“อำนาจ สิงหจันทร์” หัวหน้าฝ่ายการตลาด บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดแผนธุรกิจ “Next Chapter” ของบริษัทในไทย วางกลยุทธ์เพิ่มช่องทางการขายของแอลจีให้หลากหลายมากกว่าเดิมเพื่อเข้าถึงลูกค้า
โดยแต่เดิม “แอลจี” มีช่องทางขายหลักเพียงรูปแบบเดียวคือระบบ “B2C” (Business-to-Consumer) จัดจำหน่ายผ่านดีลเลอร์และรีเทลต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต ร้านวัสดุก่อสร้าง ทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้แอลจีจะเพิ่มช่องทางขายการขายและโมเดลธุรกิจใหม่อีกสองช่องทาง ได้แก่ “B2B” (Business-to-Business) การขายสินค้าตรงให้กับโปรเจ็กต์ทางธุรกิจ และช่องทาง “D2C” (Direct-to-Consumer) คือการขายตรงให้กับลูกค้ารายย่อยผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงโมเดลธุรกิจใหม่ที่ตรงสู่ผู้บริโภคแบบเฉพาะกลุ่ม
สำหรับช่องทางการขายแบบ B2B อำนาจระบุว่าเนื่องจากแอลจีเห็นโอกาสว่าปัจจุบันธุรกิจมากมายต้องการใช้ “โซลูชัน” เครื่องใช้ไฟฟ้าเข้ามาอำนวยความสะดวกและยกระดับคุณภาพชีวิตในอาคารสถานที่ของตน เช่น “สำนักงาน” “โรงแรม” หรือ “สถานศึกษา” เป็นธุรกิจที่ต้องการใช้ “จอ LED” ที่มีความทันสมัยมาติดตั้ง และใช้ “เครื่องปรับอากาศ” คุณภาพดีเพื่อผู้อยู่อาศัย คนทำงาน หรือนักเรียน ทำให้เป็นช่องทางให้แอลจีเข้าไปนำเสนอสินค้าที่เหมาะสมกับธุรกิจนั้นๆ ได้
ขณะที่ช่องทาง D2C เกิดขึ้นหลังจากช่วงโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคเลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น แอลจีจึงต้องมีช่องทางให้ซื้อได้ผ่านเว็บไซต์ www.lg.com และผ่านอี-มาร์เก็ตเพลส เช่น ช้อปปี้, ลาซาด้า
รวมถึงโมเดล D2C ยังเปิดให้แอลจีสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น “LG Laundry Crew” แฟรนไชส์ร้านสะดวกซักของบริษัทที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อต้นปี 2567 และอนาคตจะมีธุรกิจใหม่แบบนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อำนาจกล่าวต่อว่า ปัจจุบันสัดส่วนยอดขายของ “แอลจี” มาจากช่องทาง B2C 80% , B2B 10% และ D2C 10% สัดส่วนนี้คาดว่าจะเปลี่ยนไปในปี 2568 น่าจะปรับเป็น B2C 70% , B2B 15% และ D2C 15%
อนาคตในอีก 5 ปีข้างหน้า แอลจีวางเป้าว่าสัดส่วนยอดขายจะเปลี่ยนเป็น B2C 50% , B2B 20% และ D2C 30% เพราะช่องทางใหม่ๆ จะสร้างยอดขายได้เพิ่มมากขึ้น
“เราไม่ได้จะลดความสำคัญของ B2C ลง การวางขายผ่านดีลเลอร์ยังมีอยู่เช่นเดิมแน่นอน” อำนาจย้ำ “ช่วงแรกที่มีการขายออนไลน์ ทางดีลเลอร์ก็กังวลว่าเราจะไปทำราคาถูกกว่าในออนไลน์ไหม แต่เราก็ต้องบริหารจัดการโปรโมชันต่างๆ ไม่ให้กระทบกับดีลเลอร์มาก”
อย่างไรก็ตาม อำนาจบอกว่าหลังจากศึกษาพฤติกรรมลูกค้าแล้วจะเห็นว่ากลุ่มลูกค้าที่ซื้อแอลจีผ่านออนไลน์มักจะซื้อสินค้ากลุ่มกลางถึงกลางล่าง เพราะเป็นกลุ่มที่เน้นเรื่องราคามากกว่า แต่หากเป็นสินค้าระดับกลางบนจนถึงพรีเมียม ลูกค้าก็ยังต้องการมาที่หน้าร้าน มาจับสัมผัสสินค้าจริง มีพนักงานขายให้คำปรึกษาและดูแล
ทั้งนี้ ยอดขายของแอลจีปัจจุบันหากแบ่งตามเซ็กเมนต์พบว่า 15% มาจากกลุ่มพรีเมียม กว่า 50% มาจากกลุ่มกลางบน และไม่เกิน 35% ได้จากกลุ่มกลางจนถึงกลางล่าง
