บัดดี้มาร์ท – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 14 Nov 2022 04:51:15 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “บัดดี้มาร์ท” โมเดลใหม่ยกระดับ “โชห่วย” ชุมชน ลงระบบจัดการร้านให้ทันสมัย-ลดการจมทุน https://positioningmag.com/1407413 Mon, 14 Nov 2022 10:00:49 +0000 https://positioningmag.com/?p=1407413

ธุรกิจโชห่วยยุคนี้กำลังเผชิญความท้าทายหลายด้าน ทำให้ “แม็คโคร” เลือกปั้นโมเดลธุรกิจใหม่ “บัดดี้มาร์ท” สูตรสำเร็จที่จะมายกระดับ “โชห่วย” ชุมชนให้ทันสมัยขึ้น ผ่านระบบบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยีและความแข็งแกร่งจากพันธมิตรแม็คโคร ช่วยแก้ ‘pain point’ ให้โชห่วย ลดการจมทุน ดึงดูดให้ทายาทสนใจสานต่อกิจการมากขึ้น

“โชห่วย” ถือเป็นธุรกิจสำคัญของประเทศเพราะมีสัดส่วนถึง 45-47% ในมูลค่าตลาดค้าปลีกทั้งหมด ด้วยลักษณะที่เป็นธุรกิจครอบครัวที่เจ้าของมักจะบริหารเอง เป็นร้านค้าขนาดเล็กที่แทรกซึมทุกซอกมุมของชุมชนไทย การคงอยู่ของโชห่วยจึงสำคัญกับเศรษฐกิจอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม “เอกพล คูสุวรรณ” ผู้จัดการโครงการบัดดี้มาร์ท กล่าวว่า ปัจจุบันโชห่วยยิ่งเผชิญความท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยอุปสรรค 5 ข้อใหญ่ที่มักจะทำให้ธุรกิจต้องปิดตัวลง ได้แก่ 1.พฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไปชื่นชอบระบบสมัยใหม่ 2.การปรับสินค้าไม่ทันความต้องการลูกค้า 3.สภาพคล่องการหาเงินกู้เพื่อลงทุนหมุนเวียน 4.ประสิทธิภาพในการบริหาร และ 5.ไม่มีผู้สืบทอดกิจการ

ด้วยประสบการณ์ของแม็คโครที่ทำงานกับโชห่วยมานาน 33 ปี และมีฐานลูกค้ากลุ่มโชห่วยกว่า 5 แสนรายทั่วประเทศ จึงทราบ pain point ทั้งหมดข้างต้น และต้องการคิด ‘สูตรสำเร็จ’ ที่จะช่วยประคองให้โชห่วยอยู่คู่ชุมชนไทยต่อไป “บัดดี้มาร์ท” ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ในเครือแม็คโครจึงเกิดขึ้น


แบรนด์ใหม่ “บัดดี้มาร์ท” สร้างความทันสมัย

โมเดล “บัดดี้มาร์ท” คือการนำแบรนด์ ระบบเทคโนโลยี องค์ความรู้ และพันธมิตรเข้าไปช่วยร้านค้าโชห่วย โดยมีจุดขายทั้งหมด 5 ด้านที่ร้านค้าจะได้รับเมื่อสมัครเป็นพาร์ทเนอร์กับบัดดี้มาร์ท คือ

1.ลงทุนน้อยแต่คุ้มค่า – ใช้เงินลงทุนเพียง 4 แสนบาท (แบ่งเป็นเงินค้ำประกันสัญญาระยะ 3 ปี มูลค่า 2 แสนบาท และค่าปรับปรุงร้าน 2 แสนบาท) ขณะที่บัดดี้มาร์ทจะลงทุนให้อีก 1.5 ล้านบาทเพื่อเป็นค่าตกแต่งร้าน เครื่องคิดเงินและระบบ POS ลงอุปกรณ์/ตู้แช่ โดยเฉพาะ “ตู้แช่แข็ง” ที่จะเป็นหมัดเด็ดในการเป็นเสมือนซัพพลายเออร์ให้ร้านอาหาร/ครัวเรือนในชุมชนนั้นๆ

