เทรนด์ธุรกิจ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 04 Jan 2023 07:53:34 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ฟันธง 5 เทรนด์ธุรกิจปี 2023 ที่ทุกองค์กรต้องเตรียมตัวให้พร้อม! https://positioningmag.com/1414523 Wed, 04 Jan 2023 06:53:20 +0000 https://positioningmag.com/?p=1414523 ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา องค์กรธุรกิจต่างต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่และได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงมากมายอย่างไม่น่าเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นการระบาดของ COVID-19 การรุกรานยูเครนของรัสเซีย การพัฒนาเทคโนโลยีที่รวดเร็วมากยิ่งขึ้น แน่นอนผลพวงจากปัจจัยต่าง ๆ จะลากยาวจนถึงปี 2023 นี้ ดังนั้น นี่คือ 5 แนวโน้มที่จะส่งผลกระทบมากที่สุดในการทำงานและทำธุรกิจในปีนี้

การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลที่เร่งให้องค์กรทรานส์ฟอร์ม

ในปี 2023 เราจะเห็นความต่อเนื่องของนวัตกรรมและการพัฒนาในเทคโนโลยี เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) Internet of Things (IoT), VR/AR, คลาวด์คอมพิวติ้ง, บล็อกเชน และ 5G ขณะที่เทคโนโลยีต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ได้ทำงานแยกจากกันอีกต่อไป ดังนั้น เส้นแบ่งของแต่ละเทคโนโลยีจะหายไป เกิดเป็นโซลูชันใหม่ ๆ ที่ช่วยยกระดับซึ่งกันและกันได้ ซึ่งสิ่งนี้ทำให้เราเข้าใกล้จุดที่จะสามารถสร้าง องค์กรอัจฉริยะ

เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับสิ่งนี้ ธุรกิจต้องแน่ใจว่าได้วางรากฐานทางเทคโนโลยีที่เหมาะสมไว้ตลอดกระบวนการและในทุกส่วนของการดำเนินงาน เพราะเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญในการสร้างผลกระทบต่อธุรกิจและอุตสาหกรรม ทั้งช่วยให้การขายและการตลาดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น การบริการลูกค้าที่ดีขึ้น ซัพพลายเชนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น สินค้าและบริการที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้ามากขึ้น ขณะที่ในปี 2023 นี้ การเข้าถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ ก็ง่ายขึ้นกว่าเดิม อาทิ AI และบล็อกเชน มีให้บริการในรูปแบบ as-a-service ผ่านระบบคลาวด์ ช่วยให้ธุรกิจเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ได้โดยไม่ต้องทำเอง

เพิ่มความยืดหยุ่นสู้ปัญหาเงินเฟ้อและซัพพลายเชน

แนวโน้มเศรษฐกิจส่วนใหญ่ในปี 2023 นั้นไม่ค่อยสู้ดีนัก ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อ จะดำเนินต่อไปและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอลง หลายอุตสาหกรรมยังคงประสบปัญหาด้าน ซัพพลายเชน ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างการปิดระบบทั่วโลกที่เกิดจาก COVID-19 และยิ่งแย่ลงไปอีกเนื่องจากสงครามในยูเครน เพื่อต่อสู้กับสิ่งนี้และอยู่ให้รอด บริษัทต่าง ๆ จำเป็นต้องปรับปรุง ความยืดหยุ่น ของบริษัทในทุกวิถีทางที่ทำได้

ไม่ว่าจะเป็นการลดความเสี่ยงต่อการกำหนดราคาสินค้าโภคในตลาดที่ผันผวน การสร้างมาตรการป้องกันในซัพพลายเชนเพื่อจัดการกับปัญหาการขาดแคลนและต้นทุนด้านโลจิสติกส์ที่เพิ่มขึ้น เช่น หาซัพพลายเออร์ทางเลือกและพึ่งพาตนเองให้มากขึ้น

ความยั่งยืน

หลายปีมานี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกกำลังตื่นตัวมากขึ้นในเรื่องของ ความยั่งยืน เนื่องจากต้องประสบกับภัยพิบัติจากสภาพอากาศที่สร้างความท้าทายที่ยิ่งใหญ่กว่าทุกสิ่งที่เคยประสบในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลให้ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมกลายเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคใส่ใจมากขึ้นเรื่อย ๆ และใช้เป็นหนึ่งในปัจจัยในการเลือกตัดสินใจว่าจะซื้อหรือทำธุรกิจด้วยหรือไม่

