เรตติ้งทีวี – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 08 Jun 2022 23:53:03 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ส่องเทรนด์ ‘ทีวี’ ยุคดิจิทัล ชี้คนไทยใช้ Smart TV เพิ่ม 147% รายการ ‘ข่าว’ มาแรงเทียบชั้น ‘ละคร’ https://positioningmag.com/1388186 Wed, 08 Jun 2022 09:56:23 +0000 https://positioningmag.com/?p=1388186 แม้ปัจจุบันจำนวนผู้ใช้ดิจิทัลจะมีเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าทีวียังเป็นช่องทางที่เข้าถึงคนไทยได้มากที่สุด ซึ่ง 95% ของครัวเรือนไทยที่สามารถเข้าถึงทีวีได้ แต่ผู้ใช้ส่วนหนึ่งได้เปลี่ยนจากการดูผ่านเครื่องเล่นทีวีแบบดั้งเดิมมาเป็นช่องทางดิจิทัล ซึ่งอาจไม่ได้รับชมแค่ช่องทีวีปกติอีกต่อไป

การสำรวจของ นีลเส็น พบว่า การรับชมทีวีผ่าน Smart TV ของคนไทยเติบโตขึ้นถึง 147% เมื่อเทียบกับปี 2019 หรือช่วงก่อนเกิดการระบาดของ COVID-19 และกว่า 45% ดูทีวีผ่าน โทรศัพท์มือถือ ซึ่งโตถึง 83% แสดงให้เห็นว่าเมื่อเทรนด์ของผู้ชมเริ่มไปทางฝั่งออนไลน์มากขึ้น ทีวีเริ่มมีการปรับตัว

โดยทีวีหลายสำนักมีการทำเนื้อหาในรูปแบบออนไลน์ สร้างแพลตฟอร์มของตัวเองเพื่อดึงผู้ชม ทำให้ตลาดสตรีมมิ่งปัจจุบันจึงมีความสนุกและเข้มข้นมาก ผู้ชมมีตัวเลือกเยอะมากขึ้น จากผลสำรวจเมื่อปี 2019 ถึงจำนวนผู้ใช้งานแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง หรือ OTT (Over the top) พบว่ามีประมาณ 29% ของคนไทยทั้งประเทศที่ใช้งาน แต่จากข้อมูลล่าสุดได้ทำการสำรวจช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ พบว่าเพิ่มขึ้นเป็น 59%

จากจำนวนผู้ใช้ในตลาดสตรีมมิ่งที่โตแบบก้าวกระโดด ผู้ชมจำนวนมากยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อติดตามเนื้อหา ถึงแม้ว่าปัจจุบันมีจำนวนแพลตฟอร์มจำนวนมาก โดยการสำรวจของนีลเส็นสหรัฐฯ พบว่าปัจจุบัน คนส่วนใหญ่จ่ายเงินเพื่อติดตามเนื้อหาสตรีมมิ่ง 2-3 แพลตฟอร์มต่อคน

รายการ ข่าว มาแรง

นอกจากเทรนด์ของรับชมทีวีเปลี่ยนไป เนื้อหาที่คนไทยรับชมผ่านทีวีก็เปลี่ยนไปเช่นกัน ในปี 2019 เนื้อหาที่คนไทยดูผ่านทีวีมากที่สุด คือ ละคร ซีรีส์ (54%) แต่ข้อมูลในปีล่าสุดพบว่า เนื้อหาที่คนไทยดูมากที่สุดตอนนี้คือ รายการข่าว (52%) คนไทยหันมาสนใจข่าวมากขึ้น โดยสาเหตุหนึ่งคาดว่ามาจากสถานการณ์โควิดมีส่วนทำให้พฤติกรรมเปลี่ยน โดยช่วงเริ่มแรกคนติดตามข่าวการรายงานรายวันและสถานการณ์รอบโลก และปัจจุบันรายการข่าวหลายรายการมีการถ่ายทอดสดผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งเอื้ออำนวยให้ผู้ชมเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

เรื่องเล่าเช้านี้

ยกระดับการวัดเรตติ้ง

ความท้าทายในปัจจุบันคือ ประเทศไทยผู้ชมจำนวนมากที่ยังนิยมดูรายการทีวีอยู่ แต่ผู้ชมเหล่านั้นกระจัดกระจายไปตามช่องทางต่าง ๆ ทั้งคนที่ดูผ่านจอทีวีและจอออนไลน์ ซึ่งผู้ชมในแต่ละแพลตฟอร์มมีพฤติกรรมการชมที่แตกต่างกันไป เพื่อความเข้าใจผู้ชมมากขึ้นและเพื่อที่จะได้สะท้อนภาพของผู้ชมที่แท้จริงว่าเป็นอย่างไร อุตสาหกรรมจำเป็นต้องมีระบบการวัดเรตติ้งที่สามารถวัดรวมทั้งทางทีวีและทางดิจิทัลไปพร้อมกัน เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปพัฒนารูปแบบรายการ และมีเดียเอเจนซี สามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์วางแผนในการซื้อสื่อโฆษณาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นีลเส็น ประเทศไทย กำลังพัฒนา การวัดเรตติ้งข้ามแพลตฟอร์ม (Cross Platform) ซึ่งเป็นโครงการร่วมกับ สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอลประเทศไทย และ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช). โดยนีลเส็น ได้ดำเนินการตามแผนงานโดยมีการติดตั้งและปรับปรุงระบบและอุปกรณ์ เพื่อรองรับการวัดการรับชมผ่านออนไลน์เรียบร้อยแล้ว และกำลังอยู่ในขั้นตอนการเก็บผลสำรวจและทดสอบระบบ ซึ่งจะได้รายงานผลสำรวจความนิยมของรายการโทรทัศน์แบบข้ามแพลทฟอร์มชุดแรกในช่วง ไตรมาส 3 ของปี

สำหรับการสำรวจความนิยมรายการโทรทัศน์แบบข้ามแพลตฟอร์มนี้ เป็นเทคโนโลยีระบบการวิจัยล่าสุดที่นีลเส็นได้พัฒนาและเริ่มใช้แล้วในประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก โดยประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกในอาเซียน

“พฤติกรรมของผู้ชมกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตอนนี้เป็นเวลาที่เหมาะสมในการนำการวัดเรตติ้งข้ามแพลตฟอร์มที่มีประสิทธิภาพมาสู่ประเทศไทย มาตรวัดนี้จะเป็นค่ามาตรฐานที่ช่วยให้นักการตลาดและเจ้าของสื่อเข้าใจในพฤติกรรมของคนไทย อีกทั้งยังช่วยสร้างสรรค์โอกาสใหม่ให้กับผู้ลงโฆษณา และผลักดันการผลิตเนื้อหาที่มีความสอดคล้องกับกลุ่มผู้ชมมากยิ่งขึ้น” อารอน ริกบี้ กรรมการผู้จัดการ นีลเส็นประเทศไทย กล่าว

]]>
1388186
ศึกเรตติ้งทีวีเดือด รอยาวอีก 1 ปี! กสทช. ออกประกาศใหม่เปิด “ทุกราย” เสนอตัวของบ 431 ล้าน “ช่อง 7” ร่วมวงท้าชิง https://positioningmag.com/1247853 Fri, 27 Sep 2019 09:24:11 +0000 https://positioningmag.com/?p=1247853 ตามคำสั่ง คสช. เมื่อวันที่ 11 เม.. 2562 เพื่อแก้ไขปัญหาทีวีดิจิทัล นอกจากเปิดทางให้คืนใบอนุญาตและรับเงินชดเชยแล้ว ยังมีประเด็นการสนับสนุนงบประมาณให้องค์กรกลาง” ที่มีทีวีดิจิทัลเป็นสมาชิก จัดทำระบบเรตติ้งทีวีดิจิทัลใหม่ จากเดิมที่จะสรุปเลือกองค์กรกลางได้รับงบในเดือน .นี้ แต่จากประกาศฯ ใหม่ ต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่า 1 ปี  

ขั้นตอนการเลือกองค์กรกลางที่จะได้รับงบจัดทำเรตติ้ง ที่ กสทช.เคาะงบประมาณมาให้ 431 ล้านบาท โดยเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2562 กสทช.ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการจัดสรรเงินในการจัดทำระบบสำรวจเรตติ้งทีวีดิจิทัลใหม่

สาระสำคัญของประกาศ คือ กำหนดคุณสมบัติให้ “องค์กรกลาง” ที่เป็นนิติบุคคล มาจากการรวมกลุ่มของทีวีดิจิทัลจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของผู้ได้รับใบอนุญาต และเป็นองค์กรกลางที่จดทะเบียนมาไม่น้อยกว่า 3 ปี จึงเข้าหลักเกณฑ์เสนอของบประมาณจัดทำเรตติ้งทีวีใหม่

พบว่ามีเพียง สมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ที่มี “สุภาพ คลี่ขจาย” เป็นนายกสมาคม เพียงรายเดียวที่มายื่นของบประมาณทำเรตติ้งทีวีใหม่ เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2562 หลังจากนั้น วันที่ 20 ก.ย. 2562 ช่อง 7 ได้ไปยื่นฟ้อง กสทช. ที่ศาลปกครองกลาง เรื่องการออกประกาศหลักเกณฑ์ให้เงินสนับสนุนจัดทำเรตติ้งทีวีดิจิทัล ที่กำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติต้องเป็นองค์กรกลางที่จดทะเบียนไม่น้อยกว่า 3 ปี ซึ่งเข้าข่าย “กีดกั้น” รายอื่นๆ

ยกเลิกประกาศฯ เดิมเปิดทุกองค์กรของบ

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า หลังจากได้รับคำฟ้องจากศาลปกครองกลาง ได้ประชุมคณะทำงานที่จัดทำเรื่องงบประมาณสนับสนุนเรตติ้งทีวีดิจิทัล โดยสรุป วันนี้ (27 ก.ย.) ได้ “ยกเลิก” ประกาศฯ หลักเกณฑ์เดิมที่ประกาศฯ ไปเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2562 พร้อมออกประกาศฯหลักเกณฑ์ใหม่ในวันนี้

สาระสำคัญของประกาศใหม่ คือ “ยกเลิก” คุณสมบัติองค์กรกลางที่ต้องจดทะเบียนมาไม่น้อยกว่า 3 ปี และกำหนดคุณสมบัติใหม่ ให้ทุกองค์กรกลาง ที่รวมตัวสมาชิกทีวีดิจิทัล มายื่นเสนอของบจัดทำเรตติ้งได้ทุกองค์กร โดยไม่กำหนดอายุขององค์กรกลางที่จัดตั้งใหม่

