระยอง โคราช และหาดใหญ่

รวมร้านดัง สั่งได้ในที่เดียว

บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) เปิดตัวบริการใหม่ Central Kitchen เป็นโมเดลที่จุดซุ้มรวมร้านอาหารดังๆ ตั้งจุดขายหน้าซูเปอร์มาร์เก็ตตามสาขาต่างๆ ทั้งหมด 21 สาขา ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ชลบุรี ระยอง โคราช และหาดใหญ่

วิธีการสั่งอาหาร มีทั้งช่องทางแชทผ่าน Line OA หรือโทรตรงที่สาขาใกล้บ้าน อยู่บ้านก็สั่งได้ ร้านเรียก Rider จัดส่งให้ หรือมารับเองที่จุด Drive Thru หรือสั่งผ่านเว็บไซต์ https://www.centralplaza.co.th/CentralKitchen/ รวมไปถึงลูกค้าสามารถซื้อแบบ Take Home ได้ที่จุดบริการเลยด้วย

ดร. ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า

“เซ็นทรัลพัฒนา ไม่หยุดนิ่งพัฒนาบริการใหม่ๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านค้า และอำนวยความสะดวกให้ลูกค้า ซึ่งบริการใหม่ล่าสุด Central Kitchen นี้ จะเป็นจุดศูนย์กลางการให้บริการผ่านช่องทางการสั่ง ที่ง่ายและสะดวกกว่า ทั้งแบบโทรตรงหรือ Add LINE OA สาขาใกล้บ้าน คลิกเลือกเมนูที่ชอบ และรอรับอาหารที่บ้าน ทางร้านมีบริการเรียก Rider ส่งให้ หรือจะแวะมาสั่งที่เคาน์เตอร์ Central Kitchen ก่อนเข้าซูเปอร์มาร์เก็ต เสร็จแล้วออกมารับได้เลยด้วยบริการแบบ Touchless experiences”

Central Kitchen รวบรวมร้านดังตั้งแต่ Street food อร่อยทานง่ายจานเดียวจบ ชาบู ปิ้งย่าง ชานมไข่มุก ไปจนถึงร้านที่มาเปิดแห่งแรกในไทย และร้านดังระดับโลก การันตีด้วยมิชลินสตาร์ และมิชลินไกด์ รวมแล้วกว่า 1,000 ร้าน หรือ 2,000 เมนู พร้อมให้สั่งมาทานได้ที่บ้านแบบไม่ต้องต่อคิว

เปิดให้บริการที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล 21 สาขาทั่วประเทศ : เซ็นทรัลเวิลด์, เซ็นทรัลพลาซา บางนา, ปิ่นเกล้า, ลาดพร้าว, มหาชัย, แกรนด์ พระราม 9, พระราม 3, พระราม 2, เวสต์เกต, แจ้งวัฒนะ, รัตนาธิเบศร์, รามอินทรา, ศาลายา, ระยอง, ชลบุรี, นครราชสีมา, เซ็นทรัล มารีนา, เซ็นทรัลเฟสติวัล พัทยา บีช, อีสต์วิลล์, หาดใหญ่ และเซ็นทรัล วิลเลจ

]]>
1346510
ไขรหัส Midnight Sale ยังมีมนต์ขลังแค่ไหน? ในยุคที่ใครๆ ก็ช้อปออนไลน์ https://positioningmag.com/1325288 Fri, 26 Mar 2021 16:01:33 +0000 https://positioningmag.com/?p=1325288 ใครเป็นนักช้อปตัวยงคงจะคุ้นเคยกับแคมเปญยักษ์ใหญ่อย่าง Midnight Sale เป็นการขยายช่วงเวลาช้อปปิ้งในศูนย์การค้าถึงเที่ยงคืน แต่คำถามที่ตามมาก็คือ ในยุคนี้ยังมีคนรอคอยกับแคมเปญ Midnight Sale อีกหรือไม่ ในเมื่อใครๆ ก็ช้อปออนไลน์ได้ แถมยังมีดีลลดราคาอยู่ตลอด ไปร่วมหาคำตอบกัน 

เปิดตำนาน 32 ปี Central Midnight Sale

ถ้ายุคนี้มีวันคนโสด หรือ 11.11 เป็นวันชาติของการช้อปปิ้งออนไลน์ แคมเปญ Midnight Sale ก็ถือว่าเป็นวันชาติของการช้อปในห้างสรรพสินค้าเช่นกัน ต้องบอกว่าในยุคก่อนหน้านี้ Midnight Sale ถือว่าสร้างสีสัน และกระตุ้นการจับจ่ายของขาช้อปได้อย่างดี เพราะทำให้ผู้บริโภคสามารถช้อปกระหน่ำได้ถึงเที่ยงคืน

Midnight Sale ได้เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อปี 2531 ตอนนั้น “ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล” เป็นผู้บุกเบิกรายแรก เริ่มต้นที่สาขา “หัวหมาก” ไอเดียหลักของผู้บริหารในยุคนั้นที่ว่า เห็นลูกค้าบางคนติดงาน ทำให้ไม่สามารถช้อปปิ้งในช่วงเวลาทำการของห้างฯ ได้ จึงคิดว่าทำไมไม่เปิดห้างฯ ถึงเที่ยงคืน เพื่อให้ลูกค้าได้ช้อปกับโปรโมชันแรงๆ