2.แหล่งเงินทุน – โมเดลธุรกิจนี้เป็นพันธมิตรกับ “ธนาคารกรุงเทพ” ทำให้ผู้ลงทุนจะได้สินเชื่อแพ็กเกจพิเศษสำหรับการปรับปรุงร้าน

3.ข้อเสนอที่ดีจากพันธมิตร – เนื่องจากแม็คโครมีพันธมิตรสินค้าหลายบริษัทที่จะให้โปรโมชันดีๆ กับร้านค้าบัดดี้มาร์ท เช่น ไทยน้ำทิพย์, Unilever, P&G, เนสท์เล่ ทำให้ร้านมีโอกาสการขายมากกว่า

4.กิจกรรมการตลาดจากทีมงาน – ด้วยประสบการณ์จากแม็คโคร สามารถส่งเสริมแบรนด์บัดดี้มาร์ทให้ได้ รวมถึงให้คำปรึกษาด้วย “ดาต้า” ว่าสินค้าไหนเป็นสินค้าขายดีในพื้นที่ที่ร้านควรสั่ง

5.เทคโนโลยีช่วยพัฒนาธุรกิจ – ปรับตัวสู่ความทันสมัยให้กับร้านด้วยระบบเครื่องคิดเงินอัตโนมัติ POS ทำให้ร้านเข้าสู่สังคมไร้เงินสดได้ และตัดสต็อกสินค้าได้รวดเร็ว ตรวจสอบได้ง่ายว่าสินค้าไหนที่ขายดี และสินค้าใดที่ต้องระบายสต็อก

นอกจากนี้ เอกพลยังกล่าวถึง ข้อดีอีกมากที่จะได้ เมื่อเป็นร้านบัดดี้มาร์ท เช่น องค์ความรู้วิธีจัดชั้นวางสินค้าที่ช่วยเร่งยอดขาย, มีรอบส่งของจากแม็คโครสูงสุด 4 ครั้งต่อสัปดาห์ ทำให้ร้านลดโอกาสของขาดสต็อก, ใช้ระบบเครดิตร้านค้า รับของก่อน ชำระในภายหลัง, มีที่ปรึกษาแนะนำการเสริมบริการด้านหน้าร้าน เช่น เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ ตู้เติมเงิน ตู้กดกาแฟ

ด้วยการยกระดับโชห่วยขึ้นเป็นร้านบัดดี้มาร์ท จะทำให้ร้านค้ามีระบบจัดการที่ดีขึ้น ลดโอกาสการ ‘จมทุน’ เพราะมีพี่เลี้ยงช่วยดูแลและทำการตลาด และใช้เงินลงทุนไม่สูงทำให้คืนทุนเร็วอีกด้วย


เน้นความเป็น “เจ้าของ” ไม่ทิ้งอัตลักษณ์ชุมชน

อะไรที่ทำให้บัดดี้มาร์ทต่างจากแฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้ออื่น? เอกพลอธิบายว่า บัดดี้มาร์ทไม่ได้ต้องการจะเปลี่ยนเอกลักษณ์ของโชห่วยแบบดั้งเดิมซึ่งมีหัวใจสำคัญคือการเป็น “ศูนย์กลางของคนในชุมชน”

“ความแข็งแกร่งที่สุดของโชห่วยคือการที่เจ้าของร้านสนิทชิดเชื้อกับคนในชุมชน บุคลิกของเจ้าของร้านคือเสน่ห์หรือเอกลักษณ์ส่วนตัว ส่วนใหญ่เจ้าของโชห่วยไทยจะจำคนในชุมชนตัวเองได้ รู้ใจในการซื้อสินค้า ทำให้รู้สึกผูกพันกัน” เอกพลกล่าว

แม้ว่าร้านจะถูกปรับให้เป็นชื่อบัดดี้มาร์ท ตกแต่งในสไตล์สีน้ำเงิน-เหลืองเหมือนกัน แต่หัวใจจะอยู่ที่ “เจ้าของร้าน” ที่จะยังเป็นคนเดิม สร้างสัมพันธ์กับคนในชุมชนต่อไป

