ดอกไม้ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Fri, 19 May 2023 08:06:19 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 การบริหารจัดการของสวย..ไม่ให้เป็นของเสีย กับการลดโลกร้อน สู่นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน https://positioningmag.com/1431067 Sat, 20 May 2023 04:00:06 +0000 https://positioningmag.com/?p=1431067

“ดอกไม้” แสนสวยนานาชนิดมักจะเป็นสัญลักษณ์แทนความรู้สึกในวาระต่างๆ ตั้งแต่การแสดงความยินดี ความรัก ความเคารพศรัทธา ความห่วงใย ตลอดจนการไว้อาลัยในวาระสุดท้ายของชีวิต

“จากสัญลักษณ์แทนใจ..สู่การตระหนักถึงการบริหารจัดการ”

แต่เดิมเชื่อว่าการมอบหรือส่งต่อของที่มาจากธรรมชาติจะไม่ส่งผลกระทบต่อสภาวะการณ์ของโลก..แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก๊าซมีเทน อันเกิดจากขยะอินทรีย์ กลับเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ส่งผลให้โลกร้อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญในระดับต้นๆ โดยหลายประเทศได้มีการหยิบยกเอาปัญหาดังกล่าว มาตอกย้ำและร่วมกันหาแนวทางแก้ไข

“อินเดีย..ดอกไม้แห่งความศรัทธา..สู่แนวทางการลดขยะที่ยั่งยืน”

ที่ประเทศอินเดีย กับ ขยะดอกไม้ที่มาจากการบูชาเทพเจ้าในแม่น้ำคงคา ซึ่งตามความเชื่อ ดอกไม้ที่ผ่านการบูชาจะไม่สามารถทิ้งลงถังขยะได้ ทำให้ดอกไม้ประมาณ 8 ล้านตันจบลงที่แม่น้ำสายใหญ่ของประเทศทุกปี ซึ่งจากปัญหาดังกล่าวจึงได้มีแนวคิดรวบรวมดอกไม้ที่ถูกทิ้งเป็นขยะอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ มาแปรรูปเป็นกระดาษ ธูป รวมถึงสีน้ำที่สามารถใช้ในเทศกาลสำคัญต่อไปได้ หลายหน่วยงานมองว่ากระบวนการและวิธีการรีไซเคิลขยะจากแม่น้ำและสร้างอาชีพดังกล่าว ถือเป็นการตอบสนองต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ใน ข้อ 12 หรือการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน โดยเป็นการจัดการอย่างถูกต้องเพื่อลดการปล่อยสารเคมีและของเสียเป็นพิษออกสู่ธรรมชาติ และลดของเสียโดยกระบวนการ Reuse และ recycle

“ออสเตรเลีย..เครือข่ายของธุรกิจดอกไม้ที่ใส่ใจความยั่งยืน”

นอกจากนี้ยังมีกรณีตัวอย่างของการจัดการอุตสาหกรรมจัดดอกไม้ขาย หรือ Floristry ในประเทศออสเตรเลีย ที่ได้มีการพบข้อมูลว่าเป็นวงการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นทาง เช่นการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลงในกระบวนการเพาะปลูก เพื่อรองรับความต้องการในโอกาสวันสำคัญต่างๆ รวมไปถึงการจัดดอกไม้ที่ยังใช้วัสดุประเภทพลาสติก โฟม และอื่นๆ สำหรับทำพวงหรีดหรือซุ้มงานพิธี ซึ่งไม่สามารถย่อยสลายหรือนำมารีไซเคิลได้ อีกทั้งดอกไม้ทั้งหลายได้กลายสภาพเป็นภูเขาขยะและปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมาก

Sustainable Floristry Network จึงเกิดขึ้น เพื่อให้นักจัดดอกไม้ได้เข้ามาเป็นเครือข่าย เรียนรู้และสร้างองค์ความรู้ในการเปลี่ยนแปลงฐานรากของ ‘ความไม่ยั่งยืน’ ดังกล่าว ให้หันมาผลิตด้วยเทคนิคและวัสดุที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ที่สามารถย่อยสลายและรีไซเคิลได้ เพื่อเป็นการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (carbon footprint) ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Net Zero emissions) ไม่ใช้สารพิษ และไม่สร้างขยะเพิ่ม โดยได้ดำเนินการคู่ขนานไปทั้งในส่วนของประชาชนผู้บริโภคและผู้ประกอบการ

