โลโก้ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Sat, 17 Apr 2021 03:21:50 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 5 หลักการสร้างแบรนด์จากแนวคิด ‘จิตวิทยา’ ผลักธุรกิจสู่เป้าหมาย https://positioningmag.com/1327923 Fri, 16 Apr 2021 11:18:48 +0000 https://positioningmag.com/?p=1327923 “สร้างแบรนด์” เชื่อมโยงกับหลัก “จิตวิทยา” ได้ในหลายแง่มุม ยกตัวอย่าง 5 หลักการพื้นฐานเหล่านี้เพื่อนำไปใช้กับการสร้างแบรนด์ของคุณ

Darrah Brustein ผู้ก่อตั้งบริษัท 4x โค้ชที่ปรึกษาด้านธุรกิจในสหรัฐฯ รวมข้อมูลการสร้างแบรนด์จากหลายแหล่ง เพื่อชี้ให้เห็นว่าหลัก “จิตวิทยา” มีส่วนอย่างมากในการทำแบรนด์ให้ประสบความสำเร็จ

บริษัทขนาดใหญ่มักจะมีทีมการตลาดที่ศึกษาเกี่ยวกับสี ฟอนต์ และคำที่ใช้ในการทำมาร์เก็ตติ้งว่าอะไรที่ได้ผลและอะไรที่ห้ามใช้สำหรับแบรนด์ของตนเอง โดย Brustein นำเสนอ 5 ตัวอย่างทฤษฎีที่แบรนด์ดังพิสูจน์มาแล้วผ่านประสบการณ์และหลักฐานว่า จิตวิทยามีผลกับการประสบความสำเร็จของแบรนด์ ทั้งเรื่องภาพลักษณ์และวิธีการสื่อสาร

1.ทฤษฎีสี

แบรนด์ดังใช้ประโยชน์จากเรื่องทฤษฎีสี เพราะสีมีอะไรมากกว่าที่เห็น การผสมผสานของสีมีผลต่อการตอบสนองทางอารมณ์และการจูงใจให้มั่นใจต่อผลิตภัณฑ์นั้นๆ

มีงานศึกษารองรับว่า ผู้บริโภคจะตัดสินผลิตภัณฑ์นั้นด้วยจิตใต้สำนึกภายใน 90 วินาทีแรกของการมองเห็น และ 90% ของการประเมิน 90 วินาทีดังกล่าวขึ้นอยู่กับเรื่อง “สี”

ดังนั้น การลงทุนเรื่องดีไซน์โลโก้ มีผลต่อการจดจำและสร้างอัตลักษณ์ของแบรนด์เป็นเรื่องที่ “ต้องทำ” ในยุคใหม่

โดยทฤษฎีสีต่อการรับรู้แบรนด์ผ่านจิตใต้สำนึกเป็นเรื่องพื้นฐานที่หลายคนทราบ เช่น สีฟ้า/น้ำเงินช่วยให้จิตใจสงบ สีแดงช่วยให้อยากอาหาร สีม่วงสะท้อนความสูงส่ง สีขาวสื่อถึงความบริสุทธิ์ ฯลฯ

 

2.รูปทรงสื่อถึงเรื่องราว

กุญแจสำคัญของการดีไซน์ประการต่อมาคือ “รูปทรง” ไม่เพียงแต่จะต้องมีลักษณะสะดุดตาแล้ว ยังต้องสะท้อนถึงคุณค่าและปรัชญาของแบรนด์ด้วย

ไม่ว่าจะเป็นการดีไซน์โลโก้หรือเว็บไซต์ของธุรกิจคุณ อย่าลืมนึกถึงความรู็สึกที่คุณต้องการจะสื่อสาร ตัวอย่างเช่น โลโก้ของ Mercedes-Benz ให้ความรู้สึกของความหรูหรา โลโก้ของ McDonald’s คือความรู้สึกเป็นมิตรและต้อนรับ หรือเครื่องหมายถูกของ Nike สื่อถึงความโฉบเฉี่ยวและความยินดี

ในท้องตลาด โลโก้แบรนด์เกือบ 20% เป็นรูปทรงกลม เพราะทรงกลมมักจะสื่ออารมณ์ของความมั่นคง ความเป็นชุมชน และความปลอดภัย ขณะที่คนส่วนใหญ่มักเห็นรูปทรงสี่เหลี่ยมว่าล้าสมัยและอนุรักษ์นิยม

การสื่อสารอีกรูปแบบที่สามารถใส่ลงในการออกแบบแบรนด์ได้ คือการใช้รูปทรงที่เกี่ยวพันกับเรื่องราวของแบรนด์ เช่น Puma มีรูปแมวอยู่ในโลโก้ หรือน้ำผลไม้ Tropicana ใช้รูปใบไม้ซ่อนในตัว i ของแบรนด์

 

3.สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า

Beth Doane ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสร้างสรรค์ Main & Rose ซึ่งทำงานให้กับ YouTube และสหประชาชาติ อธิบายถึงเรื่องนี้ว่า แม้แต่ช่วงก่อนเกิดโรคระบาด ความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับลูกค้าก็เป็นพื้นฐานของแบรนด์ที่ฉลาดและประสบความสำเร็จอยู่แล้ว จนกระทั่งเกิดโรคระบาด สิ่งนี้ยิ่งสำคัญมากขึ้นไปอีก

Doane มองว่า “ความรู้สึกผูกพันกับแบรนด์” บางครั้งอาจสำคัญและทรงพลังเสียยิ่งกว่าความต้องการตัวผลิตภัณฑ์หรือบริการเสียอีก

