การเดินทาง – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 30 Jun 2021 06:22:51 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ‘สกู๊ต’ มั่นใจธุรกิจการบินฟื้นภายในปี 66 ย้ำ พร้อมให้บริการครบทุกเส้นทางหากเปิดประเทศ https://positioningmag.com/1339812 Wed, 30 Jun 2021 05:58:03 +0000 https://positioningmag.com/?p=1339812 ตั้งแต่เกิดการระบาดของไวรัส COVID-19 หนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักคงหนีไม่พ้น ‘สายการบิน’ เนื่องจากคนทั่วโลกไม่สามารถเดินทางได้เหมือนเดิม ส่งผลให้มีหลายสายการบินที่ต้องโบกมือลาเพราะไม่สามารถทำธุรกิจต่อได้ แต่ ‘สกู๊ต’ (Scoot) สายการบินราคาประหยัดภายใต้การบริหารของกลุ่มสิงคโปร์แอร์ไลน์ก็ยังมั่นใจว่าธุรกิจการบินจะฟื้นตัวได้ภายในปี 2566 โดยเฉพาะสายการบินโลว์คอสต์ที่จะฟื้นได้เร็วกว่า

มั่นใจตลาดการบินฟื้นปี 66

แม้ แคมป์เบล วิลสัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินสกู๊ต จะยอมรับว่าตั้งแต่เกิดวิกฤตการระบาดของ COVID-19 ในช่วง 16 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ตนเรียนรู้ว่า “การคาดการณ์อนาคต” เป็นอะไรที่ทำได้ยากมาก เพราะไม่มีอะไรแน่นอนเลย แต่ก็ยังเชื่อว่าตลาดการบินจะกลับมาได้อย่างเข้มแข็งอีกครั้ง เพราะตลาดนี้ในอดีตถือเป็นตลาดที่ยังมีการเติบโต

ขณะที่แนวโน้มของการฟื้นตัวในประเทศแถบยุโรป อเมริกา และออสเตรเลียที่มีการผ่อนคลายมาตรการการเดินทาง ส่งผลให้ดีมานด์กลับมาอย่างรวดเร็ว ดังนั้นเชื่อว่าในเอเชียจะมีผลลัพธ์ที่ไม่แตกต่างกัน รวมถึงประเทศไทยที่ถือเป็นปลายทางสำคัญของนักท่องเที่ยว แต่ต้องรอดูว่ารัฐบาลจะสามารถเปิดประเทศได้เร็วแค่ไหน

“สกู๊ตและสายการบินชั้นประหยัดตอนนี้ไม่น่าห่วงเท่าไหร่ เพราะหากการเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวกลับมาจะสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่า ขณะที่ต้นทุนค่อนข้างต่ำ ทำให้ยังสามารถประคองตัวได้ และสามารถฟื้นได้เร็ว”

แคมป์เบล วิลสัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินสกู๊ต

ไม่ร่วมภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ แต่พร้อมเปิดเส้นทางเพิ่มหากเปิดประเทศ

ก่อนเกิดการระบาดของ COVID-19 สายการบินสกู๊ตให้บริการอยู่ 68 เส้นทางครอบคลุม 15 ประเทศ แต่ปัจจุบันสามารถให้บริการได้เพียง 26 เส้นทางครอบคลุม 12 ประเทศเท่านั้น สำหรับประเทศไทยสกู๊ตมีเส้นทาง กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ)-สิงคโปร์ โดยให้บริการ 11 เที่ยวบิน/สัปดาห์ จากอดีตไทยจะมี 6 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ (สนามบินดอนเมือง), เชียงใหม่, หาดใหญ่, กระบี่ และภูเก็ต ซึ่งสกู๊ตย้ำว่าพร้อมจะกลับมาให้บริการในทุกเส้นทางอีกครั้งหาก ไทยเปิดประเทศ

โดยสกู๊ตกำลังศึกษาอยู่ว่าจะเปิดเส้นทางการบินอื่น ๆ โดยไม่จำกัดแค่จากสิงคโปร์แต่รวมถึงฮับอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ที่จะเปิดเมืองภูเก็ตต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนแล้วนั้น ทางสกู๊ตไม่ได้มีแผนที่จะเข้าร่วมโครงการ เนื่องจากกลุ่มสิงคโปร์แอร์ไลน์ที่เป็นบริษัทแม่ได้ร่วมโครงการดังกล่าวแล้ว

“แผนของเราในช่วง 1-2 ปีคือ เปิดเส้นทางการบินให้ครบทุกเส้นทางที่เคยบิน แล้วค่อยเพิ่มความถี่เที่ยวบินให้เท่าเดิม รวมถึงเพิ่มเที่ยวจากสิงคโปร์มาไทยและไทยไปที่อื่น ๆ”

เน้นส่งของ พร้อมทรานส์ฟอร์มในตัว

ต้องยอมรับว่ารัฐบาลสิงคโปร์ได้อนุมัติงบช่วยเหลือธุรกิจการบินจากพิษ COVID-19 แม้จะไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าเป็นจำนวนเท่าไหร่ แต่งบดังกล่าวพียงพอแค่ที่จะประคองไม่ให้ต้องเลิกจ้างพนักงาน ดังนั้น ที่ผ่านมาสกู๊ตจึงประคองตัวโดยการเน้นการ ขนส่งสินค้า เพราะการให้บริการในลักษณะกึ่งพาณิชย์ (semi commercial flight) คิดเป็นสัดส่วน 12-15% ของจำนวนที่นั่งเท่านั้น

นอกจากนี้ ในช่วงที่การเดินทางยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ สกู๊ตจึงลงทุนด้านเทคโนโลยีมาพัฒนาระบบต่าง ๆ เพื่อเตรียมพร้อมก่อนจะให้บริการอีกครั้ง อาทิ การเช็กอินผ่านออนไลน์, อัพเกรดที่นั่ง หรือซื้อบริการต่าง ๆ ผ่านแชทบอท รวมถึงชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ด

“เราไม่สามารถเปิดเผยตัวเลขการลงทุนได้ แต่เรามั่นใจว่ามันคุ้มค่ากับผลลัพธ์ และที่เรายอมลงทุนในช่วงที่วิกฤตเช่นนี้เป็นเพราะเรามองว่ามันทำให้เราสามารถโฟกัส เรียนรู้กับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้อย่างเต็มที่”

