ธปท. – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 26 Jan 2022 05:31:52 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ‘คลัง’ ยันไม่เลื่อนเก็บ ‘ภาษีคริปโต’ เร่งสรุปเเนวทางเก็บภาษีหุ้น ‘เเบงก์ชาติ’ จ่อห้ามใช้สินทรัพย์ดิจิทัลชำระสินค้า https://positioningmag.com/1371736 Tue, 25 Jan 2022 11:35:18 +0000 https://positioningmag.com/?p=1371736
‘คลัง’ ยันไม่เลื่อนเก็บ ‘ภาษีคริปโต’ พร้อมเร่งสรุปเเนวทางเก็บ ‘ภาษีหุ้น’ ในลำดับต่อไป ด้านเเบงก์ชาติ จ่อออกกฏควบคุมการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลชำระสินค้าเเละบริการ 

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงความกังวลของนักลงทุนในการจัดเก็บภาษีจากการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ คริปโตเคอร์เรนซีว่า ขณะนี้กรมสรรพากรกำลังเร่งจัดทำแนวทางปฏิบัติในส่วนของการยื่นเสียภาษีเงินได้ของคริปโตฯ ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยจะเร่งให้เสร็จเรียบร้อยทันปีภาษีนี้ หรือภายในเดือนมกราคมนี้

ในปี 2564 ที่ผ่านมา ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมีเม็ดเงินหมุนเวียนจำนวนมาก และเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด มีทั้งนักลงทุนในรูปแบบเดิม และนักลงทุนหน้าใหม่ เข้าไปลงทุนเป็นจำนวนมาก

จากการที่ภาคเอกชนได้ยื่นเสนอให้มีการยกเว้น 1-2 ปีนั้น ทางกระทรวงการคลัง ขอยืนยันว่า จะไม่มีการเลื่อนการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาออกไป เพราะถือเป็นเงินได้ที่เสียกันมาตั้งแต่กฎหมายบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2561 แล้ว โดยขณะนี้มุ่งหวังที่จะทำให้เกิดความเข้าใจ มีความชัดเจนของมาตรการภาษีดังกล่าวมากขึ้น

“การยื่นแบบเงินได้คริปโตเคอร์เรนซี ถือว่าเป็นการประเมินรายได้ของตัวผู้ยื่นแบบนักลงทุนเอง โดยปีนี้จะคาดว่าจะทำให้ชัดเจนขึ้นว่า รายได้ที่เกิดจากการซื้อขายมีจำนวนเท่าไหร่ มีการทำบัญชีแบบค่าเฉลี่ยอย่างไร เพื่อให้นักลงทุนและผู้ยื่นแบบภาษี มีการเสียภาษีในแบบฟอร์มได้ง่ายขึ้น โดยยังคงมีระยะเวลาในการยื่นแบบถึง 31 มี.ค. 2565 ซึ่งไม่ได้มีการเลื่อนเวลาเก็บภาษีออกไป”

ส่วนความคืบหน้าแนวทางการเก็บ ‘ภาษีหุ้น’ กระทรวงการคลังกำลังอยู่ในช่วงศึกษาเเละหารือ รับฟังความเห็นร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งตลาดหุ้น ก.ล.ต. โบรกเกอร์ นักลงทุน ฯลฯ

โดยในปัจจุบัน ประเทศที่มีตลาดหุ้นเกือบทุกประเทศมีการจัดเก็บภาษีหุ้นกันหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์ หรือส่วนต่างกำไร หรือ Capital Gain ซึ่งในส่วนของประเทศไทย คาดว่าจะมีข้อสรุปรูปแบบการจัดเก็บภาษีที่ชัดเจนในเร็วๆนี้

ด้าน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยืนยันไม่สนับสนุนใช้ ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ เป็นช่องทางชำระเงิน โดยระบุว่า ปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้ขยายขอบเขตการประกอบธุรกิจในลักษณะให้บริการ ชักชวนหรือแสดงตน ว่าพร้อมจะให้บริการแก่ร้านค้าและผู้ประกอบการในธุรกิจต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น จัดทำระบบและโฆษณาเชิญชวนร้านค้า ซึ่งการที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในลักษณะดังกล่าว อาจส่งผลให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการเป็นวงกว้าง นอกเหนือไปจากวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวม

รวมถึงเป็นความเสี่ยงต่อประชาชนและธุรกิจ อาทิ ความเสี่ยงจากการสูญมูลค่าที่เกิดจากความผันผวนของราคา ความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ ความเสี่ยงข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล หรือการถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงิน

หน่วยงานกำกับดูแลต่างตระหนักถึงความเสี่ยงและผลกระทบดังกล่าว จึงพิจารณาใช้อำนาจตามกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าหรือบริการในวงกว้าง และจะมีแนวทางกำกับดูแลที่เหมาะสม สำหรับบริการที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลบางประเภทที่เป็นประโยชน์ต่อนวัตกรรมทางการเงินและไม่สร้างความเสี่ยงเชิงระบบที่กล่าวถึงข้างต้น

สำหรับร่างหลักเกณฑ์ห้ามมิให้ผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการนำทรัพย์สินดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ มี 6 ข้อ ดังนี้

1.ไม่โฆษณาเชิญชวนว่าพร้อมให้บริการแก่ร้านค้า ว่าสามารถรับชำระด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลได้
2.ไม่จัดทำระบบหรือเครื่องมืออำนวยความสะดวกแก่ร้านค้าเพื่อรับชำระด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล
3.ไม่ให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (wallet) แก่ร้านค้าเพื่อรับชำระ
4.การขายสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเงินบาท ต้องโอนเข้าบัญชีตัวเองเท่านั้น
5.ไม่ให้บริการโอนสินทรัพย์ดิจิทัล / เงิน จากบัญชีของผู้ซื้อขาย ไปยังบัญชีรายอื่นหรือบุคคลอื่นใด เพื่อวัตถุประสงค์ของการรับชำระค่าสินค้าเเละบริการ
6.ไม่ดำเนินการอื่นใดที่จะเป็นการสนับสนุนหรือส่งเสริมการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลมาเป็นสื่อกลางการชำระค่าสินค้าและบริการ

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธปท. กล่าวว่า ธปท. คำนึงถึงทั้งความเสี่ยงและประโยชน์ของสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงเทคโนโลยีเบื้องหลัง และมองว่า “ณ ขณะนี้การนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการอย่างแพร่หลายจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศ”

ดังนั้น จึงควรมีการกำกับดูแลที่ชัดเจน ขณะที่เทคโนโลยีและสินทรัพย์ดิจิทัลบางประเภทที่ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงดังกล่าวก็ควรได้รับการสนับสนุนโดยมีกลไกดูแลที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดนวัตกรรมและประโยชน์ต่อประชาชน

ขณะที่รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า จากการหารือร่วมกันกับ ธปท. และ กค. ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลควบคู่ไปกับการคุ้มครองผู้ซื้อขายอย่างเหมาะสม และให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จึงได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ เพื่อประกอบการพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ต่อไป

.
]]>
1371736
‘เเบงก์ชาติ’ เตรียมขยายใช้สกุลเงินดิจิทัล ‘CBDC’ ในภาคประชาชน https://positioningmag.com/1322476 Mon, 08 Mar 2021 11:54:09 +0000 https://positioningmag.com/?p=1322476 เเบงก์ชาติพอใจผลทดสอบระบบต้นเเบบการชำระเงินด้วย CBDC สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางในภาคธุรกิจไทย พบช่วยเพิ่มประสิทธิภาพได้ดี เตรียมต่อยอดปี 2564-65 ขยายใช้ในภาคประชาชน

วชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงผลการพัฒนา ‘ระบบต้นแบบ’ การชำระเงินในภาคธุรกิจ โดยใช้สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC) จากความร่วมมือระหว่าง ธปท.เอสซีจีและบริษัทดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด โดยมีบริษัท ConsenSys เป็นผู้สนับสนุนด้านเทคโนโลยี

โดยผลการพัฒนาและทดสอบสรุปได้ว่า เทคโนโลยีดังกล่าวสามารถเพิ่มประสิทธิภาพ (Efficiency) การชำระเงินให้แก่ภาคธุรกิจได้เป็นอย่างดี

สำหรับโครงการ CBDC ที่ทดสอบการใช้กับภาคธุรกิจนั้น ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2563 มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นของการชำระเงินในการรองรับการสร้างนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ ให้กับภาคธุรกิจ

ทั้งนี้ การพัฒนาระบบต้นแบบดังกล่าว ได้ใช้เทคโนโลยีประมวลผลแบบกระจายศูนย์ (Distributed Ledger Technology: DLT) เชื่อมต่อกับระบบบริหารการจัดซื้อ การวางบิล และการชำระเงินระหว่างเอสซีจีกับคู่ธุรกิจ (Suppliers)

อ่านเพิ่มเติม : CBDC ต่างกับคริปโตเคอร์เรนซีอื่นอย่างไร ? 

