Greyhound – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 25 Jun 2024 13:02:36 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “KUBOTA x GREYHOUND” เปลี่ยน “ฟางข้าว” จากท้องนาเป็น “เสื้อผ้า” ช่วยลดมลพิษจากการเผา https://positioningmag.com/1479597 Tue, 25 Jun 2024 10:37:01 +0000 https://positioningmag.com/?p=1479597 “สยามคูโบต้า” จับมือแบรนด์แฟชั่น “เกรย์ฮาว ออริจินัล” เปิดตัวคอลเล็กชัน “KUBOTA x GREYHOUND” เสื้อผ้าที่ผลิตจากเส้นใยฟางข้าว สร้างประโยชน์ให้วัสดุเหลือใช้ จูงใจให้เกษตรกรลดการเผานาที่เป็นบ่อเกิดของมลพิษ PM2.5

“สยามคูโบต้า” เป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรที่อยู่ในไทยมานาน 46 ปี มีความใกล้ชิดกับเกษตรกรไทยโดยเฉพาะกลุ่ม “ชาวนา” จึงทราบดีว่าชาวนาใช้วิธี “เผา” ในการจัดการท้องนาหลังเก็บเกี่ยว ต้นเหตุส่วนหนึ่งของปัญหามลพิษฝุ่น PM2.5 ทำให้สยามคูโบต้ามีนโยบายที่จะช่วยจูงใจให้ชาวนาลดการเผานาข้าวมาโดยตลอด เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

ขณะที่ “เกรย์ฮาวด์ ออริจินัล” เป็นแบรนด์แฟชั่นสัญชาติไทยที่มีนโยบายด้าน Sustainable Fashion ด้วยตระหนักรู้ว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นธุรกิจที่ทำร้ายสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ทำให้แบรนด์เริ่มสร้างไลน์สินค้า Green Label มาตั้งแต่ปี 2565 เพื่อผลิตเสื้อผ้าที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม

เกรย์ฮาวด์
KUBOTA x GREYHOUND ORIGINAL PRESENT “Turn Waste to Agri-Wear” ใช้เส้นใยจากฟางข้าวเป็นส่วนผสม 20% ของผืนผ้า

ด้วยเป้าหมายที่ตรงกันทำให้ทั้งสองแบรนด์หันมาจับมือในโปรเจ็กต์คอลเล็กชัน KUBOTA x GREYHOUND ORIGINAL PRESENT “Turn Waste to Agri-Wear” นำเส้นใยจาก “ฟางข้าว” มาใช้ผลิตเสื้อผ้าในคอลเล็กชันนี้ ช่วยเปลี่ยนวัสดุเหลือใช้ให้กลายเป็นวัสดุที่มีประโยชน์ มีราคา จูงใจให้เกษตรกรเปลี่ยนจากการเผามาเก็บอัดฟางข้าวเพื่อนำไปจำหน่าย

โดย เกรย์ฮาวด์ ออริจินัล ออกแบบเสื้อผ้าและของใช้ในคอลเล็กชันนี้มาทั้งหมด 20 SKUs เช่น เสื้อ กางเกง หมวก กระเป๋า เน้นการออกแบบในสไตล์ GREYHOUND ที่ใส่ได้ทั้งหญิงและชาย (Unisex) และเป็นสไตล์สตรีทแวร์ที่แฟนคลับแบรนด์ทุกคนคุ้นเคย คอลเล็กชันนี้ผลิตแบบ Limited Edition แต่ละ SKU จะมีผลิตออกมาเพียง 300-500 ชิ้น จำหน่ายผ่านร้านเกรย์ฮาวด์ ออริจินัล ทั้ง 4 สาขา คือ สยามพารากอน เซ็นทรัลเวิลด์ เซ็นทรัลลาดพร้าว และเมกาบางนา รวมถึงจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์

เกรย์ฮาวด์
รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายของคอลเล็กชันนี้จะมีการนำบริจาคให้กับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย

 

ต่อยอดงานวิจัยมาสู่งานขายจริง

“พิษณุ มิลินทานุช” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการทั่วไป สายงานขาย การตลาดและบริการ บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของโปรเจ็กต์มาจากทางสยามคูโบต้ามีเป้าหมายที่จะช่วยลดการเผานาด้วยการสร้างประโยชน์ให้กับฟางข้าว ปัจจุบันฟางข้าวจะถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวลกับอาหารสัตว์เป็นหลัก แต่เพียงเท่านั้นยังไม่พอที่จะรับซัพพลายฟางข้าวจากนาข้าวทั้งประเทศไทย

ในที่สุดบริษัทค้นคว้าจนได้พบกับงานวิจัยของ คณะเกษตรศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ ซึ่งมีนวัตกรรมใหม่ “เส้นใยฟางข้าวผสมเส้นใยจากรังไหม” นำมาปั่นและทอเป็นผ้าได้ และมีกลุ่มสตรีทอผ้าฝ้าย ตำบลทับน้อย อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ เป็นผู้ผลิตผืนผ้า สยามคูโบต้าจึงเป็นตัวกลางในการติดต่อนำเสนอผ้านวัตกรรมนี้ให้กับเกรย์ฮาวด์ ออริจินัล เพื่อทดลองนำไปออกแบบเป็นเสื้อผ้าแฟชั่นภายใต้แบรนด์ของตนเอง

เกรย์ฮาวด์
กลุ่มสตรีทอผ้าฝ้าย ตำบลทับน้อย อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์

ด้าน “ภาคิน เพ็ญภาคกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มัด แอนด์ ฮาวด์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของแบรนด์เกรย์ฮาวด์ ออริจินัล หลังได้รับการทาบทามก็สนใจทันทีเพราะวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมตรงกัน จากนั้นใช้เวลา 6 เดือนในการศึกษาผ้าและออกแบบคอลเล็กชันนี้

ภาคินกล่าวว่า ผลการตอบรับจากลูกค้าดีมาก หลายแบบขายหมดแล้วในโควตาช่องทางออนไลน์ เหลือเฉพาะหน้าสาขา เชื่อว่าเกิดจากคนรุ่นใหม่ก็ใส่ใจและสนับสนุนงานด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงมีความเชื่อมั่นในแบรนด์เกรย์ฮาวด์ ออริจินัลว่าออกแบบดี และใช้ผ้าคุณภาพดีในการตัดเย็บ

(ที่ 3 จากซ้าย) “พิษณุ มิลินทานุช” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการทั่วไป สายงานขาย การตลาดและบริการ บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด (ที่ 2 จากขวา) “ภาคิน เพ็ญภาคกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มัด แอนด์ ฮาวด์ จำกัด (มหาชน)

ส่วนการใช้ผ้าจากเส้นใยฟางข้าวในคอลเล็กชันต่อๆ ไปนั้น ภาคินกล่าวว่าขอรอดูยอดขายของคอลเล็กชันนี้ก่อน แต่ภาพรวมนโยบายบริษัทต้องการสนับสนุนวัสดุเพื่อสิ่งแวดล้อมทุกชนิด โดยปัจจุบันไลน์สินค้า Green Label ของเกรย์ฮาวด์ ออริจินัลมีสัดส่วนประมาณ 10% ของไลน์สินค้าทั้งหมด สินค้าในไลน์นี้จะมุ่งเน้นด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ผ้ารีไซเคิลจากขวดพลาสติก ผ้าคอตตอนออแกนิกส์ คอลเล็กชันจากเศษผ้า เป็นต้น

สำหรับภาพรวมธุรกิจกลุ่มเสื้อผ้าของ มัด แอนด์ ฮาวด์ ภาคินระบุว่า แบรนด์กลับมาเติบโตต่อเนื่อง 3 ปีที่ผ่านมาหลังพ้นวิกฤตโควิด-19 ธุรกิจเสื้อผ้าโตปีละ 10-15% ขณะที่ 5 เดือนแรกปี 2567 ธุรกิจเสื้อผ้าของบริษัทโตประมาณ 5-10%

ปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจเสื้อผ้าของเกรย์ฮาวด์กลับมาโตได้ เกิดจากการปรับตัวให้เข้ากับตลาดมากขึ้น โดยเพิ่มเสื้อผ้าที่มีความเรียบง่ายใส่ได้ทั่วไปมากขึ้น จากเดิมที่เสื้อผ้าเกรย์ฮาวด์จะมีสไตล์ชัดเจนและแฟชั่นมาก รวมถึงปรับมาออกคอลเล็กชันถี่มากขึ้นเพราะคนรุ่นใหม่เปลี่ยนแฟชั่นเร็วขึ้น

]]>
1479597
Greyhound เค้นศักยภาพทำเงิน โตติดสปีด 3 เท่าภายใน 5 ปี ผ่านโมเดลแฟรนไชส์-ไลเซนส์ https://positioningmag.com/1307820 Thu, 26 Nov 2020 11:36:07 +0000 https://positioningmag.com/?p=1307820 Greyhound ประกาศครบรอบ 40 ปี ปรับแผนใหม่ วางเป้าโต 2-3 เท่าภายใน 3-5 ปี ฝั่งธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม เปิดโมเดลธุรกิจ “แฟรนไชส์” ในประเทศภายใต้แบรนด์ Greyhound Coffee พร้อมกับไล่ล่ากิจการแบรนด์ใหม่เข้าพอร์ต ด้านธุรกิจแฟชั่น เปิดโมเดล “ไลเซนส์” ทำสัญญาใช้แบรนด์ผลิตสินค้า เริ่มพันธมิตรแรก โอ ซี ซี ในเครือสหพัฒน์ 

