เมืองอัจฉริยะ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 02 Dec 2020 11:17:05 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 โครงการเมืองใหม่ใน “สิงคโปร์” สู้โลกร้อน ทำระบบหล่อเย็นทั้งอาคาร แก้ปัญหาค่าไฟแอร์พุ่ง https://positioningmag.com/1308626 Wed, 02 Dec 2020 09:03:09 +0000 https://positioningmag.com/?p=1308626 ทำความรู้จักโครงการเมืองใหม่ Tengah ในสิงคโปร์บนพื้นที่กว่า 4,300 ไร่ ออกแบบให้เป็น “เมืองในป่า” คอนเซ็ปต์ที่พักอาศัยลดโลกร้อน ซ่อนที่จอดรถ ถนน ทางรถไฟฟ้าไว้ใต้ดิน เพื่อให้ด้านบนเป็นทางคนเดินและที่ปลูกต้นไม้ทั้งหมด ตัวอาคารติดโซลาร์รูฟเพื่อจ่ายไฟให้ระบบหล่อเย็นในตึก ลดการใช้แอร์ ต้นเหตุค่าไฟพุ่งและทำลายสิ่งแวดล้อม

Tengah โครงการพัฒนาเมืองใหม่ในสิงคโปร์เริ่มขึ้นช่วงปลายปี 2018 โดยเป็นโครงการระยะยาว พัฒนาบนพื้นที่กว่า 4,300 ไร่ ทางตะวันตกของย่าน Bukit Batok จุดประสงค์ของโครงการนี้ต้องการให้เป็นย่านที่พักอาศัยจำนวน 42,000 ยูนิตที่จะทยอยสร้างขึ้นในระยะเวลา 20 ปี

แต่สิงคโปร์ไม่ได้จะสร้างแค่แฟลตที่พัก โครงการนี้ถูกออกแบบในลักษณะ “เมืองใหม่” ทั้งโครงการ เพราะต้องการให้เป็นเมืองที่ช่วยลดโลกร้อน ตอบโจทย์แนวโน้มอนาคตที่โลกของเราจะร้อนขึ้นเรื่อยๆ

ที่ตั้งของเมืองใหม่ Tengah ทางตะวันตกของสิงคโปร์ ติดกับย่าน Bukit Batok

ปัจจุบันความร้อนในสิงคโปร์ก็มากอยู่แล้ว โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ย 27 องศาเซลเซียสตลอดปี ทำให้ชาวสิงคโปร์ใช้เครื่องปรับอากาศกันมาก และปล่อยคาร์บอนออกสู่ชั้นบรรยากาศมากยิ่งกว่าประเทศที่มีขนาดใหญ่กว่าสิงคโปร์ 50 เท่า มีงานวิจัยที่พบว่า การใช้พลังงานไฟฟ้าเพื่อสร้างความเย็นให้สิงคโปร์นั้นจะพุ่งขึ้นถึง 73% ภายในช่วงปี 2010-2030 หากไม่มีการจัดการใดๆ

ดังนั้น รัฐบาลสิงคโปร์จึงวางนโยบายลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้ภายในปี 2030 และจะลดให้ถึงครึ่งหนึ่งของปัจจุบันภายในปี 2050 เมืองใหม่ Tengah จึงพัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองจุดประสงค์นี้

 

เมืองในป่า…ที่ไม่ใช่แค่ปลูกต้นไม้เท่านั้น

โครงการนี้รับผิดชอบโดยการเคหะแห่งชาติสิงคโปร์ โดยวางคอนเซ็ปต์เป็น “เมืองในป่า” ใช้สโลแกนว่าผู้พักอาศัยที่นี่จะได้ “อยู่บ้านกับธรรมชาติ” และไม่ใช่แค่ปลูกต้นไม้ให้เยอะๆ แต่โครงสร้างพื้นฐานจะสนับสนุนให้ชาวสิงคโปร์ใกล้ชิดธรรมชาติอย่างยั่งยืน ดังนี้