โดยผลการทดสอบพบว่าผู้ใช้สามารถกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ใน CBDC (Programmable Money) ให้สอดรับกับกิจกรรมทางธุรกิจได้ดี เช่น การกำหนดเงื่อนไขให้มีการชำระเงินตามข้อมูลที่ระบุไว้ในใบแจ้งหนี้ (Invoices) ในธุรกิจ Supply Chain Financing และการกำหนดเงื่อนไขการชำระเงินให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการเท่านั้น เพื่อลดปัญหาการบริหารเงินสด เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ระบบต้นแบบที่พัฒนาโดยใช้ DLT ยังมีข้อจำกัดบางประการ เช่น ความสามารถในการรองรับปริมาณธุรกรรมจำนวนมาก และการปกปิดความเป็นส่วนตัวของธุรกรรมทางการเงิน ที่ยังคงต้องหาแนวทางจัดการทั้งในเชิงเทคโนโลยี หรือการออกแบบระบบต่อไป (รายละเอียดผลทดสอบของโครงการฯ สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่)

“การพัฒนาระบบต้นแบบนี้ นับเป็นครั้งแรกของ ธปท. ที่ขยายขอบเขต CBDC ไปสู่ผู้ใช้งานในภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการเตรียมความพร้อม เพื่อให้เท่าทันพัฒนาการของสกุลเงินดิจิทัล ทั้งในและต่างประเทศที่อาจเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเงินในอนาคต” 

ขยายใช้ Retail CBDC ในภาคประชาชน

สำหรับในปี 2564 – 2565 ธปท.จะเน้นการศึกษาและพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลสำหรับภาคประชาชน (Retail CBDC) ซึ่งการพัฒนา CBDC ให้สามารถใช้ได้ในวงกว้าง จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัย และประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงผลกระทบด้านต่างๆ ทั้งด้านการดำเนินนโยบายทางการเงิน เสถียรภาพระบบการเงิน และบทบาทของสถาบันการเงินและธนาคารกลาง

“จะเปิดให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนารูปแบบ CBDC ซึ่งจะส่งเสริมให้การทำธุรกรรมทางการเงินสามารถรองรับการพัฒนานวัตกรรมท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล”

ทั้งนี้ ธปท. จะเผยแพร่รายละเอียดผลการศึกษาการออก Retail CBDC ในระยะต่อไป

 

]]>
1322476
สรุป 6 ข้อ ดราม่า “ธนบัตรที่ระลึก” ไม่มี EURion แต่ปลอมแปลงยาก ใส่ตู้อัตโนมัติไม่ได้ https://positioningmag.com/1311496 Mon, 21 Dec 2020 16:36:26 +0000 https://positioningmag.com/?p=1311496 ตามที่มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับธนบัตรที่ระลึกเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 นั้น นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการสายออกบัตรธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขอชี้แจงดังนี้

1. ไม่มี EURion (ยูไรอัน) แต่ปลอมแปลงไม่ง่าย

EURion เป็นหนึ่งในรูปแบบของการป้องกันการคัดลอกจากเครื่องถ่ายเอกสาร หรือการสแกน แต่ไม่ใช่รูปแบบที่จำเป็นหรือสำคัญที่สุดสำหรับการป้องกันการผลิตเพื่อปลอมแปลง ซึ่งหลายประเทศทั้งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และยุโรปก็ไม่ได้นำ EURion มาใช้ แต่เน้นที่การให้มีลักษณะต่อต้านการปลอมแปลง เพื่อให้ประชาชนสังเกตได้ง่าย และมิจฉาชีพทำปลอมแปลงให้เหมือนของจริงได้ยาก

สำหรับธนบัตรที่ระลึกที่ผลิตในครั้งนี้ไม่ได้นำ EURion มาใช้เช่นเดียวกับธนบัตรที่ระลึกส่วนใหญ่ในอดีต แต่มีลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงในหลายจุด และยังคงนำเทคโนโลยีต่อต้านการปลอมแปลงตามมาตรฐานขั้นสูงมาใช้เหมือนธนบัตรหมุนเวียน และธนบัตรที่ระลึกทุกรุ่นที่ผ่านมา

หากมีการปลอมธนบัตรโดยการสแกนและพิมพ์ขึ้นมา กระดาษและหมึกที่ใช้ ตลอดจนลายน้ำนั้นจะไม่มีทางทำให้เหมือนธนบัตรจริงได้ ประชาชนสามารถสังเกตความแตกต่างได้ทันทีว่าเป็นธนบัตรปลอมด้วยการ “สัมผัส ยกส่อง พลิกเอียง” ซึ่งสามารถตรวจง่าย ๆ ด้วยตนเอง ดังนี้

  • สัมผัสความนูนของการพิมพ์บอกชนิดราคาที่มุมธนบัตรและคำว่ารัฐบาลไทย
  • ยกส่องลายน้ำที่อยู่ในเนื้อกระดาษธนบัตรชนิดราคา 100 บาท จะมองเห็นพระบรมสาทิสลักษณ์ และธนบัตรชนิดราคา 1000 บาทจะเห็นลายน้ำอักษรพระปรมาภิไธย ว.ป.ร.
  • พลิกเอียงเห็นแถบสีม่วงแดง ที่ด้านหน้าของธนบัตรชนิดราคา 100 บาท สามารถเลื่อนขึ้นลงและเปลี่ยนสลับเป็นสีเขียว รวมทั้งภายในลายดอกพิกุลของธนบัตรชนิดราคา 1000 บาท มีรูปวงกลมเคลื่อนไหวได้รอบทิศทางและเปลี่ยนสลับจากสีทองเป็นสีเขียว

2. แม้ไม่มี EURion แต่ใช้แลกเปลี่ยนเป็นเงินตราต่างประเทศได้

ธนบัตรทุกฉบับที่ออกโดย ธปท. สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย จึงสามารถใช้ธนบัตรที่ระลึกทำธุรกรรมต่าง ๆ ในประเทศได้เหมือนธนบัตรทั่วไป รวมถึงการแลกเปลี่ยนเป็นเงินตราต่างประเทศด้วย โดยในช่วงแรก ร้านค้ารวมถึงผู้ให้บริการแลกเปลี่ยนเงินอาจยังไม่คุ้นเคยเนื่องจากเป็นธนบัตรรูปแบบใหม่ แต่ต่อมาก็มีการประกาศว่ารับชำระด้วยธนบัตรที่ระลึกดังกล่าวแล้ว

สำหรับการแลกเปลี่ยนธนบัตรเงินบาทในต่างประเทศนั้น เงินบาทไม่ใช่สกุลเงินสากล ไม่ได้มีการใช้อย่างแพร่หลายในต่างประเทศอยู่แล้ว ธนาคารหรือผู้ให้บริการแลกเปลี่ยนเงินในต่างประเทศอาจจะรับ หรือไม่รับแลกธนบัตรใดๆ ก็ได้ ไม่เกี่ยวกับการมีหรือไม่มี EURion แต่ขึ้นอยู่กับว่ามีความต้องการทั้งด้านซื้อและขายจากลูกค้ามากพอที่จะเกิดธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงิน

3. ใช้เงินทุนสำรองฯ หนุนหลังครบถ้วน 100%

การออกใช้ธนบัตรของ ธปท. ไทยทุกชนิดราคา ทั้งธนบัตรหมุนเวียนปกติ และธนบัตรที่ระลึกเป็นไปตามกฎหมายเงินตรา มีทุนสำรองเงินตราหนุนหลังครบถ้วน 100% ปัจจุบันธนบัตรหมุนเวียนรวมธนบัตรที่ระลึกทั้งหมด มีมูลค่าประมาณ 2 ล้านล้านบาท

ขณะที่ธนบัตรที่ระลึกในครั้งนี้ มีมูลค่ารวม 1.2 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 0.6% ของปริมาณธนบัตรหมุนเวียนทั้งหมด ทั้งนี้ ประชาชนสามารถตรวจสอบปริมาณธนบัตรออกใช้ รวมถึงทุนสำรองเงินตรา ได้จากรายงานฐานะการเงินประจำสัปดาห์ของ ธปท.

4. ไม่นับเป็นการทำ QE (Quantitative Easing) ของ ธปท.