รวมถึงบัดดี้มาร์ทจะสนับสนุนกลุ่ม “สินค้าชุมชน” เช่น กล้วยตาก ผลไม้ท้องถิ่น ลูกชิ้นปิ้ง สินค้าเหล่านี้ที่ไม่เหมือนกันในแต่ละสาขาจะไม่ถูกทอดทิ้ง เพราะเป็นอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่นั้นๆ


ร้านค้านำร่องเพิ่มยอดขายแล้ว 40%

เอกพลกล่าวต่อถึงการชิมลางโมเดลธุรกิจนี้มาตั้งแต่ไตรมาส 2/2565 ปัจจุบันมีร้านค้านำร่องแล้ว 25 สาขา ซึ่งร้านทั้งหมดประสบความสำเร็จในการเพิ่มยอดขาย เติบโตเฉลี่ยถึง 40% หลังเปลี่ยนเป็นบัดดี้มาร์ท

เป้าหมายของปี 2565 เชื่อว่าจะมีบัดดี้มาร์ทได้ 300 สาขา ขณะที่ปี 2566 ตั้งเป้าที่ 2,000 สาขา ในระยะแรกจะเน้นรับร้านค้าที่ทำธุรกิจโชห่วยอยู่เดิม มากกว่าผู้ที่ต้องการลงทุนใหม่ และจะดูแลประเด็น catchment area  ให้ไม่ทับซ้อนกัน

เอกพลกล่าวด้วยว่า สำหรับโปรโมชันช่วงนี้จนถึง 31 ธันวาคม 2565 มีโปรฯ ฟรีค่าปรับปรุงร้านค้า 2 แสนบาท (ร้านค้าจ่ายเฉพาะค่าประกันสัญญา 2 แสนบาท) จำกัด 300 สิทธิ์แรกเท่านั้น สนใจสมัครติดต่อได้ที่ โทร.02-099-1555 หรือ LINE @Buddymart หรือ Facebook Page บัดดี้มาร์ท BuddyMart

“เป้าหมายระยะยาวของเราคือการทำอย่างไรให้ทายาทหรือคนรุ่นใหม่อยากมาสืบสานกิจการต่อ เราจึงต้องทำให้ร้านดูทันสมัย เติมสิ่งที่ขาด ทำให้ร้านโชห่วยปรับตัวได้ง่ายขึ้นในยุคนี้ เพื่อให้อีก 10-20 ปีข้างหน้า ร้านโชห่วยจะยังเป็นคู่ค้าของเราต่อไป” เอกพลกล่าวทิ้งท้าย

]]>
1407413
เมื่อ “แม็คโคร” ปั้น “บัดดี้มาร์ท” เชนโชห่วยชุมชน ท้าชน “ถูกดี มีมาตรฐาน-ร้านติดดาว” https://positioningmag.com/1399426 Thu, 08 Sep 2022 06:26:29 +0000 https://positioningmag.com/?p=1399426 เมื่อยักษ์ใหญ่ในวงค้าปลีก และสินค้า FMCG ต่างลงมาจับตลาด “ร้านโชห่วย” เนื่องจากเป็นตลาดใหญ่ในไทย “แม็คโคร” จึงไม่รอช้า ปั้นร้าน “บัดดี้มาร์ท (Buddy Mart)” เชนโชห่วยเข้าสู่ชุมชน ช่วยออกแบบร้าน และเข้าถึงสินเชื่อได้ง่าย งานนี้ท้าชน “ถูกดี มีมาตรฐาน” ของทีดี ตะวันแดง และ “ร้านติดดาว” ของกลุ่มยูนิลีเวอร์เต็มๆ