1) เมืองแรกของประเทศที่จะเป็นเขต “ไร้รถยนต์” บนดิน เพราะถนนและทางรถไฟฟ้าส่วนใหญ่จะอยู่ใต้ดิน ทำให้พื้นที่บนดินเป็นทางเดิน ทางจักรยาน ปลูกต้นไม้ คนเดินถนนจะปลอดภัยจากการจราจร และมีพื้นที่ทำกิจกรรมกลางแจ้งมากขึ้น

2) จัดพื้นที่ให้มีฟาร์มชุมชนสำหรับคนพักอาศัยใช้ปลูกสวนครัว ซึ่งจะนำไปสู่การจัดตลาดเกษตรกรชุมชน และอาหารแบบ farm-to-table

เมืองในป่า ส่งเสริมการเดินและขี่จักรยาน ถนนส่วนใหญ่จะอยู่ใต้ดิน

3) ระบบหล่อเย็นส่วนกลาง (บางส่วนในโครงการ) ระบบนี้จะติดตั้งโซลาร์รูฟ เพื่อผลิตไฟฟ้าทำความเย็นให้น้ำในท่อประปาหล่อเย็นทั้งอาคาร ช่วยลดการใช้ไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศ

4) ระบบจัดการขยะแบบอัตโนมัติ ใช้ระบบท่อส่งขยะจากอาคารตรงไปรวมกันที่ศูนย์จัดการขยะส่วนกลาง ไม่ต้องใช้แรงคนในการเก็บขยะ ลดโอกาสหกเลอะและส่งกลิ่นเหม็น และจะนำขยะไปใช้เป็นเชื้อเพลิงพลังงานชีวมวล

5) พร้อมตอบรับรถยนต์ไฟฟ้า โดยจะมีแท่นชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าอยู่ทุกแห่ง

6) ใช้ระบบ AI ในการตรวจสอบการใช้ไฟฟ้า เช่น ตรวจสอบปริมาณมนุษย์ในพื้นที่นั้นๆ เพื่อประเมินระดับการจ่ายไฟถนนที่เหมาะสม หรือภายในบ้านแต่ละหลังสามารถตรวจสอบปริมาณการใช้ไฟฟ้าของตัวเองได้เพื่อช่วยกันประหยัดไฟ

 

ระบบหล่อเย็นอาคาร แนวคิดใหม่ที่ท้าทาย

หนึ่งในเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในโครงการที่น่าสนใจ คือ ระบบหล่อเย็นอาคาร โครงการนี้ดำเนินการโดย SP Group โดยจะมีการติดตั้งโซลาร์รูฟไว้บนอาคารเพื่อผลิตพลังงานมาทำความเย็นในท่อหล่อเย็น บริษัทกล่าวว่า ระบบนี้จะลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ถึง 30% เท่ากับการลดการปล่อยคาร์บอนเทียบกับเท่ากับรถยนต์ใช้น้ำมัน 4,500 คัน

โดยผู้พักอาศัยสามารถเลือกได้ว่าจะใช้ระบบหล่อเย็นส่วนกลางนี้ หรือใช้เครื่องปรับอากาศแบบเดิม ดังนั้น ความท้าทายสูงสุดของระบบคือการเชิญชวนให้ผู้พักอาศัยหันมาเลือกใช้ระบบหล่อเย็นแทน และสิ่งที่จะชักจูงใจชาวสิงคโปร์ได้ คือต้องแนะนำให้เห็นว่าระบบจะช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้มากขนาดไหน

ใช้ระบบโซลาร์รูฟผลิตไฟฟ้าเพื่อหล่อเย็นในอาคาร (Photo : Lauryn Ishak/Bloomberg)

ขณะนี้การเคหะฯ สิงคโปร์เสนอขายแฟลตในโครงการ Tengah ไปแล้ว 8,000 ยูนิต ในจำนวนนี้มีผู้ซื้อเกือบ 1,000 รายที่ยอมใช้ระบบหล่อเย็นส่วนกลาง และจะได้เข้าอยู่อาศัยจริงกันในช่วงปลายปี 2022 ถึงต้นปี 2023