“ประเทศไทย..กับความใส่ใจในเรื่องการคัดแยก..และนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน”

สำหรับประเทศไทยในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ผู้ใช้บริการ ต่างมีแนวคิดเพื่อเลือกมอบสิ่งที่ดี โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจเองได้ขยับตัวให้ไปตามยุคสมัย สรรหาการให้บริการที่หลากหลายขึ้น แทนการให้ดอกไม้สดเพียงอย่างเดียว เช่น ให้ของใช้ หรือ การใช้วัสดุเทียมทดแทนเพื่อการใช้ซ้ำได้ ดีต่อใจ และดีต่อโลกควบคู่กัน

อย่างเช่น ในงานไว้อาลัยที่จะเห็น การใช้พวงหรีดเสื่อ ต้นไม้ จักรยาน พัดลม หรือแม้แต่เครื่องฟอกอากาศ แพร่หลายมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม พวงหรีดดอกไม้สด ยังคงเป็นที่นิยมที่สุดอยู่ โดยเฉพาะในงานใหญ่ๆ ของบุคคลสำคัญๆ ที่มีการไว้อาลัยด้วยพวงหรีดหลายพันพวง ทำให้ผู้จัดให้ความสำคัญในการจัดแผนบริหารจัดการรองรับเหตุดังกล่าว เพื่อไม่ให้พวงหรีดที่เป็นตัวแทนการแสดงความไว้อาลัยกลายเป็นขยะที่สร้างมลพิษกระทบต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อม โดยมีกระบวนการที่สำคัญคือ “การคัดแยก” แยกวัสดุต่างๆ ตามประเภทและการจัดการตามที่แตกต่างกัน เช่น ไม้ และ โอเอซิส นำไปเป็นพลังงานเชื้อเพลิง กระดาษและพลาสติก นำไปรีไซเคิล และเหลือทีเป็นดอกไม้สด เตรียมไปเข้าสู่กระบวนการทำปุ๋ย

บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ รีไซเคิล จำกัด หรือ TBR หนึ่งในผู้นำด้านการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว อย่างยังยืนในประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลถึงกระบวนการดังกล่าวว่า TBR ได้ จับมือกับริษัท โอ๊คลิน (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะเชี่ยวชาญด้านการให้บริการดูแลและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับนวัตกรรมเครื่องกำจัดเศษอาหาร หรือขยะอินทรีย์ให้กลายเป็นปุ๋ย ซึ่งสามารถจัดการดอกไม้สดที่ได้จากพวงหรีดได้เช่นกัน ตัวอย่างงานไว้อาลัยที่มีจำนวนพวงหรีดดอกไม้สดกว่า 2,000 พวง เทียบเป็นขยะอินทรีย์จากดอกไม้สดได้กว่า 3 ตัน เมื่อนำไปผสมเข้าเครื่องจะเหลือเป็นปุ๋ยประมาณ 10% หรือประมาณ 300 กิโลกรัม โดยปุ๋ยที่ได้มีธาตุอาหารเพียงพอในการบำรุงดิน ดูแลพืชได้ สามารถส่งต่อให้กับหน่วยงานที่ใช้ประโยชน์ได้ทันที เช่น พื้นที่สีเขียวในสวนสาธารณะต่างๆ

จะเห็นได้ว่าปัญหาขยะและมลพิษไม่ว่าจะเกิดโดยธรรมชาติ หรือเกิดจากการสร้างของมนุษย์ หากขาดกระบวนการในการบริหารจัดการที่ดี และถูกละเลยไม่ให้ความสำคัญ จากปัญหาเล็กๆ ก็สามารถขยายวงกว้างให้กลายเป็นปัญหาระดับโลกได้ เช่นเดียวกับดอกไม้ที่สวยงาม เมื่อถึงเวลาก็จะไม่กลายสภาพเป็นภูเขาขยะ เพราะได้รับความใส่ใจจากทุกคน รู้จักที่จะสร้างสรรค์แปรรูป เพิ่มมูลค่า ตลอดจนคิดค้นพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ รองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อให้แก้ปัญหาดังกล่าวเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นทางและสร้างให้เกิดยั่งยืน..