ลงทุนซื้อเครื่องแต่ไม่ลงทุนสายการบิน

ในปี 2557 สายการบินนกแอร์ และสกู๊ต ได้ร่วมทุนกันเปิดสายการบิน ‘นกสกู๊ต’ (NokScoot) โดยเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยว หรือกลุ่มที่เดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเอง โดยที่ผ่านมาต้องเจอทั้งการแข่งขันที่รุนแรงโดยเฉพาะเรื่องของ ‘ราคา’ การขยายเส้นทาง จนกระทั่งเจอพิษ COVID-19 ทำให้ในวันที่ 26 มิ.ย. 63 คณะกรรมการของสายการบินนกสกู๊ต ได้มีมติยุติการดำเนินกิจการ ซึ่งตลอดเส้นทางการดำเนินธุรกิจนกสกู๊ตยังไม่สามารถทำ ‘กำไร’ ได้เลย

ซึ่งทาง แคมป์เบล ก็ยืนยันว่าตอนนี้บริษัท ไม่มีแผนที่จะลงทุนในสายการบินในประเทศไทย โดยล่าสุด ทางสายการบินได้ลงทุนซื้อเครื่องบินรุ่นใหม่ ‘แอร์บัส A321neo’ จำนวน 6 ลำ และเช่าอีก 10 ลำ โดยจะให้บริการในเส้นทา ‘สิงคโปร์-กรุงเทพฯ’ เป็นเส้นทางแรก เริ่มบินในวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา และจะขยายการใช้เครื่องบินรุ่นนี้ไปยังฟิลิปปินส์และเวียดนามในเดือนสิงหาคมนี้

ทั้งนี้ แอร์บัส A321neo มีพิสัยการบินสูงสุดถึง 2,620 ไมล์ทะเล ซึ่งมากกว่าเครื่องบินรุ่น A320neo ประมาณ 270 ไมล์ทะเล ทำให้สกู๊ตสามารถให้บริการในเส้นทางบินระยะสั้นถึงระยะกลางได้ ด้วยเวลาบินสูงสุดถึง 6 ชั่วโมง ซึ่งเทียบกับเครื่องบินรุ่นก่อนอย่าง A320 ที่มีรอบการบินอยู่ที่ 4-5 ชั่วโมง นอกจากนี้ สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากถึง 236 ที่นั่ง เพิ่มขึ้นจากรุ่น A320neo ถึง 50 ที่นั่ง และยังประหยัดเชื้อเพลิงมากกว่า 12-20%

ดังนั้น แอร์บัส A321neo จะสามารถรองรับแผนการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมได้ในอนาคต เนื่องจากสามารถบริหารความคุ้มทุนและควบคุมต้นทุนต่อหน่วยได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยให้สายการบินสามารถบริหารจัดการเครื่องบินให้สอดคล้องกับเส้นทางและความต้องการได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นอีกด้วย

คงต้องรอดูว่า ตลาดการบินคิดว่าจะกลับมาฟื้นฟูเท่ากับก่อนเกิดการระบาดได้มากน้อยแค่ไหน และการลงทุนต่าง ๆ ของ สกู๊ต จะสามารถแข่งขันกับคู่แข่งรายอื่น ๆ ได้หรือไม่

]]>
1339812
“เซี่ยงไฮ้” เเซง “ลอนดอน” ขึ้นเป็นเมืองที่มีการ “เชื่อมต่อ” มากที่สุดในโลก กรุงเทพฯ ร่วง -81% หลุด TOP10  https://positioningmag.com/1308052 Fri, 27 Nov 2020 10:37:59 +0000 https://positioningmag.com/?p=1308052 เซี่ยงไฮ้เเซงหน้าลอนดอนผงาดขึ้นอันดับ 1 เมืองที่มีการเชื่อมต่อทางอากาศมากที่สุดในโลก หลัง COVID-19 สั่นสะเทือนธุรกิจการบิน ส่วนกรุงเทพฯ เเละฮ่องกง มีการเชื่อมต่อลดลงถึง -81% หลุดโผ TOP 10 

เผยดัชนีการเชื่อมต่อทางอากาศระหว่างเมืองทั่วโลก ประจำปี 2020 ซึ่งมีความสำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจการค้าท่องเที่ยวเเละการลงทุน

โดยพบว่า การจัดอันดับของปีนี้มีการเปลี่ยนเเปลงอย่างมาก อันเป็นผลจากการปิดพรมเเดรระหว่างประเทศ เพื่อสกัดการเเพร่ระบาดของ COVID-19 ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างเมืองภายในประเทศมากขึ้น

กรุงลอนดอนของอังกฤษ เคยเป็นเมืองที่มีการเชื่อมต่อมากที่สุดอันดับหนึ่งของโลก ในเดือนกันยายน ปี 2019 ล่าสุดมีการเชื่อมต่อลดลงถึง 67% ในเดือนกันยายนปี 2020 ร่วงลงไปอยู่อันดับ 8

ส่วนจีน ได้ขึ้นมาเป็นประเทศตัวท็อปเเทน เมื่อส่ง เซี่ยงไฮ้ ขึ้นเป็นที่ 1 เเละยังมีเมืองใหญ่ๆ ติดอันดับอีกอย่าง ปักกิ่ง กวางโจว และเฉิงตู

โดยการเดินทางเเละเศรษฐกิจของจีน “ฟื้นตัว” อย่างรวดเร็ว หลังเป็นชาติเเรกที่มีการติดเชื้อ COVID-19 เมื่อช่วงปลายปี 2019 ที่ผ่านมาจากมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวด

นครนิวยอร์กของสหรัฐฯ ที่เคยอยู่อันดับ 3 มีการเชื่อมต่อทางอากาศลดลง -66% หลุดตำเเหน่งจาก 10 อันดับแรก รวมไปถึงกรุงโตเกียวของญี่ปุ่นที่เคยอยู่อันดับ 5 มีการเชื่อมต่อลดลง -65%

ด้านกรุงเทพฯ เมืองหลวงของไทย ที่เคยอยู่อันดับ 7 มีการเชื่อมต่อลดลง -81%  ส่วนฮ่องกงที่เคยอยู่อันดับ 8 มีการเชื่อมต่อลดลง -81%  และกรุงโซลของเกาหลีใต้ที่เคยอยู่อันดับ 9 มีการเชื่อมต่อลดลง 69%  ทั้งหมดนี้ต่างหลุดจาก TOP 10 เช่นเดียวกัน ขณะที่ ทวีปแอฟริกา ประสบปัญหาการเชื่อมต่อทางอากาศลดลงรุนเเรงที่สุด คือ -93%

(Photo by Anusak Laowilas/NurPhoto via Getty Images)

IATA ระบุว่า การจัดอันดับ The World’s Most Connected City ในปีนี้ไม่มีผู้ชนะที่เเท้จริง มีเเต่ผู้ที่เจ็บน้อยกว่าเท่านั้น  เนื่องจากอันดับไม่ได้เปลี่ยนไปเพราะมีการเชื่อมต่อที่ดีขึ้น เเต่ดัชนีเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของธุรกิจการบินทั่วโลกที่กำลังอยู่ในขั้นสาหัส

