คาร์บอนเครดิต – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Fri, 29 Mar 2024 05:38:49 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 KBank ชูโซลูชันมากกว่าการเงิน ช่วยผู้ประกอบการเปลี่ยนผ่านด้านสิ่งแวดล้อม เชื่อคนไทยชนะในเกมนี้ได้ https://positioningmag.com/1468305 Fri, 29 Mar 2024 12:49:01 +0000 https://positioningmag.com/?p=1468305

หนึ่งในความท้าทายของผู้ประกอบการไทยหลังจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทใหญ่หรือเล็กที่ต้องเจอคือหลายประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทยทั้ง สหรัฐอเมริกา ยุโรป รวมถึงประเทศจีน ได้ออกมาตรการทางการค้าที่อิงหลักเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน

นอกจากนี้ ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ….. ของไทยที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา กำหนดให้ภาคธุรกิจต้องวัดผลและรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (MRV) มาตรการจำกัดสิทธิผู้ประกอบการเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Cap and Trade) มาตรการจัดเก็บภาษีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากสินค้าภาคอุตสาหกรรม (Carbon Tax) รวมถึงการทำธุรกรรมเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิต ซึ่งจะกระทบกับผู้ประกอบธุรกิจในวงกว้าง

ผู้ประกอบการที่ปรับตัวไม่ทันกับกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ย่อมมีความเสี่ยงที่จะต้องมีต้นทุนในการจำหน่ายสินค้ามากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ปัจจัยกดดันภาคธุรกิจเหล่านี้กำลังเพิ่มขึ้น และจะทำให้สมการธุรกิจเปลี่ยนไป มูลค่าของธุรกิจจากรายได้ธุรกิจแบบดั้งเดิม จะถูกลดทอนด้วยปัจจัยเชิงลบที่ธุรกิจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม และจะมีโอกาสเพิ่มขึ้นจากการทำธุรกิจที่ได้ปัจจัยบวกด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวได้ว่า โลกธุรกิจกำลังเข้าสู่ยุค Climate Game แล้ว

Positioning จะพาไปฟังผู้บริหารของธนาคารกสิกรไทย เล่าถึงประเด็นดังกล่าว และสะท้อนให้เห็นว่าการดำเนินธุรกิจบนหลักการด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ไม่ได้เป็นเพียงทางเลือกอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องจำเป็นที่ภาคธุรกิจจะต้องตระหนักและลงมือทำให้เกิดขึ้นจริง เพื่อปรับตัวให้ได้ และก้าวทันในเกมนี้

คุณพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBank) ได้ชี้ถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสภาวะแวดล้อมว่า ถ้าหากถึงปี 2050 อุณหภูมิโลกได้เพิ่มขึ้นไปถึง 3.2 องศา ซึ่งเกินความตกลง Paris ในการควบคุมอุณภูมิโลก นั้นเราอาจจะได้เห็นตัวเลขความเสียหายของเศรษฐกิจโลกมูลค่ากว่า 18 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 18% ของ GDP โลก

กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ยังชี้ให้เห็นเป็นการเปรียบเทียบว่าการแพร่ระบาดของโควิดนั้น GDP ของโลกได้รับผลกระทบแค่ 3% เท่านั้น ซึ่งถ้าหากอุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นไปในระดับดังกล่าว ก็จะสร้างผลกระทบมากมายมหาศาลกว่าที่เราคิด

สำหรับผลกระทบดังกล่าวต่อประเทศไทยนั้น คุณพิพิธได้ชี้ว่าเรื่องดังกล่าวกระทบต่อ 44% ของ GDP ไทย คิดเป็นเงิน 218,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยราวๆ 7.9 ล้านล้านบาทเป็นอย่างน้อย โดยอุตสาหกรรมส่งออกของประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบอย่างหนัก ผ่านการคาดการณ์เม็ดเงินที่หายไปราว 1.14 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 40-50% ของมูลค่าการส่งออกในประเทศไทย

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการที่ปรับตัวไม่ได้ในการปรับเปลี่ยนเข้าสู่ความยั่งยืนจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะต้นทุนของสินค้าจากการเก็บภาษีของประเทศต่างๆ ที่กล่าวไปในข้างต้น และในท้ายที่สุดสินค้าของผู้ประกอบการไทยรายนั้นก็อาจไม่สามารถแข่งขันกับผู้เล่นรายอื่นๆ ที่มีการปรับเปลี่ยนตัวเองโดยเน้นความยั่งยืนได้

คุณพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

ธนาคารทำอะไรไปแล้วบ้าง

คุณพิพิธ ยังได้เล่าให้ฟังว่า คงจะเป็นเรื่องแปลกไม่น้อย ถ้าหากธนาคารนั้นพยายามที่จะให้ลูกค้าปรับเปลี่ยนไปสู่ความยั่งยืน แต่ตัวธนาคารเองกลับไม่ได้ปรับเปลี่ยนอะไร ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาธนาคารได้ปรับตัวเพื่อเข้าสู่ความยั่งยืนเริ่มจากในส่วนของการดำเนินการของธนาคารเองไม่ว่าจะเป็น การติดตั้ง Solar Cell ที่อาคารหลักของธนาคารครบ 100%

การเปลี่ยนรถยนต์ที่ใช้ธุรกิจธนาคารจากรถยนต์สันดาปเป็นรถไฟฟ้า รวมทั้งการพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้าสำหรับบริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

นอกจากนั้น ธนาคารกสิกรไทย ได้รับการรับรองขึ้นทะเบียน Carbon Neutral โดย อบก. ว่าเป็นกลางทางคาร์บอน 6 ปี ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2018-2023 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเอาจริงเอาจังของธนาคาร และธนาคารยังเชื่อว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นจะยกระดับมาตรฐานขึ้นไปได้อีก และยังสร้าง Impact ที่วัดผลได้จริง


เตรียมปล่อยสินเชื่อมากกว่าเป้าที่วางไว้

คุณพิพิธ ยังได้กล่าวว่าธนาคารได้ปล่อยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนไปแล้ว 73,397 ล้านบาท โดยใน 2 ปี ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมหลักที่ธนาคารได้ให้ความสำคัญในการควบคุมและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านอย่างใกล้ชิด โดยมีการวางแผนกลยุทธ์รายอุตสาหกรรมแล้ว 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มน้ำมันและก๊าซธรรมชาติต้นน้ำ กลุ่มเหมืองถ่านหินประเภทเชื้อเพลิงให้ความร้อน กลุ่มซีเมนต์ และกลุ่มอะลูมิเนียม

นอกจากนี้คุณพิพิธยังได้กล่าวถึงว่าในการปล่อยสินเชื่อธนาคารมีคณะกรรมการตรวจสอบว่าสินเชื่อดังกล่าวที่ผู้ประกอบการนำไปปรับปรุงเปลี่ยนแปลงธุรกิจให้เกิดความยั่งยืนนั้นเกิดขึ้นจริง ทำได้จริง และป้องกันสิ่งที่เกิดว่า “การฟอกเขียว”

ทั้งนี้ เป้าหมายในการปล่อยสินเชื่อและเงินลงทุนเพื่อความยั่งยืนในปี 2024 นี้ จะมียอดรวมอยู่ที่ 100,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นครึ่งหนึ่งของเป้าหมายรวม 200,000 ล้านบาทภายในปี 2030

หลายประเทศมหาอำนาจเริ่มมีมาตรการจัดเก็บภาษีในสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง

บริการของ KBank ที่มากกว่าด้านการเงิน

อย่างที่เราทราบดีกว่าธนาคารกสิกรไทยถือเป็นสถาบันการเงินรายใหญ่ของประเทศไทย แต่สำหรับการช่วยเหลือให้บรรดาผู้ประกอบการสามารถก้าวผ่านไปสู่ความยั่งยืนได้นั้น คุณพิพิธ ชี้ว่าไม่ใช่แค่เรื่องของการปล่อยสินเชื่อเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ด้วยการวางยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมของธนาคารกสิกรไทยนั้นมีเป้าหมายสำคัญคือการพาธุรกิจไทยและเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนผ่านเข้าสู่โลกธุรกิจรูปแบบใหม่  ที่ผู้ประกอบธุรกิจจะสามารถปรับตัวและคว้าโอกาสในยุคของ Climate Game พร้อมทั้งวางกลยุทธ์ที่นอกเหนือจากบริการด้านการให้สินเชื่อด้วยการบูรณาการศักยภาพทั้งโซลูชัน องค์ความรู้ และเทคโนโลยี เพื่อยกระดับการทำงานทั้งของธนาคารเองและการทำงานของลูกค้า ผ่านบริการที่มากกว่าการเงิน ได้แก่

