ผลกระทบ Brexit – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 10 Dec 2020 13:28:20 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 7 ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม หากอังกฤษต้องเผชิญ No-deal Brexit https://positioningmag.com/1309946 Thu, 10 Dec 2020 06:40:00 +0000 https://positioningmag.com/?p=1309946 อังกฤษกำลังอยู่ใน “ช่วงเปลี่ยนผ่าน” โดยสถานะขณะนี้พ้นจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปแล้ว แต่ยังต้องเจรจาข้อตกลงทางเศรษฐกิจให้จบภายในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ มิฉะนั้นก็จะเป็น No-deal Brexit อย่างเป็นทางการ และถ้าเกิดกรณีดังกล่าวขึ้น อังกฤษจะได้รับผลกระทบ 7 ด้าน

วันนี้ (10 ธันวาคม 2020) “บอริส จอห์นสัน” นายกรัฐมนตรีอังกฤษ จะรับประทานอาหารค่ำกับ “เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน” ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ในกรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยียม มื้ออาหารนี้ไม่ธรรมดาเพราะจะเป็นความพยายามอีกครั้งหนึ่งของจอห์นสัน เพื่อหาข้อตกลงร่วมในการกำหนดความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอังกฤษกับสหภาพยุโรป

จอห์นสันมีความตั้งใจที่จะทำให้ดีลชัดเจนขึ้นภายในสุดสัปดาห์นี้ แต่ก็ยังคงหนักแน่นในจุดยืนว่าอังกฤษจะเป็นชาติอิสระที่ยืนด้วยลำแข้งของตัวเอง

บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ขณะขึ้นเครื่องเพื่อบินไปเจรจากับเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ในกรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยียม (Photo : Twitter@BorisJohnson)

แม้ว่าจอห์นสันจะประกาศกร้าวมานานแล้วว่าเขา “พร้อมรับสถานการณ์ No-deal Brexit” แต่เชื่อได้ว่าเขาเองก็ไม่ต้องการให้สถานการณ์นั้นเกิดขึ้น และถ้าหากเกิดขึ้นจริง สำนักข่าว Reuters ได้วิเคราะห์ผลกระทบ 7 ด้านจากการไร้ดีลการค้าเมื่อออกจากการเป็นสมาชิก EU ของอังกฤษ ดังนี้

 

1. เงินปอนด์อ่อนค่า

นักลงทุนและสถาบันการเงินคาดการณ์ไว้นานแล้วว่า ข้อตกลงทางการค้าจะสำเร็จได้ ดังนั้น ถ้าหากผลพลิกผันเป็น No-deal Brexit สถานการณ์จะซ้ำเติมให้ค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงอ่อนค่าลงอีก

เงินปอนด์เคยร่วงลงรุนแรงที่สุดภายในวันเดียวมาแล้ว เมื่อวันประกาศผลการลงประชามติปี 2016 ที่ปรากฏว่าอังกฤษโหวตออกจาก EU ทำให้เงินปอนด์อ่อนค่า 8% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบันค่าเงินปอนด์อยู่ที่ 1 ปอนด์ต่อ 1.34 ดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับปี 2016 ก่อนการลงประชามติอยู่ที่ 1 ปอนด์ต่อ 1.45 ดอลลาร์สหรัฐ

 

2. กำแพงภาษี ส่งออกแข่งขันยาก ของนำเข้าแพงขึ้น

หากไม่มีดีลการค้าใดๆ เลย อังกฤษจะสูญเสียตลาดปลอดภาษีในยุโรปไปในชั่วข้ามคืน โดยตลาดนี้มีประชากรกว่า 450 ล้านคน จึงเป็นฐานการส่งออกสินค้าที่สำคัญมากของอังกฤษ ในทางกลับกัน อังกฤษก็จะตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจากยุโรปด้วย ทำให้ประชาชนและธุรกิจอังกฤษต้องซื้อสินค้านำเข้าในราคาแพงขึ้น

ในแง่ผู้บริโภคทั่วไป เป็นไปได้ว่าสินค้า “กลุ่มอาหาร” จะกระทบหนักที่สุด อังกฤษอาจจะขาดแคลนอาหารจากยุโรปไประยะหนึ่ง โดยอังกฤษมีการนำเข้าอาหารสดถึง 60% ของที่มีในตลาด

