ล่าสุดบิ๊กน้ำดื่มอย่าง “สิงห์” ประเดิมส่ง “เพอร์ร่า วิตามิน วอเตอร์” ขอลงสนาม “โตไว” นี้ด้วย เล่นเอาเเบรนด์คู่เเข่งต้องปรับกลยุทธ์กันใหม่เลยทีเดียว
เพราะ “น้ำแร่เพอร์ร่า” เป็นแบรนด์อันดับ 1 มีส่วนแบ่งทางการตลาดน้ำเเร่ถึง 26% หลังจากเปิดตัวเพียง 8 ปี เเสดงว่าต้องมี “ฐานเเฟนคลับผู้รักสุขภาพ” อยู่จำนวนมาก เป็นทุนเดิมนั่นเอง ประกอบกับ “น้ำดื่มสิงห์” ก็ครองเเชมป์ตลาดด้วยมาร์เก็ตเเชร์ 25% (ย้อนหลัง 12 เดือน) ด้วยเช่นกัน
การเสริมพอร์ตด้วย “น้ำดื่มผสมวิตามิน” ของสิงห์ จึงน่าจับตาว่าจะสามารถ “เขย่าตลาดเเข่งดุ” นี้ ได้หรือไม่ ส่วนคำถามที่ว่า “ทำไมออกตัวช้า” นั้น…
เต้–ภูริต ภิรมย์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด บอกกับ Positioning ว่า น้ำดื่มผสมวิตามิน ต้องผ่านกระบวนการคิดค้นหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องคุณประโยชน์ที่ต้องไปให้ได้กับรสชาติที่อร่อย จึงจำเป็นต้องใช้เวลา
“อยู่ที่จังหวะ บางทีการปล่อยสินค้าออกมาเร็วๆ ก็ไม่ใช่ทางเลือกดีที่สุด เเม้ตลาดจะมีไปเเล้ว 7-8 เจ้า เเต่ในที่สุดอาจจะเหลือผู้ที่อยู่ครองตลาดได้เเค่ 2-3 เจ้า ภายใน 2-3 ปีนี้”
โดยตลาดน้ำผสมวิตามิน มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในปี 2562 มีมูลค่าตลาดราว 1,068 ล้านบาท และคาดว่าทั้งปี 2563 จะมูลค่าตลาดถึง 3,500 ล้านบาท เเละเป็นเพียงการเติบโตใน “ช่วงเริ่มต้น” เท่านั้น เเละยังมีโอกาสโตไปได้อีกมาก
ตลอดช่วง 9 เดือนเเรกของปี 2563 ภาพรวมของตลาดน้ำดื่ม ที่มีมูลค่ากว่า 24,750 ล้านบาท หดตัวไปกว่า -12% จากพิษการเเพร่ระบาดของ COVID-19
เช่นเดียวกับ “ตลาดน้ำเเร่” ที่ติดลบไป -9% เเต่ทว่า “น้ำดื่มผสมวิตามิน” กลับเติบโตเป็นเท่าตัวถึง 110% สวนทิศทางเครื่องดื่มทั้งหลาย นี่จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่สิงห์ต้องกระโจนเข้ามาสู้ตลาดนี้ หลังเตรียมการมานานหลายเดือน
ธิติพร ธรรมาภิมุขกุล Chief Marketing Officer – Brand ของบุญรอดเทรดดิ้ง บอกถึงเหตุผลที่เลือกเปิดตัวน้ำผสมวิตามินตัวใหม่นี้ ผ่านเเบรนด์ “เพอร์ร่า” ว่า กลุ่มลูกค้าที่เลือกซื้อน้ำเเร่ มักจะเป็นกลุ่มเดียวกันกับคนที่ซื้อน้ำผสมวิตามิน
น้ำแร่เป็นเครื่องดื่มที่ผู้บริโภคหลัก คือวัยทำงานกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และนิยม “ดื่มนอกบ้าน” มากกว่าซื้อเป็นแพ็กติดบ้าน เมื่อเกิดล็อกดาวน์และจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่เปิดประเทศ ทำให้ตลาดน้ำแร่ยิ่งเจ็บหนัก ส่วนเหตุผลรองที่อาจมากระทบคือ เทรนด์ผู้บริโภคที่รักสุขภาพ หันไปดื่มน้ำเสริมวิตามินแทนน้ำแร่
โดยกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพอายุระหว่าง 25-35 ปี ซึ่งคุ้นเคยกับเเบรนด์เพอร์ร่าดีอยู่เเล้ว
อีกทั้ง “เพอร์ร่า” ยังอยู่ในเซ็กเมนต์ของเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ดังนั้นการนำเสนอสินค้าไลน์ใหม่ด้วยภาพลักษณ์เดียวกันนั้น จะทำให้ลูกค้า “จำได้ง่ายกว่า” เเละมองเห็นภาพความ “เฮลท์ตี้” ได้ชัดเจนขึ้น ส่วนข้อสงสัยที่ว่าคนจะจำสับสนกันหรือไม่นั้น ทางบริษัทได้ปรับให้ เพอร์ร่า วิตามิน วอเตอร์ มีดีไซน์ของขวด ฉลากเเละสีสัน เเตกต่างจากน้ำเเร่เพอร์ร่าเเล้ว
โดยจุดเด่นเเละความเเตกต่างของ เพอร์ร่า วิตามิน วอเตอร์ (Purra Vitamin Water) ที่จะเข้ามาเจาะตลาดนี้ คือการชูคอนเซ็ปต์ “ครบจบในขวดเดียว”
“เราเห็นช่องว่างว่า ตอนนี้เเบรนด์ต่างๆ ที่ผลิตน้ำผสมวิตามินออกมาจำหน่าย ส่วนใหญ่จะเเยกขาย เช่น วิตามิน C หนึ่งขวด วิตามิน B อีกหนึ่งขวด ผู้บริโภคอาจจะต้องซื้อหลายขวดหลายเเบรนด์ เเต่เพอร์ร่า วิตามิน วอเตอร์ จะมาเเบบเเร่ธาตุครบในขวดเดียว พร้อมใส่ปริมาณของเเต่ละวิตามินเท่ากับที่เเบรนด์อื่นใส่ไปในขวดเดียวด้วย…นี่คือจุดเด่นของเรา”
“เมื่อคำนวณจากต้นทุนเเล้ว เราตั้งราคาของเพอร์ร่า วิตามิน วอเตอร์ ให้ต่ำกว่า 15 บาทไม่ได้ เเละจะไม่ตั้งราคาไปไกลถึง 20 บาทเพราะผู้บริโภครับไม่ไหว ดังนั้นเราจึงเลือกจุดตรงกลางที่ 17 บาท ในขนาดบรรจุ 500 มล. เป็นราคาที่เหมาะสม”
ธิติพร อธิบายต่อว่า ตามปกติเเล้ว หลักเกณฑ์ในการตั้งราคาขายของเเต่ละสินค้า จะดูที่ 3 เเกนหลัก ได้เเก่ 1)ต้นทุน 2)คู่เเข่ง 3) ผู้บริโภครับได้ไหม ดังนั้น เมื่อทางเเบรนด์ใช้วิตามินนำเข้าเเละใส่ไปในปริมาณเยอะ จึงไม่สามารถปรับราคาให้ลดลงกว่านี้ได้
โดยผู้บริหารบุญรอดทั้ง ภูริตเเละธิติพร ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า จะไม่เข้าไปต่อสู้เเบบ “ดัมพ์ราคา” ในตลาดน้ำดื่มผสมวิตามิน ที่บางเเบรนด์อาจจะมีการลดไปถึงหลักสิบบาทต้นๆ อย่างเเน่นอน เพราะไม่ใช่เเนวทางของบริษัทที่มุ่งเน้นไปที่เเบรนดิ้ง คุณภาพ เเละมองว่าเรื่องราคาเป็นเรื่องรอง
ในขณะที่ลูกค้าหลายคนให้เหตุผลถึงการเลือกซื้อ “น้ำดื่มผสมวิตามิน” ว่าเป็นการบำรุงร่างกายต่างๆ เเต่ก็มีอีกอีกกลุ่มผู้บริโภคที่สงสัยว่าจำเป็นต่อร่างกายจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงกระเเสนิยมเเละการตลาดเท่านั้น ทางเเบรนด์จะมีการสื่อสารต่อโปรดักต์นี้อย่างไร
