เศรษฐกิจยุโรป – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 20 Mar 2023 13:52:41 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ตั๋วเครื่องบินแพงทำพิษ! นักท่องเที่ยว “จีน” เดินทางเข้า “ยุโรป” ช่วงหน้าร้อนนี้น้อยกว่าคาด https://positioningmag.com/1424040 Mon, 20 Mar 2023 13:48:11 +0000 https://positioningmag.com/?p=1424040 ภาคท่องเที่ยว “ยุโรป” กุมขมับ นักท่องเที่ยว “จีน” จองทัวร์-โรงแรมเข้ายุโรปช่วงไฮซีซันหน้าร้อนนี้น้อยกว่าที่คาด เหตุเพราะค่าตั๋วเครื่องบินแพง เที่ยวบินน้อย คนจีนไม่พร้อมจ่าย เร่งหาตลาดทดแทนจากฝั่งสหรัฐฯ

บริษัททัวร์หลายแห่งในยุโรปต้องผิดหวังกับจำนวนการจองทริปของนักท่องเที่ยวจีนที่น้อยกว่าคาด โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวระดับบนที่มักจะจองทริปมูลค่าตั้งแต่ 1,500-3,000 ยูโรต่อคนต่อทริป (ประมาณ 55,000-110,000 บาท) นักท่องเที่ยวเหล่านี้ไม่ได้ตบเท้ากันกลับเข้ายุโรปทันทีที่จีนเปิดประเทศอย่างที่เคยคาดหวังกันไว้

การจองไฟลท์บินจากจีนเข้าสู่ยุโรประหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนสิงหาคมคิดเป็นสัดส่วนเพียง 32% ของที่เคยมีในปีก่อนเกิดโควิด-19 ตามข้อมูลของบริษัทข้อมูลด้านการท่องเที่ยว ForwardKeys ซึ่งส่วนหนึ่งที่ทำให้การจองน้อยกว่าที่เคยมาก เพราะสายการบินจีนเองก็ยังไม่กลับมาบินได้ครบทุกเส้นทางเหมือนเดิม

“ยังเหลือเส้นทางอีกยาวไกลกว่าเราจะกลับไปฟื้นตัวได้เต็มที่” Olivier Ponti ผู้บริหารที่ ForwardKeys กล่าว

“สายการบินของจีนพยายามทำทุกอย่างที่พวกเขาทำได้แล้ว เพื่อที่จะกลับมาทำการบินทุกเส้นทาง แต่จะกลับมาได้ก็ต้องมีพนักงาน ต้องขอสล็อตการบิน ต้องกลับมามีระดับการบริการให้ได้เท่าเดิมก่อน” Ponti กล่าว

ก่อนจะเกิดโรคระบาดขึ้น นักท่องเที่ยวจีนคิดเป็นสัดส่วน 10% ของกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ไม่ใช่สมาชิกสหภาพยุโรป (non-EU) ที่เดินทางเข้ามาทวีปยุโรป และเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่โตสูงมาก ในทศวรรษปี 2010-2019 จำนวนนักท่องเที่ยวจีนเข้ายุโรปโตถึง 350% โดยมีแรงดึงดูดที่ทำให้ชาวจีนอยากมาท่องเที่ยวที่ยุโรปมากขึ้นทุกทีคือ แหล่งช้อปปิ้งสินค้าลักชัวรี และร้านอาหารระดับไฟน์ไดนิ่ง

อย่างไรก็ตาม หลังผ่านโรคระบาดไป สิ่งที่ยังบล็อกไว้ไม่ให้คนจีนกลับมาท่องเที่ยวยุโรปได้เต็มที่ มีทั้งปัจจัยเรื่องคิวทำพาสปอร์ตที่ยาวเป็นหางว่าว ความเข้มงวดในการให้วีซ่า และเที่ยวบินจีน-ยุโรปที่น้อยลงมาก เมื่อเที่ยวบินน้อย ค่าตั๋วเครื่องบินจึงพุ่งสูง บางกรณีแพงกว่าก่อนเกิดโรคระบาดถึง 80% ปัจจัยเรื่องราคานี้ทำให้นักท่องเที่ยวจีนกลุ่มใหญ่เลือกที่จะเที่ยวใกล้บ้านไว้ก่อน

“ไทย” เป็นหนึ่งในประเทศรับอานิสงส์เมื่อคนจีนไม่สะดวกบินไกลด้วยค่าตั๋วที่แพงขึ้น (Photo : Shutterstock)

ด้วยการเก็บเงินในช่วงโรคระบาดที่แสนยากลำบาก ทำให้คนจีนพยายามจะใช้เงินให้คุ้มค่า เข็มทิศการท่องเที่ยวของชาวจีนจึงเบนไปที่ “ฮ่องกง” “มาเก๊า” และ “ประเทศไทย” มากกว่า ยิ่งในกลุ่มชาวจีนที่ไม่ได้ร่ำรวยมาก แผนการเที่ยวยุโรปนับว่าพับไปได้เลย