Greyhound (เกรฮาวด์) แบรนด์ไลฟ์สไตล์และอาหารที่อยู่มานาน 40 ปีและปัจจุบันอยู่ในเครือมัดแมน มีการเสริมทัพผู้บริหารเลือดใหม่และทำให้บริษัทมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนขึ้นในการ “บุก” ตลาดอย่างเต็มที่ โดยแผนต่อจากนี้จะเห็นบริษัทรีดเค้นศักยภาพ คว้าโอกาสทำเงินทั้งฝั่งร้านอาหารและฝั่งแฟชั่นไลฟ์สไตล์

“ลิมลี่ ทิพพงษ์ประภาส” กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัท เกรฮาวด์ ฉายภาพใหญ่ก่อนว่า รายได้รวมของกลุ่มบริษัทอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท (ยกเว้นปีนี้ที่รายได้จะลดลงเนื่องจาก COVID-19) โดยแบ่งสัดส่วนเป็นกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร-เครื่องดื่ม 80% และกลุ่มธุรกิจแฟชั่นไลฟ์สไตล์ 20%

ทีมบริหาร Greyhound : (จากซ้าย) ฐิติภูมิ วงศ์เกียรติขจร, ลิมลี่ ทิพพงษ์ประภาส, กฤตินาท อิศรางกูร ณ อยุธยา และ ปิยพงศ์ รินทรานุรักษ์

โดยบริษัทเล็งเห็นว่า ศักยภาพของบริษัทสามารถทำรายได้เติบโตได้อีก 2-3 เท่า ภายใน 3-5 ปี ผ่านกลยุทธ์ใหญ่ 3 ประการ คือ

1) Expansion ขยายสาขา 5-10 สาขา ในปี 2564 (รวมสองกลุ่มธุรกิจ) โดยใช้งบลงทุน 50-100 ล้านบาท
2) Extention แตกไลน์สู่กลุ่มสินค้าใหม่
3) Acquisition ซื้อกิจการและหาพันธมิตร

ร้านอาหารใช้โมเดล “แฟรนไชส์” ต่อยอด

สำหรับฝั่งร้านอาหาร Greyhound จนถึงสิ้นปีนี้จะมีทั้งหมด 7 แบรนด์ 38 สาขา (เฉพาะในประเทศไทย) มีแบรนด์ที่โดดเด่น เช่น Greyhound Cafe 17 สาขา, Greyhound Coffee 15 สาขา, Another Hound Cafe 3 สาขา เป็นต้น

โมเดลใหม่ที่จะเกิดขึ้นคือ Greyhound Coffee เป็นแบรนด์ที่บริษัทหยิบมาทำธุรกิจ “แฟรนไชส์” ในประเทศ เพื่อทำให้การเติบโตเร็วขึ้น

Greyhound Coffee ในโชว์รูม Cub House Honda เมื่อแยกตัวออกมานอกโชว์รูม จะมีการปรับสไตล์ร้านอีกครั้ง (Photo: FB page@greyhoundcoffeeoriginal)

“ฐิติภูมิ วงศ์เกียรติขจร” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและพัฒนาธุรกิจ บริษัท เกรฮาวด์ จำกัด และ บริษัท เกรฮาวด์ คาเฟ่ จำกัด กล่าวถึงโมเดลนี้ว่า จุดเริ่มต้นมาจากการทำสัญญาเปิด Greyhound Coffee ในโชว์รูม Cub House มอเตอร์ไซค์ของ Honda ทั้งหมด 15 สาขา ในเวลา 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้เรียนรู้ธุรกิจร้านกาแฟจนมีความมั่นใจที่จะขยายแบรนด์นี้

โดยจะเริ่มเห็นการนำ Greyhound Coffee ออกนอกโชว์รูมของ Honda ทางบริษัทจะลงทุนเองเพื่อเปิดคู่ไปกับ Greyhound Cafe สาขาใหม่ 3 สาขา มีการปรับสไตล์ใหม่ให้มีความเป็นแบรนด์ตนเองมากขึ้น และจะเริ่มเปิดให้แฟรนไชส์ติดต่อเพื่อนำแบรนด์ไปลงทุนปีหน้า เบื้องต้นวางค่าแรกเข้า 150,000 บาท และค่าธรรมเนียม 6% จากยอดขาย

เพิ่มสินค้าประเภทซื้อกลับบ้าน แบรนด์ Life Is Too Short For Bad Snacks

นอกจากนี้ จะมีการเพิ่มร้าน Greyhound Cafe ไทป์ใหม่ในชื่อ Greyhound Cafe Selected ปรับขนาดร้านให้เล็กลงเหลือประมาณ 100 ตร.ม. จากเดิม 200-300 ตร.ม. เพื่อให้หาพื้นที่เปิดสาขาได้ง่ายขึ้น ด้วยขนาดที่เล็ก จะทำให้เมนูของร้านน้อยลงกว่าเดิม แต่จะเพิ่มเมนูพิเศษเฉพาะไทป์ร้านขนาดนี้

รวมไปถึงเพิ่มไลน์สินค้าประเภทซื้อกลับบ้านมาขายในร้าน ภายใต้ชื่อ Life Is Too Short For Bad Snacks จำหน่ายขนมขบเคี้ยว คุกกี้ แยม กราโนล่า ช่วยเพิ่มยอดขายจากความหลากหลายของสินค้า

 

หาโอกาสซื้อกิจการ – JV ลงทุนต่างประเทศ

ด้านการพัฒนาธุรกิจใหม่ในฝั่งร้านอาหาร “ปิยพงศ์ รินทรานุรักษ์” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เกรฮาวด์ คาเฟ่ จำกัด เปิดเผยกับ Positioning ว่า บริษัทวางงบลงทุนเพื่อซื้อกิจการไว้ 1,000 ล้านบาท สำหรับใช้ซื้อกิจการในช่วง 3 ปี โดยมองหาร้านอาหาร-เครื่องดื่มแบรนด์ใหม่มาเติมเต็มพอร์ตให้ไม่ซ้ำกับที่บริษัทมีอยู่เดิม

จากปัจจุบัน Greyhound เป็นแบรนด์ที่จับตลาดกลางถึงกลางบน และเป็นร้านอาหารไทยฟิวชั่น ดังนั้น แบรนด์ใหม่ที่สนใจจะมองเป็นกลุ่มร้านอาหารสไตล์อื่น หรือจับเซ็กเมนต์ตลาดแมส หรือขึ้นไปหาโอกาสในกลุ่ม Fine Dining ก็ได้ แต่ต้องเป็นแบรนด์ที่มีศักยภาพพอที่จะขยายไปต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ

คาดว่าภายในไตรมาส 2/64 น่าจะเห็นความชัดเจน ปัจจุบันมีเริ่มเจรจาบ้างแล้ว โดยมีทั้งเชนร้านอาหารที่ขยายไปแล้วกว่า 20 สาขา และเชนขนาดเล็กที่มีอยู่ 2-3 สาขาแต่ศักยภาพเติบโตสูง

Greyhound Cafe UK สาขาแฟลกชิปในต่างประเทศ

ส่วนธุรกิจร้านอาหารในต่างประเทศ ปัจจุบันขยายไปแล้ว 15 สาขาใน 6 ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย เวียดนาม และสิงคโปร์ ทุกประเทศเป็นการขยายโดยให้สิทธิแฟรนไชส์ ยกเว้นที่อังกฤษซึ่งบริษัทลงทุนเอง ในปี 2564 จะมีการขยายอีก 3 สาขาใน 2 ประเทศใหม่ คือ ฟิลิปปินส์ และอีกหนึ่งประเทศยังอยู่ระหว่างเจรจา

อย่างไรก็ตาม ปิยพงศ์กล่าวว่า หลังจากนี้จะเริ่มมองหาดีลการร่วมลงทุน (JV) ในการเปิดสาขาที่ต่างประเทศ สำหรับประเทศที่บริษัทยังไม่เคยมีการเปิดสาขามาก่อน โดยเฉพาะประเทศขนาดใหญ่ เช่น ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา มีความน่าสนใจที่จะลงทุนแบบ JV มากกว่าแฟรนไชส์ เพราะพื้นที่ขยายสาขามาก ความเสี่ยงสูงขึ้นก็จริง แต่จะทำให้ได้รายได้กลับมามากกว่าการเก็บค่าธรรมเนียมลิขสิทธิ์เท่านั้น

 

