แบรนด์นาฬิกาหรู – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 01 Apr 2024 13:46:58 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 CEO ของ Swatch ผู้ผลิตนาฬิการายใหญ่ เผย “ชาวจีนอ่อนไหวกับราคาสินค้า ตัดสินใจนานขึ้น” ชี้ยังเป็นปีที่ยากสำหรับตลาดแดนมังกร https://positioningmag.com/1468419 Mon, 01 Apr 2024 05:30:24 +0000 https://positioningmag.com/?p=1468419 ผู้บริหารสูงสุดของ Swatch ผู้ผลิตนาฬิการายใหญ่จากสวิตเซอร์แลนด์ ได้กล่าวว่าชาวจีนอ่อนไหวกับราคาสินค้า ตัดสินใจนานขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแดนมังกรยังกลับมาไม่เต็มที่ ขณะเดียวกันเขาก็คาดว่ากว่าตลาดจะฟื้นตัวได้นั้นอาจต้องรอไปถึงช่วงปลายปีนี้

Nick Hayek ซึ่งเป็น CEO ของ Swatch ผู้ผลิตนาฬิกาจากสวิตเซอร์แลนด์ ให้สัมภาษณ์กับ Neue Zuercher Zeitung สื่อในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยเขากล่าวว่าตลาดนาฬิกาหรูในประเทศจีนอาจต้องรอไปจนถึงสิ้นปีนี้ถึงสถานการณ์จะดีมากขึ้น และมองว่าผู้บริโภคชาวจีนเริ่มมีความอ่อนไหวต่อราคาสินค้า แสดงให้เห็นสภาวะเศรษฐกิจจีนที่ยังฟื้นตัวไม่ดีนัก

CEO ของ Swatch ได้กล่าวว่ากับสื่อรายดังกล่าวว่า ผู้บริโภคชาวจีนเริ่มมีความอ่อนไหวต่อราคาสินค้า และใช้เวลาตัดสินใจนานมากขึ้น แม้ว่าผู้บริโภคเหล่านี้จะมีเงินอยู่แล้วก็ตาม และเขายังมองว่าสำหรับปี 2024 ยังถือว่าเป็นปีที่ยากสำหรับตลาดแดนมังกร และกว่าสถานการณ์จะดีขึ้นอาจต้องรอไปถึงช่วงปลายปี

ข้อมูลของ Statista ได้ชี้ว่าตลาดนาฬิกาหรูในประเทศจีนในปีนี้จะเติบโตตั้งแต่ปี 2024-2028 เฉลี่ยแค่ 1.92% ต่อปีเท่านั้น ซึ่งปกติตลาดนาฬิกาหรูในแดนมังกรนั้นมีอัตราการเติบโตต่อปีมากกว่าตัวเลขดังกล่าวด้วยซ้ำ

ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศจีน โดยเฉพาะปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์นั้นได้สร้างผลกระทบต่อความเชื่อมั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นกลางในประเทศจีนที่มีมากกว่า 400 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของสินค้าหรู

ขณะที่สถานการณ์ยอดขายในประเทศอื่นๆ CEO รายนี้มองว่า สหรัฐอเมริกายังคงเติบโตต่อไป โดยร้านค้าของทางบริษัทนั้นถือว่าเติบโตเร็วกว่าคาด แต่ขณะที่ร้านค้าอื่นที่นำนาฬิกาของบริษัทไปจำหน่ายนั้นเริ่มมีความไม่มั่นใจในยอดขาย ขณะที่ตลาดอื่นๆ อย่างในประเทศญี่ปุ่นยังไปได้ดี รวมถึงยุโรปด้วย

สำหรับ Swatch นั้นเป็นผู้ผลิตนาฬิการายใหญ่ของสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตนาฬิกาหลายแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็น Omega หรือ Tissot ซึ่งเป็นแบรนด์นาฬิกาหรู รวมถึงแบรนด์อื่นๆ เช่น Swatch และ Hamilton หรือแม้แต่แบรนด์อย่าง Mido

นอกจากนี้ CEO ของ Swatch ยังกล่าวว่า เขาจะไม่นำบริษัทออกจากตลาดหุ้น เนื่องจากการนำบริษัทออกจากตลาดหุ้นทำให้มีหนี้จำนวนมาก ซึ่งเขาและครอบครัวซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่นั้นไม่ต้องการที่จะเป็นหนี้