บริษัททัวร์จึงจำเป็นต้องมองหาตลาดทดแทนโดยด่วน โดยเป้าหมายแรกคือ “ชาวอเมริกัน” เพราะค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าน่าจะช่วยจูงใจให้ชาวอเมริกันสนใจเที่ยวยุโรป ราคาสินค้าและบริการต่างๆ จะให้ความรู้สึกว่า ‘ถูกกว่า’ ที่คนอเมริกันใช้จ่ายในบ้านเกิด โดยเฉพาะสินค้าลักชัวรี นักวิเคราะห์บางรายเชื่อว่าจำนวนนักท่องเที่ยวอเมริกันเข้าสู่เมืองใหญ่ในยุโรป เช่น ลอนดอน ปารีส น่าจะสูงกว่าปี 2019 ได้

อย่างไรก็ตาม บริษัททัวร์ต่างๆ ก็ยังไม่ได้ล้มเลิกความตั้งใจที่จะดึงนักท่องเที่ยวจีนกลับมา โดยหวังว่าในช่วงครึ่งปีหลังการให้วีซ่าแก่คนจีนจะผ่อนคลายความสะดวกมากขึ้น มีไฟลท์บินให้เลือกมากขึ้น

บริษัทห้างร้านในยุโรปเองก็เริ่มมีแคมเปญเพื่อกลับมาเชื่อมสัมพันธ์กับนักท่องเที่ยวจีนแล้ว เช่น Harrods ห้างฯ ดังของอังกฤษ ออกสติ๊กเกอร์ของแบรนด์ใน WeChat แล้วเพื่อดึงคนจีน

หรืออย่าง Bicester Village เอาท์เลตจำหน่ายสินค้าแบรนด์ดีไซเนอร์ใกล้กับเมือง Oxford ก็ทำตลาดผ่าน WeChat ช่วยวางแผนช้อปปิ้ง และเปิดบริการระบบชำระเงินของจีนด้วย

กระทั่ง Kessler ผู้ให้บริการ Jungfrau Railways รถไฟที่จะพาผู้มาเยือนขึ้นสู่ยอดเขาจุงเฟรา ยอดเขาที่สูงที่สุดในสวิตเซอร์แลนด์ ก็ทำแคมเปญดึงคนจีนด้วยการเชิญ “Lang Lang” (หลาง หล่าง) นักเปียโนชาวจีนชื่อดังขึ้นมาเล่นเปียโนโชว์บนยอดเขา เพื่อจะดึงนักท่องเที่ยวให้กลับมา ไม่เฉพาะชาวจีน แต่ยังรวมถึงอเมริกัน เกาหลีใต้ และอินเดีย ซึ่งเป็นแฟนคลับของ Lang Lang

Kessler เองก็เชื่อว่า สถานการณ์ภาคท่องเที่ยวในยุโรปจะดีขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงครึ่งปีหลังนี้

Source

]]>
1424040
สรุป 10 ข้อสำคัญปิด “ดีล Brexit” อังกฤษ-EU จบมหากาพย์ยืดเยื้อ 4 ปี https://positioningmag.com/1312101 Fri, 25 Dec 2020 07:46:51 +0000 https://positioningmag.com/?p=1312101 โค้งสุดท้ายของมหากาพย์ Brexit สหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป (EU) ประกาศบรรลุดีลเบื้องต้นก่อนถึงเส้นตายวันที่ 31 ธันวาคมนี้ อ่านสรุป 10 ข้อเนื้อหาสำคัญในข้อตกลงได้ที่นี่

กระบวนการ Brexit หรือการออกจากสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ของสหราชอาณาจักรยืดเยื้อมานานถึง 4 ปี นับตั้งแต่การลงประชามติในปี 2016 โดยมีเส้นตายการทำข้อตกลงกับ EU ให้ได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2020 มิฉะนั้น อังกฤษจะต้องออกจาก EU โดยไร้ข้อตกลง

มีผลกระทบหลายด้านที่จะเกิดขึ้นทั้งกับอังกฤษและ EU หากเกิด ‘No-deal Brexit’ ขึ้นจริง แต่ในที่สุดประชาชนทั้งสองฝั่งได้รับข่าวดีต้อนรับเทศกาลคริสต์มาส โดยเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2020 ทั้ง “บอริส จอห์นสัน” นายกรัฐมนตรีอังกฤษ และ “เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน” ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ต่างประกาศความสำเร็จในการจับมือทำข้อตกลงกันได้ในที่สุด

บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ (Photo by Andrew Parsons-WPA Pool/Getty Images)