กลุ่มแฟชั่นขาย “ไลเซนส์” เปิดน่านน้ำสินค้าไลฟ์สไตล์

ฟากธุรกิจแฟชั่นซึ่งแม้จะยังมีสัดส่วนที่เล็ก แต่ทางกลุ่มบริษัทมองว่ามีโอกาสโตสูงมาก “กฤตินาท อิศรางกูร ณ อยุธยา” ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เกรฮาวด์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทเริ่มพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่คือการให้ “ไลเซนส์” หรือทำสัญญาให้บริษัทอื่นนำแบรนด์ของเครือไปใช้กับสินค้า ซึ่งจะทำให้แบรนด์แตกไลน์สินค้าใหม่ได้เร็วกว่าการพัฒนาด้วยตนเองคนเดียว

ไลน์สินค้าใหม่ของกลุ่มแฟชั่น โดยมีชุดชั้นใน Smileyhound ที่ออกแบบร่วมกับ โอ ซี ซี เตรียมวางขายปีหน้า (นายแบบ-นางแบบสวมใส่ทางซ้ายมือ)

ยกตัวอย่างพันธมิตรเจ้าแรกคือ บริษัท โอ ซี ซี จำกัด (มหาชน) ใน เครือสหพัฒน์ ทำสัญญา 3 ปีเพื่อผลิตชุดชั้นในแบบ Unisex ภายใต้แบรนด์ Smileyhound โดยโอ ซี ซีจะเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเอง ส่วนการออกแบบจะร่วมกันออกแบบทั้งสองฝ่ายและเกรฮาวด์มีสิทธิตัดสินใจสูงสุดในด้านงานออกแบบ

“เราไม่ได้เก่งทุกด้านที่จะทำเองทุกอย่าง อย่างร่วมกับโอ ซี ซี เขาก็มีนวัตกรรมของเขาที่จะผลิต underwear และมีช่องทางการขายที่ใหญ่กว่าเรา ดังนั้นการไปโมเดลนี้จะดีกว่า” กฤตินาทกล่าว อย่างไรก็ตาม บริษัทย้ำว่าการให้ไลเซนส์ แม้จะเปิดกว้างให้กับสินค้าไลฟ์สไตล์ต่างๆ แต่ก็ต้องมีการคัดเลือกเพื่อให้เหมาะกับแบรนด์ด้วย

แบรนด์ในเครือของเกรฮาวด์นั้นเป็น “สินทรัพย์” ที่มีพลังมากในการนำมาเปิดขายไลเซนส์ เพราะมีอัตลักษณ์ที่ชัดเจนในแง่แฟชั่น และมีฐานลูกค้าที่เหนียวแน่น มีกำลังซื้อ ที่ผ่านมาเครือเกรฮาวด์จึงมีงาน collab กับแบรนด์อื่นๆ ต่อเนื่อง เช่น IKEA, Heineken

 

แบรนด์เก่าเล่าใหม่-เพิ่มสินค้าให้ครบลูป

นอกจากโมเดลธุรกิจใหม่แล้ว กฤตินาทกล่าวว่ากลุ่มแฟชั่นได้เริ่มนำแบรนด์เก่า Animal House มาลงตลาดอีกครั้ง และจะเป็นแบรนด์สำหรับขายออนไลน์เท่านั้น ไม่มีหน้าร้าน เพื่อจับกลุ่มลูกค้าตลาดแมส พูดง่ายๆ คือการท้าชนกับ “เสื้อผ้าไอจี” ทั่วไทย

แบรนด์เก่าฟื้นชีพ : Animal House เริ่มขายสินค้าแรกคือ หน้ากากผ้า

ดังนั้น ปัจจุบันกลุ่มเกรฮาวด์จะมีสินค้าแฟชั่นตั้งแต่ระดับกลางบนถึงแมส หากวัดเป็นราคา ‘เสื้อเชิ้ต’ แบรนด์ Greyhound Original จะอยู่ในช่วงราคา 2,500-3,000 บาท Smileyhound เป็นช่วงราคา 1,000-1,500 บาท ส่วน Animal House จะอยู่ในช่วงราคาไม่เกิน 1,000 บาท

Animal House ปีนี้เริ่มเปิดขายสินค้าแรกเป็นหน้ากากผ้าผ่าน 24Shopping ในเครือซีพีออลล์ และปีหน้าจะนำไลน์เสื้อผ้ากลับมาแบบจัดเต็ม พร้อมจำหน่ายทุกช่องทางทั้งเว็บไซต์ของบริษัทและมาร์เก็ตเพลซ

ไลน์สินค้าใหม่ น้ำหอม Smileyhound

ด้านการพัฒนาสินค้าใหม่ กลุ่มแฟชั่นใช้แบรนด์ Smileyhound เป็นเรือธง เริ่มเปิดไลน์น้ำหอมเป็นครั้งแรก 2 กลิ่นและสนีกเกอร์แบบแรกออกวางจำหน่ายแล้ว

สรุปแผนบุกธุรกิจของกลุ่มเกรฮาวด์นั้น “จัดเต็ม” แบบติดอาวุธรอบด้าน แม้ปีนี้สถานการณ์จะหนักหน่วงจาก COVID-19 แต่บริษัทยังคงต้องการลงทุนเพื่อเติบโตให้เร็วกว่าที่เคยเป็นมา

]]>
1307820
เมื่อ ‘หน้ากากผ้า’ ทำหน้าที่มากกว่าอุปกรณ์ ‘ป้องกัน’ แต่เป็นสินค้า ‘แฟชั่น’ ในยุคโควิด https://positioningmag.com/1272750 Fri, 10 Apr 2020 11:30:14 +0000 https://positioningmag.com/?p=1272750 ในช่วงโควิด-19 ระบาด แน่นอนว่าห้างร้านต่าง ๆ ที่ถูกปิดตัวไป และหนึ่งในสินค้าที่ได้รับผลกระทบก็คือ ‘แฟชั่น’ เพราะไม่ใช่แค่ขายของออฟไลน์ไม่ได้ แต่ทางออนไลน์ก็ไปไม่ไหว โดยข้อมูลจาก ‘Priceza’ ระบุว่าสินค้าที่ขายดีในออนไลน์เป็นกลุ่มอุปโภคบริโภค แต่สินค้าแฟชั่นและบิวตี้กลับดร็อปลงอย่างเห็นได้ชัด อาจเพราะไม่ต้องออกจากบ้านไปไหน อีกทั้งยังไม่มีอารมณ์ที่จะอยากแต่งตัวอีก ส่งผลให้แบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นปรับตัวมาผลิต ‘หน้ากากผ้า’ ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด แต่ดูเหมือนมันจะไปไกลกว่านั้น เพราะกลายเป็นว่ามันได้กลายเป็น ‘สินค้าแฟชั่น’ ในยุคนี้ไปแล้ว

หน้ากากผ้าจากแบรนด์ Varithon Boutique แบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่น

เดือนเดียวมีกว่า 10 แบรนด์

ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาจะเริ่มเห็นการปรับตัวของแบรนด์สินค้าแฟชั่นที่เริ่มเปลี่ยนสายการผลิต จากเดิมตัดเย็บเสื้อผ้า หันมาผลิตหน้ากากผ้าแทน แค่ที่เห็นผ่าน ๆ ตาก็ทะลุกว่า 10 แบรนด์ไปแล้ว แต่ที่เห็นชัด ๆ ก็มี ‘ซาบีน่า’ ที่ตั้งหน่วยธุรกิจใหม่ เปิดไลน์หน้ากากผ้านาโนแทนที่การผลิต ‘ชุดชั้นใน’ โดยตั้งเป้าที่ 1 แสนชิ้น/เดือน หรือแบรนด์อย่างชุดชั้นในชาย ‘J.Press’ ก็ยังออกมาทำหน้ากากขาย

หรืออย่างแบรนด์แฟชั่นขวัญใจชาวจีนอย่าง ‘นารายา’ ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงเพราะนักท่องเที่ยวชาวจีนไม่มาไทย ก็หันมาผลิตหน้ากากผ้าเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีแบรนด์ Varithorn Boutique, KANAPOT, Smileyhound, PAINKILLER Atelier, CARNIVAL, erawon, Greyhound และ GQ GQWhite™ ที่น่าสนใจคือ นอกเหนือจากแบรนด์ผลิตเสื้อผ้าแฟชั่นแล้ว แบรนด์ที่ทำเครื่องนอนหรือเฟอร์นิเจอร์ก็เข้ามาทำตลาดนี้ด้วย อาทิ Dmask จากบริษัท ดี พีลโล 999 (ประเทศไทย) ที่เคยทำชุดเครื่องนอน หรืออย่างแบรนด์ pasaya ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องนอนเหมือนกัน

ราคาตั้งแต่หลักสิบไปถึงหลักร้อย

หลังจากที่เบนเข็มมาทำหน้ากากผ้า ทุกแบรนด์ต่างก็จัดเต็มพร้อมดึงเอาจุดเด่นในการออกแบบของแบรนด์ตัวเองมาบวกรวมกับเทคโนโลยี เพื่อสร้างมูลค่าและตัวตนให้กับสินค้าและผู้ใส่ ราคาจึงแตกต่างกันไปในแต่ละแบรนด์ ตั้งแต่หลักสิบจนถึงหลักร้อย อย่าง นารายาที่ขายชิ้นละ 50 บาท หรือสูงมาอีกนิดอย่าง GQ ที่ใช้เทคโนโลยี GQGuard สะท้อนหยดน้ำและละอองน้ำ และใช้เส้นใย Perma เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย 99.9% ในราคา 150 บาท บางรายก็สามารถใส่ฟีลเตอร์เพิ่มเติมได้อีก รวมถึงใช้ผ้าที่เป็นลวดลายสวยงามมาใช้เพื่อไม่ให้จำเจ

