จับกระแส ‘ตลาดอีคอมเมิร์ซไทย’ ปี 2025 มีอะไรเปลี่ยนแปลงและน่าสนใจแค่ไหน?

ช่วงที่ผ่านมาตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยมีการเติบโตและความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ โดยปีที่ผ่านมามีมูลค่า 1 ล้านล้านบาท สูงเป็นอันดับ 2 เป็นรองแค่อินโดนีเซีย ส่วนในปีนี้ตลาดอีคอมเมิร์ซในบ้านเราก็ยังเป็นสนามแข่งขันที่ดุเดือด ซึ่งทาง Priceza ได้สรุปทั้งมูลค่าและประเมินเทรนด์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ไว้อย่างน่าสนใจ

มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย

ปี 2024 มูลค่า 1 ล้านล้านบาท เติบโต 9%

ปี 2025 มูลค่า 1.07 ล้านล้านบาท เติบโต 7%

ปี 2030 มูลค่า 2 ล้านล้านบาท

สำหรับช่องทางออนไลน์ที่คนไทยซื้อสินค้าออนไลน์

• 50% ซื้อผ่าน Marketplace เช่น shopee, Lazada, Konvy ฯลฯ

• 20% ซื้อผ่าน Video Commerce เช่น TikTok, Facebook, IG, YouTube ซึ่งช่องทางนี้เป็นช่องทางใหม่และกำลังมาแรง

• 18% ซื้อผ่าน Social Commerce เช่น Facebook, Line, IG, X  ฯลฯ

• 8% ซื้อผ่าน Quick Commerce & Grocery เช่น Grab, Lineman, 7-Eleven delivery, Big c ฯลฯ

• 4% E-Tailers และ Brand.com เช่น Powerbuy Boots Banana ฯลฯ

5 เทรนด์อีคอมเมิร์ซ ปี 2025

เทรนด์ที่ 1 The Rise of Affiliate Commerce : อีคอมเมิร์ซพันธุ์ใหม่จะขับเคลื่อนการเติบโตของอีคอมเมิร์ซในปี 2025 โดยแบรนด์ต่างๆ ได้นำกลยุทธ์ Affiliate Commerce ไปใช้กับการขายสินค้าด้วยการหลอมรวมในทุกช่องทางอีคอมเมิร์ซ โดยธุรกิจควรจับมือร่วมกับ Content creator เพื่อผลลัพธ์ทางการตลาดและยอดขายที่ดีมากขึ้น เพราะจากผลสำรวจพบว่า 83% ของคนไทย เลือกซื้อสินค้าตาม Influencer แนะนำ

สำหรับสิ่งที่จะขับเคลื่อน Affiliate Commerce เติบโต ได้แก่ 3C ประกอบด้วย Creators (ผู้สร้างสรรค์), Content (คอนเทนต์ เนื้อหาของสื่อ) และ Commerce (การค้าขาย) หมายความว่า ผู้บริโภคชอบคอนเทนต์ที่ดี และจากคอนเทนต์ที่ดี จะนำไปสู่การสร้างยอดขายให้กับแบรนด์ และสามารถวัดผลได้

เทรนด์ที่ 2 Competition in Thailand E-Commerce is Heating Up : ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยเปิดทางให้เกิดการแข่งขันแบบเสรีขั้นสุดจากผู้ขายทั่วโลก

ปี 2025 จะเป็นปีแห่งการแข่งขันที่หนักหน่วงของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เนื่องจากผู้ค้าออนไลน์ หลีกเลี่ยงการแข่งขันไม่ได้อีกต่อไป ซึ่งทาง Priceza ประเมินว่า ใน 3 แพลตฟอร์มใหญ่อย่าง Shopee, Lazada, TikTok มีผู้ขายรวมกันมากถึง 3 ล้านราย มีสินค้ากว่า 300 ล้านรายการ

สำหรับเหตุผลที่ผู้บริโภคจะตัดสินใจซื้อผ่านแพลตฟอร์มใด ขึ้นอยู่กับ

54% คูปองและส่วนลด

51.8% การจัดส่งฟรี

40.4% บริการเก็บเงินปลายทาง

30.7% คืนสินค้าง่าย

27.4% รีวิวจากลูกค้า

จากภาพดังกล่าว ทำให้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่าง ๆ จึงพยายามทำให้เกิดการแย่งกันสร้างสินค้าและตั้งราคาถูกมาก ด้วยการดึงผู้ขายทั้งรายย่อย รายใหญ่ แบรนด์ต่าง ๆ รวมถึงโรงงานจีนและผู้ขายจากต่างประเทศให้เข้ามาเปิดช้อปบนแพลตฟอร์มของตัวเอง เพราะเมื่อมีผู้ขายเยอะ ยิ่งมีการแข่งขันและตั้งราคาให้ถูกลง ซึ่งจะดึงดูดให้ผู้บริโภคมาซื้อสินค้าบนออนไลน์มากขึ้น