หากการเดินทางระหว่างประเทศกลับมาเหมือนเดิม เมืองใหญ่ที่เคยติด TOP 10 เหล่านี้ ส่วนใหญ่ก็กลับมาติดอันดับได้อีกในช่วงกี่ปีข้างหน้า

ปัญหาสำคัญอีกประการ คือในเครือข่ายอุตสาหกรรมสายการบิน ยังมีเเรงงานที่อยู่บนความเสี่ยงจะสูญเสียตำเเหน่งอีกหลายสิบล้านคน” โดยขณะนี้สนามบินหลายแห่ง ยังคงมีปริมาณผู้โดยสารลดลงกว่า 90% เเละยังต้องความหวังจากการพัฒนาวัคซีนที่จะเข้ามาช่วยภาคการท่องเที่ยวเเละเดินทาง

 

 

ที่มา : SimpleFlying , IOL Travel

]]> 1308052 UK ออกกฎใหม่ ตรวจประวัติคนขับแท็กซี่ทุก 6 เดือน-ติดกล้องวงจรปิด เพื่อความปลอดภัยผู้โดยสาร https://positioningmag.com/1289364 Thu, 23 Jul 2020 13:50:34 +0000 https://positioningmag.com/?p=1289364 สหราชอาณาจักร เตรียมออกกฎหมายใหม่ บังคับให้ผู้ขับรถเเท็กซี่และผู้ขับรถยนต์รับจ้างส่วนบุคคล ต้องผ่านการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมทุก 6 เดือน พร้อมต้องติดตั้งกล้องวงจรปิดในรถยนต์ที่ให้บริการทุกคันด้วย

กระทรวงคมนาคมของอังกฤษ ออกแถลงการณ์ผ่านเว็บไซต์ ระบุว่า รัฐบาลได้รับคำเเนะนำให้ออกกฎหมายอนุญาตใบขับขี่ที่จะต้องติดตั้งกล้องวงจรปิดในรถยนต์โดยสารสาธารณะ ซึ่งมองว่าเป็นประโยชน์กับผู้โดยสาร หลังมีคดีล่วงละเมิดเกิดขึ้นจำนวนมาก ในหลายเมืองของสหราชอาณาจักร 

เราทราบดีว่า ผู้ขับขี่ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญด้านบริการที่ปลอดภัยในชุมชน แต่หลังเกิดเหตุการณ์ที่น่าตกใจที่เกิดขึ้นในหลายเมืองอย่าง Rochdale, Oxford, Newcastle และ Rotherham จึงจำเป็นต้องมีออกมาตรการเพื่อปกป้องผู้โดยสาร นี่เป็นเหตุผลในการออกกฎหมายอนุญาตใบขับขี่ที่บังคับใช้ใหม่อย่างเข้มงวด เพื่อสร้างความมั่นใจว่าผู้ขับขี่มีความพร้อมให้บริการผู้โดยสารในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย และป้องกันผู้ขับขี่ที่ไม่มีความพร้อมได้ด้วย

โดยคาดว่า ทางการท้องถิ่นจะนำมาตรการดังกล่าวมาใช้ด้วย ซึ่งจะช่วยปรับปรุงระบบอนุญาตใบขับขี่ให้มีเสถียรภาพมากขึ้น พร้อมทั้งลดความเสี่ยงจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กและผู้โดยสารกลุ่มเปราะบาง นอกจากนี้ ผู้ขับรถยนต์โดยสาธารณะและผู้ขับรถยนต์รับจ้างส่วนบุคคล จะต้องได้รับการอบรมให้ช่วยค้นหาและช่วยเหลือผู้โดยสารที่อาจถูกทำร้ายด้วย

ก่อนหน้านี้ Uber ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเรียกรถเเบบ Ride Hailing รายใหญ่ของสหรัฐฯ ถูกเพิกถอนใบอนุญาตให้บริการขนส่งผู้โดยสารในกรุงลอนดอนเป็นครั้งที่หลังมีความผิดพลาดด้านความปลอดภัย โดย Uber มีเครือข่ายคนขับราว 45,000 คนในลอนดอน ซึ่งนับว่าเป็นตลาดใหญ่ที่สำคัญของบริษัท เเละตอนนี้ Uber ก็กำลังหาทางเพื่อให้กลับมาได้รับใบอนุญาตให้บริการอีกครั้ง

 

ที่มา : Reuters

]]> 1289364 เริ่มแล้ว! “ญี่ปุ่น” ไฟเขียวคลายล็อกการเดินทางกับ “เวียดนาม” ประเดิม 3 เที่ยวบินแรก https://positioningmag.com/1285047 Wed, 24 Jun 2020 14:59:30 +0000 https://positioningmag.com/?p=1285047 ญี่ปุ่นคลายข้อจำกัดการเดินทางบางส่วนกับเวียดนาม โดยอนุญาตให้ทำการบินในเที่ยวบินระหว่างสองประเทศตั้งแต่วันที่ 25-27 มิ.ย.

โทชิมิตซึ โมเตกิ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่น ได้ประกาศความเคลื่อนไหวดังกล่าวว่า รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังประเมินทางเลือกอื่นๆ สำหรับการคลายข้อจำกัดห้ามการเดินทางที่กำหนดไว้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

สำนักข่าวซินหวาได้รายงานว่า รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่นระบุว่า เที่ยวบินเช่าเหมาลำ 3 เที่ยวบิน ที่จัดการโดยหอการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่นในเวียดนาม และดำเนินการโดยสายการบินเวียดนาม จะเดินทางออกจากสนามบินนาริตะ ระหว่างวันพฤหัสฯ ถึงวันเสาร์ โดย 3 เที่ยวบินจะนำนักธุรกิจราว 440 คน เดินทางมาลงจอดที่สนามบินนานาชาติเวินโด่น ทางตอนเหนือของเวียดนาม ซึ่งผู้โดยสารจะต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันไวรัสอย่างเคร่งครัด

ด้านรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของเวียดนามกล่าวเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า ข้อตกลงที่บรรลุกับญี่ปุ่นนั้นจะค่อยๆ คลายข้อจำกัดการเดินทางระหว่างสองประเทศ เวลานี้รัฐบาลฮานอยกำลังหารือกับอีกหลายประเทศ ซึ่งรวมทั้งจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เกี่ยวกับการเริ่มต้นการเดินทางอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยช่วงแรกเป็นการเดินทางสำหรับผู้เชี่ยวชาญ ผู้จัดการ และแรงงานที่มีทักษะ