ลาย Limited ก็มา

แม้ว่าหน้ากากผ้าจะสามารถซักได้หลายครั้ง สามารถนำกลับมาใช้ได้หลายรอบ ดังนั้นผู้บริโภคแต่ละคนอาจไม่จำเป็นต้องซื้อเยอะ เลยกลายเป็นว่าสิ่งที่ดึงดูดใจในตอนนี้ไม่ใช่แค่ ‘คุณสมบัติ’ แต่ ‘ลวดลาย’ ก็กลายเป็นเรื่องสำคัญ อย่างโปรเจกต์พิเศษ ‘Co-with 19’ โดย เฟซบุ๊กเพจ GroundControl ด้วยการขายหน้ากากผ้ารุ่น Limited COVID Edition ที่ออกแบบโดยนักออกแบบ 19 คน ที่ได้แรงบันดาลใจจากเพลงของ 19 ศิลปิน เพื่อนำรายได้ทั้งหมดหลังหักค่าใช้จ่ายไปจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลที่ขาดแคลนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งก็ถูกจองหมดอย่างรวดเร็ว

ไม่ใช่แค่หน้ากาก แต่ลามไปยันหมวก

อย่างแบรนด์ N.E.D ไม่ได้ออกหน้ากากผ้าเหมือนใคร แต่ออกหมวกที่มาพร้อมหน้ากากใส ที่กันได้ทั้งแดด ฝุ่นละออง น้ำลายที่อาจจะเข้ามาสัมผัสกับใบหน้าของผู้สวมใส่ หรืออย่างแบรนด์ Issue อีกแบรนด์หน้ากากที่มาพร้อมกับหมวกสุดชิค

เรียกได้ว่า การที่แบรนด์แฟชั่นหรือแบรนด์อื่น ๆ ที่นำจุดแข็งของตัวเองมาประยุกต์ใช้ต่อยอดเป็นธุรกิจใหม่เพื่อให้เข้าสถานการณ์ ถือเป็นปรากฏการณ์และกรณีศึกษาอย่างดีที่อาจไม่ได้เห็นกันง่าย ๆ หากไม่เกิดวิกฤติ รวมถึงต้องยอมรับว่า ‘หน้ากากผ้า’ ไม่ได้ใส่เพื่อเพียงแค่ป้องกันเราจากเชื้อโรคอีกต่อไป แต่ได้กลายเป็น ‘เครื่องประดับ’ ที่แสดงถึงตัวตนชิ้นหนึ่งไปแล้ว

]]>
1272750
IKEA x GREYHOUND แบรนด์สตรีทแฟชั่นไทย ขอแปลงร่างสู่ “แบรนด์เฟอร์นิเจอร์” https://positioningmag.com/1234301 Thu, 13 Jun 2019 00:59:48 +0000 https://positioningmag.com/?p=1234301 ถึงจะยืนหยัดอย่างแข็งแรงมากว่า 75 ปี กับ 423 สาขาใน 52 ประเทศทั่วโลก มีดีไซเนอร์ที่ออกแบบเฟอร์นิเจอร์ได้เข้าถึงลูกค้าและสร้างตัวตนของแบรนด์ได้เป็นอย่างดี แต่ระยะเวลา 10 กว่าปีมานี้อิเกียก็ยังต้องมีการจับมือกับสตูดิโอข้างนอก ให้ออกแบบคอลเลคชั่นเฟอร์นิเจอร์ เพื่อสร้างความแปลกใหม่ให้กับแบรนด์

ที่ผ่านมาจับมือกับดีไซเนอร์หลายหลายมุมโลกมาแล้วทั้ง อินเดีย แอฟริกาใต้ อเมริกาใต้ จนมาถึงคอลเลคชั่นที่กำลังจะวางขายอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคมปี 2563 แบรนด์เฟอร์นิเจอร์สัญชาติสวีเดนได้เลือกให้เกรฮาวด์ ออริจินัลแบรนด์แฟชั่นจากเมืองไทย มาร่วม Collaborate ถือเป็นแบรนด์แรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สำหรับเกรฮาวด์ถือเป็นแบรนด์แฟชั่นเก่าแก่ของไทย โดย ภาณุ อิงคะวัต เป็นผู้ก่อตั้งมาในปี 2523 ต่อมาได้แตกขยายธุรกิจ เกรฮาวด์ คาเฟ่ ในปี 2541 ถือเป็นการขยายแบรนด์เกรฮาวด์จากแฟชั่นไปสู่ไลฟ์สไตล์แบรนด์ ปัจจุบันมัดแมน ถือหุ้น 100% ซึ่งใช้เงินกว่า 1,800 ล้านบาท ซื้อมาในปี 2557

ภายใต้แบรนด์เกรฮาวด์ได้ถูกแบ่งออกเป็น 3 แบรนด์ ได้แก่ ร้านอาหาร เกรฮาวด์ คาเฟ่ (Greyhound Café) มีทั้งหมด 16 สาขา, ร้านอาหาร เอนาเธอร์ฮาวด์ (Another-Hound Cafe) มี 3 สาขา, ร้านอาหาร กิน+เฮ (Kin+Hey) แบรนด์เสื้อผ้า เกรฮาวด์ ออริจินัล (Greyhound Original) และ สไมลี่ฮาวด์ (Smileyhound)

ดีลความร่วมมือนี้ไม่ได้เพิ่งเริ่มแต่มีมาแล้วกว่า 2 ปี ภาณุ อิงคะวัต ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์กลุ่มบริษัทเกรฮาวด์ เล่าว่า เมื่อปลายปี 2559 มีอีเมลจากอิเกีย สวีเดนส่งเข้ามาอยากร่วมมือกัน ตอนแรกคิดว่าของปลอม จนส่งมาครั้งที่สองจึงไปถามอิเกีย ประเทศไทย ซึ่งยืนยันว่าเป็นของจริง จึงได้มีความร่วมมือกันตั้งแต่นั้น

เชื่อว่าเหตุผลที่อิเกียสนใจเกรฮาวด์มาจากภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่เรียงมาตั้งแต่ชื่อที่มีความหมายว่าซนนิดๆ จึงชอบเอาของที่ง่ายมาเติมความสนุกและสร้างสรรค์ลงไป สมกับแนวคิดของแบรนด์ Basic with a twist หรือความธรรมดาที่ไม่ธรรมดา ทั้งเสื้อผ้า อาหารที่มีลูกเล่นตลอดเวลา และยังคุมโทนสีขาว ดำ เทา ซึ่งคล้ายกับจุดยืนของแบรนด์อิเกียที่เน้นความเรียบ โมเดิร์น

โปรเจกต์นี้ไม่ได้อยู่ในลักษณะของงานที่ทำซะทีเดียว เพราะเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ไม่ถนัดทางนี้โดยตรง แต่ด้วยความที่ชอบคิดค้นสิ่งใหม่ๆ อยู่แล้ว จึงรับทำในที่สุด

เป้าหมายของความร่วมมือนี้คือการออกแบบเฟอร์นิเจอร์เพื่อตอบโจทย์กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อาศัยอยู่ในเมืองซึ่งมีพื้นที่จำกัด แน่นอนสิ่งที่อิเกีย จะได้คือความเข้าใจในกลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งฐานลูกค้าหลักของเกรฮาวด์ ออริจินัลอายุ 18 – 35 ปีอยู่แล้ว

ในขณะที่ฝั่งเกรฮาวด์ก็จะสามารถสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์จากการร่วมมือกับแบรนด์ใหญ่ที่สำคัญคอลเลคชั่นนี้จะถูกวางขายไปทั่วโลกเป็นประโยชน์โดยตรงกับร้านอาหารที่มีสาขาอยู่ตามเมืองต่างๆ ในเอเซียรวม 17 สาขา เช่น ฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง สิงคโปร์ และ 1 สาขาที่เปิดตัวในยุโรปโดยมีสาขาแรกที่เมืองลอนดอน

“SAMMANKOPPLA/ซัมมันคอปล่า คือชื่อของสรรค์คอลเลคชั่นพิเศษนี้ โดยออกแบบไอเดียสบาย สบายซึ่งมาจากพฤติกรรมของคนไทยทั้งชอบนั่งกับพื้น ชอบสีสัน และชอบพลิกแพลง นำของที่พังแล้วมาซ่อมใหม่ ไม่เหมือนกับต่างประเทศที่จะทิ้งเลย

โดยมีสินค้าทั้งหมด 25 รายการ อาทิ พรมจากพลาสติกรีไซเคิลที่กลับใช้ได้ทั้งสองด้าน โต๊ะและชั้นวางของที่ได้แรงบันดาลใจจากนั่งร้านก่อสร้างที่เห็นอยู่กลาดเกลื่อนตามเมืองใหญ่ที่กำลังพัฒนา โคม ‘Container’ LED อุปกรณ์เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร หมอนอิงทรงสามเหลี่ยมของไทย เป็นต้น

