เจนวาย – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 21 May 2024 12:00:42 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 อัปเดต 10 รสนิยมแบบใหม่ของ “เศรษฐีจีน” เจนวาย นิยามความลักชัวรีในสไตล์ที่ต่างจากรุ่นพ่อแม่ https://positioningmag.com/1474600 Tue, 21 May 2024 09:18:52 +0000 https://positioningmag.com/?p=1474600 “เศรษฐีจีน” รุ่นใหม่ “เจนวาย” ในวัย 20 ปลายๆ จนถึง 40 ต้นๆ เริ่มขึ้นมาเป็นกำลังซื้อสำคัญในโลกสินค้าและบริการลักชัวรี แต่คนจีนรุ่นนี้มีรสนิยมและไลฟ์สไตล์ที่ต่างจากคนจีนรุ่นพ่อแม่ที่เป็นรุ่นสร้างตัว 10 รสนิยมของคนรวยจีนรุ่นเจนวายจะมีอะไรบ้าง ติดตามได้ที่นี่

1.เลิกใส่เสื้อผ้าแบรนด์เนมแบบตะโกน

เสื้อผ้าพิมพ์ลายโลโก้ Gucci หรือ Louis Vuitton พร้อยไปทั้งตัวเริ่มไม่ใช่เสื้อผ้าที่คนรวยจีนต้องการเป็นอันดับแรกๆ อีกต่อไป

Daniel Langer ศาสตราจารย์ด้านสินค้าลักชัวรีที่ Pepperdine University เปิดเผยกับ Business Insider ว่า คนจีนรุ่นใหม่มองหาสินค้าและประสบการณ์ที่สะท้อนสไตล์และแรงบันดาลใจส่วนตัว ลูกค้าจะต้องการไอเทมที่เป็นตัวเองมากกว่าอะไรที่ใช้กันเกร่อทั่วไปเพียงเพื่อบ่งบอกว่ามีฐานะ

2.“Quiet Luxury” กำลังเป็นกระแส

จากข้อแรกนำมาสู่ข้อที่สอง เทรนด์การแต่งตัวแบบ “Quiet Luxury” จึงเริ่มได้รับความนิยมในจีนเช่นกัน เทรนด์นี้หมายถึงการแต่งตัวให้ “ดูรวย” แบบไม่ต้องพยายาม ให้ลุคที่ดูเหมือนเศรษฐีเก่าจากยุโรป ด้วยเสื้อผ้าและเครื่องประดับที่ไม่วิ่งตามแฟชั่นใหม่ เน้นไปที่ความเรียบง่าย ใส่สบาย แต่มีรายละเอียด

เราจะได้เห็นเศรษฐีจีนยุคใหม่หันมาใส่เสื้อยืดและสนีกเกอร์แบบสบายๆ แต่เป็นของมีราคา ผสมไปกับเสื้อผ้าแบรนด์เนมแบบดั้งเดิมมากขึ้น

3.ยอมรับสินค้าแบรนด์เนมมือสอง

สินค้าแบรนด์เนมมือสองเป็นที่ยอมรับในโลกตะวันตกมานานแล้วเพราะถือว่าดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า แต่ในจีนสินค้ามือสองมักจะมีภาพลักษณ์ที่ไม่ดี เพราะมีความเชื่อที่ส่งต่อกันมาว่าของมือสองจะนำมาซึ่งโชคร้าย

อย่างไรก็ตาม คนจีนรุ่นใหม่เริ่มยอมรับสินค้ามือสองมากขึ้น และมองในแง่บวกว่าแบรนด์เนมมือสองมักจะมีของ “วินเทจ” ที่มีเอกลักษณ์พิเศษมาให้ช้อปและเลือกใช้

4.เลิกไปเที่ยวกับทัวร์ ชอบเที่ยวคนเดียวหรือเป็นกลุ่มเล็ก

สำหรับคนรวยเจนวายชาวจีนจะเปลี่ยนรสนิยมการท่องเที่ยวจากรุ่นพ่อแม่ เพราะหลายคนเคยไปเรียนเมืองนอกหรือเคยเดินทางมามากแล้ว ทำให้ไม่กังวลเรื่องความปลอดภัยหรือความสะดวกเหมือนพ่อแม่ พวกเขาจึงเลือกที่จะไม่ไปกับกรุ๊ปทัวร์ แต่ไปเที่ยวคนเดียวหรือไปเป็นกลุ่มเล็กมากกว่า