การออกธนบัตรหมุนเวียนรวมทั้งธนบัตรที่ระลึกเป็นการทำหน้าที่ของ ธปท.ในการบริหารจัดการธนบัตรให้มีเพียงพอกับความต้องการของประชาชน สำหรับใช้ชำระค่าสินค้า และบริการในระบบเศรษฐกิจ (รวมทั้งเก็บเป็นเงินออมหรือเก็บเป็นที่ระลึก)

ปริมาณธนบัตรที่หมุนเวียนในระบบถูกกำหนดด้วยความต้องการของประชาชนและธุรกิจเป็นสำคัญ เช่น ช่วงเทศกาลปีใหม่ และสงกรานต์ ที่ประชาชนมีความต้องการจับจ่ายใช้เงินสดมาก ธปท.ก็ต้องออกใช้ธนบัตรมากขึ้น และเมื่อเทศกาลผ่านไป ความต้องการเงินสดของประชาชนลดลง ธปท.ก็ถอนเงินสดออกจากระบบ

ส่วนการทำ QE ในต่างประเทศนั้น เป็นการอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลาง เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านบัญชีของสถาบันการเงิน ไม่เกี่ยวข้องกับการนำธนบัตรออกใช้แต่อย่างใด

5. ใส่ในตู้ ATM เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย

ปกติการออกธนบัตรที่ระลึกที่ผ่านมามักจะมีจำนวนจำกัดประมาณ 10 – 20 ล้านฉบับ นับเป็นจำนวนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับธนบัตรหมุนเวียนปกติชนิดราคา 100 บาท ที่มีจำนวนประมาณ 1,700 ล้านฉบับ และชนิดราคา 1,000 บาท ที่มีจำนวนประมาณ 1,600 ล้านฉบับ การนำธนบัตรที่ระลึกใส่ในตู้ ATM มีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงธนบัตรที่ระลึกได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปเข้าแถวเพื่อขอแลกที่สาขาธนาคารพาณิชย์

6. ใช้กับเครื่องฝากเงินอัตโนมัติไม่ได้

การที่ธนบัตรที่ระลึกใช้กับเครื่องฝากเงินอัตโนมัติไม่ได้ เพราะต้องมีการแก้ไขโปรแกรมที่เครื่องฝากเงินอัตโนมัติทั่วประเทศ ซึ่งปริมาณธนบัตรที่ระลึกมีน้อยกว่า 1.2% ของธนบัตรที่หมุนเวียนอยู่ในระบบทั้งหมด ดังนั้น หากประชาชนต้องการแลกเปลี่ยนธนบัตรที่ระลึกเป็นธนบัตรหมุนเวียนปกติ สามารถติดต่อขอแลกได้ที่สาขาธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

]]>
1311496
ผู้ว่าฯ ธปท. มองไทยคุม COVID-19 กรณีทหารอียิปต์ได้ พร้อมอัดมาตรการเพิ่ม หากระบาดรอบ 2 https://positioningmag.com/1287716 Tue, 14 Jul 2020 10:05:06 +0000 https://positioningmag.com/?p=1287716 ผู้ว่าฯ ธปท. เชื่อมั่นรัฐบาลบุคลากรด้านสาธารณสุข คุมการเเพร่ระบาดของ COVID-19 กรณีทหารอียิปต์ได้ เเต่หากรุนเเรงถึงขั้นระบาดหนักรอบ 2 เเบงก์ชาติพร้อมอัดมาตรการเพิ่มเติม รับปีนี้เศรษฐกิจชะลอกว่าที่คาด แต่ยืนยันไทยผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาส 2 มาแล้ว มองโอกาสอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็น 0% “เกิดขึ้นยาก”

ในการประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) ครั้งที่ 2/2563 เพื่อสรุปแนวโน้มเศรษฐกิจและนโยบายการเงินรายไตรมาส (14 .. 63)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้วในไตรมาสที่ 2 ปี 2563 หลังมีมาตรการควบคุมการระบาดของ COVID 19 ในประเทศได้เป็นผลสำเร็จ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มทยอยปรับเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ทั้งการเดินทาง การจับจ่ายใช้สอยและการผลิต

อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีนโยบายด้านอุปทานเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับบริบทใหม่ หลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 คลี่คลายลง ซึ่งต้องดำเนินการควบคู่กับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อเสริมสร้างให้เศรษฐกิจมีความเข้มแข็งและช่วยรักษาระดับศักยภาพการเติบโตให้สามารถกลับมาเติบโตได้ในระยะต่อไป

โดยในช่วงไตรมาส 3 จะเริ่มเห็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมา และมองว่าไตรมาส 3-4 ปี 2563 จะฟื้นตัวขึ้น แต่ยังมีเรื่องที่น่าเป็นห่วงคือ “การจ้างงาน” เพราะภาคบริการยังไม่เปิดทำกิจกรรมได้เต็มที่ ส่วนภาคการผลิตเเละอุตสาหกรรมยังมีกำลังการผลิตส่วนเกิน รวมถึงกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ที่เสี่ยงว่างงานจำนวนมาก

 

วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุถึงการเเพร่ระบาดของ COVID-19 จากการกรณีทหารอียิปต์ ที่กำลังสร้างความกังวลให้ประชาชนในขณะนี้ว่า เชื่อว่ารัฐบาลและบุคลากรด้านสาธารณสุขจะรับมือได้ โดยไม่ต้องออกมาตรการควบคุมแรงเหมือนรอบแรก แต่หากเกิดการระบาดรอบ 2 ในไทยขึ้นมาจริงๆ ทางธปท.ก็พร้อมออกมาตรการเพิ่มเติมในการเข้ามาดูแลเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงิน ซึ่งการออกมาตรการต่าง ๆ ต้องมีการพิจารณาและชั่งน้ำหนักถึงผลดีผลเสีย เพราะทุกนโยบายไม่ฟรี

ด้านเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. มองว่า ความเป็นไปได้ที่ไทยจะใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0% นั้น  เกิดขึ้นยากที่ผ่านมาได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว 3 ครั้งและมีสัญญาณตอบกลับที่ดีจากสถาบันการเงิน ซึ่งไทยไม่สามารถดำเนินอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำมากเหมือนต่างประเทศได้ เพราะมีบริบทและโครงสร้างที่ต่างกัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและส่งผลกระทบต่อผู้ออมเงินได้

 

ที่มา : ธนาคารเเห่งประเทศไทย , mgronline 

]]>
1287716
กนง. มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี หั่นคาดการณ์ GDP ปี 63 เหลือ -8.1% https://positioningmag.com/1284966 Wed, 24 Jun 2020 08:08:45 +0000 https://positioningmag.com/?p=1284966 กนง. มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี หั่นคาดการณ์ GDP ปี 63 เหลือ -8.1% จากเดิมที่คาดไว้ -5.3% หลังเศรษฐกิจไทยปีนี้มีแนวโน้มหดตัวกว่าที่คาด เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 รุนแรงกว่าที่ประเมินไว้

วันนี้ (24 มิ..63) ทิตนันทิ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ระบุว่า คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี

โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวกว่าประมาณการเดิม เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 รุนแรงกว่าที่คาดไว้ และรัฐบาลหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยต้องดำเนินมาตรการควบคุมการระบาด ซึ่งส่งผลกระทบให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก รวมทั้งจะมีผลกระทบที่มีความไม่แน่นอนสูงต่อโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจ รูปแบบการทำธุรกิจ วิถีชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชน

อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งหลังของปีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวในประเทศที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ดีซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบกว่าที่ประเมินไว้ แต่มีแนวโน้มกลับสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปี 2564 เสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ

คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากตั้งแต่ต้นปี รวมทั้งมาตรการการคลังของรัฐบาลและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ออกมาเพิ่มเติม ช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นและจะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้หลังการระบาดของ COVID-19 คลี่คลาย เอื้อให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่กรอบเป้าหมาย และลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้ เนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั่วโลกรุนแรงกว่าที่คาดไว้และรัฐบาลหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยต้องดำเนินมาตรการควบคุมการระบาด ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้า ขณะที่อุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนหดตัวกว่าที่ประเมินไว้ การจ้างงานและรายได้มีแนวโน้มลดลง ซึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีสัญญาณปรับดีขึ้นหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด

คณะกรรมการฯ มองว่ามาตรการการคลังที่ตรงจุดและทันการณ์ นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย รวมถึงมาตรการด้านสินเชื่อและการเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ยังจำเป็นต่อการสนับสนุนการจ้างงานและธุรกิจ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าจะต้องมีนโยบายด้านอุปทานเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และการปรับรูปแบบการทำธุรกิจให้สอดคล้องกับบริบทใหม่หลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 คลี่คลายลงด้วย

