โซเชียล คอมเมิร์ซ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 04 Feb 2021 15:16:10 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 คนไทยชอบดูไลฟ์ขายของ! Shoplus โตพรวด 18 เท่า เตรียมดึง SMEs ใช้ AI ขายบนโซเชียล https://positioningmag.com/1317969 Thu, 04 Feb 2021 09:57:18 +0000 https://positioningmag.com/?p=1317969 อานิสงส์ COVID-19 และการล็อกดาวน์ ทำให้อีคอมเมิร์ซพุ่งทะยาน มูลค่าการขายผ่าน Shoplus ประเทศไทย เติบโตถึง 18 เท่าเมื่อปี 2563 บริษัทคาดว่าภายในปี 2568 อีคอมเมิร์ซไทยทั้งตลาดจะเติบโตแตะ 3.12 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 9.37 แสนล้านบาท) โดยการขายแบบโซเชียลคอมเมิร์ซจะคิดเป็น 40% ของมูลค่า ไฮไลต์สำคัญ “ไลฟ์ขายของ” ยิ่งฮิตจัด คนซื้อมองเป็นช่องทางความบันเทิง

“คิมมี เฉิน” ผู้จัดการทั่วไป Shoplus เปิดภาพธุรกิจอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) รวมถึงประเทศไทย พบว่าปี 2563 ที่ผ่านมา ภูมิภาค SEA มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นถึง 40 ล้านคน รวมทั้งหมดมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในภูมิภาคนี้ 400 ล้านคน โดย 1 ใน 3 ของจำนวนนี้เริ่มใช้บริการดิจิทัลเป็นครั้งแรก และ 95% น่าจะยังใช้บริการดิจิทัลต่อไปแม้สถานการณ์ COVID-19 คลี่คลายก็ตาม

เจาะลึกเฉพาะประเทศไทย พบว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไทยเข้าถึงโซเชียลมีเดียสูงมาก โดยคิดเป็นสัดส่วน 75% ที่มีการใช้โซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญให้ “โซเชียล คอมเมิร์ซ” ได้รับความนิยม

 

ปี 2568 คาดอีคอมเมิร์ซไทยมูลค่าเฉียด 1 ล้านล้านบาท

สำหรับ “เศรษฐกิจอินเทอร์เน็ต” ของประเทศไทย Shoplus อ้างอิงข้อมูลจาก Temasek และ Google คาดการณ์ว่าจะเติบโตรวม 25% ภายใน 5 ปี หรือมูลค่าขึ้นไปแตะ 5.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.59 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2568 เป็นอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซียในภูมิภาคนี้ (เศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตมาจากธุรกิจหลายส่วน เช่น อีคอมเมิร์ซ จองท่องเที่ยวออนไลน์ ขนส่งและอาหาร และสื่อออนไลน์)

เฉพาะธุรกิจ “อี-คอมเมิร์ซ” ในปี 2568 คาดว่าจะมีมูลค่า 3.12 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 9.37 แสนล้านบาท) ในจำนวนนี้จะเป็นการขายผ่านโซเชียลมีเดียหรือ “โซเชียล คอมเมิร์ซ” ราว 40% หรือเท่ากับ 1.28 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3.85 แสนล้านบาท)

ธุรกิจ “อีคอมเมิร์ซ” ประเทศไทยในปี 2568 คาดว่าจะมีมูลค่า 3.12 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 9.37 แสนล้านบาท) (Photo : Shutterstock)

 

COVID-19 เป็นตัวเร่ง แบรนด์ใหญ่ทำโซเชียลคอมเมิร์ซ

จุดโฟกัสของ Shoplus คือ โซเชียล คอมเมิร์ซ ซึ่งเป็นตลาดที่แข็งแรงมากในภูมิภาค SEA ผู้บริโภคพื้นที่นี้มีจุดร่วมคือธรรมชาติของการช้อปผ่านโซเชียล โดยเฉพาะประเทศไทยที่เข้าถึงโซเชียลมีเดียมากดังกล่าว

เมื่อปีที่แล้ว จุดเปลี่ยนสำคัญอย่างหนึ่งของโซเชียล คอมเมิร์ซคือ COVID-19 ทำให้ “แบรนด์ใหญ่” ต่างต้องหันมาโหมการขายออนไลน์มากขึ้น ซึ่งหมายถึงการเปิดประตูมาใช้โซเชียลมีเดียขายของด้วย ไม่ใช่แค่การขายผ่านมาร์เก็ตเพลซเท่านั้น ยกตัวอย่างปีก่อนมีแบรนด์ที่หันมาขายทางโซเชียลในภูมิภาค เช่น M150, Maybelline เวียดนาม, L’Oreal มาเลเซีย, Tesco มาเลเซีย, OPPO ฟิลิปปินส์ เป็นต้น