วิธีนี้ แม้ผู้บริโภคจะได้ผลประโยชน์จากสินค้าราคาถูกลง ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเล็ก ๆ ในประเทศ เพราะสินค้าราคาถูกจากจีนจะไหลเข้ามามากขึ้น โดยตอนนี้สินค้าจีนราคาไม่เกิน 1,500 บาท ได้รับการยกเว้นภาษีศุลากร ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องมีการปรับตัว

เทรนด์ที่ 3 E-commerce Listening : ช่วยเปิดทางทำธุรกิจออนไลน์แบบ ‘รู้เขา รู้เรา’ เสริมแกร่งธุรกิจไทยแข่งขันในตลาดอีคอมเมิร์ซที่การแข่งขันสูง

จากการแข่งขันอย่างดุเดือดในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ทำให้ปัจจุบันหลายแบรนด์ได้นำ E-commerce Listening เข้ามาใช้ เป้าหมายไม่ใช่แค่ทำความรู้จักและเข้าใจ ‘ลูกค้า’ เท่านั้น แต่ยังเป็นการเข้าใจ ‘คู่แข่ง’ ให้มากขึ้นด้วยเช่นกัน

สำหรับ E-commerce Listening ที่หลายแบรนด์นำมาใช้ จะประกอบด้วย 3C ได้แก่ Consumer (ลูกค้า) , Company (บริษัทของเรา) และ Compactors (คู่แข่ง) โดยต้องเจาะข้อมูลเชิงลึกในการจะเข้าใจว่าลูกค้าซื้ออะไรจากคู่แข่ง วิธีการขายหรือจำนวนชิ้นที่คู่แข่งขายได้ เพื่อให้รู้จักคู่แข่งได้ดีเท่ากับรู้จักลูกค้า สำหรับนำมาวางกลยุทธ์ได้อย่างถูกต้องและแม่นยำมากที่สุด

เทรนด์ที่ 4 E-Commerce Business Model Evolution : จากตลาดอีคอมเมิร์ซที่แข่งขันดุเดือด ทำให้ผู้เล่นต้องปรับเปลี่ยนให้เกิดโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ โดยธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ของไทยได้ปรับโมเดลสู่การเน้นขายผ่านบ้านหลักของตัวเองมากขึ้นในปี 2025 ได้แก่

Consignment Model หรือระบบการฝากขาย ที่เน้นสินค้าราคาถูก และแพลตฟอร์มจะเป็นผู้ทำตลาดให้เอง ซึ่งในปีนี้จะเห็นหลายแพลตฟอร์มขยับมาสู่โมเดลนี้กันมากขึ้น

Vertical Marketplace แพลตฟอร์มที่ขายสินค้าเฉพาะเจาะจง เช่น Home Pro , Konvy, NocNoc เป็นต้น จะทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่า เป็นมาร์เก็ตเพลสที่สามารถตอบโจทย์สินค้าเฉพาะกลุ่มได้มากกว่า

Refocus on Own Retail Channel ปีนี้แพลตฟอร์มอย่าง Shopee Lazada จะมีการขยับราคาค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ข้อมูลลูกค้าที่ขายผ่านทางมาร์เก็ตเพลส จะอยู่กับแพลตฟอร์ม ทำให้ให้บรรดาแบรนด์ และรีเทลต่าง ๆ หันมาให้ความสำคัญกับช่องทางขายของตัวเองมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์หรือแอปฯ

เทรนด์ที่ 5 Fast Delivery Like a Devil : ปีแห่งการส่งของไวเป็นปีศาจ ผู้บริโภคยุคใหม่ไม่อดทนรอสินค้าได้นาน หากผู้ขายรายใหม่สามารถส่งสินค้าภายในวันที่สั่งของได้ ผู้บริโภคก็พร้อมย้ายเจ้า และการส่งด่วนจากแพลตฟอร์มหรือร้านค้าต่าง ๆ นี่เองมีส่วนส่งเสริมให้ตลาด Quick Commerce เติบโตต่อเนื่องราว ๆ 20-30%  ต่อปี