ด้านโมเดลธุรกิจใหม่ที่อยู่ในกลุ่ม D2C อำนาจแย้มว่าเร็วๆ นี้จะมีธุรกิจใหม่ของ “แอลจี” เกิดขึ้นในไทย ยอมรับว่าเป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับระบบสมาชิก “เครื่องกรองน้ำ” แต่ขอยังไม่เปิดเผยรายละเอียด เพราะยังอยู่ระหว่างวางโมเดล
ระบบสมัครสมาชิกเครื่องกรองน้ำของแอลจีไม่ได้เกิดขึ้นในไทยเป็นประเทศแรก เพราะมีการเปิดตัวใน “มาเลเซีย” ไปแล้วตั้งแต่ปี 2562
ตามการรายงานของสำนักข่าว Bernama ระบุว่า นอกจากธุรกิจสมาชิกเครื่องกรองน้ำแล้ว แอลจีในมาเลเซียยังมีระบบ “Rent-Up” หรือการเช่าเครื่องใช้ไฟฟ้าแอลจีเป็นระยะเวลา 5-7 ปีด้วย โดยครอบคลุมเครื่องใช้ไฟฟ้า 9 ชนิด คือ เครื่องกรองน้ำ เครื่องฟอกอากาศ เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า เครื่องอบผ้า ตู้เย็น สมาร์ททีวี เครื่องดูดฝุ่น และตู้เสื้อผ้าอัจฉริยะ ระบบการเช่านี้เปิดตัวในมาเลเซียเป็นประเทศแรก และแอลจีกำลังวางแผนจะเปิดตัวในอีก 3 ประเทศ คือ ไทย ไต้หวัน และอินเดีย
อำนาจกล่าวว่า ยอดขายของแอลจีในไทยปี 2567 คาดว่าจะปิดยอดขายที่ 16,000 ล้านบาท เติบโต 7% จากปีก่อน เป้าดังกล่าวปรับลงมาเล็กน้อยจากต้นปีคาดว่าจะเติบโตได้ 10% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยปีนี้ ไม่สดใสเท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม บริษัทยังรอติดตามนโยบายภาครัฐอย่าง “ดิจิทัล วอลเล็ต” อย่างใกล้ชิด ซึ่งคาดว่าอย่างน้อยน่าจะมีผลทางอ้อมช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม และอาจจะผลักดันให้ยอดขายของแอลจีดีกว่าเป้าได้
]]>ตลาดเครื่องปรับอากาศน่าจะเดือดต่ออีกปีจากสภาพอากาศร้อนจัด “อำนาจ สิงหจันทร์” หัวหน้าฝ่ายการตลาด บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ฉายภาพตลาดแอร์ย้อนหลังในช่วงปี 2563-65 เป็นช่วงที่แอร์ชะลอการเติบโต จนกระทั่งปี 2566 แอร์กลับมาทะยานยอดขายพุ่งถึง 26.8% จากสภาพอากาศร้อนจัดเมื่อปีก่อน
มาถึงปี 2567 อำนาจคาดว่าตลาดเครื่องปรับอากาศน่าจะเติบโตต่อได้ถึง 20% คิดเป็นมูลค่ารวม 34,300 ล้านบาท เนื่องจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ 1) อากาศร้อนจัด มีการคาดการณ์อุณหภูมิสูงสุดอาจขึ้นไปแตะ 45 องศาเซลเซียสในหน้าร้อนนี้ และ 2) ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น ปรับเป็น 4.88 บาทต่อหน่วย
ทั้ง 2 ปัจจัยรวมกันจะดึงดูดทั้งกลุ่มผู้บริโภคประเภทติดตั้งใหม่ให้ติดแอร์เพื่อสู้อากาศร้อน และกลุ่มผู้บริโภคเปลี่ยนแอร์เครื่องใหม่ (replacement) หันมาใช้แอร์ประหยัดพลังงานเพื่อสู้ค่าไฟแพง
อำนาจกล่าวต่อว่า ด้านกลยุทธ์ของ “แอลจี” ในปีนี้จะยังคงเจาะตลาดกลุ่มกลางบนขึ้นไปและกลุ่มแอร์ประหยัดพลังงานซึ่งเป็นพอร์ตหลักของแอลจี โดยเน้นการขาย “นวัตกรรม” มากกว่าการทำสงครามราคา ขายด้วยมูลค่ามากกว่าเน้นปริมาณยูนิตขาย
ทำให้ปีนี้แอลจีรุกหนักส่งสินค้าเครื่องปรับอากาศใหม่ 5 ซีรีส์ มีไฮไลต์รุ่น “LG DUAL COOL ELITE” (รุ่น HPQ) ที่มาพร้อมฟังก์ชันนวัตกรรมใหม่ เช่น บานพับ 2 บาน สามารถเลือกส่งลมเป็นมุมตรง ลมแอร์ไม่เป่าตัว ทำให้รู้สึกสบายตัวกว่า, ระบบ Human Detection ตรวจจับหากไม่มีคนอยู่ในห้อง แอร์จะปิดเครื่องอัตโนมัติ, ระบบ Window Detection ตรวจจับหากมีการเปิดหน้าต่าง แอร์จะเร่งความร้อนขึ้น เพื่อไม่ให้เปลืองพลังงาน ช่วยประหยัดค่าไฟ