แผนกอาหารสดใน Tesco สหราชอาณาจักร (Photo : Shutterstock)

ทั้งนี้ “จอห์น อัลลัน” ประธานบริษัท Tesco ซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ของอังกฤษระบุว่า การขาดแคลนอาหารสดอาจจะเกิดขึ้นชั่วคราวเพียง 1-2 เดือน จากนั้นจะเข้าสู่ภาวะปกติ ส่วนราคาอาหารสดนำเข้าโดยเฉลี่ยน่าจะสูงขึ้น 3-5% ขึ้นอยู่กับประเภทอาหาร บางชนิดอาจจะราคาสูงขึ้นมาก เช่น ชีสจากฝรั่งเศสสามารถปรับราคาขึ้นได้สูงสุด 40% ดังนั้น ผลกระทบต่อผู้บริโภคแต่ละคนก็ขึ้นอยู่กับบุคคลนั้นๆ รับประทานของนำเข้ามากแค่ไหน

ส่วนกลุ่มธุรกิจที่มี EU เป็นส่วนหนึ่งในซัพพลายเชน คาดว่าจะมีผลกระทบหลักกับกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ คือ ยานยนต์, อาหารและเครื่องดื่ม, เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย, ยาและเวชภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี

สหภาพยุโรปนั้นเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของอังกฤษ โดยมีสัดส่วนถึง 47% ของการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดในปี 2019 โดยมีมูลค่ารวมราว 7.9 หมื่นล้านปอนด์

 

3.ธุรกิจยานยนต์อ่วมสุด

ในบรรดาธุรกิจที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว อุตสาหกรรมที่จะรับเคราะห์หนักที่สุดคือ “ยานยนต์” เนื่องจากการส่งออกรถยนต์ไปยัง EU จะเผชิญกำแพงภาษี 10% ทันที และสูงขึ้นเป็น 22% สำหรับรถประเภทรถบรรทุกและรถตู้ เมื่อเกิดการขึ้นภาษี เป็นไปได้สูงที่ภาระนี้จะถูกผลักลงในราคารถยนต์ และทำให้ผู้บริโภคยุโรปที่ต้องการซื้อรถอังกฤษต้องจ่ายแพงขึ้น

(Photo by Zhang Peng/LightRocket via Getty Images)

เครือข่ายผู้ผลิตและผู้ค้ายานยนต์แห่งอังกฤษเปิดเผยว่า No-deal Brexit จะทำให้การผลิตรถยนต์ในอังกฤษลดลง 2 ล้านคันในรอบ 5 ปีข้างหน้า และมีผลให้การพัฒนายานพาหนะปลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ทำได้ช้าลง

Reuters ยังรายงานเสริมด้วยว่า อีกประเด็นที่จริงๆ แล้วมีผลกระทบกับเศรษฐกิจน้อยแต่มีผลเชิงสังคมสูงคือ “ธุรกิจประมง” การเจรจาเรื่องเส้นแบ่งเขตแดนทำประมงกับฝรั่งเศสจะเป็นเรื่องใหญ่ในข้อตกลง แม้ว่าการประมงจะมีสัดส่วนเพียง 0.03% ในมูลค่าเศรษฐกิจของอังกฤษก็ตาม

 

4.เศรษฐกิจป่วนทั้งสองฝั่ง

สำนักงานตรวจสอบการใช้งบประมาณอย่างรับผิดชอบของอังกฤษ ประเมินว่า หากอังกฤษพ้นสมาชิก EU แบบไร้ข้อตกลงทางการค้า จะทำให้ขนาดเศรษฐกิจอังกฤษลดลง 2% ขณะเดียวกัน จะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น อัตราว่างงานสูงขึ้น และหนี้สาธารณะสูงขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ฝั่ง EU ก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน บริษัท Allianz ประเมินว่าการออกแบบไร้ดีลจะทำให้สหภาพยุโรปสูญเสียตลาดส่งออกมูลค่า 3.3 หมื่นล้านยูโรไป โดยมีประเทศที่รับผลหนักที่สุดคือ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศส รองลงมาคือไอร์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน โปรตุเกส โปแลนด์ เช็ก ไซปรัส มอลต้า และฮังการี