นารายา ตัวอย่างแบรนด์ใหญ่ที่หันมาใช้การไลฟ์ขายของแล้วได้ผล (Photo : Shutterstock)

กรณีประเทศไทย ยกตัวอย่างลูกค้ารายใหญ่ที่ใช้บริการ Shoplus และได้ผลดี เช่น นารายา แบรนด์กระเป๋าที่ต้องสู้ศึกนักท่องเที่ยวหายจากตลาด เริ่มใช้ระบบอัตโนมัติของบริษัทเชื่อมโยงกับการจัด Facebook Live ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นทันที 50% ตั้งแต่ครั้งแรกที่ขาย และระบบออโต้นี้ทำให้ลดพนักงานแอดมินได้ 3 ใน 4 พร้อมกับลดเวลาการจัดการคำสั่งซื้อลง 90%

หรือกรณีของ บาร์บีคิว พลาซ่า ก็เริ่มใช้ AI แชตบอต เพื่อขายอาหารพร้อมทานบน Facebook โดยตรง ช่วยกระตุ้นยอดขายอีกช่องทางหนึ่ง

 

“ไลฟ์ขายของ” ฮิตจัด ลูกค้าชอบความบันเทิง

จุดเด่นอีกประการหนึ่งของโซเชียล คอมเมิร์ซในภูมิภาค SEA คือ ความนิยมการ “ไลฟ์ขายของ” ซึ่งยิ่งฮิตมากขึ้นในปีที่ผ่านมา เพราะการล็อกดาวน์ช่วง COVID-19 ทำให้ผู้ซื้อต้องการปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์ผ่านโลกออนไลน์มากกว่าที่เคย และผู้ซื้อเห็นว่าช่องทางนี้เป็นการรับความบันเทิงอย่างหนึ่ง แบบที่เรียกว่า Live Shoppertainment

โดยจะเห็นว่าแม้แต่แบรนด์ใหญ่ก็มีการไลฟ์ขายของแล้ว ดังเช่นตัวอย่างแบรนด์ “นารายา” ที่เริ่มจากการไลฟ์ในสตูดิโอและขยับมาไลฟ์ในร้านหลังจากภาครัฐอนุญาตเปิดศูนย์การค้า ซึ่งทำให้ลูกค้ารู้สึกเหมือนได้ไปช้อปเองที่ร้าน

เครื่องมือยอดนิยมของ Shoplus ในประเทศต่างๆ

เจาะที่ประเทศไทย Shoplus บริษัทที่ให้บริการเทคโนโลยี AI ช่วยซื้อขายสินค้าออนไลน์ จัดอันดับ “เครื่องมือการขาย” ที่นิยมในหมู่ลูกค้าแต่ละประเทศ พบว่าเครื่องมือที่นิยม 5 อันดับแรกในไทย คือ 1) ระบบจัดการคำสั่งซื้อ 2) Buy Link (คลิกเพื่อเข้าหน้าคำสั่งซื้อได้เลย) 3) Auto-Detection หรือระบบตรวจจับคำสั่งซื้อที่เข้ามาระหว่างการไลฟ์ 4) AI แชตบอต 5) ระบบบรอดคาสต์ข้อความใน Messenger

เห็นได้ว่าเครื่องมือ AI ที่ใช้คู่กับการไลฟ์นั้นอยู่ในอันดับ 3 ของลิสต์ที่พ่อค้าแม่ค้าไทยต้องการ ทำให้ปีนี้ Shoplus จะเน้นนำเสนอเครื่องมือช่วยไลฟ์ขายของใน Instagram เพิ่มเติม จากปีก่อนๆ มีเครื่องมือสำหรับไลฟ์ใน Facebook แล้ว

“ตอบยากว่าไลฟ์ขายของจะโตไปถึงแค่ไหน แต่ตอนนี้ยังไม่มีสัญญาณว่าจะลดลง ถ้ายังมีการใช้โซเชียลมีเดียก็น่าจะยังโตได้เรื่อยๆ และอนาคตน่าจะมีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาช่วยให้ความบันเทิงเพิ่มอีกด้วย เช่น ระบบ AR (Augmented Reality)” คิมมีกล่าว

 