โดยเปิดรับ “องค์กรกลาง” ที่จะมายื่นของบประมาณจัดทำเรตติ้งทีวีดิจิทัล เป็นระยะเวลา 1 ปี คือ ในช่วง 1 ปีนี้ องค์กรใดที่มีสมาชิกทีวีดิจิทัล จะมายื่นของบประมาณก็ได้ หลังจากครบเวลา 1 ปีที่เปิดให้ยื่นของบประมาณ เป็นขั้นตอนการพิจารณาให้งบประมาณองค์กรกลาง วงเงิน 431 ล้านบาท ไปจัดทำเรตติ้ง ซึ่งองค์กรกลางจะไปว่าจ้างบริษัทใดก็ได้ โดย กสทช. ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการว่าจ้างดังกล่าว

“หากในช่วง 1 ปีนี้ ไม่มีองค์กรกลางรายใด มายื่นเสนอของบประมาณจัดทำเรตติ้งทีวีดิจิทัลใหม่ กสทช. จะนำเงิน 431 ล้านบาท ส่งคืนรัฐ”

ช่อง 7 ร่วมวงชิงงบจัดทำเรตติ้ง

วันนี้ ที่สำนักงาน กสทช. มีกำหนด “คืนเงิน” ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทีวีดิจิทัล งวดที่ 5 ให้กับทีวี ดิจิทัล 3 ช่อง คือ ช่อง 7 เวิร์คพอยท์ทีวี และสปริงนิวส์ 19 รวม 1,055 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 3 ช่อง จ่ายเงินมาแล้ว แต่ได้รับสิทธิไม่ต้องจ่ายเงินค่าใบอนุญาต จากมาตรการแก้ไขปัญหาทีวีดิจิทัล ตามมาตรา 44 คำสั่ง คสช.

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. พูดคุยเรื่องการจัดทำเรตติ้งทีวีร่วมกับ ดร.เยาวลักษณ์ พูลทอง กรรมการผู้จัดการ ช่อง 7

ฐากร กล่าวว่าได้หารือทำความเข้าใจเรื่องการ “ยกเลิก” ประกาศฯ เดิม และออกประกาศฯ ใหม่ ที่เปิดโอกาสให้ทุกองค์กรที่รวมตัวจากสมาชิกทีวีดิจิทัล มาเสนอของบประมาณจัดทำเรตติ้งทีวีดิจิทัลใหม่ ร่วมกับ ดร.เยาวลักษณ์ พูลทอง กรรมการผู้จัดการ ช่อง 7 ในโอกาสมารับเช็คคืนเงินค่าใบอนุญาตงวดที่ 5 เรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้ สำนักงาน กสทช. จะไปชี้แจ้งข้อมูลกับศาลปกครองกลางต่อไปถึงการออกประกาศฯ ใหม่

จากการหารือกับ ช่อง 7 เห็นว่าจะรวบรวมสมาชิกทีวีดิจิทัล จัดตั้งเป็นองค์กรกลาง เพื่อเสนอตัวเข้ามาของบประมาณสนับสนุนจัดทำเรตติ้งทีวีดิจิทัลใหม่กับ กสทช. ด้วยเช่นกัน

เปิดรายละเอียด ประกาศใหม่เรตติ้ง กสทช.

วันนี้ (27 ก.ย. 2562) กสทช. ได้ออกประกาศสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการจัดสรรเงินในการสำรวจความนิยมช่องรายการโทรทัศน์เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมโทรทัศน์ดิจิตอล (ฉบับที่ 2)

โดยที่เป็นการปรับปรุงประกาศสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการจัดสรรเงินในการสำรวจความนิยมช่องรายการโทรทัศน์เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมโทรทัศน์ดิจิตอล ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2562 เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับเจตนารมณ์ในการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมตามคำสั่งหัวหน้คณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 4/2562 เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาการ ประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมลงวันที่ 11 เมษายน 2562 อาศัยอำนาจตามความในข้อ 2 ข้อ 14 และข้อ 15 ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 4/2562 เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ลงวันที่ 11 เมษายน 2562 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการจัดสรรเงินในการสำรวจความนิยมช่องรายการโทรทัศน์เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมโทรทัศน์ดิจิตอลลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2562

ข้อ 2 ในประกาศนี้ “การสำรวจความนิยมช่องรายการโทรทัศน์” หมายความว่าการสำรวจและวิจัยระดับความนิยม (Rating) ของช่องรายการโทรทัศน์ หรือเนื้อหารายการโทรทัศน์ และรวมถึงการดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจความนิยมช่องรายการโทรทัศน์ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำฐานข้อมูล การให้บริการ ฐานข้อมูลการตรวจสอบความถูกต้องของฐานข้อมูลเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมโทรทัศน์ดิจิตอล

“ผู้รับใบอนุญาต” หมายความว่าผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล

“สำนักงาน กสทช.” หมายความว่าสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

ข้อ 3 ผู้ที่มีสิทธิขอรับการจัดสรรเงินสนับสนุนจากสำนักงาน กสทช. เพื่อดำเนินการสำรวจความนิยมช่องรายการโทรทัศน์เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมโทรทัศน์ดิจิตอล จะต้องเป็นองค์กรกลางในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(1) เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายที่เกิดจากการวมตัวของผู้รับใบอนุญาตทุกราย หรือ

(2) เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายที่เกิดจากการวมตัวของผู้รับใบอนุญาตและได้มีการเชิญชวนผู้รับใบอนุญาตในส่วนที่เหลือแล้วเพื่อดำเนินการสำรวจความนิยมช่องรายการโทรทัศน์ หรือ

(3) ผู้รับใบอนุญาตมีการรวมตัวกันโดยต้องมีการเชิญชวนผู้รับใบอนุญาตทุกรายมาประชุมร่วมกัน เพื่อดำเนินการจัดตั้งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย

ข้อ 4 องค์กรกลางที่จะขอรับเงินสนับสนุนตามประกาศนี้ให้แจ้งความประสงค์เป็นหนังสือ ยื่นต่อสำนักงาน กสทช. ภายในหนึ่งปีนับแต่วันบระกาศนี้มีผลใช้บังคับและจะต้องมีเอกสารประกอบการพิจารณา ดังต่อไปนี้

(1) หนังสือจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลตามกฎหมาย

(2) หลักฐานการเชิญชวนผู้รับใบอนุญาตทุกรายเพื่อจัดตั้งเป็นองค์กรตาม 3 (2) หรือ(3) ทั้งนี้ กรณีมีผู้รับใบอนุญาตเข้าร่วมไม่ครบทุกรายจะต้องแสดงเหตุผลพร้อมเอกสารหลักฐาน

(3) รายละเอียดข้อเสนอในการดำเนินการสำรวจความนิยมช่องรายการโทรทัศน์เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมโทรทัศน์ดิจิตอลโดยอย่างน้อยจะต้องแสดงแผนการดำเนินการและแผนการใช้จ่ายเงินตลอดระยะเวลาในการดำเนินการ

(4) เอกสารอื่นใดตามที่สำนักงาน กสทช. เห็นสมควรเพื่อประกอบการพิจารณา

ข้อ 5 การจ่ายเงินการสำรวจความนิยมช่องรายการโทรทัศน์ให้สำนักงาน กสทช.จ่ายเป็นรายงวดตามความเหมาะสมโดยคำนึงถึงแผนการดำเนินงาน และจะต้องมีการทำข้อตกลงยินยอมการปฏิบัติ ตามเงื่อนไขการสนับสนุนตามที่สำนักงาน กสทช.กำหนดข้อตกลงยินยอมการปฏิบัติตามเงื่อนไขการสนับสนุนตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยจะต้องประกอบด้วยเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

(1) องค์กรกลางจะต้องยินยอมที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์ที่สำนักงาน กสทช.กำหนด

(2) สำนักงาน กสทช.จะต้องได้รับหรือมีสิทธิในการเข้าใช้ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจความนิยมซ่องรายการโทรทัศน์เพื่อประโยชในการกำกับดูแลการแข่งขันโดยไม่มีคำใช้จ่าย

(3) องค์กรกลางจะต้องสามารถเปิดเผยข้อมูลกระบวนการสำรวจเท่าที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรมโทรทัศน์เมื่อได้รับการร้องขอ

(4) องค์กรกลางจะต้องสามารถสนับสนุนข้อมูลต่อหน่วยงนราชการหน่วยงานของรัฐสถาบันการศึกษาในทางที่เป็นประโยชน์ต่อการวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์หรือกิจการอื่นใดที่มีความเกี่ยวข้องไนอุตสาหกรรมโทรทัศน์

(5) ผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลประภทสาธารณะจะองมีสิทธิการข้ร่วมระบบกาสำรวจข้อมูลความนิยมการรับชมรายการโทรทัศน์

ข้อ 6 ในกรณีที่ไม่มีองค์กรกลางขอรับการสนับสนุนตามประกาศนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ตามข้อ 4 หรือมีเหตุอื่นใดที่ทำให้สำนักงาน กสทช.ไม่อาจสนับสนุนเงินตามประกาศนี้ได้ สำนักงาน กสทช.จะนำส่งเงินดังกล่าวเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป

ศึกจัดทำเรตติ้งทีวีแข่งเดือด

ความเคลื่อนไหวเรื่องการจัดทำเรตติ้งทีวีดิจิทัลใหม่ หลังคำสั่ง คสช. มาตรา 44 สนับสนุนงบประมาณจัดทำเรตติ้งทีวีดิจิทัลใหม่ เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2562 สำนักงาน กสทช. ได้เปิดเวทีให้ผู้ประกอบการ 3 ราย คือ ประกอบด้วย บริษัท พีเอสไอ บรอดคาสติ้ง จำกัด หรือ PSI ผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดาวเทียม, เดอะ นีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด ผู้จัดทำเรตติ้งทีวีปัจจุบันและอยู่ในตลาดมากว่า 30 ปี และสมาคมวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อ (ประเทศไทย) หรือ MRDA

ขณะที่ สมาคมทีวีดิจิทัลแห่งประเทศไทย ที่มี “สุภาพ คลี่ขจาย” เป็นนายกสมาคมฯ และเป็นองค์กรกลาง แห่งเดียวที่ยื่นเสนอของบสนับสนุนจัดทำเรตติ้งจาก กสทช. มีความชัดเจนว่า จะสนับสนุน MRDA ในการจัดทำเรตติ้งใหม่

ในฝั่งของ ช่อง 7 มีความชัดเจนเช่นกันว่า ไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิก MRDA และประกาศไม่ใช้ระบบการจัดทำเรตติ้งทีวีใหม่ ที่อุตสาหกรรมสื่อทีวีและมีเดีย เอเยนซี จะใช้เป็นตัวเลขอ้างอิงในการวางแผนโฆษณา

ถือเป็นศึกจัดทำเรตติ้งทีวี ที่ต้องฟาดฟันกันจนนาทีสุดท้าย และต้องรอดูว่างบประมาณ 431 ล้านบาท จะอยู่ในมือใคร แต่ทุกรายมีเวลาอีก 1 ปี ก่อนเส้นตาย กสทช. ส่งเงินคืนรัฐ หากไม่มีองค์กรกลางรายใดเสนอตัวเข้ามารับงบประมาณหรือมีเหตุที่ไม่สามารถเลือกองค์กรกลางได้.