นอกจากนี้ สถานที่ท่องเที่ยวที่เศรษฐีจีนรุ่นใหม่เลือกก็มักจะเป็นสถานที่แปลกใหม่ที่คนไม่ค่อยไปกัน เช่น แคมป์ปิ้งหรูในซาฟารีแอฟริกา เที่ยวขั้วโลกเหนือ ล่าแสงเหนือที่ไอซ์แลนด์ เป็นต้น

แสงออโรร่าเหนือภูเขาเคิร์กจูเฟล ประเทศไอซ์แลนด์

5.ซื้อสินค้าที่มาพร้อมประสบการณ์

ผู้บริโภคชาวจีน(และเอเชีย)รุ่นใหม่มักจะต้องการประสบการณ์เสริมพิเศษเข้าไปในตัวสินค้าหรูด้วย ถึงจะเป็นการแสดงฐานะได้อย่างแท้จริง

ตัวอย่างเช่น ผู้บริหารจาก Diageo ระบุว่าบริษัทมีการเปิดโรงกลั่นแห่งใหม่ที่ Port Ellen ที่สก็อตแลนด์ เพื่อให้โรงนี้เป็นพื้นที่จัด “วิสกี้ทัวร์” ได้โดยเฉพาะ เพราะลูกค้าไม่ได้ต้องการแค่ซื้อเหล้าสก็อตวิสกี้ชั้นดีเท่านั้น แต่อยากจะมีเรื่องเล่าด้วยว่าพวกเขาได้บินข้ามโลกเพื่อไปเห็นวิธีการทำ และได้ลองชิมวิสกี้มาแล้วมากมายจากแหล่งกำเนิด

6.ทานอาหารระดับ “มิชลินสตาร์” และ “แบล็กเพิร์ล”

กิจกรรมใหม่ของเศรษฐีจีนเจนวายคือการไปลิ้มรสร้านอาหารระดับไฟน์ไดนิ่ง ไม่ว่าจะเป็นร้านระดับ “มิชลินสตาร์” หรือ “แบล็กเพิร์ล” (*Black Pearl เป็นการแนะนำร้านอาหารชั้นดีแบบเดียวกับมิชลินสตาร์ แต่จัดทำโดย Meituan ยักษ์ใหญ่เดลิเวอรีอาหารของจีน)

ลูกค้ามีฐานะของจีนมักจะต้องการเก็บร้านอาหารไฟน์ไดนิ่งในเมืองของตัวเองให้ครบ และไปเยือนร้านเหล่านี้ในแต่ละเมืองที่พวกเขาไปท่องเที่ยว

Photo : Shutterstock

7.วางแผน “ไม่มีลูก”

เกิดความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมในจีน นั่นคือแม้แต่เศรษฐีจีนรุ่นใหม่เองก็ไม่อยากจะมีลูกหรือบางคนไม่แม้แต่จะแต่งงาน

เหตุเพราะหลายคนมองว่าการมีลูกเป็น ‘การลงทุนที่แย่’ และเจนเนอเรชันนี้ต้องการจะเป็นอิสระ เน้นเรื่องความก้าวหน้าในอาชีพการงาน และหาความสุขส่วนตัวมากกว่าความสุขจากการสร้างครอบครัว

8.แต่ถ้าคิดจะมีลูก ไลฟ์สไตล์สุดหรูจะต้องยังอยู่เหมือนเดิม

สำหรับเศรษฐีจีนเจนวาย แม้จะมีลูกก็ไม่ได้แปลว่าจะต้องประหยัดเพื่อใช้เงินเลี้ยงลูก พวกเขาจะยังคงปรนเปรอตัวเองต่อไปในฐานะพ่อแม่

ตัวอย่างเช่น “แพ็กเกจหลังคลอด” เป็นกิจกรรมที่ฮิตมากในหมู่คนจีนเจนวายที่มีฐานะ แพ็กเกจเหล่านี้อาจมีราคาสูงถึง 200,000 หยวน (ประมาณ 1 ล้านบาท) ต่อเดือน โดยเป็นแพ็กเกจที่จะพาคุณแม่ชาวจีนบินไปยังสถานฟื้นฟูหลังคลอดในสิงคโปร์