]]>
1431067
ที่มา (และการตลาด) ของ 3 สินค้าแห่ง “ความรัก” และ “วาเลนไทน์” https://positioningmag.com/1373654 Fri, 11 Feb 2022 09:58:38 +0000 https://positioningmag.com/?p=1373654 “วาเลนไทน์” วันแห่ง “ความรัก” เวียนมาอีกปี กระตุ้นเศรษฐกิจการจับจ่ายซื้อของขวัญให้กับคนรัก โดย 3 สัญลักษณ์แห่งความรักที่นิยมมอบเป็นของขวัญมากที่สุดในโลกสากลคือ ดอกกุหลาบ, ช็อกโกแลต และ แหวนเพชร ทว่า สิ่งของเหล่านี้บางอย่างไม่ได้เป็นธรรมเนียมความเชื่อแต่โบราณ แต่เป็นสินค้าแห่งรักที่ประดิษฐ์ขึ้นผ่าน “การตลาด”

เดือนแห่ง “ความรัก” ทุกอย่างรอบตัวกลายเป็นสีแดงและสีชมพู กระตุ้นให้ผู้บริโภคใช้โอกาสนี้แสดงความรักให้แก่กัน โดยมี 3 ของขวัญสัญลักษณ์แห่ง “วาเลนไทน์” ที่มักจะมอบให้กัน แต่ของขวัญเหล่านี้บางอย่างมีจุดเริ่มต้นเป็นประดิษฐกรรมทางการตลาดที่ส่งผ่านมาหลายสิบปีหรือนับร้อยปี จนสังคมซึมซับและกลายเป็นธรรมเนียมไปในที่สุด

1.ดอกกุหลาบ

ดอกกุหลาบนับได้ว่าเป็นท่ามาตรฐานของการแสดงความรักในธรรมเนียมสากล และยังสามารถแปลความได้หลากหลายผ่านภาษาดอกไม้ เพราะกุหลาบแต่ละสีก็มีความหมายในตัวเองต่างกัน เช่น กุหลาบแดง หมายถึง ฉันรักเธอ แต่หากเป็นกุหลาบเหลือง จะหมายถึงความรักฉันเพื่อน

ทำไมดอกกุหลาบกลายมาเป็นสัญลักษณ์แห่งรัก? ที่จริงแล้วการมอบดอกไม้ให้กันเพื่อแสดงความชอบพอมีปรากฏให้เห็นตั้งแต่สมัยกรีก และมีตำนานเกี่ยวกับดอกกุหลาบในตำนานเทพกรีก โดยกล่าวกันว่า ดอกกุหลาบแดงเกิดขึ้นเพราะเทพีอะโฟรไดต์ เทพีแห่งความรัก ถูกหนามแหลมของกุหลาบขาวตำจนหลั่งเลือดหยดลงไปจนกุหลาบกลายเป็นสีแดง

แต่ดอกกุหลาบมาฮิตจริงๆ ก็ในสมัยศตวรรษที่ 18 จากผู้นำเทรนด์คือ “เลดี้แมรี่ เวิร์ตลีย์ มอนทากู” ภรรยาท่านทูตอังกฤษประจำตุรกี เธอได้เรียนรู้ธรรมเนียมการตีความดอกไม้และสิ่งของรอบตัวเป็นสัญลักษณ์ความหมายต่างๆ ของตุรกี และเกิดไอเดียขึ้นว่าการตีความแบบนี้จะช่วยให้ผู้หญิงสื่อความหมายในใจได้แบบอ้อมๆ ผ่านการส่งของขวัญ ท่ามกลางสภาวะสังคมที่ไม่อนุญาตให้สตรีแสดงออกจนเกินงาม

ความรัก
กุหลาบกลายเป็นสัญลักษณ์แห่ง “ความรัก” มาจนปัจจุบัน (ภาพถ่ายโดย Irina Iriser จาก Pexels)