ข่าวเกี่ยวเนื่อง

]]>
1247853
ศึกชิงเรตติ้งข่าว! “ทีวีดิจิทัล” เขย่าผังดึง “คนดัง” ลงจอ หวังแย่งผู้ชม-เค้กโฆษณาหลัง “ช่องข่าว” คืนไลเซ่นส์ https://positioningmag.com/1245062 Tue, 03 Sep 2019 11:58:24 +0000 https://positioningmag.com/?p=1245062 สมรภูมิทีวีดิจิทัลโค้งสุดท้ายของปี ศึกคอนเทนต์รอบใหม่ พุ่งเป้าไปที่รายการข่าวหลัง 7 ช่อง พ่ายเกมการแข่งขันลาจอก่อนจบอายุใบอนุญาต มีช่องข่าว 3 ช่อง สปริงนิวส์ ไบรท์ทีวี และวอยซ์ทีวี หากรวมไทยทีวีที่ออกจากตลาดไปก่อนตั้งแต่ปี 2558 เหลือช่องข่าว” 3 ช่อง จาก 7 ช่องที่ กสทช. ออกใบอนุญาตไว้ในปี 2557

ในมุมของโอกาสทำรายได้จาก “รายการข่าว” ที่โกยเรตติ้งในกลุ่มผู้นำ สามารถทำเม็ดเงินโฆษณาเป็นกอบเป็นกำไม่แพ้คอนเทนต์อื่นๆ เห็นได้จากยุคผู้ประกาศดัง “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” ปั้นแบรนด์ “ครอบครัวข่าว” ให้ช่อง 3  ติดอันดับท็อปเรตติ้ง มาในยุคนี้ “พุทธอภิวรรณ องค์พระบารมี” สร้างชื่อเรตติ้ง “ทุบโต๊ะข่าว” ช่องอมรินทร์ทีวี ขึ้นมาติดอันดับช่องท็อปเท็นเช่นกัน

หากวิเคราะห์เม็ดเงินโฆษณาทีวี ปีละ 6 – 7 หมื่นล้านบาท สัดส่วน 70% มาจากละครและวาไรตี้ ที่มีเรตติ้งสูงสุด ราคาโฆษณา rate card แตะระดับ 3 – 4 แสนบาทต่อนาที ขณะที่รายการข่าวมีสัดส่วนราว 20% ของเม็ดเงินโฆษณาทีวี หรือกว่า 1.2 – 1.4 หมื่นล้านบาทต่อปี ต้องถือว่าไม่น้อย ที่สำคัญต้นทุนต่ำกว่าละครและรายการวาไรตี้ จึงเป็นเรื่องปกติเมื่อทีวีดิจิทัล ที่เหลืออยู่จะหันมาโฟกัสคอนเทนต์ข่าวเพื่อปั้นเรตติ้งและเม็ดเงินโฆษณา ช่วงไตรมาสสุดท้ายนี้ จึงเห็นหลายช่องประกาศผังข่าวใหม่กันคึกคัก

9 MCOT” เขย่าผังข่าวเช้า

เป็น 1 ใน 7 ช่อง “ทีวีดิจิทัล” ที่ขอคืนใบอนุญาต ช่องเด็ก Mcot 14 Family มีคิวลาจอเที่ยงคืนวันที่ 15 ก.ย. 2562 เพื่อมาโฟกัสคอนเทนต์ช่องหลัก 9 Mcot HD

เขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท กล่าวว่าตั้งแต่เดือน ก.ย. นี้ ช่อง 9 ได้ปรับผังรายการใหม่ มีสัดส่วนรายการบันเทิง 39% ข่าวและรายงานสถานการณ์ 37% สาระและความรู้ 8% กีฬา 8% และสาระบันเทิง 8% เป็นรายการที่สถานีผลิตเอง 64% ร่วมผลิตและแบ่งรายได้ 14% และเช่าเวลา 22%

โดยเริ่มทยอยปรับผังรายการตั้งแต่กลางเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา เริ่มด้วยการถ่ายทอดสดรายการมวยไทย “แม็กซ์ มวยไทย” รูปแบบ Sport Entertainment ซึ่งเป็นรายการมวยเรตติ้งสูง ที่ย้ายมาจากช่องสปริง 26 ออกอากาศ 5 วัน วันอาทิตย์-วันพฤหัสบดี เวลา 18.00 น.

อีกไฮไลต์การปรับผังเดือน ก.ย. นี้ คือกลุ่มรายการข่าวเช้า เน้นเนื้อหาวิเคราะห์ข่าวเศรษฐกิจระดับโลก ทั้งการค้าการลงทุน หุ้น ทั่วโลก และสัมภาษณ์กูรูผู้เชี่ยวชาญ เริ่มด้วยช่วงเช้ารายการ “เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand” โดย “ดนัย เอกมหาสวัสดิ์” และ “อมรรัตน์ มหิทธิรุกข์” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00-09.30 น.

ส่วนช่วงค่ำ โดย 2 กูรูคนข่าว กับบทวิเคราะห์เจาะลึกข่าวในประเทศและรอบโลก โดยวีระ ธีรภัทร ในรายการ “ฟังหูไว้หู” และสุทธิชัย หยุ่น ในรายการ “กาแฟดำ”

“ช่อง 9 อสมท กำลังทยอยปรับเนื้อหาอีกหลังจากนี้ เพื่อวาง Positioning ที่ชัดเจน ให้เป็น top of mind ด้านคอนเทนต์และแพลตฟอร์ม ทั้งเทรดดิชันนอล มีเดียและโซเชียล มีเดียมากขึ้น”

“โมโน29” หวังผังข่าวติดท็อปเท็น

หลังจากใช้คอนเทนต์บันเทิง ภาพยนตร์-ซีรีส์ ต่างประเทศ ขึ้นมายึด เรตติ้งอันดับ 3 มาพักใหญ่ ก็ได้เวลา MONO29 ต้องเสริมความแข็งแรงให้คอนเทนต์ใหม่ๆ และก็มุ่งเป้ามาที่ “รายการข่าว” เช่นกัน

บรรณสิทธิ์ รักวงษ์ ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ช่อง MONO29 ในเครือโมโนกรุ๊ป กล่าวว่า โมโนได้ปรับทัพคอนเทนต์ข่าวใหม่ โดยดึง ต๊ะ-พิภู พุ่มแก้วกล้า มาเป็นหัวเรือใหญ่ของทีมผู้ประกาศข่าว เพื่อนำเสนอรายการข่าวภายใต้คอนเซ็ปต์MONO29 NEWS สร้างสรรค์ มีสาระ เข้าใจง่าย”

“โจทย์สำคัญของเรา คือจะทำอย่างไรให้ผู้ชมรู้ว่าช่องโมโน 29 มีรายการข่าวเหมือนกับช่องอื่นๆ เพราะคอนเทนต์ส่วนอื่น ทั้งหนังและกีฬาบาสเกตบอลคนรู้อยู่แล้วว่าต้องดูที่ช่องโมโน”

การปรับทัพรายการข่าวและผู้ประกาศข่าวของสถานีในรอบ 5 ปี ได้ให้น้ำหนักกับรายการข่าวมากขึ้น ทั้งเนื้อหา รูปแบบการนำเสนอข่าวแบบบอกเล่าเข้าใจง่าย เพราะต้องการให้เป็นรายการข่าวแนวทางใหม่ๆ รวมทั้งปรับทีมผู้ประกาศข่าวใหม่ โดยมี ต๊ะ-พิภู พุ่มแก้วกล้า เป็นทัพหน้า เจาะฐานผู้ชมกลุ่มแมส เช่นเดียวกับคอนเทนต์อื่นๆ ของสถานี

หลังปรับผังข่าวใหม่ โมโน คาดหวัง ให้เรตติ้งรายการข่าวที่อยู่อันดับ 15 – 16 ก้าวขึ้นมาติดท็อปเท็น เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้

หนึ่งในรายการข่าวไฮไลต์ คือ “กระแสโลก World News” จันทร์-ศุกร์ เวลา 05.00 – 05.30 น. ที่มี สุผจญ กลิ่นสุวรรณ ในฐานะพิธีกรอิสระ รับหน้าที่เป็นผู้ประกาศร่วมกับ คริสโตเฟอร์ ไร้ท์ ด้วยเป้าหมายทำให้คนดูหันมาเสพข่าวต่างประเทศมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีรายการ “ข่าวเช้า Good Morning Thailand” วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 05.30-07.30 น. ดำเนินรายการโดย พิภู พุ่มแก้วกล้า, นนทกฤช กลมกล่อม, วรวิตา จันทร์หุ่น, เจษฎา มณีรัตน์ และ เลลาณี ทศพร นำเสนอความเคลื่อนไหวต่างๆ และสถานการณ์ที่น่าสนใจในรอบวัน เจาะลึกประเด็นดังและขยายมุมมองเชิงสร้างสรรค์

รายการ “เจาะข่าวเด็ด The Day News Update” จันทร์-ศุกร์ เวลา 15.20-15.45 น. ดำเนินรายการโดย นนทกฤช กลมกล่อม และ พบเอก พรพงเมตตา เจาะประเด็นเด่นรอบวัน สุดท้ายคือรายการ “ข่าวสั้น Motion News” เกาะติดข่าวรอบวัน ดำเนินรายการโดย ธนภัทร ศุภวรรณาวิวัฒน์ ออกอากาศทุกวัน วันละ 3 ช่วงเวลา คือ วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30 น., 11.55 น. และ 22.00 น. ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 10.30 น., 15.00 น., และ 22.30 น.