Central Midnight Sale

กลายเป็นว่าเซ็นทรัลได้ทำ Midnight Sale มาเรื่อยๆ ขยายไปกับทุกสาขา จนเป็นแคมเปญ “ซิกเนเจอร์” ที่ต้องทำทุกปี และทุกไตรมาส ถึงตอนนี้ก็เดินทางมา 32 ปีเข้าแล้ว รวมถึงผู้เล่นค้าปลีกในตลาดก็มีแคมเปญ Midnight Sale ด้วย เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสในการขาย และสร้างสีสันในตลาด

ถ้าย้อนกลับไป 10 ปีก่อน เมื่อมี Midnight Sale ทีไหร่ ภายในห้างฯ จะคึกคักอย่างมาก บางคนไม่ต้องรอว่าห้างฯ ปิดแค่ 4 ทุ่ม แต่ยังเดินช้อปปิ้งได้ต่อ บางคนใส่ชุดนอนมาเดินช้อปก็ยังมี

แต่การมาของอีคอมเมิร์ซ หรือช้อปปิ้งออนไลน์ ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนในวงการค้าปลีกอย่างมาก เพราะหลายคนเลือกที่จะช้อปออนไลน์มากขึ้น มีการลดราคาอยู่ตลอด สะดวกสบายไม่ต้องออกจากบ้าน

คำถามที่ตามมาก็คือ Midnight Sale ยังเป็นแคมเปญที่ขาช้อปรอคอยอยู่หรือไม่ ในเมื่อใครๆ ก็ช้อปออนไลน์ทั้งนั้น

รวิศรา จิราธิวัฒน์ ประธานบริหารฝ่ายการตลาด บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด

รวิศรา จิราธิวัฒน์ ประธานบริหารฝ่ายการตลาด บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด ให้คำตอบว่า

“ตอนนี้ Midnight Sale ยังเป็นแคมเปญที่ลูกค้าตั้งตารอคอยอยู่ แคมเปญนี้เป็นซิกเนเจอร์ของเซ็นทรัลที่จัดมาอย่างต่อเนื่อง จริงๆ การช้อปออนไน์ไม่ได้แทนที่หมด ยังมีบางอย่างที่ออนไลน์ให้ไม่ได้ ลูกค้ายังอยากมาเดินห้างฯ เอง อยากได้ของในทันที และมีสิทธิพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย”

ปัจจุบันรวิศราได้เข้ามาดูแลธุรกิจกลุ่มห้างสรรพสินค้าของกลุ่มเซ็นทรัลอย่างเต็มตัว รวมยูนิตห้างเซ็นทรัล และโรบินสัน ก่อนหน้านี้เธอร่วมงานกับ JD Central ทำให้มีประสบการณ์ในเรื่องอีคอมเมิร์ซ

ไม่มีแผ่ว… อัพยอดขายไม่ต่ำกว่าพันล้านตลอด!

จากคำถามที่ว่า Midnight Sale ยังมีมนต์ขลังแค่ไหน? คำตอบก็คือยังเป็นแคมเปญชูโรงที่กระตุ้นยอดขายได้ถล่มทลายได้จริงๆ

โดยปกติแล้วเซ็นทรัลจะจัด Midnight Sale ปีละ 4 ครั้ง ทุกๆ ไตรมาส เริ่มต้นตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม, มิถุนายน, สิงหาคม และพฤศจิกายน แต่ละครั้งมีระยะเวลารวม 12-14 วัน โดยที่ช่วงที่ขายดีที่สุดจะเป็นช่วงเดือนมีนาคม และพฤศจิกายน เป็นเพราะส่วนใหญ่อยู่ในช่วงเทศกาล

ครั้งล่าสุดที่เซ็นทรัลเพิ่งจัด Midnight Sale ไปเมื่อวันที่ 26 พ.ย.-7 ธ.ค. 2563 ก็สามารถสร้างรายได้ที่ดี แม้จะยังอยู่กับการแพร่ระบาดของ COVID-19 อยู่ มีทราฟฟิกผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น 23% มียอดการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 28% และยอดขายเพิ่มขึ้น 50%

รวิศราบอกว่า การจัดแคมเปญ Midnight Sale ในแต่ละครั้ง จะสามารถกระตุ้นยอดขายได้เฉลี่ย 1,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะเติบโตสูงกว่าที่ตั้งเป้าเสมอ

5 กลุ่มสินค้าที่ขายดีที่สุดสำหรับแคมเปญนี้คือ สุขภาพ และความงาม, ของใช้ในบ้าน, ชุดชั้นใน, รองเท้า และเครื่องประดับ และเสื้อผ้าผู้ชาย เห็นได้ชัดว่าขาช้อปที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของแคมเปญนี้ก็คือกลุ่มสาวๆ นั่นเอง

มิดไนท์มีอะไรที่ออนไลน์ก็ให้ไม่ได้

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสงครามของช้อปปิ้งออนไลน์ หรืออีคอมเมิร์ซมีให้เห็นมากขึ้น จากเดิมจะมีแค่เทศกาลช้อปปิ้ง 11.11 และ 12.12 กลายเป็นว่าตอนนี้มี Double Day แทบทุกเดือน อีกทั้งยังมีดีลโปรโมชันลดราคารออีกเพียบ เรียกว่าล่อตาล่อใจนักช้อปได้ทุกวัน

หลายคนมองว่าผู้บริโภคคงหันไปช้อปออนไลน์กันหมดแล้ว มีอะไรจูงใจมากกว่า แต่รวิศรามองอีกมุมหนึ่ง จริงๆ แล้วช้อปออนไลน์ไม่สามารถเติมเต็มทุกอย่างได้ ยังมีหลายอย่างที่มีในช้อปในสโตร์แต่ไม่มีบนออนไลน์