สถาบันวิจัยด้านเศรษฐกิจ Halle คาดการณ์ว่าบริษัทใน EU ที่ทำการส่งออกไปอังกฤษ เมื่อได้รับผลกระทบจากการไร้ข้อตกลงการค้า จะส่งผลต่อเนื่องไปถึงการว่างงานถึง 7 แสนตำแหน่งในอุตสาหกรรมนี้

 

5.ปัญหาไอร์แลนด์เหนือ

เนื่องจากข้อตกลง Brexit ไม่ได้ออกจาก EU กันหมดทั้งสหราชอาณาจักร เฉพาะไอร์แลนด์เหนือนั้นจะยังอยู่ในระบบตลาดปลอดภาษีของ EU ต่อไป ทำให้ต้องมีข้อตกลงเรื่องการจัดตั้งด่านตรวจและเอกสารระหว่างสองดินแดน แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน

แผนที่สหราชอาณาจักร ดินแดนไอร์แลนด์เหนือนั้นอยู่บนเกาะทางตะวันตกและมีพรมแดนติดกับสาธารณรัฐไอร์แลนด์ (Photo : ontheworldmap.com)

ถ้าหากอังกฤษออกแบบไร้ดีลการค้า ก็จะยิ่งทำให้ปัญหานี้ซับซ้อนขึ้นอีก เพราะดินแดนไอร์แลนด์เหนืออาจจะกลายเป็นประตูหลังบ้านในการนำเข้าส่งออกสินค้ากับ EU ได้ ส่งผลให้แนวคิดการจัดตั้งด่านชายแดนแบบเข้มงวด (hard border) ในไอร์แลนด์ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยอีกครั้ง หลังจากเรื่องนี้ถูกระงับไปตั้งแต่เกิดข้อตกลงสันติภาพ Good Friday Agreement ปี 1998

หากเกิดด่านชายแดนเข้มงวดขึ้นจริง จะมีผลทางสังคมกับคนในพื้นที่ที่เดินทางเข้าออกไปทำงานหรือไปเที่ยวในสาธารณรัฐไอร์แลนด์เป็นประจำ และอาจจะส่งผลต่อเนื่องให้การขอแยกตัวเป็นเอกราชของไอร์แลนด์เหนือปะทุขึ้นมาอีก โดยในอดีตกลุ่มกองกำลังติดอาวุธ IRA เคยเคลื่อนไหวอยู่นานถึง 30 ปี ก่อนเกิดข้อตกลงสันติภาพดังกล่าว

 

6.ความขมขื่นทางการเมือง

การหย่าร้างของ EU กับอังกฤษยังจะมีผลในแง่ขั้วอำนาจทางการเมืองโลกด้วย ท่ามกลางการแผ่ขยายของมหาอำนาจตะวันออกอย่างจีนและรัสเซีย และการระบาดของ COVID-19 หากมีเรื่องยุ่งยากทางการเมืองโลกเกิดขึ้น เป็นไปได้ว่าต่างฝ่ายต่างจะกลายเป็นคนแปลกหน้าต่อกัน

ภายใน EU เองก็น่าจะเกิดความปั่นป่วนเช่นกัน เพราะได้สูญเสียหนึ่งในผู้นำทางการทหารและปฏิบัติการสายลับของยุโรป รวมถึงเป็นตลาดเศรษฐกิจอันดับสองทวีป และเป็นเมืองหลวงทางการเงินแห่งเดียวที่พอจะเทียบชั้นกับนิวยอร์กได้ หลังจากนี้ อังกฤษน่าจะหันไปพึ่งพิงพันธมิตรยาวนานอย่างสหรัฐอเมริกามากขึ้นแทน

 

7.”ลอนดอน” เมืองหลวงทางการเงิน?