ชอน ว่อง กับ เบฟเวอร์ลี่ ตัน คู่รักหนุ่มสาวคู่หนึ่งที่ตัดสินใจซื้อบ้านในโครงการนี้และลงชื่อใช้ระบบหล่อเย็น เปิดเผยว่า ทั้งคู่ยอมใช้ระบบดังกล่าวแทนเพราะมีวิถีชีวิตรักษ์สิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการใช้เสื้อผ้าและเครื่องอุปโภคบริโภครักษ์โลก และทุกวันนี้ก็ใช้พัดลมมากกว่าเครื่องปรับอากาศ

ระบบท่อส่งขยะใต้ดินของ Tengah

SP Group ยังเป็นผู้บริหารระบบจัดการขยะให้โครงการนี้ด้วย โดยโครงการจะเดินท่อจากในอาคารลงใต้ดิน และขยะจะถูกส่งไปตามท่อเหล่านี้สู่ศูนย์จัดการขยะส่วนกลาง ดังที่กล่าวไปว่า ประโยชน์ของวิธีนี้คือลดใช้แรงงานคน ลดโอกาสการหกเลอะ ส่งกลิ่นเหม็น และเป็นแหล่งดึงดูดแมลง แต่เหนือไปกว่านั้นคือขยะจะถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวลสำหรับผลิตไฟฟ้าด้วย

เห็นได้ว่าสิงคโปร์กำลังคิดการใหญ่กับการสร้างเมืองใหม่แห่งนี้ มีการยกระดับจากเดิมที่สิงคโปร์มีพื้นที่สีเขียวสูงมากอยู่แล้ว โดยมีพื้นที่สีเขียว 66 ตร.ม. ต่อประชากร 1 คน สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ไปสู่การลดการปล่อยคาร์บอน ผ่านการลดใช้ไฟฟ้าในอาคาร และลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว เพื่อให้การดูแลสิ่งแวดล้อมเป็นไปอย่างยั่งยืน

Source: Bloomberg, HDB Singapore

]]>
1308626
รู้จัก Woven City เมืองอัจฉริยะของ “โตโยต้า” เพื่อทดสอบ AI หุ่นยนต์เเละรถยนต์ไร้คนขับ https://positioningmag.com/1261441 Tue, 21 Jan 2020 11:45:28 +0000 https://positioningmag.com/?p=1261441 Photo : Toyota/Bjarke Ingels Group

บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น โตโยต้า (Toyota) เปิดตัวเมกะโปรเจกต์ “เมืองต้นเเบบเเห่งอนาคต” สำหรับทดสอบยานยนต์ไร้คนขับ เทคโนโลยีอัจฉริยะและหุ่นยนต์ผู้ช่วยในชีวิตประจำวัน โดยสามารถรองรับคนอยู่อาศัยได้ราว 2,000 คน

เมืองสุดล้ำนี้ได้รับการขนานนามว่า “Woven City” วางแผนเตรียมพื้นที่ก่อสร้างบนที่ดินขนาด 175 เอเคอร์ บนที่ตั้งของโรงงานเดิมของโตโยต้า ในบริเวณเชิงภูเขาไฟฟูจิของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งห่างจากกรุงโตเกียวประมาณ 60 ไมล์

Photo : Toyota/Bjarke Ingels Group

Akio Toyoda ซีอีโอของโตโยต้า อธิบายถึงโครงการนี้ว่าเปรียบเหมือน “ห้องปฏิบัติการที่มีชีวิต” โดยจะอนุญาตให้นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และวิศวกรได้ทดสอบเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ในสภาพแวดล้อมในชีวิตจริงนั่นเอง

“ผู้คนในอาคารบ้านเรือนและยานพาหนะทั้งหมด จะสามารถเชื่อมต่อและสื่อสารกันผ่านดาต้าเเละระบบเซ็นเซอร์ โดยจะสามารถทดสอบเทคโนโลยี AI ได้ทั้งในโลกเสมือนและโลกจริง เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ได้สูงสุด เราต้องการจะเปลี่ยนปัญญาประดิษฐ์ให้กลายเป็นระบบสารสนเทศอัจฉริยะ”