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2563 มีแนวโน้มติดลบมากกว่าคาดตามราคาพลังงานที่ลดลงแรงตามอุปสงค์ที่ลดลงจากการชะลอของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปี 2564 ตามราคาน้ำมันดิบที่จะทยอยปรับสูงขึ้นและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย

ด้านภาวะการเงิน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นปรับลดลงหลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่ส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนและพันธบัตรรัฐบาลยังอยู่ในระดับสูง ด้านสินเชื่อขยายตัวจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ เพื่อเตรียมสภาพคล่องรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและเพื่อทดแทนการออกตราสารหนี้

ขณะที่สินเชื่อธุรกิจ SMEs และสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคชะลอลง สภาพคล่องโดยรวมยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งคณะกรรมการฯ เห็นว่าต้องดูแลให้กระจายตัวไปสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบมากขึ้น

ด้านอัตราแลกเปลี่ยน ในช่วงที่ผ่านมา ค่าเงินดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักและเงินสกุลภูมิภาคส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สรอ. อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ กังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นและอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งประเมินความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม

ระบบการเงินมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง แต่ในระยะข้างหน้าต้องเตรียมพร้อมรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจและครัวเรือนที่ลดลง โดย ธปท. ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ระยะที่ 2 และเร่งดำเนินการให้ธนาคารพาณิชย์ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ธุรกิจ รวมถึงเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่าง ๆ ที่ออกมาก่อนหน้า

คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพระบบการเงิน และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งจากเศรษฐกิจต่างประเทศ ผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 รวมถึงประสิทธิผลของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น

 

ที่มา : ธนาคารเเห่งประเทศไทย 

 

]]>
1284966
ธปท. สั่งเเบงก์ “งดจ่ายปันผล-ห้ามซื้อหุ้นคืน” ทำเเผนเงินกองทุนใหม่ รับความเสี่ยง COVID-19 https://positioningmag.com/1284347 Fri, 19 Jun 2020 13:49:27 +0000 https://positioningmag.com/?p=1284347 “เเบงก์ชาติ” สั่งธนาคารพาณิชย์ ทำแผนบริหารเงินกองทุนใหม่ 1-3 ปีให้สอดรับเศรษฐกิจในอนาคต ของดจ่ายเงินปันผลในปีนี้ รวมถึงให้งดซื้อหุ้นคืนด้วย

วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กล่าวว่า เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ได้ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไป และยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งอาจส่งผลต่อคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ในระยะต่อไป

ธนาคารแห่งประเทศไทย จึงให้ธนาคารพาณิชย์จัดทำแผนบริหารจัดการระดับเงินกองทุนสำหรับระยะ 1-3 ปีข้างหน้า โดยคำนึงถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต และศักยภาพของลูกหนี้ในการทำธุรกิจภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 คลี่คลาย

โดยระหว่างที่ธนาคารพาณิชย์ จัดทำแผนบริหารจัดการระดับเงินกองทุนใหม่นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยขอให้ธนาคารพาณิชย์ งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานในปี 2563 รวมถึงงดการซื้อหุ้นคืน เพื่อธนาคารพาณิชย์จะรักษาระดับเงินกองทุนให้เข้มแข็งและรองรับการดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับแนวทางที่ธนาคารกลางหลายประเทศได้ดำเนินการแล้ว เพื่อรองรับความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ COVID-19 

โดยล่าสุด ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้เเจงในกรณีนี้ว่า จากการขอให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่าย ‘เงินปันผลระหว่างกาล’ และ ‘งดซื้อหุ้นคืน’ สาเหตุเพราะการแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูงมาก ส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่เห็นจุดสิ้นสุด

ธปท.มองว่าภูมิคุ้มกันที่สำคัญอันหนึ่งของธนาคารพาณิชย์คือ ระดับเงินกองทุน ที่เป็นกันชนรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งเงินกองทุนจะช่วยให้ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย เมื่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง และเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ช่วงฟื้นฟูอย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตาม จากการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์และแนวทางบริหารความเสี่ยงเดิมส่งผลให้ระดับเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ไทยเข้มแข็ง ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2563 อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง หรือ BIS Ratio ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ที่ 18.7% ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์สามารถออกมาตรการช่วยดูแลและเยียวยาลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้หลากหลายมาตรการ

ทั้งนี้มองว่าจากความไม่แน่นอนสูง จึงควรจะรักษาระดับเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ให้อยู่ในระดับสูงต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง การขอให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่าย ‘เงินปันผลระหว่างกาล’ และ ‘งดซื้อหุ้นคืน’ เป็นมาตรการเพื่อไม่ให้ธนาคารพาณิชย์  ‘การ์ดตก’ ให้รักษาระดับเงินกองทุนให้เข้มแข็งต่อเนื่องจนกว่าจะจัดทำแผนบริหารจัดการเงินกองทุนใหม่ได้ชัดเจนขึ้น

ที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ประเมินและจัดทำแผนบริหารจัดการเงินกองทุนก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นกับทั้งลูกค้าและแผนธุรกิจของตนเองได้อย่างชัดเจน ธปท. จึงขอให้ธนาคารพาณิชย์เร่งทบทวนแผนบริหารจัดการเงินกองทุนในช่วง 1-3 ปีข้างหน้า โดยคำนึงถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปจากเดิมมาก

ขณะเดียวกัน ธปท. ออกมาตรการช่วยเหลือผ่านธนาคารพาณิชย์ที่เร่งดำเนินการเยียวยาและปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ จึงต้องคำนวณผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผลประกอบการและระดับเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์อย่างละเอียดในสถานการณ์ต่างๆ (Scenarios) ในอนาคตด้วย

ในภาวะปกติ ธนาคารพาณิชย์บางแห่ง (ไม่ใช่ทุกแห่ง) จะจ่าย ‘เงินปันผลระหว่างกาล’ ให้แก่ผู้ถือหุ้นในช่วงเดือนสิงหาคม เงินปันผลระหว่างกาล หรือ Interim Dividend เป็นการจ่ายเงินปันผลนอกรอบระยะเวลาบัญชี โดยไม่ต้องรอคำนวณผลการดำเนินงานเมื่อครบปี หรือครบรอบระยะเวลาบัญชี โดยอาจจะคำนวณจากผลประกอบการในรอบครึ่งปีแรก และผลการดำเนินงานที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนำมาจ่ายเป็นเงินปันผลระหว่างกาลให้แก่ผู้ถือหุ้นในช่วงประมาณเดือนสิงหาคม

ส่วนการ ‘ซื้อหุ้นคืน’ นั้น ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์บางแห่งที่คิดว่ามีเงินกองทุนในระดับสูงเกินความจำเป็น หรือเห็นว่าราคาหุ้นในตลาดลงไปอยู่ในระดับต่ำเกินควร ได้มีแผนซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือหุ้นทั่วไป ซึ่งหมายถึงการซื้อหุ้นของตัวเองจำนวนหนึ่งออกจากตลาดหลักทรัพย์มาเก็บไว้ หรือเพื่อนำไปลดทุนในอนาคต ซึ่งจะส่งผลให้ระดับเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ลดลง

การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ปีนี้เป็นปีที่ไม่ปกติ ทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจไทยไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์หรือลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ได้รับผลกระทบรุนแรง และยังจะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนสูงต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง ธนาคารพาณิชย์จึงควรใช้เวลาประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบ วางแผนการดำเนินงานอย่างระมัดระวัง และทำงานกับลูกค้ากลุ่มต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อให้แผนบริหารจัดการเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ที่จัดทำใหม่สอดคล้องกับสถานการณ์ข้างหน้า และสอดคล้องกับบทบาทของธนาคารพาณิชย์ที่จะต้องปล่อยสินเชื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยภายหลังจากที่การแพร่ระบาดของ COVID-19 คลี่คลายลงด้วย

อย่างไรก็ตาม การขอให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลและงดซื้อหุ้นคืนนี้ แม้ว่าจะกระทบต่อผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์ในช่วงสั้นๆ แต่จะเป็นผลดีสำหรับผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์ในระยะยาว เป็นผลดีต่อผู้ฝากเงิน และเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมด้วย เพราะจะช่วยให้ระบบสถาบันการเงินไทยเข้มแข็ง รักษาระดับเงินกองทุนให้อยู่ในระดับสูงได้ต่อเนื่อง มีกันชนที่จะรองรับความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีก โดยเฉพาะถ้าเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ระยะใหม่ๆ

 