อย่างไรก็ดี CEO รายนี้ยังชื่นชมชาวจีนว่าเป็นผู้ที่กระหายความสำเร็จ การต้องการทำงาน เพื่อที่จะให้ได้สิ่งต่างๆ และนำเงินไปท่องเที่ยวหรือแม้แต่การซื้อนาฬิกา และเขายังมองว่าตลาดจีนนั้นยังมีโอกาสอีกมาก

]]>
1468419
ถอดสูตรความสำเร็จ “PMT The Hour Glass” ปั้นตลาด “นาฬิกาหรู” เมืองไทย https://positioningmag.com/1435161 Thu, 22 Jun 2023 10:06:09 +0000 https://positioningmag.com/?p=1435161 ย้อนกลับไปเมื่อปี 2550 “ณรัณ ธรรมาวรานุคุปต์” ในฐานะทายาทรับช่วงต่อกิจการนำเข้านาฬิกา “พรีม่า ไทมส์” ได้เดินทางไปร่วมงานมหกรรมแสดงสินค้านาฬิกา “Baselworld” ที่สวิตเซอร์แลนด์ และบังเอิญได้พบกับ “ไมเคิล เทย์” ในห้องอาหารเช้าของโรงแรมที่พัก

ไมเคิล เทย์นั้นเป็นทายาทและผู้บริหารของ “The Hour Glass” ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายนาฬิกาหรูในสิงคโปร์ แม้ทั้งคู่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่ด้วยประวัติครอบครัวและการศึกษาที่คล้ายกัน รวมถึงความหลงใหลในนาฬิกา วิสัยทัศน์ทางธุรกิจที่คิดเห็นไปในทางเดียวกัน ทำให้ในปี 2551 พวกเขาทั้งคู่ตกลงจัดตั้งบริษัทร่วมทุน “PMT The Hour Glass” ขึ้นเพื่อขยายธุรกิจในประเทศไทย

ณรัณ เล่าถึงการพบปะในครั้งนั้นว่าเป็นเหมือน “พรหมลิขิต” ที่ทำให้ PMT The Hour Glass เริ่มต้นก่อตั้งร้าน 2 สาขาแรกสำเร็จ

PMT The Hour Glass
“ไมเคิล เทย์” Group Managing Director, The Hour Glass และ “ณรัณ ธรรมาวรานุคุปต์” กรรมการผู้จัดการ PMT The Hour Glass

การเดินทางต่อเนื่องมา 15 ปี วันนี้ PMT The Hour Glass ขยายตัวครบ 15 สาขา แบ่งเป็น 10 สาขาในไทย และ 5 สาขาในเวียดนาม เติบโตจากทีมงาน 20 คน มาเป็น 250 คน และเป็นตัวแทนจำหน่ายแบรนด์นาฬิกาจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มแบรนด์ใหญ่ เช่น Rolex, Patek Philippe, Hublot, Tudor และกลุ่มแบรนด์ช่างฝีมือระดับสูง (Artisanal Brand) เช่น F.P.Journe, MB&F, URWERK, Akrivia

นับได้ว่าบริษัทเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายนาฬิกาหรูรายใหญ่ในไทย ทำรายได้รอบปีบัญชีล่าสุด 6,000 ล้านบาท

 

“Watch Nerd” สูตรความสำเร็จการจำหน่ายงานศิลป์บนข้อมือ

ณรัณมองว่าความสำเร็จของบริษัทเกิดจาก “แพสชัน” ของทีมงานทุกคนที่ต่างเป็น “Watch Nerd” ผู้ที่หลงใหลในรายละเอียดงานศิลป์ของนาฬิกา และใช้แพสชันนี้เป็นจุดตั้งต้นในการเผยแพร่ “วัฒนธรรมนาฬิกา” ให้กับสังคมผ่านการจัดงานอีเวนต์ ประชาสัมพันธ์ ทำการตลาดให้ความรู้เกี่ยวกับนาฬิกามาตลอด 15 ปี จนตลาดไทยปัจจุบันเรียกได้ว่ามีนักสะสมที่มีความรู้สูงเป็นจำนวนมาก อาจจะเป็นรองเพียงแค่สิงคโปร์เท่านั้นในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

PMT The Hour Glass
HUBLOT Spirit of Big Bang Tourbillon 5-Day Power Reserve Carbon Green Camo ผลิตเพียง 30 เรือน ฉลองครบรอบ 15 ปี PMT The Hour Glass ราคา 3.6 ล้านบาท