“จริงๆ ช้อปในร้านออฟไลน์ได้ความคุ้มค่ากว่า มีสิทธิประโยชน์หลายต่อทั้งแคชแบ็กคูปอง, โปรโมชันออนท็อปบัตรเครดิต, สะสมแต้ม The 1 ผู้บริโภคยังรอแคมเปญใหญ่ๆ อยู่เสมอ ช้อปออนไลน์ไม่สามารถแทนที่ออฟไลน์ได้ เพราะคนยังต้องการ Physical Touch จับต้องดูของ และบางคนก็อยากได้ของทันทีไม่ต้องรอ”

รวิศราบอกถึง “ตัวแปร” สำคัญ ที่ยังทำให้ Midnight Sale มีมนต์ขลังอยู่ ก็คือ ระบบ CRM นั่นเอง ทางเซ็นทรัลมีการทำดาต้า และแบ่งกลุ่มลูกค้าอย่างชัดเจน เพื่อเวลาสื่อสาร และทำโปรโมชันได้ตรงกลุ่ม และมีการเชิญลูกค้าที่เป็น Top Spending มาช้อปก่อนใครเพื่อนด้วย

พ่วงออนไลน์ครั้งแรก

หลังจากครั้งล่าสุดที่เซ็นทรัลได้จัด Midnight Sale ไปเมื่อปลายเดือนพ.ย. ที่ผ่านมา ก็เริ่มเห็นสัญญาณการจับจ่ายที่ดีขึ้น เพราะหลายคนอัดอั้น หรือเก็บกดจากสถานการณ์ต่างๆ มานาน จึงได้เห็นตัวเลขการเติบโตค่อนข้างดี

ในปีนี้แม้ว่าต้นปีจะต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสในระลอกใหม่ ทำเอาอารมณ์การจับจ่ายใช้สอยถึงกับหล่นวูบ รวมถึงกำลังซื้อก็น้อยลง แต่เซ็นทรัลก็ยังต้องอัดแคมเปญใหญ่อย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย และสร้างบรรยากาศว่ามาห้างฯ ก็ปลอดภัย

Photo : Pixabay

Midnight Sale ที่จัดขึ้นในครั้งนี้อยู่ระหว่างวันที่ 26 มี.ค.-6 เม.ย. 64 นอกจากจะเปิดห้างฯ ถึงเที่ยงคืนแล้ว ปีนี้ยังเล่นใหญ่ด้วยการรวมการช้อปทุกช่องทาง เป็น Omni Channel ตั้งแต่ห้างเซ็นทรัล 24 สาขา, แอปพลิเคชัน Central App, เว็บไซต์ Central Online, 1425 Personal Shopper, Chat & Shop และ Facebook เท่ากับว่าปีนี้ช้อปได้ตลอด 24 ชั่วโมง หลังเที่ยงคืนก็ยังช้อปได้

อัดโปรแรง สินค้าใหม่ลดสูงสุด 30%, สินค้าปกติลดสูงสุด 70% และลด/รับเพิ่มสูงสุด 31% จาก The 1 และบัตรเครดิตที่ร่วมรายการ ในแอปพลิเคชันมีเก็บโค้ดส่วนลดตามช่วงเวลา และยังมีทำแฟลชดีลล้อกับเทศกาลช้อปปิ้ง 4.4 ด้วย

จากข้อมูลต่างๆ จึงรวมเป็นคำตอบได้ว่า Midnight Sale ยังคงเป็ญแคมเปญใหญ่ของวงการค้าปลีกในไทย และเป็นภาพจำของเซ็นทรัลที่บุกเบิกรายแรก กลุ่มลูกค้าที่ช้อปมาแต่ไหนแต่ไร ก็ยังคงช้อปต่อไป โลกออนไลน์ไม่สามารถทดแทนได้ ซึ่งกลุ่มนี้มีกำลังซื้อสูง ไม่ได้มองที่ราคาถูกเพียงอย่าเดียว แต่ต้องมีสิทธิประโยชน์เพียบด้วย

สำหรับกลุ่มธุรกิจห้างสรรพสินค้าของกลุ่มเซ็นทรัลในปี 2562 มีรายได้รวม 60,000 ล้านบาท รวมห้างเซ็นทรัล และโรบินสัน ส่วนตัวเลขของปี 2563 มีการลดลงเป็นธรรมดา เพราะมีการปิดห้างฯ ไปหลายเดือน ในปีนี้มีการตั้งเป้าว่าจะต้องมีรายได้กลับไปเท่าปี 2562 ให้ได้

ปัจจุบันห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลมีทั้งหมด 24 สาขา และโรบินสัน 49 สาขา ในปีนี้มีแผนรีโนเวตห้างเซ็นทรัล 7 สาขา ได้แก่ สาขาชิดลม, พระราม 2, ลาดพร้าว, พัทยา, พระราม 3 ส่วนเมกาบางนา และอุดรธานี ได้ปรับจากโรบินสันเป็นห้างเซ็นทรัล ส่วนโรบินสันมีรีโนเวต 6 สาขา ได้แก่ สาขารังสิต, อุบลราชธานี, ศรีสมาน, ขอนแก่น, ฉะเชิงเทรา และศรีราชา มีเปิดสาขาใหม่ 2 สาขา ได้แก่ สาขาอยุธยา และบ้านฉาง

]]>
1325288
ช้อปแบบมิติใหม่! “Central at Bumrungrad” เหมือนยกห้างเซ็นทรัลไปที่ “บำรุงราษฎร์” https://positioningmag.com/1298143 Mon, 21 Sep 2020 14:57:51 +0000 https://positioningmag.com/?p=1298143 ครั้งแรกของวงการรีเทล “ห้างเซ็นทรัล” จับมือ “โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์” เปิดบริการ “Central at Bumrungrad” (เซ็นทรัล แอท บำรุงราษฎร์) ให้ได้ช้อปปิ้งแบบมิติใหม่ผ่านบริการพิเศษ สินค้ามาส่งถึงที่โรงพยาบาล

ช้อปปิ้งได้ แม้ห้อยสายน้ำเกลือ!