โชห่วยครองตลาดค้าปลีกไทย

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เริ่มได้เห็นหลายธุรกิจลงมาจับตลาดเชนโชห่วยชุมชนมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยจากมีเม็ดเงินมหาศาล อีกทั้งตลาดโชห่วย หรือเป็นตลาด Traditional Trade ยังเป็นตลาดใหญ่ในไทย พฤติกรรมคนไทยยังคุ้นเคยกับร้านค้าในชุมชน ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด หรือตามชุมชน

ปัจจุบันตลาดค้าปลีกไทยมีมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านบาท โดยธุรกิจโชห่วยมีสัดส่วนถึง 55% ของตลาดค้าปลีกไทย และโชห่วยยังถือเป็นกลุ่มผู้ประกอบการ SME ภาคบริการที่มีความสำคัญต่อ GDP ของประเทศเช่นกัน

แต่เดิมเราได้เห็น “ร้านติดดาว” ของยูนิลีเวอร์ นำร่องทำระบบร้านโชห่วยชุมชนมาหลายปีมากๆ ตั้งแต่ปี 2555 และไม่กี่มานี้ก็ได้เห็น “เสี่ยเสถียร เศรษฐสิทธิ์” ลงมาจับตลาดนี้บ้าง ลุยธุรกิจส่วนตัวเปิด “ทีดี ตะวันแดง” เปิดร้าน “ถูกดี มีมาตรฐาน” ล่าสุดยังได้พาร์ตเนอร์กับธนาคารกสิกรไทย ในการขยายบริการทางการเงินเข้าสู่ชุมชนผ่านเครือข่ายร้านของถูกดี มีมาตรฐานด้วย

คอนเซ็ปต์ของเครือข่ายโชห่วยที่ทางยักษ์ใหญ่ได้ลงมาทำนั้น หลักๆ อยู่ที่การนำระบบการจัดการแบบโมเดิร์นเทรด เข้าไปช่วยยกระดับร้านโชห่วยในชุมชนให้อยู่รอด และมีรายได้ที่เติบโต ปรับปรุงร้านให้น่าเข้า ปั้นเป็นเครือข่ายโชห่วยของตัวเอง

ในตลาดร้านโชห่วยในไทย ที่คาดว่ามีเฉลี่ยกว่า 400,000 ร้านค้า มีร้านที่อยู่รอด และมีร้านที่ล้มหายตายจากอยู่ตลอด จากผลสำรวจพบว่าปัญหาของร้านโชห่วยในไทยมีอยู่ 5-6 ข้อ ได้แก่ ไม่มีเงินทุน, สินค้าน้อย, การจัดเรียงของไม่ดี, ไม่มีเทคโนโลยี, การทำบัญชีรายรัย รายจ่าย รวมถึงกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างๆ ถ้าเป็นร้านโชห่วยในชุมชนที่อยู่แบบโดดเดี่ยวจะอยู่ได้ยาก ต้องมีโปรโมชัน และเทคโนโลยีมาช่วย รวมถึงแบรนด์ของการเป็นเครือข่ายเช่นกัน

เครือข่ายโชห่วยจะมีทีมที่ช่วยเข้าไปดูแลตั้งแต่ทำเลที่ตั้ง การดีไซน์ร้าน การจัดร้าน พอเปิดร้านก็ช่วยดูเรื่องการบริหารสต็อก ร้านค้าอาจจะไม่ต้องปิดร้านเพื่อไปซื้อของที่ห้างค้าส่งแห่งใหญ่ แต่มีการจัดส่งสินค้าให้ตามสต็อกที่สั่ง ช่วยในเรื่องทำการตลาดอีกด้วย

รู้จัก “บัดดี้มาร์ท”

“แม็คโคร” เป็นผู้เล่นค้าส่งรายใหญ่ในไทย เมื่อลูกค้าหลักของแม็คโคร 30% เป็นร้านค้าโชห่วย มีหรือจะพลาดในการทำตลาดนี้ ล่าสุดจึงปั้น “บัดดี้มาร์ท” เครือข่ายร้านโชห่วยในชุมชน

