“บาร์บีคิวพลาซ่า” เปิดกลยุทธ์ “Go Beyond” ปรับร้านเป็น “ดิจิทัล” ไร้เงินสด ขยายตลาด 7 ประเทศ

คณะผู้บริหาร "ฟู้ดแพชชั่น" เบื้องหลังการผลักดันกลยุทธ์ Go Beyond
  • ผ่านวิกฤตโควิด-19 มาได้แล้ว หลังจากนี้ “ฟู้ดแพชชั่น” จะเติบโตอย่างยั่งยืนมากขึ้น ผ่านกลยุทธ์ “Go Beyond” วางเป้ารายได้ 4,500 ล้านบาทภายในปี 2568
  • พี่ก้อนจะปรับร้านเป็น “ดิจิทัล” ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการปรับร้านCashless” ไม่รับเงินสด มีระบบสั่งอาหารด้วยตนเอง หรือการใช้ GON BOT หุ่นยนต์ช่วยเสิร์ฟ
  • บาร์บีคิวพลาซ่า ยังจะขยายตลาดต่างประเทศเพิ่มอีก จากปัจจุบันมี 3 ประเทศ ปีหน้าเพิ่มเป็น 7 ประเทศ ตั้งเป้ายอดขายต่างประเทศ 800 ล้านบาท ภายใน 3 ปี

วิกฤตโควิด-19 ทำให้ “ฟู้ดแพชชั่น” เผชิญกับสถานการณ์ที่หนักที่สุดในรอบ 35 ปีของบริษัท รายได้บริษัทจากที่เคยไต่ขึ้นไปถึง 3,800 ล้านบาทเมื่อปี 2562 ลดลงมาเหลือไม่ถึง 2,300 ล้านบาทเมื่อปี 2564 และเป็นการทำยอดขายที่ต้องพลิกแพลงโมเดลใหม่ เช่น การเปิด GON Express, GON Food Truck ขายอาหารจานเดียวและเดลิเวอรี เพื่อมาช่วยหล่อเลี้ยงรายได้

“ชาตยา สุพรรณพงศ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด ผู้บริหารร้านอาหารแบรนด์ บาร์บีคิวพลาซ่า, เรดซัน และฌานา เล่าถึงสถานการณ์ปัจจุบันก่อนว่า ยอดขาย 9 เดือนแรกปี 2565 ของบริษัทอยู่ที่ 2,696 ล้านบาท เติบโตถึง 80% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และบริษัทคาดว่าปี 2565 เต็มปีจะมียอดขายได้ถึง 3,800 ล้านบาท กลับมาเทียบเท่ากับก่อนเกิดโควิด-19

บาร์บีคิว พลาซ่า
“ชาตยา สุพรรณพงศ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด

เมื่อ “อยู่รอด” แล้ว อนาคตของบริษัทจึงต้องการ “ความยั่งยืน” โดยฟู้ดแพชชั่นวางเป้าหมายรายได้ไปแตะ 4,500 ล้านบาท ภายในปี 2568 ผ่านกลยุทธ์ “Go Beyond” ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ Go Beyond Dine-in, Go Beyond Thailand และ Go Beyond Food Industry

 

ผลักดันช่องทาง “ทานเองที่บ้าน” มากขึ้น

“บาร์บีคิวพลาซ่า” จะปรับช่องทางขายให้กระจายความเสี่ยงออกจากแหล่งรายได้การทานที่ร้าน (Dine-in) ให้มากขึ้น ปัจจุบันร้านบาร์บีคิวพลาซ่ามีรายได้หลักจากการนั่งทานที่ร้าน 96-97% ที่เหลือเป็นรายได้จากการเดลิเวอรีและสั่งกลับบ้าน 3-4%

อย่างไรก็ตาม ปีหน้าร้านจะผลักดันยอดจากการเดลิเวอรีและสั่งกลับบ้านให้มากขึ้น คาดว่าปี 2566 จะมีสัดส่วนเดลิเวอรีขึ้นไปถึง 5.5% เพราะจะมีการขยายสาขา GON Express จากเดิม 8 สาขา ปีหน้าจะระดมเพิ่มอีก 25 สาขา รวมเป็น 33 สาขา

บาร์บีคิว พลาซ่า
สินค้าเพื่อการ “ทานเองที่บ้าน” อย่างการสั่งอาหารเดลิเวอรี หรือล่าสุดเปิดขาย “ซอสน้ำจิ้มบาร์บีคิว” ผ่านทางอีคอมเมิร์ซ

รวมถึงเน้นผลักดันช่องทาง “มื้อที่บ้าน ทำกินเอง” (Happiness at Home) ยืมเตาไปปิ้งเองที่บ้าน และการเปิดขายซอสน้ำจิ้มบาร์บีคิวที่จะทำให้ลูกค้ามีการซื้อกลับไปทำเองมากกว่าเดิม

 

ปรับร้านเป็น “ดิจิทัล” ไร้เงินสด

การปรับตัวในร้านแบบนั่งทานของ “บาร์บีคิวพลาซ่า” ก็จะปรับขนานใหญ่ในปีหน้าเช่นกัน ทั้งในแง่บรรยากาศร้าน และที่สำคัญคือการปรับเป็น “ดิจิทัล” ดังนี้

