คนไอที – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 23 Jun 2022 13:36:47 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ตลาดงาน 2565 “ไอที” ยังคงเป็น “มนุษย์ทองคำ” นายจ้างไทยแย่งตัวสู้กับต่างประเทศ https://positioningmag.com/1389904 Thu, 23 Jun 2022 11:29:14 +0000 https://positioningmag.com/?p=1389904
  • JobsDB เปิดผลสำรวจ พบการจ้างงานฟื้นตัวดีขึ้นเรื่อยๆ ในปีนี้ หลังเศรษฐกิจฟื้นหลัง COVID-19 คลี่คลาย ภาคการผลิตเดินเครื่องเพิ่ม
  • “มนุษย์ทองคำ” ยังคงเป็นสาย “ไอที” จากความต้องการของทุกธุรกิจ รองลงมาคือสายวิศวะ การตลาด บัญชี
  • อาชีพด้านดิจิทัลเป็นที่ต้องการทั่วโลก และการทำงานแบบ “ไฮบริด” หรือ ทำงานทางไกล (remote work) ยิ่งทำให้องค์กรไทยต้องแย่งตัวมนุษย์ไอทีแข่งกับต่างประเทศมากขึ้น
  • เปิดผลสำรวจจาก JobsDB เกี่ยวกับตลาดงานปี 2565 โดย “ดวงพร พรหมอ่อน” กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์การจ้างงานในช่วง COVID-19 ปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นมาก หลังจากเคยมีอัตราการว่างงานเพิ่มสูงสุดในช่วงไตรมาส 3/63 จากนั้นอัตราว่างงานไต่ขึ้นลงมาตลอด ค่าเฉลี่ยอัตราว่างงานจะอยู่ที่ 2%

    จนกระทั่งนายจ้างเริ่มมั่นใจว่าสถานการณ์การระบาดจะส่งผลกระทบต่ำหลังการฉีดวัคซีน ทำให้เมื่อต้นปี 2565 จึงมีการกลับมาประกาศรับสมัครงานเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

    JobsDB ไอที
    “ดวงพร พรหมอ่อน” กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด

    แน่นอนว่า ตลาดงานจะมีธุรกิจและอาชีพที่มีตำแหน่งงานว่างมากกว่าตลาด โดยมีรายละเอียดดังนี้

    5 ธุรกิจที่ประกาศรับสมัครงานสูงสุด
    1. ธุรกิจไอที
    2. ธุรกิจขายส่งขายปลีก
    3. ธุรกิจการเงิน ธนาคาร
    4. ธุรกิจอุปกรณ์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์
    5. ธุรกิจขนส่ง
    5 อาชีพที่ประกาศรับสมัครงานสูงสุด
    1. งานไอที
    2. งานขาย งานบริการลูกค้า งานพัฒนาธุรกิจ
    3. งานวิศวกรรม
    4. งานการตลาด ประชาสัมพันธ์
    5. งานบัญชี

    นอกจากนี้ จะมีบางธุรกิจที่ถือว่าเติบโตร้อนแรงมากในช่วงหลังเกิด COVID-19 และมีผลต่อการจ้างงานบางประเภท บางพื้นที่ เป็นพิเศษ ดังนี้

    1. พลาสติก กระดาษ ปิโตรเคมี – เพราะการเดลิเวอรีทำให้มีการใช้แพ็กเกจจิ้งและการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นสูงมาก โดยเฉพาะกระดาษที่มีการใช้เพิ่มถึง 300% ตำแหน่งงานที่ต้องการมากที่สุดจึงเป็นวิศวกรรม และเพิ่มขึ้นในภาคตะวันออกของประเทศมากที่สุด
    2. ไอที Digital Transformation เกิดขึ้นในทุกธุรกิจ หลังจากผู้บริโภคใช้บริการผ่านดิจิทัลเพิ่มขึ้น 30% มนุษย์ไอทีจึงเป็นหัวใจสำคัญ แม้แต่บริษัทขนาดเล็กก็ต้องการตัวมนุษย์ไอทีมาก โดย 60% ของประกาศงานด้านไอที มาจากบริษัทที่มีพนักงานน้อยกว่า 50 คน และบริษัทเหล่านี้ยอมทุ่มลงทุนด้านไอทีเพื่อสู้กับบริษัทใหญ่
    3. การผลิต – หลังจาก COVID-19 คลี่คลาย การลงทุนฟื้นตัว มีการเพิ่มกำลังผลิต และทำให้ความต้องการพนักงานระดับเจ้าหน้าที่สูงขึ้นถึง 79.5% โดยเฉพาะจังหวัดชลบุรี
    4. การแพทย์และเภสัชกรรม – นวัตกรรมพบแพทย์ทางไกล (Telemedicine) มาแรง และมีการวิจัยเพิ่มขึ้น ทำให้งานด้านวิทยาศาสตร์และวิจัยมีตำแหน่งงานเพิ่ม 95%