สำหรับราคานั้น ลาเซีย เชอร์ล็อก รองผู้บริหารฝ่ายธุรกิจค้าปลีกอิเกียไทย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ กล่าวว่า ยังไม่ได้กำหนดเพราะสินค้ายังอยู่ในระหว่างการผลิตซึ่งแต่ละประเทศจะไปกำหนดเอง แต่ที่แน่ๆ จะเป็นราคาที่คนรุ่นใหม่เข้าถึงได้อย่างแน่นอน

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา ทั้งคู่ได้เผยถึงความร่วมมือกันอย่างเป็นทางการกับสื่อทั่วโลกในงาน Democratic Design Days ที่จัดขึ้น ณ เมืองเอล์มฮุลท์ (Älmhult) ประเทศสวีเดน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของอิเกียนั่นเอง ก่อนที่คอลเลคชั่นจะวางขายอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคม 2563 ไปจนถึงกุมภาพันธ์ 2564 พร้อมกันทั่วโลก

]]>
1234301
ไม่ง้อร้านสะดวกซื้อ “ไฮเนเก้น” ดีลิเวอรี่ปาร์ตี้เบียร์สดถึงบ้าน https://positioningmag.com/1146706 Tue, 14 Nov 2017 19:11:51 +0000 https://positioningmag.com/?p=1146706 แม้ “เบียร์สด” จะมีมูลค่า 1,500 ล้านบาท ถือเป็นสัดส่วนไม่มากเมื่อเทียบกับตลาดเบียร์โดยรวมที่มีมูลค่าสูงถึง 107,000 ล้านบาท แต่ด้วยตัวเลขเติบโตถึง 2 หลัก ยิ่งเป็นช่วงเทศกาลส่งท้ายปี ที่ถือเป็นช่วงขายของเบียร์ด้วยแล้ว ทำให้ค่ายเบียร์ต้องคิดหาช่องทางขายใหม่ๆ ไม่จำกัดเฉพาะร้านอาหาร ผับ บาร์ สถานบันเทิง และเทศกาลลานเบียร์

ที่สร้างความฮือฮาไปก่อนหน้านี้ คือ ค่ายเบียร์ ลีโอ และช้าง ใช้วิธีตั้งตู้ขายเบียร์สดขายในร้านสะดวกซื้อ แต่สร้างความฮือฮาได้พักเดียว ก็โดนกระแสต่อต้านจนต้องล้มเลิกไป

คราวนี้มาถึงคิวของ “ไฮเนเก้น” แก้โจทย์ใหม่ ไม่พึ่งช่องทางขายที่ไหน  แต่ใช้วิธี ดีลิเวอรี่”ส่งถึงบ้านลูกค้า ภายใต้แคมเปญ Heineken Open your celebration 2017” เรียกโปรเจกต์พิเศษนี้ว่า “Star Delivery Service” แทนที่จะขายเบียร์อย่างเดียว ยังพ่วงเอา เกรฮาวด์ คาเฟ่ พันธมิตรคู่ใจ เสิร์ฟเบียร์ไฮเนเก้นพร้อมกับแกล้มถึงบ้าน พร้อมกับอุปกรณ์ปาร์ตี้ถึงบ้าน ในรูปแบบปาร์ตี้ส่วนตัว (Private Party Provider)

แพ็กเกจขายเบียร์พ่วงอาหาร มี 3 ไซส์ 1.ขนาดกลาง (M) ราคา 6,500 บาท สำหรับ 8 – 10 คน 2.ขนาดใหญ่ (L) ราคา 8,900 บาท สำหรับ 10-12 คน และ 3.ขนาดใหญ่พิเศษ (XL) ราคา 10,500 บาท สำหรับ 15 คนขึ้นไป

ใช้รถที่ใช้ส่งเบียร์สดมี 3 คัน เป็นรถทรัก 1 คัน และจักรยานยนต์ 2 คัน ติดโลโก้ไฮเนเก้นเด่นชัด เรียกว่าสร้างแบรนด์ไปในตัว โดยเริ่มวันที่ 13 พ.ย. 60 – 31 ม.ค. 61 และส่งลูกค้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้น เนื่องจากมีข้อจำกัดจากสาขาของร้านอาหาร รับออเดอร์ต่อวันทำได้เต็มที่ 30-50 ออเดอร์

ภัททภาณี เอกะหิตานนท์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ผลิตภัณฑ์ไฮเนเก้นและสตรองโบว์ ในกลุ่มบริษัททีเอพี บอกว่า ไม่คาดหวัง “ยอดขาย” เพราะต้นทุนโดยรวมสูง และมีความเสี่ยงอุปกรณ์เบียร์สดที่นำไปเสิร์ฟลูกค้า แต่ต้องการเพิ่มช่องทางจำหน่ายใหม่ๆ และสร้างการจดจำแบรนด์

ด้วยขายรูปแบบนี้ เปิดให้สั่งเบียร์พร้อมอาหารได้ตลอดตั้งแต่ 10.00-22.00 น. โดยไม่ติดข้อกำหนดที่ให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ แค่ 2 ช่วง คือ11.00-14.00 กับ 17.00-24.00 ผู้บริหารระบุว่า ไม่ติดข้อกฎหมายแล้ว สร้างโอกาสในการดื่มเพิ่มขึ้น สอดรับกับเทรนด์ ดีลิเวอรี่” ที่กำลังได้รับความนิยมในเวลานี้ด้วย

งานนี้ต้องดูว่า กลยุทธ์ ดีลิเวอรี่”แก้โจทย์ช่องทางขายของ “ไฮเนเก้น” จะสร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆ ให้ตลาดเบียร์สดได้แค่ไหน ต้องลุ้น!.

]]>
1146706
‘มัดแมน’ รีโมเดล พลิกกลยุทธ์ ‘เกรฮาวด์’ กระชับพื้นที่แฟชั่น ต่อยอดธุรกิจไลเซ่นซิ่ง https://positioningmag.com/1129841 Mon, 19 Jun 2017 09:05:30 +0000 http://positioningmag.com/?p=1129841 มัดแมน (MM) พลิกกลยุทธ์แบรนด์ ‘เกรฮาวด์ ออริจินอล’ ปรับธุรกิจเสื้อผ้าให้กระชับรับมือแข่งขันที่เข้มข้น มุ่งเน้นร้านแฟล็กชิพ ปิดสาขาไม่ทำเงิน ขยายแบรนด์ Smileyhound ให้แมสขึ้น ต่อยอดธุรกิจ Licensing ไปสู่สินค้าใหม่ๆ เกรเกรฮาวด์ คาเฟ่ ไปสู่อังกฤษและยุโรปภายในปีนี้

แม้ว่า “เกรฮาวด์” จะแบรนด์แฟชั่นของไทย ที่สามารถยืนหยัดอยู่ในธุรกิจนี้มายาวนานมากกว่า 20 ปี แต่ต้องยอมรับว่า ธุรกิจแฟชั่นทุกวันนี้ แข่งขันกันอย่างดุเดือดเลือดพล่าน ตัวเลือกมีมากมายในตลาด ยิ่งในระยะหลังฟาสต์แฟชั่นจากต่างประเทศ ก็เข้ามาแย่งแชร์ในตลาดไปได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

greyhound cafe

ในขณะที่ธุรกิจร้านอาหาร “เกรฮาวด์ คาเฟ่” ยังทำรายได้ให้กับมัดแมนเป็นกอบเป็นกำ มีแฟนประจำที่เป็นคนรุ่นใหม่ วัยทำงาน ทั้งชาวไทยและต่างชาติ โอกาสขยายสาขายังมีอยู่มาก แต่ต้องดูแลและควบคุมคุณภาพอาหาร และรสชาติให้ดี

ดังนั้นจึงเป็นโจทย์ให้กับ “มัดแมน” ต้องมาวางกลยุทธ์ บาลานซ์การลงทุนให้เหมาะสม พร้อมกับมองหาโอกาสต่อยอดแบรนด์เกรฮาวด์ไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ นั่นก็คือที่มาของการที่ นาดิม ซาเวียร์ ซาลฮานี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มัดแมน จำกัด (มหาชน) ได้ออกมาระบุว่า ขณะนี้มัดแมนกำลังให้ความสำคัญกับแบรนด์เกรฮาวด์ที่มี Brand Equity หรือมูลค่าทางการค้าสูงให้เกิดประโยชน์ด้านธุรกิจมากขึ้น

นาดิม ซาเวียร์ ซาลฮานี

โดยพลิกการดำเนินงานของธุรกิจแฟชั่น (Turn Around) 1. เน้นพัฒนาสินค้าและร้านแฟล็กชิพ (Flagship) ให้โดดเด่นมากขึ้น 2. หันมาขยายแบรนด์ Smileyhound (สไมลี่ฮาวด์) ที่สร้างผลกำไรที่ดีอยู่แล้วให้เข้าสู่กลุ่มที่กว้างขึ้น 3. จะปิดสาขาที่ไม่ทำผลกำไรลงเพื่อลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น