เลดี้มอนทากูเขียนจดหมายหลายฉบับอธิบายการตีความเหล่านี้ส่งกลับบ้านที่อังกฤษ แม้ต่อมาเราจะค้นพบว่าเธอเข้าใจผิด เพราะการแทนสัญลักษณ์สิ่งของสื่อความหมายของตุรกีเป็นการเล่นคำพ้องเสียงเท่านั้น แต่ในยุคนั้นจดหมายของเธอก็ถูกรวมตีพิมพ์และเกิดแพร่หลายขึ้นมา มีผู้รวบรวมและตีพิมพ์หนังสือแปลความ “ภาษาดอกไม้” อีกมาก จนการใช้ดอกไม้รวมถึง “ดอกกุหลาบ” สื่อรักฝังรากลึกในสังคมสำเร็จในช่วงศตวรรษที่ 19 หรืออีกราวร้อยปีต่อมา

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าดอกกุหลาบจะฮิตมากว่า 200 ปี แต่ในช่วง 3-4 ปีมานี้เริ่มมีกระแสที่อาจจะทำให้ความนิยมเสื่อมลง เพราะคนรุ่นใหม่เริ่มมองว่า ดอกกุหลาบออกจะ ‘เฝือ’ เกินไป ใครๆ ก็ให้กัน ทำให้ต้องการดอกไม้อื่นที่แสดงตัวตนได้มากกว่า หรือบางรายอาจจะเลือกของขวัญอย่างอื่นที่อยู่ได้นานกว่า และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมจากยาฆ่าแมลงแบบธุรกิจไม้ตัดดอกด้วย

 

2.ช็อกโกแลต

วาเลนไทน์
(Photo: Shutterstock)

สำหรับสัญลักษณ์ความรักและวาเลนไทน์ชิ้นนี้นับว่าเป็นประดิษฐกรรมอันชาญฉลาดของผู้ผลิตช็อกโกแลต ในปี 1861 เป็นยุคที่ประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษคลั่งไคล้ความรักโรแมนติก การส่งการ์ดและของขวัญเป็นที่นิยม และเริ่มมีการฉลองวาเลนไทน์ในเชิงพาณิชย์มาตั้งแต่ทศวรรษ 1840s

ประจวบเหมาะกับที่ “ริชาร์ด แคดบิวรี” สมาชิกตระกูลผู้ผลิตช็อกโกแลตในอังกฤษ คิดค้นวิธีสกัดโกโก้บัตเตอร์ได้ปริมาณมากขึ้น จนมีอุปทานโกโก้บัตเตอร์เหลือขาย เขาจึงมองหาวิธีผลิตสินค้าให้ได้ยอดขายมากขึ้น

วาเลนไทน์
ช็อกโกแลตในกล่องสวยงามสำหรับมอบให้ในวัน “วาเลนไทน์” ยังคงได้รับแรงบันดาลใจมาจนปัจจุบัน (Photo: Shutterstock)

แคดบิวรีออกไอเดียเชื่อมโยงช็อกโกแลตกับการส่งของขวัญแห่งความรักเพื่อกระตุ้นยอดขาย โดยการผลิตช็อกโกแลตจัดตกแต่งในกล่องสวยงามที่ออกแบบเป็นพิเศษ เช่น กล่องรูปหัวใจประดับด้วยรูปคิวปิด กล่องเหล่านี้กลายเป็นของขวัญที่ยืนยาวกว่าช็อกโกแลตสำหรับรับประทาน คู่รักมักเก็บกล่องที่ได้ไว้ใส่สิ่งของแทนรักต่างๆ เช่น จดหมายรัก

ไอเดียการตลาดของแคดบิวรีจึงเป็นที่นิยมเรื่อยมา และแพร่หลายไปถึงสหรัฐอเมริกาที่มีบริษัทอื่นๆ รับไอเดียช็อกโกแลตในกล่องรูปหัวใจไปใช้เช่นกัน จนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เริ่มเสื่อมความนิยมเนื่องจาก “น้ำตาล” ที่ใช้ผลิตช็อกโกแลตเป็นของมีราคาหาซื้อยาก แต่หลังจากเศรษฐกิจฟื้น ช็อกโกแลตก็กลับมาเป็นสัญลักษณ์อีกครั้ง

 

3.แหวนเพชร

ความรัก
(Photo: Shutterstock)

‘A diamond is forever’ เป็นสโลแกนแห่งตำนานสุดยอดการตลาดของ De Beers บริษัทผู้ครองตลาดเพชรเจ้าใหญ่ที่สุดของโลก และเป็นเบื้องหลังการผลักดันให้ “แหวนเพชร” คือสิ่งที่ “ต้องมี” ในงานแต่งงาน