ดีลการค้านี้แน่นอนว่าจะไม่สามารถช่วยปกป้องอุตสาหกรรมที่แข่งขันสูงที่สุดในโลกอย่าง “ธุรกิจการเงิน” ทำให้บรรดานักลงทุนและธนาคารในลอนดอนต่างเตรียมพร้อมตัวเองเพื่อรับความวุ่นวายจากการ Brexit

โดยปกติลอนดอนคือศูนย์กลางการเงินโลก แหล่งตลาดเงินมูลค่ากว่า 6.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อวัน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 43% ของโลก ในขณะที่คู่แข่งในยุโรปอันดับสองคือปารีสนั้น ตามมาในสัดส่วนเพียงแค่ 2% อย่างไรก็ตาม กรณี Brexit น่าจะทำให้สหภาพยุโรปพยายามดึงส่วนแบ่งตลาดมาจากลอนดอนมากขึ้น

ย้อนกลับไปในปี 2016 กลุ่มผู้สนับสนุน Brexit เคยมองว่าการออกจาก EU เป็น “เรื่องง่ายๆ” แต่มาถึงวันนี้คงไม่มีใครกล้าพูดเช่นนั้นอีกแล้ว

Source: Reuters, BBC, The Guardian

]]>
1309946
อังกฤษ ยกเลิกคืนภาษีขาช้อปต่างชาติ ปลายปีนี้ เเบรนด์ดัง หวั่นกระทบ “ท่องเที่ยว-ค้าปลีก” https://positioningmag.com/1298212 Tue, 22 Sep 2020 12:45:22 +0000 https://positioningmag.com/?p=1298212 อังกฤษ เตรียมยกเลิก VAT-free shopping การช้อปปิ้งสินค้าปลอดภาษีสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในช่วงปลายปีนี้ ภาคธุรกิจหวั่นกระทบ “ท่องเที่ยว-ค้าปลีก” ทำให้ประเทศเสียรายได้หลายพันล้านปอนด์ต่อปี 

กระทรวงการคลังของอังกฤษ ระบุว่า หากข้อตกลง Brexit สำเร็จลุล่วงในช่วงปลายปีนี้ ทางสหราชอาณาจักรมีเเผนจะยกเลิกมาตรการ VAT-free shopping เนื่องจากผลประโยชน์ในหลายส่วนของสหราชอาณาจักรที่ไม่สอดคล้องกับบรรทัดฐานระหว่างประเทศ อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายสูงและเสี่ยงต่อการฉ้อโกง

ด้านบรรดายักษ์ใหญ่ค้าปลีกเเละเเบรนด์หรูต่างๆ อย่าง Marks & Spencer, Heathrow และ Selfridges ร่วมส่งจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีอังกฤษว่า การยกเลิกดังกล่าว จะสร้างความเสี่ยงกับเเรงงานกว่า 7 หมื่นคน โดยขายสินค้าปลอดภาษีสำหรับนักท่องเที่ยวนอกสหภาพยุโรปนั้น สามารถทำรายได้กว่า 3.5 พันล้านปอนด์ (ราว 1.4 เเสนล้านบาท) ในเเต่ละปี 

สำหรับโครงการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือ VAT Retail Export Scheme (VAT RES) เป็นสิทธิพิเศษให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ซื้อสินค้าในเเหล่งท่องเที่ยว อย่างในกรุงลอนดอนและเอดินเบอระ รวมถึงย่านช้อปปิ้งยอดนิยมอย่าง Bicester Village เเต่ไม่ได้นำมาใช้หรือบริโภคในสหราชอาณาจักรสามารถขอคืนภาษีได้โดยเป็นโครงการที่ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของชาวต่างชาติ

(Photo by Sergei BobylevTASS via Getty Images)

สมาคมการค้าปลีกระหว่างประเทศ (AIR) ที่ร่วมลงนามในจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีอังกฤษดังกล่าว มองว่า การยกเลิกมาตรการนี้ จะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวเเละธุรกิจค้าปลีกที่กำลังเจอมรสุม COVID-19 ยิ่งไปกว่านั้น สหราชอาณาจักรจะกลายเป็นประเทศเดียวในยุโรป ที่จะไม่มีการช้อปปิ้งสินค้าปลอดภาษี

ตอนนี้มาดริด มิลานและปารีส กำลังยินดีกับสิ่งที่รัฐบาลอังกฤษทำ เพราะถ้านักท่องเที่ยวจะต้องจ่ายเเพงกว่าในสินค้าประเภทเดียวกัน พวกเขาก็คงไม่ลังเลที่จะเปลี่ยนใจไปประเทศอื่น

