เรียนต่อ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 06 Nov 2024 12:43:29 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “อังกฤษ” ประกาศ “ขึ้นค่าเทอม” ระดับมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี https://positioningmag.com/1497747 Wed, 06 Nov 2024 09:30:40 +0000 https://positioningmag.com/?p=1497747 กระแสการเรียนต่อต่างประเทศ ได้รับความนิยมมากอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา หรือ มหาวิทยาลัย โดย 5 อันดับประเทศที่ผู้คนนิยมเดินทางไปเรียนต่อ ได้แก่ อังกฤษ ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา แคนาดา และ นิวซีแลนด์ เป็นต้น ซึ่งค่าใช้จ่ายรวมถึงค่าเทอมก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางเศรษฐกิจและค่าครองชีพของประเทศนั้นๆ ด้วย

ล่าสุด Bridget Phillipson รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการของอังกฤษ ได้ประกาศว่า อังกฤษ จะขึ้นค่าเทอมในระดับมหาวิทยาลัย เพิ่ม 3.1% ในปีหน้า ซึ่งเป็นประกาศการขึ้นค่าเทอมครั้งแรกในรอบ 8 ปี นับตั้งแต่ปี 2016 

การขึ้นค่าเทอมดังกล่าว เป็นผลสืบเนื่องมาจากอัตราเงินเฟ้อที่ทําให้ค่าธรรมเนียมรายปีพุ่งสูงถึง 9,535 ปอนด์ (ประมาณ 418,381 บาท) อีกทั้งสินเชื่อเพื่อช่วยเรื่องค่าครองชีพของนักศึกษาที่เพิ่มขึ้นอีก 3.1% เพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

ซึ่งการขึ้นค่าเทอมในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นความท้าทายทางการเงินในระดับอุดมศึกษาแล้ว ยังถือเป็นการปฏิรูปการศึกษาที่มีเป้าหมายขยายการเข้าถึงการศึกษาสำหรับผู้ที่ด้อยโอกาส

ท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์ของ Laura Trott เลขาธิการการศึกษา ที่ได้เสนอแนะให้ทางกระทรวงศึกษาฯ เพิ่มรายชื่อของนักศึกษาเข้าในรายชื่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจด้านงบประมาณการศึกษาครั้งล่าสุดนี้ด้วย

ที่มา : XINHUA

 

]]>
1497747
“แคนาดา” ปรับลดโควตา “นักเรียนต่างชาติ” หลังเกิดปัญหา “ที่อยู่อาศัย” ไม่พอให้คนท้องถิ่น https://positioningmag.com/1459948 Tue, 23 Jan 2024 09:57:43 +0000 https://positioningmag.com/?p=1459948 “แคนาดา” ประกาศลดโควตา “นักเรียนต่างชาติ” เป็นเวลา 2 ปี หลังจำนวนนักเรียนพุ่งทะยานขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนเกิดปัญหา “ที่อยู่อาศัย” ไม่เพียงพอสำหรับคนท้องถิ่น

เมื่อปี 2023 แคนาดาอนุมัติวีซ่านักเรียนไปเกือบ 1 ล้านราย มากกว่าค่าเฉลี่ยที่เคยอนุมัติเมื่อทศวรรษก่อนถึง 3 เท่า ส่วนนโยบายการจำกัดจำนวนนักเรียนต่างชาตินี้จะปรับลดจากที่เคยให้เมื่อปีก่อนไปประมาณ 1 ใน 3

มาร์ค มิลเลอร์ รัฐมนตรีกระทรวงการอพยพย้ายถิ่นฐานของแคนาดา ประกาศว่า รัฐบาลแคนาดามีนโยบายจะจำกัดโควตานักเรียนต่างชาติต่อเนื่อง 2 ปี ทำให้ปี 2024 นี้จะมีวีซ่านักเรียนที่ไม่ได้รับอนุมัติประมาณ 364,000 ราย

นโยบายใหม่นี้ยังจะจำกัดจำนวนใบอนุญาตทำงาน (work permit) ที่จะให้กับนักเรียนต่างชาติด้วย เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนเลือกกลับประเทศบ้านเกิดหลังเรียนจบ ทั้งนี้ ใบอนุญาตทำงานนี้ปกติมักจะถูกมองว่าเป็นเส้นทางที่ง่ายที่สุดในการได้สถานะผู้พำนักอาศัยถาวร (permanent residency)

นอกจากนี้ แคนาดายังจะจำกัดการให้วีซ่าผู้ติดตามแก่คู่สมรสของนักเรียนในระดับวิทยาลัยและระดับปริญญาตรีด้วย

ระยะที่ผ่านมานี้แคนาดาถือเป็นจุดหมายปลายทางด้านการศึกษาที่นิยมมากในหมู่นักเรียนต่างชาติ เพราะเป็นประเทศที่ให้ใบอนุญาตทำงานง่ายหลังเรียนจบ