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

]]>
1284347
“เเบงก์ชาติ” ปรับแผนออกพันธบัตรปี 63 รับตลาดผันผวนช่วง COVID-19 มีผล พ.ค.เป็นต้นไป https://positioningmag.com/1277974 Mon, 11 May 2020 13:36:57 +0000 https://positioningmag.com/?p=1277974 ธปท. ปรับแผนการออกพันธบัตรปี 2563 ขยายกรอบวงเงินออกพันธบัตร 1-6 หมื่นล้านทุกรุ่น มีผลบังคับใช้เดือน พ.ค.นี้เป็นต้นไป ย้ำหากตลาดผันผวนสามารถปรับวงเงินได้โดยจะแจ้งตลาดล่วงหน้า 2 วันทำการก่อนวันประมูลพันธบัตร

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมา สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและตลาดการเงินทั้งในและต่างประเทศเป็นวงกว้าง ตลาดพันธบัตรมีความผันผวนเพิ่มขึ้นและคาดว่าจะยังอยู่ในระดับสูงในระยะต่อไป นอกจากนี้ การระดมทุนของภาครัฐเพื่อรองรับมาตรการเยียวยาและลดผลกระทบ Covid-19 อาจส่งผลต่ออุปทานพันธบัตรภาครัฐโดยรวม

ธปท. จึงได้หารือร่วมกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ถึงแนวทางการกำหนดวงเงินพันธบัตรภาครัฐให้อยู่ในระดับเหมาะสม โดยคำนึงถึงแผนการระดมทุนภาครัฐและความต้องการลงทุนที่อาจปรับเปลี่ยนรวดเร็วในสภาวการณ์ข้างต้น ในการนี้ ธปท. จึงพิจารณาปรับแผนการออกพันธบัตร ธปท. ปี 2563 โดยให้เริ่มมีผลบังคับใช้สำหรับแผนการออกพันธบัตร ธปท. เดือนพฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป

1. กำหนดการประมูลพันธบัตร: ธปท. ยังกำหนดวันและความถี่ในการประมูลพันธบัตร ธปท. ประเภทอายุต่างๆ ไว้ตามแนวปฏิบัติเดิม อย่างไรก็ดี ธปท. อาจพิจารณาปรับความถี่การประมูลและวงเงินของพันธบัตร ธปท. ระยะ 3 เดือน 6 เดือน และพันธบัตรประเภทอัตราดอกเบี้ยคงที่บางรุ่น เพื่อให้สอดคล้องกับการประมูลตั๋วเงินคลังและพันธบัตรรัฐบาลที่ระยะเดียวกันในแต่ละสัปดาห์ โดยสรุปรายละเอียดได้ดังนี้

2. วงเงินการออกพันธบัตร: ธปท. ขยายกรอบวงเงินพันธบัตรประเภทที่จำหน่ายเป็นส่วนลดทุกรุ่นอายุเป็น 10,000 – 60,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการกำหนดปริมาณพันธบัตร ธปท. ให้สอดคล้องกับแผนการระดมทุนภาครัฐและความต้องการลงทุนพันธบัตรในแต่ละช่วงเวลา ดังนี้

3. การประกาศกำหนดการออกพันธบัตร ธปท. รายเดือน: ธปท. จะประกาศตารางประมูลพันธบัตร ธปท. ให้ตลาดทราบล่วงหน้าทุกเดือนผ่านทาง website ของ ธปท. เช่นที่เคยปฏิบัติมา อย่างไรก็ดี ธปท. ขอสงวนสิทธิการปรับวงเงินประมูลพันธบัตร ธปท. ระหว่างเดือน กรณีตลาดการเงินมีความผันผวนเพิ่มขึ้นจนส่งผลให้ความต้องการพันธบัตรในระหว่างเดือนเปลี่ยนแปลงไปจากที่คาดการณ์อย่างมีนัยสำคัญ โดย ธปท. จะแจ้งให้ตลาดทราบอย่างน้อย 2 วันทำการก่อนวันประมูลพันธบัตร

ในระยะต่อไป ธปท. จะประสานงานกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะอย่างใกล้ชิด ในการกำหนดวงเงินและประเภทอายุพันธบัตร ธปท. ให้เหมาะสมกับภาวะตลาดเงินและตลาดพันธบัตร รวมทั้งคำนึงถึงการออกตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล และพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้ปริมาณพันธบัตรภาครัฐโดยรวมอยู่ในระดับที่เหมาะสมสอดคล้องกับภาวะตลาดในแต่ละช่วงเวลา

 

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย 

]]>
1277974
รวมมิตร 14 ธนาคาร “พักหนี้” ทั้งต้นทั้งดอก 6 เดือน ช่วย SMEs-รายย่อย ฝ่ามรสุม COVID-19 https://positioningmag.com/1273383 Tue, 14 Apr 2020 15:00:02 +0000 https://positioningmag.com/?p=1273383 “เเบงก์พาณิชย์-เเบงก์รัฐ” ขานรับนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พาเหรดออกมาตรการช่วยลูกหนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19

ลูกค้ารายย่อยเเละเจ้าของธุรกิจ SMEs ที่กำลังหาข้อมูลมาตรการ “พักชำระหนี้” ของธนาคารต่างๆ Positioning รวบรวมมาให้เเล้วถึง 14 ธนาคาร 

1. ไทยพาณิชย์ (SCB)

เริ่มต้นกับ ธนาคารไทยพาณิชย์ ประกาศมาตรการพักชำระสินเชื่อทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 6 เดือนให้แก่ลูกค้าผู้ประกอบการ SMEsที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาททุกราย โดยจะธนาคารดำเนินการพักหนี้
ให้ลูกค้ากลุ่มนี้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 เป็นต้นไป เพื่อเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระทางด้านค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ

“ลูกค้าเอสเอ็มอีมีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาททุกราย จะได้รับการพักชำระหนี้ 6 เดือนโดยอัตโนมัติโดยไม่จำเป็นต้องติดต่อธนาคาร”

นอกจากนี้ยังมีมาตรการสนับสนุน “สินเชื่อซอฟต์โลน” อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี โดยไม่คิดดอกเบี้ยในระยะ 6 เดือนแรก เนื่องจากรัฐบาลจะเป็นผู้รับภาระดอกเบี้ยในช่วงดังกล่าวแทนผู้ประกอบการ สามารถขอสินเชื่อซอฟต์โลนใหม่ได้ไม่เกิน 20% ของยอดหนี้คงค้าง ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องทางการเงินสำหรับการดำเนินธุรกิจต่อไป

สำหรับลูกค้าที่ต้องการสินเชื่อซอฟต์โลนสามารถแจ้งความประสงค์ได้ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2563 – 30 กันยายน 2563

อ่านเพิ่มเติม : ถาม-ตอบ กรณีลูกค้าสินเชื่อบุคคลและ SMEs ขอรับความช่วยเหลือจากการได้รับผลกระทบ COVID-19

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
? 02-722-2222

2. กสิกรไทย (KBank)

ตามมาด้วย กสิกรไทย ที่ปัจจุบันมีลูกค้าเงินกู้ในระบบที่เป็น SMEs อยู่ถึง 40% ได้ประกาศมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้กับลูกค้าผู้ประกอบการที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท ระยะเวลา 6 เดือน เริ่มตั้งเเต่ 1 เมษายน 2563-30 กันยายน 2563 รวมถึงพร้อมให้เงินกู้เสริมสภาพคล่องลูกค้าผู้ประกอบการที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท โดยให้ลูกค้าสามารถกู้ได้ 20% ของยอดวงเงินเดิม คิดอัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี
และไม่คิดอัตราดอกเบี้ย 6 เดือนแรก

อ่านเพิ่มเติม : รวมมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อทั้งหมดสำหรับลูกค้ารายย่อยและผู้ประกอบการของ KBank

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
? ลูกค้าบุคคล 02-8888888
? ลูกค้าผู้ประกอบการ 02-8888822

3. กรุงศรีอยุธยา

ด้านธนาคารกรุงศรีอยุธยา ก็ออกมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยนาน 6 เดือนแก่ลูกค้าผู้ประกอบการ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท เริ่มตั้งเเต่ 1 เมษายน 2563 – 30 กันยายน 2563 เช่นกัน พร้อมด้วยมาตรการให้เงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่อง (Soft loan) แก่ลูกค้าที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท โดยสามารถกู้ได้สูงสุด 20% ของยอดหนี้คงค้าง ณ สิ้นปี 2562 ในอัตราดอกเบี้ย 2% เป็นเวลา 2 ปี และไม่ต้องชำระดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก

ทั้งนี้ ลูกค้าผู้ประกอบการ SMEs สามารถติดต่อผู้จัดการธุรกิจสัมพันธ์ หรือแจ้งขอรับมาตรการความช่วยเหลือได้ที่ โครงการรับเรื่องจากลูกค้าสินเชื่อที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 บนเว็บไซต์ krungsri.com