ดังนั้น ในปี 2023 นี้องค์กรจำเป็นต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีการวางกลยุทธ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) โดยเริ่มต้นจากสิ่งที่องค์กรสร้างผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จากนั้นจึงย้ายไปที่การเพิ่มความโปร่งใส การรายงาน และความรับผิดชอบ และแผนการต้องมีเป้าหมายและกรอบเวลาที่ชัดเจน

Photo : Shutterstock

สร้างประสบการณ์ใหม่ให้ลูกค้าดื่มด่ำ

หลังจากที่ต้องใช้เวลาอยู่แต่บ้านเป็นปี ๆ ทำให้ลูกค้าต้องการประสบการณ์เหนือสิ่งอื่นใด แต่ก็ไม่ได้แปลว่าราคาและคุณภาพจะเป็นสิ่งที่ให้ความสำคัญน้อยลง ทั้งสองอย่างยังคงมีบทบาทในระดับหนึ่งในการที่ลูกค้าได้สัมผัสกับกระบวนการเลือกซื้อ และเพลิดเพลินกับสินค้าและบริการที่ใช้จ่ายเงินไป รวมถึงบริการหลังการขายที่ดี

ดังนั้น จุดสำคัญที่แบรนด์ต้องเน้นก็คือ ดื่มด่ำกับประสบการณ์ (Immersion) และ การโต้ตอบ (Interactivity) ที่น่าสนใจคือในบางบริษัท เช่น Adobe และ Adweek เริ่มมีตำแหน่งงาน CXO (Chief Experience Officers) เพื่อวางแผนกลยุทธ์ในการร้างประสบการณ์ให้ลูกค้าโดยเฉพาะ

นอกจากนี้ Metaverse จะเป็น ขั้นถัดไป ที่แบรนด์และใช้เพิ่มประสบการณ์ให้กับลูกค้า อาทิ ร้านค้าออนไลน์ที่ลูกค้าสามารถดูและลองเสื้อผ้า เครื่องประดับในรูปแบบเสมือนจริงได้ ที่ผ่านมาก็มีแบรนด์อย่าง Hugo Boss และ Walmart ที่ใช้เทคโนโลยี AR มาช่วยให้ลูกค้าลองเสื้อผ้า

ภาพจาก virtualspatialsystems.com

ความท้าทายในการรักษา Talent

ในปีที่ผ่านมา เราได้เห็น การลาออกครั้งใหญ่ และ การลาออกอย่างเงียบ ๆ เนื่องจากพนักงานเริ่มประเมินผลกระทบของงานและสิ่งที่พวกเขาต้องการได้รับเทียบกับความต้องการในชีวิตอย่างจริงจังมากขึ้น และสิ่งนี้ก็กำลังสร้างแรงกดดันต่อองค์กรในการหาจุดดึงดูดแรงงาน ไม่ว่าจะเป็น ความยืดหยุ่น ของการทำงาน สภาพแวดล้อมการทำงานที่น่าดึงดูด และ วัฒนธรรมองค์กร ที่พร้อมมอบโอกาสในการเติบโตและเรียนรู้

ยิ่งไปกว่านั้น การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลที่เร่งตัวขึ้นนำไปสู่ระบบอัตโนมัติในที่ทำงานมากขึ้น ซึ่งหมายถึง การพัฒนาทักษะใหม่ (Re-skilling) และ การยกระดับทักษะ (Up-skilling) ให้กับคนในองค์กร ตลอดจนการสรรหาบุคลากรใหม่ที่มีทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคต อาทิ Data science, AI และสาขาเทคโนโลยีอื่น ๆ

นอกจากนี้ ก็ต้องพัฒนาทักษะอื่น ๆ เช่น ความคิดสร้างสรรค์ การคิดเชิงวิพากษ์ การสื่อสารระหว่างบุคคล ความเป็นผู้นำ และการมีความเห็นอกเห็นใจ ควบคู่ไปด้วย