ธิติพร ตอบว่า วิตามินเป็นสิ่งที่บำรุงร่างกายอยู่เเล้ว เเต่การที่น้ำดื่มผสมวิตามินจะมีเเร่ธาตุเท่ากับการกินผัก ผลไม้เเละอาหารต่างๆ นั้นเป็นไปไม่ได้ จึงต้องมีการสื่อสารกับลูกค้าถึงสรรพคุณตามความเป็นจริง เน้นเข้าถึงผู้คนผ่านโซเชียลมีเดียเป็นหลัก รองลงมาคือทางออฟไลน์อย่าง กิจกรรมส่งเสริมการขาย ณ จุดขาย ตามแหล่งออฟฟิศต่างๆ เพื่อให้เกิดการทดลองสินค้าไปในวงกว้างที่สุด
นอกจากนี้ ยังสื่อสารผ่านการใช้ “พรีเซ็นเตอร์” ที่ครองใจคนรุ่นใหม่อย่าง “ใบเฟิร์น พิมพ์ชนก” นักแสดงชื่อดังที่สะท้อนความเป็นคนทันสมัย ที่ไม่ว่างานเยอะแค่ไหน ก็ยังคงใส่ใจรักษาสุขภาพ
สิงห์บุกขยายพอร์ตในเครื่องดื่มกลุ่มนอนแอลกอฮอล์มากขึ้น ตลอดช่วงปีที่ผ่านมาตามกระเเสนิยมโลก อีกทั้งยังไม่มีข้อจำกัดด้านโฆษณามากเท่ากับกลุ่มเครื่องดื่มเเอลกอฮอล์
“สัดส่วนในพอร์ตเครื่องดื่มของสิงห์”
ปี 2562 – alcoholic 85 : 15 non-alcoholic
ปี 2563F – alcoholic 80 : 20 non-alcoholic
ปี 2564F – alcoholic 70 : 30 non-alcoholic
เมื่อกลางปีนี้ เพิ่งออก “สิงห์ เลมอนโซดา” ซึ่งเป็นนอนแอลกอฮอล์ของสิงห์ตัวแรกที่เจาะหมวดใหม่คือ
“น้ำอัดลม” จากก่อนหน้านี้จะมีเฉพาะน้ำดื่ม น้ำแร่ และโซดา โดยเปิดผลิตภัณฑ์แรกก็มีเฉพาะแบบ
น้ำตาล 0% เลย ไม่มีแบบใส่น้ำตาลปกติ วางขาย 1 เดือนแรกทำยอดขายเกินเป้า 5 เท่า เเละเตรียมออกรสชาติอื่นเพิ่มภายในปีนี้
จากปัจจุบันกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีน้ำตาล คิดเป็นสัดส่วนเพียง 5% ของตลาดรวมน้ำอัดลม เเบรนด์สิงห์ มองว่าน่าจะโตไปถึง 30% ของตลาดรวมได้ภายใน 3 ปี
“ในอนาคตอันใกล้นี้ ตลาด 0 cal จะโตมาก รวมไปถึงกระเเสนิยมในกลุ่ม Functional Drink เครื่องดื่มที่ดีสุขภาพอื่นๆ เช่น น้ำดื่มผสมวิตามิน ยังจะมีต่อเนื่องไปอีกหลายปี เเละยังเป็นตลาดที่มีช่องว่างให้เติบโตได้อีก”
]]>ภาพรวมตลาดเครื่องดื่มรวมในช่วงครึ่งปีแรก ติดลบ 7% หนักที่สุดในช่วงไตรมาส 2 (ตั้งเเต่เดือนมี.ค.) เนื่องจากช่องทางการจัดจำหน่ายที่สำคัญอย่าง ร้านอาหาร ภัตราคาร ธุรกิจฟาสต์ฟู้ด มีสัดส่วนเป็น 18-20% ของช่องทางจำหน่ายทั้งหมดต้องหยุดให้บริการในช่วงล็อกดาวน์ขณะเดียวกันผู้คนก็ออกจากบ้านน้อยลงเเละหลีกเลี่ยงการสังสรรค์
ในปัจจุบัน “ตลาดเครื่องดื่มรวม” (Liquid Refreshing Beverage : LRB) ของประเทศไทย ในปี 2562 มีมูลค่าประมาณ 1.55 เเสนล้านบาท เเบ่งสัดส่วนตลาดเป็น
