เจาะลึกจุดแข็ง ‘Social Commerce’ แค่ไถจอก็เสียทรัพย์ ไม่ต้องง้อโปร 11.11

‘Priceza’ แพลตฟอร์มเทียบราคาสินค้าบนออนไลน์คาดการณ์ว่าจากปัจจัยหนุนของ COVID-19 คาดว่าจะทำให้ตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโตถึง 35% มีมูลค่า 220,000 ล้านบาท และหนึ่งในช่องทางการขายของออนไลน์ที่เติบโตอย่างเห็นได้ชัดก็คือ ‘Social Media’ ซึ่งคนที่ต้องกังวลที่สุดไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นเหล่า ‘e-Marketplace’ อย่าง ‘Lazada’ ‘Shopee’ นี่แหละ

Social กินพื้นที่อีคอมเมิร์ซเกือบครึ่ง

LINE ได้เปิดเผยว่าในช่วง COVID-19 ทำให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไทยจำนวน 83% ช้อปปิ้งออนไลน์ และการช้อปผ่าน Social Commerce คิดเป็น 62% ของภาพรวมอีคอมเมิร์ซเลย ขณะที่ข้อมูลจาก Priceza ระบุว่าสัดส่วนของ Social Commerce ในปี 2019 มีสัดส่วนที่ 38% ส่วนข้อมูลจาก ETDA ยังพบว่าช่องทางขายที่ผู้ขายนิยมใช้มากที่สุดคือ Facebook Fanpage 64.0% รองลงมาคือ Shopee 43.1% LINE 39.5% Instagram 26.6% และ Lazada 24.8%

จะเห็นว่าผู้ขายเลือกใช้ Social Media เป็นช่องทางการขายของมากกว่าใช้ e-Marketplace ซึ่งปัจจัยที่สำคัญคือ ความ ‘ง่าย’ เพราะแค่เปิดเพจก็ขายของได้ ยิ่งเดี๋ยวนี้มีฟีเจอร์ ‘ไลฟ์’ ยิ่งง่ายเข้าไปใหญ่ โดยข้อมูลจาก ‘Shoplus’ ระบุว่าการไลฟ์ขายของในไทยเติบโตขึ้นถึง 173% สูงที่สุดในทวีปเอเชียเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีการตั้ง ‘กลุ่ม’ เพื่อไว้ขายของที่ฮิตกันอย่างมากในช่วงล็อกดาวน์

แม้ข้อมูลสัดส่วนของ Social Commerce ของแต่ละสำนักจะแตกต่างกัน แต่หากมองดี ๆ จะเห็นว่ามีความน่ากลัวไม่น้อย เพราะต้องอย่าลืมว่า Social Commerce นั้นไม่ใช่พื้นที่ขายของเหมือน e-Marketplace แต่กลับเกือบชิงพื้นที่ครึ่งหนึ่งของการขายไปแล้ว

เกิดจาก Social จบที่ Social

ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ Social Commerce ได้รับความนิยมนั้นก็เพราะ “คนไทยเกิดจาก Social” พอเริ่มมีสมาร์ทโฟนก็ต้องเล่น Social ซึ่งนั่นทำให้คนไทย ‘คุ้นชิน’ กับการใช้งานมากกว่าแพลตฟอร์มอื่น ๆ โดย ETDA ได้เปิดเผยสถิติของการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยในปี 2562 ซึ่งระบุว่าใช้เวลา 91.2% ใช้ไปกับ Social Media ทั้ง Facebook, Instagram, Twitter และ LINE เนื่องจากพฤติกรรมดังกล่าว ส่งผลให้ 57% ของผู้ใช้งานค้นพบแบรนด์ใหม่ ๆ ผ่าน Social Media

อย่าง ‘Instagram’ เองก็ได้แชร์ข้อมูลว่าผู้ใช้งาน IG ในแต่ละเดือนมีกว่า 1 พันล้านคน และ 90% ของผู้ใช้งานเหล่านี้กดติดตามบัญชีธุรกิจอย่างน้อย 1 บัญชี และมีผู้ใช้งานราว 130 ล้านคนที่กดดูแท็กรายละเอียดสินค้าในทุก ๆ เดือน แถม IG ยังมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าช่วงสิ้นปีถึง 76% และ 51% ของนักช้อปค้นหาไอเดียเพื่อช่วยในการตัดสินใจผ่าน IG Story อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่ความคุ้นเคยกับ Social แต่เพราะพฤติกรรมที่คนไทยชอบพูดคุย สอบถาม และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ไม่ว่าจะทักไปสอบถามรายละเอียดสินค้าหรืออย่าง ‘ขอลด’ ‘ขอของแถม’ ก็เป็นธรรมชาติของคนไทย ดังนั้นนี่จึงเป็นจุดแข็งของ Social Commerce ไทย โดย ‘Facebook’ เคยเปิดเผยข้อมูลว่า 40% ชอบทักแชทเพื่อซื้อของ ซึ่งสูงกว่าอเมริกาถึง 8 เท่า ขณะที่ LINE ระบุว่าการแชทมีโอกาสปิดการขายได้ 45% ส่วนโอกาสจบการขายของ Online Marketplace อยู่ที่ 3%