ราวทศวรรษ 1930-1940s แหวนเพชรไม่ใช่สิ่งที่ต้องมีในการสู่ขอเจ้าสาว มีเจ้าสาวเพียงแค่ 10% เท่านั้นที่ได้รับแหวนเพชรเป็นของหมั้น และในสหรัฐฯ นั้นฝั่งเจ้าสาวมักจะต้องการสิ่งของที่จำเป็นมาสู่ขอ เช่น บ้าน รถยนต์ หรือกระทั่งเครื่องซักผ้า ส่วนแหวนเพชรนั้นถือกันว่าเป็นของล้าสมัยไปแล้ว อีกทั้งยังถือเป็นของราคาแพงสำหรับคนรวยเท่านั้น

กระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1947 บริษัท De Beers เริ่มคิดแผนการตลาดที่จะทำให้เพชรกลับมาเป็นที่นิยม เป็นสิ่งที่คนต้องขวนขวายหามา โดยการนำเสนอเรื่องราวของ “เพชร” กับ “ความรัก” ให้เพชรเป็นสัญลักษณ์ของความมั่นคงแห่งรัก เหมือนกับเพชรที่แข็งแกร่งและทำลายได้ยาก จึงเหมาะกับการเป็นแหวนหมั้นหรือแหวนแต่งงาน โดยมีก๊อบปี้ไรเตอร์ “ฟรานเซส เกียร์ตี้” จากเอเจนซี่ N.W. Ayer คิดสโลแกน ‘A diamond is forever’ ให้

มาริลีน มอนโร ในเรื่อง Gentlemen Prefer Blondes สวมชุดสีชมพูพร้อมเครื่องเพชรเต็มกาย ถือเป็นหนึ่งในภาพจำไอคอนิกของเธอ (Photo: Wikimedia Commons)

De Beers ทำการตลาดคอนเซ็ปต์นี้ผ่านสื่อโฆษณาหลากหลาย รวมถึงผ่าน “ภาพยนตร์ฮอลลีวูด” ที่ถือเป็นแรงส่งสำคัญ โดยเฉพาะเรื่อง “Gentlemen Prefer Blondes” ที่มี “มาริลีน มอนโร” นำแสดง ตัวเอกในเรื่องเป็นหญิง ‘นักตกทอง’ ที่ต้องการแต่งงานกับคนรวย ในเรื่องเธอร้องเพลงดังที่จะกลายเป็นตำนานอย่าง “Diamonds are a Girl’s Best Friend” ความโด่งดังของหนังเรื่องนี้ในปี 1953 ส่งให้ “เพชร” เป็นป๊อปคัลเจอร์ใหม่ของยุค

นอกจากหนังเรื่องนี้ De Beers และเอเจนซี่ N.W.Ayer ยังจ่ายเงินล็อบบี้ให้ผู้ผลิตและโฆษณาภาพยนตร์ฮอลลีวูดใช้เพชรเป็นเครื่องประดับ และถ่ายทำออกหน้าจอให้มากที่สุดและสวยเห็นชัดที่สุดที่ทำได้ เมื่อผู้บริโภคเห็นดารานักแสดงสวมใส่เพชรมากเข้า ความรู้สึกที่ดีต่อ “เพชร” ก็ก่อตัวแน่นหนาขึ้น ประกอบกับแคมเปญกระตุ้นการใช้ “แหวนเพชร” แสดงความรัก ยิ่งส่งให้การโฆษณาประสบความสำเร็จ

แค่เพียงปี 1959 การให้แหวนเพชรขอหมั้นก็พุ่งขึ้นเป็น 80% และในปี 1979 ยอดขายเพชรของ De Beers ในสหรัฐฯ ก็เพิ่มขึ้นเป็น 2,100 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นเกือบ 100 เท่าจากที่เคยทำได้เพียง 23 ล้านเหรียญในช่วง 40 ปีก่อนหน้า!

เรียกว่านอกจาก ‘A diamond is forever’ แล้ว สุดยอดการตลาดที่บ่มเพาะอย่างต่อเนื่องก็จะขายได้นิรันดร์เช่นกัน

ที่มา: Time, Reader’s Digest, History.com, Smithsonian Magazine, New York Post, The Eye of Jewelry

]]>
1373654