ปัจจุบัน ญี่ปุ่นกำหนดห้ามพลเมืองจาก 111 ประเทศและเขตแดนเดินทางเข้าประเทศ ส่วนหนึ่งของมาตรการที่กำหนดขึ้นเพื่อป้องกันการระบาดของ COVID-19

ญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดอันดับ 4 ของเวียดนามในปี 2562 รองจากเกาหลีใต้ ฮ่องกง และสิงคโปร์ ในแง่ของทุนจดทะเบียน และเป็นตลาดแรงงานที่ใหญ่ที่สุด โดยรับแรงงานชาวเวียดนามประมาณ 80,000 คน เมื่อปีที่ผ่านมา

Source

]]>
1285047
มองอนาคตธุรกิจ Ride- hailing “เเอปเรียกรถ” ในไทย ณ วันที่ยังไม่ถูกกฎหมาย 100% https://positioningmag.com/1265054 Thu, 20 Feb 2020 11:51:41 +0000 https://positioningmag.com/?p=1265054 ปัญหาการขนส่งในไทยเป็นหนึ่งใน Pain Point หลักของชีวิตประจำวันของทุกคนก็ว่าได้ หลายคนต้องเคยเจอการโบกเเท็กซี่เเล้วโดนปฏิเสธด้วยคำว่า “ไปส่งรถ” บ่อย ๆ ส่วนรถเมล์สาธารณะก็มา “ไม่เป็นเวลา” จัดการเวลาเดินทางไม่ได้ หรือในต่างจังหวัดก็เดินทางลำบาก หากคุณไม่มีรถส่วนตัว

การมาถึงของเทคโนโลยีเเละอินเทอร์เน็ต ทำให้เกิดนวัตกรรม Ride- hailing หรือบริการยานพาหนะผ่านทางแอปพลิเคชัน ที่เปลี่ยนวิถีชีวิตและการเดินทางของคนทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย

“ปัจจุบันคนไทยกว่า 34.5 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ของคนไทยทั้งประเทศเคยใช้บริการ Ride-hailing และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 73 ในอีก 30 ปีข้างหน้า”

ถึงตัวเลขผู้ใช้จะพุ่งสูงมาก เเต่ก็ดูจะสวนทางกับกฎหมาย เมื่อ “ประเทศไทยเป็น 1 ใน 3 ประเทศสุดท้ายในภูมิภาคอาเซียน ที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับการให้บริการ Ride-hailing”

ชี้ให้เห็นว่า เเม้อุตสาหกรรม Ride-hailing จะได้รับการยอมรับจากภาคประชาชนและเป็นทางเลือกการเดินทางของคนไทย ควบคู่ไปกับแท็กซี่ในระบบดั้งเดิม แต่ธุรกิจนี้ก็ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของภาครัฐ

จากผลการศึกษาและวิจัยของ CONC Thammasat มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า 95% ของผู้บริโภคเห็นด้วยกับการทำให้บริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันอย่าง Grab หรือ Uber ถูกกฎหมาย และ 77.24% ของคนไทยเห็นว่าจำเป็นต้องแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน

ปัจจุบันอุตสาหกรรม Ride-hailing ในประเทศไทยมีมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ประมาณ 21,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6 ของ GDP ภาคขนส่งทางบกไทย

จากความนิยมของผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าอุตสาหกรรมนี้จะมีการเติบโตสูงขึ้นจนมีมูลค่าถึง 1.2 แสนล้านบาทในปี 2568 คิดเป็นร้อยละ 20 – 25 ของ GDP ภาคขนส่งทางบกไทยในอีก 6 ปีข้างหน้า

โดยผู้โดยสารใช้บริการ Ride-hailing ในประเทศไทยในปี 2561 ประมาณ 2.4 ล้านคนต่อเดือน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 11 ล้านคนต่อเดือนในปี 2568

ในขณะที่มีผู้ขับขี่รถยนต์โดยสารเพื่อให้บริการ Ride-hailing ในปี 2561 ประมาณ 105,000 คนต่อเดือน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 590,000 คนต่อเดือนในปี 2568

Photo : Shutterstock

Positioning คุยกับ “ดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว” หัวหน้าโครงการศึกษาและวิจัยฯ CONC Thammasat ถึงโอกาสเเละอุปสรรคของ Ride-hailing ในไทยเเละอาเซียน การเเข่งขันของธุรกิจ เทรนด์ผู้ใช้ เเละปมความ
ขัดเเย้งกับระหว่างเจ้าถิ่น รวมถึงคาดการณ์ระบบขนส่งสาธารณะในปี 2565

“เรามองว่าการทำให้ Ride-hailing ถูกกฎหมายในประเทศไทยเป็นเรื่องสำคัญ อีกทั้งเป็นสมดุลที่เหมาะสม ระหว่างการเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้โดยสาร และเป็นการชูนวัตกรรมเทคโนโลยีให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดยิ่งขึ้น”

อย่างไรก็ตาม กฎหมายสำหรับบริการ Ride-hailing ในประเทศไทยยังเป็นที่ถกเถียงกัน เนื่องจากมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว หัวหน้าโครงการศึกษาและวิจัยฯ CONC Thammasat

ด้วยเหตุนี้ CONC Thammasat จึงทำการศึกษาวิจัย ภายใต้หัวข้อ “อุตสาหกรรมการให้บริการยานพาหนะผ่านทางแอปพลิเคชัน (Ride-hailing service): บทบาทในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยและความจำเป็นในการพัฒนาหลักเกณฑ์และกฎหมายให้ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน” เพื่อนำเสนอให้เห็นผลกระทบต่างๆ จากการมี Ride-hailing ทั้งผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสีย ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเป็นแนวทางไปยังภาครัฐในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาเรื่องนี้ต่อไป เนื่องจากการเดินทางเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของประชาชนทุกคน

ดร.สุทธิกร มองว่า Ride-hailing เป็นทางเลือกสำคัญที่ช่วยสร้างประโยชน์ต่อระบบคมนาคมขนส่งทั้งระบบ เพราะไม่เพียงแต่จะช่วยอำนวยความสะดวกในด้านการเดินทางให้กับคนไทย แต่ยังรวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวซึ่งนำรายได้มหาศาลมาสู่ประเทศ ส่วนข้อมูลดิจิทัลที่ถูกบันทึกจากแอปพลิเคชันยังสามารถนำมาช่วยในการต่อยอดและพัฒนาในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การท่องเที่ยว การวางแผนแก้ไขปัญหาการจราจรหรือการวางผังเมืองในอนาคต 

“ผลสำรวจจากประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่าหากภาครัฐไม่อนุมัติให้การบริการ Ride-hailing ถูกกฎหมาย จะส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งกระทบต่อดุลยภาพที่เกิดจากเศรษฐกิจตลาดเสรีและกลุ่มคนทั่วไปที่เห็นประโยชน์ของ Ride-hailing” 

เเนะรัฐกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำ

ขณะที่เมื่อมองเรื่องการแข่งขันของธุรกิจ Ride-hailing ในไทย ก็นับแพลตฟอร์มที่ส่งเสริมระบบคมนาคมในประเทศ ภาครัฐควรส่งเสริมให้มีการแข่งขันเพื่อให้ประชาชนมีตัวเลือกที่หลากหลาย

“เเต่สิ่งสำคัญคือจำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรฐานควบคุมขั้นต่ำ (Minimum Requirement) เพื่อควบคุมผู้ประกอบการที่จะเข้ามาในตลาดให้มีคุณภาพ เนื่องจาก Ride-hailing เป็นเรื่องเกี่ยวกับระบบขนส่งสาธารณะที่ต้องรองรับผู้โดยสารจำนวนมากในแต่ละวัน มีผู้มีส่วนได้เสียในอุตสาหกรรมจำนวนมาก หากไม่มีการกำหนดคุณสมบัติและมาตรฐานขั้นต่ำไว้ เมื่อเกิดปัญหาจะเสียหายและส่งผลกระทบในวงกว้างอีกทั้งเป็นเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน” 

ถ้า Ride-hailing ถูกกฎหมาย จะช่วยสร้างประโยชน์ให้กับส่วนใดและอย่างไรบ้าง?

จากผลการศึกษาและวิจัยของ CONC Thammasat พบว่าการพัฒนาและผลักดันให้อุตสาหกรรม Ride-hailing สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างถูกกฎหมายนั้นจะช่วยสร้างประโยชน์ให้กับหลายภาคส่วน และส่งผลต่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ

ผู้โดยสาร

Ride-hailing ทำให้การเดินทางในชีวิตประจำวันมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มความมั่นใจในการเดินทางด้วยเทคโนโลยีและมาตรฐานด้านความปลอดภัย และสามารถเชื่อมต่อการคมนาคมขนส่งในรูปแบบอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • 92% ของผู้โดยสารเห็นว่า บริการ Ride-hailing มีความปลอดภัยกว่าทางเลือกอื่นๆ
  • 95% ของผู้โดยสารเห็นว่า บริการ Ride-hailing ช่วยเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น
  • 77% ของผู้โดยสารระบุว่า การใช้บริการ Ride-hailing มีความสะดวกและช่วยประหยัดเวลาในการเรียกรถ
  • 86% ของผู้โดยสารระบุว่า บริการ Ride-hailing มีส่วนช่วยให้มีเวลาเพิ่มขึ้นในการทำงาน หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ระหว่างการเดินทาง ผู้ขับขี่ที่ให้บริการ: Ride-hailing เป็นช่องทางในการประกอบอาชีพที่ช่วยสร้างรายได้และลดภาระหนี้สิน
  • 60% ของคนที่นำรถยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการ Ride-hailing เป็นผู้ที่ไม่ได้ประกอบอาชีพอื่นว่างงาน หรือบุคคลที่เกษียณอายุแล้วซึ่งช่วยสร้างงานและรายได้ให้กับพวกเขา
  • 99% ของผู้ขับที่เป็นแท็กซี่ระบุว่า แอปพลิเคชันเรียกรถเพื่อให้บริการ Ride-hailing ช่วยทำให้มีผู้โดยสารและมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
  • 94% ของผู้ขับระบุว่า รายได้ที่เกิดขึ้นจากการให้บริการผ่านแอปพลิเคชันช่วยลดภาระหนี้สินได้

ภาคสังคม 

Ride-hailing ได้เข้ามาช่วยยกระดับระบบคมนาคมขนส่งของไทย โดยเพิ่มทางเลือกในการเดินทางให้กับประชาชน พร้อมช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยโดยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร

ภาคเศรษฐกิจ

สร้างประโยชน์ส่วนเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจ ทั้งรายได้โดยตรงที่เกิดขึ้นจากการให้บริการและรายได้ทางอ้อมที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง โดยรายได้เหล่านี้ได้กระจายไปสู่อุตสาหกรรมหลักต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวม

ภาคการท่องเที่ยว

Ride-hailing มีส่วนช่วยในการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยได้กลายเป็นหนึ่งในทางเลือกสำคัญที่ช่วยรองรับการให้บริการนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่นักท่องเที่ยวแบบกลุ่มเล็กหรือมีการท่องเที่ยวแบบอิสระ (Free Individual Traveler) มีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 75 ในขณะที่นักท่องเที่ยวแบบกลุ่มใหญ่เหลือเพียงร้อยละ 25 เท่านั้น 

นอกจากนี้ ยังช่วยลดอุปสรรคด้านภาษาที่ใช้ในการสื่อสารกับนักท่องเที่ยวด้วยเทคโนโลยีแปลภาษาผ่านแอปพลิเคชันและปัญหาด้านค่าโดยสารที่ไม่เป็นธรรมด้วยการแจ้งราคาล่วงหน้าก่อนการเดินทาง

เเละในขณะที่ “ระบบขนส่งสาธารณะ” ในหลายประเทศยังเป็นสิ่งที่ยากลำบากสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุในการดำเนินชีวิตประจำวัน แต่ด้วยรูปแบบบริการของ Ride-hailing จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนพิการและผู้สูงอายุ เป็นการสร้างความเท่าเทียมทำให้คนพิการสามารถพึ่งพาตนเองได้ ไม่เพียงแต่การเป็นผู้โดยสาร แต่รวมถึงบทบาทของการเป็นผู้ให้บริการ (ผู้ขับขี่) ด้วยเช่นกัน

ดร.สุทธิกร อธิบายต่อว่า Ride-hailing จะสร้างทางเลือกในการเดินทางและเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัลรวมถึงพัฒนาสังคมเมืองให้เข้าสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) มากยิ่งขึ้นซึ่งช่วยลดภาระของความเป็นเจ้าของยานพาหนะ (Ownership) ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่าย (ค่าผ่อนรถ ค่าประกัน) ความกังวล (รถหาย รถเสีย) และความไม่สะดวก (หาที่จอดรถไม่ได้) มาสู่ความสะดวกสบายในการเข้าถึงบริการ (Usership) อีกทั้งเปลี่ยนบทบาทของผู้บริโภคไปเป็นส่วนหนึ่งของผู้ให้บริการได้ คือขยับจากที่เป็นเพียง Consumer ไปมีบทบาท Prosumer (การผลิตโดยผู้บริโภค)ได้