อำนาจอธิบายว่า จากอินไซต์ผู้บริโภคของแอลจีพบว่า ผู้เลือกซื้อเครื่องปรับอากาศจะใส่ใจ 3 ปัจจัยแรกสุด คือ ประหยัดพลังงาน, ดูแลสุขอนามัย และสร้างความสบายตัวในการใช้ ทำให้การพัฒนาสินค้าของแอลจีทำมาเพื่อตอบโจทย์เหล่านี้ โดยแอร์รุ่น LG DUAL COOL ELITE ขนาด 13,000 BTU จะจำหน่ายในราคา 39,900 บาท ถือเป็นแอร์ที่บุกตลาดระดับไฮเอนด์
เป้าหมายของกลุ่มแอร์แอลจีปีนี้ ตั้งเป้าจะโต 30% สูงกว่าค่าเฉลี่ยตลาด คาดสร้างยอดขายได้ 2,600 ล้านบาท โดยอำนาจมองว่าลักษณะตลาดปีนี้น่าจะสอดคล้องกับพอร์ตสินค้าที่แอลจีมี นั่นคือการเติบโตจะเกิดขึ้นในกลุ่มแอร์ระดับกลางบนขึ้นไป และเน้นฟังก์ชันประหยัดพลังงาน
ส่วนมาร์เก็ตแชร์ในตลาด ปี 2566 แอลจีมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ 5.7% เป็นอันดับ 8 ของตลาดแอร์ แต่ปี 2567 จากการเติบโตจะทำให้มาร์เก็ตแชร์ขึ้นมาเป็น 7.5% และน่าจะขยับไปอยู่อันดับ 5 สำเร็จ
สำหรับภาพรวมตลาด “เครื่องใช้ไฟฟ้า” ในปี 2567 อำนาจคาดว่าน่าจะโต “ดับเบิลดิจิต” จากปีก่อนที่มีมูลค่าตลาด 80,000 ล้านบาท (*ข้อมูลรวมเฉพาะกลุ่มแอร์ ทีวี ตู้เย็น และเครื่องซักผ้า)
ส่วนเป้าหมายของ “แอลจี” วางเป้ายอดขายโต 10% มูลค่าเพิ่มเป็น 13,500 ล้านบาท โดยปัจจุบันพอร์ตเครื่องใช้ไฟฟ้าแอลจีแบ่งสัดส่วนยอดขายมาจาก 42% กลุ่มเครื่องซักผ้า 33% กลุ่มโทรทัศน์ 13% กลุ่มเครื่องปรับอากาศ และ 12% กลุ่มตู้เย็น
ในแต่ละกลุ่มสินค้า แอลจีถือว่าเป็นอันดับ 1 แข็งแกร่งในตลาดเครื่องซักผ้า ส่วนกลุ่มทีวีเป็นแบรนด์อันดับ 1-2 ขึ้นลงผลัดกันกับคู่แข่ง ขณะที่กลุ่มตู้เย็นอยู่ในอันดับ 3-4 ทำให้ “แอร์” คือกลุ่มที่แอลจีเน้นการเติบโตสูงมาก
อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม
]]>แอลจีนั้นได้เปิดตัวแล็ปท็อปชื่อ LG gram ตั้งแต่ปี 2015 และปัจจุบันเพิ่งมีวางจำหน่ายไปเพียง 5 ประเทศ เท่านั้น ได้แก่ เกาหลีใต้, ไต้หวัน, ญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกา และไทย โดยหากดูตลาดในช่วงปี 2015 ถือเป็นช่วงที่ตลาดคอมพิวเตอร์-โน้ตบุ๊กทั่วโลกยังอยู่ในช่วงขาลง โดยเฉพาะโน้ตบุ๊กที่ยอดขาย ลดลง 6.3% ขณะที่ช่วงปี 2018 ตลาดเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น แต่กลุ่มสินค้าที่ผลักดันตลาดนั้นเป็นเซกเมนต์ เกมมิ่ง ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่แอลจีจะยังไม่ตัดสินใจส่ง LG gram ทำตลาดไทยตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น
อย่างไรก็ตาม การระบาดของโควิดในช่วงปี 2020-2021 ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดโน้ตบุ๊กทั่วโลกสามารถ เติบโตได้สูงสุดในรอบ 9 ปี เนื่องจากผู้คนจำต้องหันมาซื้ออุปกรณ์ไอทีเพื่อทำงานและใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ในช่วงที่ต้องอยู่แต่บ้าน แต่แอลจีก็ยังเข้ามาตลาดในไทย จนมาปี 2022 ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดกลับไปสู่ขาลงอีกครั้ง คำถามคือ แอลจีกลับนำ LG gram มาประเดิมตลาดแล็ปท็อปไทยทำไมในเมื่อเป็นช่วงขาลงของตลาด ทั้งที่ควรนำมารุกตลาดตั้งแต่ช่วงโควิดที่ตลาดกำลังเติบโต
