อัปเดต : คนไทยว่างงาน 8.7 แสนคน หนี้ครัวเรือนพุ่ง 14.27 ล้านล้าน ระวังหนี้เสียบัตรเครดิต

อัปเดตตัวเลขผู้ว่างงาน Q3/64 มีมากกว่า 8.7 แสนคน สูงสุดนับตั้งแต่เกิดโควิด-19 เด็กจบใหม่หางานยาก หนี้ครัวเรือนไทยยังพุ่งต่อเนื่อง เเม้สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP จะปรับลดลงเล็กน้อยแต่ยังคงอยู่ในระดับสูง ต้องเฝ้าระวังหนี้เสียจากบัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคลที่เพิ่มขึ้น

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผย ภาวะสังคมไทยไตรมาส 3/64 พบว่า การว่างงาน เพิ่มขึ้นสูงสุดตั้งแต่มีการระบาดของโควิด โดยมีผู้ว่างงาน 8.7 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานที่ 2.25%

ผู้ที่มีการศึกษาระดับอุดมศึกษา มีอัตราการว่างงานสูงสุด 3.63% รองลงมาเป็น ปวส. 3.16% ซึ่ง ผู้ว่างงานส่วนใหญ่จบในสาขาทั่วไป (บริหารธุรกิจ การตลาด) จึงมีแนวโน้มประสบปัญหาการว่างงานยาวนานขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้อย่างจำกัด และคนกลุ่มนี้ที่มีทักษะไม่ต่างกัน จึงหางานได้ยากขึ้น

เด็กจบใหม่ หางานยาก

โดยแรงงานที่มีอายุ 15-19 ปี มีอัตราการว่างงานสูงสุด 9.74% รองลงมาเป็นอายุ 20-24 ปี ที่ 8.35% สะท้อนว่าโควิดส่งผลกระทบต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการที่เคยชะลอการเลิกจ้างบางส่วนไม่สามารถรับภาระต่อได้และจำเป็นต้องเลิกจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น

“เด็กจบใหม่ยังไม่มีตำแหน่งรองรับ เนื่องจากผู้ประกอบการยังได้รับผลกระทบและรอดูสถานการณ์ จึงชะลอการขยายตำแหน่งงาน” 

ทั้งนี้ การว่างงานของแรงงานในระบบ มีสัดส่วนผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานต่อผู้ประกันตนอยู่ที่ 2.47% ลดลงจากช่วงไตรมาสก่อนหน้าและปีก่อน เนื่องจากช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการและผู้ประกันตนในพื้นที่ควบคุมสูงสุด ประกอบกับสถานประกอบการมีการหยุดกิจการชั่วคราวด้วยเหตุสุดวิสัยแทนการเลิกจ้าง ซึ่งมีจำนวนผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย 2.1 แสนคน ในเดือนกันยายน 2564 เพิ่มขึ้นจาก 0.9 แสนคน ณ สิ้นไตรมาสก่อน

ภาพรวมการจ้างงาน ผู้มีงานทำ มีจำนวนทั้งสิ้น 37.7 ล้านคน ลดลง 0.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการจ้างงานภาคเกษตรกรรมยังคงขยายตัวได้ ซึ่งมีการจ้างงาน 12.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.0% เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มฤดูการเพาะปลูกข้าว

การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมลดลง 1.3% โดยสาขาที่มีการจ้างงานลดลงมาก ได้แก่ สาขาก่อสร้าง สาขาโรงแรม/ภัตตาคาร ที่ลดลงถึง 7.3% และ 9.3% ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลของมาตรการควบคุมการเปิดปิดสถานประกอบการ ทั้งการปิดแคมป์คนงาน และจำกัดการขายอาหาร

สำหรับสาขาที่ขยายตัวได้ ประกอบด้วย สาขาการผลิต ขายส่ง/ขายปลีก และสาขาขนส่ง/เก็บสินค้า ขยายตัวได้ 2.1% 0.2 และ 4.6% ตามลำดับ สาขาการผลิตที่มีการจ้างงานขยายตัวได้ดี อาทิ การผลิตอาหารและเครื่องดื่ม การผลิตรถยนต์ การผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า และอุปกรณ์ทางการแพทย์

สำหรับ ชั่วโมงการทำงานหลักโดยเฉลี่ยของภาคเอกชนอยู่ที่ 43.9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีชั่วโมงการทำงานอยู่ที่ 44.0 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และมีผู้ว่างงานชั่วคราวสูงถึงเกือบ 9 แสนคน (ผู้มีงานทำที่ไม่ได้ทำงานในสัปดาห์แห่งการสำรวจ หรือทำงาน 0 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ อาทิ ลาหยุด ลาป่วย ถูกพักงาน หรือสถานประกอบการหยุดกิจการชั่วคราว) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนเพียง 4.7 แสนคน เท่านั้น