Source

]]>
1414523
กลยุทธ์การ “ตั้งราคาเเละออกโปรโมชัน” ท่ามกลางวิกฤต COVID-19 ที่ผู้ค้าปลีกควรทราบ https://positioningmag.com/1277199 Thu, 07 May 2020 07:44:25 +0000 https://positioningmag.com/?p=1277199 วิกฤต Covid-19 ยังคงทวีความรุนแรงขึ้น ภาคธุรกิจต้องปรับตัวเเบบ 360 องศา เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนเเปลง พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป รวมถึงวางเเผนให้อยู่รอดหลังการเเพร่ระบาด

dunhumby บริษัทวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคในช่องทางค้าปลีกและแบรนด์ต่างๆ ได้เเนะนำแนวทางการรับมือสำหรับผู้ค้าปลีกต่อพฤติกรรมของลูกค้าทุกกลุ่มตลาด เผยวิธีช่วยปกป้องพนักงาน ภายใต้กรอบกลยุทธ์ลูกค้าต้องมาก่อน วิธีที่เหมาะสมที่จะช่วยให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกว่าได้รับความคุ้มค่า รวมถึงกลยุทธ์การตั้งราคาและการส่งเสริมการขายในอนาคต

การปกป้องพนักงาน

รัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลกได้ทำการแบ่งกลุ่มประเภทพนักงานอย่างเป็นทางการ โดยจัดให้พนักงานที่ทำงานในร้านขายสินค้าอุปโภคบริโภค ร้านขายยา และร้านสะดวกซื้อเป็นผู้ปฏิบัติงานที่เป็น “องค์ประกอบที่จำเป็น” และ “ฉุกเฉิน” เนื่องจากคนกลุ่มนี้มีบทบาทสำคัญในการปฏิบัติงานเพื่อให้ร้านค้าสามารถจัดหาสินค้ารองรับและดูแลให้บริการแก่ชุมชนต่อไปได้

ขณะเดียวกันผู้ค้าปลีกหลายรายก็ได้ตระหนักถึงความเสี่ยงด้านสุขภาพของพนักงาน จึงได้ออกระเบียบปฏิบัติด้านความปลอดภัยหลายข้อเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งได้แก่

  • การติดตั้งแผ่นเพล็กซีกลาสเพื่อกั้นระหว่างพนักงานเก็บเงินและผู้ซื้อที่เคาน์เตอร์ การจัดหาถุงมือป้องกัน หน้ากากอนามัย หน้ากากป้องกันแบบเต็มใบหน้า และอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลชนิดอื่นๆ ให้กับพนักงาน
  • การใช้กฎระเบียบด้านความปลอดภัย การดูแลตนเอง และการรักษาระยะห่างสำหรับพนักงาน
  • การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อบ่อยครั้งขึ้นในพื้นผิวทุกแห่งที่มีการสัมผัสร่วมกันสูง เช่น เครื่องกดรหัสเพื่อชำระเงิน เครื่องรูดบัตร มือจับประตู และสายพานลำเลียงสินค้าที่เคาน์เตอร์ชำระเงิน
  • การปรับเปลี่ยนชั่วโมงทำการโดยปิดร้านเร็วกว่าปกติ และปิดทำการในวันอาทิตย์เพื่อให้พนักงานได้มีเวลาพักผ่อน
  • การจำกัดทางเข้าร้านและการเข้าซื้อสินค้า เพื่อให้กลุ่มผู้ที่มาจับจ่ายสามารถเข้าใช้บริการได้ โดยเป็นไปตามแนวทางปฏิบัติด้านการเว้นระยะห่างทางสังคมที่ปลอดภัย
  • การมอบหมายให้พนักงานที่มีความเสี่ยงต่อปัญหาด้านสุขภาพสูงกว่าพนักงานคนอื่นๆ รับผิดชอบในงานที่เสี่ยงต่อการสัมผัสกับเชื้อไวรัสในระดับต่ำที่สุด อย่างเช่น งานหลังร้าน และเปิดโอกาสให้พนักงานที่มีโอกาสติดเชื้อง่ายหยุดงานได้โดยไม่มีการหักเงินเดือน

เเนวทางตั้งราคาและส่งเสริมการขาย 

ผู้ค้าปลีกจำเป็นต้องปรับระดับความเข้มข้นในการออกกิจกรรมส่งเสริมการขายให้เหมาะกับสถานการณ์วิกฤตในแต่ละระยะ แต่สำหรับผู้ค้าปลีกในภูมิภาคที่การระบาดใหญ่ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นจำเป็นต้องเร่งช่วยเหลือในการจัดการกับความต้องการซื้อสินค้าของผู้บริโภคในระดับที่รุนแรง เพื่อบรรเทาความกดดันในการปฏิบัติงาน โดยตัวอย่างการดำเนินการบางส่วนที่ผู้ค้าปลีกกำลังปฏิบัติในช่วงวิกฤตระยะที่ 1 มีดังนี้