เรียกว่าเป็นการจับมือเป็นพันธมิตรกันแบบข้ามสายพันธุ์ที่ช็อกวงการอยู่ไม่น้อย เมื่อห้างค้าปลีกอย่าง “ห้างเซ็นทรัล” จับมือกับโรงพยาบาลสุดไฮเอนด์อย่าง “บำรุงราษฎร์” งานนี้คงบอกได้แค่ว่า ต้องมีอะไรแปลกใหม่ให้เห็นแน่นอน

บริการนี้มีชื่อว่า Central at Bumrungrad เป็นการสร้างประสบการณ์ช้อปปิ้งแบบใหม่ จากปกติที่ช้อปปิ้งอยู่บ้านก็ได้ หรืออยู่ที่ทำงาน แต่นี่คือช้อปปิ้งที่โรงพยาบาล! ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วย หรือญาติผู้ป่วยก็ได้ช้อปปิ้งเพื่อปลอบประโลมจิตใจได้ หรือจะซื้อของเยี่ยมผู้ป่วยก็ยังได้ เหมือนยกห้างมาไว้ที่โรงพยาบาล

เซ็นทรัล บำรุงราษฎร์

โดยบริการนี้สามารถสั่งสินค้าผ่าน 2 ช่องทาง ได้แก่ Central Chat & Shop ติดต่อผ่านแชตบอกผู้ช่วยส่วนตัวที่ไลน์ @centralofficial และ Central Call & Shop โทรผ่าน เบอร์ 1425 เมื่อโทรปุ๊บ จะจัดสั่งของทันที รับของได้ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เป็นบริการส่งฟรี ไม่มีขั้นต่ำ และจัดส่งสินค้าภายในวันเดียว เมื่อสั่งซื้อสินค้าก่อนเวลา 18.00 น.

ปิยวรรณ ลีละสมภพ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายการตลาด บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด เผยว่า

“เพื่อตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกันของลูกค้าในปัจจุบัน ห้างเซ็นทรัลจึงได้จับมือกับโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดตัวบริการ Central at Bumrungrad ยกระดับการให้บริการแก่ลูกค้าของโรงพยาบาล ให้สามารถเลือกซื้อสินค้าระหว่างเข้ารับบริการที่โรงพยาบาล หรือซื้อของเยี่ยม เพิ่มความสะดวกสบายแก่ลูกค้าเหมือนยกห้างเซ็นทรัลมาไว้ที่โรงพยาบาล โดยเชื่อว่าความร่วมมือกันในครั้งนี้จะเพิ่มประสบการณ์การบริการที่ดียิ่งขึ้นให้กับลูกค้าของทั้งสองฝ่าย”

บำรุงราษฎร์ เพิ่มบริการเอาใจคนไทย

ทางด้านของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เอง ที่หลังจากเปิดวิกฤต COVID-19 ทำให้ผู้ป่วยชาวต่างชาติไม่สามารถบินมารักษาพยาบาลได้ ทำให้ทางโรงพยาบาลต้องปรับแผนเพื่อจับกลุ่มเป้าหมายคนไทย

จึงได้เห็นกลยุทธ์ทั้งการดัมพ์ราคาค่าห้อง ลดเเลกเเจกเเถมโปรเเกรมตรวจสุขภาพ ไปจนถึงเสนอเเพ็กเกจผ่าตัดราคาพิเศษ เพื่อทดเเทนรายได้ที่ขาดไปในปีนี้ รวมไปถึงการประกาศเป็นพันธมิตรกับผู้เล่นอื่นๆ ทั้งในและนอกวงการ เพื่อเสริมธุรกิจใหม่

อย่างโครงการ “รักษ” ศูนย์เวลเนส รีทรีต รีสอร์ต พื้นที่ 200 ไร่บนคุ้งบางกระเจ้า จ.สมุทรปราการ เป็นพันธมิตรร่วมกับมั่นคงเคหะการ และไมเนอร์ มูลค่าโครงการ 2,000 ล้านบาท

เซ็นทรัล บำรุงราษฎร์

ทางด้าน เภสัชกรหญิงอาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ ผู้อำนวยการด้านบริหาร (CEO) โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ บอกว่า

“ผู้ที่มาใช้บริการโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีสัดส่วน คนไทย 50% และต่างชาติ 50% โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยชาวต่างชาติจะเป็นกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งผู้ป่วยต่างชาติ นอกจากจะเดินทางเข้ามาเพื่อการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลแล้ว ยังมีความประสงค์ที่จะท่องเที่ยวเพื่อพักฟื้นหรือใช้เวลาพักผ่อนพร้อมครอบครัว ซึ่งนับเป็นส่วนที่ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (medical tourism) ของประเทศอีกด้วย”

สำหรับการจับมือกันครั้งนี้ของบำรุงราษฎร์และห้างเซ็นทรัล มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย เพราะเป็นการจับกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ที่เป็นกลุ่มลูกค้าโรงพยาบาลที่ต้องการซื้อของเยี่ยม หรือข้าวของเครื่องใช้จำเป็น รวมไปถึงการสร้างสีสันในวงการค้าปลีก เพิ่มช่องทางใหม่ๆ ไม่ได้จำกัดแค่สโตร์ หรือออนไลน์เพียงอย่างเดียว