อย่างไรก็ตาม จำนวนนักเรียนต่างชาติที่ทะยานขึ้นในช่วงหลังกลับมีผลกระทบในเชิงลบต่อ “ที่อยู่อาศัย” เพราะอะพาร์ตเมนต์เพื่อเช่าเริ่มขาดแคลนและราคาเช่าสูงขึ้น ข้อมูลจาก Statscan ระบุว่าเมื่อเดือนธันวาคม 2023 ราคาเช่าทั่วประเทศแคนาดาเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า

ไม่เพียงแต่วิกฤตขาดแคลนที่อยู่อาศัยให้คนท้องถิ่นเท่านั้น แต่รัฐบาลแคนาดายังกังวลเกี่ยวกับคุณภาพด้านการศึกษาของสถาบันการศึกษาบางแห่งด้วย

ปกติแล้วนักเรียนต่างชาติในแคนาดาส่วนใหญ่ 40% มาจากประเทศอินเดีย รองลงมา 12% มาจากประเทศจีน ตามข้อมูลภาครัฐเมื่อปี 2022

นักเรียนต่างชาติถือเป็นแหล่งเงินสำคัญเข้าประเทศแคนาดา โดยคิดเป็นเม็ดเงินปีละกว่า 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์แคนาดา (ประมาณ 5.83 แสนล้านบาท) การจำกัดโควตานักเรียนต่างชาติจึงเป็นผลเสียต่อสถาบันการศึกษาซึ่งขยายการลงทุนแคมปัสสถานศึกษาไปแล้ว

รวมถึงจะมีผลกระทบต่อจำนวนแรงงานชั่วคราวในภาครีเทลและร้านอาหารด้วย โดยสำนักข่าว Reuters รายงานข้อมูลจากล็อบบี้ยิสต์พบว่านักเรียนต่างชาติมีสัดส่วน 4.6% ในจำนวนแรงงาน 1.1 ล้านคนในภาคบริการร้านอาหารเมื่อปี 2023

Source

]]>
1459948
ส่องธุรกิจ “พัฒนาคน” ของ “ฟู้ดแพชชั่น” สร้างโอกาสพนักงานได้เรียนต่อ ก้าวหน้าในอาชีพ https://positioningmag.com/1430921 Thu, 18 May 2023 09:37:23 +0000 https://positioningmag.com/?p=1430921 ความจำเป็นของชีวิตทำให้หลายคนไม่ได้ “เรียนต่อ” ต้องออกจากระบบการศึกษาเพื่อมาทำงานหาเลี้ยงชีพและครอบครัว แต่การมีวุฒิการศึกษาจบเพียงชั้น ม.3 หรือ ม.6 จะกลายเป็นกำแพงกั้นโอกาสเติบโตในหน้าที่การงาน “ฟู้ดแพชชั่น” ซึ่งมีพนักงานร้านอาหารราว 4,000 คนในองค์กร จึงต้องการช่วยแก้ปัญหานี้ ส่งเสริมให้พนักงานได้เรียนต่อผ่านการตั้งธุรกิจการศึกษา

“ความสุขเริ่มต้นจากพนักงาน” นาฑีรัตน์ บุญรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานทรัพยากรบุคคลและหน่วยธุรกิจพีเพิล คอนเน็ค บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด กล่าวแนะนำถึงปรัชญาการบริหาร “คน” ในองค์กรนี้ โดยแนวคิดนี้เชื่อว่า หากพนักงานมีความสุข ก็จะบริการลูกค้าได้เป็นอย่างดี ทำให้ลูกค้ามีความสุข และกลับมารับประทานอาหารที่ร้านอีก จนเกิดความยั่งยืนในธุรกิจ

เมื่อต้องการดูแลพนักงานให้ “เก่ง ดี สุข” ฟู้ดแพชชั่นจึงมีนโยบายหลายอย่างในด้านทรัพยากรบุคคล หนึ่งในนั้นคือการ “พัฒนาคน” ซึ่งบริษัทมองเห็นปัญหาได้ชัด เพราะอยู่ในอุตสาหกรรมร้านอาหารที่ใช้แรงงานมาก เฉพาะร้านในเครือมีพนักงานรวมกันราว 4,000 คน แต่คาดว่าพนักงานธุรกิจร้านอาหารในประเทศนี้น่าจะมีมากกว่า 1 ล้านคน

ปัญหาที่บริษัทพบคือ พนักงานหลายคนเรียนจบเพียงชั้น ม.3 และต้องออกจากระบบการศึกษาเพื่อหางานทำ