ในสถานฟื้นฟูที่คุณแม่จะเข้ามาพักต่อเนื่องหลายเดือน จะมีเจ้าหน้าที่ พี่เลี่ยงเด็ก และเชฟคอยดูแลเรื่องจำเป็นที่เกี่ยวกับคุณแม่และทารกตลอด 24 ชั่วโมง เช่น ให้คำปรึกษาเรื่องการให้นมบุตร การอาบน้ำสมุนไพร กายภาพบำบัด และแน่นอนว่าคุณแม่จะได้รับการปรนนิบัติด้วยอาหารหรูทุกมื้อ ขณะที่มีพยาบาลคอยดูแลทารกให้

9.แต่งบ้านแบบสุดหรู

คนจีนเจนวายมักจะลงทุนกับการแต่งบ้านเพื่อยกระดับการอยู่อาศัยและคุณภาพชีวิต ทุกห้องในบ้านจะต้องมีดีไซน์อย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ การจัดไฟ หรือเครื่องประดับเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม

10.สนใจด้าน “เวลเนส” มากขึ้น

ชาวจีนรุ่นใหม่สนใจการบริการด้าน “เวลเนส” ในระดับลักชัวรีและสินค้าที่เกี่ยวข้องมากขึ้น เช่น สกินแคร์ อาหารเสริม เสริมความงาม เป็นสินค้าที่ขายดีในจีนตั้งแต่เกิดโควิด-19 ขึ้น

คนจีนที่มีฐานะรุ่นเจนวายถือว่าการไปคลินิกเวลเนสต่างๆ มีความสำคัญลำดับแรกๆ ไม่ใช่แค่เพื่อความงาม แต่ยังหมายถึงการมีชีวิตที่ยืนยาวและมีสุขภาพดีด้วย

 

Source

]]>
1474600
8 ไอเทมลักชัวรีแนวใหม่ เครื่องบอกสถานะ “ชีวิตคนรวย” ของเจนวายที่ไม่เหมือนยุคเดิม https://positioningmag.com/1440112 Mon, 07 Aug 2023 12:34:44 +0000 https://positioningmag.com/?p=1440112 “เจนวาย” กำลังเข้าสู่ช่วงวัยสร้างครอบครัว ซื้อบ้าน เริ่มมีลูก ทำให้เจนวายที่มีกำลังซื้อสูงเริ่มเปลี่ยนความสนใจไอเทมบ่งบอกสถานะ “ชีวิตคนรวย” จากเสื้อผ้าเครื่องประดับแนวสตรีทที่ฮิตก่อนหน้านี้ มาเป็นไอเทมอื่นๆ ที่เกี่ยวกับบ้านและชีวิตความเป็นอยู่มากขึ้น

ก่อนหน้านี้พฤติกรรมผู้บริโภค “เจนวาย” ที่มีกำลังซื้อมักจะนิยมซื้อสินค้าลักชัวรีกลุ่มที่สื่อถึงค่านิยมหรือประสบการณ์ส่วนตัว ส่วนใหญ่มักจะเป็นเสื้อผ้าแฟชั่นต่างๆ

แต่เมื่อพวกเขาเข้าสู่ช่วงวัยประมาณ 40 ปี ชีวิตในวัยนี้มักจะมีครอบครัว มีบ้าน มีลูก ทำให้ไอเทมที่เป็นเครื่องบ่งบอกสถานะจึงเปลี่ยนแปลงไป

ไปพบกับ 8 ไอเทมลักชัวรีของคน “เจนวาย” ที่ต่างไปจากยุคเดิม ดังนี้

 

1.สินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง

Mintel บริษัทวิจัยทางการตลาดระบุว่า เจนวายมองว่าสัตว์เลี้ยงเป็นสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว บางครอบครัวอาจจะเลือกมีสัตว์เลี้ยงแทนการมีลูกไปก่อน ทำให้พวกเขาจะใช้จ่ายกับสินค้าสัตว์เลี้ยงสูงเหมือนกับเลี้ยงเด็กคนหนึ่ง

ดังนั้น แบรนด์อาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงจะไม่ใช้แค่เกรดทั่วไป เช่น Pedigree หรือ Purina แต่ต้องเป็นแบรนด์ระดับพรีเมียมมากขึ้น เช่น Rachael Ray’s Nutrish หรือ Simpsons Premium ซึ่งมีสินค้ากลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยงแบบออร์แกนิกหรือไร้กลูเตนให้เลือกด้วย