Photo : Toyota/Bjarke Ingels Group

สำหรับโครงการ “Woven City” มีแผนพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นเมืองที่มีความยั่งยืนทางสิ่งเเวดล้อมด้วย โดยจะเป็นเมืองที่ใช้พลังงานจากเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน และพลังงานแสงแดดจากการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ไว้ที่หลังคาของอาคารบ้านเรือน

ส่วนการสัญจรภายในโครงการจะนำ Toyota e-Palettes ซึ่งเป็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนอัตโนมัติไร้คนขับ มาให้บริการสำหรับการเดินทาง การขนส่งและร้านค้าปลีกเคลื่อนที่ บนถนนก็จะมีเเต่รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติเต็มรูปแบบและรถยนต์ที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์เท่านั้น

Photo : Toyota/Bjarke Ingels Group

คาดว่าเมืองอัจฉริยะนี้จะสามารถรองรับการอยู่อาศัยได้ราว 2,000 คน ซึ่งกลุ่มเเรกจะเป็นพนักงานของบริษัทพร้อมครอบครัว รวมถึงผู้สูงอายุวัยเกษียณ ผู้ค้าปลีก นักวิจัยและพาร์ตเนอร์ที่ร่วมทำโปรเจกต์ต่างๆ

“Woven City” เป็นการร่วมมือกันระหว่างโตโยต้ากับ Bjarke Ingels Group (BIG) บริษัทด้านสถาปัตยกรรมจากประเทศเดนมาร์ก ซึ่งรับหน้าที่ในการออกแบบผังเมือง โดยอาคารส่วนใหญ่ทำขึ้นจากไม้ และบางส่วนจะใช้หุ่นยนต์ในการก่อสร้าง

เเรงบันดาลใจในการดีไซน์มาจากบ้านเรือนของญี่ปุ่นในอดีต ผสมผสานเทคนิคดั้งเดิมเข้ากับลักษณะสถาปัตยกรรมของประเทศ

Bjarke Ingels เคยเป็นผู้ออกเเบบตึก World Trade Center ทั้ง 2 ตึกในมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เเละยังออกแบบสำนักงานใหญ่ของกูเกิล ในกรุงลอนดอนเเละในซิลิคอน วัลเลย์ด้วย

Photo : Toyota/Bjarke Ingels Group

“บ้านเรือนใน Woven City จะเป็นสถานที่สำหรับทดสอบเทคโนโลยีใหม่ อย่างหุ่นยนต์ในบ้านที่เป็นผู้ช่วยในชีวิตประจำวัน บ้านอัจฉริยะเหล่านี้จะเชื่อมต่อผ่านเซ็นเซอร์ของระบบ AI เพื่อให้ทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างอัตโนมัติ เช่น การเติมของเข้าตู้เย็น นำของในตู้เย็นมาทิ้งขยะ หรือแม้แต่การดูแลสุขภาพของคุณ” สถาปนิก Bjarke Ingels กล่าว

ด้านแหล่งเก็บพลังงานและอุปกรณ์กรองน้ำจะซ่อนตัวอยู่ใต้พื้นดิน เเละบนพื้นดินจะประกอบไปด้วยพลาซ่า สวนสาธารณะและทางเดินที่ปราศจากรถยนต์ ด้วยความตั้งใจในการออกเเบบที่ให้ความสำคัญกับพื้นที่สาธารณะ

“การเชื่อมต่อของมนุษย์ คือการเชื่อมต่อที่ก่อให้เกิดความสุข ผลิตภาพและนวัตกรรม”

สำหรับการก่อสร้างในเฟสแรกจะจะเริ่มขึ้นในปี 2021 ประกอบด้วยสิ่งปลูกสร้างมากกว่า 12 แห่ง อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีกำหนดว่าเมืองต้นเเบบเเห่งอนาคตนี้จะแล้วเสร็จเมื่อใด

 

ที่มา : CNN / Toyota is building a ‘smart’ city to test AI, robots and self-driving cars

 

]]>
1261441