Shoplus โตพรวด 18 เท่า ปีนี้เน้นกลุ่ม SMEs

สำหรับบริษัท Shoplus ประเทศไทย ปี 2563 มียอดออร์เดอร์ผ่านระบบมูลค่ารวม 2,230 ล้านบาท ซึ่งเติบโตขึ้น 18 เท่า เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีการสั่งซื้อรวม 3.64 ล้านครั้ง

จากกราฟการเติบโตจะเห็นว่า ยอดคำสั่งซื้อเติบโตขึ้นเพราะสถานการณ์ COVID-19 อย่างชัดเจน ช่วงเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งเพิ่งเริ่มมีการระบาด มีคำสั่งซื้อราว 28,000 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่ตัวเลขนี้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วหลังการล็อกดาวน์ ขึ้นไปสูงช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2563 ก่อนจะตกลงเล็กน้อย และมาแตะจุดพีคอีกครั้งช่วงเดือนธันวาคม 2563 ยอดสั่งซื้อ 87,000 ครั้งต่อสัปดาห์

กราฟการเติบโตของ Shoplus เห็นได้ชัดว่า COVID-19 มีผลบวกกับโซเชียล คอมเมิร์ซมาก

คิมมีกล่าวว่า สำหรับแผนงานของ Shoplus ที่ผ่านมามีลูกค้าเป็นแบรนด์ใหญ่ เช่น Unilever, นารายา, บาร์บีคิว พลาซ่า รวมถึงแม่ค้าออนไลน์ “พิมรี่พาย” ด้วย แต่ปีนี้จะหันมาเน้นตลาดธุรกิจ SMEs มากขึ้น โดยเน้นไปที่ SMEs ที่มีรายได้เกิน 10 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป เพราะเป็นกลุ่มที่มีโครงสร้างพื้นฐานธุรกิจแข็งแรงแล้ว และ Shoplus จะช่วยต่อยอดการขายบนโซเชียลให้ได้

บริการของ Shoplus จะเป็นระบบออโต้ในการทำงานบนโซเชียล คอมเมิร์ซ ทำให้การขายคล่องตัว ใช้คนน้อยลง แต่คิมมีระบุว่า เป้าหมายของระบบไม่ใช่การแทนที่คน 100% เพราะจากประสบการณ์พบว่า ไม่เพียงแต่ผู้ซื้อที่ไม่ต้องการเช่นนั้น ผู้ขายเองก็ต้องการสร้าง ‘human touch’ พูดคุยแลกเปลี่ยนกับลูกค้าเช่นกัน ทำให้ระบบออโต้ของ Shoplus มีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับพฤติกรรมใช้งานแบบนี้มากขึ้น

เกี่ยวกับ Shoplus : เป็นบริษัทบริการ AI เพื่อบริหารจัดการร้านค้าบนโซเชียล ในเครือบริษัท iKala (ไอคาล่า) จากไต้หวัน ทั้งเครือบริษัทมีบริการอยู่ใน 8 ประเทศ ได้แก่ ไต้หวัน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ ไทย เวียดนาม และมาเลเซีย มีฐานลูกค้ารวมกว่า 400 องค์กร

]]>
1317969
เปิด 5 กลยุทธ์ พิชิตยอดขายสุดปังช่วงเทศกาลวันหยุดยุค COVID-19 https://positioningmag.com/1308753 Thu, 03 Dec 2020 10:00:13 +0000 https://positioningmag.com/?p=1308753
เข้าสู่เดือนธันวาคมเป็นเดือนสุดท้ายของปี แน่นอนว่าเป็นช่วงเวลาแห่งเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ อีกทั้งยังมีช่วงวันหยุดยาวให้ได้พักผ่อนกันอย่างเต็มที่ สมกับที่ทำงานมาเหนื่อยๆ ทั้งปี เชื่อว่าถ้าใครที่ไม่ได้ไปเที่ยวในช่วงวันหยุดยาว ก็ต้องอยู่บ้านพักผ่อน เล่นโซเชียลมีเดีย และช้อปปิ้ง กลายเป็นว่าช่วงหยุดยาวก็เป็นอีกหนึ่งช่วงที่จะโกยยอดขายได้เช่นกัน

ยิ่งการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ยิ่งทำให้พฤติกรรมการช้อปปิ้งของผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง หลายคนใช้เวลากับการช้อปปิ้งออนไลน์มากขึ้น รวมไปถึงการใช้จ่ายผ่านบัตร Contactless เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสต่อกัน

เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการไม่ว่าจะรายใหญ่ หรือรายเล็กต้องเตรียมปรับตัวให้ทันต่อพฤติกรรมผู้บริโภค และสถานการณ์ในปัจจุบัน หากใครที่กำลังมาหาเคล็ดลับ หรือเทรนด์ของการช้อปปิ้งในยุค New Normal แล้วละก็ คุณมากถูกทางแล้ว

มีผลสำรวจของวีซ่าเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจภาคฮอลิเดย์อิดิชั่น (The Visa Back to Business Study, Holiday Edition) ได้เผยให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงพร้อมที่จะจับจ่ายในช่วงเทศกาลวันหยุด

สุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย
  • โดย 88% ของผู้ทำแบบสำรวจยังคงวางแผนที่จะซื้อและมอบของขวัญให้กันในช่วงการแพร่ระบาด
  • ธุรกิจขนาดเล็ก60%กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าพวกเขาได้เริ่มเตรียมพร้อมสำหรับเทศกาลนี้ ซึ่งรวมถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิตอล หรือแม้กระทั่งเปิดให้บริการนานขึ้น

ทั้งนี้ จากผลวิจัยของวีซ่า ชี้ให้เห็นว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิด 5 เทรนด์ใหม่ ซึ่งหากเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กสามารถปรับตัวตามกระแสได้ และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิตอลก็จะช่วยเพิ่มโอกาสเพิ่มยอดขายและเติบโตอย่างแข็งแกร่งได้

1. อีคอมเมิร์ซ “ในชีวิตจริง”

การสำรวจของวีซ่า เกี่ยวกับการทำธุรกิจในช่วงเทศกาลวันหยุดแสดงให้เห็นว่า 59% ของผู้บริโภคที่ใช้จ่ายออนไลน์ในช่วงการแพร่ระบาดหนักของ COVID-19 จะยังคงเลือกใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของการจับจ่ายทั้งหมดในช่วงเทศกาลวันหยุด และ “ในชีวิตจริง” ยังมีนักช้อปอีกไม่น้อยที่ยังคงชอบที่จะไปซื้อสินค้าในร้านอยู่

48% ของผู้บริโภคยังวางแผนที่จะออกไปช้อปปิ้งในห้างร้านตามปกติ โดยวีซ่าเชื่อว่าเส้นบางๆ ที่กั้นระหว่างการช้อปออนไลน์หรือที่ร้านค้าได้หายไปอย่างถาวร ดังนั้น สิ่งสำคัญสำหรับร้านค้าไม่ว่าจะเล็ก หรือใหญ่ ควรพิจารณาการทำดำเนินธุรกิจที่ผสมผสานระหว่างออนไลน์ และการมีหน้าร้าน หรือเรียกว่า Omnichannel

2. โซเชียล คอมเมิร์ซกลายเป็นกระแสอย่างเต็มตัว

โซเชียลคอมเมิร์ซเป็นที่นิยมมากทั้งในตลาดเมืองไทยและเอเชีย และกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในซีกโลกตะวันตก โดยมันทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมและก่อให้เกิดการพูดคุยกันทางออนไลน์พร้อมๆ กับการซื้อขายโดยผู้ซื้อไม่ต้องสลับแอพพลิเคชั่นมีการคาดการณ์ว่ามากกว่า 10% ของออเดอร์จากโทรศัพท์มือถือในช่วงเทศกาลวันหยุดจะเกิดจากการซื้อขายผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซ

โดย 66% ของกลุ่มคน GEN Z พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าพวกเขาเคยซื้อสินค้าบนโซเชียลในช่วงการแพร่ระบาดที่ผ่านมา อ้างอิงจากผลสำรวจของวีซ่า ชี้ให้เห็นว่า 28%ของธุรกิจขนาดเล็ก ได้เคยพยายามทำโฆษณาบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการเข้าถึงลูกค้าใหม่

3. สร้างความแตกต่างด้วยการชำระเงินแบบ Contactless

ผลสำรวจของวีซ่า ระบุว่า 78% ของผู้บริโภคได้เปลี่ยนวิถีการชำระเงินไปแล้ว โดยหันมาใช้จ่ายผ่านดิจิตอลคอมเมิร์ซและพึ่งพาเทคโนโลยีอย่างการชำระเงินในรูปแบบ Contactless มากขึ้นเพราะเป็นช่องทางที่ปลอดภัยที่สุดในช่วง COVID19