]]>
1298143
“เซ็นทรัล” ปรับโฉมกาดสวนแก้ว เชียงใหม่ เป็น “ห้างเซ็นทรัลเอาต์เล็ต” https://positioningmag.com/1297069 Tue, 15 Sep 2020 07:41:53 +0000 https://positioningmag.com/?p=1297069 เซ็นทรัลปรับโฉมเซ็นทรัลกาดสวนแก้ว .เชียงใหม่ สู่โมเดลใหม่ห้างเซ็นทรัล เอาต์เล็ต เอาใจนักช้อปชาวเชียงใหม่

ณัฐธีรา จิราธิวัฒน์ บุญศรี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด เผยว่า 

เซ็นทรัล เล็งเห็นศักยภาพของธุรกิจค้าปลีกทางภาคเหนือ จึงได้ศึกษาแผนธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า โดยเปิดตัวโมเดลธุรกิจใหม่ เปลี่ยนห้างเซ็นทรัลกาดสวนแก้ว เป็น ห้างเซ็นทรัลเอาต์เล็ต (CENTRAL OUTLET) ที่ศูนย์การค้ากาดสวนแก้ว ซึ่งนับเป็นห้างเอาต์เล็ตแห่งใหม่ล่าสุดของภาคเหนือ ใจกลางเมืองเชียงใหม่ เพื่อมอบประสบการณ์ช้อปปิ้งให้ลูกค้าชาวเชียงใหม่ และภาคเหนือ

ห้างเซ็นทรัลเอาต์เล็ต (CENTRAL OUTLET) ที่ศูนย์การค้ากาดสวนแก้ว พร้อมต้อนรับลูกค้าให้ได้มาช้อปปิ้ง ด้วยส่วนลดสูงสุดถึง 90% พบกับกองทัพสินค้าทั้งแบรนด์ไทยแบรนด์อินเตอร์ (International Brand) ครบครันสินค้าทุกประเภทไม่ว่าจะเป็น สินค้าแฟชั่นเครื่องสำอาง, ชุดชั้นในสินค้าสปอร์ตอุปกรณ์เครื่องใช้ครัวเรือน รวมถึงสินค้าเด็ก 

ณัฐธีรา กล่าวเสริมว่า “เราเชื่อมั่นว่า การเปลี่ยนห้างเซ็นทรัลกาดสวนแก้ว เป็น ห้างเซ็นทรัลเอาต์เล็ต (CENTRAL OUTLET) ที่ศูนย์การค้ากาดสวนแก้ว จะช่วยกระตุ้นบรรยากาศการจับจ่าย หนุนเสริมเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ ให้มีความคึกคักมากยิ่งขึ้น และจะกลายเป็นจุดหมายใหม่ของนักช้อปในพื้นที่ภาคเหนือ 

นอกจากนี้ ยังมี ห้างเซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่ ในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่ (แยกศาลเด็ก) .เมือง .เชียงใหม่ ที่ยังคงเปิดให้บริการตามปกติ ร่วมสร้างความตื่นเต้น และสร้างสีสันการช้อปปิ้งได้อย่างแน่นอน

]]>
1297069
รู้จัก ‘Dolfin’ น้องใหม่ตลาด ‘e-payment’ กับแนวคิดมาก่อนหรือหลังไม่สำคัญ เพราะศัตรูเดียวกันคือ ‘เงินสด’ https://positioningmag.com/1286997 Wed, 08 Jul 2020 13:26:33 +0000 https://positioningmag.com/?p=1286997 ถือว่าเป็นน้องใหม่ในตลาด ‘e-payment’ ไทย เพราะ ‘ดอลฟิน’ (Dolfin) เพิ่งให้บริการได้เพียง 8 เดือนเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีผู้ใช้งานกว่า 1 ล้านราย และมีการทำธุรกรรมกว่า 100 ล้านทรานแซกชั่นต่อเดือน อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว จุดยืนของ Dolfin ก้าวต่อไปในตลาด รวมถึงมุมมองของตลาด e-payment ไทยจากนี้ คุณรุ่งเรือง สุขเกิดกิจพิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เซ็นทรัล เจดี ฟินเทค โฮลดิ้ง จะมาไขข้อสงสัยให้ฟัง

พ่อ-แม่ใหญ่ได้เปรียบ

Dolfin เกิดจากการร่วมทุนสองบริษัท คือ กลุ่มเซ็นทรัล และกลุ่มเจดี ดอทคอม (JD.com) บริษัทอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของจีน ซึ่งมีบริษัทเจดี ดิจิทส์ (JD Digits) ที่ทำด้านเทคโนโลยีฟินเทคมาช่วยหนุนด้านเทคโนโลยี โดยมีทุนจดทะเบียน 8,000 ล้านบาท และแน่นอนว่าที่ยอดใช้งานของ Dolfin เติบโตได้เร็วส่วนหนึ่งก็มาจากอีโคซิสเต็มส์ในเครือเซ็นทรัล ที่ทำให้มีจุดรับชำระที่มหาศาล ไม่ว่าจะเป็นห้างเซ็นทรัล, ท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต, ร้านอาหารในเครือซีอาร์จี และแฟมิลี่มาร์ท มีจุดเติมเงินผ่านเคาน์เตอร์เซ็นเพย์ (CenPay) กว่า 1,900 สาขาทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นพันธมิตรกับ ‘พร้อมเพย์’ ที่มีจุดรับชำระกว่า 4.5 ล้านจุด