Climate Solutions โซลูชันด้านสิ่งแวดล้อม ที่เป็นมากกว่าบริการธนาคาร เพื่อช่วยธุรกิจในการปรับตัวและเปลี่ยนผ่าน ประกอบด้วย โซลูชันการส่งมอบความรู้และคำแนะนำ (Knowledge Provider) ที่บูรณาการองค์ความรู้จากสถาบันชั้นนำ การพัฒนาโซลูชันเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้กับลูกค้าทั้งบุคคลและผู้ประกอบการ (Reduction Solution) โดยทดลองออกบริการนำร่องแล้ว ได้แก่ WATT’S UP เป็นแพลต์ฟอร์มรองรับการเช่ารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร และ “ปันไฟ” (Punfai) เป็นแอปพลิเคชันที่เป็นความร่วมมือระหว่างธนาคารกสิกรไทยและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไ ทย (กฟผ.) พัฒนาแอปพลิเคชันแลกเปลี่ยนไฟฟ้าแห่งแรกของไทยที่ตอบโจทย์การใช้งานครบทุกมิติ รองรับการใช้งานทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจ นอกจากนี้ ธนาคารนำประสบการณ์กว่า 10 ปี ในการวัด Carbon Footprint ของธนาคาร มาใช้เพื่อเตรียมพัฒนาโซลูชันใหม่ที่จะช่วยผู้ประกอบการเรื่องการวัดผล รายงาน และตรวจสอบการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon MRV) ให้สอดคล้องกับมาตรฐานระดับประเทศและระดับสากล

Carbon Ecosystem การเชื่อมต่อ Carbon Ecosystem และเข้าไปศึกษาเตรียมพร้อม เพื่อการพัฒนาบริการไปอีกขั้น ในธุรกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับคาร์บอนเครดิต รองรับเครือข่ายผู้ใช้งานในอนาคต โดยมีการดำเนินการนำร่อง เปิดตัวแพลตฟอร์มขึ้นทะเบียนและขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC) ที่เป็นความร่วมมือระหว่างธนาคารกสิกรไทย และ Innopower เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนรายย่อยและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็ อป ขึ้นทะเบียนและขายใบรับรอง REC ได้ รวมถึงธนาคารได้ศึกษาและเตรียมแนวทางในมิติอื่น ๆ ของระบบนิเวศด้านคาร์บอนเครดิต เช่น การเป็นตัวแทนซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit Broker / Dealer) การออกโทเคนคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit Tokenization)

สำหรับบริษัทใหญ่ๆ ในด้านการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนนั้น คุณพิพิธ ไม่ค่อยเป็นห่วงมากเท่าไหร่นัก แต่ผู้บริหารของ KBank ได้กล่าวว่า ลูกค้า SME รับรู้ในเรื่องดังกล่าวน้อยมาก ถึงแม้บางรายจะรับรู้แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร เช่น ส่งออกไปยุโรปต้องกรอกแบบฟอร์ม ทุกคนก็สงสัย เลยติดต่อมาที่ธนาคาร และเขายังชี้ว่าถ้าหากธุรกิจใหญ่ รวมถึงธุรกิจขนาดกลางเป็นหัวหอกหลักแล้ว ก็จะช่วยในการดึงธุรกิจขนาดเล็กให้ก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ได้

ลูกค้าคาดหวังกับธนาคารมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของความยั่งยืน

Now Or Never ทำตอนนี้ยังไงไม่สายเกินไปแน่นอน

เราจะเห็นว่า Climate Game เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว และเรื่องดังกล่าวถือว่ามีความท้าทายรอทุกคนอยู่ข้างหน้า ซึ่งหากทุกคนตระหนักถึงความสำคัญ ของการเปลี่ยนแปลง ก็จะทำให้เรื่องดังกล่าวเป็นไปได้มากขึ้น นอกจากนี้คุณพิพิธ ยังชี้ว่าเรื่องดังกล่าวยังทำเพียงลำพังไม่ได้ ต้องอาศัยพลังจากทุกคน จับมือทำไปด้วยกัน จึงจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริง

ถ้าหากภาคธุรกิจรายใดยังมีข้อสงสัยในการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ความยั่งยืน ธนาคารมีการจัดงานสัมมนาเพื่อธุรกิจ ทั้งงานเฉพาะกลุ่ม ไปจนถึงงานฟอรั่มขนาดใหญ่ประจำปี อาทิ งาน “EARTH JUMP 2024” ติดต่อกันเป็นปีที่ 2 ภายใต้แนวคิด The Edge of Action เพราะเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ธุรกิจต้องลงมือทำทันที

กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ยังชี้ว่าธุรกิจที่ปรับตัวและลงมือทำก่อนก็จะมีโอกาสช่วงชิงความได้เปรียบในการแข่งขันบนโลกธุรกิจยุคใหม่ และเขาเชื่อว่าคนไทยจะสามารถชนะในเกมดังกล่าวนี้ได้

โดยสำหรับงาน EARTH JUMP 2024 นี้ผู้เข้าร่วมงานจะได้เรียนรู้เทรนด์และความรู้มุมมองใหม่ๆ ครบทุกมิติในงานเดียว ในวันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม 2567 ณ สามย่านมิตรทาวน์ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติม และซื้อบัตรร่วมงานได้ที่ Zip Event คลิก https://www.kasikornbank.com/k_3IgdPWE

 

]]>
1468305
หยุดเปิดคอนโด! “ออลล์ อินสไปร์” เปลี่ยนน่านน้ำ หันจับธุรกิจ “บริหารหนี้-ขายคาร์บอนเครดิต” https://positioningmag.com/1384922 Wed, 11 May 2022 10:25:02 +0000 https://positioningmag.com/?p=1384922 ตลาดอสังหาฯ ไม่เวิร์กอีกต่อไป “ออลล์ อินสไปร์” ขอเบรกขึ้นโครงการบ้าน-คอนโดฯ 3 ปี หันไปจับธุรกิจใหม่ บริหารสินทรัพย์ บริหารหนี้ และเปิดตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต มองเทรนด์ธุรกิจมาแรงกว่า ทำกำไรดีกว่า หวังปีนี้เทิร์นอะราวด์ มาร์เก็ตแคปเพิ่มเป็น 30,000 ล้านบาทใน 3 ปี

“ธนากร ธนวริทธิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ALL เซอร์ไพรส์วงการ ขอเบรกจากวงการอสังหาริมทรัพย์ชั่วคราว และหันไปจับธุรกิจใหม่ทดแทน โดยจะมีการปรับบริษัทเป็นลักษณะโฮลดิ้งคัมพะนี ทำธุรกิจใหม่ทั้งหมด 3 ด้าน ได้แก่

1.ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ (AMC) – โดยอาศัยองค์ความรู้จากการทำธุรกิจอสังหาฯ ทำให้มีทักษะการคัดเลือกสินทรัพย์ ทราบทำเลศักยภาพและผังเมืองที่อาจเป็นข้อจำกัด รวมถึงราคาตลาดที่จะขายออกได้ ทำให้กำหนดราคาประมูลซื้อได้เหมาะสม คาดจะเริ่มประมูลได้ไตรมาส 3-4/65

สาเหตุที่สนใจธุรกิจนี้ เพราะเป็นธุรกิจที่รับรู้รายได้ได้เร็วกว่าอสังหาฯ หากขายสินทรัพย์ได้จะรับรู้รายได้ทันที ไม่ต้องรอการก่อสร้าง รวมถึงได้มาร์จิ้นที่ดีกว่า จากอสังหาฯ มีมาร์จิ้นเฉลี่ย 30-40% แต่ธุรกิจ AMC จะทำได้ดีกว่านั้น

2.ธุรกิจบริหารหนี้สิน – เป็นธุรกิจต่อเนื่องจากทำธุรกิจ AMC แต่บริหารในกลุ่มหนี้ขนาดเล็ก เช่น บัตรเครดิต สินเชื่อรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ เป็นต้น