โดย จีรภา คงสว่างวงศา รองประธานบริหารฝ่ายธุรกิจกลุ่มลูกค้าองค์กรและไอที ภาคพื้นอินโดไชน่า บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ยืนยันว่า LG gram นั้นมาถูกเวลา แม้ว่าตลาดโน้ตบุ๊กไทยจะมีแนวโน้มกลับไปเป็นช่วงขาลงก็ตาม แต่เนื่องจากจุดเด่นของ LG gram คือ บางเบาและทนทาน ด้วยน้ำหนักเพียง 1.19 กก. และความทนทานมาตรฐานทางทหาร ซึ่งมั่นใจว่าตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคหลังโควิดที่ออกเดินทางมากขึ้น
นอกจากนี้ LG gram ได้วางตัวจับ กลุ่มพรีเมียม (ราคา 40,000 บาทขึ้นไป) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังมีการแข่งขันไม่สูงอีกทั้งยังมีการเติบโตเพราะไม่ได้ผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจ ปัจจุบัน แล็ปท็อปพรีเมียมมีสัดส่วนประมาณ 17% มีมูลค่าราว 200 ล้านบาท
“เราคิดมานานกว่าจะลองนำ LG gram เข้ามาจำหน่ายในไทย จนเมื่อเราเห็นว่าเทรนด์คนเริ่มเดินทาง ซึ่งสินค้าเราน่าจะตอบโจทย์โดยเฉพาะเรื่องความเบาและความทนทาน ทำให้ปี 2022 จึงเริ่มนำเข้ามาทำตลาด และตัดสินใจทำตลาดอย่างเต็มตัวในปี 2023 เพราะตอนนี้คนไม่ได้พกแค่มือถือ แต่ต้องการดีไวซ์ที่ตอบโจทย์การทำงานหนัก ๆ ได้” จีรภา กล่าว
จีรภา อธิบายว่า ปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อในพรีเมียมข้อแรกคือ ดีไซน์ ที่ต้องเรียบหรูและน้ำหนักเบา อีกจุดคือ ถือแล้วภูมิใจ (Proud to Own) ซึ่งแอลจีมั่นใจว่า LG gram สามารถตอบโจทย์ทุกด้าน ทั้งดีไซน์เรียบหรูมีความโมเดิร์น ขณะที่สเปกต่าง ๆ ก็ตอบโจทย์ ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนักที่เบา ความทนทาน มีฟีเจอร์ความปลอดภัย ใช้ชิป Intel 13th Generation และภายในปีนี้ แอลจีจะมีไลน์อัพใหม่ ๆ เช่น รุ่นที่ใช้หน้าจอ Oled เข้ามาทำตลาดด้วย
นอกจากนี้ การที่ LG gram ได้วง NewJeans ศิลปินเกิร์ลกรุ๊ปจากเกาหลีที่กำลังมาแรงเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ระดับโกลบอล ซึ่งก็จะยิ่งช่วยให้ LG gram เข้าถึง Gen Z ซึ่งแอลจีวางไว้เป็นกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการเข้าถึง เนื่องจากเห็นว่า เทรนด์ความนิยมของศิลปินเกาหลี กำลังมาแรง
“จากที่ลองตลาดในปี 2022 เราเห็นเทรนด์ที่แปลกมากในไทยคือ เขาชอบสินค้าขนาด 16-17 นิ้วมากกว่า ซึ่งในตลาดไม่ค่อยมี นี่ก็เป็นอีกจุดแข็งของเรา โดยเราต้องการเป็นผู้เซ็ตเทรนด์ใหม่ ๆ ให้ตลาด และเรามั่นใจว่าเราเข้าใจกับไลฟ์สไตล์คนไทย”
โดยในการทำตลาดของ LG gram ในปีแรกนี้ แอลจีได้วางงบไว้ 30-50 ล้านบาท โดยจะทำครบ 360 องศา โดยเฉพาะสื่อ Out of Home ซึ่งจะมีการโฆษณาใน เซเว่นอีเลฟเว่น เพื่อสร้างการรับรู้ให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคที่เดินทางไปในที่ต่าง ๆ ส่วนช่องทางการขายนอกเหนือจากร้านค้าปลีกไอที และช่องทางออนไลน์แล้ว แอลจีจะวางจำหน่ายในร้านค้าปลีกด้านไลฟ์สไตล์ด้วย เช่น ช้อปลำโพง Bang and Olufsen เป็นต้น