อีกผลลัพธ์หนึ่งที่ได้จากการเป็น Watch Nerd คือ ความใส่ใจในรายละเอียดของการออกแบบ การผลิต ทีมงานเบื้องหลังนาฬิการะดับสูง ทำให้ PMT The Hour Glass เล็งเห็นได้ว่าแบรนด์นาฬิกาใดที่มีศักยภาพในอนาคต กำลังจะเป็น ‘Potential Winner’ และมีมูลค่าสินค้าสูงขึ้น

“ลูกค้าเชื่อมั่นว่าเรามีศักยภาพในการคัดเลือกเหล่าผู้ชนะเข้ามาและสร้าง value ให้เขาได้ในระยะยาว” ณรัณกล่าว

ลูกค้าเชื่อมั่นว่าเรามีศักยภาพในการคัดเลือกเหล่าผู้ชนะเข้ามาและสร้าง value ให้เขาได้ในระยะยาว

เขายกตัวอย่างแบรนด์ Hublot ที่บริษัทเป็นผู้ริเริ่มนำเข้ามาเมื่อ 15 ปีก่อนพร้อมๆ กับการก่อตั้ง PMT The Hour Glass ในวันนั้นแบรนด์ Hublot ยังเป็นแบรนด์ระดับกลางและไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่บริษัทเล็งเห็นศักยภาพของแบรนด์ว่ากำลังจะเติบโต ซึ่งวันนี้ Hublot เติบโตได้จริง โดยขึ้นมาเป็นนาฬิกาไฮเอนด์ในระดับ Top 20 ของโลก และเป็นนาฬิกาชั้นนำที่ขายดีอันดับ 5 ในไทย

ประเด็นนี้ทำให้พาร์ทเนอร์แบรนด์ผู้ผลิตนาฬิกาเองก็พึงพอใจใน PMT The Hour Glass เช่นกัน เพราะบริษัทไม่เพียงแต่นำเข้ามาจัดจำหน่าย แต่ยังช่วยสร้างแบรนด์ของผู้ผลิตให้แข็งแรงในตลาดไทยด้วย

 

ครบรอบ 15 ปี ก้าวสู่ 20 สาขา

การเติบโตของ PMT The Hour Glass จะมีการขยายตัวต่อเนื่องในปีนี้ โดยเตรียมจะเปิดเพิ่มอีก 5 สาขา แบ่งเป็น 2 สาขาในไทย และ 3 สาขาในเวียดนาม

ในไทยจะมีไฮไลต์คือการเปิดบูติกของ “F.P.Journe” ถือเป็นบูติกแห่งแรกของแบรนด์นี้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นการเปิดบูติกให้กับแบรนด์นาฬิกาในกลุ่มช่างฝีมือระดับสูง (Artisanl Brand) ครั้งแรกของบริษัทด้วยเช่นกัน

F.P.Journe นาฬิกากลุ่ม Artisanal Brand ที่จะเปิดบูติกในไทยปีนี้

ณรัณกล่าวว่า นาฬิกาเซ็กเมนต์ Artisanl Brand นั้นได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในระดับโลกและในไทย ด้วยเทรนด์ของนักสะสมมีความรู้และใส่ใจในงานศิลปะ กลไก ความละเอียดประณีตบนนาฬิกาสูงขึ้น ทำให้นิยมศึกษางานจากช่างฝีมือในเซ็กเมนต์นี้ซึ่งถือเป็นสินค้าที่มีจำกัดมาก บางแบรนด์อาจผลิตได้เพียงหลักสิบหรือหลักร้อยชิ้นต่อปีเท่านั้น

ส่วนในเวียดนามนั้น ไฮไลต์จะเป็นการเปิดบูติก “Rolex” เป็นแห่งแรกของเวียดนาม และจะเร่งผลักดันตลาดเวียดนามซึ่งมีศักยภาพสูงต่อเนื่อง

“เวียดนามนั้นเป็นตลาดใหม่คล้ายกับประเทศไทยเมื่อ 15 ปีก่อนที่ยังต้องส่งเสริมเรื่องวัฒนธรรมนาฬิกาและให้ความรู้” ณรัณกล่าว “แต่เวียดนามมีศักยภาพมากเพราะประเทศกำลังเติบโต นักสะสมยังมีอายุเฉลี่ยที่ 30 ปี และลักษณะประเทศมีหลายหัวเมือง ทำให้เรามีโอกาสขยายสาขามาก”

 