สำหรับลูกค้าสินเชื่อบ้าน จะมีมาตรการพักชำระเงินต้นเเละดอกเบี้ย 6 เดือนเเละพักชำระหนี้เงินต้น 6 เดือน ส่วนสินเชื่อบุคคล (สินเชื่อหมุนเวียนส่วนบุคคลเเละสินเชื่อกรุงศรี IFIN) พักชำระเงินต้นเเละดอกเบี้ย 6 เดือน ซึ่งเป็นโปรเเกรมสำหรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากไวรัส COVID-19 เท่านั้นเเละขอสงวนสิทธิ์เเล้วเเต่กรณี

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
?1572
?เว็บไซต์ krungsri.com

กรุงศรีคอนซูมเมอร์ : ลูกค้าบัตรเครดิต

กรุงศรีคอนซูเมอร์ ปล่อยโครงการ “เราจะก้าวผ่านไปด้วยกัน กับกรุงศรี คอนซูมเมอร์” ช่วยเหลือลูกค้าบัตรเครดิตกว่า 6 ล้านบัญชี โดยออก 3 มาตรการพิเศษ ด้วยการลดยอดชำระขั้นต่ำต่อเดือน และการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 2 เดือน สำหรับ “ลูกค้าทุกราย” โดยไม่ต้องแจ้งความจำนง

รวมถึงการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าเฉพาะกลุ่ม โดยเน้นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทางตรง เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม การบิน และบริการอื่นที่เกี่ยวเนื่อง รวมทั้งลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นกรณีพิเศษ เหลือ 12% สำหรับบัตรเครดิต และ 22% สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคล โดย “ลูกค้าต้องลงทะเบียน” เพื่อขอรับพิจารณาความช่วยเหลือดังกล่าวผ่านแอปพลิเคชัน UCHOOSE ซึ่งจะได้รับการพิจารณาเป็นรายกรณี

มีรายละเอียดดังนี้

มาตรการที่ 1 : ลดยอดชำระขั้นต่ำต่อเดือน สำหรับบัตรเครดิตจากเดิม 10% เหลือ 5% ตามรอบบัญชีตั้งแต่ 1 เม.ย. 2563 – 31 ธ.ค. 2564 ส่วนผลิตภัณฑ์สินเชื่อส่วนบุคคลจากเดิม 5% เหลือ 3% ตามรอบบัญชีตั้งแต่ 18 มี.ค. 2563 – 31 ธ.ค. 2563 สำหรับลูกค้าทุกราย โดยมิต้องติดต่อแจ้งความจำนง

มาตรการที่ 2 : พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 2 เดือน ให้กับลูกค้าบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลทุกรายโดยมิต้องแจ้งความจำนงเป็นระยะเวลา 2 รอบบัญชี สำหรับลูกค้าทุกรายที่มีวันครบกำหนดชำระตั้งแต่ 14 เม.ย. – 12 มิ.ย. 2563 โดยดอกเบี้ยยังคงคำนวณตามอัตราปกติแบบลดต้นลดดอก ทั้งนี้ สถานะบัญชีของลูกค้าในช่วงระยะเวลาดังกล่าวจะไม่เปลี่ยนแปลง

มาตรการที่ 3 : ปรับลดดอกเบี้ยเป็นกรณีพิเศษ เริ่มต้น 12% สำหรับลูกค้าในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ โดยลูกค้าต้องลงทะเบียนแจ้งความจำนง และจะได้รับการพิจารณาเป็นรายกรณี ส่วนผลิตภัณฑ์บัตรเครดิต รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษเหลือ 12% และลดภาระการชำระคืนด้วยการขยายการเวลาผ่อนชำระนานสูงสุด 48 เดือน ผลิตภัณฑ์สินเชื่อส่วนบุคคล รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษ เหลือ 22% และลดการผ่อนชำระขั้นต่ำเหลือเพียง 3%

โดยมาตรการดังกล่าว สำหรับลูกค้าในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว หรือธุรกิจที่ไม่สามารถเปิดให้บริการได้ตามประกาศของทางราชการ โดยลูกค้าต้องมีบัญชีสินเชื่อกับบริษัทก่อนเดือน มี.ค. 2563

ทั้งนี้ ลูกค้าจะถูกปรับลดวงเงินสินเชื่อ ให้คงเหลือเท่ากับยอดสินเชื่อคงค้างที่เข้าร่วมโครงการ โดยลูกค้าสามารถลงทะเบียนรับพิจารณาความช่วยเหลือดังกล่าว ผ่านแอปพลิเคชัน UCHOOSE ตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย. 2563 – 30 มิ.ย. 2563 โดยบริษัทจะทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2563 เป็นต้นไป

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
?บัตรเครดิตกรุงศรีอยุธยา krungsricard.com
?บัตรเครดิต เซ็นทรัล เดอะวัน centralthe1card.com
?บัตรกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ firstchoice.co.th
?บัตรเครดิตเทสโก้ โลตัส วีซ่า tescolotusmoney.com

4. กรุงไทย

ธนาคารกรุงไทย ได้เพิ่มมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยประกาศพักชำระหนี้เงินต้นเเละดอกเบี้ย 6 เดือน ให้กับลูกค้าธุรกิจที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 100 ล้านบาท เพื่อรับมือกับรายจ่ายที่จำเป็นของธุรกิจ เริ่มมีผลเดือนเมษายน – กันยายน 2563 เเละยังสนับสนุนสินเชื่อใหม่ (Soft Loan) เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กลุ่มลูกค้าที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท โดยกู้ได้สูงสุดไม่เกิน 20% ของยอดหนี้คงค้าง ณ 31 ธันวาคม 2562 อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี

“ธนาคารไม่คิดดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก เพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้”

ก่อนหน้านี้ กรุงไทยได้ออกมาตรการช่วยเหลือ “ลูกค้าทุกกลุ่มทุกขนาด” อย่างการพักชำระเงินต้น 12 เดือน ให้กับลูกค้ารายย่อย พักชำระเงินต้น 12 เดือน ขยายระยะเวลาชำระหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) และสินเชื่อ Trade Finance ออกไป 6 เดือน สำหรับลูกค้าธุรกิจที่มีรายได้ลดลง

มีการพักชำระหนี้ให้ลูกค้ารายย่อยและลูกค้าธุรกิจที่มีสถานะชำระปกติทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยนาน 3 เดือน ทั้งสินเชื่อบุคคลภายใต้การกำกับ และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 3 ล้านบาท สินเชื่อธุรกิจที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 20 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีสินเชื่อ “กรุงไทยต้านภัยโควิด-19 ดอกเบี้ยเริ่มต้นที่ 2% ต่อปี คงที่ 2 ปีแรก วงเงินกู้สูงสุด 20 ล้านบาท ฟรีค่าธรรมเนียม บสย. ค้ำประกัน 4 ปี ทำธุรกรรมโอน รับ จ่าย ไม่คิดค่าธรรมเนียมนาน 1 ปี สำหรับลูกค้าธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากไวรัส เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม รถเช่า ร้านขายของฝาก ของที่ระลึก เป็นต้น

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
?02 111 1111
? facebook : Krungthai Care

5. กรุงเทพ

ด้านธนาคารกรุงเทพ ร่วมออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการ SMEs ให้มีเงินทุนและสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจและรักษาการจ้างงานต่อไปโดยมี 2 มาตรการ ดังนี้

1. สำหรับลูกค้าผู้ประกอบการค้าทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยและมีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท ได้พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยโดยอัตโนมัติ ระยะเวลา 6 เดือนและไม่เสียประวัติข้อมูลเครดิต เพื่อช่วยให้มีสภาพคล่องรองรับรายจ่ายจำเป็น

ทั้งนี้ ลูกค้าผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ ธนาคารขอแนะนำให้ชำระหนี้ตามปกติเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

2. ธนาคารพร้อมสนับสนุนสินเชื่อใหม่ (soft loan) เพื่อเป็นเงินกู้เสริมสภาพคล่อง สำหรับลูกค้าผู้ประกอบการค้าทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย และมีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนพิเศษ 2% ต่อปี ในช่วง 2 ปีแรกและไม่คิดดอกเบี้ยในช่วง 6เดือนแรก ทั้งนี้ลูกค้าต้องมีสถานะผ่อนชำระปกติหรือค้างชำระไม่เกิน 90 วัน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 โดยแต่ละรายสามารถขอกู้ได้ไม่เกิน 20% ของยอดหนี้คงค้างของลูกหนี้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562