บัดดี้มาร์ท เน้นความสำเร็จรูปในการทำธุรกิจ ตั้งแต่การออกแบบร้าน วางผังการจัดวางสินค้า การเลือกสินค้า โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ และตรงใจลูกค้ากลุ่มเป้าหมายในชุมชนนั้นๆ มีทีมงานบัดดี้มาร์ท สนับสนุนการวางแผนส่งเสริมการขาย และช่วยบริหารจัดการร้าน รวมถึงมีระบบการจัดการสต็อก และการสั่งซื้อสินค้าเข้าร้านที่รวดเร็ว ทำให้เจ้าของร้านสะดวก มีรายได้เพิ่มขึ้น

buddy mart

เจ้าของร้านจะใช้งบลงทุน 400,000 บาท แบ่งเป็นค่าเงินค้ำประกัน 200,000 บาท และค่าปรับปรุงร้าน 200,000 บาท (ขึ้นกับขนาด และสภาพของร้านปัจจุบัน) มี 3 ขนาด คือ ขนาดเล็ก พื้นที่ 48 ตารางเมตรขึ้นไป ขนาดกลาง พื้นที่ 50-100 ตารางเมตร ขนาดใหญ่ พื้นที่ 100 ตารางเมตรขึ้นไป

ส่วนทางบัดดี้มาร์ทจะลงทุนให้กับคู่ค้า มูลค่าประมาณ 1.5 ล้านบาท โดยติดตั้งระบบ POS ระบบบริหารจัดการร้าน อุปกรณ์ชั้นวาง ตู้แช่ และสินค้าทั้งหมดภายในร้าน และยังร่วมกับธนาคารกรุงเทพ สร้างการเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ที่ติดปัญหาด้านเงินลงทุน

buddy mart

ภายใต้การนำทัพของ “ธนิศร์ เจียรวนนท์”

หลังจากการผนึกกันของกลุ่มธุรกิจค้าปลีก และค้าส่งรายใหญ่ของไทย แม็คโคร และโลตัส ที่อยู่ภายใต้ชายคา “เจริญโภคภัณฑ์” เดียวกัน ก็มีการจัดทัพองค์กรใหม่ ดันผู้บริหารรุ่นใหม่เสริมทัพ หนึ่งในแม่ทัพของแม็คโครที่น่าจับตาไม่น้อยก็คือ “ธนิศร์ เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหารธุรกิจค้าส่งแม็คโคร ประเทศไทย ที่มากุมบังเหียนธุรกิจค้าส่ง และดูแลโปรเจกต์

ธนิศร์ เป็นบุตรชายคนโตของ “สุภกิต-มาริษา เจียรวนนท์” จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จากนั้นไปทำงานในตำแหน่งนักวิเคราะห์ให้กับ ธนาคาร UBS AG ในฮ่องกง 2 ปีครึ่ง และกลับมาทำงานในแผนกต่างประเทศ ดูแลด้านการขยายสาขาให้แม็คโคร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 และได้รับโจทย์ที่ท้าทายอย่างการขยายสาขาสู่ประเทศที่การทำธุรกิจค้าปลีกค้าส่งไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างอินเดีย

ธนิศร์ เจียรวนนท์

ภารกิจของเขาในขณะนั้น คือการศึกษาความเป็นไปได้ของการขยายธุรกิจไปยังประเทศต่างๆ ในเอเชีย ซึ่งเขาทุ่มเทสุดกำลังในการสร้างความเข้าใจ “ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก” เซ็กเมนต์ที่เต็มไปด้วยความท้าทายในทุกย่างก้าว โดยเรียนรู้จาก “ทีมผู้เชี่ยวชาญ” ของแม็คโครที่เป็น “มือเก๋าในวงการ” คอยให้คำแนะนำ โดย “ธนิศร์” ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ LOTS Wholesale Solution และฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ จนประสบความสำเร็จ ขยายได้ถึง 3 สาขาในอินเดีย