ดีมานด์พุ่งสูง แต่ซัพพลายเร่งไม่ได้

ในแง่ความต้องการในตลาด ณรัณอ้างอิงข้อมูลจากกรมศุลกากรพบว่า การนำเข้านาฬิกาแบรนด์ชั้นนำของไทยเมื่อปี 2565 นั้นมีมูลค่าสูงถึง 12,955 ล้านบาท ตัวเลขนี้เติบโตขึ้นถึง 36% เมื่อเทียบกับปี 2562 (ก่อนเกิดโรคระบาด) ซึ่งมีการนำเข้านาฬิกาหรูมูลค่ารวม 9,550 ล้านบาท

Girard-Perregaux Laureato Chronograph 42mm รุ่นจำนวนจำกัด 50 เรือน ฉลองครบรอบ 15 ปี PMT The Hour Glass ราคา 2.408 ล้านบาท

ณรัณคาดว่า ตลาดที่โตสูงมากหลังผ่านโควิด-19 เป็นเพราะในช่วงเกิดโรคระบาดทำให้พฤติกรรมคนเปลี่ยน เริ่มมีเวลาว่างในการศึกษาหางานอดิเรกใหม่ๆ ที่ทำได้ที่บ้าน ซึ่งส่วนหนึ่งเลือกหันมาศึกษากลไกและงานศิลปะของนาฬิกาไฮเอนด์ จนเกิดนักสะสมหน้าใหม่เพิ่มขึ้น

สำหรับปี 2566 ณรัณคาดว่าตลาดนาฬิกาหรูก็ยังจะเติบโตต่ออีก 10-15% ด้วยดีมานด์ที่ยังร้อนแรง

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญคือฝั่งซัพพลายที่ไม่สามารถเร่งตามดีมานด์ได้ เนื่องจากการผลิตนาฬิกาไฮเอนด์จะใช้ช่างฝีมือ ไม่ได้ใช้เครื่องจักรกลหรือใช้น้อย และช่างฝีมือเหล่านี้ต้องใช้เวลาฝึกฝนนานนับสิบปี ทำให้ไม่สามารถจะเร่งซัพพลายได้ตามต้องการ

“ช่วงก่อนโควิด-19 เรามีดีมานด์จากลูกค้ามากกว่าโควตานำเข้านาฬิกาจากแบรนด์ประมาณ 3 เท่า ปัจจุบันตัวเลขนี้พุ่งขึ้นมาเป็น 9 เท่า” ณรัณกล่าว

ทางออกที่บริษัทนำเข้าจะสามารถทำได้คือการเจรจาการจัดสรรโควตานำเข้าเพิ่มเติมจากแบรนด์ จะทำได้หรือไม่นั้น ต้องย้อนกลับไปที่ความเชื่อมั่นของแบรนด์ที่มีต่อบริษัทและตลาดประเทศไทย รวมถึงสายสัมพันธ์อันดีระหว่างแบรนด์กับบริษัท ซึ่งทาง PMT The Hour Glass เองมีความเชื่อมั่นว่า “แพสชัน” ของบริษัทที่ดำเนินมาตลอด 15 ปีจะทำให้พาร์ทเนอร์ไว้วางใจได้

]]>
1435161
รู้จักกับ Richard Mille นาฬิกาอะไรเรือนเป็นล้าน !? เมื่อการบอกเวลาไม่ใช่ประเด็นสำคัญ https://positioningmag.com/1149555 Fri, 08 Dec 2017 05:22:10 +0000 https://positioningmag.com/?p=1149555 นาฬิกาแบรนด์หรูจากสวิตเซอร์แลนด์ Richard Mille กำลังถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในสังคมไทยจากประเด็นข่าวดัง และทำให้เกิดข้อสงสัยตามมามากมายว่า นาฬิกาอะไร จึงมีราคาแพงระดับเรือนละล้าน (และเป็นสิบล้าน) ขนาดนี้ !?