เป็นธรรมดาของธุรกิจที่เมื่อมีข้อดีเเล้วก็ต้องมีข้อเสีย หัวหน้าวิจัยของ CONC บอกว่า ข้อเสียของ Ride-hailing คือ สถานการณ์เมื่อธุรกิจบริการ Ride-hailing เกิดขึ้นในประเทศ แม้ว่าจะไม่มีกฎระเบียบที่ชัดเจนกำหนดไว้หรือกฎระเบียบที่ไม่สมดุลก็ตาม สิ่งสำคัญคือการระวังไม่ให้ตกอยู่ในกับดักของนโยบายคุ้มครองเพราะอาจไม่ได้รับการสนับสนุนในการพัฒนาประเทศสู่ยุคดิจิทัลในปัจจุบัน

“เชื่อว่าถึงแม้ประเทศไทยยังไม่มีการออกกฏหมายที่ชัดเจนและมั่นคงเพียงพอ แต่ประเทศไทยถือว่าอยู่ในจุดที่ดี เนื่องจากเราได้เรียนรู้จากผลการศึกษาและวิจัยจากประเทศอื่นๆ และมีโมเดลของบริกา Ride-hailing ที่ปกป้องผลประโยชน์สาธารณะในขณะที่เสริมสร้างธุรกิจและสภาพแวดล้อมนวัตกรรม”

ระบบเเท็กซี่ไม่ถูกเเทนที่…เเต่ต้องปรับเข้า Ride-hailing

ขณะเดียวกันหลายคนสงสัยว่า สิ่งที่น่ากังวลจากธุรกิจ Ride-hailing นี้ จะเข้ามา Disrupt อะไรบ้าง แล้วการขัดแย้งระหว่างเจ้าถิ่นยังคงมีต่อไปหรือไม่

“ผมไม่คิดว่าการที่ธุรกิจ Ride-hailing เข้ามา disrupt จะส่งผลเสียอะไร ระบบคมนาคมขนส่งของไทยยังมีความล้าหลังทำให้ธุรกิจ Ride-hailing กลายเป็นที่ต้องการในกลุ่มผู้บริโภค ผู้ขับขี่รถแท็กซี่กลายเป็นส่วนสำคัญของระบบคมนาคมในประเทศไทย ซึ่งการโบกรถโดยสารตามถนนยังคงเป็นทางเลือกจำเป็นสำหรับผู้บริโภคอยู่ ดังนั้นระบบแท็กซี่จึงไม่ถูกแทนที่ได้ง่ายๆ” 

โดยผู้ขับขี่บนระบบแท็กซี่แบบดั้งเดิมสามารถเข้าร่วมกับระบบ Ride-hailing เพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ ได้

“แท็กซี่ระบบดั้งเดิมอาจต้องใช้ระยะเวลาในการปรับตัว แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านถือเป็นเรื่องปกติที่ทุกอุตสาหกรรมจำเป็นจะต้องปรับตัวเองให้ก้าวทันตามโลกที่กำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว”

เสนอ 5 เเนวทางกำกับ Ride-hailing

CONC Thammasat ได้นำเสนอแนวทางในการกำหนดมาตรฐานการกำกับดูแลบริการ Ride-hailing ในไทยซึ่งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรใช้ในการพิจารณา โดยการรับฟังความคิดเห็นและมุมมองจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ ทั้งผู้โดยสารผู้ขับขี่ที่ให้บริการ Ride-hailing ผู้ขับแท็กซี่ในระบบดั้งเดิม ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนักวิชาการ ซึ่งครอบคลุม 5 ประเด็นหลักอันได้แก่

1) มาตรฐานด้านความปลอดภัยของแพลตฟอร์มที่ให้บริการ

o   มีเทคโนโลยีที่รองรับด้านความปลอดภัย เช่น ระบบ GPS เพื่อติดตามตำแหน่งและสถานะของการเดินทางแบบเรียลไทม์ หรือมีปุ่มแจ้งเหตุฉุกเฉิน เป็นต้น

o   มีระบบตรวจสอบและยืนยันตัวตนของผู้ขับ เช่น ระบบ Biometrics

o   มีศูนย์บริการให้ความช่วยเหลือและรับเรื่องร้องเรียนตลอด 24 ชั่วโมง

o   มีประกันคุ้มครองให้กับทั้งผู้ขับและผู้โดยสารในทุกเที่ยวการเดินทาง

2) มาตรฐานผู้ขับขี่และรถยนต์

o   ผู้ขับต้องผ่านการคัดกรองและตรวจสอบประวัติอาชญากรรมก่อนให้บริการ

o   ผู้ขับต้องได้รับการอบรมในด้านความปลอดภัย

o   การกำหนดมาตรฐานของรถยนต์ควรอิงด้านความปลอดภัยของตัวรถและเปิดโอกาสให้ประชาชนนำทรัพย์สินที่มีอยู่มาสร้างรายได้

3) มาตรฐานการให้บริการและเทคโนโลยี

o   มีศักยภาพในการให้บริการอย่างครอบคลุมและฐานผู้ขับที่เพียงพอกับความต้องการ

o   เทคโนโลยีที่นำมาใช้ต้องมีเสถียรภาพและสามารถรองรับการขยายตัวของธุรกิจ

o   มีระบบแปลภาษาที่ช่วยสื่อสารกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

o   สามารถชำระค่าบริการได้หลายรูปแบบ ทั้งเงินสดและธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์

4) มาตรฐานด้านราคา

o   ควรให้มีการคำนวณราคาค่าบริการตามกลไกตลาด หรือ Dynamic Pricing ที่สะท้อนปริมาณความต้องการและจำนวนรถที่ให้บริการ (Demand-Supply) ณ เวลานั้นๆ

o   ต้องมีการแจ้งราคาค่าบริการให้ผู้โดยสารทราบล่วงหน้าก่อนการเดินทาง

o   ควรกำหนดราคาโดยคำนึงถึงความสมดุลระหว่างความต้องการของทั้งผู้โดยสารและผู้ขับขี่ โดยเป็นราคาที่ผู้ขับสามารถสร้างรายได้ในขณะเดียวกันผู้โดยสารก็ต้องยอมรับได้

5) มาตรฐานของบริษัทผู้ให้บริการแพลตฟอร์มหรือผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน

o   ต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนเพื่อดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องในประเทศไทย

o   ควรมีผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่เป็นคนไทยหรือบริษัทไทย

o   มีการเสียภาษีให้กับประเทศ

o   มีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอที่จะรองรับการขยายตัวของธุรกิจในอนาคต

ทางเลือกการเดินทาง “ที่ต้องมี” 

ดร.สุทธิกร ปิดท้ายด้วย การคาดการณ์ระบบขนส่งสาธารณะในปี 2565 ไว้ว่า จากการศึกษาของ BCG พบว่าถึงแม้ระบบขนส่งสาธารณะจะสามารถพัฒนาไปได้ตามแผนที่วางไว้และแล้วเสร็จตามกำหนดนั้น ในปี 2565 ระบบขนส่งสาธารณะเหล่านี้จะยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเร่งด่วนได้