สมชัย เกตุชัยโกศล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่ท้าทายของตลาดเครื่องดื่ม เมื่อเทียบกับในสถานการณ์ปกติที่ปีที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโต 9% โดยคาดว่าเครื่องดื่มทุกประเภทจะติดลบเหมือนกันหมดในปีนี้
โดยสถานการณ์ COVID-19 ทำให้การเติบโตในช่วงครึ่งปีเเรก 2563 ของตลาดเครื่องดื่มโดยรวมติดลบ 7% ตลาดน้ำอัดลม ติดลบ 2.5% ตลาดน้ำดื่มบรรจุขวด ติดลบ 12% ตลาดกาแฟพร้อมดื่ม ติดลบ 7% ตลาดชาพร้อมดื่ม ติดลบ 13% ตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง ติดลบ 6% เเละสปอร์ตดริ้งก์ ติดลบ 13%
เมื่อเจาะลึกไปยังกลุ่ม “น้ำอัดลม” พบว่ามีมูลค่าตลาดในปี 2019 อยู่ที่ 5.6 หมื่นล้านบาท (ปี 2018 อยู่ที่ราว 50.9 หมื่นล้านบาท) มีการเเข่งขันกันอย่างดุเดือด โดยเฉพาะ 3 เจ้าใหญ่อย่างโค้ก เป๊ปซี่ เเละเอส
ขณะที่ส่วนแบ่งของตลาดน้ำอัดลมไทยแยกตามประเภท ได้แก่ น้ำอัดลมสีดำ 71% น้ำอัดลมสี 23% และน้ำอัดลมไม่มีสี 6%
เป็นที่น่าสนใจว่า “ตลาดน้ำอัดลมสี” เติบโตขึ้น 10% ในช่วงที่ผ่านมา หลังเป๊ปซี่ปรับโฉม “มิรินด้า” ตีตลาดคนรุ่นใหม่ ด้วยการออก “มิรินด้ากลิ่นกรีนครีม” ออกมาในช่วงต้นปีนี้ มียอดขายเติบโตกว่า 15%
นี่จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ “เป๊ปซี่” หันมารุกตลาดน้ำสีอย่างหนักในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ตอบรับเศรษฐกิจที่ค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น
“ที่ผ่านมาเราทุ่มให้กับตลาดน้ำดำมาโดยตลอด ถึงตอนนี้เเบรนด์เเข็งแกร่งเเล้ว จึงถึงเวลาที่จะมาบุกตลาดน้ำสีอย่างเต็มที่” ผู้บริหารซันโทรี่ เป๊ปซี่โคกล่าว
ล่าสุดได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ของมิรินด้า ประเดิมครึ่งปีหลัง ด้วยกลิ่นมิกซ์เบอร์รี่และแตงโม ชูจุดเด่นเป็นเครื่องดื่มน้ำอัดลมที่ผสาน 2 กลิ่นผลไม้ในขวดเดียว โดยรสชาติใหม่จะมีช่วงระยะห่างกันประมาณ 6-8 เดือนจนกว่าจะมีรสชาติที่ใหม่กว่าออกมาจำหน่าย
โดยการปรับภาพลักษณ์ครั้งใหญ่ของ “มิรินด้า” ในปีนี้ วางงบการตลาดไว้ที่ 200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงเท่าตัว จากเมื่อปีที่ผ่านมาใช้ราว 100 ล้านบาท เพื่อชิงขึ้นเป็น “เบอร์ 2” ในตลาดน้ำสี เเทนที่เอส ซึ่งขณะนี้มีส่วนแบ่งในตลาดห่างกันเเค่ 2.5%
“ในงบการตลาด 200 ล้านบาทนี้ จะใช้ในสื่อดิจิทัลถึง 60% เพื่อเข้าถึงคนรุ่นใหม่ Gen Z อย่างทั่วถึง”
อย่างไรก็ตาม การที่มิรินด้าเปิดตัวในไทยมานานตั้งเเต่ปี 2520 หรือกว่า 43 ปีที่เเล้ว เเละเริ่มมีการปรับโฉมในปี 2560 การที่จะเปลี่ยนเเบบทันทีทันใด…ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก
“เราต้องทำเเบบค่อยเป็นค่อยไป เป็นเรื่องของงบประมาณด้วย เพราะถ้าเปลี่ยนครั้งเดียวต้องใช้เงินเยอะ เเต่ถ้าค่อยๆ เปลี่ยนใช้งบน้อยกว่า เเละคนจดจำได้มากกว่า”
การที่จะครองใจกลุ่มคนรุ่นใหม่ Gen Z ที่มีอายุตั้งเเต่ 15-24 ปี เเละชื่นชอบการดื่มน้ำอัดลม “มากกว่าวัยอื่นๆ” มิรินด้าก็ต้องปรับตัวให้ “เด็กลง” ไปด้วย โดยจะชูมีลักษณ์ใหม่ของแบรนด์ที่สนุก สดใสมากยิ่งขึ้น
เพื่อให้เข้ากับจุดเด่นของ Gen Z ที่ชอบความหลากหลาย เปิดรับความแปลกใหม่ท้าทาย ไม่จำเจและสนุกกับการใช้ชีวิต รวมถึงการเเสดงตัวตนในโลกดิจิทัล
จากข้อมูลของ GroupM ระบุว่า ในปี 2019 วัยรุ่นไทยใช้สมาร์ทโฟนเพื่อเเชทถึง 87.7% ตามมาด้วยการอัพโหลดเเละเเชร์รูปภาพ 80.7% ดูทีวีเเละวิดีโอ 69.3% เสิร์ชหาข้อมูล 65.4% เเละเล่นเกม 64.8%
“มีการใช้โซเชียลมีเดียเฉลี่ย 3 ชั่วโมงต่อวัน เเละใช้เวลาดูวิดีโอราว 2 ชั่วโมงต่อวัน”
ดังนั้นแคมเปญการตลาดของมิรินด้าในปีนี้ จึงมาด้วยคอนเซ็ปต์ “Mirinda Mix Up Your World มิรินด้าสนุกทุกสี ซ่าไม่มีซ้ำ” ที่เจาะลึกถึงไลฟ์สไตล์และความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย ผ่านกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะ TikTok ที่มิรินด้าจับมือเป็นพันธมิตร
เมื่อจะจับตลาดวัยรุ่น ก็ต้องใช้พรีเซ็นเตอร์วัยรุ่น โดยเมื่อปี 2017 มิรินด้าเปิดตัวไอดอลเกิร์ลกรุ๊ปวง BNK48 เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ครั้งแรกของ “มิรินด้า มิกซ์-อิท” ส่วนในปีนี้จะมีการใช้พรีเซ็นเตอร์อีกหรือไม่นั้น ผู้บริหารซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ตอบว่า “ปีนี้สถานการณ์เพราะยังไม่เเน่นอน เเต่ถ้าในอนาคตมิรินด้าจะมีพรีเซ็นเตอร์อีกครั้ง ก็จะยังคงมองหาในวงการเพลง”
ขณะที่การเป็นสปอนเซอร์ให้กับคอนเสิร์ตเเละเทศกาลดนตรีต่างๆ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ทางเป๊ปซี่บอกว่า “ต้องระงับไว้ก่อน” เเละจะกลับมาอีกครั้งเมื่อทำได้
การกลับมารุกหนักใน “ตลาดน้ำสี” ของมิรินด้าครั้งนี้ น่าจะกระตุ้นการเเข่งขันในตลาดเครื่องดื่มได้ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง “ครึ่งปีหลัง” ที่หลายเเบรนด์เริ่มกลับมาทุ่มงบการตลาดอีกครั้ง ขณะเดียวกันการที่จะครองใจชาว Gen Z ดูเหมือนจะเข้าถึงง่าย เเต่ก็ “ไม่ง่าย” นัก เมื่อการทดลองสิ่งใหม่อยู่เสมอคือจุดเด่นของคนวัยนี้ เเละคู่เเข่งอย่าง “เอส” คงไม่ยอมปล่อยตำเเหน่งเบอร์ 2 ง่ายๆ ต้องรอดูว่าจะมีกลยุทธ์อะไรมางัดข้อกันบ้าง
]]>