นั่นหมายความว่า จำนวนสาขา ร้านเกรฮาวด์ และเพลย์ฮาวด์ ต้องลดลง หันมามุ่งเน้นเฉพาะสาขาหลักที่เป็นแฟล็กชิพ และให้น้ำหนักกับแบรนด์สไมลี่ฮาวด์ ที่จะเน้นดีไซน์ เรียบง่าย สวมใสได้ในหลายโอกาส ช่วงหลังได้รับความนิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ค่อนข้างมาก และเข้าถึงคนทั่วไปได้มากกว่า แบรนด์แม่ เกรฮาวด์ และเพลย์ฮาวด์ ที่จะมีความแฟชั่นมากกว่า

ขณะเดียวกัน จะปรับมุมมองธุรกิจต่อยอดแบรนด์ (Remodel) เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างผลกำไรใหม่ๆ ของแบรนด์เกรฮาวด์ เช่น Licensing Business ซึ่งเป็นอีกก้าวหนึ่งของแบรนด์แฟชั่นไทยอย่างเกรฮาวด์ ที่ยังไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์ด้านนี้ ในขณะที่แบรนด์ต่างประเทศทำกันอย่างกว้างขวางมาเป็นเวลานาน ซึ่งบริษัท เกรฮาวด์ ออริจินอล มีจุดเด่นเรื่องความคิดสร้างสรรค์อยู่แล้ว สามารถนำไปจับมือต่อยอดธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นโดยให้ใช้ชื่อแบรนด์เกรฮาวด์ต่อท้ายได้ด้วยเป็นต้น

ปัจจุบันมีลูกค้าที่อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อให้ออกแบบสินค้า 2-3 ราย คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ และสามารถขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต รวมถึงจะขยายสู่ความเป็น “ไลฟ์สไตล์แบรนด์” เต็มที่ โดยเฉพาะในตลาดที่กำลังหันมานิยมอาหารเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เช่น การเปิดตัวล่าสุดของ GH Life Juice น้ำผลไม้คั้นสดที่ออกวางจำหน่ายทั้งที่เกรฮาวด์ คาเฟ่ และร้านโอ บอง แปงทุกสาขาด้วย

ส่วนเกรฮาวด์ คาเฟ่ ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งได้ได้รับความนิยมอยู่แล้ว จะขยายสาขาในประเทศและภาคพื้นเอเชีย โดยในปีนี้มีแผนขยายสาขาที่ 2 ทั้งในมาเลเซียและสิงคโปร์ และจะเปิดตลาดใหม่ในอินโดนีเซีย และประเทศอังกฤษและภาคพื้นยุโรปต่อไป โดยจะเปิดบริการร้านแรกที่กรุงลอนดอนภายในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้

“เราเชื่อว่าการปรับกลยุทธ์ รีโมเดลเกรฮาวด์ครั้งนี้ จะได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มเป้าหมายและสามารถผลักดันความสามารถการทำกำไรที่ดีขึ้น ประกอบกับประสบการณ์ด้านสร้างสรรค์และพัฒนาธุรกิจที่มีมายาวนานจะสามารถร่วมมือกับพันธมิตรใหม่ๆ สร้างสรรค์แนวคิดและออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะนำมาต่อยอดขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่องในอนาคตอย่างแน่นอน” นายซาลฮานี กล่าว

ปัจจุบัน มัดแมน มีธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม และธุรกิจจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์ แบ่งเป็น ร้านที่เป็นมาสเตอร์แฟรนไชส์ต่างประเทศ 3 แบรนด์ คือ ดังกิ้นโดนัท 307 สาขา โอบองแปง 72 สาขา บาสกิ้น ร็อบบิ้นส์ 34 สาขา และร้านที่เป็นแบรนด์ของตัวเอง ได้แก่ เกรฮาวด์ คาเฟ่ เน้นเจาะกลุ่มนักศึกษาและคนทำงานที่มีรายได้ปานกลางถึงสูง มีสาขาทั้งไทยและต่างประเทศ จำนวน 28 สาขา ครัวเอ็ม (คาเฟทีเรียในโรงพยาบาล) 1 สาขา และร้านจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์ (เสื้อผ้าและเครื่องประดับ) เกรฮาวด์ 14 สาขา

]]>
1129841
ซิตี้แบงก์ และ Greyhound Café เอาใจผู้ชื่นชอบปลาแซลมอน https://positioningmag.com/48293 Fri, 26 Jun 2009 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=48293

วรลักษณ์ ตุลาภรณ์ (ขวาสุด) ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจบัตรเครดิต ธนาคารซิตี้แบงก์ จับมือ พรศิริ โรจน์เมธา (ซ้ายสุด) กรรมการผู้จัดการร้าน Greyhound Cafe และ รัตนาวลี โลหารชุน (ที่ 2 จากขวา) ผู้อำนวยการ ฝ่ายบริหารตราผลิตภัณฑ์และสื่อสาร การพาณิชย์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมเปิดตัวแคมเปญ “Norwegian Salmon cooked in Greyhound Cafe style by Citibank” ชวนชิมเมนูเด็ดที่ได้วัตถุดิบชั้นเยี่ยม อาทิปลาแซลมอน และ ชีสนานาชนิด ที่อิมพอร์ตมาจากประเทศนอร์เวย์มารังสรรค์เมนูในสไตล์คนไทยให้สมาชิกบัตรฯ ได้ร่วมสัมผัสรสชาติลิ้มลองความอร่อยที่ร้าน Greyhound Caf? และ Another Hound Cafe ด้วยส่วนลดสุดเอ็กซ์คลูซีฟถึง 10% และเมื่อชำระค่าอาหารผ่านบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ แพลตตินั่ม และบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ทองเมื่อรับประทานอาหารครบ 1,000 บาท พร้อมร่วมลุ้นรางวัลใหญ่ บินไป – กลับ กรุงเทพฯ – ออสโล กับการบินไทย พร้อมที่พักจาก โรงแรม Best Western Kampen Oslo จำนวน 4 วัน 3 คืน รวมมูลค่ากว่า 300,000 บาท พร้อมรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย ตั้งแต่วันที่ 22 มิ.ย. – 31 ส.ค. นี้

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ร้าน Greyhound Cafe ทุกสาขา หรือร้าน Another Hound Cafe หรือ ซิตี้โฟนแบงก์กิ้ง โทร. 1588 ตลอด 24 ชั่วโมง

]]>
48293
จิตต์สิงห์ สมบุญ แฟชั่นดีไซเนอร์ https://positioningmag.com/9290 Sun, 05 Nov 2006 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=9290

เขาอาจจะเป็น แฟชั่นดีไซเนอร์ ที่ไม่รู้เรื่องของ “แพตเทิร์น” หรือการตัดเย็บ แต่เขามีอีกด้านที่ดีไซเนอร์ส่วนใหญ่ไม่มี นั่นคือ งานศิลปะ ที่เขาสามารถผสมผสานงานทั้งสองด้านได้อย่างลงตัว

ผลงานด้านจิตรกรรมของเขาก็ไม่เป็นรองใคร ได้ชื่อว่าเป็นศิลปินชั้นแถวหน้า กวาดรางวัลมามากมาย เช่นเดียวกับ 10 กว่าปีของการเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ ให้กับ Greyhound และยังบุกเบิกแบรนด์ Playhound ให้ออกมาท้าทายตลาดแฟชั่นวัยรุ่น ได้อย่างที่ใครก็มองข้ามไม่ได้

การเปิดกว้าง และเรียนรู้ ตลอดเวลานี้เอง คือคุณสมบัติของเขา

คำว่า สุดยอดดีไซเนอร์ หรือศิลปินเบอร์ 1 จึงไม่ใช่จุดหมายปลายทางของจิตต์สิงห์มากเท่ากับการเลือกทำทุกอย่างที่อยากทำ ไม่แปลกที่เขาจะบอกว่า อยากเป็น “เป็ด” ที่ดีที่สุด

ผมหยิกยาวสลวย ของชายร่างผอมสูง ในชุดเสื้อยืดขาว กางเกงยีนส์สีขาว รองเท้าทรงแหลม ถ้าเป็นสาวกของ Greyhound ก็จะรู้ทันทีว่าเสื้อผ้าที่เขาสวมใส่อยู่นี้เป็นของยี่ห้ออะไร เป็นภาพสะท้อนที่เป็นส่วนผสมระหว่างการทำงานเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ และศิลปินด้านจิตรกรรม ของชายผู้นี้ได้เป็นอย่างดี

“ผมทำงานศิลปะ และผมก็อยู่วงการแฟชั่น งานทั้งสองด้านมันเอื้อต่อกัน ไปด้วยกันได้ ยิ่งในช่วงนี้ด้วยแล้ว แฟชั่นที่พ่วงงานศิลปะเข้าไปได้ มันฮิตเหลือเกิน”