ดังนั้นการให้บริการยานพาหนะผ่านทางแอปพลิเคชันยังคงมีบทบาทสำคัญในการช่วยอำนวยความสะดวกและลดความหนาแน่นของการโดยสารในระบบขนส่งสาธารณะลงได้ ด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่สามารถเข้าถึงผู้ใช้บริการได้ทุกที่ และไม่มีทางเลือกอื่นๆ เนื่องจากยังไม่มีบริการอื่นมาแทนที่จึงมีความจำเป็นจะต้องใช้บริการขนส่งสาธารณะทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นการเดินทางที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

“การให้บริการยานพาหนะผ่านทางแอปพลิเคชันจึงสามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหาของคนเหล่านี้ได้ โดยการให้บริการผ่านทางแอปพลิเคชันนั้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อลดการใช้บริการการขนส่งสาธารณะ แต่เพียงเข้ามาเพื่อปิดช่องว่างที่ไม่มีประสิทธิภาพเหล่านั้น และเป็นเส้นเลือดฝอยที่ช่วยเพิ่มการเข้าถึงเส้นเลือดใหญ่มากขึ้น”

อีกทั้งยังพยายามที่จะสนับสนุนให้คนเข้าถึงบริการขนส่งสาธารณะมากขึ้น โดยเห็นได้ว่ามีผู้ให้บริการยานพาหนะผ่านทางแอปพลิเคชันบางรายให้บริการลดราคาหรือราคาพิเศษสำหรับการเดินทางไปยังป้ายรถประจำทางหรือสถานีรถไฟ

นอกจากนี้ยังพบว่า การใช้บริการยานพาหนะผ่านทางแอปพลิเคชัน ในช่วงเวลากลางดึกมีสัดส่วนการใช้งานที่ค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบจากทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าในเวลากลางดึก ซึ่งเป็นเวลาที่การบริการขนส่งสาธารณะต่างๆ งดให้บริการแล้ว สำหรับผู้ที่มีความจำเป็นที่จะต้องเดินทางหรือมีตารางเวลาการทำงานที่ไม่แน่นอน และเวลาการทำงานแตกต่างจากปกติ เช่น พนักงานสายการบิน พนักงานโรงแรม เป็นต้น การใช้บริการยานพาหนะผ่านทางแอปพลิเคชันจึงเป็นตัวเลือกที่เข้ามาทดแทนได้

ยุคนี้ Ride-hailing มาเเน่…เเต่รัฐจะกำกับดูเเลอย่างไร เป็นเรื่องที่ผู้ใช้อย่างเราๆ ต้องคอยดูต่อไป 

]]>
1265054
เปิดเเผน “ซมโปะ ประกันภัย” 2020 กลยุทธ์เอาใจคนรุ่นใหม่ชอบเที่ยว รุก SMEs ต่างจังหวัด https://positioningmag.com/1257025 Sun, 15 Dec 2019 09:27:40 +0000 https://positioningmag.com/?p=1257025 ด้วยกระเเสคนรุ่นใหม่ชาวไทย “ชอบเที่ยว” หันมาใส่ใจซื้อประกันออนไลน์กันมากขึ้น ทำให้โอกาสธุรกิจก็เพิ่มมากขึ้นไปด้วย เปิดทิศทางธุรกิจประกันยุคใหม่ กับ “ผศ.ชญณา ศิริภิรมย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซมโปะ ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ซีอีโอหญิงคนเเรกของซมโปะที่ขึ้นบริหารเมื่อต้นปีที่ผ่านมา 

กับแผนรุกตลาดประกันภัยปี 2020 เป้าหมายเป็นประกันภัยเดินทางอันดับ 1 ของเอเชียภายใน 3 ปี พร้อมเปิดตัว 3 ผลิตใหม่ใหม่เเละกลยุทธ์ตีตลาด SMEs ในต่างจังหวัด รวมถึงการพัฒนาเเบรนด์ในยุค Digital Tranformation 

“เราตั้งใจดูเเลคนไทยด้วยหัวใจญี่ปุ่น” ผศ.ชญณากล่าวถึงเเนวทางการให้บริการเเบบ Customer Centric ของบริษัท โดยตั้งเป้าพัฒนาแบรนด์ร่วมกับ Sompo Group ให้ก้าวขึ้นเป็นประกันภัยการเดินทางอันดับ 1 ในเอเชียภายในปี 2023 นี้

“ตอนนี้ลูกค้าที่ซื้อประกันการเดินทางกับเราส่วนใหญ่อายุต่ำกว่า 35 ปีเเละเป็นลูกค้าผู้หญิงมากกว่า ในปีนี้มียอด 5 หมื่นราย เฉลี่ยการซื้อประกันคนละ 500 บาท โดยคาดว่าปี 2020 จะมียอดเพิ่มขึ้นเป็น 1-1.5 เเสนคน ด้วยความนิยมไปท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้นของคนไทย”

ทั้งนี้ ตลาดใหญ่ที่สุดยังคงเป็นนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปญี่ปุ่น รองลงมาคือยุโรป โดยคาดว่าปี 2020 คนไทยจะเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 ล้านคนจากปัจจุบัน 1.13 ล้านคนต่อปี โดยซมโปะหวังจะเติบโตไปกับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ 

เดินหน้าตีตลาดพ่อค้าเเม่ค้า เอาใจคนชอบเที่ยว 

สำหรับเเผนขยายฐานลูกค้าในปีหน้า “ซมโปะ” ปล่อย 3 โปรดักต์ใหม่เพื่อลุยตลาดรายย่อย ทั้งประกันภัยเดินทางรายปี ประกันสุขภาพ และประกันรถกระบะ เจาะกลุ่มผู้ซื้อรถมาใช้งานจริง และ SMEs เพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

  • เจาะกลุ่มคนเดินทางบ่อย – ประกันภัยการเดินทางรายปี Global Diplomat  

โดยพุ่งเป้าไปที่การขยายสินค้าประกันภัยในรายย่อย เริ่มจากช่วงต้นปีที่ผ่านมาก็มีการเปิดตัวโปรแกรมประกันการเดินทาง SOMPO GO JAPAN by Travel Joy  