ด้านสินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่ออเนกประสงค์ที่ใช้ที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันวงเงิน ขณะอนุมัติไม่เกิน 3 ล้านบาท พักชำระเงินต้น จ่ายเฉพาะดอกเบี้ยนาน 3 เดือน เเละวงเงินขณะอนุมัติตั้งแต่ 3 ล้านบาทขึ้นไปขอความช่วยเหลือเป็นรายกรณีตามสถานการณ์

ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ประเภทเงินกู้ (Installment Loan) จะพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยนาน 3 เดือน

มาตรการปรับลดอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำมาอยู่ที่ 5% (จากเดิม 10%) จนถึง 31 ธันวาคม 2564 สำหรับผู้ถือบัตรเครดิตธนาคารกรุงเทพทุกประเภท และทุกรายได้รับสิทธิอัตโนมัติ โดยไม่ต้องลงทะเบียนขอรับสิทธิปรับลดดอกเบี้ยลงเป็นพิเศษ อยู่ที่ 12% สำหรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบโดยตรงประกอบอาชีพหรือทำงานในธุรกิจโรงแรม การท่องเที่ยว สายการบินและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องจากการที่รัฐบาลประกาศให้หยุดบริการชั่วคราวพักชำระเงินต้น และดอกเบี้ยนาน 3 เดือนยกเว้นดอกเบี้ยค้างชำระ 1 เดือน (ลงทะเบียนที่นี่)

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
?1333
?bangkokbank.com

ธนาคารกรุงเทพ

6. LH BANK

ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ แจ้งลูกค้าผ่านไลน์ ว่า พร้อมให้ความช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการ SMEs โดยจะพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน สำหรับเอสเอ็มอีที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท รวมถึงพร้อมปล่อยกู้เสริมสภาพคล่อง อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี ปลอดดอกเบี้ย 6 เดือน ซึ่งกู้ได้ไม่เกิน 20% ของหนี้คงค้าง ณ 31 ธ.ค.2562

สำหรับลูกค้าทุกกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากไวรัส COVID-19 มีมาตรการช่วยเหลือ ได้แก่ ผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระ เช่น ปลอดเงินต้นสูงสุด 12 เดือน และขยายระยะเวลาเงินกู้ เพื่อให้ภาระการผ่อนชำระลดลง หลังหมดช่วงปลอดเงินต้น เเละสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติมด้วย

“ธนาคารคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับลูกค้าได้ในระดับหนึ่งโดยมาตราการดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงตามผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะต่อไปและตามความเหมาะสมทางธุรกิจของลูกค้าแต่ละราย”

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
?1327

7. ออมสิน

ธนาคารออมสิน ออกมาตรการพักชำระเงินต้น และดอกเบี้ย โดยอัตโนมัติทันที สำหรับลูกค้ากลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เป็นเวลา 6 เดือนตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. – 30 มิ.ย. 2563

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
?1115 หรือ 0-2299-8000

 

8. ธ.ก.ส.

ฝั่งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เเละเกษตรกร โดยพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน ตั้งเเต่ 1 เม.ย. – 30 ก.ย. 2563 เพื่อเป็นการสนับสนุนเงินกู้เสริมสภาพคล่องให้ลูกค้าตามร่างพระราชกำหนดให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) โดยมาตรการอื่นๆ จะมีการเเจ้งให้ทราบต่อไป

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
? 0-2555-0555
? baac.or.th

9. ธพว.

ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ระบุว่า ได้ออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือ SMEs โดยเลื่อนชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยอัตโนมัติให้ลูกค้าเป็นเวลา 6 เดือน เริ่มมีผลตั้งแต่เดือนเมษายน – กันยายน 2563 สำหรับภาระหนี้ที่พักชำระไว้ ธนาคารจะนำยอดดังกล่าว ไปรวมกับค่างวดในงวดสุดท้าย ซึ่งในช่วงที่ผ่อนปรนนี้ ไม่ถือว่าเสียประวัติข้อมูลเครดิต

โดยลูกค้าที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าวจะได้รับสิทธิโดยอัตโนมัติทันที ไม่ต้องแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการ หรือลงทะเบียนใดๆ ทั้งสิ้นและหากลูกค้าท่านใด ต้องการชำระหนี้ตามเงื่อนไขที่เคยได้รับก็สามารถชำระได้ตามปกติ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
?1357
? smebank.co.th

10. EXIM BANK

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือ EXIM BANK แจ้งว่า ธนาคารได้มีมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน สำหรับลูกค้าทุกรายที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ทั้งทางตรงและทางอ้อม

พร้อมเงินกู้เสริมสภาพคล่องสำหรับลูกค้าที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท โดยให้กู้ได้ไม่เกิน 20% ของยอดหนี้คงค้าง ณ 31 ธ.ค. 2562 คิดอัราดอกเบี้ยต่ำ 2% ต่อปี และ ปลอดดอกเบี้ยช่วง 6 เดือนแรก ซึ่งลูกค้าสามารถติดต่อขอกู้ได้จนถึง 31 ธ.ค. 2563

นอกจากนี้ยังมี โครงการ “สินเชื่อเอ็กซิมเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน” เพื่อสนับสนุนสถานประกอบการในซัพพลายเชนของการส่งออกไทย โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรม วงเงินกู้สูงสุด 15 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 3% ต่อปี ระยะเวลากู้สูงสุด 7 ปี

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
? 02-617-2111 ต่อ 3510-2

11. UOB 

ธนาคารยูโอบี (ไทย) ประกาศมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ปรับลดอัตราการผ่อนชำระคืน ขั้นต่ำและมอบทางเลือกในการพักเงินต้น

โดยลูกค้าผู้ถือบัตรเครดิตของธนาคารที่มีสถานะทางบัญชีปกติ จะได้รับการปรับลดอัตราผ่อนชำระคืนขั้นต่ำจาก 10% เป็น 5% สำหรับบัตรเครดิตยูโอบี และจาก 5% เป็น 2.5% สำหรับบัตรกดเงินสดยูโอบีแคชพลัส โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563

สำหรับลูกค้าบัตรเครดิตยูโอบีและทูมอร์โรว์ บัตรกดเงินสดยูโอบีแคชพลัสสามารถแจ้งความประสงค์ในการขอพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 รอบบัญชีหรือเปลี่ยนยอดหนี้คงค้างเป็นยอดผ่อนรายเดือนชำระรายเดือนสูงสุด 48 รอบบัญชี สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคล i-Cash สามารถแจ้งความประสงค์ในการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 3 รอบบัญชี

ส่วนลูกค้าสินเชื่อบ้าน สามารถแจ้งความประสงค์เลือกพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 3 รอบบัญชีหรือพักชำระเงินต้นโดยชำระเฉพาะดอกเบี้ยเป็นเวลา 12 รอบบัญชี

ลูกค้าเอสเอ็มอี สามารถแจ้งความประสงค์ขอพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 3 เดือนหรือเลือกพักชำระเงินต้นโดยชำระเฉพาะดอกเบี้ยได้สูงสุด 12 เดือน หรือยื่นขอสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องกับสินเชื่อโครงการ Soft Loan
ที่อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี วงเงินสูงสุด 20 ล้านบาท

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
? โทร 02 285 1555 , 02 343 3555
? uob.co.th

12-13. TMB & ธนชาต

ด้านธนาคารธนชาตได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อบ้านธนชาต หรือ Thanachart Home Loan ซึ่งประกอบไปด้วย สินเชื่อบ้านรีไฟแนนซ์ (Refinance), สินเชื่อบ้านมือสอง (Resell house)สินเชื่อปลูกบ้าน (Self built) สินเชื่อบ้านแลกเงิน (Cash Your Home) และสินเชื่อโฮมพลัส (Home Plus)

ด้วยการพักชำระหนี้เงินต้น และดอกเบี้ย นานสูงสุด 3 เดือน และเมื่อครบกำหนดก็ต้องชำระหนี้คืนตามปกติ สำหรับระยะเวลาโครงการนั้นจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2564

สำหรับลูกค้าปัจจุบันสินเชื่อรถยนต์ธนชาต DRIVE ประเภทสินเชื่อรถยนต์ใหม่สินเชื่อรถยนต์ใช้แล้ว และ สินเชื่อรถแลกเงิน สามารถขอพักชำระหนี้ได้สูงสุดไม่เกิน 6 เดือน (Skip Payment) หรือขยายระยะเวลาผ่อนชำระไม่เกิน 96 งวด ทั้งนี้ โดยเงื่อนไขเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด และเมื่อครบกำหนดให้กลับมาชำระหนี้ตามปกติ ส่วนประเภทสินเชื่อเล่มแลกเงิน สามารถขอพักชำระหนี้ได้ไม่เกิน 60 วัน

ด้านธนาคารทหารไทย ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อบ้าน ทีเอ็มบี (TMB Home Loan) ด้วยการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย เป็นเวลาสูงสุด 3 เดือน และเมื่อครบกำหนดก็ต้องกลับมาชำระหนี้ตามปกติ
เช่ยเดียวกันกับธนาคารธนชาต

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
? โทร ธนชาต 1770 – TMB 1558
? thanachartbank.co.th , tmbbank.com

14. ธอส.