“ช่อง 3” ชิงพื้นที่ข่าวตั้งแต่เช้ามืด

ฟากผู้นำเรตติ้งกลุ่มบันเทิง “ช่อง 3” ขยับปรับโฉมรายการข่าวเช่นกัน โดยเดือน ก.ย. นี้ เริ่มรายการข่าวตั้งแต่เช้ามืด 04:00 น. เป็นต้นไป ด้วยรายการ “โลกยามเช้า” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 04.00-04.30 น. และ “ครอบครัวข่าว 3” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 04.30-05.30น.

โดย “โลกยามเช้า” จะนำเสนอข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศที่ทั่วโลกให้ความสนใจในแต่ละวัน เกาะติดสถานการณ์รอบโลก เพื่อให้ผู้ชมเข้าใจและเข้าถึงครบทุกประเด็นทั้ง การเมือง เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโนโลยี รวมถึงแง่มุมวัฒนธรรม ความบันเทิง ดำเนินรายการโดย “ศมจรรย์ จรุงวัฒน์”

ต่อด้วยรายการ “ครอบครัวข่าว 3” โดย 4 พิธีกร นำทีมโดย เอ ดนยกฤตย์ แดงหวานปีสีห์ – นิธินาฏ ราชนิยม – ทนายสงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ และ คำรณ หว่างหวังศรี เป็นการสรุปข่าวใหม่และข่าวใหญ่ให้ผู้ชมไม่ตกข่าว รวมถึงประเด็นเหตุการณ์สำคัญในรอบวัน

จากนั้นต่อด้วยรายการข่าวหลัก เริ่มตั้งแต่ เรื่องเล่าหน้าหนึ่ง เรื่องเล่าเช้านี้ แฟลชนิวส์ เที่ยงวันทันเหตุการณ์ เรื่องเด่นเย็นนี้ ข่าว 3 มิติ โลกยามเช้าสุดสัปดาห์ และเรื่องเล่าเสาร์ อาทิตย์

“ช่อง 5” จัดมาทั้งข่าวและวาไรตี้

สำหรับ ช่อง 5 สู้ศึกเรตติ้งโค้งสุดท้าย จัดรายการใหม่ลงผังเดือน ก.ย. 2562 ทั้งรายการข่าวและวาไรตี้ รายการ ไฮไลต์ฝั่งข่าว ยกให้ Halftime Report ผลิตรายการโดย JKN-CNBC ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 11.30-12.00 น. นำเสนอสถานการณ์การลงทุนและการซื้อขายหุ้นในตลาดโลก วิเคราะห์ผลกระทบรวมถึงข่าวสารที่เกี่ยวกับตลาดการลงทุนของไทย

ส่วนกลุ่มรายการข่าวเดิม มีทั้งข่าวเช้า ข่าวเที่ยง ทันข่าวต้นชั่วโมง ฮาร์ดคอร์ข่าว ข่าวภาคค่ำ และจับประเด็นข่าวร้อน  เพิ่มเติมเข้ามา คือ “กีฬานอกสนาม” ที่จะนำเสนอข่าวแวดวงกีฬา ทั้งในและต่างประเทศ พร้อมส่งเสริม อนุรักษ์ ฟื้นฟูกีฬาพื้นบ้านไทย ดำเนินรายการโดย ณฐมน ใบบัว พิธีกรภาคสนาม ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ช่วงข่าวกีฬาภาคค่ำ

ส่วนวาไรตี้ รูปแบบซิทคอมสั้น “ชุมชนปรองดอง” เรื่องราว ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ละครสร้างสรรค์เพื่อเด็กและเยาวชน “ไอดินกลิ่นทุ่ง” ร่วมผลิตกับ ฟินนาเร่คิดส์ ครีเอทีฟ ตามด้วย ซีรีส์อินเดีย “อิทธิฤทธิ์เทพนาคา” และซีรีส์ “ลูกผู้ชายหัวใจทองคำ”

นี่แค่ผังรายการข่าวที่หลายช่องเริ่มขยับเพื่อช่วงชิงฐานผู้ชมจากช่องข่าวที่ “ลาจอ” คืนใบอนุญาต สำหรับ 15 ช่องทีวีดิจิทัลที่ขอไปต่อ ยังคงอยู่ในสมรภูมิแข่งขันดุเดือดและยังต้องเติมผังรายการใหม่เข้ามาสร้างเรตติ้ง เพื่อให้เป็นผู้รอดในอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล.

]]>
1245062
โมเดลธุรกิจใหม่! PSI ปั้นแพลตฟอร์ม “ไฮบริด” ทีวีดาวเทียม-อินเทอร์เน็ต ขายเซอร์วิส “เรตติ้ง-ช้อปปิ้งออนไลน์-ดาต้า” https://positioningmag.com/1240930 Tue, 30 Jul 2019 23:05:55 +0000 https://positioningmag.com/?p=1240930 การเปลี่ยนแปลง Media Landscape ที่สำคัญของประเทศไทยก่อนยุคทีวีดิจิทัล คือ การเติบโตของธุรกิจทีวีดาวเทียม ทั้งช่องรายการ แพลตฟอร์มจานและกล่องรับสัญญาณดาวเทียม เจ้าตลาดเบอร์หนึ่ง PSI เคยทำยอดขายไว้สูงสุด 5 ล้านกล่องต่อปี   

เมื่อเข้าสู่ยุค “ทีวีดิจิทัล” ในปี 2557 ที่จำนวนช่องฟรีทีวีเพิ่มขึ้น 24 ช่อง กสทช. สนับสนุน “กล่องรับสัญญาณ” ระบบทีวีดิจิทัลแจกฟรี ซึ่งเกิดขึ้นในจังหวะเดียวกับการเติบโตของประชากรออนไลน์ ผู้ชมจึงมีช่องทางเสพคอนเทนต์ได้หลากหลาย ทำให้ธุรกิจกล่องทีวีดาวเทียมเริ่มถดถอย

สมพร ธีระโรจนพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทพีเอสไอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เจ้าตลาดแพลตฟอร์มทีวีดาวเทียม บอกว่า ช่วงที่ผ่านมา PSI ต้องปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมสื่อทีวีไม่ต่างจากธุรกิจอื่นๆ ช่วงเริ่มต้นทีวีดิจิทัลปี 2557 ยอดขายกล่องดาวเทียมลดลงทั้งตลาด เพราะเป็นช่วงเปลี่ยนแปลงของสื่อทีวีดิจิทัล

ในด้าน “ฮาร์ดแวร์” พีเอสไอ ยังผลิตจานดาวเทียมและกล่องจำหน่ายเช่นเดิม แม้จำนวนจะลดลงจากยุครุ่งเรือง แต่ก็ยังขายได้ระดับ 1 ล้านกล่องต่อปี ก่อนจะขยับเพิ่มเป็น 2 – 2.5 ล้านกล่องต่อปี ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมาและนิ่งที่อัตรานี้ถึงปัจจุบัน

สมพร ธีระโรจนพงษ์

โดยพัฒนากล่องรุ่นใหม่เริ่มที่ กล่อง HD มาสู่กล่อง Hybrid รับสัญญาณดาวเทียมและอินเทอร์เน็ตทีวี เพื่อเป็นตัวเลือกเมื่อถึงเวลาเปลี่ยนกล่องรับสัญญาณรุ่นเก่า

ไม่เพียงเท่านั้น ได้เริ่มพัฒนาบริการในฝั่ง “ซอฟต์แวร์” ปี 2558 เปิดตัวแอปพลิเคชั่น PSI ARM การบริหารจัดการตัวแทนขายสินค้า และ FIXIT แอปพลิเคชั่น รวบรวมช่างติดตั้งเสาและกล่องดาวเทียม ซึ่งมีช่างอยู่ในเครือข่าย 10,000 คน  

การมีโรงงานผลิตจานและกล่องดาวเทียมอยู่แล้ว จึงมีพื้นฐานในการพัฒนาโปรดักต์ใหม่ๆ ตั้งแต่ปี 2559 พีเอสไอเริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า เริ่มด้วย กล้องวงจรปิด OCS ตามด้วย เครื่องปรับอากาศ PSI และเครื่องแยกน้ำ PSI โดยมีเครือข่ายช่าง 10,000 คน ในแอป FIXIT เป็นตัวแทนจำหน่าย ติดตั้ง และดูแลหลังการขาย เป็นการสร้างอีกแหล่งรายได้ให้กับช่าง นอกจากติดตั้งจานและกล่องดาวเทียม

สร้างแพลตฟอร์ม Freedom 

มาในปี 2562 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของ พีเอสไอ กับการทรานส์ฟอร์มธุรกิจในยุค 4.0 ด้วยการสร้าง แพลตฟอร์ม Freedom ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการ (OS) ที่พัฒนาขึ้นเอง เหมือนกับแอนดรอยด์ แต่สามารถเขียนฟีเจอร์และเซอร์วิสใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาได้ เป็นระบบปฏิบัติการที่อยู่ในกล่องรับสัญญาณ รุ่น S3 เป็นกล่อง Hybrid รับสัญญาณดาวเทียวและอินเทอร์เน็ตทีวี (IPTV)

เริ่มทำตลาดกล่อง S3 Hybrid ตั้งแต่ต้นปี 2562 ปัจจุบันมีสินค้าอยู่ในตลาดแล้ว 1.5 แสนกล่อง ถึงสิ้นปีนี้วางเป้าหมายไว้ที่ 4 แสนกล่อง และสิ้นปี 2563 น่าจะได้ 1 ล้านกล่อง ส่วนใหญ่เป็นการซื้อเพื่อทดแทนกล่องรุ่นเก่าที่ถึงเวลาเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีใหม่ ส่วนฐานลูกค้าใหม่อยู่ที่ราว 10%