ด้าน Thierry Andretta ผู้บริหารเเบรนด์หรูอย่าง Mulberry ที่ได้ร่วมลงนามในจดหมายร้องเรียนดังกล่าว บอกว่า การตัดสินใจของรัฐบาลอังกฤษ จะทำลายความสามารถการแข่งขันกับประเทศอื่นในยุโรป ทำให้เสียเปรียบทั้งด้านการจ้างงานและการผลิตในภาคอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ จากข้อมูลของ Visit Britain ระบุว่า ในปี 2018 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติใช้เงินราว 6 พันล้านปอนด์ (ราว 2.4 แสนล้านบาท) เพื่อช้อปปิ้งในสหราชอาณาจักรโดยในส่วนนี้กว่า 3.5 พันล้านปอนด์ เป็นการขายแบบไม่ต้องเสียภาษี เเต่มีนักท่องเที่ยวขอคืนภาษีเพียง 2.5 พันล้านปอนด์เท่านั้น

 

ที่มา : BBC , the guardian

]]>
1298212
Brexit ส่งผล “ธุรกิจจัดตั้งใหม่” เเห่ย้ายไปลงทุนในเนเธอร์แลนด์ https://positioningmag.com/1265446 Fri, 21 Feb 2020 13:29:25 +0000 https://positioningmag.com/?p=1265446 จำนวนบริษัทที่เริ่มจัดตั้งธุรกิจใหม่ในเนเธอร์แลนด์ เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากความความกังวลต่อ “Brexit” การถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ

ศูนย์ดูแลการลงทุนจากต่างประเทศของเนเธอร์แลนด์ (NFIA) ระบุว่า ในปี 2019 กว่า 78 บริษัทตัดสินใจที่จะเปิดสำนักงานหรือย้ายการดำเนินงานมายัง กลุ่มประเทศ “เบเนลักซ์” หรือกลุ่มประเทศเศรษฐกิจยุโรปตะวันออก ประกอบด้วย เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก เเละหากนับจากปี 2016 ตั้งเเต่เริ่มมีประเด็น Brexit เป็นต้นมาก็มีบริษัทต่างประเทศย้ายมากว่า 140 บริษัทเเล้ว

แนวโน้มดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในแต่ละปี โดยคาดว่ายอด 140 บริษัทนี้จะสร้างงานในประเทศมากกว่า 4,200 ตำแหน่ง และมีมูลค่าการลงทุนกว่า 375 ล้านยูโร ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ทั้วนี้ อังกฤษเพิ่งถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (EU) ไปเมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา เเละกำลังเข้าสู่ช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านไปจนถึงสิ้นปีนี้ เพื่อดำเนินการเจรจาข้อตกลงความสัมพันธ์เเละการค้าใหม่กับประเทศสมาชิก EU ที่เหลืออีก 27 ประเทศ

“ความไม่แน่นอนยังคงอยู่ เพราะไม่มีใครรู้ว่าการเจรจาต่อรองจะเป็นอย่างไร ซึ่งความไม่แน่นอนนี้กำลังผลักดันให้บริษัทต่างๆมองหาทางเลือกอื่น” Jeroen Nijland หนึ่งในคณะกรรมการของ NFIA กล่าว

NFIA เผยว่าตอนนี้กำลังพูดคุยกับ 425 บริษัทเกี่ยวกับการย้ายมาหรือการขยายธุรกิจในเนเธอร์แลนด์

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เนเธอร์แลนด์มีระบบเศรษฐกิจแบบเปิดที่มีการค้าต่างประเทศค่อนข้างสูง จึงกลายเป็นประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจาก Brexit

ทั้งนี้ เหล่าบริษัทที่ตั้งอยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์ส่วนใหญ่ จัดอยู่ในกลุ่มการเงิน เทคโนโลยีสื่อโฆษณา วิทยาศาสตร์เเละธุรกิจสุขภาพ

ที่มา : Reuters / Brexit brings record number of businesses to Netherlands in 2019

]]>
1265446