“จุดสำคัญที่ทำให้คนใช้คือ เน็ตเวิร์กของจุดรับชำระและเน็ตเวิร์กของคนใช้ ต้องเติบโตอยู่ในลักษณะที่สมดุลกัน อะไรมาเร็วเกินก็ไม่ได้ ต้องก้าวไปพร้อม ๆ กัน แต่ Covid-19 หรือบรรยากาศแบบนี้ก็เป็นจังหวะที่ทำให้คนเปิดใจทั้งร้านค้าทั้งลูกค้า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้คนมาสมัครใช้งานอย่างง่ายดาย เราก็จะต้องมี marketing promotion”

มาช้ามาก่อนไม่สำคัญ เพราะ เงินสด คือศัตรูตัวจริง

เราไม่ได้มองใครเป็นศัตรู เพราะศัตรูที่เราแข่งอยู่คือ ‘เงินสด’ ตอนนี้ไทยมีการใช้ e-payment ไม่ถึง 3% ขณะที่จีนไปเกือบ 100% ดังนั้น ผู้เล่นในตลาดทุกรายยังต้องวิ่งตามหาความฝัน แต่ข้อดีของการเป็นแพลตฟอร์มคือ ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องมี 1 ราย อาจจะมี 2 wallet ในโทรศัพท์เดียวกันก็ได้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นอย่างนั้น แต่วันที่ไทยกลายเป็นสังคมไร้เงินสด จากนี้ถึงจะเป็นช่วงต้องแข่งขัน เพราะถ้าลูกค้าชินกับแอปไหน ก็จะใช้แอปนั้น น้อยครั้งที่จะข้ามกัน แต่โจทย์แรกคือ ต้องชนะเงินสด ขณะที่เราธนาคารก็ไม่ได้ไปแข่ง แต่เป็นพันธมิตรกันในการช่วยเชื่อมต่อเน็ตเวิร์กต่าง ๆ แลกกับการส่งต่อเทคโนโลยี เช่น Biomatrices, Facial Recognition เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม คงไม่สามารถประเมินได้ว่าการจะไปจุดนั้นจะใช้เวลานานแค่ไหน อาจจะ 3 ปี หรือ 10 ปี เพราะมีหลายปัจจัยไม่ใช่แค่ผู้บริโภค เช่น หากธนาคารแห่งประเทศลดการผลิตธนบัตรหรือเลิกพิมพ์ธนบัตร แน่นอนว่าสังคมไร้เงินสดเกิดขึ้นทันที ซึ่งปัจจุบันภาครัฐก็ผลักดันเต็มที่ อย่างการมีพร้อมเพย์ หรือแอปเป๋าตัง ซึ่งมันผลักดันให้ประชาชนไม่ต้องกลัวดิจิทัล

“ตอนนี้คนยังมีความเขินในการใช้คิวอาร์โค้ดอยู่ ซึ่งมันยังห่างไกล ดังนั้น การมาก่อนไม่ได้แปลว่าผู้ชนะ เพราะศัตรูตัวฉกาจของเราคือ เงินสด เพราะตอนนี้มันยังไม่ใช่ New Normal ตอนนี้โจทย์ของผู้เล่นทุกรายคือ ต้องทำให้เขาใช้แบบไม่เขิน เพราะมันยังดูเป็นของที่พิเศษ ตอนนี้เขาเริ่มเปิดใจแล้ว และเขาก็มองว่ามาแน่นอน”

เพย์เมนต์แค่จุดเริ่ม ของจริงจะมาอีก 6 เดือน

เพย์เมนต์ เป็นเครื่องมือทำให้เรารู้จักลูกค้า และมีรายได้มาจากค่าธรรมเนียมของร้านค้า แต่ไม่ได้คิดจะทำเป็นรายได้หลัก เพราะ Dolfin วาง Position ตัวเองเป็น Digital Financial Platform โดยเตรียมจะเข้าเปิดบริการอีก 3 รูปแบบ ได้แก่ ปล่อยเงินกู้ (loan), ขายประกัน (insurance) และ การจัดการสินทรัพย์ (Asset Management) โดยใน 6 เดือนจากนี้จะเริ่มปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล โดยใช้ ‘Data’ สามารถทำได้ผ่านมือถือ ไม่ต้องใช้เอกสารหรือเดินทางไปธนาคาร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ลูกค้าต้องยินยอมให้ใช้ข้อมูล อย่างไรก็ตาม การจะต่อยอดไปสู่การปล่อยกู้ให้กับร้านค้าพาร์ตเนอร์ยังต้องใช้เวลา แต่ระบบพร้อมแล้ว

“ในไทยมีผู้เล่นรายใหญ่ 5 ราย ไม่รวมรายเล็ก และทุกคนคงมีแนวคิดการเป็น Digital Financial Platform แต่มองว่าคงไม่ใช่ทุกคนที่ทำได้ครบ เพราะผู้เล่นอื่นอาจจะยังโฟกัสที่เพย์เมนต์ บางรายอาจจะทำเป็นระบบปิด ใช้ในเฉพาะแพลตฟอร์มตัวเอง แต่เราวางตัวตั้งแต่ต้นว่าจะเป็นระบบเปิด”

สิ้นปีโต 2 เท่า คืนทุนใน 5 ปี

ภายในสิ้นปีนี้ เราเพิ่มร้านค้านอกเครือเซ็นทรัลเป็น 15,000 ร้านค้า จากปัจจุบันมี 2,000 ร้านค้า และตั้งเป้าเพิ่มผู้ใช้เป็น 2 เท่า หรือ 2 ล้านราย ซึ่งจะโฟกัสไปที่คนรุ่นใหม่เป็นหลัก เพราะเข้าถึงได้ง่าย โดยปัจจุบันผู้ใช้งาน Dolfin เฉลี่ยอายุที่ 18-40 ปี แต่ภายใน 3-5 ปีจากนี้ Dolfin ตั้งเป้าทำรายได้ให้คืนทุน และมั่นใจว่าลูกค้าที่ใช้งานจะมาจากทุกช่วงอายุ