ฟู้ดแพชชั่น พัฒนาคน
ศูนย์การเรียนฟู้ดแพชชั่น

“วิษณุ วงศ์สุมิตร” กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางจากรีเทล จำกัด ผู้ให้บริการร้านกาแฟอินทนิล กล่าวยืนยันในทิศทางเดียวกันว่า พนักงานหลายคนเสียโอกาสที่จะเติบโตในหน้าที่การงาน เพียงเพราะไม่ได้เรียนต่อ

“ต้องยอมรับว่าวุฒิการศึกษาเป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่ต้องมีเพื่อจะเติบโตขึ้นไป เพราะการเป็นซุปเปอร์ไวเซอร์หรือผู้จัดการต้องบริหารเงินและบริหารคน” วิษณุกล่าว “นั่นทำให้ร้านของเราต้องเจอกับสถานการณ์ที่น้องจบ ม.3 ทำงานกับเรามานาน ชงกาแฟไปเป็นหมื่นแก้วแล้วแต่ตำแหน่งตัน ขณะที่น้องจบปริญญาตรี มาชงกาแฟ 500 แก้วก็ได้ขึ้นเป็นซุปเปอร์ไวเซอร์ สุดท้ายเราต้องเสียน้อง ม.3 ไปทำงานที่อื่นเพราะเราผลักดันเขาให้เติบโตไม่ได้

บางจากรีเทลจึงกลายเป็นพาร์ทเนอร์องค์กรรายแรกที่สนใจร่วมส่งพนักงานเข้าโครงการยกระดับวุฒิการศึกษากับฟู้ดแพชชั่น

 

ศูนย์การเรียนฟู้ดแพชชั่น การเรียนต้องไม่จบแค่ ม.3

นาฑีรัตน์กล่าวต่อว่า ปัญหาที่บริษัทเล็งเห็น ทำให้เมื่อปี 2560 บริษัทก่อตั้ง “ศูนย์การเรียนฟู้ดแพชชั่น” ขึ้น โดยมีตั้งแต่หลักสูตรชั้น ม.6 , ชั้น ปวช. , ชั้น ปวส. และสูงสุดคือชั้นปริญญาตรี ทั้งหมดเป็นการเรียนในระบบทวิภาคี

หลักสูตรเหล่านี้ ฟู้ดแพชชั่นออกแบบให้เหมาะกับปัจจัยชีวิตของ “คนทำงาน” คือ สามารถทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยได้ ผ่านการใช้ประสบการณ์ทำงานเป็นส่วนหนึ่งของการรับรองหน่วยการเรียน และการจัดการเรียนการสอนจะผสมผสานทั้งออนไซต์และออนไลน์ ทำให้คนทำงานสะดวกมากขึ้น

ฟู้ดแพชชั่น พัฒนาคน
บรรยากาศการเรียนการสอนในศูนย์การเรียนฟู้ดแพชชั่น

ในแง่ค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียนก็จะเน้นให้พนักงานมีภาระน้อยที่สุด แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ

  • อายุไม่เกิน 18 ปี สามารถสมัครรับทุนโครงการ “ทุนสานฝัน” เรียนฟรี ที่พักฟรี แลกเปลี่ยนกับการทำงานในร้านอาหารเครือฟู้ดแพชชั่นในระหว่างเรียน (มีค่าจ้างให้ตามปกติ) โดยไม่ต้องชดใช้ทุนคืนในภายหลัง สำหรับปี 2566 นี้มีโควตามอบทุนสูงสุดไม่เกิน 450 ราย
  • อายุมากกว่า 18 ปี มีค่าธรรมเนียมการเรียน แต่จะคิดค่าใช้จ่ายต่ำสุดที่บริษัทสามารถทำได้ และไม่มีการจำกัดเพดานอายุสูงสุดในการสมัครเข้าเรียน เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสกลับสู่ระบบการศึกษา

นาฑีรัตน์กล่าวว่า เหตุที่บริษัทไม่บังคับให้ใช้ทุนคืนเพราะมองว่า บริษัทเองได้ประโยชน์คืนมาแล้วตั้งแต่ที่น้องๆ มาทำงานให้บริษัทในระหว่างเรียน ผลลัพธ์สูงสุดที่บริษัทต้องการไม่ใช่ทุนคืนเป็นตัวเงิน แต่ต้องการให้คนจำนวนมากขึ้นได้ยกระดับตนเอง

นอกจากพนักงานภายในที่มีแต่เดิม บริษัทยังติดต่อโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลเพื่อขอรับนักเรียนเข้าเรียนผ่านโครงการทุนสานฝันด้วย เช่น โรงเรียนธารทองวิทยา (ป่ารวก) จ.เชียงราย มีการส่งนักเรียนเข้ามาเรียนกับโครงการที่กรุงเทพฯ แล้ว 4 รุ่น ทำให้นักเรียนหลายคนที่มีความฝันต้องการเรียนต่อแต่ขาดกำลังทรัพย์ ไม่ต้องออกจากระบบการศึกษาเมื่อจบ ม.3