ต่อด้วยอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงทั้งหมด เช่น ที่นอน พื้นที่เล่นของสัตว์ ของเล่น เสื้อผ้า ชามอาหารและน้ำ ฯลฯ จะใช้ไอเทมที่มีราคาในระดับลักชัวรีเพื่อปรนเปรอสัตว์เลี้ยงแสนรัก เป็นการใช้จ่ายทางอารมณ์ความรู้สึกมากขึ้นกว่าการซื้อสินค้าเพื่อฟังก์ชันการใช้งานเท่านั้น

 

2.เลือกใช้รถอีวี
Tesla Roadster 2020

J.D.Power บริษัทวิจัยอินไซต์ผู้บริโภค พบว่า คนที่สนใจซื้อรถอีวีส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย โดย ณ สิ้นปี 2022 กลุ่มผู้ซื้อรถอีวี 72.5% เป็นเพศชาย เทียบกับค่าเฉลี่ยทั้งตลาดผู้ซื้อรถ 60% เป็นเพศชาย เห็นได้ว่าผู้ชายมีแนวโน้มจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า

ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ ผู้ซื้อรถอีวีมักจะเป็นคนที่มีรายได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยตลาดผู้ซื้อรถทั้งหมดด้วย ทำให้ปัจจุบันกลุ่มโปรไฟล์หลักที่จะซื้อรถอีวีคือ “ผู้ชายที่มีฐานะ”

นั่นทำให้รถยนต์ไฟฟ้าในขณะนี้เป็นเหมือนเครื่องแสดงสถานะกลายๆ ว่าคนขับเป็นผู้ที่มีฐานะ ด้วยโปรไฟล์ผู้ซื้อที่เป็นภาพจำในตลาด

 

3.บ้านหรู

เพราะเจนวายอยู่ในช่วงวัยที่เริ่มมีบ้านเป็นของตนเองแล้ว ทำให้ยุคนี้การ ‘อวดบ้าน’ ผ่านโซเชียลมีเดียคือการแสดงฐานะที่ดีที่สุด บ้านจะต้องดูมีระดับ มีดีไซน์ มีรสนิยม

มุมที่ผู้มีฐานะเจนวายสนใจตกแต่งมากขึ้นคือ “ห้องครัว” ที่ดูลักชัวรี ไปจนถึงอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวอย่าง “ตู้เย็น” ที่ออกแบบมาอย่างดีให้กลมกลืนกับภายในครัว ในตู้เย็นก็จะต้องจัดเรียงวัตถุดิบอาหารและเครื่องดื่มในตู้ไว้อย่างสะอาด สวยงามเรียบร้อย

Samsung Bespoke

นอกจากนี้ ในโลกตะวันตกยังมีเทรนด์การอวดบ้านอีกอย่างหนึ่งที่นิยมกันคือการอวด “ห้องซักผ้า” เนื่องจากปกติห้องซักผ้าจะมีประโยชน์เรื่องการทำงานบ้านเท่านั้น ไม่ได้เป็นมุมไว้พักผ่อนใช้ชีวิตของคนในบ้าน ทำให้บ้านส่วนใหญ่ไม่ได้ตกแต่งห้องซักผ้าให้สวยงาม

ดังนั้น เมื่อบ้านหลังไหนเนรมิตห้องซักผ้าไว้อย่างสวยงาม จึงเป็นการสื่อว่าเจ้าของบ้านไม่ได้สนใจแค่ฟังก์ชัน แต่ต้องมีความงามในทุกๆ มุมของบ้านจริงๆ

 

4.เครื่องชงกาแฟ
(Photo: Marta Dzedyshko / Pexels)

ไฮไลต์อุปกรณ์ครัวมาแรงอีกชิ้นหนึ่งคือ “เครื่องชงกาแฟ” เพราะยุคนี้กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่มีสุนทรียะ ไม่ใช่แค่ไป Starbucks เท่านั้น แต่หลายคนนิยมสร้างสถานะด้วยความรู้ความเข้าใจเรื่องกาแฟ…ซึ่งรวมไปถึงการครอบครองเครื่องชงกาแฟราคาแพงด้วย

