รักษ์ป่าน่าน – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 16 Apr 2020 00:35:05 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เปิดใจ “บัณฑูร ล่ำซำ” ปิดฉาก 40 ปีนายแบงก์กสิกรไทย สู่ฉากชีวิต “รักษ์ป่าน่าน” เต็มตัว https://positioningmag.com/1272317 Wed, 08 Apr 2020 14:09:49 +0000 https://positioningmag.com/?p=1272317 บัณฑูร ล่ำซำ เปิดใจครั้งแรกหลังจากลาออกจากแม่ทัพใหญ่ของธนาคารกสิกรไทยในช่วงวิกฤตไวรัส COVID-19 ส่งต่อให้ 2 แม่ทัพหญิง เผยอิ่มตัวกับการทำธนาคาร ทีมงานแข็งแกร่งอยู่แล้ว หันหน้าเข้าป่าผลักดันโครงการ “รักษ์ป่าน่าน” เต็มตัว

กสิกรไทยยุคเปลี่ยนผ่าน จาก “ล่ำซำ” สู่ผู้บริหารมืออาชีพ

เป็นอีกหนึ่งข่าวช็อกวงการธนาคาร เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา “บัณฑูร ล่ำซำ” ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งกรรมการและประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย ในที่ประชุมผู้ถือหุ้น พร้อมกับตั้ง “กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร” รองประธานกรรมการ (อิสระ) เป็นรักษาการประธานกรรมการ

ส่วน “ขัตติยา อินทรวิชัย” เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ซึ่งจะเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารหญิงคนแรกของธนาคาร และเป็นคนแรกที่ไม่ใช่ตระกูลล่ำซำ มีผลตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา

เท่ากับว่าธนาคารกสิกรไทยได้สิ้นสุดการบริหารของตระกูลล่ำซำ ส่งไม้ต่อให้กับผู้บริหารมืออาชีพอย่างเต็มตัว อีกทั้งยังเป็นผู้บริหารหญิงในการขับเคลื่อนธุรกิจท่ามกลางความท้าทายรอบด้านในตอนนี้

ธนาคารกสิกรไทยก่อตั้งในปี 2488 โดย “โชติ ล่ำซำ” มีศักดิ์เป็นปู่ของบัณฑูร หลังจบการศึกษาบัณฑูรได้เข้ารับราชการทหารประจำกองบัญชาการทหารสูงสุด กระทรวงกลาโหม เป็นเวลา 2 ปี ก่อนที่จะเข้าทำงานที่ฝ่ายกิจการต่างประเทศ ธนาคารกสิกรไทย เป็นครั้งแรกในปี 2522

ในปี 2537 ก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง บัณฑูรเป็นบุคคลแรกที่ริเริ่มนำการรื้อปรับกระบวนการทำงาน (Reengineering) มาใช้ในธุรกิจการเงินและเป็นองค์กรแรกของประเทศไทย

บัณฑูรได้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ในปี 2545 และในปีถัดมาได้ปรับภาพลักษณ์องค์กรครั้งใหญ่ โดยเปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษของธนาคารจาก Thai Farmers Bank เป็น KASIKORNBANK เปลี่ยนตราสัญลักษณ์ของธนาคาร และปรับรูปแบบการเขียนตัวอักษร K โดยใช้พู่กันจีน

ในปี 2553 เมื่อ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เพื่อไปดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย บัณฑูรจึงเข้าดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ และปรับโครงสร้างการบริหารของธนาคารกสิกรไทย

หลังจาที่บัณฑูรได้ลาออกจากตำแหน่ง บอร์ดธนาคารกสิกรไทยมีมติเอกฉันท์ในการมอบฉายา “ประธานกิตติคุณ (Chairman Emeritus)” ให้แก่บัณฑูร ซึ่งฉายานี้จะไม่เกี่ยวข้องกับการบริหาร แต่เป็นการยกย่องให้เกียรติที่ได้ร่วมงานกับธนาคารกสิกรไทยเป็นเวลา 40 ปี

อิ่มตัวกับธนาคารมา 40 ปี “ไม่รู้จะทำอะไรแล้ว”