“ตอนไปทำที่อินเดีย ผมอายุประมาณ 27 ปี ต้องบอกว่า ตลาดนี้มีความท้าทายมาก เพราะฝั่งที่เป็นการค้าปลีกแบบดั้งเดิมมีถึง 91% และฝั่งที่เป็นการค้าสมัยใหม่มีสัดส่วนเพียง 9% เป็นตลาดที่มีความซับซ้อน ต้องใช้เวลาศึกษา ทำความเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้า แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ เราต้องทำให้พนักงานของเราไม่คิดว่าตลาดอินเดียยาก หรือจะทำแต่สิ่งเดิมๆ ที่เคยทำ เราต้องผลักดันให้พนักงานกล้าที่จะก้าวออกมาจากกรอบเดิมๆ ดังนั้น การทำธุรกิจที่อินเดียจึงไม่ใช่แค่เรื่องธุรกิจ แต่เป็นเรื่อง คน ที่จะทำอย่างไรให้เขาเชื่อว่า เขาชนะคู่แข่งได้”

ธนิศร์เล่าถึง ภารกิจแห่งความท้าทายในตลาดค้าส่งในประเทศที่ถือว่า “หิน” ที่สุดแห่งหนึ่ง ซึ่งตลอด 4 ปีในแดนภารตะ เขาทำงานอย่างหนัก สร้างบทพิสูจน์ในฐานะผู้นำองค์กร และสร้างผลงานทางธุรกิจได้ดี จนได้รับการเลื่อนขั้น กลับมารับตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หน่วยธุรกิจแม็คโครประเทศไทย ในปีนี้

โจทย์หิน ของ “ธนิศร์” ไม่หยุดแค่อินเดีย หลังกลับมาประจำที่แม็คโคร สำนักงานใหญ่ ประเทศไทย เขาได้รับหน้าที่ในแผนกพัฒนาธุรกิจค้าปลีก ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “บัดดี้มาร์ท” รูปแบบธุรกิจทางเลือกของโชห่วย ที่เขาร่วมเป็นหนึ่งในทีมปลุกปั้น ในช่วงแรกๆ เขาถึงขนาดลงพื้นที่ไปช่วยจัดร้านค้า ขนของ ลงแรงด้วยตัวเองเคียงข้างทีมงานทุกคน เพื่อต้องการเข้าถึงใจของผู้ประกอบการที่เป็นพันธมิตรสำคัญ

และเมื่อภาระหน้าที่ขยับก้าวไปสู่ความรับผิดชอบที่ใหญ่ขึ้น ในฐานะ ซีอีโอของ หน่วยธุรกิจแม็คโคร ประเทศไทย “ธนิศร์” ก็ต้องทำการบ้านอย่างหนัก เพื่อลงสนามแข่งขันในธุรกิจค้าส่งค้าปลีก ที่ตลาดในเมืองไทยกำลังเป็นสมรภูมิที่มีการแข่งขันอย่างดุเดือด

สำหรับร้านบัดดี้มาร์ท ธนิศร์ได้เล่าว่า ตลอดระยะเวลาดำเนินธุรกิจในประเทศไทย แม็คโครเป็นธุรกิจค้าส่งที่มีโชห่วยเป็นหนึ่งในกลุ่มลูกค้าสำคัญ สร้างยอดขายในอัตราส่วนถึง 30% แม็คโครกับลูกค้าโชห่วยทั่วประเทศ จึงมีความผูกพันกันมานาน ในทุกปีเรามีการจัดงานตลาดนัดโชห่วย เพื่ออัปเดตเทรนด์ธุรกิจค้า ที่ร้านค้าเล็กๆ ควรรู้หรือนำไปปรับใช้ รวมถึงมีโครงการประกวดทายาทโชห่วย ซึ่งเป็นเวทีแข่งขันไอเดียพัฒนาร้านของคนรุ่นใหม่หรือลูกหลานเจ้าของธุรกิจโชห่วย เมื่อนำมาเสริมกับข้อมูลเชิงลึกที่แม็คโครมี ก็ทำให้ได้ข้อมูลที่เข้าถึงปัญหาอย่างลึกซึ้ง และสามารถสร้างรูปแบบการพัฒนาร้านค้าปลีก ที่ตอบโจทย์ให้โชห่วยได้อย่างแท้จริง

]]>
1399426