ราคาเครื่องชงกาแฟทั่วไปมักจะมีราคาราวเครื่องละ 14,000 บาท แต่ถ้าต้องการเครื่องชงกาแฟที่มีระดับมากขึ้นอาจจะต้องเตรียมเงินไว้มากกว่า 200,000 บาท เมื่อราคาต่างกันมากทำให้เครื่องชงกาแฟมีสถานะคล้ายๆ กับนาฬิกาข้อมือหรือกระเป๋าถือ คือเป็นเครื่องบ่งบอกกำลังซื้อของเจ้าของ

 

5.สปาในบ้าน
(Photo: Ksenia Chernaya / Pexels)

อีกหนึ่งห้องในบ้าน “ชีวิตคนรวย” เจนวาย คือการสร้างห้องน้ำในรูปแบบ “สปา” ไว้ในบ้าน เพื่อหลบลี้จากความเครียดและความวุ่นวาย

สปาในบ้าน จึงเป็นห้องสำหรับผ่อนคลายด้วยโทนการตกแต่งสบายๆ มีเก้าอี้โซฟา พรมสวยๆ ต้นไม้ประดับ และแน่นอนว่าต้องมีอ่างแช่ตัว ให้อารมณ์สปาแบบเซ็น

การมีห้องลักษณะนี้ในบ้านคือการสร้างความพิเศษส่วนตัวได้ทันที จะเข้าสปาตอนเช้าก่อนไปทำงานหรือหลังเลิกงานก็ได้ทั้งนั้น

 

6.สบู่ล้างมือ

แม้แต่รายละเอียดที่เล็กที่สุดอย่าง “สบู่ล้างมือ” ก็ต้องเป๊ะสำหรับคนเจนวาย โดยเป็นรายละเอียดของการใช้ชีวิตเหมือนกับการการไปพักโรงแรมหรือเข้าห้องน้ำในร้านอาหารสุดหรู

แบรนด์ที่กำลังมาแรงในเทรนด์นี้คือ “Aesop” แบรนด์สกินแคร์จากออสเตรเลียที่ขายสบู่ล้างมือขวดละ 1,400 บาท การมี Aesop อยู่ในบ้านทำให้ดูมีรสนิยมที่ใส่ใจในทุกๆ ส่วนของชีวิต

 

7.เอเย่นต์และทัวร์ท่องเที่ยว (แบบลักชัวรี)

การจองที่พักและตั๋วเครื่องบินออนไลน์ได้ด้วยตนเองน่าจะทำให้ธุรกิจจัดทัวร์ท่องเที่ยวและบริการเอเย่นต์ต่างๆ ซบเซาลง แต่ไม่ใช่กับคนมีฐานะเจนวาย

Flywire มีการสำรวจคนเจนวายและเจนซีวัย 18-44 ปี ที่ระบุว่าตนเองเป็นนักท่องเที่ยวระดับลักชัวรี พบว่า 90% ของคนกลุ่มนี้มองว่าทัวร์ เอเย่นต์ท่องเที่ยว และที่ปรึกษาเท่านั้นที่จะทำให้เกิดประสบการณ์การท่องเที่ยวแบบลักชัวรีอย่างแท้จริงได้

กลุ่มคนเหล่านี้จะใช้ที่บริการบริษัทท่องเที่ยวระดับลักชัวรี ซึ่งหลายบริษัทจะต้องจ่ายค่าสมาชิกเป็นค่าแรกเข้าก่อนและมีค่าสมาชิกรายปีสำหรับเป็นเครดิตไว้ใช้จ่ายค่าทัวร์และบริการต่างๆ

Black Tomato บริษัทท่องเที่ยวลักชัวรี บอกว่า ปัจจุบันลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนเจนวายที่ไปเที่ยวกับครอบครัว และอีกกลุ่มเป็นเจนวายที่ต้องการเที่ยวคนเดียวในทริปที่ได้ผจญภัยมากขึ้น ไปที่แปลกใหม่กว่าคนอื่น

 

8.โบท็อกซ์

สุดท้ายแล้วคือเรื่องความงาม โดยเฉพาะเมื่อเจนวายอยู่ในวัยประมาณ 40 ปี ทำให้พวกเขาสนใจการทำโบท็อกซ์และการเสริมความงามในคลินิกมากขึ้น