พื้นฐานของจิตต์สิงห์ เริ่มต้นมาจากความชอบงานด้านศิลปะมาตั้งแต่วัยเด็ก จากการเขียนภาพเลียนแบบการ์ตูนญี่ปุ่นเล่นยามว่าง จนสามารถหารายได้ และนำไปสู่การเลือกเรียนด้านศิลปะ ในวิทยาลัยช่างศิลป์ และก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยศิลปากร เรียนจบจากคณะจิตรกรรมมาพร้อมกับการคว้ารางวัลชนะเลิศ จากธนาคาร กสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพฯ และปิโตรเลียม เป็นบทพิสูจน์ฝีมืองานด้านศิลปะของเขาเป็นอย่างดี

เขา เลือกเส้นทางชีวิตการทำงาน ด้วยการเป็นฟรีแลนซ์ รับทำงานให้กับเอเยนซี่โฆษณาหลายแห่ง ซึ่งทำให้เขามีรายได้ ซื้อรถ กินเที่ยว ตามที่ใจอยากทำ จนอายุ 27 ปี เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ

“พอดีมาเจอกับรุ่นพี่ ที่คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ทำงานเป็นดีไซเนอร์อยู่ที่เกรย์ฮาว เขาเห็นผมมาตั้งแต่เรียน อยู่ในกลุ่มชอบแต่งตัว คือ ไม่เหมือนใคร เขาเรียกว่า กลุ่มบูติก” จิตต์สิงห์เล่าถึงที่มาของการ “หลุด” ไปสู่เส้นทางของแฟชั่น

จิตต์สิงห์ บอกว่า วิธีคิดที่เขาใช้มาตลอดตั้งแต่เด็ก คือ มีอะไรน่าสนใจจะเข้าไปทำ ซึ่งเป็นที่มาของการตัดสินใจยื่นใบสมัครไปเป็นดีไซเนอร์ให้กับเกรย์ฮาว ซึ่งเวลานั้นถือว่าเป็นอาชีพที่แตกต่างไปจากคนรุ่นเดียวกันค่อนข้างมาก

“คุณภาณุ (อิงควัต) ก็งงๆ กับผม ว่ามันจะออกแบบได้หรือเปล่า เพราะนอกจากผมแล้ว มีอีกคนที่มาสมัครด้วย ซึ่งเวลานี้เป็นดีไซเนอร์อยู่ที่จัสปาล เขาก็มาเป็นตัวเลือกด้วย ซึ่งเขาทำเสื้ออยู่แล้ว ในขณะที่ผมไม่มีพื้นด้านนี้…แต่งตัวมาอย่างเดียวเลย”

สิ่งที่เขานำมาทดแทนความรู้ด้านเสื้อผ้า คือความรู้ด้านศิลปะ ที่เขามักสอดแทรกเข้าไปในการออกแบบเสื้อผ้า บวกกับอาศัยมุมมองของตัวเอง และพื้นฐานความชอบในการแต่งตัว

“ผมทำเสื้อไม่เป็น แต่ผมจะรู้ว่าผมชอบเพราะอะไร เช่นว่า กางเกงตัวนี้ถ้าทำให้ขาด หรือ ซีด น่าจะดีกว่า เหมือนกับตอนเด็กๆ ด้วยความที่ไม่มีสตางค์ซื้อ ผมหยิบกางเกงพ่อมา เอามาใส่ หรือเอามาแก้ บางทีถึงขั้นเอาเสื้อแม่มาทำใหม่”

สไตล์ของเสื้อก็มีส่วนสำคัญ “อย่าลืมว่าผมทำเสื้อผ้าผู้ชาย แม้จะดูแลเสื้อผ้าผู้หญิงด้วย แต่ก็จะเป็น Street Ware รากฐานเสื้อผ้าเกรย์ฮาวเป็น Street Ware มันจะไม่ใช่เสื้อแบบ โอทกูตูร์ หรือจะเป็นเสื้อที่ต้องใช้ลีลาในการสร้างแพตเทิร์นมากมาย”

แม้จะไม่ใช่อุปสรรคขัดขวางเส้นทางของการเป็นดีไซเนอร์ ที่จิตต์สิงห์เปรียบตัวเองไม่ต่างไปจากผู้รับเหมา ที่ไม่จำเป็นต้องตอกตะปูได้ แต่ก็สร้างบ้านได้

“ถามว่า ควรจะเรียนรู้มั้ย…จริงๆ แล้ว ควร แต่ทุกวันนี้ผมยังทำแพตเทิร์นไม่เป็นเลย เพราะผมไม่ได้อยากเป็นช่างตัดเสื้อ ผมอาจจะเป็นคนกรุ๊ปปิ้งที่ดี หรือเป็นสไตลิ่งที่ดี หรืออาจรู้จักเสื้อด้วยตัวของมัน
แต่ใช่ว่าเขาจะไม่เจอปัญหา

“ช่างตัดเสื้อเขาไม่เชื่อคุณ เขาเชื่อมั่นตัวเองมาก ผมไม่ได้จบมาจากไหน แต่ผมก็มีวิธีของผม เนื่องจากผมได้ความรู้จากเสื้อเก่า ซื้อเสื้อที่สนามหลวง จตุจักร ถึงจะปฏิบัติไม่เป็น แต่มันอ้างอิงได้”

ในทางตรงกันข้าม การไม่รู้แพตเทิร์น หรือการตัดเย็บ ทำให้ความเป็นดีไซเนอร์ของเขาไม่ถูกตีกรอบ ยกตัวอย่าง ไอเดียในการทำเสื้อเชิ้ตไม่มีรอยเย็บ ก็มาจากความคิดที่ไร้กรอบของเขา

ด้วยการ “โกอินเตอร์” ของเกรย์ฮาว ทำให้จิตต์สิงห์ เรียนรู้ติดตาม Trend แฟชั่นใหม่ๆ เพื่อออกแบบล่วงหน้าเป็นปี ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้พลังงานสูง

“เพราะเราไม่ได้ก๊อบปี้ เราพยายามหาคาแร็กเตอร์ และหาคอนเซ็ปต์มา เพื่อที่จะทำงานมากกว่าเมืองนอก การเรียนรู้ และปรับใช้ให้พอดีได้อย่างไร ตรงนี้สำคัญ โลกหมุนไปทุกวัน และต้องยอมรับว่า เราก็ไม่สำเร็จ มีเงื่อนไขอื่นเข้ามา”

จตุจักร ห้องสมุดอันกว้างใหญ่ ที่เขาต้องไปประจำทุกสัปดาห์ ติดต่อกันมาหลายปีจนถึงทุกวันนี้

“ผมเรียนรู้จากเสื้อผ้าเก่า ไปดูคน ทำตัว ทำผม ทำหน้า ทำตา เสื้อผ้า… จตุจักรมีทั้งอินดี้ และความดิบ เห็นเนื้อแท้ของพวกเขา บางทีได้เจอรองเท้า แว่นตา รูปภาพ โต๊ะ บางทีเป็นสังคมใหม่ จากคนไทยนี่แหละ”

คุณสมบัติที่สำคัญของจิตต์สิงห์ คือ การเป็นคนเปิดกว้างรับสิ่งต่างๆ ไม่ว่าชอบหรือไม่ชอบ ได้ตลอดเวลา โดยที่รู้จักกลั่นกรองและนำมาใช้

ด้วยความเป็นคนเช่นนี้เอง เป้าหมายของเขาจึงไม่ใช่ศิลปิน หรือนักออกแบบเสื้อที่ดีที่สุด แต่สำหรับเขา คือการที่ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ

“ผมเปิดรับหมด มีเพื่อนมาให้ออกแบบเฟอร์นิเจอร์ผมก็ไปทำ เพราะเส้นชัยมันถูกเลื่อนไปเรื่อยๆ ผมเป็นโรคชอบทำอะไรหลายๆ อย่างอยู่แล้ว ยุคนี้อาจเป็นยุคของเป็ดก็ได้ ที่การทำอะไรหลายๆ อย่างเป็นสิ่งที่ดีกับตัวเอง แทนที่จะเก่งอยู่อย่างเดียว แต่ไม่รู้ดีหรือเปล่า”

การใช้ชีวิตของจิตต์สิงห์ทุกวันนี้ นอกจากเลิกเหล้า บุหรี่ เที่ยวกลางคืนแล้ว เขายังใช้เวลาไปกับการออกกำลังกายด้วยการต่อยมวย ควบคู่ไปกับการเป็นดีไซเนอร์แฟชั่น และศิลปินวาดภาพ และพร้อมจะเริ่มทำงานกับสิ่งใหม่ๆ หากอยู่ในความสนใจของเขา

“คนเราต้องมีความสุขด้านอื่นด้วย ไม่ใช่งานอย่างเดียว” นี่คือวิธีคิดของจิตต์สิงห์ ดีไซเนอร์วัย 45 ปี ที่ผสมผสานชีวิตการทำงานกับส่วนตัวกับครอบครัวให้ลงตัวมากที่สุด

