พิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร – ธุรกิจบัตรเครดิตบริษัท บัตรกรุงไทย จํากัด (มหาชน) หรือ KTC ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ยอดรวมการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต (Spending) อยู่ที่ 94,000 ล้านบาท เติบโต 4% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เเต่ต่ำกว่าที่คาดไว้
ดังนั้น บริษัทจึงปรับลดเป้ายอดใช้จ่ายบัตรเครดิตทั้งปี 2564 เหลือเติบโตที่ 5% หรือราว 200,000 ล้านบาท จากเดิมตั้งเป้าไว้ที่ 8% หรือราว 2.2 แสนล้านบาท
ที่ผ่านมา เริ่มเห็นการเติบโตในเดือนเม.ย. เเต่พอเข้าเดือนพ.ค. ก็เริ่มกระตุกอีกครั้ง เมื่อต้องเจอโรคระบาดระลอกที่ 3 ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงเดือนมิ.ย. จากเดิมที่เคยคาดหวังว่าตัวเลขจะเป็นบวกไปเรื่อยๆ เเต่ตอนนี้กลับ ‘ติดลบ’
“ต้องยอมรับว่าปัจจัยเหล่านี้ จะกระทบต่อเป้าหมายในช่วงปลายปีของเรา การเจอสถานการณ์เช่นนี้ คงทำให้การหาสมาชิกบัตรใหม่ทำได้ยากยิ่งขึ้น”
ปัจจุบันฐานสมาชิกบัตรเครดิต KTC มีจำนวน 2.5 ล้านใบ สมาชิกบัตรฯ ใหม่ตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 95,000 ใบ จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ทั้งปี 230,000 ใบ
ปกติเเล้ว ช่องทางขยายฐานสมาชิกที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือ ผ่านสาขาธนาคารกรุงไทยทั่วประเทศ และหน่วยงาน Outsource Sales พนักงานเซลส์จากภายนอก เเต่ในยุคโควิด-19 ต้องเว้นระยะห่าง การไปพบปะลูกค้าทำได้ยากขึ้น รวมไปถึงคุณภาพการเงินของลูกค้าก็ลดลงด้วย
ทั้งนี้ อัตราการอนุมัติบัตรเครดิตใหม่ของ KTC อยู่ที่ 36% ลดลงจากเดิมที่เคยอยู่กว่า 40% โดยยังคงเจาะกลุ่มเป้าหมายหลักคือกลุ่มที่มีรายได้ 30,000 บาทขึ้นไป สัดส่วนสมาชิกอาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร 55% และจังหวัดอื่นๆ 45%
“เราเชื่อว่าถ้าผ่านพ้นวิกฤตช่วงนี้ไป ยอดบัตรใหม่น่าจะกระเตื้องขึ้น เเต่คิดว่าในช่วงไตรมาส 3 ยังคงไม่ฟื้นตัวได้เร็ว อาจจะค่อยๆ ขยับขึ้นไปรอโอกาสสุดท้ายในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งปกติก็เป็นไฮซีซั่นที่การใช้จ่ายกลับมาอยู่เเล้ว”
สำหรับหมวดหมู่ที่ผู้ถือบัตร KTC นิยมใช้จ่ายมากที่สุด คือหมวด ‘ประกัน’ ซึ่งครองอันดับ 1 มาหลายปีเเล้ว ตามมาด้วยอันดับ 2 อย่างการเติมน้ำมัน
ส่วนอันดับ 3 โตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญคือ ‘วาไรตี้สโตร์–มาร์เก็ตเพลลส’ เช่น เช่น Shopee และ Lazada จากเทรนด์การช้อปปิ้งออนไลน์ อันดับ 4 คือ ซูเปอร์มาร์เก็ต เพราะคนซื้อของกักตุนที่บ้านเยอะขึ้น เเละอันดับ 5 คือ ‘สุขภาพ–โรงพยาบาล’
ส่วนหมวด ‘เฟอร์นิเจอร์–ของตกเเต่งบ้าน’ ก็มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจ จากการที่หลายคนต้องทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) ปรับเปลี่ยนชีวิตมาอยู่บ้านมากขึ้น ขณะที่หมวดการใช้จ่ายที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ก็คือ การท่องเที่ยวเเละแฟชั่น
ปัจจุบันวงเงินใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 6,000 บาทต่อราย ลดลงจากราว 7,000 บาท ส่วนหนึ่งมาจากการใช้บัตรเครดิตเพื่อซื้อสินค้าเล็กๆน้อยๆ ตามร้านสะดวกซื้อและช้อปปิ้งออนไลน์ได้มากขึ้น ต่างจากเดิมที่มักจะใช้ซื้อสินค้าใหญ่ๆ
สำหรับกลยุทธ์การตลาดธุรกิจบัตรเครดิตครึ่งปีหลังของปี 2564 นั้น จะมีการ ‘เปลี่ยนเเปลง’ ไปตามสถานการณ์ โดยเน้นไปที่การตอบสนองความต้องการเฉพาะบุคคล เเละยึดหลัก ‘Partnership Marketing’ สร้างความสัมพันธ์กับพันธมิตรให้หลากหลายมากขึ้น
“เเต่เดิมเราคิดว่าในไตรมาสที่ 3 จะเริ่มบุกทำการตลาดเเบบเต็มสูบมากขึ้น เเต่พอเจอสถานการณ์เช่นนี้ ทำให้ทีมต้องกลับมาคิดทบทวนใหม่ โดยทุกวันนี้โปรโมชันของเรามีทำไว้รออยู่เเล้ว เพียงเเต่ว่าเมื่อคนยังไม่กล้าออกมา เราก็คงไม่กล้าที่จะทุ่มโปรโมตมากๆ”
การตลาดช่วงนี้จึงจะต้องเน้นไปที่การทำความเข้าใจกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าให้มากยิ่งขึ้น เมื่อการสั่งอาหารเดลิเวอรี่ยังจำเป็น เเละการสั่งสินค้าออนไลน์กลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตไปเเล้ว
“ในช่วงที่คนมีความกังวลมากมาย เเบรนด์ต้องสื่อสารให้ตรงกับเขามากกว่าจะไปพูดสารพัดเรื่อง พยายามให้ข่าวสารที่มีประโยชน์เเละไม่รบกวนลูกค้ามาก”
มุ่งเน้นกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อให้สมาชิกเลือกใช้บัตรเครดิตของ KTC เป็นอันดับแรก หรือตั้งเป็น Default Card ที่ใช้เป็นประจำในทุกวัน โดยร่วมกับพันธมิตรมอบสิทธิประโยชน์และใช้จุดแข็งด้าน ‘คะแนนสะสม’ เน้นวงเงินยอดใช้จ่ายไม่สูงแต่ต่อเนื่อง
“ทีมการตลาดทำงานใกล้ชิดกับพาร์ตเนอร์ เมื่อพาร์ตเนอร์ต้องการความช่วยเหลือ เราก็ช่วยได้ เช่น ธุรกิจโรงเเรมในกรุงเทพฯ ที่หันมาจับลูกค้าคนไทยเเละขายอาหารมากกว่าห้องพัก ทาง KTC ก็โปรโมตโปรโมชันเเพ็กเกจเมนูอาหารสำหรับคน Work from Home ให้ ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป”
พร้อมกันนี้ ยังมี KTC U SHOP ซึ่งเป็นบริการขายสินค้าออนไลน์ที่ใช้เป็นช่องทางในการสนับสนุนพันธมิตรและผู้ประกอบการที่สนใจนำเสนอสินค้าให้แก่สมาชิกบัตรฯ ซึ่งสมาชิกสามารถชำระด้วยคะแนน KTC FOREVER หรือบัตรเครดิตเคทีซีได้
ขณะเดียวกัน บริษัทได้พัฒนาศักยภาพของแอปฯ KTC Mobile ให้มีบริการที่สะดวก เน้นใช้งานง่าย และรวดเร็วขึ้น เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของสมาชิกที่คุ้นชินกับการทำรายการแบบออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันมียอดสมาชิกโหลดใช้งาน KTC Mobile แล้ว 1.8 ล้านราย มียอดใช้ทำธุรกรรมสม่ำเสมอ (Active) คิดเป็นประมาณ 75% จากฐานลูกค้าทั้งหมด 2.5 ล้านราย
“ในไตรมาส 3 นี้ เราจะนำเสนอ ‘น้องกะทิ’ เเชทบอทตัวใหม่ที่จะมาพูดคุยสื่อสารเเละช่วยเหลือลูกค้าด้วย”
จากกรณีภาครัฐ กำลังจะมีนโยบาย ‘ปรับเพดานอัตราดอกเบี้ย’ ในกลุ่มสินเชื่อรายย่อยอีกครั้งนั้น KTC คาดว่าไม่ได้รับผลกระทบ เพราะดอกเบี้ยบัตรฯ ได้ถูกปรับลดลงมาที่ระดับ 16% แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ต้องรอความชัดเจนทางธนาคารเเห่งประเทศไทย (ธปท.)