(จากซ้าย) นาฑีรัตน์ บุญรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานทรัพยากรบุคคลและหน่วยธุรกิจพีเพิล คอนเน็ค บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด, วิษณุ วงศ์สุมิตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางจากรีเทล จำกัด และ กวงจักร จันต๊ะคาด ผู้อำนวยการโรงเรียนธารทองวิทยา (ป่ารวก)

หลังจากช่วงปีแรกๆ ฟู้ดแพชชั่นรับสมัครเฉพาะพนักงานในเครือเพื่อทดลองหลักสูตร ในปี 2566 นี้จะเป็นปีที่บริษัทเริ่มเปิดกว้างหลักสูตรสู่คนภายนอกองค์กร โดยปีการศึกษาภาคเรียนที่ 1/2566 มีนักเรียนในโครงการแล้วกว่า 500 คน แบ่งเป็นคนในองค์กรฟู้ดแพชชั่น 450 คน และภายนอกองค์กร 50 คน ส่วนหนึ่งคือพนักงาน “บางจากรีเทล” ที่มีแนวคิดตรงกันในการพัฒนาบุคลากรนั่นเอง

ทางฟู้ดแพชชั่นวางเป้าหมายว่า ภายในปี 2568 จะขยายจำนวนนักเรียนโครงการนี้เพิ่มเป็น 800 คนต่อปี และหวังเพิ่มสัดส่วนบุคคลภายนอกขึ้นเป็น 300 คนในจำนวนนี้

 

ศูนย์อบรมฟู้ดแพชชั่น พัฒนาร้านอาหาร

อีกหนึ่งโครงการที่เกิดภายใต้ธุรกิจพีเพิลคอนเน็ค คือ “ศูนย์อบรมฟู้ดแพชชั่น” เป็นหลักสูตรอบรมผู้สัมผัสอาหารและผู้ประกอบกิจการ เริ่มต้นในปี 2564 จุดประสงค์เพื่อให้พนักงานฟู้ดแพชชั่นเองและในอุตสาหกรรมอาหาร ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายของกรมอนามัย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มร้านอาหาร/เครื่องดื่ม โรงแรม โรงพยาบาล โรงเรียน โรงงาน ศูนย์อาหาร

บรรยากาศการเรียนในศูนย์อบรมฟู้ดแพชชั่น

ปัจจุบันมีผู้ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรนี้สะสม 25,000 คนจาก 400 บริษัท และฟู้ดแพชชั่นวางเป้าจะจัดอบรมสะสมแตะ 50,000 คนได้ภายในปี 2568

นาฑีรัตน์สรุปการทำงานในธุรกิจการศึกษาเหล่านี้ว่า เป้าหมายสูงสุดไม่ใช่การทำกำไรสูงสุดเหมือนธุรกิจแบบอื่น แต่ต้องการให้มีกำไรแค่เพียงเพียงพอที่จะทำให้ธุรกิจอยู่ได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน

กำไรสูงสุดที่บริษัทจะได้รับคือการมี “Employer’s Branding” เป็นนายจ้างที่ใครๆ ก็อยากร่วมงานด้วยมากกว่า รวมถึงการพัฒนาคนขององค์กรให้มีทักษะสูง ทักษะหลากหลาย ซึ่งทำให้บริษัทได้เปรียบในตลาด ลดการลาออกหรือย้ายงานได้ดีขึ้น

]]>
1430921
“นักศึกษาจีน” ไม่มา “มหาวิทยาลัย” ในสหรัฐฯ กำไรหด วิ่งหาผู้เรียนชาติอื่นทดแทน https://positioningmag.com/1396335 Tue, 16 Aug 2022 11:21:07 +0000 https://positioningmag.com/?p=1396335 แม้แต่ภาคการศึกษาก็กระทบเมื่อ “นักศึกษาจีน” ยังไม่กลับมาสมัครเรียนใน “มหาวิทยาลัย” สหรัฐฯ ทำให้สถาบันเหล่านี้เห็นกำไรที่ลดต่ำลง เหตุเกิดเพราะจีนยังปิดพรมแดนจากโรคระบาด และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ย่ำแย่มาตั้งแต่ยุคทรัมป์ สถาบันอุดมศึกษาอเมริกันจึงต้องเบนเข็มพยายามดึงดูดผู้เรียนชาติอื่นทดแทน ชิงตลาดแข่งกับมหาวิทยาลัยในยุโรปและเอเชีย

สำนักข่าว Wall Street Journal รายงานตัวเลขการออกวีซ่า F-1 ของสหรัฐอเมริกาในรอบ 6 เดือนแรกปี 2022 ลดเหลือเพียง 31,055 รายการ เทียบกับ 6 เดือนแรกปี 2019 (ก่อนโควิด-19) ที่มีการออกให้ถึง 64,261 รายการ เรียกว่าลดลงไปมากกว่าครึ่ง