ล่าสุด “ธนาคารอาคารสงเคราะห์” ได้ยกระดับความช่วยเหลือเพิ่มเติมให้แก่ลูกค้าของธนาคารที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ในมาตรการที่ 5 โดยหลังจากพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 4 เดือนแล้ว ธนาคารจะยกดอกเบี้ยที่พักชำระไว้ทั้ง 4 เดือนให้กับลูกค้า เมื่อสิ้นสุดระยะเวลากู้ตามสัญญา

สำหรับกลุ่มลูกค้าทุกวัตถุประสงค์การกู้ที่มีวงเงินกู้ทุกบัญชีรวมกัน ไม่เกิน 3 ล้านบาท และมีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 35,000 บาท ครอบคลุมลูกค้า 1.1 ล้านบัญชี ทั้งสถานะบัญชีปกติ และสถานะบัญชีดอกเบี้ยผิดนัดหรือสถานะกฎหมาย และเตรียมกรอบวงเงิน 10,000 ล้านบาท จัดทำมาตรการที่ 6 พักชำระเงินต้นระยะเวลา 4 เดือน พร้อมลดดอกเบี้ยเหลือ 1.00% ต่อปี สำหรับ “บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข”

แจ้งความประสงค์ เข้ามาตรการผ่าน Mobile
Application : GHB ALL ตั้งแต่วันที่ 13 – 30 เมษายน 2563

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
? 0-2645-9000
?ghbank.co.th

หมายเหตุ :รวบรวมข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 14 เมษายน 2563 
ผู้สนใจติดต่อสอบถามทางธนาคารเพื่อการอัพเดตข้อมูลมาตรการอีกครั้ง 

]]>
1273383
กนง. ประชุมฉุกเฉิน ปรับลดดอกเบี้ย เหลือ 0.75% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ รับวิกฤต COVID-19 https://positioningmag.com/1269187 Fri, 20 Mar 2020 16:02:45 +0000 https://positioningmag.com/?p=1269187 กนง. ประชุมนัดพิเศษ มีมติลดดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.25 จากเดิมที่ร้อยละ 1 เหลือร้อยละ 0.75 ต่อปี ต่ำสุดในประวัติศาสตร์การเงินไทย มีผล 23 มี.ค.นี้ รับมือการเเพร่ระบาดของ COVID-19 พร้อมขอความร่วมมือจากสถาบันการเงินช่วยลูกหนี้ SMEs และประชาชน

ก่อนหน้านี้ กนง. ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 1.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 1 ต่อปี ไปเมื่อวันที่ 5 ก.พ. ที่ผ่านมา (อ่านรายละเอียด : กนง. ปรับลดดอกเบี้ยเหลือแค่ 1% หลังประเมินเศรษฐกิจ​ไทยแย่กว่า​ที่คาด )

ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีการประชุมนัดพิเศษในช่วงเย็นของวันที่ 20 มี.ค. เพื่อประเมินผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและกลไกการทำงานของตลาดการเงินของประเทศ

คณะกรรมการฯ เห็นว่าการระบาดของ COVID-19 ในระยะข้างหน้ารุนแรงกว่าที่คาดไว้เดิม รวมทั้งจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าที่จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย

การระบาดที่เกิดขึ้นได้สร้างความกังวลให้กับตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก ซึ่งที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องและกลไกการทำงานของตลาดการเงินไทย แม้ว่าระบบการเงินไทยโดยรวมยังมีเสถียรภาพ

คณะกรรมการฯ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.00 เป็นร้อยละ 0.75 ต่อปี โดยให้มีผลในวันที่ 23 มีนาคม 2563 เพื่อลดภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ บรรเทาปัญหาสภาพคล่องในตลาดการเงิน และลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งจะช่วยสนับสนุนมาตรการการคลังของรัฐบาลที่ได้ออกมาแล้วและจะออกมาเพิ่มเติม

“การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งที่ผ่านมาและในครั้งนี้ จะเกิดผลต่อระบบเศรษฐกิจก็ต่อเมื่อสถาบันการเงินจะต้องมีบทบาทเชิงรุกในการช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องของลูกหนี้ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs และประชาชน รวมทั้งการเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เกิดผลอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม จึงขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยติดตามการช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินแต่ละแห่งอย่างใกล้ชิด”

นอกจากนี้ ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยดูแลสภาพคล่องและกลไกการทำงานของตลาดการเงินเพื่อให้มั่นใจว่าตลาดการเงินมีเสถียรภาพและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย 

]]>
1269187
ธปท.สั่งเเบงก์คืนค่าธรรมเนียม ATM ปรับวิธีคิดดอกเบี้ยผิดชำระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ SME https://positioningmag.com/1259637 Tue, 07 Jan 2020 11:23:05 +0000 https://positioningmag.com/?p=1259637 ธนาคารเเห่งประเทศไทย (ธปท.) สั่งการให้สถาบันการเงินปรับปรุงการคิดดอกเบี้ยและการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพื่อลดภาระของประชาชน และออกมาตรการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยเหลือ SME ผู้ประกอบการรายย่อย 

โดยให้สถาบันการเงินการปรับปรุงใน 3 เรื่อง ได้แก่

1. ค่าปรับการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด (prepayment) ให้คิดค่าปรับบนยอดเงินต้นคงเหลือ แทนการคิดค่าปรับจากฐานวงเงินสินเชื่อทั้งก้อน

2. ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนค่างวด (installment) ที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระ เฉพาะส่วนที่เป็นเงินต้นของค่างวดนั้น แทนการคิดบนฐานของเงินต้นคงเหลือ นอกจากนี้ให้สถาบันการเงินกำหนดช่วงระยะเวลาการผ่อนผันไม่คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ในกรณีที่ลูกหนี้อาจมีเหตุสุดวิสัย ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด

3.ค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิต กรณีผู้ใช้บริการยกเลิกการใช้บัตร ให้คืนค่าธรรมเนียมรายปีตามสัดส่วนระยะเวลาคงเหลือของบัตรแก่ผู้ใช้บริการโดยไม่ต้องให้ผู้ใช้บริการร้องขอ จากเดิมที่ไม่มีการคืนส่วนต่างหรือคืนเมื่อร้องขอเท่านั้น

มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยเหลือ SME โดยมีผลวันที่ 1 ม.ค. 63 – 31 ธ.ค. 64

จากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก และความสามารถในการแข่งขันของ SME ที่ลดลง จึงได้มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME เป็นการชั่วคราว ให้สามารถพลิกฟื้นธุรกิจได้อย่างทันท่วงที โดยมีมาตรการดังนี้

1. มาตรการปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกันสำหรับลูกหนี้ที่ไม่เป็น NPL โดยการลดดอกเบี้ย และการขยายระยะเวลาชำระหนี้

2. มาตรการปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ที่เป็น NPL ให้เลื่อนขั้นเป็นลูกหนี้ปกติได้ เมื่อลูกหนี้ปรับโครงสร้างและชำระหนี้ได้ 3 เดือน หรือ 3 งวดติดต่อกัน จากเดิมที่ต้องรอถึง 12 เดือน

3. มาตรการสนับสนุนสถาบันการเงิน และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ให้สินเชื่อใหม่ เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียน สามารถจัดชั้นเป็นหนี้ปกติได้ หากลูกหนี้มีกระแสเงินสดรองรับการชำระหนี้ เพื่อให้ลูกหนี้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง

4. มาตรการสนับสนุนให้สถาบันการเงินไม่ลดวงเงินที่ยังไม่ได้ใช้ของลูกหนี้ และไม่ต้องกันสำรองสำหรับวงเงินสินเชื่อที่ลูกหนี้ยังไม่ได้ใช้

5. ให้สถาบันการเงินรายงานเป้าหมายสินเชื่อตามมาตรการและยอดคงค้างสินเชื่อของลูกหนี้ เป็นรายเดือนภายใน 21 วันนับจากวันสิ้นเดือน เพื่อประโยชน์ในการติดตามสถานการณ์การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้

 

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย – Bank of Thailand

]]>
1259637