ด้านคุณภาพสินเชื่อ หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) นั้น ผู้บริหาร KTC มองว่า ณ ขณะนี้ถือว่าอยู่ในระดับที่ ‘ควบคุมได้’ แม้ว่าแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจ โดยในไตรมาส 1 NPL อยู่ที่ 1.4% และขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.5% ในเดือนพ.ค. ซึ่งอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับภาพรวมอุตสาหกรรม ที่เดือนเม.ย. NPL อยู่ที่ 2.3%
“การที่ NPL ของเราอยู่ในระดับต่ำได้ ส่วนหนึ่งมาจากการคัดกรองลูกค้าใหม่ที่เข้มงวดและอนุมัติยากขึ้น โดยจะดูที่ความสามารถในการชำระหนี้เป็นหลัก”
]]>
Andrew Davidson นักวิเคราะห์จาก Mintel Comperemedia มองว่า สถาบันการเงินอย่าง Capital One , Citigroup และ JPMorgan มีเเผนจะอัดโปรโมชันบัตรเครดิตอย่างหนัก เพื่อหาลูกค้าใหม่เเละสนับสนุนให้ลูกค้าเก่าใช้จ่ายมากขึ้น เป็นกลยุทธ์การ ‘เพิ่มรายได้’ ในช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังฟื้นตัว หลังการฉีดวัคซีนได้ผลดี
โดยจะเน้นไปที่การทำตลาดดิจิทัล โปรโมตเเคมเปญโฆษณาเเละข้อเสนอต่างๆ ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook , Instagram , Youtube และ Podcast เพื่อดึงดูดให้ประชาชนหันมาใช้บริการบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นในปีนี้
“ธนาคารใหญ่กำลังรอจังหวะการฟื้นตัวหลังโรคระบาด เพื่อทำรายได้ชดเชยส่วนที่หายไปในปีที่เเล้ว”
โดยคาดว่า เเบงก์ต่างๆ จะเริ่มผ่อนคลายมาตรการการให้ ‘สินเชื่อ’ มากขึ้น ซึ่งเป็นท่าทีที่เเตกต่างจากช่วงปีที่ผ่านมา ที่ธนาคารส่วนใหญ่ตัดสินใจชะลอข้อเสนอบัตรเครดิต เเละดึงวงเงินสินเชื่อกลับคืน เพราะมีความกังวลเรื่องความเสี่ยงการผิดชำระหนี้ หลังอัตราว่างงานในสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ จากผลกระทบของโควิด-19
อย่างไรก็ตาม ด้วยมาตรการเยียวยาจากรัฐบาล ที่ให้เงินช่วยเหลือคนว่างงาน เเละปล่อยเงินกู้ให้เจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก ทำให้ชาวอเมริกันที่พึ่งพาการใช้บัตรเครดิต สามารถชำระหนี้ได้เเละยังมีการใช้จ่าย บางรายชำระยอดคงเหลือด้วย
“โดยรวมเเล้ว ธุรกิจบัตรเครดิตในสหรัฐฯ ยังคงทำกำไรได้ แต่มีรายได้ลดลง”
จากข้อมูลของธนาคารกลางสหรัฐฯ สาขานิวยอร์ก ระบุว่า ยอดเงินคงเหลือบัตรเครดิต (Card Balances) ของธนาคารในสหรัฐฯ ในปี 2020 ลดลง 14% ในช่วงการเเพร่ระบาด ขณะที่บัญชีที่มียอดหมุนเวียน (Revolving Balances) อยู่ที่ระดับ 39.7% ลดลงจากปี 2019 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 44.1%
ทั้งนี้ เฉลี่ยอัตราดอกเบี้ยโดยเฉลี่ยของบัตรเครดิตในสหรัฐฯ ปัจจุบันอยู่ที่ 16% สูงสุดที่ 25% (อ้างอิงจาก CreditCards)
แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เห็นได้ชัดเมื่อสถานการณ์โรคระบาดเริ่มคลี่คลายลง หลังการกระจายวัคซีนทั่วถึง ผู้คนกลับมารับประทานอาหารในร้าน ข้อจำกัดการเดินทางถูกยกเลิก มีการจัดคอนเสิร์ต สำนักงานใหญ่ๆ เริ่มกลับมาเปิดทำการ เป็นสัญญาณที่ดีต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคเเละโอกาสที่จะปล่อยสินเชื่อ