เปิดตัวเซอร์วิส “เรตติ้ง” ทีวี

การสร้างแพลตฟอร์มกล่อง S3 Hybrid พีเอสไอได้ใส่ฟีเจอร์สำคัญ คือ การวัดเรตติ้งผู้ชม ในช่องทีวีทุกช่องที่อยู่ในแพลตฟอร์มพีเอสไอ รวมทั้ง “ทีวีดิจิทัล” ที่สามารถวัดผู้ชมได้ทั้งการรับชมผ่านสัญญาณดาวเทียมทางหน้าจอทีวีและเรตติ้งออนไลน์ จากอินเทอร์เน็ตทีวี และยูทูบ ที่จะคำนวณออกมาเป็นเรตติ้งเดียวกัน

เมื่อติดตั้งกล่อง S3 Hybrid แล้ว ผู้ใช้งานสามารถดาวน์โหลดแอป PSI Rating เพื่อใช้มือถือเป็นรีโมต กล่อง S3 Hybrid กดเปลี่ยนทีวีช่องต่างๆ ทั้ง ทีวีดิจิทัล และทีวีดาวเทียม ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลเรตติ้งผู้ชมมาด้วย ข้อมูลถึงเดือน ก.ค. 2562 มีฐานผู้ชมที่ติดตั้ง กล่อง S3 Hybrid แล้ว 1.37 แสนกล่อง ซึ่งหมายถึงผู้ชมที่เป็นกลุ่มตัวอย่างการวัดเรตติ้ง

พีเอสไอ ได้เริ่มวัดเรตติ้งผ่านกล่องดาวเทียมมาตั้งแต่ปี 2554 ช่วงแรกติดตั้งซิมมือถือเข้าไปในกล่องทีวีดาวเทียม จำนวน 2,000 กล่อง สามารถเรียกดูข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ จากนั้นพัฒนาระบบวัดเรตติ้งมาอย่างต่อเนื่อง มาถึงปัจจุบันที่ใช้กล่อง S3 Hybrid ที่ข้อมูลทั้งผู้ชมหน้าจอทีวีและการรับชมผ่านช่องทางออนไลน์ จะรายงานผลเรตติ้งแบบเรียลไทม์ผ่านแอปพลิเคชั่น PSI rating บนมือถือและแท็บเล็ต

เป้าหมายของพีเอสไอ จะเพิ่มกล่อง กล่อง S3 Hybrid ให้ได้ 1 ล้านกล่องในปี 2563 ซึ่งจะทำให้มีฐานข้อมูล 1 ล้านครัวเรือน 

โดยพีเอสไอ เป็นหนึ่งในบริษัทที่ไปนำเสนอระบบการวัดเรตติ้งผ่านกล่องดาวเทียมและอินเทอร์เน็ตทีวี ให้สำนักงาน กสทช. ทีวีดิจิทัล และมีเดีย เอเยนซี พิจารณาในการคัดเลือกผู้จัดทำเรตติ้งทีวีใหม่ ไม่ว่าจะได้รับเลือกหรือไม่ พีเอสไอก็จะพัฒนาระบบการวัดเรตติ้งบนกล่อง S3 Hybrid ต่อไป

ชูเรตติ้งแหล่งที่สอง เจาะลูกค้า SMEs

การพัฒนาระบบเรตติ้งของพีเอสไอ เพื่อให้บริการช่องทีวีดาวเทียมที่อยู่ในแพลตฟอร์มพีเอสไอกว่า 100 ช่อง ใช้เป็นข้อมูลในการขายโฆษณากับลูกค้าที่สนใจ โดยเฉพาะ SMEs ธุรกิจที่กำลังเติบโต และไม่ได้ซื้อเวลาโฆษณากับทีวีดิจิทัล ผ่านเอเยนซี ที่ส่วนใหญ่ให้บริการกับลูกค้าบริษัทต่างชาติ และผู้ประกอบการไทยรายใหญ่

ในฝั่งของ “ทีวีดิจิทัล” ที่ซื้อข้อมูลเรตติ้งจาก “นีลเส็น” อยู่แล้ว ก็สามารถใช้เรตติ้งพีเอสไอเป็น Second Source ได้เช่นกัน เพราะปัจจุบันก็มีเรตติ้งของ AIS Play ที่วัดผู้ชมจากแพลตฟอร์มออนไลน์ เป็นอีกแหล่งข้อมูล

“ดาต้าไม่โกหก การมีแหล่งข้อมูลเรตติ้งอื่นๆ จะทำให้แม่นยำขึ้น และสามารถใช้เป็น Second Source เปรียบเทียบหากฐานข้อมูลแรกมีความแตกต่างกันมาก เพราะตัวเลขเรตติ้งหมายถึงการกำหนดราคาโฆษณาและรายได้ที่ช่องทีวีจะได้รับ” 

เรตติ้งของพีเอสไอ มาจากผู้ซื้อกล่อง S3 Hybrid ที่ต้องต่อกับอินเทอร์เน็ตเพื่อดูช่องรายการผ่านออนไลน์ นั่นหมายถึงกลุ่มที่มีกำลังซื้อ ซึ่งก็น่าจะได้รับความสนใจจากผู้ลงโฆษณา

ข้อมูลเรตติ้งของพีเอสไอ ในเดือน ก.ค. ท็อป 5 เรตติ้ง อันดับ 1 คือ ช่อง 3 ตามมาด้วย โมโน, ช่อง 7, เวิร์คพอยท์, ช่องวัน และไทยรัฐทีวี 

บริการ “ทีวี ช้อปปิ้ง” กดซื้อเรียลไทม์

อีกฟีเจอร์ที่จะให้บริการของกล่อง S3 Hybrid คือบริการ ช้อปปิ้ง ออนไลน์ ที่เหมาะกับธุรกิจทีวีช้อปปิ้ง เทคโนโลยีการใช้แอป PSI บนมือถือเป็นรีโมต กดดูรายการทีวี ช้อปปิ้ง หากผู้ชมตัดสินใจซื้อ สามารถกดซื้อและจ่ายเงินผ่านแอปบนมือถือทันทีแบบเรียลไทม์ ไม่ต้องโทรผ่านคอลเซ็นเตอร์ เพราะต้องยอมรับว่าธุรกิจ ทีวี ช้อปปิ้ง เป็นการสร้าง Emotion ระหว่างที่ดูเพื่อกระตุ้นให้เกิดการซื้อ การมีเครื่องมือที่กดซื้อได้ทันที จะช่วยให้การตัดสินใจซื้อเร็วขึ้น และสร้างยอดขายให้สินค้า

บริการนี้สามารถเสนอขายให้กับทีวี ช้อปปิ้งช่องต่างๆ ที่อยู่บนแพลตฟอร์มดาวเทียมพีเอสไอ ที่มีกว่า 10 ช่อง เช่น ทีวีไดเร็ค, ทีวีดีโมโม่, โอ ช้อปปิ้ง

อีกรูปแบบที่ทำได้ คือการสร้างแพลตฟอร์มช้อปปิ้ง ออนไลน์ ให้กับแบรนด์และผู้ประกอบการที่สนใจ โดยเป็นธุรกิจที่มีสินค้าจำนวนมาก มีฐานสมาชิกอยู่แล้ว พีเอสไอจะขายทั้ง “ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์” รวมทั้งกล่องรับสัญญาณ เพื่อให้องค์กรธุรกิจนั้นๆ นำไปแจกสมาชิก เพื่อใช้แพลตฟอร์มกล่องรับสัญญาณ เป็นอีกช่องทางการขายและสื่อสารกับลูกค้า

“วิธีคิดของพีเอสไอ ทั้งเรื่องเรตติ้งและช้อปปิ้ง ออนไลน์ เป็นการลงทุนก่อน จากนั้นพัฒนาเซอร์วิสให้พันธมิตรได้ประโยชน์ การหาบิสสิเนสโมเดลร่วมกันสามารถทำได้หลายรูปแบบทั้งการขายซอฟต์แวร์หรือแบ่งรายได้ร่วมกัน”

การสร้างแพลตฟอร์มกล่องดาวเทียม ที่มีเซอร์วิส เรตติ้งและช้อปปิ้ง ออนไลน์ ไม่ได้มองแค่ตลาดไทย แต่มองโอกาสในกลุ่มเพื่อนบ้านด้วย ที่ผ่านมาพีเอสไอเข้าไปทำตลาดกล่องดาวเทียมมาหลายปีแล้ว ปีนี้ได้เปิดตัวกล่อง S3 ทำตลาดในเมียนมา รวมทั้ง กัมพูชา และลาว เป็นประเทศต่อไป

จากการขยายธุรกิจใหม่ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า บริการแอปพลิเคชั่น กล่องรับสัญญาณรุ่นใหม่ S3 Hybrid ปีนี้ พีเอสไอ เชื่อว่ายังทำรายได้รวม 3,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดที่เคยทำได้ก่อนยุคทีวีดิจิทัล

โมเดลธุรกิจใหม่ขาย “เซอร์วิส”

“พีเอสไอ” ที่อยู่ในธุรกิจจานดาวเทียมมาเกือบ 30 ปี หากย้อนไปช่วงที่ยากที่สุด สมพร บอกว่า คือปี 2545 กับการสร้างระบบ OTA การเรียงช่องและจูนช่องผ่านกล่องรับสัญญาณอัตโนมัติ ที่กว่าจะสร้างรายได้จากบริการนี้ต้องใช้เวลา 10 ปี

เช่นเดียวกับวันนี้ที่ พีเอสไอ กำลังสร้างแพลตฟอร์ม Freedom ที่ต้องใช้เวลาเช่นกัน อย่างน้อยต้องมีกล่อง S3 Hybrid อยู่ในครัวเรือนไทยไม่ต่ำกว่า 1 ล้านกล่องในปี 2563 ก่อนที่จะเห็นการต่อยอดจาก “เซอร์วิส” อื่นๆ

แผนธุรกิจจากนี้ ในปี 2563 จะเริ่มหารายได้จากโมเดลธุรกิจใหม่ B2B จากการขายแพลตฟอร์มทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ กล่อง S3 Hybrid ให้ลูกค้าองค์กรนำไปสร้าง “ช่องทางขายและการสื่อสาร” กับผู้บริโภคที่เป็นฐานสมาชิกประจำ

ปี 2564 เริ่มบริการ ช้อปปปิ้ง ออนไลน์ และบริการเรตติ้งทีวี จากฐานผู้ชมกว่า 1 ล้านตัวอย่าง ลูกค้าหลักคือ ช่องทีวีที่อยู่ในแพลตฟอร์มพีเอสไอ ปี 2565 หลังจากเก็บข้อมูลผู้ชมทีวีมาแล้ว ตั้งแต่ปีนี้ จะเริ่มนำ BIG Data ข้อมูลมาวิเคราะห์พฤติกรรมเพื่อต่อยอดสู่การให้บริการข้อมูลกับลูกค้าที่สนใจ