นาฬิกาคอนเซ็ปต์ “ฟอร์มูลา วัน”

Richard Mille เป็นแบรนด์นาฬิกาหรูของ “ริชาร์ด มิลล์” ที่คลุกคลีอยู่กับวงการนาฬิกามาตั้งแต่ต้น หลังศึกษาด้านการตลาดมาจากเบอซ็องซง เขาเริ่มทำงานที่บริษัทผลิตนาฬิการะดับท้องถิ่น Finhor ตั้งแต่ปี 1974 และเริ่มก้าวหน้าไปสู่ตำแหน่งสูงขึ้นเมื่อบริษัทผลิตรถยนตร์ Matra ได้ซื้อกิจการ Finhor ไปในปี 1981 กระทั่ง Matra ขายกิจการด้านนาฬิกาให้กับ Seiko ไปในปี 1992 มิลล์ จึงตัดสินใจไปเริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง จนได้ตั้งบริษัท Richard Mille ในปี 1999 และเริ่มวางจำหน่ายนาฬิการุ่น RM001 ซึ่งเป็นสินค้าตัวแรกในปี 2001

ปัจจุบัน Richard Mille ออกสินค้ามาแล้วหลายรุ่น นาฬิการุ่น RM 50-03 McLaren F1 ประกอบด้วยวัสดุผสมระหว่าง ไทเทเนียม, Carbon TPT™ และ Graph TPT™ ซึ่งมีน้ำหนักเบากว่าเหล็กถึง 6 เท่า แต่แข็งแรงกว่า 200 เท่า ซึ่งก็ทำให้สินค้าตัวนี้มีราคาสูงถึง 1 ล้านเหรียญฯ หรือ 32ล้านบาท ส่วนนาฬิการุ่น RM27-02 Rafael Nadal Edition ก็มีน้ำหนักเพียง 19 กรัม หรือเท่ากับเหรียญดอลลาร์เพียงเหรียญเดียวเท่านั้น แต่ราคาก็สูงถึง 8 แสนเหรียญฯ หรือ 24 ล้านบาทกันเลยทีเดียว

สินค้าของ Richard Mille มีการใช้วัสดุอีกหลายประเภท อาทิ ท่อนาโนคาร์บอน, เซรามิกชนิดแกร่งเป็นพิเศษ, NTPT® carbon, วัสดุผสานระหว่างคาร์บอนและทองคำเปลว, ซิลิคอนไนไตรด์ และวัสดุที่คนทั่วไปคงไม่คุ้นเคยอีกมากมาย โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เรือนนาฬิกามีความ “เบา” และ “ทนทาน” แม้วงการนาฬิกาจะวิจารณ์ว่าสินค้าของ มิลล์ ใช้ของที่ “ไม่จำเป็น” และ “เกินเหตุ” ในการสร้างนาฬิกา แต่ก็ทำให้มูลค่าของ Richard Mille พุ่งกระฉูด และเป็นที่สนใจของมหาเศรษฐีมากมาย

ตามข้อมูลนาฬิกา Richard Mille ที่ราคาถูกที่สุดก็จะมีราคาสูงถึง 50,000 เหรียญฯ หรือ 1.6 ล้านบาทแล้ว ส่วนรุ่นแพงๆ ก็ทะลุไปถึง 1 ล้านเหรียญฯ หรือ 30 กว่าล้านบาทกันเลยทีเดียว แน่นอนว่า Richard Mille ทุกเรือนผลิตจากวัสดุที่พิเศษอย่างทองคำ หรือ ไทเทเนียม แต่หากคำนวณมูลค่าของวัสดุแล้ว ก็อาจจะมีราคาแค่หลักพ้นเหรียญฯ เท่านั้น

Richard Mille ยังผลิตโดยช่างนาฬิกาผู้เชี่ยวชาญจากสวิตเซอร์แลนด์ ที่นาฬิกาหนึ่งเรือนอาจจะใช้เวลาทำเป็นสัปดาห์ หรือ เดือน แต่สุดท้ายค่าแรงของการผลิตก็ยังห่างไกลจากราคาขายอยู่ดี

ซึ่งสิ่งที่ทำให้ Richard Mille มีราคาสูงจริงๆ ก็คงจะเป็น “ความพิเศษที่ได้ครอบครอง” สินค้าที่มีอยู่จำนวนไม่มากนักในแต่ละรุ่นนั่นเอง

เมื่อความ “แพง” คือ “จุดขาย”

ความสำเร็จของ Richard Mille ยังเกิดขึ้นจากเรื่องของราคาที่สูงมากด้วย เพราะขณะที่แบรนด์ส่วนใหญ่จะเน้นนำเสนอสินค้ามีคุณสมบัติโดดเด่น และมีราคาที่ “สมเหตุสมผล” เพื่อต่อสู้ใน “สงครามราคา” แต่ มิลล์ กลับมั่นใจที่จะเลือกใช้วัสดุที่พิเศษ เพื่อผลิตสินค้าออกมาให้ “แตกต่าง” มากที่สุด จนอาจจะพูดได้ว่า Richard Mille ต้องการที่จะเป็น “นาฬิกาที่แพงที่สุดในตลาด” ก็ว่าได้