เรื่องนี้เกี่ยวกับจิตวิทยามนุษย์แต่โบราณที่ต้องการความรู้สึก “เป็นส่วนหนึ่ง” ของบางสิ่งบางอย่าง เพราะหลายครั้งการได้รับการยอมรับหรือเป็นส่วนหนึ่งหมายถึงการมีชีวิตรอดในสังคม

ดังนั้น แบรนด์ที่ชาญฉลาดมักจะไม่เพียงแต่สร้างความสัมพันธ์กับเป้าหมาย แต่ยังสร้างชุมชนรอบๆ แบรนด์ของตัวเองขึ้น เพื่อสร้างคุณค่าและดึงลูกค้าไว้ได้ในระยะยาว

เมื่อความรู้สึกนี้เกิดขึ้น แบรนด์ของคุณจะมี ‘halo effect’ คือเมื่อลูกค้ารู้สึกดีกับผลิตภัณฑ์หนึ่งหรือฟีเจอร์หนึ่งที่แบรนด์ให้บริการ ความรู้สึกนั้นจะเป็นบวกกับทุกสิ่งทุกอย่างของแบรนด์ไปโดยอัตโนมัติ

 

4.การหลีกเลี่ยงการเสีย (Loss Aversion)

Daniel Kahneman นักจิตวิทยาและนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล เป็นผู้ค้นพบทฤษฎีนี้ โดยพบว่าคนเราจะหลีกเลี่ยงการเสียอะไรไปมากกว่าโอกาสที่จะได้อะไรเพิ่มขึ้น ความเสียใจของคนที่สูญเงิน 100 บาทจะมากกว่าความดีใจของคนที่ได้เงินมา 100 บาท

ความกลัวที่จะเสียของคนทำให้เกิดวิธีการทำตลาดที่จับจุดนี้มาใช้มากมาย เช่น ซื้อสินค้า A ราคา 100 บาท บวกค่าส่ง 50 บาท กับ จัดโปรโมชัน 150 บาทส่งฟรี คนมักจะเลือกแบบเหมา 150 บาทส่งฟรีมากกว่า ทั้งที่เงินที่จ่ายไปก็เท่าๆ กัน

หรือการให้ทดลองใช้บริการหลายๆ อย่างก่อนได้ฟรี เมื่อถึงเวลาจ่ายเงิน ลูกค้าจำนวนมากจะเสียดายสิ่งที่ใช้จนติดแล้วจนยอมเสียเงินเพื่อรักษาสิ่งที่ตัวเองมีไว้

Brustein มองว่า ไม่ใช่แค่กลยุทธ์การตลาดเท่านั้นที่เล่นกับ Loss Aversion ได้ แต่ตัวแบรนด์เองก็ทำได้เช่นกัน หากสามารถสร้างแบรนด์ให้เป็นที่ต้องการมาก และลูกค้าไม่ต้องการจะเสียโอกาสครอบครองแบรนด์ของคุณไป

 

5.สร้างสตอรี่

กฎข้อที่หนึ่งของแบรนดิ้ง ไม่ว่าจะในห้วงเวลาแบบไหน คือต้อง “สร้างสตอรี่”

คนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มเจนวาย ไม่ได้แคร์เท่าไหร่แล้วกับการซื้อ “ของ” แต่พวกเขาต้องการแรงบันดาลใจจากเรื่องราวของสินค้า

หากจะให้เข้าเทรนด์ขณะนี้ สำคัญมากที่แบรนด์ของคุณจะต้องมีเรื่องราวและคุณค่าแบรนด์ที่เน้นไปที่การรักษาเยียวยาใจ ความเป็นพลังชุมชน และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะปัจจุบันความรู้สึกต้องการเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่กว่าตนเองนั้นแข็งแรงมากๆ และแบรนด์สามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้ได้

Source

]]>
1327923
Burger King รีแบรนด์! ดึง “โลโก้” เก่ายุค 60s มาปัดฝุ่นใหม่ให้เข้ากับโลกดิจิทัล https://positioningmag.com/1313359 Fri, 08 Jan 2021 03:30:31 +0000 https://positioningmag.com/?p=1313359 เชนฟาสต์ฟู้ดดัง Burger King รีแบรนด์ใหม่เป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี โดยดึงเอา “โลโก้” เก่าจากยุค 60s มาปรับเปลี่ยนใหม่ให้เข้ากับโลกดิจิทัล ปรับสีและฟอนต์ใหม่ให้ยังดูร่วมสมัย พร้อมคงคาแร็กเตอร์ “กวนๆ” แบบฉบับของร้านอาหารเจ้านี้

ทีมครีเอทีฟภายในบริษัทร่วมกับทีมออกแบบจาก JKR New York เปิดเผยการรีแบรนด์ครั้งล่าสุดของ Burger King ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมานาน 20 ปี ถึงจะบอกว่าเป็นโลโก้ใหม่ แต่ต้นแบบของโลโก้นี้เป็นการดึงเอาโลโก้เก่าที่เริ่มใช้ในยุคทศวรรษ 1960s กลับมาใช้ แต่มีการปรับเปลี่ยนฟอนต์ รูปร่าง และสีสันให้ทันสมัยขึ้น

โดยรูปร่างโลโก้ใหม่จะล้อตามลักษณะของเบอร์เกอร์ของร้าน มีขนมปังประกบด้านบนและด้านล่าง ตรงกลางเป็นฟอนต์ใหม่ชื่อ Flame ซึ่งจะถูกนำไปใช้ในส่วนอื่นๆ ของร้านด้วย นอกจากปรับโลโก้แล้ว ยูนิฟอร์มพนักงานและแพ็กเกจก็จะเปลี่ยนการออกแบบใหม่ทั้งหมดเช่นกัน

โลโก้เก่าที่เป็นตัวต้นแบบนั้นถูกนำมาใช้ครั้งแรกเมื่อปี 1969 และใช้ยาวจนถึงปี 1999 ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นโลโก้แบบที่เราคุ้นตากันในปัจจุบัน