สมาคมศัลยแพทย์พลาสติกอเมริกัน รายงานว่าตั้งแต่หลังโรคระบาดคลี่คลาย 30% ของแพทย์เสริมความงามในสหรัฐฯ พบว่าตนมีคนไข้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นคือผู้หญิงวัย 31-45 ปี ซึ่งต้องการบริการเสริมความงาม เช่น โบท็อกซ์ ฟิลเลอร์ ลดไขมัน ยกกระชับผิว

เดิมคนเจนวายมีความสนใจเรื่อง “เวลเนส” มีชีวิตที่สุขภาพดีทั้งกายใจอยู่แล้ว พวกเขาใส่ใจกับอาหาร การออกกำลังกาย ทำให้การทำศัลยกรรมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวงจร “การดูแลตัวเอง”

]]>
1440112
เจาะลึกพฤติกรรม Gen Y ทำไมเป็นวัยหนี้ท่วม? https://positioningmag.com/1254769 Mon, 25 Nov 2019 11:39:54 +0000 https://positioningmag.com/?p=1254769 ใครๆ ก็ว่าชาว Gen Y เป็นกลุ่มที่น่าห่วงที่สุดในเรื่องของการใช้เงิน จริงหรือไม่ (ลองถามใจดู) เนื่องด้วยพฤติกรรมยุคใหม่ที่ต้องตามเทคโนโลยีให้ทัน แฟชั่นก็ต้องมา ของอร่อยก็เยอะ ทำให้วัยนี้ที่เริ่มมีรายได้มั่นคงมากขึ้นกว่าช่วงเรียนจบใหม่ มักมีค่าใช้จ่ายแบบไม่จำเป็นเพิ่มตามไปด้วย และในที่สุดก็กลายเป็นหนี้

เปิดสำรวจพฤติกรรมใช้เงิน Gen Y

เปิดมาด้วยประโยคสะเทือนใจว่า จำนวนคนกลุ่ม Gen Y (ช่วงอายุ 23-38 ปี) ในไทยมีอยู่ 14.4 ล้านคน โดยกว่า 50% (ราว 7.2 ล้านคน) ของชาว Gen Y ทั้งหมดเป็นหนี้และเฉลี่ยภาระหนี้ตัวหัวสูงถึง 4.23 แสนบาท และที่สำคัญคือ “กว่า 1.4 ล้านคน เป็นหนี้แบบผิดนัดชำระ” ซึ่งคิดเป็นหนี้เสีย 7% ของยอด NPL รวม

นี่คือผลงานวิจัยล่าสุดจาก ธนาคารทหารไทย หรือทีเอ็มบี จับมือกับ Wisesight (ไวซ์ไซท์) สำรวจพฤติกรรมทางการเงินของ Gen Y ผ่านแคมเปญ #ของมันต้องมีก่อน40 เพื่อหวังจะช่วยกระตุ้นในเกิดการออมเงินที่ดีขึ้น

โดย 3 ทัศนคติที่ก่อให้เกิดหนี้ทั้งที่อาจจะไม่จำเป็นนั้นมาจาก

  • การบริโภคนิยม
  • ตัดสินใจซื้อแบบไม่คิด
  • ความสุขที่ซื้อด้วยประสบการณ์
Photo : Pixabay

ฝันอยากมีบ้าน มีรถ ความจริงน่าเศร้า…มีแต่หนี้

นริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร TMB Analytics เปิดเผยข้อมูลว่า จากการสำรวจความใฝ่ฝันของชาว Gen Y ที่อยากมีก่อนอายุ 40 ปี นั้นพบว่าอยากมีบ้านมากที่สุดถึง 48% รองลงมาเป็นรถยนต์ 22% และเงินออมทรัพย์-สินทรัพย์ 13%

แต่เมื่อกลับมาสู่โลกความเป็นจริงพบว่า Gen Y มียอดใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าที่เข้าข่าย “ของมันต้องมี” มากถึง 69% สวนทางกับสิ่งที่ฝันอยากมี เช่น บ้าน และรถยนต์ ที่มีสัดส่วนที่ลดลงมากแค่ 12% และ 10% ตามลำดับ รวมทั้งสัดส่วนเงินออมที่มีอยู่เพียง 9% เท่านั้น