3.ธุรกิจคาร์บอนเครดิตธุรกิจใหม่ที่กำลังเป็นดาวรุ่ง เนื่องจากบริษัทผู้ซื้อในฟากตะวันตก เช่น สหภาพยุโรป, สหรัฐฯ มีการตั้งกำแพงภาษีกีดกันการค้าบริษัทผู้ผลิตที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทำให้บริษัทที่ไม่สามารถปรับโครงสร้างการผลิตให้ลดมลพิษได้ จะต้องอาศัยการซื้อคาร์บอนเครดิตทดแทน เพื่อให้บริษัทได้รับการรับรองเป็น Net-Zero ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์

ออลล์ อินสไปร์ เปลี่ยนธุรกิจ หยุดทำคอนโด
โมเดลการขายคาร์บอนเครดิต

ในประเทศไทยถือว่าตลาดมีดีมานด์สูงมาก เพราะไทยเป็นแหล่งอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออกหลายชนิดที่มีการปล่อยคาร์บอน เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ แบตเตอรี่ ก่อสร้าง สิ่งทอ พลาสติก แพ็กเกจจิ้ง อาหาร แต่ซัพพลายการขายคาร์บอนเครดิตยังไม่มีบริษัทที่มีใบอนุญาตที่ได้รับการยอมรับจากยุโรปและสหรัฐฯ และไม่มีตลาดกลางในการซื้อขาย

ออลล์ อินสไปร์ต้องการเข้ามาเป็นรายแรกๆ ในการจัดมาร์เก็ตเพลสเพื่อซื้อขายคาร์บอนเครดิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อไม่ให้มีการออกใบรับรองคาร์บอนเครดิตซ้ำซ้อน และเข้าส่งเสริมให้เกิดผู้ขายคาร์บอนเครดิตมากขึ้นในไทย

“ธนากร ธนวริทธิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ALL

ทั้งหมดนี้ เชื่อว่าจะทำให้ออลล์ อินสไปร์ พลิกกลับเป็นกำไรได้ในปี 2565 จากปี 2564 ที่ขาดทุน -347 ล้านบาท โดยคาดว่าปีนี้จะทำรายได้ราว 4,000-4,500 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนมาจากการขายอสังหาฯ 40% และกลุ่มธุรกิจใหม่ทั้งสามด้านอีก 60%

ส่วนเป้าหมายระยะกลาง ธนากรต้องการให้ธุรกิจใหม่ผลักดันมาร์เก็ตแคปขึ้นเป็น 30,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี

 

จอยต์เวนเจอร์กับ “พันธมิตร”

แผนงานทั้ง 3 ด้านของออลล์ อินสไปร์ จะไม่ได้เริ่มธุรกิจจากศูนย์ เพราะทั้งหมดมีดีลร่วมทุนกับบริษัทที่อยู่ในธุรกิจนั้นๆ อยู่แล้ว ในส่วนของ AMC บริษัทจะร่วมทุนกับบริษัทที่มีใบอนุญาต ซึ่งทำให้เข้าสู่ธุรกิจได้เร็ว ขณะที่พันธมิตรก็จะได้ช่องทางเครื่องมือทางการเงินของออลล์ อินสไปร์เข้าไปเสริม

ส่วนธุรกิจขายคาร์บอนเครดิต บริษัทจะร่วมกับบริษัทระดับโลกซึ่งเตรียมเข้าจดทะเบียนเข้าตลาดหุ้น NASDAQ อยู่ขณะนี้ บริษัทดังกล่าวต้องการมาเปิดสาขาย่อยในไทย ธนากรจึงมองเห็นโอกาสการร่วมทุน และทำให้ได้พันธมิตรที่มีใบรับรองการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเป็นที่ยอมรับในตลาดสหรัฐฯ กับยุโรป เป็นแต้มต่อในประเทศไทย เพราะบริษัทที่ได้รับใบรับรองเป็นสากลในโลกมีไม่เกิน 20 แห่ง

ด้านการระดมทุนเพื่อเข้าสู่ธุรกิจใหม่ ธนากรระบุว่า จะมีการระดมทุนเพิ่มมูลค่า 1,490 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ช่องทางคือ 1)ออกและเสนอขายหุ้นกู้แปลงสภาพให้แก่ผู้ลงทุนเฉพาะเจาะจง (AO Fund) มูลค่า 840 ล้านบาท 2) การเสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (Right Offering) มูลค่า 650 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดจะเสร็จสิ้นภายในเดือนสิงหาคม 2565 ทำให้ธุรกิจใหม่จะเดินเครื่องเต็มที่ช่วงครึ่งปีหลัง