การเติบโตของการใช้จ่ายในรูปแบบ Contactless เกิดขึ้นทั่วโลก เพราะความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย เพียงแตะเพื่อจ่าย และได้กลายเป็นทางที่ลูกค้าเลือกใช้มากกว่าวิธีการเดิมๆ และธุรกิจขนาดเล็กเองควรให้ความสำคัญของประสบการณ์การซื้อและการชำระเงินที่เอื้อต่อลูกค้า

เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาในประเทศไทยได้มีการ “แตะเพื่อจ่าย” ผ่านบัตร Visa Contactless มากกว่าสองล้านครั้งในหนึ่งเดือนเป็นครั้งแรกของวีซ่าในประเทศไทย และ 2 ใน 3 ของผู้บริโภคทั่วโลกคาดว่าจะใช้บริการธุรกิจที่นำเสนอทางเลือกในการจ่ายผ่านบัตร Contactless

4. บัตรของขวัญกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น

ผลสำรวจของวีซ่า ได้คาดการณ์ว่าผู้บริโภค 32% จะมอบบัตรของขวัญในรูปแบบดิจิตอลมากขึ้น เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ตามมาด้วยบัตรชนิดอื่นๆ กิจกรรมต่างๆ หรือทริปท่องเที่ยว ที่มีสัดส่วน 19% และดิจิตอลเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ 18% ร้านค้าที่คิดว่าตัวเองเป็นมากกว่า “ร้านค้า” จะมีโอกาสมากกว่าในการเตรียมพร้อมเพื่อเทศกาลช้อปปิ้งที่จะมาถึง

5. กันไว้ดีกว่าแก้

ก่อนหน้าการเกิดโรคระบาดครั้งนี้ เป็นเรื่องง่ายที่จะสันนิษฐานว่าอาชญากรทั้งหลายพยายามที่จะโจรกรรมผู้ค้า และองค์กรขนาดใหญ่ น่าเสียดายที่พวกเขาพบว่าบรรดาผู้ประกอบขนาดกลาง และขนาดย่อมกลับไม่ค่อยใส่ใจดูแลป้องกันตัวเองเท่าที่ควร ซึ่งนั่นทำให้พวกเขาตกเป็นเป้าให้กับมิจฉาชีพเหล่านี้

ร้านค้าจำเป็นต้องมีวิธีการป้องกัน ในขณะเดียวกันก็ต้องรักษาสมดุลไม่ทำให้ประสบการณ์การใช้จ่ายของลูกค้าสะดุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลวันหยุดที่คาดว่าจะมีการค้าขายมากกว่าปกติ

ทางที่ดีที่สุดคือการใช้เครื่องมือตรวจจับการทุจริตที่สามารถใช้งานได้จริง แนะนำให้คุณปรึกษากับธนาคารผู้ให้บริการทางการชำระเงินของคุณ เพื่อหาหนทางที่จะช่วยเพิ่มการอนุมัติธุรกรรมที่ดี ในขณะเดียวกันลดจำนวนธุรกรรมที่น่าสงสัย

Photo : Pixabay

ต้องบอกว่าธุรกิจ SME มีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก มีการจ้างงานมากกว่า 1 ใน 3 ทั่วโลก ขณะที่ COVID-19 ไม่เพียงแต่พิสูจน์ให้เห็นถึงความยืดหยุ่นของร้านค้าขนาดเล็ก มันยังเผยให้เห็นถึงจุดอ่อนของธุรกิจเหล่านั้นด้วย

เพราะฉะนั้นการใช้ความสร้างสรรค์ และการปรับเปลี่ยนเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค ได้ช่วยให้ร้านค้าขนาดเล็กมากมายประสบความสำเร็จมาแล้วมานับไม่ถ้วน ในความเป็นจริงเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก 75% ยังคงมีมุมมองที่ดีต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคต ซึ่งนั่นไม่ใช่เป็นความเพียงความฝัน แต่บางทีการมีทัศนคติที่ดีอาจจะเป็นเคล็ดลับที่ดีที่สุดในการทำธุรกิจก็ว่าได้

เรียกได้ว่า 5 เทรนด์ของวีซ่าล้วนมีประโยชน์แก่ผู้ประกอบการอย่างมาก ทำให้ได้เห็นพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป อีกทั้งยังทราบความต้องการที่แท้จริง ร้านค้าควรเรียนรู้ และนำไปปรับใช้ เพื่อสร้างยอดขายสุดปังในช่วงเทศกาลหยุดยาวไปด้วยกัน

]]>
1308753