ทั้งนี้ แอลจีตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งตลาด LG gram ให้เป็น 2% ของตลาดพรีเมียม และมั่นใจว่ายอดขายของ LG gram จะเป็นสัดส่วนถึง 70% ในการสร้างการเติบโตให้กลุ่มสินค้าไอทีเป็น 10% ซึ่งปัจจุบัน กลุ่มสินค้าไอทีของแอลจีจะเป็นสินค้าจอมอนิเตอร์เป็นหลัก
“แม้แอลจีจะทำตลาดมานาน แต่ในตลาดแล็ปท็อปต้องยอมรับว่าเราเป็นน้องใหม่ แต่เราเชื่อว่าด้วยชื่อแบรนด์ ความยูนีคของฟีเจอร์ ดีไซน์ ความบางเบาและความทนทานของดีไวซ์ เรามั่นใจว่าจะสามารถแข่งขันในตลาดได้”
ที่น่าสนใจคือ แอลจีได้แอบเผยว่า กำลังตัดสินใจนำ สมาร์ทโฟน กลับมาทำตลาดในไทยอีกครั้งเพื่อนำเสนอ อีโคซิสเต็มส์ ให้ครบ ๆ ใครที่เป็นสาวกก็รอได้เลย ทั้งสมาร์ทโฟนและแล็ปท็อปรุ่นใหม่จากแอลจี
]]>สำหรับข่าวล่าสุด LG บริษัทเทคโนโลยีของเกาหลีใต้ประกาศว่าจะปิดธุรกิจสมาร์ทโฟนทั่วโลก หลังจากที่ประกาศเลิกขายสมาร์ทโฟนในจีนอย่างเป็นทางการเมื่อกุมภาพันธ์ 2561 ในแถลงการณ์ของบริษัทระบุว่า จะก้าวออกจากการผลิตโทรศัพท์เพื่อมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจอื่น เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า สินค้ากลุ่มบ้านอัจฉริยะ และปัญญาประดิษฐ์ (AI)
ที่ผ่านมา LG เป็นผู้เล่นรายใหญ่อันดับ 3 ในตลาดสมาร์ทโฟนของสหรัฐฯ บริษัทยืนยันว่าจะให้การสนับสนุนด้านบริการ และการอัปเดตซอฟต์แวร์สำหรับลูกค้าผู้ซื้อโทรศัพท์มือถือไปแล้ว โดยจะวางกรอบระยะเวลาแตกต่างกันไปตามภูมิภาค
ก้าวที่พลาดไปของ LG เชื่อว่าเกิดจากการวางจุดยืนเน้นผลิตสมาร์ทโฟนระดับกลาง และระดับไฮเอนด์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการแข่งขันสูงจากผู้ผลิต เช่น Huawei, Xiaomi และ Oppo ที่เปิดตัวรุ่นที่ราคาถูกกว่า เบื้องต้นจากข้อมูลของเว็บไซต์ TechCrunch มีข่าวลือแพร่สะพัดในช่วงต้นปีที่ผ่านมาว่า LG ต้องการขายธุรกิจสมาร์ทโฟน แต่เพราะธุรกิจไม่เติบโตพอทำให้ไม่สามารถบรรลุการซื้อขายได้ตามแผนที่วางไว้
ดังนั้น จึงพามาย้อนรอยดู 5 นวัตกรรมมือถือของ LG กัน
หนึ่งในนวัตกรรมที่ LG เคยการันตีไว้คือ ลำโพงบลูมบ็อกซ์ สปีกเกอร์ (Boombox Speaker) ในโทรศัพท์รุ่นถัดไปอย่าง LG G7 ThinQ ว่าจะให้พลังเสียงที่เหนือกว่าลำโพงของสมาร์ทโฟนรุ่นอื่นในท้องตลาด โดยย้ำว่าลำโพงจะให้กำลังเสียงเบสเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ขณะที่โทรศัพท์จะถูกวางราบกับโต๊ะเรียบ
ก่อนหน้านี้ LG เคยโชว์ข้อมูลบางส่วนของสมาร์ทโฟนรุ่นถัดไป G7 ThinQ โดยเรียกน้ำย่อยว่า สมาร์ทโฟนรุ่นนี้จะมีหน้าจอสว่างพิเศษ 1,000 nits เท่ากับ Galaxy Note 8 แต่จะเหนือกว่า iPhone X ที่ถูกทดสอบพบว่ามีค่าความสว่างสูงสุด 625 nits ล่าสุด LG ตัดสินใจเผยแพร่จุดขายใหม่ ก่อนที่สมาร์ทโฟนจะเปิดตัวในเดือนพฤษภาคมปีนั้น
จุดขายใหม่ของ LG คือ Boombox Speaker ให้ตัวเลขว่า ลำโพงนี้สามารถเพิ่มระดับเสียงพื้นฐานได้ 6dB พร้อมกับเสียงเบสที่จะดังขึ้น 2 เท่า จากข้อมูลการตรวจวัดของแอลจี เทียบได้ว่าลำโพงของ G7 จะดังกว่าสมาร์ทโฟนทั่วไปถึง 10 เท่า
ประเด็นนี้ถูกยอมรับว่าเป็นเรื่องแปลกใหม่ เพราะสมาร์ทโฟนมักมีข้อจำกัดทางกายภาพทำให้เสียงจากลำโพงภายในไม่มีคุณภาพเท่าลำโพงคุณภาพสูง กรณีของ LG เจ้าพ่อกิมจิยืนยันว่า ข้อจำกัดทั้งหมดนี้ถูกปลดทิ้งไปได้ เพราะลำโพงใหม่ ซึ่งเหมือนได้โบนัส คุณภาพเสียงเบสจะดีขึ้นอีก หากผู้ใช้วางสมาร์ทโฟนบนพื้นผิวเรียบ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ หรือพื้น