  • ลดการส่งเสริมการขายลง 30% ถึง 40% ในสองสามสัปดาห์แรกที่เชื้อไวรัสเกิดการระบาดใหญ่ ขณะที่ผู้ขายสินค้าอุปโภคบริโภคบางรายตัดสินใจยกเลิกการส่งเสริมการขายทั้งหมด
  • ยกเลิกการส่งเสริมการขายที่กระตุ้นให้ผู้ซื้อกักตุนสินค้า
  • หยุดแจกใบปลิวที่เสนอโปรโมชันต่างๆ
  • เพิ่มช่องทางการสื่อสารแบบดิจิทัลผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชันโทรศัพท์มือถือ และเชิญชวนให้ผู้ซื้อหันไปจับจ่ายสินค้าที่ร้านค้าใกล้บ้าน และคอยแจ้งเวลาทำการของร้านหากมีการเปลี่ยนแปลง

หลังจากภาวะการกักตุนสินค้าในระยะแรกเริ่มเบาบางลง และลูกค้ากลับมาเชื่อมั่นในกระบวนการจัดหาสินค้าของร้านค้าจนถึงมือลูกค้าแล้ว ผู้ค้าปลีกจึงจะสามารถกลับมาใช้กลยุทธ์การส่งเสริมการขายแบบค่อยเป็นค่อยไปได้ โดยเริ่มจากกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคหลักๆ ประเภทสินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม สินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง และสินค้าในครัวเรือน ซึ่งทั้งหมดนี้จัดเป็นกลุ่มสินค้าที่มีความอ่อนไหวต่อโปรโมชัน

เปลี่ยนวิธีคิดใหม่เพื่อวางแผนการขาย

  • กำหนดแนวทางปฏิบัติด้านการตั้งราคา และพิจารณาถึงผลกระทบจากแนวทางเหล่านี้ต่อการรับรู้ราคาสินค้าของผู้บริโภคอย่างระมัดระวัง พยายามรักษาระดับราคาขายตั้งต้น และพิจารณาทบทวนก่อนที่จะปรับขึ้นราคาสินค้าในช่วงเวลาเช่นนี้ วิกฤติในครั้งนี้ส่งผลให้ผู้ซื้อที่มีความอ่อนไหวต่อราคาและมักคำนึงถึงเรื่องราคาเป็นหลักต้องเผชิญกับความยากลำบากมากกว่าปกติ ดังนั้น ผู้ค้าปลีกจึงต้องคงราคาสินค้าทำเงินหลัก เพื่อให้ถูกกว่าคู่แข่งเสมอ ส่วนสินค้าที่ขายผ่านช่องทางออนไลน์ก็ควรคงราคาให้เท่ากับราคาขายในร้านค้า และต้องไม่ปรับราคาให้ต่างกันในช่วงนี้
  • ผู้ค้าปลีกไม่ควรยกเลิกการส่งเสริมการขายไปโดยสิ้นเชิงในช่วงนี้ เนื่องจากผู้ซื้อยังคงมองหาความคุ้มค่า แต่ควรดำเนินการด้วยความรอบคอบหากจำเป็นต้องยกเลิกการส่งเสริมการขายทั้งหมด ขณะเดียวกันผู้ค้าปลีกก็ต้องมีความเข้าใจข้อบังคับในแต่ละพื้นที่ ผู้ค้าปลีกอาจใช้วิธีมอบข้อเสนอพิเศษเฉพาะบุคคลให้ตรงใจลูกค้ามากที่สุด และออกกิจกรรมส่งเสริมการขายตามกลุ่มเป้าหมายต่อเนื่อง
  • ต้องเริ่มเปลี่ยนวิธีคิดใหม่เพื่อวางแผนการขาย การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันในโมเดลธุรกิจแบบเดิมทำให้ปริมาณความต้องการสินค้าในปัจจุบันมีมากกว่าปริมาณที่จัดหาให้ได้ ซึ่งหมายความว่าผู้ขายสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าที่มีการหมุนเวียนในตลาดอย่างรวดเร็ว (Consumer Packaged Goods (CPGs)) จะไม่สามารถดำเนินธุรกิจตามแผนส่งเสริมการขายในปีที่ผ่านมาได้ และเราจะยังเห็นการเปลี่ยนแปลงลักษณะนี้ดำเนินต่อไปอีกใน 3 ถึง 6 เดือนข้างหน้า ดังนั้น ปัจจัยสำคัญสำหรับการคาดการณ์และวางแผนปฏิบัติงานในอนาคตอันใกล้ ได้แก่ความเข้าใจทัศนคติของผู้ซื้อ และแนวโน้มการซื้อในอนาคตในกรณีที่เกิดเหตุการณ์สำคัญ