“สินค้าเทคโนโลยีราคาจะถูกลงเรื่อย ๆ เพื่อให้สเกลได้ เหมือนกับการสร้างแพลตฟอร์ม ดังนั้นถ้าเราจะคืนทุน ก็ต้องเมื่อมันสเกลได้ อย่างที่จีนคนใช้ e-wallet ทุกช่วงอายุ เหมือนกับเงินสดที่ใช้ได้ตั้งแต่เด็กจนผู้ใหญ่ และเราเองต้องการสู้กับเงินสด ดังนั้นเราต้องออกแบบให้กับทุกกลุ่มใช้ได้”

ความเชื่อมั่น หัวใจสำคัญที่ท้าทาย

ในสมัยหนึ่งเราไม่กล้าใช้บัตรเครดิต เพราะกลัวคนเอาไปใช้รูด หากบัตรหาย แต่ตอนนี้คนไม่กลัวแล้ว เพราะอยากสะดวกมากกว่า เช่นเดียวกับ e-payment คนยังกังวลว่าปลอดภัยไหม ดังนั้น การให้ความรู้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะมันจะนำพาซึ่งความเชื่อมั่น อย่าไปกลัว เพราะมันหนีไม่ได้ มันมาแน่ แต่ต้องใช้ประโยชน์จากมันให้มากที่สุด เพราะทุกอย่างมันมีกฎหมายกำกับอย่างชัดเจน และไม่มีผู้ให้บริการคนไหนอยากให้เกิดข้อผิดพลาด

]]>
1286997
“ห้างเซ็นทรัล” เปิด 26 มาตรการ เตรียมความพร้อมเปิดให้บริการ 23 สาขาทั่วประเทศอีกครั้ง https://positioningmag.com/1277949 Mon, 11 May 2020 10:52:54 +0000 https://positioningmag.com/?p=1277949 ห้างเซ็นทรัล 23 สาขาทั่วประเทศ เตรียมความพร้อมเปิดบริการอีกครั้ง ในกรณีที่รัฐบาลประกาศมาตรการผ่อนปรนกิจการและกิจกรรมต่างๆ เพื่อควบคุมการระบาดของโรค COVID-19 ครอบคลุม 5 หัวข้อหลัก 26 มาตรการเข้มด้านสุขอนามัย

หลังจากที่ทาง CPN หรือเซ็นทรัลพัฒนาได้เปิดมาตรการรองรับความปลอดภัย เพื่อเตรียมพร้อมการเปิดให้บริการศูนย์การค้าแล้ว ทางห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลก็เปิดมาตรการรองรับด้วยเช่นกัน พบว่ามีรูปแบบไม่แตกต่างกันมากนัก

โดยมีข้อกำหนดครอบคลุมใน 5 หัวข้อหลัก 26 มาตรการเข้มด้านสุขอนามัย เพื่อเตรียมความพร้อมจะเปิดให้บริการทั้ง 23 สาขาทั่วประเทศอีกครั้ง

ปลอดภัยสูงสุด (Central is…Safe)

  • พนักงานต้องสวมหน้ากากอนามัย และเฟซชิลด์ (Face Shield) ตลอดเวลา ขณะปฏิบัติงาน และทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ ทั้งก่อนและหลังบริการ
  • ตรวจวัดอุณหภูมิพนักงานทุกคน ทุก 3 ชั่วโมง

  • ควบคุมดูแลระบบระบายอากาศหมุนเวียน (Air Change) มากกว่า 10 เท่า เป็นไปตามมาตรฐาน ทั้งยังเพิ่มระบบฆ่าเชื้อโรคด้วยแสง UVC ในระบบปรับอากาศตลอดเวลา
  • มีระบบติดตาม (Tracking) ข้อมูลลูกค้าที่มาใช้บริการ รวมถึงพนักงานที่เข้ามาปฏิบัติงานที่ห้างสรรพสินค้า

เคร่งครัด คัดกรอง (Central is…Screening)

  • ให้บริการตรวจวัดอุณหภูมิ และบริการเจลแอลกอฮอล์ ก่อนเข้าห้างฯ ให้กับลูกค้า พนักงาน ทั้งหน้าร้านและสำนักงาน รวมถึงพนักงานร้านเช่า ตลอดจนผู้มาติดต่องาน หากพบว่ามีอุณหภูมิเกิน 37.5 องศาเซลเซียส จะไม่อนุญาตให้เข้าพื้นที่ และแนะนำให้ไปพบแพทย์ทันที
  • ลูกค้า พนักงานหน้าร้าน และสำนักงาน รวมถึงพนักงานร้านเช่า และผู้มาติดต่องาน ต้องสวมหน้ากากอนามัยก่อนเข้าห้างฯ หากไม่ได้เตรียมมา จะแนะนำให้ซื้อที่จุดคัดกรอง ซึ่งมีการตั้งโต๊ะจำหน่าย

  • คัดกรองความเสี่ยงของพนักงานทุกคนก่อนกลับเข้ามาปฏิบัติงาน โดยให้พนักงานทำแบบประเมินตนเอง (Self-Assessment) ผ่านลิงก์ หรือคิวอาร์โค้ดที่บริษัทฯ กำหนด หากพบความเสี่ยง พนักงานจะต้องปฏิบัติตามแนวทางการกักตัว (Self-Quarantine) มีการติดตามและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดอย่างน้อย 14 วัน รวมทั้งหมั่นตรวจสอบอาการตนเองสม่ำเสมอ