บัณฑูรได้เปิดใจแก่สื่อมวลชนเป็นครั้งแรกหลังจากที่ลงจากตำแหน่ง เป็นการแถลงข่าวผ่าน Facebook Live เหตุผลหลักคืออิ่มตัวกับการทำธนาคารแล้ว พูดสั้นๆ ง่ายๆ ว่า “ไม่รู้จะทำอะไรแล้ว” อยากหาอะไรทำที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม มองว่าการส่งไม้ต่อตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดแล้ว ไม่มีเรื่องกังวล เพราะทีมงานเก่งทุกคน

บัณฑูร ล่ำซำ

“ตอนนี้เป็นอีกฉากหนึ่งของชีวิต ทำมาเต็มที่แล้ว ไม่รู้จะทำอะไรแล้ว ทำงานแบงก์มา 40 ปี อยากไปทำอย่างอื่นบ้าง สมควรแก่เวลาในการส่งต่ออย่างดี ตอนนี้ไม่มีความกังวลอะไรเลย แถมยังมีความสุขด้วย เพราะมั่นใจว่าทีมงานเก่งทุกคน จบฉากเดิมอย่างสบายใจ ถือว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของชีวิต”

บัณฑูรเสริมว่า ที่ผ่านมาเหมือนเป็นงานประจำวันได้ทำหมดแล้ว ต้องหาอะไรทำใหม่ๆ ไม่ซ้ำเดิม แต่จะใช้ประสบการณ์จากงานธนาคารในการมองโจทย์ของโลกการค้าขาย ช่วยการแก้ปัญหาต่างๆ

หันหน้าเข้าป่า ลุยโครงการ “รักษ์ป่าน่าน” เต็มตัว

นอกจากการบริหารงานธนาคาร บัณฑูรยังมีโปรเจกต์สำคัญก็คือ “โครงการรักษ์ป่าน่าน” หรือ Nan Sandbox เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2557 จุดประสงค์หลักคือการรักษาพื้นที่ป่าในจังหวัดน่าน ซึ่งบัณฑูรมีความหลงใหลในจังหวัดน่านถึงขนาดที่ว่าได้ย้ายทะเบียนบ้านไปเป็นพลเมืองน่านตั้งแต่ปี 2553 เลยทีเดียว

เหตุผลที่บัณฑูรในวัย 67 ปีได้วางมือจากเรื่องเงินๆ ทองๆ เพื่อที่จะหันหน้าเข้าธรรมชาติอย่างเต็มตัว ต้องการแก้ปัญหาเรื่องป่าต้นน้ำน่าน ต้องการหาองค์ความรู้ใหม่ๆ ในการทำสิ่งที่มีประโยชน์ ในขณะที่สุขภาพยังดีอยู่

“โครงการ Nan Sandbox ทำมา 4-5 ปีแล้ว พื้นที่ป่ายังไม่ถึงกับได้คืนเท่าไหร่ มีพื้นที่ป่าที่เสียไป 28% ของป่าทั้งหมด ตอนนี้มีปัญหาเรื่องความเข้าใจของทุกฝ่ายมากขึ้นกว่าเดิม ยังต้องไปหาองค์ความรู้ใหม่ๆ ในการจัดการ โจทย์คือ ต้องให้มนุษย์อาศัยอยู่กับป่าให้ได้ ใช้องค์ความรู้ของการทำมาหากินแบบใหม่ พูดแบบเดิมๆ มันไม่พอกิน”

บัณฑูรพูดแบบติดตลกว่า ตอนนี้อายุย่าง 68 ปีแล้ว ตรวจสุขภาพทุกส่วนยังแข็งแรง มีแต่ “ปาก” อย่างเดียวที่ต้องระวัง เพราะกวัดแกว่งเกินไป หลังจากเกษียณจากงานแบงก์อยากทำอะไรทีเป็นประโยชน์ ชีวิตจะมีความหมาย ทำอะไรที่ยังทำได้ ตอนที่สุขภาพยังดีอยู่