โลโก้เก่าเทียบกับโลโก้ใหม่ของ Burger King

เมื่อกลับไปใช้โลโก้แบบเรโทร ทำให้สีน้ำเงินถูกดึงหายไปจากโลโก้ที่เราคุ้นเคย และให้ความรู้สึก “มินิมอล” มากขึ้น เป็นการระลึกถึงมรดกของแบรนด์นี้ที่ส่งต่อกันมา ไม่ว่าจะเป็นความเป็นเอกลักษณ์ มั่นใจ เรียบง่าย สนุกสนาน และเป็นมิตร

ตัวฟอนต์ ‘Flame’ นั้นออกแบบโดย Colophon Foundry ปรับให้มีความมนกลม หนา และอร่อย เหมือนกับเบอร์เกอร์ของ Burger King โดย “ราฟาเอล เอบรือ” หัวหน้าฝ่ายออกแบบสากลของ Restaurant Brands International บริษัทแม่ของร้าน กล่าวกับเว็บไซต์ It’s Nice That ว่า ฟ้อนต์นี้ต้องการสร้างความรู้สึกให้คนอยากจะลองกัดดูสักคำ

ด้านสีที่ใช้นั้น เอบรือบอกว่าแบรนด์ได้ทำพาเลตต์สีใหม่มาใช้ได้แก่ สีแดงเพลิง สีส้มเปลวไฟ และสีน้ำตาลบาร์บีคิว ซึ่งจะเป็นกลุ่มสีหลัก และจะมีสีรองลงมาที่ใช้งาน คือ สีขาวไข่มายองเนส สีเหลืองเยิ้ม และสีเขียวกรุบกรอบ

โลโก้และดีไซน์ในร้านที่เปลี่ยนไป ตามด้วย “ยูนิฟอร์มพนักงาน” ที่จะมีผสมผสานสไตล์ “สตรีทแวร์ร่วมสมัย” มากขึ้นด้วย

ยูนิฟอร์มใหม่พนักงานร้าน

“การออกแบบคือหนึ่งในเครื่องมือการสื่อสารที่สำคัญที่สุด เพื่อแสดงออกว่าเราคือใครและเราให้คุณค่ากับอะไร รวมถึงมีบทบาทสำคัญยิ่งในการสร้างความอยากอาหาร และสร้างประสบการณ์สูงสุดให้กับลูกค้าของเรา” เอบรือกล่าว

“ตั้งแต่ปี 1999 ที่โลโก้อันก่อนของเราออกสู่ตลาด จนถึงวันนี้โลกของแบรนดิ้งได้เปลี่ยนไปมาก ทุกวันนี้แบรนด์ต่างใช้พื้นที่บนโลกดิจิทัลเป็นสนามแข่งขัน ตัวตนที่เป็นมิตรกับยุคดิจิทัลและความขึ้นกล้องของแบรนด์กลายเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งกว่าที่เคย ในปี 1999 นั้นการดีไซน์ยังไม่เป็นประเด็น ก็วันนั้นเรายังใช้มือถือ Nokia ของเราเล่นเกมงูอยู่เลย!”

เขากล่าวด้วยว่า Burger King กำลังปรับโฉมแบรนด์ใหม่ตั้งแต่รากฐาน ลดการใช้สารกันบูดและสีสังเคราะห์ในอาหารทุกชนิด และยังลงทุนอย่างหนักในด้านเทคโนโลยีเพื่อเปลี่ยนประสบการณ์ในร้าน รวมถึงบนมือถือด้วย ดังนั้น ความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่เกิดขึ้นทำให้โลโก้และการดีไซน์ร้านแบบเดิมๆ ไม่ได้สะท้อนตัวตนของแบรนด์อีกต่อไป และเราจำเป็นต้องสร้างการรับรู้ทางสายตาใหม่หมดให้สอดคล้องกัน

ตัวตนแบรนด์แบบใหม่ของ Burger King เริ่มมีให้เห็นแล้วบนเว็บไซต์ทางการ และจะเริ่มทยอยเปลี่ยนบนโซเชียลมีเดีย เมนูอาหาร และการตกแต่งภายในร้าน ครบทั้ง 18,800 สาขาทั่วโลก ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า

Source

]]>
1313359
เหมือนไหม? Apple ฟ้องแอปฯ Prepear ลอกเลียนแบบโลโก้ คาดไกล่เกลี่ยกันได้เร็วๆ นี้ https://positioningmag.com/1312779 Mon, 04 Jan 2021 06:32:47 +0000 https://positioningmag.com/?p=1312779 เมื่อเดือนสิงหาคม 2020 ยักษ์เทคโนโลยี Apple ฟ้องร้องแอปพลิเคชันสูตรทำอาหาร Prepear ข้อหาลอกเลียนแบบโลโก้ ทำให้ทาง Prepear ต้องล่ารายชื่อคัดค้านยอดทะลุ 250,000 ชื่อเพื่อขอให้ Apple ถอนฟ้อง คาดไกล่เกลี่ยกันสำเร็จเร็วๆ นี้

Apple ยื่นฟ้องแอปพลิเคชัน Prepear ซึ่งเป็นแอปฯ สูตรทำอาหาร ข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์โลโก้ของ Apple โดยออกแบบโลโก้แอปฯ ที่คล้ายคลึงกับของบริษัท