โดยข้อตกลงเบื้องต้นที่แจ้งต่อสื่อจากรายละเอียดรวมนับพันๆ หน้า สรุปเป็น “10 ข้อสำคัญปิดดีล Brexit” ดังนี้

1) เขตปลอดภาษีทางการค้า และไม่จำกัดโควตาการนำเข้า-ส่งออก
2) สิ้นสุดการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีระหว่างประชาชนในสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรป ส่งผลให้ประชาชนชาวอังกฤษไม่สามารถทำงาน เรียนต่อ อยู่อาศัย หรือเริ่มต้นธุรกิจใน EU ได้โดยไม่มีวีซ่า
3) เริ่มการจัดตั้งจุดตรวจชายแดนระหว่าง EU กับอังกฤษ
4) อย่างไรก็ตาม จะไม่มีการจัดตั้งด่านชายแดนถาวร (hard border) ระหว่างพื้นที่ไอร์แลนด์เหนือกับประเทศไอร์แลนด์
5) น่านน้ำการประมงของอังกฤษจะค่อยๆ ทยอยกลับคืนสู่อังกฤษ 100% ภายในเวลา 5 ปีครึ่ง โดยจะทยอยลดโควตาเรือประมงของ EU ที่เข้ามาจับปลาในน่านน้ำได้ในแต่ละปี เริ่มปีแรกลดลง 15%
6) ยังคงมีสัญญาต่อกันในการสร้างความร่วมมือ ด้านสิ่งแวดล้อม สู้โลกร้อน และลดการปล่อยคาร์บอน รวมถึงความสนใจที่ตรงกันในด้านอื่นๆ เช่น พลังงาน ความปลอดภัย ขนส่งสาธารณะ อย่างไรก็ตาม มีโครงการหนึ่งที่อังกฤษจะไม่มีส่วนร่วมใน EU อีกต่อไปคือโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยน Erasmus
7) สัญญาร่วมกันในการปกป้องสิทธิแรงงานและสังคม
8) รักษามาตรฐานความโปร่งใสด้านภาษี
9) สิทธิแรงงานและผู้โดยสารในธุรกิจขนส่ง
10) โปรแกรมต่อเนื่องที่สหราชอาณาจักรมีร่วมกับ EU จนถึงปี 2027 เช่น โครงการ Horizon Europe จะยังคงได้รับเงินสนับสนุนตามส่วนของสหราชอาณาจักรต่อไป

“เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน” ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (Photo by Leon Neal/Getty Images)

จอห์นสัน กล่าวถึงดีลในครั้งนี้ว่าเป็น “ดีลที่ดีสำหรับทวีปยุโรปทั้งหมด” และย้ำเตือนถึงแคมเปญ Brexit ในลักษณะชาตินิยมอีกครั้งว่า “เราได้นำสิทธิกำหนดควบคุมกฎหมายและชะตาของเราเองกลับคืนมาอีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2021 เราจะอยู่นอกสหภาพ นอกตลาดเดียว กฎหมายของอังกฤษจะอยู่ในมือรัฐบาลอังกฤษเท่านั้น ถูกตีความโดยผู้พิพากษาอังกฤษ ในศาลของอังกฤษ และการตัดสินใจของศาลแห่งสหภาพยุโรปจะถึงจุดสิ้นสุด”

ด้าน ฟอน เดอร์ เลเยน แถลงเช่นกันว่า EU ได้เซ็นดีลที่สมดุลและยุติธรรม แต่ให้สัญญาณว่า EU ได้เปรียบกว่าในดีลครั้งนี้

“อย่างที่เราทราบกันดี หากว่ามีการออกจาก EU แบบ Hard Brexit จะไม่ส่งผลดีกับทั้งสองฝ่าย แต่จะส่งผลกระทบที่หนักกว่ากับสหราชอาณาจักร เพราะเรามีประชากรถึง 450 ล้านคนใน EU ดังนั้น จากความแข็งแกร่งของเราทำให้เราบรรลุดีลที่ครอบคลุมที่สุดที่เราเคยได้มา” ฟอน เดอร์ เลเยนกล่าว

ทั้งนี้ สิ่งที่น่าหนักใจอย่างต่อไปคือการนำข้อตกลงมาประกาศเป็นกฎหมาย ฝั่งสหราชอาณาจักรจะมีการประชุมสภาในวันที่ 30 ธันวาคมนี้ โดยพรรคฝ่ายค้านแสดงท่าทีแล้วว่าพรรคจะโหวตผ่านดีลข้อตกลงทางการค้า แต่ฝั่ง EU นั้นมีแนวโน้มที่จะเซ็นกฎหมายไม่ทันก่อนปีใหม่ ทำให้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2021 มีความเป็นไปได้ที่บริษัทต่างๆ จะเตรียมตัวไม่ทันรับฐานภาษีที่พุ่งสูงขึ้นชั่วคราว

Source: CNN, BBC

]]>
1312101