ส่วนใหญ่ Gen Y หมดเงินไปกับ “ของมันต้องมี” ปีละเกือบแสนหรือ 1 ใน 4 ของรายได้ต่อปี โดยเฉลี่ยตกคนละ 95,518 บาทต่อปี จากรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีอยู่ที่ 377,694 บาท โดยใช้ซื้อสินค้ายอดฮิตอย่าง สมาร์ทโฟน 22% เสื้อผ้า 11% เครื่องสำอาง 8% อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 5% กระเป๋า 4% และนาฬิกา/เครื่องประดับ 2%

รายจ่ายของมันต้องมี พุ่งปีละ 1.37 ล้านล้าน

ถ้าขยายภาพให้ชัดเจนในแต่ละปีกลุ่ม GEN Y ใช้เงินไปกับ“ของมันต้องมี” ถึงปีละ 1.37 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าสูงเทียบได้กับ 13% ของรายได้ประเทศ (GDP) หรือ 8 เท่าของมูลค่าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หรือ 91% ของมูลค่าการลงทุนในโครงการ EEC 5 ปี

ทำไมชาว GEN Y อยากได้ “ของมันต้องมี”

จากผลสำรวจพบว่า มีเหตุผลหลักๆ เช่น ซื้อตามเทรนด์กลัวเอาท์ (42%) มากกว่ามองเป็นของจำเป็น (37%)  แถมเงินที่ใช้ซื้อนั้น คนส่วนใหญ่ (70%) บอกมีเงินไม่พอ แต่ใช้การกู้จากธนาคารและใช้บัตรเครดิตกับบัตรกดเงินสดในการใช้จ่าย ซึ่งเมื่อลงรายละเอียดพบว่ามากกว่า 70% ของ GEN Y มีการผ่อนชำระที่ต้องเสียดอกเบี้ย

นริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร TMB Analytics

อยากมีเงินเก็บเป็นล้าน แต่ออมเงินได้ไม่กี่พัน

กลุ่ม GEN Y ที่เริ่มต้นทำงานเฉลี่ยตั้งเป้าอยากมีเงินเก็บ 6 ล้านบาท แต่ออมเงินแค่เฉลี่ยเดือนละ 5,500 บาท ซึ่งถ้าเก็บด้วยอัตรานี้ต้องใช้เวลาถึง 90 ปี ซึ่งยาวนานกว่าอายุขัยเฉลี่ยของคนปกตินั่นเอง

และเมื่อเจาะลึกพฤติกรรมทางการเงินและทัศนคติของ GEN Y พบว่า GEN Y ที่มีพฤติกรรมการใช้จ่าย “ของมันต้องมี” น้อยกว่าเงินเก็บมีสัดส่วน 53% ขณะที่กลุ่มที่มีพฤติกรรมค่าใช้จ่าย “ของมันต้องมี” มากกว่าเงินเก็บอยู่ที่ 47% แม้สัดส่วนน้อยกว่าอีกกลุ่ม แต่เมื่อคิดเป็นจำนวนแล้วมีถึง 6.8 ล้านคน จึงเป็นสิ่งต้องให้ความสำคัญอยู่

ใช้เงินก่อนออม VS ออมเงินก่อนใช้

หากแบ่งแบ่ง GEN Y ได้เป็น 2 กลุ่มตามพฤติกรรมการใช้จ่าย ได้แก่

  1. กลุ่ม GEN Y “ของมันต้องได้ แต่เงินไม่มี”

โดยพฤติกรรมการใช้เงินก่อนออม เมื่อมีรายได้เข้ามาแต่ละเดือน จะนำไปชำระหนี้และซื้อของอุปโภคบริโภคก่อน (60%) ส่วนที่เหลือค่อยเก็บเป็นเงินออม อีกทั้งมักเก็บเงินผิดที่ คือมีเงินกองอยู่ในบัญชีออมทรัพย์ทั่วไปในสัดส่วนที่สูง

2) กลุ่ม GEN Y “ของมันต้องมี และเก็บเงินได้”