  • รีโนเวต 50 สาขา และเพิ่มสาขาใหม่ 5 สาขา ทั้งหมดจะเปลี่ยนสไตล์ให้โปร่งโล่ง ให้ลุคสบายตามากขึ้น
  • ปรับเป็น Cashless ไม่รับเงินสด สัดส่วน 50% ของสาขาทั้งหมด (จนถึงสิ้นปีหน้า คาดมีสาขาในไทยรวม 153 สาขา)
  • ปรับเป็น Digital Store สแกนสั่งอาหาร ชำระเงิน สะสมแต้ม ฯลฯ ผ่านดิจิทัลทั้งหมด เป้าหมาย 40 สาขา
  • ปรับมาใช้ GON BOT หุ่นยนต์ช่วยเสิร์ฟในร้านครบ 60 สาขา
GON BOT หุ่นยนต์เสิร์ฟอาหาร จะได้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ปีหน้าตั้งเป้าเพิ่มเป็น 60 สาขาที่ใช้หุ่นยนต์ทดแทนพนักงานขาดแคลน

การปรับมาเป็น Cashless ไม่รับเงินสดของพี่ก้อน ทางฟู้ดแพชชั่นระบุว่าจะช่วย “ลดต้นทุน” เพราะจริงๆ แล้วเงินสดมีต้นทุนแฝง ต้องเสีย “กำลังคน” มานับเงินสด นำเงินฝาก-ถอนธนาคาร เสียเวลาเดือนละ 50 ชั่วโมง ขณะที่ปัจจุบันลูกค้าราว 75% ไม่ใช้เงินสดแล้ว จึงเชื่อว่าร้านสามารถปรับการชำระเงินมาเป็น Cashless ได้จริง

“จริงๆ ในช่วงเปลี่ยนผ่านเราก็จะยังรับเงินสดอยู่ แต่พนักงานจะแนะนำให้ใช้การโอนเงินหรือบัตรมากกว่า และเราจะมีโปรโมชันลดราคาสำหรับผู้ที่โอนจ่าย ได้ส่วนลดมากกว่าเงินสดหรือจ่ายบัตร เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าเปลี่ยนตาม” ชาตยากล่าว

 

บุก 7 ประเทศรอบ SEA ส่งออกร้านสไตล์ไทย

จะทำยอดขายให้ปัง การขยายสาขาต้องออกนอกประเทศ ปัจจุบัน “บาร์บีคิวพลาซ่า” มีการขยายผ่านระบบไลเซนส์ไปแล้ว 3 ประเทศ คือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และกัมพูชา

เป้าหมายขยายตัวในต่างประเทศภายในปี 2568

ขณะที่เป้าหมายจนถึงปี 2568 จะบุกหนักเพิ่มเป็น 7 ประเทศ และขยายจากขณะนี้มี 30 สาขาต่างประเทศ เป็น 47 สาขา ได้แก่

  • มาเลเซีย 27 สาขา
  • อินโดนีเซีย 4 สาขา
  • กัมพูชา 9 สาขา
  • สปป.ลาว 3 สาขา
  • สิงคโปร์ 2 สาขา
  • เวียดนาม 1 สาขา
  • ฟิลิปปินส์ 1 สาขา

ชาตยาคาดว่า รายได้รวมจากต่างประเทศจะแตะ 800 ล้านบาทภายใน 3 ปี ผ่านการทำงานกับพาร์ทเนอร์ที่รับไลเซนส์ในการขยายสาขา และทำการตลาด “ร้านหมูกระทะสไตล์ไทย” ใช้ Soft Power แบบไทย เช่น เมนูก๋วยเตี๋ยวเรือ มารยาทการไหว้

 

เปิดศูนย์เรียนรู้-ฝึกอบรมด้านอาหาร

กลยุทธ์สุดท้ายคือการ Go Beyond Food Industry นั้น มาจากการเปิดธุรกิจใหม่ในสายการศึกษา-ฝึกอบรมของฟู้ดแพชชั่นมาตั้งแต่ปี 2563 แบ่งเป็น 2 ธุรกิจคือ

  • ศูนย์การเรียนรู้ฟู้ดแพชชั่น ซึ่งเปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) รองรับการยกระดับการศึกษาของพนักงานฟู้ดแพชชั่นเอง และบุคคลนอกองค์กร เป้าหมายผู้เรียนครบ 1,000 คนภายในปี 2568
  • ศูนย์ฝึกอบรมฟู้ดแพชชั่น เปิดสอนหลักสูตรการสุขาภิบาลอาหาร โดยมีประกาศนียบัตรรับรอง เน้นเป้าหมายผู้ประกอบการและพนักงานร้านอาหารเข้ามาเรียนรู้ เป้าหมายผู้รับการอบรมครบ 10,000 คนภายในปี 2568

ธุรกิจนี้ของฟู้ดแพชชั่นเป็นการต่อยอดความเชี่ยวชาญไปสร้างรายได้เพิ่ม และยังเป็นแหล่งตอบแทนสังคมด้วยการให้ทุนการศึกษา เปิดโอกาสให้ผู้ขาดโอกาสเข้ามาฝึกฝนสร้างอาชีพ เช่น เยาวชนจากสถานพินิจ

ฟู้ดแพชชั่น บาร์บีคิว พลาซ่า
สรุปเป้าหมายรายได้ “ฟู้ดแพชชั่น” ในปี 2568

ขณะนี้ฟู้ดแพชชั่นได้อานิสงส์จากการกลับออกมาใช้ชีวิตปกติของลูกค้า หลังอัดอั้นกันมานานในช่วงโควิด-19 แต่ชาตยามองเช่นกันว่าความเสี่ยงในปีหน้าคือสภาพเศรษฐกิจที่อาจจะถดถอย ซึ่งฟู้ดแพชชั่นจะใช้คลัง “ดาต้า” ที่มีในการสร้างแคมเปญที่โดนใจลูกค้า และต้องเน้น “ความรู้สึกคุ้มค่า” เพื่อให้ลูกค้าพร้อมที่จะจ่ายให้ “พี่ก้อน”