     

    “ไอที” มนุษย์ทองคำที่บริษัทต้องหาทางยื้อไว้ให้ได้

    เห็นได้ชัดว่าสายงานไอทีติดทุกผลการสำรวจไม่ว่าจะในแง่มุมใด โดยถ้าแยกย่อยออกมา กลุ่มงานดิจิทัลที่ต้องการตัวกันมากที่สุด เช่น โปรแกรมเมอร์ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ นักวิทยาศาสตร์/วิเคราะห์ดาต้า ไอทีอินฟราสตรักเจอร์ ความปลอดภัยไซเบอร์ เป็นต้น

    Technology security concept safety digital protection system

    คนทำงานสายนี้เป็นที่ต้องการสูงมาก ทำให้มีโอกาสเปลี่ยนงานสูงกว่าสายอื่น โดยเฉลี่ยสายงานอื่นมักจะเปลี่ยนงานทุกๆ 2-3 ปี แต่ไอทีจะเปลี่ยนงานทุกๆ 1-2 ปี

    ไม่เพียงแต่ในไทยเท่านั้น แต่ตลาดต่างประเทศก็ต้องการตัวสายดิจิทัล ซึ่งทำให้ถ้าหากคนดิจิทัลคนนั้นมีทักษะด้านภาษาสูงก็สามารถหางานได้กว้างกว่าเดิม

    ยิ่งในยุคหลัง COVID-19 ซึ่งการทำงานแบบไฮบริดหรือทำงานทางไกล (remote work) สามารถทำได้และได้รับการยอมรับ ก็ยิ่งทำให้คนสายงานดิจิทัลหางานต่างประเทศได้มากขึ้น เพราะสำหรับคนที่กังวลเรื่องการย้ายถิ่นที่อยู่ก็ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป ในกรณีคนดิจิทัลไทยนั้น มีนายจ้างต่างประเทศสนใจจ้างข้ามแดนจากหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย รัสเซีย จีน อินโดนีเซีย

    ไอที
    ข้อมูลโดย JobsDB

    ดังนั้น JobsDB จึงแนะนำนายจ้างไทยที่ต้องการให้มนุษย์ไอทีต้องการทำงานกับองค์กรได้นาน หรือดึงดูดคนดิจิทัลใหม่ๆ เข้ามา ต้องเข้าใจอินไซต์ของคนในสายอาชีพนี้ว่า นอกจากผลตอบแทนที่เหมาะสมแล้ว พวกเขายังมีสิ่งที่ต้องการหลักๆ ดังนี้

    • 57% ต้องการให้มีวิธีการทำงานแบบไฮบริด ไม่ต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน โดย 95% ต้องการทำงานจากที่ไหนก็ได้อย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์ และมีถึง 25% ที่ต้องการทำงานแบบ Fully Remote Work คือไม่ต้องเข้าออฟฟิศเลย นั่นหมายความว่า องค์กรต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมให้คนทำงานจากนอกออฟฟิศ และมีวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมการประชุมและทำงานออนไลน์ได้
    • คนไอทีกังวลด้านการพัฒนาทักษะเป็นพิเศษ ทำให้องค์กรที่ดึงดูดคืองานที่เปิดโอกาสให้พัฒนาทักษะใหม่เสมอ และสนับสนุนการเพิ่มประสบการณ์ เช่น โอกาสไปศึกษาดูงานในต่างประเทศ
    • มีวัฒนธรรมองค์กรยอมรับความหลากหลายและเท่าเทียม ไม่กีดกันทางเพศ เชื้อชาติ ศาสนา