ปัญหาหลักเกิดจากนักศึกษาต่างชาติที่เข้ามาเรียนต่อในสหรัฐฯ สัดส่วนใหญ่ที่สุดคือ “นักศึกษาจีน” ซึ่งคิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของนักศึกษาต่างชาติทั้งหมด ทำให้เมื่อนักศึกษาจีนไม่กลับมา ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ส่งผลกระทบกับ “กำไร” ของวิทยาลัยเหล่านี้ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยรัฐซึ่งมักจะคิดค่าเทอมนักศึกษาชาติสูงกว่านักศึกษาอเมริกันอย่างมาก ทำให้เป็นการขาดรายได้ก้อนใหญ่

การเกิดโรคระบาดทำให้นักศึกษาต่างชาติในภาพรวมลดลงอยู่แล้ว โดยปีการศึกษา 2020-2021 มีนักศึกษาต่างชาติเข้าลงทะเบียนเรียนน้อยกว่า 1 ล้านคน เป็นตัวเลขต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปีการศึกษา 2014-2015

แต่ปัญหาของนักศึกษาจีนที่หายไปไม่ได้มีเฉพาะเรื่องโรคระบาด ทำให้จีนปิดพรมแดนจนถึงวันนี้ ส่งผลให้นักศึกษาลังเลที่จะไปเรียนต่อต่างประเทศ

ปัญหาอื่นยังซึมลึกกว่านั้น นั่นคือผลกระทบตั้งแต่ยุคประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แสดงออกเป็นปฏิปักษ์อย่างโจ่งแจ้งต่อคนจีน มีการสั่งห้ามคนจีนที่เชื่อว่าเป็นภัยความมั่นคงเข้าประเทศ และแสดงออกว่าสหรัฐฯ ไม่ต้องการนักศึกษาจีน ยิ่งความสัมพันธ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ของจีนกับสหรัฐฯ ตึงเครียดขึ้น คนจีนก็ยิ่งกังวลว่าชาวอเมริกันจะคุกคามลูกหลานตนหากส่งให้ไปเรียนในสหรัฐฯ

สถาบันอุดมศึกษาของสหรัฐฯ เห็นสัญญาณเหล่านี้มาสักพักแล้ว ทำให้สถาบันพยายามจะหาทางแก้ รวมถึงหาเบาะรองรับด้วยการหาผู้เรียนชาติอื่นๆ ทดแทน โดยเฉพาะอินเดีย

ดูเหมือนความพยายามจะให้ผลกระเตื้องขึ้นบ้าง ผลสำรวจมหาวิทยาลัยสหรัฐฯ 559 แห่ง จัดสำรวจโดย Institute of International Education (IIE) พบว่า 65% ของมหาวิทยาลัยที่สำรวจรายงานว่ามีใบสมัครจากนักศึกษาต่างชาติ “เพิ่มขึ้น” ในปีการศึกษา 2022-23 ซึ่งมากกว่าเมื่อปีก่อนที่มีเพียง 43% ของมหาวิทยาลัยที่ได้ใบสมัครจากนักศึกษาต่างชาติมากขึ้น

มหาวิทยาลัย ดีที่สุด
University of California, Berkeley (Photo: Shutterstock)

แต่การที่มี “ใบสมัคร” ไม่ได้แปลว่าสุดท้ายนักศึกษาจะเลือกลงทะเบียนเรียนกับมหาวิทยาลัยนั้นๆ นักศึกษาอาจสอบติดหลายที่และเลือกที่อื่นแทน เพราะมหาวิทยาลัยสหรัฐฯ ก็มีข้อเสียและเผชิญการแข่งขันต่างๆ ดังนี้