พีเอสไอ อยู่ในช่วงสร้างแพลตฟอร์มออฟไลน์และออนไลน์ นับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไปจะเข้าสู่ยุคต่อยอดสร้างรายได้จาก “เซอร์วิส” ด้วยบริการขายเรตติ้งทีวี, ช้อปปิ้ง ออนไลน์ และบริการดาต้า

ปัจจุบันทำตลาดทั้งฮาร์ดแวร์ขายกล่องทีวีดาวเทียม ช่วง 5 ปีจากนี้ตั้งใจจะสร้างแพลตฟอร์มกล่อง S3 Hybrid ให้ได้ 10 ล้านกล่อง และมุ่งสู่การพัฒนาซอฟต์แวร์เซอร์วิสใหม่ๆ เพื่อให้พีเอสไอก้าวสู่ยุคผู้ให้บริการ “มัลติแพลตฟอร์ม”

]]>
1240930
สรุปจ่ายชดเชย 3,000 ล้านบาท กสทช.เคาะคืนเงินทีวีดิจิทัล 7 ช่อง “ลาจอ” https://positioningmag.com/1238285 Tue, 09 Jul 2019 10:25:58 +0000 https://positioningmag.com/?p=1238285 กสทช.สรุปแล้วตัวเลขเงินชดเชย 7 ช่อง คืนใบอนุญาตเกือบ 3,000 ล้านบาท เริ่มลาจอ 15 ส.ค.นี้ ช่อง 2 บีอีซี ปิดท้าย 30 ก.ย. ปิดฉาก 5 ปี “ขาดทุน” ทุกช่อง  

หลังจาก กสทช.เปิดให้ทีวีดิจิทัลที่ต้องการคืนใบอนุญาต ตามคำสั่ง คสช. มาตรา 44 เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2562 ซึ่งมี 7 ช่องขอคืนใบอนุญาต โดยทุกช่องต้องนำเสนอเอกสารตัวเลขผลประกอบการ แผนเยียวยาพนักงานและผู้ชมก่อนยุติออกอากาศ

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่าทั้ง 7 ช่องที่ยื่นขอคืนใบอนุญาตได้ส่งเอกสารและแผนเยียวยาครบทุกช่องแล้ว รวมมูลค่าเงินชดเชย 7 ช่องอยู่ที่ 2,929 ล้านบาท โดยมี 4 ช่องที่ได้รับการอนุมัติจาก กสทช.แล้ว คือ สปริงนิวส์ 19, สปริง 26 (NOW26), ไบรท์ทีวี และ วอยซ์ทีวี และมี 3 ช่องอยู่ระหว่างเสนอให้อนุกรรมการเยียวยาพิจารณา โดยทุกช่องที่คืนใบอนุญาตมีผลดำเนินการ “ขาดทุน” ทุกช่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

โดยบีอีซีส่งเอกสารและแผนเยียวยาเป็นรายสุดท้าย โดยขอยุติออกอากาศช่อง 13 Family และช่อง 28 (ช่อง 3 SD) วันที่ 30 ก.ย. 2562 เกินกำหนด 45 วันที่อนุกรรมการเยียวยากำหนด เนื่องจากบีอีซีแจ้งว่ามีสัญญาต้องออกอากาศรายการต่อเนื่อง นอกจากนี้ได้เสนอแผนเยียวยาเลิกจ้างพนักงาน ตามที่กฎหมายแรงงานกำหนดและเงินชดเชยเพิ่มเติม มากกว่า 1 เดือนขึ้นไป โดยขึ้นอยู่กับอายุการทำงานของผู้ถูกเลิกจ้าง

หลังทุกช่องยุติออกอากาศตามกำหนดแล้ว วันรุ่งขึ้นให้เข้ามายื่นเรื่องขอรับเงินชดเชยจาก สำนักงาน กสทช.

นอกจากนี้ สำนักงาน กสทช. ได้เตรียมหารือการจัดทำระบบเรตติ้งใหม่ ตามคำสั่ง ตสช. มาตรา 44 โดยจะสนับสนุนมูลค่า 431 ล้านบาท ทั้งนี้ ได้เชิญสมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ทีวีดิจิทัลทุกช่อง ผู้ใช้งบโฆษณารายใหญ่ สมาคมเอเยนซี่โฆษณา บริษัทจัดทำเรตติ้งปัจจุบัน และสื่อมวลชน หารือแนวทางการจัดทำระบบเรตติ้งทีวีใหม่ ในวันที่ 25 ก.ค. 2562 เพื่อสรุปแนวทางการทำงานก่อนที่ กสทช.จะให้เงินสนับสนุน

“การจัดทำระบบเรตติ้งใหม่ สำนักงาน กสทช.ยังเป็นห่วงหลายเรื่อง เพราะตัวเลขจากแหล่งต่างๆ ยังแตกต่างกัน จึงเรียกทุกฝ่ายมาหารือ รวมทั้งให้บริษัททำเรตติ้ง นีลเส็น ซึ่งก่อนหน้านี้ทำหนังสือมาถึง กสทช. มานำเสนอแนวทางการจัดทำเรตติ้งให้พิจารณาด้วย”

ข่าวเกี่ยวเนื่อง

]]>
1238285
ท็อปเท็น “ทีวีดิจิทัล” มิ.ย. อันดับไม่เปลี่ยน แต่หลายช่องโกยเรตติ้งเพิ่มขึ้น https://positioningmag.com/1237250 Wed, 03 Jul 2019 05:26:54 +0000 https://positioningmag.com/?p=1237250 ผ่านมาแล้วครึ่งปีทีวีดิจิทัลยังคงขับเคี่ยว เข็นรายการใหม่ลงผัง ดันเรตติ้งกันต่อเนื่อง สรุปอันดับความนิยมกลุ่มท็อปเท็น เดือน มิ.. ไม่เปลี่ยนแปลง แต่เรตติ้งมีขยับขึ้น

สำนักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (วส.) สำนักงาน กสทช. รายงานข้อมูลเรตติ้ง ทีวีดิจิทัลที่ได้รับความนิยมสูงสุด 10 อันดับแรกเดือน มิ.ย. 2562 ตามลำดับ คือ ช่อง 7 (7HD) ช่อง 3 (3HD) โมโน 29 เวิร์คพอยท์ ช่อง One ไทยรัฐทีวี อมรินทร์ทีวี ช่อง 3SD ช่อง 8 และเนชั่นทีวี กลุ่มเรตติ้ง 10 อันดับแรกในเดือน มิ.ย. เหมือนเดือนก่อนหน้า โดยส่วนใหญ่มีเรตติ้ง “เพิ่มขึ้น”

ช่อง 7 มีเรตติ้งเฉลี่ย 1.817 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 0.085 รายการที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ ละครเย็นเรื่องใหม่ “ผู้บ่าวอินดี้และยาหยีอินเตอร์” และละครเย็น “ขิงก็รา ข่าก็แรง”

ช่อง 3 มีรายการการถ่ายทอดสด การแข่งขันวอลเลย์บอลหญิง เอฟไอวีบี เนชั่นส์ ลีก 2019 มาช่วยเพิ่มเรตติ้งจากเดือนก่อนหน้าที่ขยับขึ้นมาได้ 0.127 เฉลี่ยอยู่ที่ 1.169

โมโน 29 ยังคงได้ซีรีส์ต่างประเทศสร้างเรตติ้งให้ช่องได้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย โดยมีเรตติ้งเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 0.044 เฉลี่ยเดือน มิ.ย. อยู่ที่ 0.791

เวิร์คพอยท์ทีวี เรตติ้งเพิ่มขึ้น 0.052 มาอยู่ที่ 0.665 รายการที่ได้รับความนิยมคือ วาไรตี้นักร้องซ่อนแอบ ไมค์ทองคำปี 8 และเดอะแมสค์ วรรณคดีไทย นอกจากนี้มีรายการมวยน้องใหม่ 10 Fight 10 ที่เพิ่งเปิดตัวในเดือน มิ.ย. มีกระแสตอบรับที่ดีจากผู้ชมทั่วประเทศ

ไทยรัฐทีวี ยังได้รายการข่าว เช่น ไทยรัฐนิวส์โชว์ และการถ่ายทอดสดการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล สร้างเรตติ้งได้เสมอต้นเสมอปลาย นอกจากนี้ในเดือน มิ.ย. ยังมีรายการถ่ายทอดสด การแข่งขันฟุตบอลคิงส์คัพ ครั้งที่ 47 ที่ช่วยหนุน ทำให้เรตติ้งเฉลี่ยประจำเดือนของช่องเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 0.054 มาอยู่ที่ 0.427

อมรินทร์ทีวี เป็นอีกช่องทีวีดิจิทัล ที่มีเรตติ้งเฉลี่ยประจำเดือนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้น 0.041 มาอยู่ที่ 0.352 รายการที่ช่วยสร้างกระแสความนิยมให้ช่องคือ ทุบโต๊ะข่าว

ช่อง 3SD และ ช่อง 8 เป็น 2 ช่องรายการที่มีรายการมวยช่วยเพิ่มเรตติ้ง โดยช่อง 3SD ถ่ายทอดสด การแข่งขันชกมวยโลก ไทยไฟท์ เบตง และช่อง 8 มีรายการ 8 มวยไทยซุปเปอร์แชมป์

เนชั่นทีวี เรตติ้งเดือน มิ.ย. อยู่ที่ 0.191 รายการที่ได้รับความนิยม คือ เนชั่น ทันข่าว และ ข่าวข้น คนเนชั่น เหมือนเดือนก่อนหน้า

]]>
1237250
รายการข่าวแรง! กลุ่มท็อปเท็น “ไทยรัฐทีวี-อมรินทร์-เนชั่น”โกยเรตติ้งเพิ่ม https://positioningmag.com/1232987 Wed, 05 Jun 2019 02:39:25 +0000 https://positioningmag.com/?p=1232987 หลังการเลือกตั้งเดือน มี.และยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ทำให้ผู้ชมเกาะติดรายการข่าวทีวีดิจิทัลช่องต่างๆ เพื่ออัพเดตสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองในการจับขั้วตั้งรัฐบาล ส่งผลให้เรตติ้งรายการข่าวของช่องท็อปเท็นขยับขึ้น

สำนักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (วส.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รายงานข้อมูล “นีลเส็น” ในการวัดค่าความนิยม (เรตติ้ง) ช่องทีวีดิจิทัลเดือน พ.ค.2562 สูงสุด 10 อันดับแรก คือ ช่อง 7 (7HD) ช่อง 3 (3HD) โมโน 29 เวิร์คพอยท์ทีวี ช่อง One ไทยรัฐทีวี อมรินทร์ทีวี ช่อง 3SD ช่อง 8 และเนชั่นทีวี

ในเดือน พ.ค.นี้ ช่องรายการที่มีเรตติ้งเพิ่มสูงขึ้นจากเดือนก่อน ได้แก่ ช่อง 7 ไทยรัฐทีวี อมรินทร์ทีวี และเนชั่นทีวี

ช่อง 7 มีเรตติ้งเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 000.7 รายการที่ได้รับความนิยมสูงสุดในเดือน พ.ค. คือ ละครเย็น “ขิงก็รา ข่าก็แรง” มีเรตติ้งสูงสุด 7.853 (ออกอากาศวันที่ 30 พ.ค. 2562) ส่วนละครค่ำ “เพลงรักเพลงปืน” ได้รับความนิยมสูงเช่นกัน โดยมีเรตติ้งสูงสุด 7.785 (ออกอากาศวันที่ 8 พ.ค. 2562)

ไทยรัฐทีวี เรตติ้งสูงสุดยังเป็นรายการข่าว เช่น ไทยรัฐนิวส์โชว์ และการถ่ายทอดสดการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่สร้างเรตติ้งได้ดีเสมอต้นเสมอปลาย ส่งผลให้เรตติ้งเดือน พ.ค.เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.001

อมรินทร์ทีวี เป็นช่องที่มีเรตติ้งเดือน พ.ค.เพิ่มขึ้น 0.023 โดยขยับจาก 0.288 ในเดือน เม.ย.2562 เป็น 0.311 ในเดือน พ.ค. 2562 ซึ่งการเพิ่มขึ้นของเรตติ้งดังกล่าวส่งผลให้การจัดลำดับของช่องในกลุ่ม Top 10 ขยับจากอันดับ 8 ขึ้นสู่อันดับ 7 รายการที่ช่วยสร้างกระแสความนิยมให้แก่ช่องคือ ทุบโต๊ะข่าว

เนชั่นทีวี มีเรตติ้งเพิ่มสูงขึ้น 0.032 ส่งผลให้ช่องสามารถเข้าสู่การจัดอันดับในกลุ่ม Top 10 ได้อีกครั้ง โดยรายการที่ได้รับความนิยมยังคงเป็นรายการ “เนชั่น ทันข่าว” และ “ข่าวข้น คนเนชั่น”

กสทช.ออกหลักเกณฑ์หนุนเงินทำทีวีเรตติ้ง

สำหรับความคืบหน้าการสนับสนุนงบประมาณการจัดทำเรตติ้งทีวี เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2562 กสทช.ได้ออก ประกาศสำนักงาน กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดสรรเงินในการสำรวจความนิยมช่องรายการโทรทัศน์ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล

ตามประกาศฯ กำหนด ให้มี “องค์กรกลาง” ซึ่งหมายถึง องค์กรที่เป็นการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัล โดยองค์กรกลาง มีสิทธิขอรับการจัดสรรเงินสนับสนุนจาก สำนักงาน กสทช. เพื่อดำเนินการสำรวจความนิยมช่องรายการทีวี (ทีวีเรตติ้ง) ของช่องรายการทีวี หรือเนื้อหารายการทีวี การจัดทำฐานข้อมูล การให้บริการฐานข้อมูล การตรวจสอบความถูกต้องของฐานข้อมูล เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล

สำหรับ “องค์กรกลาง” ที่มีสิทธิขอรับการจัดสรรเงินสนับสนุนจากสำนักงาน กสทช. เพื่อสำรวจเรตติ้ง จะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

  1. เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ประกาศมีผลบังคับใช้ (24 พ.ค. 2562)
  2. มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการสำรวจความนิยมช่องรายการทีวี เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล หรือส่งเสริมการพัฒนากิจการทีวีดิจิทัล
  3. กรรมการ ผู้ดำเนินกิจการขององค์กรกลางจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 จะต้องเป็นผู้แทนจากผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัล
  4. สมาชิกองค์กรกลางที่เป็นผู้แทนจากผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัล จะต้องมีสมาชิกทีวีดิจิทัลไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัลที่มีอยู่ปัจจุบัน ไม่รวมทีวีดิจิทัลที่แจ้งคืนใบอนุญาต กับ กสทช.

โดยองค์กรกลางที่จะขอรับเงินสนับสนุนตามประกาศฯ ให้แจ้งเป็นหนังสือยื่นต่อสำนักงาน กสทช. ภายใน 60 วัน นับถัดจากวันที่มีผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตใช้คลื่นฯ 700 MHz (วันที่ 19 มิ.ย.2562)

การจัดสรรเงินจะต้องสอดคล้องกับข้อเสนอในการดำเนินการสำรวจเรตติ้ง เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล โดยองค์กรการจะต้องป้องกันการ “ผูกขาด” ส่งเสริมการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม โดยมีเงื่อนไขดังนี้

  1. สำนักงาน กสทช. จะต้องได้รับหรือมีสิทธิใช้ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจเรตติ้ง เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลการแข่งขันโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
  2. องค์กรกลางที่ได้รับการจัดสรรเงิน จะต้องเปิดเผยข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมทีวี
  3. องค์กรกลางที่ได้รับการจัดสรรเงินจะต้องสนับสนุนข้อมูลต่อหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ สถาบันการศึกษาในทางที่เป็นประโยชน์ต่อการวิจัยและพัฒนากิจการวิทยุ ทีวี และกิจการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรม
  4. ทีวีดิจิทัล สาธารณะ มีสิทธิ์เข้าร่วมระบบสำรวจเรตติ้ง
]]>
1232987
เปิด 10 ทีวีดิจิทัลทำเรตติ้งสูงสุด มี.ค. 62 ละครดัง-ข่าว ปั๊มยอดคนดู https://positioningmag.com/1226178 Tue, 23 Apr 2019 08:38:40 +0000 https://positioningmag.com/?p=1226178 มาดูกัน เรตติ้งเดือนมีนาคม 2562 ที่ได้จากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ จากช่องรายการที่ได้รับความนิยมสูงสุด (เรตติ้ง) 10 อันดับแรก

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า ในเดือน มี.ค. 2562 นี้ ช่องรายการที่ได้รับความนิยมสูงสุด 10 อันดับแรก ส่วนใหญ่ยังเหมือนกลุ่มช่องรายการเดือนที่แล้ว ส่วนช่องรายการที่มีเรตติ้งสูงขึ้นในเดือนนี้ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ

กลุ่มช่องรายการที่มีละครหลังข่าวช่วยเพิ่มเรตติ้ง ได้แก่ ช่อง 7HD ช่อง 3HD และช่อง ONE โดย ช่อง 7HD มีละครหลังข่าวที่มีเรตติ้งสูงหลายเรื่อง เช่น ละครเรื่อง “นางร้าย” “พัชรมนตรา” และ “บ่วงสไบ” ส่วนช่อง 3HD มีละครเรื่อง “กรงกรรม” และ “หมอยาท่าโฉลง” ที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ส่วนละครเรื่อง “ทะเลริษยา” และ “สาวน้อย 100 ล้านวิว” ของช่อง One ก็มีเรตติ้งที่สูงขึ้นจนน่าจับตามอง

กรงกรรม

กลุ่มช่องรายการที่มีรายการช่วยเพิ่มเรตติ้ง ได้แก่ ช่องไทยรัฐ ทีวี ช่อง 3SD ช่อง Amarin TV HD และช่อง Nation TV ซึ่งในเดือน มี.ค. 2562 เป็นช่วงเวลาที่การเมืองร้อนระอุ เนื่องจากใกล้เวลาเลือกตั้ง รายการ “ไทยรัฐนิวส์โชว์” ของช่องไทยรัฐ ทีวี ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง โดยในคืนวันที่ 24 มี.ค. 2562 มีเรตติ้งสูงถึง 3.065 ขณะเดียวกัน ช่อง Nation TV ได้กลายเป็นช่องม้ามืดที่สามารถกระโดดข้ามจากเรตติ้งอันดับที่ 14 เข้าสู่อันดับ Top Ten ได้สำเร็จ โดยรายการที่ได้รับความนิยม คือ รายการ “เนชั่นทันข่าว” “ข่าวข้น คนเนชั่น” รวมไปถึงการเกาะติดสถานการณ์การเลือกตั้งรายการ “เนชั่น อีเลคชั่น” ในคืนวันที่ 24 มี.ค. 2562 ที่มีเรตติ้งเฉลี่ย 1.237

นอกจากนี้ รายการ “ข่าวนอกลู่” ของช่อง 3SD และรายการ “ทุบโต๊ะข่าว” ของช่อง Amarin TV HD ก็ได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างต่อเนื่องเช่นกัน.