    โดยสรุปแล้ว คนสายงานดิจิทัลไม่ได้พิจารณาการทำงานจากค่าตอบแทนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการสมดุลชีวิตที่ดี การทำงานยืดหยุ่น และอยู่ในองค์กรที่ส่งเสริมตนเอง มีวัฒนธรรมองค์กรที่ทันสมัยด้วย

    ส่วนคนทำงานสายอาชีพอื่นก็ต้องเพิ่มทักษะด้านดิจิทัลให้กับตนเอง มีการ Upskill/Reskill เพราะหากอาชีพถูกทดแทนด้วยเครื่องจักรหรือซอฟต์แวร์ได้ และไม่สามารถปรับตัวไปเป็นผู้ควบคุมดูแลเครื่องจักรหรือใช้ซอฟต์แวร์นั้นๆ ได้ ก็จะเสี่ยงเป็นอาชีพที่ตกงานในอนาคต (JobsDB มีคอร์สเรียนฟรีเพื่อเสริมทักษะคนทำงานด้านต่างๆ เช่น ความรู้พื้นฐานดิจิทัล ภาษาอังกฤษธุรกิจ ในชื่อโครงการ UpLevel คลิกที่นี่)

    ]]>
    1389904
    เปิดมุมมอง ‘ไมโครซอฟท์’ กับการใช้ดิจิทัลฟื้นฟูศก.ไทย เมื่อทางออกเดียวคือ “ปั้นคนไอที” https://positioningmag.com/1291220 Wed, 05 Aug 2020 10:54:13 +0000 https://positioningmag.com/?p=1291220 ต้องยอมรับว่าไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการเป็นอย่างมาก เพราะแต่ละปีสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศถึง 400,000 ล้านบาท หรือราว 2.4% ของ GDP ไทย ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศที่โดนผลกระทบจาก COVID-19 เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชีย จากที่คาดว่า GDP จะเติบโต 3% กลายเป็นติดลบ –6.7% และจะมีอัตราว่างงานถึง 7.1% จากที่ปกติต่ำกว่า 1% อย่างไรก็ตาม จากวิกฤตินี้ส่งผลให้เทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร ส่งผลให้มีความต้องการ ‘แรงงานไอที’ พุ่งสูงขึ้น ดังนั้น โอกาสที่จะอยู่รอดคือต้อง ‘รีสกิล’ และ ‘อัพสกิล’ เพื่อให้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต

    ทางรอดเดียวต้องมีทักษะด้านไอที

    ปัจจุบัน ทั่วโลกมีแรงงานด้านเทคโนโลยีกว่า 41 ล้านตำแหน่ง และภายในปี 2025 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 149 ล้านตำแหน่ง แบ่งเป็น งานด้านพัฒนาซอฟต์แวร์ 98 ล้านตำแหน่ง คลาวด์และดาต้า 23 ล้านตำแหน่ง การวิเคราะห์ข้อมูล แมชชีนเลิร์นนิ่ง เอไอ 20 ล้านตำแหน่ง ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ 6 ล้านตำแหน่ง และความเป็นส่วนตัวและความเชื่อมั่น 1 ล้านตำแหน่ง สำหรับประเทศไทยเองคาดว่าตำแหน่งงานด้านเทคโนโลยีจะเพิ่มเป็น 3 ล้านตำแหน่งใน 5 กลุ่มดังกล่าว ดังนั้นจะเห็นว่านี่เป็นโอกาสที่จะพัฒนาตัวเองเพื่อให้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต

    “พนักงานรายวัน เด็กจบใหม่ First Jobber คนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในเมืองเป็นส่วนที่โดนผลกระทบมากที่สุดจากการมาของ Covid-19 แม้จะตกงาน แต่ก็มีโอกาสจากงานด้านเทคโนโลยี เพราะองค์กรต้องทรานส์ฟอร์ม ความต้องการเพิ่มขึ้นตลอด” ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว

    ที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ตระหนักถึงเรื่องแรงงานดี จึงได้เปิดตัวโครงการเพื่อเสริมสร้างทักษะแรงงาน โดยมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาทักษะเชิงดิจิทัลเพิ่มเติมให้กับผู้คนจำนวนกว่า 25 ล้านทั่วโลกภายในสิ้นปีนี้ และสำหรับในประเทศไทยไมโครซอฟท์ก็ได้ผนึกความร่วมมือกับทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อจะพัฒนาทักษะด้านไอที และไม่ใช่แค่บุคคลภายนอก แต่ต้องอัพสกิลและรีสกิลของพนักงานด้วย

    3 เทคโนโลยีตัวฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยหลัง Covid-19

    สำหรับเทคโนโลยีที่จะเป็นตัวช่วยหลักในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย ทางไมโครซอฟท์มองว่ามี 3 เทคโนโลยี ได้แก่ 1.Cloud Computing ที่จะช่วยเพิ่มความเร็วและความคล่องตัว 2.Data & AI เพราะจากนี้ไปข้อมูลจะเป็นยิ่งกว่า New Air เนื่องจากข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญมากที่ทำให้แต่ละองค์กรรู้ว่าต้องเพิ่ม ต้องลดอะไร และ 3.Security ถ้าไม่มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดี เทคโนโลยีที่มีก็สูญเปล่า เพราะไม่มีใครกล้าใช้

    “3 ส่วนนี้จะเป็นส่วนที่องค์กรเน้นลงทุนแน่นอน ตอนนี้เทคโนโลยีกลายเป็นผลกระทบในเชิงบวก ดังนั้น เชื่อว่าองค์กรยังต้องลงทุนในไอทีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน และทุกอุตสาหกรรมจะต้องลงทุนแน่นอน”

    นอกจากนี้ยังมองว่าวิกฤติ Covid-19 ส่งผลให้เกิดเทรนด์การใช้งานเทคโนโลยีแบบใหม่ ได้แก่ 1.New Way of Work and Life หรือ การผสมผสานการใช้ชีวิตและการทำงาน 2.Virtual Century โลกเสมือนที่จะใกล้ชิดกับโลกแห่งความเป็นจริงมากขึ้น 3.Hyper Automation ทุกอย่างจะเป็นรูปแบบอัตโนมัติมากขึ้นด้วย AI 4.Accelerating Digital หรือการเร่งความเร็วในการทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัล 5.Business Model Revamp การเปลี่ยนธุรกิจทั้งระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใหม่ ๆ และ 6.Trust Ethics, Security & Privacy NOW องค์กรจะโฟกัสกับเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์เพื่อสร้างความเชื่อมั่น

    โอกาสของไมโครซอฟท์ในยุค Covid-19

    ต้องยอมรับว่ารายได้จาก Licensing หรือลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์นั้นลดลงจนติดลบ แต่ในส่วนของบริการอื่น ๆ มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด อาทิ Microsoft Teams ที่เติบโตถึง 936% และอีกส่วนที่เติบโตมากคือ ‘คลาวด์’ โดยอยู่ในอัตรา 2 หลัก และบางโปรดักส์เติบโตในระดับ 3-4 หลัก ดังนั้น ไมโครซอฟท์จะเน้นการรุกตลาดคลาวด์เป็นหลัก โดยได้จัดตั้งทีมงานเฉพาะ “Customer Success Unit” เพื่อร่วมทำงานกับลูกค้าอย่างใกล้ชิดในฐานะพันธมิตร ซึ่งไมโครซอฟท์เชื่อว่า Covid-19 ถือเป็นโอกาสที่บริษัทจะเข้าไปสร้างอิมแพ็กต์ในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะทักษะทางด้านดิจิทัล

    “Covid-19 เป็นตัวทดสอบว่าองค์กรจะอยู่รอดต่อไปในตลาดได้ไหม นี่เป็นช่วงเวลาที่องค์กรจะต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้อยู่รอด แม้อุปสรรคในการนำเทคโนโลยีมาใช้มีเยอะ แต่อยากมองให้อย่าถอยหลัง ต้องมีไมนด์เซตที่จะพัฒนา ถ้าไม่เปลี่ยนองค์กรจะถอยหลัง ต้องมองว่าในอุปสรรคเป็นโอกาสเสมอ”

    ]]>
    1291220