คำฟ้องของ Apple ระบุว่าโลโก้ Prepear “สร้างกลิ่นอายของเอกลักษณ์แบบเดียวกัน” ซึ่งจะทำให้ลูกค้าแยกออกได้ยากระหว่างบริการของ Apple กับ Prepear โดยโลโก้ของ Prepear นั้น “ใช้การออกแบบเป็นรูปผลไม้แบบมินิมอล โดยมีใบปัดไปทางขวา ซึ่งจะทำให้คนนึกถึงโลโก้ของ Apple ได้” ดังนั้น ผู้รับบริการอาจจะเข้าใจไปได้ว่า Prepear มีความเชื่อมโยงหรือเกี่ยวพันหรือได้รับการสนับสนุนจากบริษัท Apple

เพื่อตอบโต้การยื่นฟ้องดังกล่าว “รัสเซลล์ มอนซัน” ผู้ก่อตั้งแอปฯ Prepear ได้ยื่นคำร้องขอคัดค้านให้บริษัท Apple ถอนฟ้อง โดยมีการล่ารายชื่อสาธารณะภายใต้หัวข้อ “ปกป้องลูกแพร์จากแอปเปิล” (Save the Pear from Apple) ล่าสุดมีผู้ร่วมลงชื่อถึง 250,000 ราย

Apple ยังไม่ได้ยื่นถอนฟ้อง แต่มีรายงานว่าทั้งสองบริษัทกำลังเจรจาไกล่เกลี่ย โดยมีหลักฐานจากสำนักงานลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าแห่งสหรัฐฯ ว่า Apple ได้ร้องขอให้การยื่นฟ้องระงับไปก่อนเป็นเวลา 30 วัน (จนถึง 23 มกราคม 2021) เนื่องจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง “กำลังร่วมกันเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อหาข้อยุติในประเด็นนี้” ถ้าหากไม่สามารถเจรจาไกล่เกลี่ยได้ คดีความจะเริ่มกระบวนการพิจารณาคดีเบื้องต้นในเดือนมีนาคม 2021

มอนซันกล่าวว่า บริษัท Prepear เป็นบริษัทเล็กๆ ที่มีพนักงานเพียง 5 คน และบริษัทคงไม่มีศักยภาพที่จะต่อสู้ในชั้นศาลกับ Apple เขายังกล่าวด้วยว่า การต่อรองกับ Apple เป็นประสบการณ์ที่ “น่าหวาดผวา” ทั้งนี้ ปัจจุบันแอปฯ Prepear มียอดดาวน์โหลดใน Google Play Store แล้ว 100,000 ครั้ง

Source

]]>
1312779
5 เรื่องน่ารู้ “นิสสัน” เปลี่ยนโลโก้ใหม่ในรอบ 20 ปี ประเดิม “นิสสัน อริยะ” รุ่นแรก https://positioningmag.com/1288124 Fri, 17 Jul 2020 05:02:35 +0000 https://positioningmag.com/?p=1288124 ถึงคราวของค่ายรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น “นิสสัน” ในการปรับเปลี่ยนโลโก้ใหม่ เพื่อให้เข้ากับยุคสมัย ในครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนโลโก้ในรอบ 20 ปี มีความทันสมัยมากขึ้น เริ่มใช้ในเดือนกรกฎาคม 2563 ประเดิม “นิสสัน อริยะ” รุ่นแรก

5 เรื่องน่ารู้ นิสสันเปลี่ยนโลโก้ใหม่

1. การเดินทางสู่ยุคใหม่

ความหมายของโลโก้ใหม่ของ นิสสัน ได้รับการออกแบบเพื่อสื่อถึง “การเดินทางสู่ยุคใหม่” นั่นหมายความว่ารวมไปถึงเป้าหมาย ทิศทางขององค์กรที่จะขับเคลื่อนเป็นยานยนต์แห่งอนาคตด้วยเช่นกัน

ชื่อของบริษัทยังคงอยู่ที่ศูนย์กลางของโลโก้ สื่อให้มีการจดจำได้โดยทันที พร้อมช่วยบอกเล่าเหตุการณ์สำคัญ และความทรงจำในอดีต พร้อมๆ กันกับการถ่ายทอดวิวัฒนาการต่างๆ ของแบรนด์

การเริ่มต้นยุคใหม่ที่ว่านี้ มีทั้งการสื่อสารในโลกดิจิทัลที่มากขึ้น รวมถึงการเดินทางในยุคของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ที่จะกลายเป็นการเดินทางในอนาคตของผู้บริโภคต่อไปก็ว่าได้ ซึ่งนิสสันเองก็ได้ออกรุ่นใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง

2. สื่อชัดเจนขึ้น แม้บนโลกดิจิทัล

จุดประสงค์หลักของโลโก้นี้จะสะท้อนถึงเอกลักษณ์ของนิสสันได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นบนโลกดิจิทัล

นิสสันมองว่ามีปฏิสัมพันธ์กับทุกคนมากขึ้นกว่าเดิม ผู้คนเติบโตพร้อมไปกับการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร โอกาส และใช้ชีวิตบนโลกดิจิทัลเทียบเท่ากับการดำเนินชีวิตประจำวัน ดังนั้นแบรนด์จะแข็งแกร่งได้จะต้องสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์กับทั้งสองโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา โลโก้ที่ปรากฏโฉมของนิสสันเป็นสัญลักษณ์สำหรับยานยนต์ และอื่นๆ อีกมากมาย โลโก้เป็นเครื่องแสดงถึงตัวตน เป็นตัวแทนของนามบัตร การจับมือ และการทักทายในครั้งแรกระหว่างลูกค้า กับประสบการณ์ในการขับขี่ที่ตื่นเต้นเร้าใจของรถยนต์นิสสัน โลโก้ของนิสสันยังคงมุ่งมั่นกับค่านิยมที่สืบทอดจากโยชิสุเกะ ไอคาวะ ผู้ก่อตั้ง ที่ว่า “Shisei tenjitsu o tsuranuku” ซึ่งหมายถึง “ถ้าคุณมีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้า มันก็ทำให้คุณก้าวไปได้ถึงดวงอาทิตย์”