ใช้พรีเซ็นเตอร์ นักกีฬายันดารา

คนในวงการยังเชื่อว่า การตลาดที่ตรงเป้า ก็ทำให้ Richard Mille สร้างชื่อได้อย่างรวดเร็วในระยะเวลาแค่ไม่กี่ปี เพราะตัวของเขาไม่ได้มีพื้นเพมาจากการเป็นช่างนาฬิกาโดยตรง แต่จบมาทางการตลาด และสามารถเลือกใช้ พรีเซ็นเตอร์” สินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Richard Mille มักจะเลือกสนับสนุนนักกีฬา ในการแข่งขันกีฬาที่มีผู้ชมเป็นเพศชายวัยกลางคน และเป็นกีฬาซึ่งเป็นที่นิยมในอเมริกากับยุโรปเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นนักกอล์ฟ อย่าง บับบา วัตสัน, นักแข่งรถ F1 ทั้ง เจนสัน บัตตัน, เฟอร์นานโด อลอนโซ และ ฟิลิเป มาสซา รวมถึงนักเทนนิส อย่าง ราฟาเอล นาดาล ด้วย นอกจากนั้น Richard Mille ก็ยังสนับสนุนการแข่งขันกีฬาดังๆ ส่วนใหญ่เป็นการแข่งรถ เช่น Le Mans Classic กับ Grand Prix de Pau เป็นต้น

นักแสดงดังที่เป็นพรีเซ็นเตอร์ของ Richard Mille ยังมีทั้ง นาตาลี พอร์ตแมน และ ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน นอกจากนั้น Richard Mille ก็ยังไม่ลืมที่จะเลือกนักแสดงเชื้อสายจีน อย่าง เฉินหลง และ มิเชล โหย่ว สำหรับตลาด “เศรษฐีใหม่” อย่างจีนแผ่นดินใหญ่ด้วย

ไม่ใช่แค่ “บอกเวลา” แต่บ่งบอกความหรูหราในระดับ “สุดยอด”

ความสำเร็จอันรวดเร็วของ Richard Mille ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่าแบรนด์นาฬิกาสุดหรูยี่ห้อนี้ จะอยู่ในกระแสไปได้อีกนานแค่ไหน เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยมีแบรนด์หรูมาแรงที่ “มาเร็ว ไปเร็ว” อยู่หลายแบรนด์ แต่ที่แน่ๆ ณ ขณะนี้ Richard Mille ก็น่าจะยังอยู่ในช่วงขาขึ้นต่อไปอีกพักใหญ่

ส่วนหนึ่งเพราะตัวของ ริชาร์ด มิลล์ เจ้าของแบรนด์ยังคงประสบความสำเร็จกับการสร้างภาพลักษณ์ให้กับสินค้าของเขา เป็นเหมือนหนึ่งใน “ไอเท็ม” ประจำตัวของเหล่าคน “รวย และมีชื่อเสียง” ในยุคปัจจุบันไปแล้ว ตัวของ ริชาร์ด มิลล์ เองก็มักจะไปปรากฏตัวยังงานปาร์ตี้อันหรูหรา ที่รวบรวมบรรดาคนดังเอาไว้เสมอ จนทำให้ Richard Mille ค่อยๆ สร้างสาวกขึ้นมาเรื่อยๆ จากตอนแรกที่ได้รับความนิยมในหมู่หนุ่มๆ ต่อมาสาวๆ ก็เริ่มสวม Richard Mille กันมากขึ้น จนว่ากันว่าในตอนนี้ถ้าอยากจะให้ “ครบเซต” ก็ต้องมีกระเป๋าหนัง เฮอร์เมส คู่กับนาฬิกา Richard Mille อะไรทำนองนั้น

แน่นอนว่าภาพลักษณ์ดังกล่าวของ Richard Mille ได้รับการส่งเสริมโดยเหล่าผู้เป็นลูกค้า หรือบรรดาผู้จ่ายเงินหลักล้านบาท เพื่อครอบครองนาฬิกาสุดแพงยี่ห้อนี้ไปนั่นเอง คนเหล่านี้พร้อมโพสต์ภาพโชว์ Richard Mille ของตัวเองลงโซเชียลมีเดีย ให้ทุกคนได้ชมกัน ซึ่งนั่นก็เหมือนกับเป็นการโฆษณาให้กับ Richard Mille แบบฟรีๆ

]]>
1149555