57% ของบริษัททั่วโลกพบว่าออฟฟิศแบบ “ไฮบริด” ช่วยให้ประสิทธิภาพ “การทำงาน” ดีขึ้น

ออฟฟิศ ไฮบริด
(ภาพจาก: Pixabay)
PwC สำรวจพบบริษัททั่วโลกเกินครึ่งเห็นว่า “การทำงาน” แบบ “ไฮบริด” ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้นในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ช่วยลดความหนาแน่นในออฟฟิศ และยังดำเนินธุรกิจต่อได้ท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 ขณะที่บริษัทไทยส่วนใหญ่เริ่มปรับออฟฟิศเป็นแบบไฮบริดแล้วเช่นกัน

“ดร.ภิรตา ภักดีสัตยพงศ์” หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดผลสำรวจ PwC’s Future of Work and Skills Survey ซึ่งสำรวจธุรกิจและหัวหน้าฝ่ายทรัพยากรบุคคลเกือบ 4,000 แห่ง ใน 26 ประเทศ พบว่า 57% ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่าประสิทธิภาพการทำงานของบริษัทดีกว่าเป้าหมาย เมื่อเปลี่ยนมาทำงานแบบ “ไฮบริด” ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา มีเพียง 4% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่พบว่าประสิทธิภาพการทำงานของบริษัทต่ำลง

สำหรับบริษัทในไทยนั้น ดร.ภิรตาระบุว่า มีหลายบริษัทที่เริ่มใช้โมเดลการทำงานแบบ “ไฮบริด” ที่พนักงานไม่ต้องมาออฟฟิศทุกวันแล้ว

ข้อดีที่บริษัทพบจากการทำงานแบบนี้คือ สามารถลดความหนาแน่นในออฟฟิศได้ 25-50% และทำให้ธุรกิจเดินต่อได้ แม้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกแผนกที่สามารถทำงานแบบไฮบริดได้ ตามธรรมชาติของงานที่ต่างกัน เช่น ธุรกิจธนาคาร แผนกบริหารความเสี่ยงอาจจะทำงานจากบ้านได้แบบ 100% แต่สำหรับคอลเซ็นเตอร์ ก็ยังต้องมาทำงานออนไซต์ตามปกติ

 

ความท้าทายคือวิธี “ประเมินผลงาน”

ดร.ภิรตากล่าวต่อว่า เมื่อมีการทำงานแบบไฮบริด แต่ละองค์กรมีวิธีบริหารที่ต่างกัน เช่น บางองค์กรเน้นการประชุมบ่อยขึ้น เพื่อเช็กชื่อพนักงานและตามงาน แต่ความท้าทายสำคัญของการทำงานรูปแบบนี้คือ ต้องมีระบบการประเมินผลงานที่โปร่งใส และต้องมีความเชื่อใจระหว่างหัวหน้าและลูกน้องในทีมสูงมาก

“การสื่อสารและการวัดผลที่ชัดเจน ตรงไปตรงมา คือสิ่งที่สำคัญอย่างมาก เพื่อให้การนำโมเดลการทำงานแบบไฮบริดมาใช้ประสบความสำเร็จ” ดร.ภิรตากล่าว

“การประเมินผลงานแบบดั้งเดิม อย่างการเช็กขาด ลา มาสาย ไม่ใช่โซลูชันที่ถูกต้องอีกแล้ว การเช็กที่เป้าหมายการทำงานแยกย่อยของแต่ละบุคคล ซึ่งจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายรวมขององค์กร คือวิธีบริหารที่ได้ประสิทธิภาพมากกว่า”

นอกจากนี้ ดร.ภิรตายังมองว่าระดับหัวหน้างานต้องเปลี่ยนแนวคิดจากการ ‘หาคนผิด’ มาเป็นการสนับสนุนและให้คำแนะนำกับพนักงาน เมื่อใดก็ตามที่เกิดการสะดุดในขั้นตอนการทำงาน

 

พนักงานต้อง “อัพสกิล” ให้ทัน

นอกจากการเป็นออฟฟิศไฮบริดแล้ว ดร.ภิรตากล่าวถึงอีกเทรนด์หนึ่งในที่ทำงานยุคใหม่ เริ่มวางแผนเปลี่ยนแปลงวิธีจัดการทรัพยากรบุคคลด้วยกลยุทธ์ต่างๆ เช่น ‘build, buy, borrow, bots’

บริษัทเริ่มมองหาว่าการทำงานส่วนไหนที่ใช้เทคโนโลยีแทนคนได้บ้าง และหาว่าส่วนไหนสามารถใช้เอาท์ซอร์สได้ เพื่อให้การจ้างพนักงานเกิดความยืดหยุ่นขึ้น รวมถึงเมื่อบริษัทใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น องค์กรจึงต้อง “อัพสกิล” พนักงานปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ใช้เทคโนโลยีเป็นและทำได้เต็มประสิทธิภาพ และตัวพนักงานเองก็ต้องเปิดใจเพื่อจะใช้เทคโนโลยีด้วย

สำหรับประเทศไทย ขณะนี้อาจจะยังไม่มีการใช้เทคโนโลยีแทนคนอย่างเต็มที่ เพราะค่าแรงของไทยยังไม่ได้สูงมากเหมือนประเทศอื่น

“แต่ใน 3-5 ปีข้างหน้า เราแน่ใจได้ว่าความต้องการแรงงานจะเปลี่ยนไป แรงงานที่ใช้ทักษะการวิเคราะห์หรือทักษะดิจิทัลเฉพาะทาง เช่น วิเคราะห์ดาต้า, ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง, บิ๊กดาต้า, AI และแมชชีน เลิร์นนิ่ง เหล่านี้จะเป็นแรงงานที่มีความต้องการสูงกว่า” ดร.ภิรตากล่าว

สรุปได้ว่า ทุกอุตสาหกรรมต้องปรับตัวเพื่อเริ่มใช้โมเดลการทำงานแบบไฮบริด และอัพสกิลให้กับพนักงานเพื่อใช้เทคโนโลยี จำเป็นมากที่จะต้องเริ่มต้นเดี๋ยวนี้เพื่อให้องค์กรยังได้เปรียบในการแข่งขัน และเติบโตได้อย่างยั่งยืน