กลุ่มนี้จะมีพฤติกรรมที่ตรงข้าม คือพอมีรายได้เข้ามา ก็จะกันเงินส่วนหนึ่งไว้สำหรับเงินออมเป็นสัดส่วนที่สูง (33%) ก่อนที่จะใช้จ่าย หรือพูดได้ว่าเป็น GEN Y ที่มีวินัยทางการเงิน อีกทั้งยังมีการวางแผนการออมและการลงทุนสะท้อนจากการมีเงินในบัญชีเงินฝากดอกเบี้ยสูงและลงทุนในหุ้นหรือตราสารทางการเงินอื่นๆ รวมแล้วเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าโดยเปรียบเทียบ

โดย TMB Analytics ฝากคำแนะนำถึงชาว GEN Y ว่าจะต้องทำอย่างไรหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างไรเพื่อนำไปสู่การมีพฤติกรรมทางการเงินที่ดีหรือมีวินัยทางการเงิน สิ่งแรกคือ ลดเงินที่ใช้กับ“ของมันต้องมี” ลงแค่ 50% เพราะหากเลิกทั้งหมดคงจะดูหักดิบเกินไป และต้องทำควบคู่กับวางแผนการบริหารเงินให้ดีโดยเพิ่มการออมการลงทุนให้ถูกที่ แค่นี้ GEN Y จะมีเงินสะสมเพิ่มขึ้น 43,000 บาทต่อปี เช่นหากเก็บไว้ 10 ปีจะซื้อรถยนต์ได้ 20 ปี เซ้งร้านขายกาแฟที่ทองหล่อได้ และ 30 ปี ซื้อคอนโดมิเนียมย่านห้วยขวางได้ เป็นต้น

พลังของ Influencer กับแคมเปญ #ของมันต้องมีก่อน40

พุทธศักดิ์ ตันติสุทธิเวท ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูล บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด เผยถึงข้อมูลที่ได้จากวิเคราะห์เก็บข้อมูล ว่า ปัจจุบันคนไทยใช้สื่อสังคมออนไลน์ 74% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งคิดเป็น อันดับ 8 ของโลก

สำหรับจำนวนผู้ใช้โซเชียลในประเทศไทย พบว่าสื่อสังคมออนไลน์ยอดนิยมที่ครองใจคนไทยในยุคนี้ และมีผู้ใช้งานบน Facebook 56 ล้านบัญชี Instagram 13 ล้านบัญชี และ Twitter 9.5 ล้านบัญชี และระยะเวลาที่ใช้คิดเป็น  3 ชั่วโมง 11 นาที เวลาเฉลี่ยใน 1 วัน และยังพบว่า 80% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย เคยซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ และกว่า 50% เป็นคน GEN Y

จำนวนโพสต์โดย Influencers ในช่วง 3 เดือน (สิงหาคม-ตุลาคม 2562) มีจำนวน 545,000+ ( facebook 72% , Instagram 15% , Twitter 10%, Youtube 4%) โดยมี Engagement ที่เกิดขึ้น 1.3 พันล้าน (facebook 67% , Instagram 22% , Twitter 3%, Youtube 7%)

“การทำแคมเปญ #ของมันต้องมีก่อน40 ในครั้งนี้ สามารถวิเคราะห์ข้อมูลถึงพฤติกรรมเชิงลึกของกลุ่มคน GEN Y ที่ได้จุดกระแสผ่านบรรดา Influencer จะเห็นได้ว่าการแสดงความคิดเห็น แชร์ มีความคิดเห็นที่คล้ายคลึงกับ Influencer ที่กดติดตามกันดังนี้ คนที่ติดตาม กอล์ฟ ฟักกลิ้ง ฮีโร่ กันต์ กันตถาวร และกาละแมร์ พัชรศรี ก็จะเป็นเป้าหมายเรื่องการเก็บเงิน มีบ้าน สร้างความมั่นคงในชีวิต ด้านกลุ่มคนที่ติดตามบล็อกเกอร์สายเที่ยว ก็จะมีเป้าหมายเรื่องเที่ยว เรื่องการใช้ชีวิตแบบอิสระ โดยมีการวิเคราะห์ทั้งหมดจาก 14,140 คอมเมนต์”

โดยเพจ I ROAM ALONE ผู้ติดตามกว่า 20 % เลือกเป้าหมายการใช้เงินไปที่การเที่ยว ตามมาด้วยเพื่อความสุข 12% ส่วนเพจ F.HERO เลือกเป้าหมายเป็นมีบ้าน 21 % ตามมาด้วย ปลดหนี้ 16% เป็นต้น

 

]]>
1254769