  • การแข่งขันแย่งตัวนักศึกษาต่างชาติยิ่งร้อนแรงขึ้น – แม้ว่าสหรัฐฯ จะเป็นจุดหมายยอดฮิตของนักศึกษา แต่สถาบันในอังกฤษ ฝรั่งเศส แคนาดา ออสเตรเลีย และเอเชีย ต่างก็ผลักดันตนเองขึ้นมาจนสามารถดึงนักศึกษาต่างชาติเพิ่มขึ้นได้สำเร็จ รวมถึงจีนเองก็ลงทุนกับการปั้นมหาวิทยาลัยในประเทศมาก จนสามารถยื้อตัวนักศึกษาชาติตัวเองให้เรียนต่อภายในประเทศได้มากขึ้น
  • ค่าเรียนแพงค่าเทอมระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยสหรัฐฯ นั้นแพงกว่าประเทศอื่นอยู่แล้ว และนักศึกษาต่างชาติยังต้องเสียค่าเรียนแพงกว่าปกติอีก โดยส่วนมากจะสูงกว่าที่คนอเมริกันจ่ายเป็นเท่าตัว นอกจากนี้ ยังต้องเสียค่าที่พัก อาหาร การเดินทาง ประกันสุขภาพ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดก็มักจะสูงกว่าประเทศอื่นเช่นกัน
  • สหรัฐฯ พึ่งนักศึกษาจีนมากจนยากจะชดเชย – จีนแผ่นดินใหญ่มีประชากรถึง 1,400 ล้านคน และเป็นกลุ่มคนที่ต้องการจะเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาด้วย มหาวิทยาลัยสหรัฐฯ จะหาประชากรมากขนาดนี้มาทดแทนได้ ถือเป็นงานช้างและต้องใช้เวลา
  • ปัจจัยทางจิตวิทยา – ชาวอเมริกันดูเหมือนจะเริ่มเสียศรัทธากับคุณค่าของการเรียนระดับอุดมศึกษา ทำให้ชาวต่างชาติเองก็มีคำถามในใจว่าคุณภาพการศึกษาของสหรัฐฯ ยังดีอยู่หรือเปล่า ต่างจากในอดีตที่ทั่วโลกต่างมั่นใจกับคุณภาพที่เหนือกว่าของระบบการศึกษาอเมริกัน

Source

]]>
1396335
10 “มหาวิทยาลัย” ในสหรัฐฯ ที่มีค่า “ROI” ดีที่สุด รายได้หลังเรียนจบคุ้มค่าเทอม! https://positioningmag.com/1364095 Fri, 26 Nov 2021 10:07:32 +0000 https://positioningmag.com/?p=1364095 Princeton Review คำนวณ ROI ของมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ จากค่าเทอมตลอดหลักสูตร ร่วมกับสิ่งที่มหาวิทยาลัยมีให้ เช่น ทุนการศึกษา บริการจัดหางาน เทียบกับรายได้ของบัณฑิตหลังเรียนจบ การลงทุนเรียนในสถาบันไหนคุ้มค่าที่สุด

ตั้งแต่ก่อนเกิดโรคระบาด พ่อแม่ที่จะส่งบุตรหลานเข้าเรียนระดับอุดมศึกษาในสหรัฐอเมริกาเริ่มตั้งคำถามแล้วว่า การเรียนมหาวิทยาลัยจะคุ้มค่าหรือไม่ หลังจากค่าเทอมพุ่งทะยานเร็วยิ่งกว่าเงินเฟ้อ

ทำให้ Princeton Review สำรวจเพื่อหาคำตอบให้พ่อแม่และนักเรียนว่า การลงทุนกับสถาบันไหนจะ ‘คุ้มค่า’ วัดจาก Return on Investment (ROI) ที่ดีที่สุด

โดยการสำรวจวัดจากมหาวิทยาลัยและวิทยาลัย 650 แห่งทั่วสหรัฐฯ ใช้ดัชนีชี้วัดเป็นค่าเทอม และชั่งน้ำหนักร่วมกับทุนการศึกษา บริการจัดหางาน อัตราการเรียนจบ จากนั้นนำมาวัดกับรายได้หลังเรียนจบของศิษย์เก่า และภาพรวมหนี้การศึกษาของนักศึกษาทั้งหมด

ทั้งนี้ CNBC ได้ความเห็นเสริมจากผู้เชี่ยวชาญ “อีริค กรีนเบิร์ก” ประธานกลุ่ม Greenberg Educational Group บริษัทที่ปรึกษาในนิวยอร์ก เขาให้ความเห็นกับการจัดอันดับนี้ด้วยว่า ค่าใช้จ่ายและรายได้อาจไม่ใช่ทั้งหมดในการตัดสินใจอยู่แล้ว เพราะพ่อแม่มักจะคำนึงถึงความสุขของลูกๆ ในการเข้าเรียนสถาบันนั้นๆ ด้วย “มีบางอย่างที่ไม่สามารถใช้มาตรวัดได้” กรีนเบิร์กกล่าว

เมื่อคำนึงถึงทุกอย่างรอบด้านแล้ว ไปพิจารณาลิสต์ของ Princeton Review กัน

มหาวิทยาลัยรัฐที่มีค่า ROI สูงที่สุด
  1. University of California, Berkeley
  2. University of Virginia – Charlottesville, Virginia
  3. Georgia Institute of Technology – Atlanta
  4. University of California, San Diego – La Jolla, California
  5. University of North Carolina at Chapel Hill
มหาวิทยาลัย ดีที่สุด
University of California, Berkeley (Photo: Shutterstock)
มหาวิทยาลัยเอกชนที่มีค่า ROI สูงที่สุด
  1. Princeton University – Princeton, New Jersey
  2. Massachusetts Institute of Technology – Cambridge, Massachusetts
  3. Stanford University – Stanford, California
  4. California Institute of Technology – Pasadena, California
  5. Harvey Mudd College – Claremont, California
Princeton University (Photo: Shutterstock)