ส่งไม้ต่อช่วงนี้ดีที่สุด บทพิสูจน์สำคัญ

สำหรับประเด็นการลงจากเก้าอี้ แล้วส่งไม้ต่อให้กับ 2 ผู้บริหารหญิงในช่วงจังหวะสำคัญ เรียกว่าเป็นวิกฤตของประเทศจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 บัณฑูรบอกว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะได้พิสูจน์ว่าสอบผ่านหรือไม่

บัณฑูรบอกว่าเหตุผลที่เลือก “กอบกาญจน์” นั่งแท่นรักษาการประธานกรรมการ เพราะเป็นคนเก่ง เป็นบุคลากรคุณภาพจากหลายแวดวง มีประสบการณ์ มีมุมมองหลากหลาย เป็นบุคคลที่เป็นที่ยอมรับ และมีคุณธรรม ทางด้านของ “ขัตติยา” เป็นคนเก่ง ใจดี มีเมตตา เฉียบคมทั้งด้านความรู้ และทางเทคนิค

“ที่ลงจากตำแหน่งในวิกฤตเป็นช่วงเวลาที่ดี แสดงว่าเชื่อมั่นในคณะผู้บริหาร เป็นการทดสอบทีมใหม่ ถ้ารับมือกับสถานการณ์ตอนนี้ได้ ก็สามารถรับมือกับตอนไหนก็ได้ จังหวะนี้จึงดีที่สุด เป็นเวลาของเธอที่จะรับโจทย์ยากๆ และก็โชคดีที่จัดการเรื่องต่างๆ เข้าที่มานานแล้ว ส่งไม้ต่อได้ทันที ทุกระดับมีความพร้อม”

สำหรับฉายา “ประธานกิตติคุณ (Chairman Emeritus)” ที่บอร์ดบริหารมอบให้นั้น บัณฑูรบอกว่า เป็นแค่ฉายา ไม่ใช่ตำแหน่ง ไม่ต้องมีงานทำ ไม่ต้องทำอะไร และไม่ร่วมอยู่ในคณะบริหาร

ยันไม่เล่นการเมือง เป้าหมายทำตัวให้เป็นประโยชน์

หนึ่งในคำถามที่หลายคนสงสัยมากที่สุดว่า หลังจากทิ้งบทบาทนายแบงก์แล้ว จะหันหน้าเข้า “การเมือง” หรือไม่ บัณฑูรตอบอย่างไม่หยุดคิดเลยว่าไม่ลงเล่นการเมืองแน่นอน

และถ้าถามว่า ในอนาคตกสิกรไทยจะมีโอกาสได้ถูกบริหารภายใต้ตระกูล “ล่ำซำ” อีกหรือไม่ บัณฑูรบอกว่า

“ล่ำซำจะมาบริหารต่อไปหรือไม่ยังไม่รู้ ที่แน่ๆ ไม่ใช่ลูกผมแน่ๆ ส่วนลูกคนอื่นผมไม่ทราบ ตอนนี้ล่ำซำแยกย้ายไปทำเรื่องต่างๆ ความเป็นเจ้าของในจำนวนหุ้นก็น้อยเต็มที ละลายหายไปกับวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อ 20 ปีที่แล้ว มีแต่ชื่อ นามสกุลที่ทิ้งไว้เท่านั้น”

สุดท้ายแล้วบัณฑูรได้ฝากถึงวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับวิกฤตต้มยำกุ้งตอนปี 2540 ไว้ว่า

“วิกฤตที่เกิดขึ้นเป็นพายุคนละแบบกัน ตอนต้มยำกุ้งเป็นพายุของความโลภของมนุษย์ที่เกินพอดี ก็เกิดความเสียหาย โรคระบาดโทษมนุษย์โดยตรงไม่ได้ เกิดความเสียหายต่อการเป็นอยู่ เกิดความหยุดชะงักของการทำมาหากิน มีกินน้อยลงชั่วคราว หวังว่าคงจะแก้ทัน ส่วนโจทย์ใหญ่หลัง COVID-19 หนีไม่พ้นเรื่องความรู้ใหม่ๆ เพราะความรู้เดิมๆ ใช้ไม่ได้ ประเทศที่ไม่มีการพัฒนาความรู้ใหม่ไม่มีทางสู้ได้”

อ่านเพิ่มเติม

]]>
1272317