3. ยังคงมีดวงอาทิตย์

โลโก้ใหม่นี้ยังคงมีวงกลมที่เปรียบเหมือนพระอาทิตย์อยู่ และคาดด้วยตัวอักษร NISSAN ที่เป็นชื่อแบรนด์ ที่เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 1988 แต่เปลี่ยนจาก 3 มิติ สีเงิน มาเป็น 2 มิติ สีดำ และตัดกรอบรอบๆ ออก เป็นโลโก้ที่ไม่มีแสงตกกระทบก็ยังสื่อสารได้

โลโก้เก่า

4. วางแผนมา 2 ปี

กระบวนการออกแบบของโลโก้นี้เริ่มต้นขึ้นในช่วงฤดูร้อนของปี 2017 เมื่อ อัลฟอนโซ อัลบายซ่า รองประธานอาวุโสด้านการออกแบบระดับโลกของนิสสัน เริ่มศึกษาการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นกับโลโก้ และเอกลักษณ์ของแบรนด์นิสสัน เขาตั้งทีมออกแบบที่นำโดย ซึโตมุ มัตซึโอะ รองผู้จัดการทั่วไปฝ่ายออกแบบขั้นสูงของนิสสัน เพื่อศึกษาทุกอย่างตั้งแต่วิวัฒนาการที่ลึกซึ้งจนถึงการคิดค้นใหม่อย่างสมบูรณ์

อัลบายซ่า เสนอคำหลักที่สำคัญคือ “บาง เบา และมีความยืดหยุ่น หรือ thin, light and flexible” และแต่งตั้ง มัตสึโอะ และทีมของเขาในภารกิจนี้

“แรงบันดาลใจมาจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการเชื่อมต่อ สิ่งเหล่านี้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานให้กับลูกค้าของเราได้อย่างไร อย่างที่คุณได้จินตนาการ วิสัยทัศน์ของโลกดิจิทัลเริ่มอยู่ร่วมกับวิถีชีวิตของเรา”

ในอีก 2 ปีข้างหน้า ทีมได้ร่างแบบ และวางแผนซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยคำนึงถึงคำกล่าวของ มร. ไอคาวะ ที่ว่า “ต้องมีความกระตือรือร้น ต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง ต้องกล้าท้าทายสิ่งใหม่ ๆ”

ทีมต้องพิจารณาตัวแปรมากมาย รวมถึงการตัดสินใจก่อนกำหนดแบบเพื่อให้โลโก้ส่องสว่างขึ้นในรถยนต์ไฟฟ้าทุกรุ่นที่กำลังจะมา สิ่งนี้นำมาซึ่งข้อเสนอที่มีความท้าทายด้านเทคนิค เช่น การวัดความหนาของโครงร่างของโลโก้เพื่อให้แน่ใจว่า จะได้ภาพที่คมชัดเมื่อมีแสงสว่าง และสอดคล้องกับกฎระเบียบของภาครัฐบาลสำหรับองค์ประกอบที่มีเรืองแสงบนรถยนต์ โดยโลโก้จำเป็นต้องสร้างความประทับใจอย่างมากเมื่อไม่ได้รับแสง ตัวอย่างเช่นเมื่อมันปรากฏตัวในรูปแบบดิจิทัลหรือบนกระดาษ

ไม่ว่าจะเป็นการวางบนสื่อใดๆ โลโก้ใหม่นี้จำเป็นต้องบ่งบอกถึงความเป็นนิสสันอย่างชัดเจน หลังจากสเก็ตช์ภาพและการทำแบบจำลองนับครั้งไม่ถ้วน ผลลัพธ์ที่ได้คือโลโก้ ที่มีความน่าประทับใจแบบ 2 มิติ (2-D) ดูทันสมัยมากขึ้น มีความยืดหยุ่นในการใช้จริงทุกรูปแบบ การสเก็ตช์แบบเริ่มจากภาพ 3 มิติ ก่อนจะพัฒนาให้เป็นแบบ 2 มิติ โลโก้ต้องสามารถเรืองแสงถูกกำหนดไว้ตั้งแต่ต้น เพื่อให้การกระจายแสงเป็นตัวแทนของแบบโลโก้ 2 มิติ

5. ประเดิมนิสสัน อริยะ รุ่นแรก

โลโก้ใหม่จะเริ่มปรากฏในเดือนกรกฎาคม ทั้งในรูปแบบดิจิทัล และแบบดั้งเดิม รถยนต์ไฟฟ้าของนิสสันจะมีโลโก้ไฟที่เรืองแสงอันเป็นเอกสิทธิ์เฉพาะ โดยที่มีหลอดไฟแบบ LED จำนวน 20 ดวง (ตรงกับจำนวนปีที่มีการปรับโลโก้) ซึ่งเป็นภาพที่ย้ำถึงความโดดเด่น และแสดงถึงว่านิสสันกำลังมุ่งสู่อนาคตของยานยนต์ไฟฟ้า

จากนั้น โลโก้ใหม่จะปรากฏบนสื่อต่างๆ ตั้งแต่หัวจดหมาย และสัญลักษณ์ของผู้จำหน่ายไปจนถึงโซเชียลมีเดีย และสื่อโฆษณาแบบดิจิทัล

ได้ประเดิมโลโก้ใหม่กับ “นิสสัน อริยะ” ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อไม่นานมานี้ เป็นครอสโอเวอร์ไฟฟ้าคันแรกของแบรนด์ที่ถูกตกแต่งด้วยโลโก้ใหม่ ในฐานะที่เป็นไอคอนใหม่ของการขับเคลื่อนอัจฉริยะของนิสสัน หรือ Nissan Intelligent Mobility