ท็อปของมหาวิทยาลัยทั้งสองประเภทนั้น ยกตัวอย่างที่ Berkeley ปกติค่าเทอมเฉลี่ยอยู่ที่ 31,400 เหรียญสหรัฐต่อปี แต่มีทุนการศึกษาให้นักศึกษาที่จำเป็นมูลค่า 23,700 เหรียญสหรัฐ ทำให้ต้นทุนจริงอยู่ที่ 7,700 เหรียญเท่านั้น และนักศึกษาจบระดับปริญญาตรีจากที่นี่ จะได้รายได้เฉลี่ย 72,600 เหรียญสหรัฐต่อปี ตั้งแต่ช่วงต้นๆ ของการทำงาน

ขณะที่ Princeton มหาวิทยาลัยเอกชน ค่าเทอมปกติอยู่ที่ 65,800 เหรียญสหรัฐต่อปี แต่มีทุนการศึกษาให้เฉลี่ย 53,500 เหรียญสหรัฐ ทำให้ต้นทุนค่าเทอมลดเหลือ 12,300 เหรียญ และนักศึกษาจบปริญญาตรีจากที่นี่จะมีรายได้เฉลี่ย 77,300 เหรียญสหรัฐต่อปี ตั้งแต่ช่วงต้นของการทำงาน

source

]]>
1364095
“อังกฤษ” ชวนนักเรียนไทย “ศึกษาต่อ” เพิ่มทุนให้เปล่า-ย้ำต่างชาติมีสิทธิรับวัคซีน COVID-19 https://positioningmag.com/1319555 Tue, 16 Feb 2021 11:12:53 +0000 https://positioningmag.com/?p=1319555 สหราชอาณาจักรย้ำยังเปิดประตูรับนักศึกษาต่างชาติ ระบบสาธารณสุขครอบคลุมการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ให้กับนักเรียนต่างชาติด้วย ปีนี้เพิ่มทุนให้เปล่าสำหรับนักศึกษาปริญญาโทของไทยเป็น 28 ทุน ชี้ปีก่อนมีนักเรียนไทยราว 30% ที่ตัดสินใจเลื่อนการเรียนต่อ แต่ยังคงมุ่งมั่นเข้าเรียนที่ “อังกฤษ”

สถานการณ์ COVID-19 ป่วนวงการการศึกษาเช่นกัน เนื่องจากนักเรียน-นักศึกษาอาจไม่สบายใจที่จะเข้าเรียนต่อในต่างประเทศตามแผนที่ได้วางไว้

ต่อประเด็นนี้ “อเล็กซานดรา แมคเคนซี” อัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย ชี้แจงถึงสถานการณ์ที่อังกฤษซึ่งยังคงเปิดประตูต้อนรับนักเรียนต่างชาติ ปัจจุบัน นักเรียน-นักศึกษาที่ยังคงศึกษาอยู่ โดยอยู่ในภาคเรียนฤดูใบไม้ผลิปี 2020/21 มีการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์ล็อกดาวน์ คือเน้นเรียนออนไลน์เกือบทั้งหมด ยกเว้นคลาสที่จำเป็นต้องใช้ห้องปฏิบัติการเท่านั้น

ส่วนในภาคเรียนฤดูใบไม้ร่วง 2021/22 ที่กำลังจะเริ่มต้นในเดือนกันยายนนี้ อเล็กซานดรากล่าวว่า อังกฤษมีการเตรียมแผนไว้ทั้งการเรียนแบบปกติในห้องเรียน และการเรียนแบบออนไลน์ โดยจะปรับใช้ตามสถานการณ์ แต่จากแนวโน้มที่อังกฤษเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่มีการฉีดวัคซีนแล้ว ทำให้คาดว่าจะเป็นการเรียนแบบผสมผสานออฟไลน์-ออนไลน์มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่าคุณภาพการศึกษาที่อังกฤษยังคงคุณภาพระดับโลกเช่นเดิม

สำหรับข้อกังวลของนักเรียนและผู้ปกครองเกี่ยวกับด้านสาธารณสุข อเล็กซานดราชี้แจงว่า นักเรียนนักศึกษาที่ได้วีซ่าเพื่อศึกษาต่อในประเทศอังกฤษ จะอยู่ในระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ (NHS) ของอังกฤษโดยอัตโนมัติ ทำให้นักเรียนต่างชาติทุกคนมีสิทธิได้รับวัคซีนป้องกัน COVID-19 ตามลำดับความจำเป็นก่อนหลัง รวมถึงได้รับการตรวจ COVID-19 กรณีที่มีความเสี่ยง

นอกจากจะยืนยันเพื่อคลายข้อกังวลด้านสุขภาพและการรับเข้าเรียน เธอยังเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับวีซ่าด้วยว่า สำหรับนักศึกษาที่จบระดับชั้นปริญญาโทและปริญญาเอกแล้วต้องการทำงานต่อในสหราชอาณาจักร ยังคงขอวีซ่าที่เรียกว่า The Graduate Route ได้เช่นเดิม คือบัณฑิตป.โทสามารถใช้เวลาหางานได้ 2 ปีหลังเรียนจบ และบัณฑิตป.เอกสามารถหางานทำได้ถึง 3 ปี

 

เพิ่มทุนให้เปล่า 3 เท่าตัวเป็น 28 ทุน!