Photo : Shutterstock

สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป ได้แก่

1.การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อการจ้างงานในภาคการท่องเที่ยว และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การเปิดประเทศยังต้องมีมาตรการเพิ่มเติม คือ การควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดที่ต้องเข้มงวดขึ้น

“การหามาตรการช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยวขนาดเล็ก การอำนวยความสะดวกในการจ้างงานให้กับภาคท่องเที่ยวซึ่งอาจมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน และการดำเนินมาตรการอื่นควบคู่เพื่อฟื้นฟู่เศรษฐกิจและการจ้างงาน โดยเฉพาะจากโครงการ พ.ร.ก.กู้เงินฯ ฉบับใหม่ ซึ่งต้องเน้นให้เป็นโครงการที่ก่อให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น”

2.ผลกระทบของอุทกภัยต่อแรงงานภาคเกษตรและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร โดยรัฐบาลได้มีมาตรการเยียวยาเบื้องต้นจากความเสียหายของผลผลิตทางการเกษตรแล้ว ทั้งนี้ อาจต้องมีมาตรการสนับสนุนด้านการเงินเพื่อนำไปใช้ในการซ่อมแซมบ้านเรือนและเป็นทุนในการทำการเกษตรอีกทางหนึ่ง

3.ภาระค่าครองชีพที่อาจปรับเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน โดยเฉพาะผู้ว่างงานชั่วคราวที่ไม่ได้รับค่าจ้าง ซึ่งมีจำนวนสูงถึง 7.8 แสนคน ทำให้แรงงานกลุ่มนี้มีปัญหาในการดำรงชีพ

4.การจัดการปัญหาการสูญเสียทักษะจากการว่างงานเป็นเวลานานและการยกระดับทักษะให้กับแรงงาน โดยในระยะถัดไป ภาครัฐอาจส่งเสริมให้แรงงานโดยเฉพาะกลุ่มผู้ว่างงานเข้ารับการอบรมเพื่อพัฒนาทักษะให้เพิ่มขึ้น

5. การส่งเสริมให้แรงงานที่ประกอบอาชีพอิสระที่ลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ของสำนักงานประกันสังคม เพื่อรับการช่วยเหลือเยียวยาให้เป็นผู้ประกันตนอย่างต่อเนื่อง

หนี้ครัวเรือนพุ่งไม่หยุด ระวังหนี้บัตรเครดิต

ด้าน ‘หนี้สินครัวเรือน’ ไตรมาส 2 ปี 2564 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 14.27 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 จากร้อยละ 4.7 ในไตรมาสก่อน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 89.3 ต่อ GDP ลดลงจากร้อยละ 90.6 ในไตรมาสที่ผ่านมา จากเศรษฐกิจที่ขยายตัวเร็วกว่าหนี้สินครัวเรือน

อย่างไรก็ตาม สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP ยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด ด้านคุณภาพสินเชื่อยังต้องเฝ้าระวังหนี้บัตรเครดิตที่มีหนี้เสียเพิ่มขึ้น

แม้ว่าสัดส่วน NPLs ของสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 2.92 ทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่สัดส่วน NPLs ของสินเชื่อบัตรเครดิตต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งเป็นไตรมาสที่สองติดต่อกัน จากร้อยละ 3.04 ในไตรมาสก่อนมาเป็นร้อยละ 3.51 รวมถึงลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เสียจากบัตรเครดิต 1 ใน 3 เป็นผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี

หนี้สินครัวเรือน ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมีสาเหตุจาก

  • ภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่สามารถขยายตัวได้ในระดับปกติ แม้ว่าทั้งปี 2564 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว แต่เป็นการขยายตัวจากฐานต่ำ สะท้อนว่ารายได้ครัวเรือนยังคงไม่ฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะกระทบต่อสภาพคล่องและความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน
  • ผลกระทบของอุทกภัย ทำให้ครัวเรือนต้องก่อหนี้เพื่อนำมาซ่อมแซมบ้านเรือนและเครื่องใช้ที่ได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการก่อหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค

ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญในระยะถัดไป ได้แก่

1. หนี้เสียโดยเฉพาะบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งหากลูกหนี้ผิดนัดชำระจะต้องเสียดอกเบี้ยปรับในอัตราที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับหนี้ประเภทอื่น

2. การส่งเสริมให้ลูกหนี้เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ จากปัจจุบันที่หนี้เสียของครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูงแม้ว่าจะมีการดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจเกิดจากการไม่รับรู้ถึงมาตรการช่วยเหลือ จึงควรเร่งประชาสัมพันธ์ให้ลูกหนี้เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้เพื่อลดภาระและเพิ่มสภาพคล่องให้กับลูกหนี้

3. การก่อหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้น จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในรอบครึ่งปี 2564 พบว่า มีมูลค่าหนี้นอกระบบรวม 8.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีเพียง 5.6 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 1.5 เท่าจากปี 2562

 

อ่านรายงานฉบับเต็ม : ภาวะสังคมไทยไตรมาส 3/2564