]]>
1288124
ส่องโลโก้ใหม่ BMW พื้นหลังโปร่งใส สไตล์มินิมอล เริ่มใช้ปี 2021 https://positioningmag.com/1267376 Sat, 07 Mar 2020 18:15:44 +0000 https://positioningmag.com/?p=1267376 บีเอ็มดับเบิลยู (BMW) เปลี่ยนโลโก้ใหม่ จากดีไซน์ 3 มิตินูนต่ำเป็น 2 มิติแบนเรียบ เอาพื้นสีดำออกไปเปลี่ยนเป็นพื้นใสแทน ส่วนตัวอักษร BMW รูปใบพัดฟ้าขาว และขอบวงกลมสีขาว มีการปรับแต่งรายละเอียดเล็กน้อย แต่โดยรวมยังคงเหมือนเดิม

BMW อธิบายว่า โลโก้ใหม่ที่มีความโปร่งใส สื่อถึงวิสัยทัศน์ของ BMW ที่มุ่งให้ความสำคัญกับความสมบูรณ์แบบในการเดินทาง (Mobility) และความสนุก (Joy) ที่ได้รับจากการขับรถ BMW

อีกทั้งดีไซน์ใหม่ยังมีความเรียบง่ายและมีความยืดหยุ่นสูง ซึ่งช่วยให้ BMW เข้าถึงกลุ่มลูกค้ายุคใหม่ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ได้ง่ายขึ้น

คาดว่าโลโก้ใหม่นี้จะถูกนำไปใช้กับรถ BMW i4 รถยนต์ไฟฟ้าที่จะวางจำหน่ายในปี 2021 เป็นรุ่นแรก

Source

]]>
1267376
เก่าไป…ใหม่มา ถึงเวลา “เดอะมอลล์” เปลี่ยนโลโก้ครั้งเเรก นับตั้งเเต่ก่อตั้งมา 39 ปี https://positioningmag.com/1259573 Tue, 07 Jan 2020 05:11:23 +0000 https://positioningmag.com/?p=1259573 วงการค้าปลีกเปลี่ยนรับปี 2563 สู้ศึกชิงคนเดินห้าง ล่าสุด “เดอะมอลล์” ได้โอกาสเหมาะเปลี่ยนโลโก้ใหม่ในรอบ 39 ปี นับตั้งเเต่ก่อตั้งมา นำร่องใช้ที่สาขาเดอะมอลล์งามวงศ์วานเป็นที่เเรก หลังเปลี่ยนโฉมปรับคอนเซ็ปต์เเละรีโนเวตครั้งใหญ่เมื่อปลายปีที่เเล้ว

เรามักจะคุ้นชินกับ “โลโก้เดิม” ของศูนย์การค้าเดอะมอลล์ที่ใช้มากว่า 39 ปี ด้วยเอกลักษณ์ตัว M สีเเดงเเละขาว
ที่มีลักษณะคล้ายการม้วนตัวของริบบิ้น เเต่นับจากนี้ไปตั้งเเต่ต้นปีนี้ไป เราจะได้เห็น “โลโก้ใหม่” ที่เป็นตัว M ซึ่งถูกดีไซน์ให้ดูเเข็งเเรง เรียบง่ายเเละใช้สีเเดงล้วน

เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับโฉมใหม่ของเดอะมอลล์ สาขางามวงศ์วาน ภายใต้แนวคิด “The Mall Lifestore : A Happy Place To Live Life” โดยชั้น 6 เป็นพื้นที่ฟู้ดคอร์ต ภายใต้ชื่อ “กูร์เมต์อีทส์” ซึ่งได้รวมร้านอาหารสตรีตฟู้ดชื่อดังกว่า 30 ร้าน

บรรยากาศของเดอะมอลล์งามวงศ์วานโฉมใหม่ (Photo : The Mall Thailand)

ส่วนชั้น 7 เป็นโรงหนังเอสเอฟเอ็กซ์ซีนีม่าที่มีการปรับโฉมใหม่ โดยทุ่มเงินกว่า 200 ล้านบาทเพื่อรองรับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่มากขึ้น เเละชั้น 4 เป็นโซน The Living รวมของแต่งบ้าน เครื่องครัวสุดชิค ศิลปะเเละหนังสือ มุมใหม่ๆ อย่าง Nature Market สำหรับคนที่ชื่นชอบสินค้าออร์เเกนิก

บรรยากาศของเดอะมอลล์งามวงศ์วานโฉมใหม่ (Photo : The Mall Thailand)

ก่อนหน้านี้มีการใช้ “โลโก้ใหม่” นี้กับบัตรเติมเงิน SCB M VISA PREPAID CARD มาเเล้วเพื่อจับพฤติกรรมกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ

โลโก้ใหม่ที่ถูกนำมาใช้ในบัตรเติมเงิน

อย่างไรก็ตาม ทางเดอะมอลล์ กรุ๊ป ยังไม่ได้ให้รายละเอียดถึงโลโก้ดังกล่าว โดยบอกเพียงว่าจะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการเเละนำไปใช้ในเครือทั้งหมดในช่วงปลายปี 2020 นี้ ซึ่งจะทยอยเปลี่ยนในสาขาอื่นๆ ต่อไป

บรรยากาศของเดอะมอลล์งามวงศ์วานโฉมใหม่ (Photo : The Mall Thailand)

สำหรับ “เดอะมอลล์” (THE MALL) ถือเป็นเจ้าใหญ่ในธุรกิจรีเทล ภายใต้บริหารของบริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด เปิดบริการสาขาแรกที่ “ราชดำริ” เปิดเมื่อปี 2524 (ปิดกิจการไปเมื่อปี 2531) เเละสาขาที่ 2 ที่ “รามคำเเหง” ในปี 2526 ซึ่งในสมัยนั้นตลาดค้าปลีกในไทยส่วนใหญ่ยังเป็นต่างชาติอย่างไทยไดมารู เมโทร โซโก้ คาเธ่ย์ โอเดียน โรบินสัน เป็นต้น