หลังจากเปิดตัวในงาน IFA ที่กรุงเบอร์ลินเมื่อกลางปี 2561 LG เริ่มจำหน่ายสมาร์ทโฟน 2 หน้าจอ “G8X ThinQ” เมื่อตุลาคม 2562 ความหวังคือการตอบโจทย์ทุกคนที่โดนใจปรากฏการณ์สมาร์ทโฟนพับได้แบบหน้าจอคู่ ท้าชนรุ่นใหญ่ที่มีหน้าจอแสดงผลพับเก็บได้อย่าง Samsung Galaxy หรืออุปกรณ์จอคู่ของ Microsoft อย่าง Surface Duo ที่กำลังจะเปิดตลาด แต่ใช้วิธีแถมจอเสริมเพื่อให้ผู้ใช้ต่อหน้าจอเพิ่มเป็นแอกเซสซอรีที่ถอดออกได้เมื่อไม่ต้องการใช้งาน
สำหรับ G8X ThinQ ที่มาพร้อมกับอุปกรณ์เสริมที่เรียกว่า LG Dual Screen จะเริ่มต้นที่ราคา 699 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 21,200 บาท
มิถุนายน 2561 ยักษ์ใหญ่เกาหลีใต้เปิดสงครามกล้องสมาร์ทโฟนให้ร้อนระอุ ด้วยการจัดเต็มกล้อง 5 ตัว เพื่อติดตั้งลงในสมาร์ทโฟนรุ่นถัดไป คาดว่าจะทำให้มือถือ LG เหนือกว่าสมาร์ทโฟนกล้องคู่ที่ครองตลาดโลกขณะนั้น
รายงานชี้ว่า กล้อง 5 ตัวของ V40 จะประกอบด้วยกล้องหลัง 3 ตัว ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกับ Huawei P20 Pro ของหัวเว่ย ที่ประเดิมทำระบบกล้องทริปเปิลคาเมราเป็นรายแรก ผลจากการติดกล้อง 3 ตัว จะทำให้การถ่ายภาพหมู่บุคคลมีมิติมากขึ้น อาจให้ผลชัดลึก หรือซูมที่แปลกตาในภาพหมู่ที่มีการนั่งเรียงแถวหน้า และหลัง
กล้องอีก 2 ตัวจะถูกติดไว้ที่ด้านหน้าของ V40 ระบบกล้องคู่ด้านหน้านี้เดินตาม HTC U12 Plus ของเอชทีซี จากไต้หวัน ข่าวลือระบุว่า กล้องคู่นี้อาจทำให้ผู้ใช้สามารถปลดล็อกด้วยใบหน้า รวมถึงใช้งานแอปพลิเคชันวิเคราะห์ใบหน้าอื่นได้ดี
ในที่สุด LG ก็แจ้งเกิด V40 ThinQ จัดเต็มกล้องดิจิทัล 5 ตัวในเครื่องหน้าจอใหญ่ 6.4 นิ้วเครื่องเดียวตามข่าวลือ โดยแบ่งเป็นกล้องหลัง 3 ตัว และกล้องหน้า 2 ตัว หั่นขอบเครื่องให้บางลง พร้อมกับลำโพงเทคโนโลยีใหม่
ราคาพรีเมียม 900-980 เหรียญสหรัฐ หรือ 29,400-32,000 บาท เริ่มทำตลาด 18 ตุลาคม ที่ตลาดสหรัฐฯ
ก่อนหน้านี้ LG เคยตกเป็นข่าวเตรียมเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นแรกที่สามารถบินได้เหมือนโดรน แม้ในเวลานั้นยังไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติม แต่มีการระบุว่า สมาร์ทโฟนรุ่นนี้จะมีโหมด Flying Face time ให้ผู้ใช้ที่มือไม่ว่างสามารถคุยวิดีโอคอลกับปลายสาย โดยที่สมาร์ทโฟนนี้สามารถลอยมาจับภาพใบหน้าผู้ใช้ได้ชนิดไม่ต้องเมื่อยมือ
แน่นอนว่า LG ไม่ได้พัฒนาสมาร์ทโฟนรุ่นนี้ออามาวางจำหน่ายจริง ในเวลานั้นสมาร์ทโฟนเครื่องร่อนลูกผสมนี้ถูกเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า “โดรนโฟน” (Drone Phone) ซึ่ง LG เรียกอีกชื่อว่าแอลจี ยูพลัส (LG U+) ตัวแนวคิด
วิดีโอนี้ถูกเปิดตัวเมื่อปลายปี 2016 สะท้อนว่าสมาร์ทโฟนทูอินวัน โดรน และโทรศัพท์เคลื่อนที่นี้ถูกออกแบบมาให้ผู้ใช้สามารถทำวิดีโอคอลหรือเซลฟี่ได้ โดยที่เครื่องลอยอยู่บนอากาศ จุดนี้มีรายงานว่า LG U+ สามารถหมุนวนเพื่อจับภาพได้แบบ 360 องศา ทำให้ผู้ใช้ที่กำลังทำกิจกรรมทุกชนิด สามารถบันทึกภาพวินาทีประทับใจได้ ทั้งขณะปีนหน้าผา บันจี้จัมพ์ หรือทำอาหาร