ซีอีโอซมโปะ กล่าวว่า ธุรกิจประกันโดยเฉพาะประกันเดินทางนั้น ลูกค้ามักจะเลือกซื้อด้วยการเปรียบเทียบความคุ้มครองและราคาเป็นส่วนใหญ่ โดยปีหน้าจะบุกตลาดคนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นให้มากขึ้น เน้นไปยังกลุ่มคนทำงาน และคนรุ่นใหม่ที่ชอบท่องเที่ยวด้วยตัวเอง พร้อมชูจุดเด่น เช่น การคุ้มครองตั้งแต่ก้าวแรกที่ออกจากบ้านไปจนถึง 24 ชั่วโมงหลังเดินทางกลับประเทศ เเละให้วงเงินค่ารักษาพยาบาลในกรณีเจ็บป่วยต้องเข้าโรงพยาบาลหลังจากเดินทางกลับมาประเทศไทยสูงถึง 5 ล้านบาท 

โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นที่รวมถึงการบริการนักแปลภาษาทางการแพทย์ ไว้ให้บริการ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินหรือต้องเข้าโรงพยาบาลที่ประเทศญี่ปุ่น สามารถเข้ารับการรักษาและออกจากโรงพยาบาลได้เลยไม่ต้องจ่ายค่ารักษาเอง ทั้งการรับการรักษาแบบผู้ป่วยใน (IPD) และ ผู้ป่วยนอก (OPD) ซึ่งเป็นบริการกรณีฉุกเฉิน

  • ลงสนามประกันสุขภาพส่วนบุคคล – ประกันสุขภาพ เฮทธ์ เต็มเต็ม (Health Tem Tem) 

สำหรับกลยุทธ์ทางการตลาดและทิศทางขององค์กรในปี 2020 นั้น ซมโปะประเทศไทย จะเน้นการเลือก segment ที่ไม่ใช่ Red Ocean 

โดยเล็งเห็นว่า MEGA Trend ของปีหน้า คือ เรื่องของสุขภาพในระดับมหภาคของตลาดรายย่อย ดังนั้นนอกจากจะชูเรื่องประกันการเดินทางแล้ว ซมโปะยังมุ่งนำเสนอประกันอุบัติเหตุและสุขภาพส่วนบุคคล (Personal Accident & Health) เข้ามา 

พร้อมตั้งเป้าลงสนามประกันสุขภาพ ด้วยประกันสุขภาพ เฮทธ์ เต็มเต็ม (Health Tem Tem) ดูแลรักษาตัวเมื่อเจ็บป่วยต้องนอนโรงพยาบาล และยังนำเบี้ยประกันไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ถึง 15,000 บาท 

“เหมาะกับคนทำงานในยุคนี้มาก โดยเฉพาะให้ความคุ้มครองค่าห้องที่สูงเมื่อเทียบกับคู่แข่งในตลาด เช่น แผนทุน IPD 1,000,000 บาท คู่แข่งให้ค่าห้อง 5,000 บาท แต่แผนประกันสุขภาพเฮทธ์ เต็ม เต็มให้ถึง 10,000 บาท รวมทั้งการกำหนดวงเงินค่ารักษาของเราต่อครั้งไม่จำกัดครั้งต่อปี” 

  • ตีตลาด SMEs ต่างจังหวัด – ประกันรถกระบะใจใจ

ปัจจุบันธุรกิจประกันยานยนต์ถือเป็น Red Ocean มีการแข่งขันกันในเรื่องราคาอย่างเข้มข้น ซึ่งนับเป็นเรื่องท้าทายสำหรับซมโปะ ประกันภัย ในฐานะเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ในตลาดต่างจังหวัด 

สำหรับ “ประกันรถกระบะใจใจ” เหมาะกับกลุ่มคนขับรถกระบะเพื่อใช้ทำมาหาเลี้ยงชีพ เช่น พ่อค้าแม่ค้า เจ้าของธุรกิจสวนผลไม้ สวนยาง เป็นต้น โดยเน้นให้ความคุ้มครองเพิ่มเติม ในส่วนของเงินชดเชยรายได้รายวัน กรณีรถยนต์เกิดอุบัติเหตุและทำให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารบาดเจ็บจนต้องเข้ารักษาตัวเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาล และยังได้รับเงินชดเชยค่าเดินทางระหว่างรถยนต์เข้าอู่ซ่อมจากอุบัติเหตุการชน รวมทั้งมีบริการให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินบนท้องถนน 24 ชั่วโมงทั่วประเทศ ในกรณีที่รถเสียฉุกเฉินที่สำคัญ รับทำประกันให้รถกระบะที่มีการติดตั้งคอก เสริมแหนบ เพลา หรือเปลี่ยนล้อกระทะโดยลูกค้าสามารถเพิ่มวงเงินความคุ้มครองสำหรับอุปกรณ์ตกแต่งเพิ่มเติมจ่ายเบี้ยเพิ่มเริ่มต้นเพียง 300 ต่อทุนประกัน 10,000 บาท 

ผศ.ชญณา ศิริภิรมย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซมโปะ ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

พัฒนาไอที รับกระเเสซื้อประกันออนไลน์ 

ขณะที่ด้านการพัฒนาแบรนด์ในยุค Digital Transformation ซีอีโอ ซมโปะ ประเทศไทย บอกว่าที่ผ่านมาลูกค้าส่วนใหญ่มาจากทางออนไลน์ เราจึงต้องพัฒนาให้ผู้บริโภคมีประสบการณ์การซื้อประกันทางออนไลน์ที่ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังมีการใช้ระบบ Robotic Process ภายในองค์กร การต่ออายุกรมธรรม์ รวมถึงการใช้ AI ในการจัดการกับระบบ Marketing Automation เพื่อสร้างแคมเปญโฆษณา เป็นต้น เเละในปีหน้าจะมีการลงทุนเพิ่มในด้านเทคโนโลยีกว่า 100 ล้านบาท 

“พฤติกรรมการซื้อประกันการเดินทางออนไลน์ของคนไทย คือชอบซื้อตอนใกล้วันเดินทางหรือซื้อก่อนเดินทางเพียงไม่กี่ชั่วโมง” 

มองตลาดประกันวินาศภัยยังติดลบ 

เมื่อถามถึงภาพรวมตลาดของธุรกิจประกันวินาศภัย ซีอีโอ ซมโปะ ประเทศไทย เปิดเผยว่า ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ปีนี้น่าจะอยู่ที่ -2 ถึง -3 % โดยยอดเบี้ยประกันของบริษัทยังทรงตัวอยู่ที่ 2,800 ล้าน 

“เราพยายามตั้งเป้าขยายฐานลูกค้ารายย่อยและลูกค้าองค์กรให้มีสัดส่วนที่เท่ากันอย่างละ 50% จากปัจจุบันที่มีลูกค้าองค์กรราว 70 % และลูกค้ารายย่อย 30% เเละยังคงมั่นใจว่าลูกค้าองค์กรซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทจากญี่ปุ่นจะยังคงปักหลักลงทุนในไทยต่อไป” 

 

]]>
1257025