ปัจจุบัน “เดอะมอลล์ ” มีอยู่ 6 สาขา ได้เเก่ สาขารามคำแหง (กำลังรีโนเวต) , สาขาท่าพระ , สาขางามวงศ์วาน , สาขาบางแค , สาขาบางกะปิ และสาขานครราชสีมา

นอกจากนี้ยังมี ศูนย์การค้าไฮเอนด์อย่าง The Emporium Shopping Complex ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง เดอะมอลล์กรุ๊ปและธนาคารกรุงเทพ เเละโครงการเมกะโปรเจกต์อย่าง The EM District ที่มีมูลค่าโครงการเกือบ 30,000 ล้านบาท ส่วน Siam Paragon เป็นห้างที่เกิดจากการร่วมทุนกันระหว่างเดอะมอลล์กรุ๊ปและสยามพิวรรธน์ ก็กำลังจะมีการรีโนเวตครั้งใหญ่ในปีนี้ด้วยเช่นกัน

นับเป็นอีกความเคลื่อนไหวสำคัญของกลุ่มเดอะมอลล์ ที่จะปรับทัพมาสู้สมรภูมิค้าปลีก “ยุคใหม่” ที่กำลังดุเดือดนี้ 

 

 

]]>
1259573
จาก “ลูกศร” ของ Amazon ไปจนถึง “นางเงือก” ของ Starbucks นี่คือการเปลี่ยนแปลง “โลโก้” ที่ยอดเยี่ยมที่สุด 15 อันดับในประวัติศาสตร์การสร้างแบรนด์ https://positioningmag.com/1239234 Tue, 16 Jul 2019 02:55:38 +0000 https://positioningmag.com/?p=1239234 การเปลี่ยนแปลง “โลโก้” สำหรับแบรนด์ใหญ่แล้ว ถือเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนเป็นอย่างมาก ด้วยมีความเสี่ยงที่จะทำให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์นั้นเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ถ้าเปลี่ยนใหม่แล้วดูดีก็แล้วไป แต่บางครั้งอาจจะไม่จบด้วยดี

ดังเช่น Gap แบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นของอเมริกา ได้เปลี่ยนโลโก้ในปี 2010 จากนั้นเปลี่ยนกลับไปใช้การออกแบบแบบเก่าเพียงไม่กี่วัน หลังเจอแฟนๆ โดยเฉพาะใน Facebook ถล่มด้วยความเห็นว่าไม่ชอบและเอาโลโก้เก่ากลับมาดีกว่า

แต่ไม่ว่าอย่างไรหลายแบรนด์ก็เต็มใจที่จะเปลี่ยนแปลง และนี่คือตัวอย่าง 15 แบรนด์ที่ออกแบบโลโก้ได้ยอดเยี่ยมที่สุดในประวัติศาสตร์ของแบรนด์

IBM

เมื่อพูดถึงการออกแบบครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความเรียบง่าย วิวัฒนาการโลโก้ของ IBM ยักษ์ใหญ่ไอทีสัญชาติอเมริกันสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มนี้ โดยการออกแบบในปัจจุบันย้อนกลับไปในปี 1972 มีหมายถึงการทำให้เกิด “ความเร็วและพลวัต” ตามที่เว็บไซต์ของ IBM ได้อธิบายไว้

Pepsi

การออกแบบโลโก้ของ Pepsi แสดงให้เห็นถึงเส้นทางที่แบรนด์เลือกใช้ตัวอักษรทั้งหมด และยิ่งออกแบบซับซ้อนเท่าไหร่ยิ่งดี ซึ่งเป็นแบบแผนที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงปลายศตวรรษที่ 19

แต่หลังจากนั้นแบรนด์น้ำอัดลมชื่อดังก็เลือกที่จะปฎิวัติตัวเองนำตัวอักษรออกไปเป็นแบรนด์แรกๆ จนกระทั่งสิ่งที่เหลืออยู่ในโลโก้นั้นเป็น “สัญลักษณ์” ที่สามารถสร้างการจดจำได้เป็นอย่างดี

Volkswagen

โลโก้แรกของ Volkswagen ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเยอรมันนั้น ได้ออกแบบตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้รับอิทธิพลจาก Adolf Hitler ซึ่งเป็นสัญลักษณ์คล้ายสวัสติกะ โลโก้ที่ถูกออกแบบในปี 1939 จึงมีลักษณะคล้ายกับฟันเฟืองที่สบายตา

ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นเวอร์ชั่นปัจจุบันซึ่งกลายกับกระดุมเสื้อ โดยสีฟ้าได้เพิ่มเข้ามาในปี 1967 และ Volkswagen แทบจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์เลยนับแต่นั้น

Amazon

โลโก้ดั้งเดิมของ Amazon พยายามรวมแม่น้ำไว้ในตัวอักษร “A” แต่ประสบความสำเร็จในการสร้างรูปร่างที่ดูเหมือนไม่เหมือนใคร แม้จะประสบความสำเร็จในแง่ของการไม่เหมือนใคร

แต่แม่น้ำสายนั้นไม่สามารถถ่ายทอดความมีตัวตนได้ Claudine Jaenichen ศาสตราจารย์ด้านการออกแบบที่มหาวิทยาลัย Chapman กล่าวกับ Marketplace

แต่วันนี้โลโก้ชัดเจนมากขึ้นลูกศรชี้จาก “A” ถึง “Z” แสดงให้เห็นว่ายักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซมีทุกสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ

Microsoft

ทุกครั้งที่ Microsoft เปิดตัวระบบปฎิบัติการ Windows ก็มักจะมีการออกแบบโลโก้ใหม่อยู่เสมอ แทนที่จะเปลี่ยนครั้งใหญ่แล้วใช้ตลอดไป

โดยรุ่นแรกคือ Windows NT 3.5x วางจำหน่ายในปี 1994 หลังจากผ่านไปหลายครั้งจึงได้ ผลงานการออกแบบที่เรียบง่ายในปี 2012 สำหรับ Windows 8

Starbucks

ที่ผ่านมานางเงือก อันเป็นสัญลักษณ์ที่ใครๆ ก็จำได้ของ Starbucks มีการเปลี่ยนแปลงที่น้อยมาก และใช้เวลาถึง 40 ปี กว่าจะเป็นโลโก้ที่ตัวอักษรถูกนำออกไป ซึ่งถูกใช้มาตั้งแต่ปี 2011

Audi

Audiwerke คือ 1 ใน 4 บริษัทที่ทำให้ Audi กลายมาเป็นแบรนด์รถหรูสัญชาติเยอรมันอย่างที่ทุกคนรู้จักกันดี จึงถูกนำมาเป็นโลโก้ในปี 1990

ก่อนที่โลโก้สี่ห่วงเรียบๆ อย่างที่คุ้นตาจะกลับมาใช้ใหม่ในปี 1985 ซึ่งนั้นก็ได้ปรับจากของเดิมในปี 1932 ที่จะมีสัญลักษณ์ของทั้ง 4 บริษัทอยู่ในห่วงด้วย

American Airlines

โลโก้ตั้งเดิมของ American Airlines เป็นรูปนกอินทรีที่บินระหว่างชื่อย่อของบริษัทนั้นคือ A และ A ที่ใช้มานานกว่า 45 ปี

ก่อนที่จะเปลี่ยนมาใช้โลโก้ใหม่ที่นำสัญลักษณ์ทั้ง 2 มาออกแบบให้ทันสมัยมากขึ้น หลังจากการควบรวมกิจการกับ US Airways ในปี 2013

FedEx

ในปี 1993 FedEx ต้องการเปลี่ยนโลโก้ที่ใช้ชื่อย่อมากกว่าชื่อเต็มFederal Expressโดยตัดให้เหลือแค่ “FedEx” ขณะเดียวกันโลโก้ใหม่นี้ก็มีลูกศรที่ซ่อนอยู่ภายในคำว่า “Ex” ด้วย

Apple

โลโก้ดั้งเดิมของ Apple ออกแบบโดยสตีฟ จ็อบส์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท โดยใช้รูปเซอร์ไอแซคนิวตันที่นั่งอยู่ใต้ต้นแอปเปิล

เพียงแต่โลโก้นี้ซับซ้อนจนถึงจุดที่ยากที่จะมองแล้วเข้าใจในครั้งเดียว ดังนั้นในปี 1976 จึงเป็นมาเป็นรูปแอปเปิลที่มีรอยกัดแสนคุ้นตาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

Shell

ถ้าจะถามว่าโลโก้ของแบรนด์ใหญ่ที่แทบไม่เปลี่ยนความหมายไปจากเดิมต้องมี Royal Dutch Shell’s บริษัทพลังงานข้ามชาติ สัญชาติดัตช์และอังกฤษอย่างแน่นอน

เพราะโลโก้เดิมในปี 1900 ใช้รูปหอย และในปี 1941 ได้เดิมสีแดงและเหลืองเพื่อดึงดูดสายตาของผู้ขับถี่บนท้องถนน โดยโลโก้ปัจจุบันถูกใช้มาตั้งแต่ปี 1999

Nokia

โลโก้แรกของ Nokia ย้อนไปถึงต้นกำเนิดของบริษัท ในฐานะโรงไฟฟ้าอุตสาหกรรมของฟินแลนด์ อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาเปลี่ยนไปโลโก้ของ Nokia จำเป็นต้องปรับปรุงให้ทันสมัย

ที่ผ่านการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างรวมถึง สามเหลี่ยมสีแดงที่มีตัวอักษรสีแดงเล็กๆ และแหวนสีดำที่มีตัวอักษรสีขาว ก่อนที่ตัวหนังสือหนาสีน้ำเงินจะถูกนำในใช้ในปี 1998

Fiat

โลโก้ของ Fiat ค่ายรถยนต์สัญชาติอิตาลีได้รับการเปลี่ยนค่อยข้างบ่อย โลโก้ดั้งเดิมถูกออกแบบในปี 1898 ซึ่งเป็นตัวหนึ่งสือบนพื้นสีทอง ก่อนจะนำตัวหนังสืออกไปจนหมดในปี 1990 ส่วนโลโก้ที่ใช้ในทุกวันนี้มีคลามคล้ายคลึงกับโลโก้ที่ใช้ในระหว่างปี 1959 ถึงปี 1965

Mazda

Mazda ค่ายรถยนต์จากดินแดนอาทิตย์อุทัยมีความคลายคลึงกับ Pepsi ตรงที่เปลี่ยนจากการใช้ตัวหนังสือเพียวๆ มาเป็นการโลโก้ที่ปรับจากตัว “M” เพียงอย่างเดียว แม้จะเคยใช้แบบอื่นๆ บ้าง แต่ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา Mazda ยังคงใช้แบบเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

Kodak

โลโก้เดิมของ Kodak ค่อนข้างอ่านยากและใช้ลายเส้นที่ซับซ้อน แต่ในปี 1935 ได้นำสีแดงและเหลือเข้ามา และแทบจะไม่ได้เปลี่ยนจากจากเดิมเลย แม้จะมีการออกแบบใหม่อยู่หลายครั้ง

Source

]]>
1239234