ด้าน “อุไรวรรณ สะโมลี” หัวหน้าฝ่ายบริการการศึกษาต่อสหราชอาณาจักร บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวถึงความพิเศษของทุนจากบริติช เคานซิลคือ The Great Scholarships ปี 2021 มีการเพิ่มจำนวนทุนเป็น 28 ทุนจากสถาบันการศึกษา 22 แห่ง ซึ่งมากกว่าปีที่แล้วที่มีเพียง 9 ทุนเท่านั้น

โดยทุนทั้งหมดจัดสรรให้กับนักเรียนไทยที่ต้องการศึกษาต่อปริญญาโทที่อังกฤษ มีหลากหลายสาขาวิชาที่ให้ทุนมูลค่าต่อทุนขั้นต่ำ 10,000 ปอนด์ (ประมาณ 4 แสนบาท) ซึ่งครอบคลุมค่าเล่าเรียนทั้งหมดได้ และเป็นทุนให้เปล่าอีกด้วย (รายละเอียดคลิกที่นี่)

(Photo : British Council)

นอกจากนี้ยังมีทุน Women in STEM เป็นทุนที่ให้แบบเต็มจำนวนรวมทั้งค่าเล่าเรียน ค่าที่พัก และตั๋วเดินทางไปกลับ แก่ผู้หญิงที่ต้องการเรียนปริญญาโทในสาขาวิชากลุ่มวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม หรือคณิตศาสตร์สำหรับประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ไม่รวมสิงคโปร์และบรูไน) ได้รับจัดสรรทั้งหมด 15 ทุน ปีนี้เปิดสาขาที่อนุญาตขอทุน คือ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและโลกร้อน, วิทยาศาสตร์ชีวิตและสุขภาพ และ เกษตรกรรม (รายละเอียดคลิกที่นี่)

 

นักเรียนไทยเลื่อนศึกษาต่อปีก่อน 30%

ในแง่สถิติการเข้าเรียนต่อต่างประเทศของนักเรียนไทย ภาคการศึกษาปี 2561/62 อยู่ที่ 15,457 คน ในจำนวนนี้เลือกเรียนต่อที่ “สหราชอาณาจักร” มากเป็นอันดับ 1 คิดเป็น 45% รองมาอันดับ 2 คือ “สหรัฐอเมริกา” 35% และอันดับ 3 คือ “ออสเตรเลีย” 16%

สาขาวิชาที่นักเรียนไทยนิยมมากที่สุดที่อังกฤษ (เฉพาะระดับปริญญาตรีขึ้นไป) ยังคงเป็น “บริหารธุรกิจ” ซึ่งคิดเป็น 60% ของนักเรียนทั้งหมดเพราะเป็นสาขาที่มีแหล่งงานรองรับมากในไทย ตามด้วยสาขา “กฎหมาย” ซึ่งมาแรงขึ้นมากโดยมีสัดส่วน 10% ที่เหลือเป็นสาขาวิศวกรรมและเทคโนโลยี 6% สาขาสังคมศาสตร์ 5% และ สาขาการออกแบบอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 3%

ดังที่เห็นว่าสถิติดังกล่าวเป็นข้อมูลปี 2561/62 ก่อนจะเกิดสถานการณ์ COVID-19 ขึ้น อุไรวรรณกล่าวว่า เมื่อปีก่อนหลังเกิดโรคระบาด บริติช เคานซิลมีการจัดสำรวจเมื่อเดือนเมษายน 2563 พบว่านักเรียนเกือบ 30% มีความกังวลที่จะเข้าเรียนต่อต่างประเทศ และตัดสินใจจะเลื่อนแผนการศึกษาต่อออกไปก่อน

อย่างไรก็ตาม หลังพูดคุยกับนักเรียนพบว่า ส่วนใหญ่ยังคงมุ่งมั่นที่จะเข้าเรียนที่ประเทศอังกฤษมากกว่าจะเปลี่ยนทิศทางไปยังประเทศอื่น และเชื่อว่าแนวโน้มปัจจัยบวกจากวัคซีน COVID-19 น่าจะจูงใจให้นักเรียนที่เลื่อนแผนออกไป กลับมาศึกษาต่อกันในปีนี้

]]>
1319555