ที่มา : Reuters
]]>เศรษฐกิจฮ่องกงได้รับผลกระทบอย่างหนักจาก COVID-19 และการประท้วงที่ยืดเยื้อ ทำให้ห้างสรรพสินค้าขาดรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะที่ชาวฮ่องกงเองก็ยังมีความกังวลเเละระมัดระวังในการออกจากบ้าน เพื่อเลี่ยงความเสี่ยงการติดโรคระบาด
ก่อนหน้านี้ ทางรัฐบาลฮ่องกง พยายามกระตุ้นการใช้จ่าย ด้วยมาตรการ “แจกเงิน” ให้แก่ผู้พำนักถาวรที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป คนละ 10,000 ดอลลาร์ฮ่องกง (ราว 40,000 บาท) ซึ่งคาดว่าจะเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประชาชนราว 7 ล้านคน
Sun Hung Kai บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ใหญ่ที่สุดในฮ่องกง ซึ่งมีห้างใหญ่ในเครือทั้งหมด 24 สาขา ประกาศแจกบัตรกำนัลเงินสดให้ลูกค้าที่มาเดินห้างในวันหยุดสุดสัปดาห์และวันหยุดราชการ ตลอดเดือนก.ค. โดยลูกค้าที่มียอดใช้จ่ายมากที่สุดในแต่ละวันของแต่ละสาขาจะได้รับบัตรกำนัลเงินสดมูลค่า 10,000 ดอลลาร์ฮ่องกง
พร้อมกันนั้นจะมีการจัดเทศกาล “ลดราคา” ตามห้างสรรพสินค้าหลัก 12 สาขา พร้อมแจกบัตรกำนัลเงินสด 30-80 ดอลลาร์ฮ่องกง (ราว 120-318 บาท) ให้แก่ลูกค้าที่มียอดใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 500 ดอลลาร์ฮ่องกง (ราว 1,990 บาท) ระหว่างวันที่ 29 มิ.ย. – 26 ก.ค.นี้ รวมมูลค่าการแจกทั้งหมด 7 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง ( ราว 27 ล้านบาท)
บริษัทคาดว่า กลยุทธ์เเจกโบนัสผู้บริโภคครั้งนี้จะสามารถกระตุ้นยอดขายได้เพิ่มขึ้น 10-15% ขณะที่มาตรการเเจกเงิน 10,000 ดอลลาร์ฮ่องกงของรัฐบาล ก็มีส่วนช่วยเพิ่มยอดขายในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ได้ราว 10%
Sun Hung Kai เริ่มทุ่มงบเพื่อเเจกรางวัลให้ลูกค้ามาตั้งเเต่ช่วงเดือน ก.พ. เช่น เเคมเปญ “จับสลากของขวัญ” ที่มีขึ้นในช่วง 22 พ.ค. – 21 มิ.ย. สามารถดึงดูดลูกค้าได้เกือบ 200,000 คน ซึ่งมีการใช้จ่ายเฉลี่ย 1,200-1,500 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อคน
ด้านคู่เเข่งอย่าง Fortune Reit กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อีกเจ้าก็ทุ่มโปรโมชั่นเอาใจลูกค้าเช่นกัน โดยประกาศแจก iPad เเละบัตรกำนัลเงินสดซูเปอร์มาร์เก็ต 1,000 ดอลลาร์ฮ่องกง (ราว 3,980 บาท) ให้แก่ลูกค้าที่มียอดใช้จ่ายสูงตามห้างสรรพสินค้าในเครือ 16 สาขา
ขณะที่ร้านค้าขนาดเล็กเเละผู้ประกอบการรายย่อย ไม่มีเงินทุนมากพอที่จะเรียกลูกค้าด้วยการเเจกเงินโบนัสจำนวนมากเช่นนี้ได้ และยังคงหาทางประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นวิกฤตไปให้ได้
ตามข้อมูลของ Centaline Commercial ระบุว่า ย่านเซ็นทรัล (Central) บนเกาะฮ่องกงซึ่งเป็นศูนย์กลางธุรกิจ มีอัตราร้านค้าว่างสูงถึง 20.5% ในเดือนพ.ค. ส่วนย่านช้อปปิ้งชื่อดังอย่าง Causeway Bay มีอัตราร้านค้าว่างสูงถึง 11.1% รวมถึงย่านอื่น ๆ ที่มีผู้คนพลุกพล่าน ก็มีอัตราร้านค้าว่างอยู่ที่ตัวเลขสองหลัก อีกทั้งร้านค้าแบรนด์ต่างชาติก็มีการปิดสาขาไปหลายเจ้า แม้ว่าราคาซื้อและเช่าที่ร้านค้าลดลงมากถึงครึ่งหนึ่งเเล้วก็ตาม
ที่มา : scmp
]]>