กลยุทธ์ในการตั้งราคาและออกโปรโมชันนับจากนี้ไป

ความคุ้มค่าของเงินที่จ่ายไปจะกลายเป็นแรงขับเคลื่อนพฤติกรรมที่สำคัญอย่างยิ่ง เมื่อผู้บริโภคกำลังเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำ ซึ่งนำไปสู่ 1) การขยับขยายและสร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์เฉพาะของร้านค้า 2) การเข้าลงทุนในระดับเชิงลึกมากขึ้นในส่วนของกลุ่มสินค้าหลักตามราคาฐาน 3) การออกกิจกรรมส่งเสริมการขายที่น้อยลง แต่มุ่งเน้นไปที่ประสิทธิภาพมากขึ้น 4) การมุ่งทำกำไรจากการซื้อด้วยเงินสดมากกว่ามุ่งเน้นส่วนต่างของผลกำไร

การคิดกลวิธีในการตั้งราคาและออกโปรโมชัน (รวมถึงความหลากหลายของสินค้า) โดยคำนึงลูกค้าเป็นสิ่งแรก ยังคงเป็นเครื่องบ่งชี้ที่เชื่อถือได้เสมอ เรื่องที่น่ายินดีก็คือ กรอบแนวคิดที่มีข้อมูลของผู้บริโภคเป็นปัจจัยสำคัญอย่างเช่น สินค้าทำเงินหลัก (Key Value Items (KVIs)) การบริหารจัดการโดยใช้เมทริกซ์แบบสมดุล (Balanced Matrix) และการกำหนดบทบาทหมวดหมู่สินค้า (Category Roles) และประโยชน์จากการรับรู้คุณค่าเจ็ดประการ (Seven Levers of Value Perception) ยังคงเป็นกรอบแนวคิดที่เหมาะจะนำมาใช้สำหรับการตัดสินใจในระดับกลยุทธ์และยุทธวิธีเพื่อก้าวต่อไปข้างหน้า

การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสทั่วโลกส่งผลให้รูปแบบในการตั้งราคาสินค้าและการส่งเสริมการขายขยายตัวกระจัดกระจายออกมาหลากหลาย และเราเชื่อว่าวิกฤตครั้งนี้จะนำไปสู่จุดเปลี่ยนที่สำคัญสำหรับผู้ค้าปลีก จากรูปแบบเดิมที่ใช้การโฆษณาสินค้าในใบปลิวไปเป็นการสื่อสารในรูปแบบดิจิทัลมากขึ้นผ่านทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าได้อย่างรวดเร็วจากการเข้าถึงผู้บริโภคแบบเป็นส่วนตัวและตรงตามความต้องการ สื่อในร้านค้าจะทวีความสำคัญและมีอิทธิพลมากขึ้นเช่นกัน

นอกจากนี้ ผู้ค้าปลีกต่างกำลังหันมาใช้โมเดลธุรกิจแบบระบบสมัครสมาชิกเพื่อช่วยรับมือกับความต้องการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ อย่างเช่น Delivery Saver ซึ่งช่วยประหยัดค่าบริการจัดส่งถึงบ้านเมื่อสั่งซื้อสินค้าผ่านระบบการสมัครสมาชิก ขณะที่ผู้ค้าปลีกผ่านช่องทางออนไลน์อย่างเดียวก็ได้ร่วมมือกับซัพพลายเออร์เพื่อเปิดเส้นทางสู่โอกาสในการจำหน่ายสินค้ารูปแบบใหม่ที่เป็นการขายสินค้าชนิดเดียวกันหรือต่างชนิดกันในราคาแบบแพ็กรวม ผ่านระบบสมัครสมาชิกในพื้นที่ที่เป็น “เป้าหมาย”

dunhumby ระบุอีกว่า ยอดขายจากการส่งเสริมการขายของธุรกิจค้าปลีกนั้นแตะอยู่ในระดับที่สูงมาโดยตลอด โดยอยู่ระหว่าง 38% ถึง 50% ของทั้งภาคธุรกิจก่อนที่จะเกิดการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัส แต่การพึ่งพาการส่งเสริมการขายเป็นหลักมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่แนวทางที่ยั่งยืนในการเติบโตสำหรับธุรกิจร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ที่ขายสินค้าราคาถูก/ร้านสะดวกซื้อสมัยใหม่ รวมถึงการบริหารต้นทุน ปริมาณ กำไร (CVP) ให้งอกเงย