แพลตฟอร์ม ‘รุก’ มากขึ้น

ต้องยอมรับว่าการขายสินค้าบน Social ไม่ใช่ความตั้งใจของผู้สร้างแพลตฟอร์มแน่ ๆ แต่เพราะ ‘ผู้ใช้’ ต่างหากที่มาปรับใช้กันเอง อย่างการไลฟ์ขายของ ไทยเองก็เป็นผู้นำเทรนด์นี้จน Facebook เองยังงง หรือแม้แต่การใช้ Story ในการอัปเดตโปรโมชันรวมถึงความเคลื่อนไหวของแบรนด์ แต่ด้วยเทรนด์ที่มาทางนี้ เหล่าแพลตฟอร์มต่าง ๆ จึงต้องทำฟีเจอร์เพิ่มเติมเพื่ออำนวยความสะดวกให้มากยิ่งขึ้น

อย่าง ‘Instagram Shopping’ ฟีเจอร์ที่จะช่วยให้ร้านสามารถเชื่อมต่อกับผู้บริโภคได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว โดยร้านค้าสามารถติดแท็กรายละเอียดสินค้า (Shopping Tags) บนหน้าฟีด ไอจีสตอรี่ และไอจีทีวี เพื่อให้ลูกค้าทราบข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ ในส่วนผู้ใช้เองสามารถค้นหาสินค้าผ่านปุ่มร้านค้า (Shop) ในหน้าสำรวจ (Explore) ได้เลย หรือในส่วนของ  ‘LINE’ เองก็มีแพลตฟอร์ม ‘LINE Shopping’ ที่จะรวบรวม ‘LINE MyShop’ หรือร้านค้าที่อยู่บน LINE เอาไว้ให้ผู้ใช้งานซื้อของได้ง่ายยิ่งขึ้น

จะเห็นว่าแต่ละแพลตฟอร์มพยายามที่จะทำให้ร้านค้าบนแพลตฟอร์มของตนปิดการขายได้บนแพลตฟอร์ม ไม่ต้องกระโดดข้ามไปซื้อของที่แพลตฟอร์มอื่น ๆ อีก

อุปสรรคใหญ่ ‘ความน่าเชื่อถือ’

ด้วยความ ‘ง่าย’ ในการใช้งานนี่แหละ ถือเป็นปัญหาใหญ่ของแพลตฟอร์ม เพราะมิจฉาชีพมักจะแฝงตัวเข้ามานคราบของร้านค้า หรือบางร้านอาจจะขายสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ ซึ่งลูกค้าก็ทำได้เพียงเรียกร้องความรับผิดชอบจากร้านเท่านั้น ขณะที่เหล่า e-marketplace เองมีระบบป้องกันชัดเจน โดยทำหน้าที่ ‘ตัวกลาง’ ในการพักเงิน โดยต้องรอลูกค้ายืนยันว่าได้รับและตรวจสอบสภาพสินค้าจริง ก่อนจะทำการโอนเงินให้ร้านค้าอีกที ซึ่งส่วนนี้เป็นข้อดีที่ทำให้ผู้ใช้งานสบายใจหายห่วง

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่เรื่องของความน่าเชื่อถือ แต่ ‘โปรโมชัน’ ที่มาร์เก็ตเพลสเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยกระตุ้นยอดขายของร้านค้า ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่ดึงดูดผู้บริโภค แต่ด้วยความที่โปรแรงไม่ได้มีทุกวัน ดังนั้น ทาง e-Marketplace จึงต้องเพิ่มความน่าสนใจต่าง ๆ เพื่อดึงดูดผู้ใช้ให้อยู่กับแพลตฟอร์ม ให้ ‘นานที่สุด’ ไม่ว่าจะ ‘ไลฟ์’ หรือการนำ ‘เกม’ เข้ามาเล่นเพื่อรับส่วนลดต่าง ๆ

คงต้องรอดูกันยาว ๆ ว่าสงครามนี้จะมีผู้ชนะหรือไม่ หรือต่างฝ่ายต่างเป็นหนามยอกอกของกันและกันในสังเวียนอีคอมเมิร์ซนี้ ส่วนผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ก็รอช้อปผ่านโปร 11.11 แล้วก็รอ cf ของในไลฟ์อีกที เผื่อไถฟีดไปเจอของถูกใจ