สะอาด ปลอดภัย ไร้กังวล (Central is…Clean)

  • สินค้าที่จำเป็นต้องสัมผัสกับลูกค้าโดยตรง อาทิ ชุดชั้นใน ชุดว่ายน้ำ เสื้อผ้า รองเท้า หรือแผนกเครื่องครัว ต้องนำสินค้าที่ลองหรือสัมผัสแล้ว ไปฆ่าเชื้อโรค รวมทั้งทำความสะอาดภายในห้องลองด้วยการฆ่าเชื้อโรคทุกครั้งหลังใช้บริการ
  • ปูผ้าหุ้มพรม บริเวณประตูทางเข้า-ออก ห้างฯ พร้อมพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค และเปลี่ยนผ้าวันละ 2 รอบ หรือบ่อยครั้งตามความเหมาะสมของแต่ละสาขา

  • ติดตั้งเครื่องฆ่าเชื้อโรคด้วย UVC แบบอัตโนมัติที่ราวบันไดเลื่อน ห้างเซ็นทรัล (บางสาขา)
  • จัดให้มีจุดบริการเจลแอลกอฮอล์ อาทิ ทางเข้าห้างฯ จุดประชาสัมพันธ์ เคาน์เตอร์แคชเชียร์ และในลิฟต์ทุกตัว รวมทั้งตรวจจุดติดตั้งเครื่องเจลแอลกอฮอล์ ทุก 2 ชั่วโมง เพื่อเติมไม่ให้ขาด
  • ทำความสะอาดห้องน้ำทุก 30 นาที และติดตั้งเครื่องจ่ายเจลแอลกอฮอล์สำหรับฆ่าเชื้อโรคบนฝาสุขภัณฑ์ในห้องน้ำ
    ทำความสะอาดตามรอบความถี่ที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด รวมทั้งทำความสะอาด Deep Cleaning ทั่วพื้นที่ขาย และห้องให้บริการต่างๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เครื่องอบโอโซน และเครื่อง UVC เคลื่อนที่ หลังปิดทำการในแต่ละวัน
    ทำความสะอาดในจุดที่ลูกค้าสัมผัสมากด้วยนํ้ายาฆ่าเชื้อโรคทุกครึ่งชั่วโมง อาทิ ราวบันไดเลื่อน ที่จับประตู และปุ่มกดลิฟต์
  • ทำความสะอาดบัตรจอดรถและบัตรศูนย์อาหาร ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ก่อนและหลังการใช้งานทุกครั้ง

เว้นห่าง อย่างห่วงใย (Central is…Distancing)

  • จำกัดจำนวนคนเข้าห้างฯ ไม่เกิน 1 คน ต่อ 5 ตร.ม. โดยมีระบบในการนับที่เคร่งครัด
  • กำหนดจุดเว้นระยะห่าง ทุกประตูทางเข้า-ออก และทุกจุดให้บริการ อาทิ เคาน์เตอร์แคชเชียร์ เคาน์เตอร์บริการลูกค้า จุดเข้าคิวห้องน้ำ จุดแลกซื้อ จุดรอลิฟต์ บันไดเลื่อน ร้านและศูนย์อาหาร
  • มีการจัดที่นั่งเว้นระยะห่าง ณ พื้นที่ห้องบริการ และที่นั่งคอยในพื้นที่ขาย บริเวณเคาน์เตอร์ รวมถึงจุดบริการอาหารและเครื่องดื่ม สำหรับภาชนะต่างๆ ในห้องเลาจน์ อาทิ แก้วน้ำ และช้อน เปลี่ยนเป็นแบบใช้แล้วทิ้ง

  • จัดให้มีพื้นที่ติดต่อของบุคคลภายนอก และพนักงานรับส่งอาหาร โดยจัดทำป้าย และสติกเกอร์การเว้นระยะห่าง รวมทั้งทำความสะอาดตามรอบที่กำหนด
  • มีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำ เพื่อให้ลูกค้าเว้นระยะห่างที่ปลอดภัยระหว่างกัน ตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข
    กำหนดทางเข้า-ออกของลูกค้า โดยใช้คนละข้างของประตู
  • ทำฉากกั้นใส (Window Shield) ที่เคาน์เตอร์บริการลูกค้า และบนโต๊ะรับประทานอาหาร (Table Shield) ในร้านและศูนย์อาหาร
  • ทำป้ายรณรงค์การป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 พร้อมข้อควรปฏิบัติในแต่ละพื้นที่ อาทิ การใช้ห้องน้ำ การใช้ลิฟต์ และการใช้บันไดเลื่อนที่ปลอดภัย

ลดเสี่ยงจากสัมผัส (Central is…A Touchless Experience)

  • ส่งเสริมการชำระเงินผ่านโมบายแบงกิ้ง หรืออีเพย์เมนต์ แทนการชำระเงินสด
  • กรณีลูกค้าชำระเงินสด ทั้งธนบัตรและเหรียญที่ได้รับจะแยกไว้เพื่อนำไปฆ่าเชื้อโรคโดยการอบโอโซน และเงินที่ทอนให้ลูกค้าจะมีการใส่แผ่นรองเงินเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรง
  • ติดตั้งแป้นเปิดประตูด้วยเท้าที่ประตูห้องน้ำ และห้องบริการต่างๆ เพื่อเลี่ยงการสัมผัสประตู

]]>
1277949