“เมื่อผ่านช่วงการระบาดทั่วโลกไปแล้ว การคิดหาวิธีที่แม่นยำเพื่อเทียบการกำหนดราคาควบคู่ไปกับการกำหนดแผนส่งเสริมการขายถือเป็นหัวใจหลักที่ผู้ค้าปลีกจะต้องหันมาพิจารณา ผู้ค้าปลีกบางรายมีแผนย้อนกลับไปใช้การจัดการส่งเสริมการขายตามแผนการดำเนินงานและกำหนดเวลาเดิมในช่วงที่เหลือหลังจากที่สถานการณ์คลี่คลายแล้ว แต่เราเชื่อว่าควรใช้วิกฤตครั้งนี้เป็นโอกาสสำหรับการตั้งต้นใหม่ ในอีกหนึ่งปีหลังจากนี้ เราคาดหวังที่จะได้เห็นแนวคิดใหม่ๆ ที่แตกต่างจากเดิม หากผู้ค้าปลีกมุ่งมั่นที่จะทำยอดขายให้กลับมาสูงเท่ากับที่เคยทำได้ก่อนที่จะเกิดเหตุโรคระบาดนี้” 

 

]]>
1277199
บูมมาก! “ธุรกิจสัตว์เลี้ยง” กำลังฮิตในอเมริกา คาดปีนี้ใช้จ่ายสูงถึง 7.5 หมื่นล้านเหรียญ https://positioningmag.com/1257318 Tue, 17 Dec 2019 07:00:52 +0000 https://positioningmag.com/?p=1257318 Photo : Pixabay

ยามเหงาบางทีเราก็มีสัตว์เลี้ยงนี่เเหละเป็นเพื่อน บ่อยครั้งก็ผูกพันกันเหมือนเป็นหนึ่งในสมาชิกของครอบครัว ไม่แปลกใจที่ยุคนี้ “ธุรกิจสัตว์เลี้ยง” รวมไปถึงคาเฟ่หมาเเมวต่างๆ กำลังได้รับความนิยมในหลายประเทศ เเละตอนนี้ในอเมริกาก็กำลังบูมสุดๆ

รายงานจาก cnbc ระบุว่า ในปี 2018 ชาวอเมริกันใช้จ่ายไปกับเหล่าสัตว์เลี้ยงตั้งแต่ซื้อของเล่น อุปกรณ์เทคโนโลยี ไปจนถึงการดูแลรักษาสัตว์ มากถึง 72,560 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2017 ซึ่งอยู่ที่ราว 69,510 ล้านเหรียญ เเละคาดว่าในปีนี้ ยอดใช้จ่ายสำหรับสัตว์เลี้ยงในอเมริกาจะเพิ่มขึ้นเป็น 75,380 ล้านเหรียญ เลยทีเดียว (ราว 2.2 ล้านล้านบาท )

David Westenberg นักวิเคราะห์จาก Guggenheim Securities กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ที่ชื่นชอบสัตว์เลี้ยงอย่างหมาและแมว เริ่มดูแลเอาใจใส่พวกมันเหมือนกับการดูแลลูกของพวกเขา ซึ่งวัฒนธรรมนี้เเตกต่างจากในอดีตที่จะมองว่าสัตว์เลี้ยงเป็นเเค่ “สัตว์ที่ช่วยดูแลบ้านหรือเฝ้าบ้าน” มากกว่าเป็นเพื่อนคลายเหงาของมนุษย์

สัตว์เลี้ยงมีผลอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนรุ่นใหม่ชาวมิลเลนเนียล ที่ย้ายเข้ามาอยู่ในเมือง มีอัตราการเเต่งงานน้อยลงเเละมีลูกช้าขึ้น จึงมักหันไปดูเเลสัตว์เลี้ยงในฐานะตัวแทนของลูกน้อยที่ต้องให้ความสำคัญ เเละยอมที่จะจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อดูเเลสัตว์เลี้ยงของพวกเขาให้มีชีวิตที่ดี

ชมคลิป : here’s how dogs and cats became big business

 

]]>
1257318