]]>
1226178
ละครปัง! ช่อง 7 โกยเรตติ้ง ม.ค.ทิ้งห่างช่อง 3 https://positioningmag.com/1212169 Mon, 04 Feb 2019 14:23:58 +0000 https://positioningmag.com/?p=1212169 หลังจาก “ทีวีดิจิทัล” ในกลุ่มผู้นำประกาศแผนปี 2562 ด้วยการขนทัพละคร วาไรตี้ ข่าว ลงจอกันตั้งแต่ต้นปีแบบไม่มีใครยอมใคร ในศึกแย่งชิงเรตติ้งผู้ชมและเม็ดเงินโฆษณา 7 หมื่นล้านบาท ในอุตสาหกรรมทีวี

คราวนี้มาดูสรุปตัวเลขเรตติ้ง “ทีวีดิจิทัล” เดือนมกราคม 2562 กันว่าใครทำผลงานไปได้มากน้อยแค่ไหน โดยสำนักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (วส.) สำนักงาน กสทช. รายงานเรตติ้ง 10 อันดับแรก คือ ช่อง 7 (7HD) ช่อง 3 (3HD) โมโน 29 เวิร์คพอยท์ทีวี  ไทยรัฐทีวี ช่อง One ช่อง 8 ช่อง 3SD อมรินทร์ทีวี และ นาว 26 ตามลำดับ

ในเดือนมกราคม 2562 ช่องรายการที่เรตติ้งสูงสุด 10 อันดับแรก ยังเป็นกลุ่มช่องรายการเหมือนเดือนธันวาคม 2561 แต่มีเพียง 2 ช่อง ได้แก่ ช่อง 7 และไทยรัฐทีวี ที่มีเรตติ้งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ย้อนตัวเลขสิ้นปี 2561 ช่อง 7 มีเรตติ้งเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 1.827 เฉพาะเดือนธันวาคม 2561 เรตติ้งช่อง 7 อยู่ที่ 1.876 ส่วนเดือนมกราคม เรตติ้งขยับไปที่ 1.942 หรือมีเรตติ้งเพิ่มขึ้น 0.066

ส่งผลให้เรตติ้งเฉลี่ยของช่อง 7 เดือนมกราคม 2562 นำห่างช่อง 3 ที่มีเรตติ้งลดลงจากเดือนธันวาคม ช่อง 7 เรตติ้งจากละครเย็นเรื่อง พ่อตาปิ่นโต ตอนหลานข้าใครอย่าแตะ มีเรตติ้งเฉลี่ย 6.433 ส่วนละครค่ำหลังข่าวก็ได้รับความนิยมสูงเช่นกัน โดยเรื่องจ้าวสมิง มีเรตติ้งเฉลี่ยทั้งเรื่อง 6.333 และเรื่องสารวัตรใหญ่ที่กำลังออกอากาศมีเรตติ้งเฉลี่ยเดือนมกราคม 7.352

นอกจากนี้ การถ่ายทอดสดฟุตบอลเอเอฟซี เอเชี่ยนคัพ 2019 และเอฟเอฟ ซูซูกิคัพ ก็ได้รับความนิยมจากฐานคนดูทั่วประเทศ

บ่วงนฤมิต

ฟากช่อง 3 ผู้นำเรตติ้งอันดับ 2 เจอกระแสดราม่า ”แมท ภีรนีย์” ที่เปิดตัวคบหวานใจ ”สงกรานต์ เตชะณรงค์” เข้าไปเต็มๆ ตั้งแต่ต้นปี ทำให้ละคร ”บ่วงนฤมิต” ซึ่งนำแสดงโดย “แมท ภีรนีย์” ที่ออกอากาศในเดือนมกราคม เรตติ้งไม่เปรี้ยง จนถูกตัดเนื้อหาเหลือ 9 ตอนจบ

ละครบ่วงนฤมิต โดยเริ่มออนแอร์วันที่ 2 มกราคม และจบวันที่ 30 มกราคม 2562 เรตติ้งทั่วประเทศต่ำสุดอยู่ที่ 1.5 และสูงสุดที่ 2.1 ถือเป็นละครค่ำเรตติ้งต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เรื่องหนึ่งของช่อง 3 ก็ว่าได้

เมื่อละครไพรม์ไทม์เรตติ้งเข็นไม่ขึ้น จึงส่งผลให้เดือนมกราคม ช่อง 3 ทำเรตติ้งไปได้เพียง 1.072 ต่ำกว่าเดือนธันวาคมที่ 1.108 หลังจากนี้ช่อง 3 คงต้องไปรอลุ้นละครเรื่องใหม่ ”ทองเอก หมอยา ท่าโฉลง” ที่เปิดตัวตอนแรกด้วยเรตติ้ง 4 มีสิทธิ์ลุ้นว่าจะตามรอยโกยเรตติ้งถล่มถลายแบบ ”บุพเพสันนิวาส” หรือไม่

อีกช่องที่ทำเรตติ้งเพิ่มขึ้นในเดือนมกราคม 2562 คือ ไทยรัฐทีวี มีเรตติ้ง 0.501 เพิ่มขึ้น 0.088 จากเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้เรตติ้งเฉลี่ยของช่องในเดือนมกราคม ขยับจากอันดับ 7 ขึ้นสู่ อันดับ 5 ทิ้งห่างช่องวัน และช่อง 8 ได้อีกครั้ง โดยรายการที่ได้รับความนิยมจากประชาชนทั่วประเทศคือ “ไทยรัฐนิวส์โชว์” โดยเฉพาะช่วงที่มีการถ่ายทอดสดพิธีพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อคูณ ในวันที่ 29 มกราคม 2561 มีเรตติ้งสูงถึง 3.091.

]]>
1212169
เปิดเรตติ้ง พ.ย. 61 ละคร-เกมโชว์ไม่ปัง ช่อง 7-เวิร์คพอยท์เรตติ้งร่วง พลังดูดพีพีทีวี ใกล้ท็อปเท็น https://positioningmag.com/1201350 Wed, 05 Dec 2018 01:59:59 +0000 https://positioningmag.com/?p=1201350 อะไรก็เกิดขึ้นได้สำหรับ “ทีวีดิจิทัล” เมื่อเรตติ้งเฉลี่ยเวิร์คพอยท์ร่วงลงหนัก ในเดือนพฤศจิกายน 2561 หลังจากที่ยังไม่มีรายการใหม่ๆ จุดติด สร้างกระแสให้กับช่องได้ ในขณะเดียวกันเรตติ้งเฉลี่ยของช่อง 7 ก็ลดลงจากละครหลังข่าวเรตติ้งลดลง

จากข้อมูล เรตติ้งประจำเดือนพฤศจิกายน ของนีลเส็น พบว่า ช่อง 7 ยังคงเป็นแชมป์เรตติ้ง จาก 25 ช่องทีวีดิจิทัลที่ออกอากาศอยู่ในปัจจุบัน แต่เรตติ้งเฉลี่ยของช่อง 7 ลดลง 0.126 จาก เดือนตุลาคม 1.846 มาอยู่ที่ 1.720

รายการที่ทำเรตติ้งสูงสุดของช่อง 7 ในเดือนนี้ ยังคงเป็นละคร “สังข์ทอง” ออกอากาศเช้าวันหยุด ทำเรตติ้งสูงสุดของเดือนอยู่ที่ 7.073  และถ่ายทอดสดแข่งขันฟุตบอล AFF ซูซูกิ คัพ นัดทีมชาติไทย พบกับทีมสิงคโปร์ ได้เรตติ้ง 6.807 และละครเย็น “ไฮโซสะออน” เรตติ้งได้สูงสุดของเดือนนี้อยู่ที่ 6.751

ส่วนละครหลังข่าว 2 ทุ่ม เรตติ้งลดลงทั้งหมด “พ่อมดเจ้าเสน่ห์” เรตติ้งต่ำกว่า 3 หลายวัน โดยมีเรตติ้งต่ำสุด 2.76 นับเป็นละครใหม่ ออนแอร์หลังข่าวเรื่องแรกของช่อง 7 ที่มีเรตติ้งต่ำกว่า 3 แม้ในตอนจบ ก็ยังได้เรตติ้งอยู่ที่ 3.98 เท่านั้น

ส่วนช่องเวิร์คพอยท์ เป็นเดือนที่เรตติ้งลดลงแรง เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคมที่มีเรตติ้งเฉลี่ย 0.930 ตกลงมาอยู่ที่ 0.770 เนื่องจากเดือนตุลาคมมีรายการถ่ายทอดสดวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์โลก ที่ผลงานนักกีฬาไทยทำได้ดี เรตติ้งจึงมาแรง แต่มาในเดือนพฤศจิกายน เวิร์คพอยท์ต้องกลับมาพึ่งพารายการหลักของช่องทั้งหมด เรตติ้งจึงลดลงมาก

รายการที่ทำเรตติ้งสูงสุดให้ช่อง ยังเป็นรายการตระกูลไมค์ “ไมค์ทองคำ” ได้สูงสุดอยู่ที่ 4.073 ตามด้วย “ไมค์หมดหนี้” 3.650 และ “ไมค์ทองคำเด็ก” 3.559

ส่วนรายการช่วงหลัง 2 ทุ่ม ที่ทำเรตติ้งสูงสุดคือ “นักร้องซ่อนแอบ หรือ I can see your voice” เรตติ้ง 3.142 , และ เดอะ แมส์ก ลายไทย 2.774 โดยรวมเวิร์คพอยท์ยังไม่มีรายการใหม่ๆ สร้างกระแสความนิยมของช่องได้แทนที่รายการเดิม

สถานการณ์ของช่องเวิร์คพอยท์ เป็นที่น่าจับตามาก จากช่องที่เคยโดดเด่น เป็นดาวรุ่งพุ่งแรงมากที่สุดเมื่อปีที่แล้ว กลับหล่นลงแรงมากในปีนี้ จะหาทางฟื้นกลับขึ้นมาได้อย่างไร

ช่อง 3 SD ได้ละครรีรันช่วย พีพีทีวี เริ่มเข้าใกล้ท็อปเท็น 

สำหรับช่องที่มีเรตติ้งเพิ่มขึ้นมากสุดของเดือนคือ ช่อง 3 SD เรตติ้งเฉลี่ย 0.361 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 0.312 โดยจัดละครรีรันลงยาวทั้งวัน

ส่วนพีพีทีวี ได้คอนแทนต์กีฬาราคาแพง ที่ทุ่มทุนซื้อ ทั้งพรีเมียร์ลีก อังกฤษ และลีกอื่นๆ ในยุโรป อย่างไรก็ตาม เริ่มมองเห็นว่า “The Voice” รายการใหม่ที่ดึงมาจากช่อง 3 เป็นอีกหนึ่งคอนเทนต์มาแรง สร้างเรตติ้งสูงให้กับช่อง จากการออกอากาศ 2 ตอนในเดือนพฤศจิกายน ได้เรตติ้งอยู่ที่ 0.575 และ 0.776 ส่วนตอนล่าสุดวันที่ 3 ธันวาคม ได้เรตติ้ง 0.781

เรตติ้งเฉลี่ยช่องพีพีทีวีจึงเลื่อนอันดับอย่างรวดเร็ว จากอันดับ 13 มาเป็นอันดับที่ 11 แล้วด้วยกลยุทธ์การดูดรายการดังของช่องต่างๆ มาไว้ในช่องพีพีทีวี ที่จะเริ่มเห็นผลปีหน้า มาดูกันว่า พีพีทีวีจะทำได้ดีที่สุดแค่ไหน.

]]>
1201350