สำหรับประเทศไทย ความสดใหม่ที่ LG เคยทำไว้คือการเปิดจำหน่าย LG G6 ที่การันตีเป็นสมาร์ทโฟนแบรนด์แรกที่มาพร้อมดอลบี้ วิชัน HDR 10 และ FullVision หน้าจอขยายเต็ม ใช้งานสะดวกง่ายดายเพียงมือเดียว เวลานั้น LG จับมือเอไอเอส จัดโปรโมชันร่วมกันซื้อ LG G 6 แถมทีวี 43 นิ้ว มูลค่ากว่า 13,900 บาท
โปรโมชันนี้เกิดขึ้นหลังการว่างเว้นการทำตลาดสมาร์ทโฟนไทยไปกว่า 6 เดือน
ทั้ง 5 ความตื่นเต้นจากสมาร์ทโฟน LG เหล่านี้กำลังกลายป็นตำนาน ซึ่งตอกย้ำว่านวัตกรรมน่าตื่นเต้นอาจไม่มีพลังพอที่จะสร้างประโยชน์ให้ยอดขายบริษัทเสมอไป
]]>เมื่อผู้บริโภคมองหาทีวีที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ หน้าจอใหญ่ขึ้น คมชัดขึ้น ผู้ผลิตทุกรายจึงต้องพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ออกมาต่อเนื่อง รองรับ 4K มีหน้าจอใหญ่ หน้าจอโค้ง สมาร์ททีวี อินเทอร์เน็ตทีวี
เมื่อดูตัวเลขภาพรวมตลาดทีวีในปี 2559 มียอดขายราว 3 ล้านเครื่อง หรือคิดเป็นมูลค่าราว 32,000 ล้านบาท โดยมี ซัมซุง จากเกาหลี ครองตลาดส่วนใหญ่
แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้เทรนด์ของนวัตกรรม OLED TV (โอแอลอีดี ทีวี) มีการเติบโตอย่างมาก ผู้เล่นทีวีต่างลงมาจับจองตลาด เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีจุดเด่นที่เรื่องสีที่สมจริง และภาพลื่นไหล “แอลจี” เป็นผู้ผลิตหน้าจอโอแอลอีดีรายใหญ่ของโลก จึงตีตื้นขึ้นมา แย่งชิงความโดดเด่นในตลาด แต่ผู้เล่นรายอื่นก็เร่งมือพัฒนาเข้าสู่ตลาดไม่แพ้กัน
สำหรับในประเทศไทย แอลจีรุกตลาดอย่างดุดันไม่แพ้กัน แอลจีจึงต้องตอกหมุดย้ำจุดแข็งในเรื่องของ LG OLED TV ให้มากขึ้น ด้วยการหันไปจับมือกับ “ต้นทาง” ของการผลิตคอนเทนต์ในวงการภาพยนตร์ไทย ชูเรื่องนวัตกรรมการกำกับหนัง และการดูหนังผ่าน LG OLED TV เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภค
แอลจีได้เลือกจับมือกับ “เต๋อ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์” ผู้กำกับหนังอินดี้ขวัญใจเด็กแนว ด้วยการสนับสนุนให้เต๋อได้ใช้ LG OLED TV ในการกำกับหนัง ใช้เป็นจอมอนิเตอร์ ได้เห็นมุมมองการถ่ายหนัง กับโปรเจกต์ใหม่ของเต๋ออย่าง Die Tomorrow ภาพยนตร์ขนาดยาวลำดับที่ 5
ได้ร่วมทำคลิปวิดีโอออนไลน์จำนวน 2 คลิปบนเว็บไซต์ยูทิวบ์ ได้แก่ “คู่กรรม Nawapol x LG OLED TV” และ “เรื่องมืดๆ นอกโรงของเต๋อ นวพล by LG OLED TV” เนื้อหาในคลิปจะมีทั้งเบื้องหลังการถ่ายทำภาพยนตร์ของเต๋อที่มีทีวีเป็นจอมอนิเตอร์ และพูดถึงเรื่องราวการทำหนัง
ทั้งนี้ แคมเปญนี้มีเฉพาะในประเทศไทย อาจจะเป็นเพราะว่าคนไทยชอบดูวิดีโอคอนเทนต์ และชอบติดตามอินฟลูเอ็นเซอร์คนดังบนโลกออนไลน์ ทางแอลจีจึงจับจริตคนไทยด้วยการทำแคมเปญออนไลน์ออกมา เพื่อสร้างการรับรู้แก่ผู้บริโภค โดยใช้เบื้องหลังของหนังเป็นตัวจุดประกายความสนใจ
พรมสีดำสลับด้วยลูกศรสีแดงโดดเด่นปูเป็นทางยาว เพื่อนำแขกรับเชิญและสื่อมวลชนเข้าสู่งานเลี้ยงฉลองเปิดตัว Chocolate Phone โทรศัพท์มือถือพรีเมียมรุ่นแรกของ LG ด้วยบรรยากาศยามเย็น ณ โรงแรมมิลเลเนียม ฮิลตัน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในคอนเซ็ปต์ Glow in thw Dark เพื่อสื่อคุณสมบัติโทรศัพท์ที่เรืองแสงสีแดงได้ในที่มืด ธีมงานจึงใช้สีดำ-แดงให้รู้สึกเรียบหรู และคงความทันสมัยไม่อลังการเกินไป ตรงกับโพสิชันนิ่ง Chocolate Phone