 

สู้ไม่ไหว “อสังหาฯ” ปัจจัยลบรุมเร้า

หลังจากการปรับธุรกิจแล้ว ธนากรมองว่า ในปี 2568 บริษัทจะเปลี่ยนสัดส่วนในพอร์ตรายได้แบ่งเป็น ธุรกิจการบริหารสินทรัพย์ 30% ธุรกิจบริหารหนี้สิน 30% ธุรกิจคาร์บอนเครดิต 30% และอสังหาริมทรัพย์ 10%

ออลล์ อินสไปร์ เปลี่ยนธุรกิจ หยุดทำคอนโด

ในส่วนของธุรกิจอสังหาฯ ปัจจุบันออลล์ อินสไปร์ยังมีสต็อกขายมูลค่ารวม 5,000-6,000 ล้านบาท ที่มองว่าจะรับรู้รายได้ได้เพียงพอใน 3 ปี ทำให้จะหยุดพัฒนาโครงการใหม่ไปก่อนในช่วงนี้

“วัฏจักรตอนนี้ไม่ใช่ขาขึ้นของอสังหาฯ อาจจะต้องรอรอบไปอีก 3-5 ปี อีกอย่างคือธุรกิจนี้ความเสี่ยงสูง เมื่อเริ่มก่อสร้างแล้วหยุดไม่ได้ แต่กว่าจะได้รายได้ต้องรอสร้างเสร็จอีก 2-3 ปี ขณะที่ตลาดมีรายใหญ่ที่ได้ต้นทุนทางการเงินดีกว่า ทำให้เราต้องยอมรับว่าแข่งขันยากในภาวะนี้ รวมถึงเทรนด์ระยะยาวของสังคมไทยก็เข้าสู่ช่วงประชากรลดลง คนมีลูกน้อยลง ทำให้ดีมานด์ต่ออสังหาฯ จะไม่สูง” ธนากรกล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้ตัดสินใจเปลี่ยนธุรกิจครั้งใหญ่

ดิ เอ็กเซล รัชดา 18 ตัวอย่างโครงการของ ออลล์ อินสไปร์ โครงการนี้ยังอยู่ระหว่างขาย

อย่างไรก็ตาม ออลล์ อินสไปร์ จะยังเก็บที่ดินไว้อีก 5-6 แปลงเพื่อรอจังหวะ และถ้าหากมีที่ดินที่น่านำมาพัฒนาเองจากการทำธุรกิจ AMC ก็จะมีการลงทุน

ออลล์ อินสไปร์นั้นเริ่มเปิดธุรกิจอสังหาฯ มาตั้งแต่ปี 2557 มีการพัฒนาโครงการรวม 17-18 โครงการตั้งแต่เปิดบริษัท ส่วนใหญ่จะเป็นการพัฒนาคอนโดมิเนียมภายใต้แบรนด์ The Excel (ดิ เอ็กเซล) จับตลาดระดับกลางถึงล่าง ก่อนจะทยอยเข้าสู่ตลาดกลางถึงบน เช่น ไรส์ พหล-อินทามาระ, ไรส์ เจริญนคร, อิมเพรสชั่น เอกมัย

ธนากรกล่าวว่า ทุกโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างจะมีการก่อสร้างและขายต่อเนื่อง ยกเว้นอิมเพรสชั่น เอกมัย ที่ตัดสินใจยกเลิกโครงการแล้ว แม้ว่าจะมียอดขายถึง 60% และโครงการได้รับ EIA เรียบร้อย เพราะบริษัทมองว่าตลาดไม่เหมาะที่จะลงทุนต่อจากดีมานด์ที่ต่ำลง ขณะนี้อยู่ระหว่างคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยให้กับผู้ซื้อทั้งหมด (***Update 19 พ.ค. 65 ออลล์ อินสไปร์ขอเรียนชี้แจงข้อมูลว่า โครงการอิมเพรสชั่น เอกมัย “ไม่ยกเลิก” โครงการ ยังมีการก่อสร้างต่อเนื่อง แต่มีการชะลอการดำเนินการ และคืนเงินให้กับผู้ซื้อตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น)

]]>
1384922