เช้าวันเดียวกัน LG ยังได้จัดงานแถลงข่าวเปิดตัว Chocolate Phone เพื่อให้ข้อมูลการตลาดแก่สื่อมวลชน ด้วยบรรยากาศเป็นทางการ แต่ยังคงความทันสมัยตามเทรนด์เทคโนโลยี พร้อมแจกของชำรวยเป็นเครื่องเล่น MP3 ขนาด 1 กิกะไบต์ติดโลโก้ LG แต่ดีไซน์เครื่องคล้าย iPod Shuffle
ซอง นัก กิล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอลจี อิเลคทรอนิกส์ (ประเทศไทย) บอกว่า LG ได้ใช้งบประมาณ100 ล้านบาท เพื่อใช้ทำตลาดโทรศัพท์รุ่นนี้ ซึ่งถือว่ามากที่สุด หากเทียบกับงบการตลาดรวมประมาณ 300 ล้านบาท เพื่อใช้ทำตลาดโทรศัพท์มือถือรวมทั้งปีเกือบ 30 รุ่นในปีนี้
เนื่องจากเป้าหมายการของ LG ต้องการปรับภาพลักษณ์แบรนด์ให้เป็นพรีเมียม เพื่อขยายกลุ่มเป้าหมายให้กว้างขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีกำลังซื้อระดับ B+ ขึ้นไป จึงต้องเปิดตัวกลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ Black Label Series โดยมี Chocolate Phone เป็นสินค้าตัวแรก เพื่อเป็นธงนำตลาดพรีเมียมในปีนี้ หลังจากที่ได้เปิดตัวไปแล้วในยุโรป และเกาหลีในปีที่ผ่านมา
“ทุกวันนี้ แบรนด์แอลจีเริ่มเป็นที่ยอมรับของผู้ใช้มากขึ้น จนทำให้ปัจจุบันมีมาร์เก็ตแชร์ค่อยเพิ่มขึ้น 2-5% และคาดว่าปลายปีนี้จะเพิ่มขึ้นได้ถึง 10% ด้วยยอดขายไม่ต่ำกว่า 2.5 แสนเครื่อง นั่นเพราะผู้บริโภคมั่นใจในคุณภาพของแบรนด์เรา”
นั่นอาจเป็นเหตุผลให้ Chocolate Phone ขายดีทั้งในยุโรป และเกาหลี ด้วยยอดขายกว่า 400,000 เครื่อง หลังจากการเปิดตัวในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ส่วนในตลาดไทยโทรศัพท์รุ่นนี้จะประสบผลสำเร็จ ด้วยยอดขายที่เพิ่มขึ้น หรือได้เฉพาะกล่องสร้างแบรนด์ LG ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นเท่านั้น คงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์
LG Chocolate Phone
Company : บริษัท แอลจี อิเลคทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด
Product detail : โทรศัพท์ดีไซน์แบบสไลด์ รูปลักษณ์สีดำ ด้านหน้ามีหน้าจอแอลซีดีขนาดใหญ่ ผนวกกับแผงควบคุมแบบสัมผัส (Touch-sensitive Keypad) เป็นรุ่นแรกของโลก คุณสมบัติรองรับการใช้งานแบบมัลติมีเดีย มีกล้อง 1.3 ล้านพิกเซล ใช้งาน MP3 หน่วยความจำในเครื่อง 128 เมกะไบต์ และเชื่อมต่อผ่านบลูทูธ
Price : ราคาจำหน่าย 14,200 บาท
Target : คนรุ่นใหม่ที่มีไลฟ์สไตล์ทันสมัย และต้องการโทรศัพท์ดีไซน์แตกต่าง อายุระหว่าง 18-35 ปี
Strategy : LG วางโพสิชันนิ่ง Chocolate Phone เป็นโทรศัพท์ในระดับพรีเมียม เพื่อขยับแบรนด์ LG ให้มีความเป็นไฮเอ็นด์มากขึ้น แต่ยังคงความเป็นแฟชั่น ทันสมัย และต้องการใช้เทคโนโลยี
Did you know?
สำหรับการโปรเมต LG Chocolate Phone ในตลาดยุโรป โดย LG เลือก “คอลีน แม็กลัฟลิน” ขวัญใจนักเตะดัง “เวน รูนี่ย์” มาเป็น Ambassador เพื่อสื่อถึงความเป็นผู้นำแฟชั่น และยังเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่ประสบผลสำเร็จ