Profile

Name : จิตต์สิงห์ สมบุญ
Age : 44 ปี
Education :
– คณะจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์และภาพไทย สาขาจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร
– วิทยาลัยช่างศิลป์
– โรงเรียนเทพศิรินทร์
Career Highlights :
งานด้านแฟชั่นดีไซน์
– ปัจจุบัน – Head of Design เสื้อผ้าแบรนด์ Playhound ในเครือบริษัทเกรฮาวด์
– 2546 บรรณาธิการฝ่ายแฟชั่น บริษัทโพเอม่า จำกัด (นิตยสารฟรอนท์)
– 2541 ที่ปรึกษาด้านการออกแบบ บริษัท เทคนา จำกัด
– 2535 ที่ปรึกษาด้านศิลปกรรม บริษัท แปลน พับลิชิ่ง จำกัด
– 2531-2546 ออกแบบเสื้อผ้าชาย บริษัทเกรฮาวด์
งานศิลปกรรม
– 2524-ปัจจุบัน ร่วมแสดงงานศิลปกรรมมาโดยตลอด ล่าสุด คือ งาน Drawing to Thai Artists และงาน อยู่เย็นเป็นสุข จัดโดยนิตยสารดิฉัน
Status : แต่งงาน
Life Style :
– สถานที่ต้องไปประจำ – ไปสวนจตุจักร ทุกวันเสาร์ เพื่อดูคน เสื้อผ้า และของเก่า และปีนี้เพิ่มรัชดาไนท์พลาซ่า อีกแห่ง
– ออกกำลังกาย – มวยไทย
– ของสะสม – แว่นตา รุ่นที่ชื่นชอบ ยี่ห้อเรย์แบนด์ กระจกบอชแอนด์ลอม, Cool-ray,
– รถยนต์ – ดัทสัน แฟร์เลดี้ (Fairlady 280 Z ปี 1979)
– โทรศัพท์มือถือ – โนเกีย

]]>
9290
25 ปี เกรย์ฮาว “เราขายสไตล์ ไม่ใช่แฟชั่น” https://positioningmag.com/9150 Thu, 05 Oct 2006 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=9150

“แบรนด์เกรย์ฮาว เป็น สไตล์ มากกว่าเป็นแฟชั่นแบรนด์ หรือฟู้ดแบรนด์ เพราะคำว่า สไตล์ มันกว้าง พรุ่งนี้ผมอาจมีเครื่องสำอาง มีเฟอร์นิเจอร์ก็ได้”

ไม่เพียงสร้างชื่อในแวดวงโฆษณาให้รุ่นหลังๆ ได้จดจำมาแล้ว “ภาณุ อิงควัติ” ยังได้สร้างตำนาน “เกรย์ฮาว” ให้ยืนหยัดอยู่ในธุรกิจแฟชั่นมายาวนานถึง 20 ปี และยังแตกแบรนด์ ตอบสนองลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ

ภาณุ บอกว่า ผลงานเหล่านี้ เริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยเรียนกราฟิกดีไซน์ อยู่ที่ประเทศอังกฤษ เขาพบว่า สิ่งที่เขาชื่นชอบมี 3 อย่าง คือ ดูภาพยนตร์โฆษณา เพราะสนุก ตลก มีอะไรให้ติดตามตลอดเวลา สอง-ติดตาม แฟชั่น เพราะชอบช้อปปิ้ง และสาม-นั่งตามร้านกาแฟ เพื่อดูผู้คน มีสีสัน มีเรื่องราว สนุกสนาน ที่เวียนมาให้ดู

ความชอบเหล่านี้ ถูกแปรมาเป็น “อาชีพ” แทนที่จะทำงานด้าน “กราฟิกดีไซน์” ตามที่เรียนมา ภาณุ เลือกเส้นทางโฆษณา ที่สามารถตอบสนองทั้งความมั่นคง และให้ความรู้ใหม่ๆ กับเขา โดยเฉพาะเรื่องการตลาด การสร้างแบรนด์ ซึ่งนำมาใช้กับธุรกิจแฟชั่น ที่ภาณุได้ลงขันกับเพื่อนเปิดร้านเกรย์ฮาว หลังจากทำงานในธุรกิจโฆษณามาได้เพียงปีเดียว

20 ปี แห่งความสำเร็จความเกรย์ฮาว ทำให้ภาณุได้ข้อสรุปว่า ไม่ใช่เรื่องของงานออกแบบ หรือความคิดสร้างสรรค์ แต่เป็นเรื่องราวของ “ธุรกิจแฟชั่น” ที่ต้องมีเงื่อนไขทางการตลาด การสร้างแบรนด์เข้ามาเกี่ยวข้อง

ไม่ใช่แฟชั่น แต่เป็นการสร้าง “สไตล์”

ความสำเร็จของเขาทุกวันนี้ มาจากทัศนคติในการทำงานต้องทำด้วยความรัก ความหลงใหล เสน่หา เพราะจะส่งผลให้เกิดแรงกระตุ้นในการคิด การพัฒนา และปรับปรุงสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา

เมื่อลงมือศึกษาธุรกิจแฟชั่นอย่างถ่องแท้ ในที่สุดภาณุก็ได้คำตอบว่า การทำธุรกิจแฟชั่นไม่จำเป็นต้องเป็นดีไซเนอร์ หรือนักออกแบบ หรือต้องลงมือสร้างแพตเทิร์นเอง เพราะ ธุรกิจนี้สิ่งสำคัญอยู่ที่การสร้าง“สไตล์”

“แบรนด์เกรย์ฮาว เป็นเรื่องของสไตล์มากกว่าเป็นแฟชั่นแบรนด์ หรือฟู้ดแบรนด์ เพราะคำว่า สไตล์ มันกว้าง เราไม่ได้เป็นห้องเสื้อ ไม่ได้เป็นร้านอาหาร พรุ่งนี้ผมอาจมีเครื่องสำอาง มีเฟอร์นิเจอร์ นี่คือ สิ่งที่ผมนำเสนอได้ดีที่สุด”

ความรัก และทุ่มเท มีสไตล์ที่เป็นแบบฉบับของตัวเองแล้ว ไม่เพียงแต่ทำให้เขาสามารถสร้างแบรนด์ “เกรย์ฮาว์” ให้เป็นที่รู้จักในตลาดไทยเท่านั้น แต่ยังสร้างแบรนด์เกรย์ฮาวสู่ตลาดโลกได้ ซึ่งการไปถึงจุดนั้นได้จะต้องรู้จักตัวเอง และรู้จักกลุ่มเป้าหมาย

รู้จักตัวเอง คือ การรู้ว่าสไตล์ที่ถนัดและชอบคืออะไร ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจของตัวเอง หรือการทำงานใดก็ตาม ต้องศึกษา สไตล์ของบริษัทนั้นให้ดี และที่สำคัญ ทำแล้วต้องสนุก เพื่อทุ่มเทได้เต็มที่ ซึ่งข้อสรุปนี้ เขาได้มาจากความล้มเหลวของ “เกรย์ฮาว” ในอดีต 10 ปีที่แล้ว จากการผันตัวเองไปทำแบบเสื้อสไตล์ญี่ปุ่น เพื่อต้องการตามกระแสของแฟชั่นช่วงนั้น ผลปรากฏว่าล้มเหลวไม่เป็นท่า

“ต้องหาเอกลักษณ์ที่แตกต่างชัดเจน ดีไซน์ของเกรย์ฮาวจะเป็น แคทช่วล ไม่ว่าไปงานหรูขนาดไหน ผมไม่ต้องให้ลูกค้ากริ๊บเหมือนเดินออกมาจาก แฟชั่น แค็ตตาล็อก”

การสร้างสไตล์ที่เป็นแบบฉบับเฉพาะตัว ยังเป็นกุญแจสำคัญที่สร้างให้แบรนด์เกรย์ฮาวยืนหยัดมาได้ 25 ปี และยังแตกแบรนด์น้องใหม่อีก 3 แบรนด์ แม้ว่าจะมีคู่แข่งเกิดขึ้นมากมายเพียงใดก็ตาม

เมื่อรู้จักตัวเองแล้ว ก็ต้องรู้จัก “กลุ่มเป้าหมาย” ไม่ใช่รู้แค่ว่าเป็นผู้ชาย ผู้หญิง แต่ต้องรู้อายุ อาชีพ รวมถึงรายละเอียดของการใช้ชีวิต
หลักคิดในการทำตลาดสินค้าแฟชั่นของภาณุ ไม่ต่างไปจากการทำตลาดสินค้าทั่วไป ซึ่งต้องมีการศึกษาลูกค้าอย่างถ่องแท้ ศึกษาจุดอ่อน และจุดแข็งของคู่แข่ง เพื่อนำมาใช้วาง Product Positioning

ลูกค้าที่ทำงานธนาคาร หรือรับราชการ ใช้ชีวิตไม่เหมือนกับคนทำงานในวงการศิลปะ ซึ่งหมายถึงเป็นลูกค้าเป้าหมายของเกรย์ฮาว ต้องรู้ว่า มีรายได้เท่าไหร่ และไลฟ์สไตล์เป็นอย่างไร ทำงานแล้วไปไหน ออกกำลังกาย หรือเที่ยวที่ไหน เพราะข้อมูลเหล่านี้มีผลต่อการออกแบบ คอลเลกชั่นเสื้อผ้า รวมถึงทำเลในการเปิดช็อป

ถ้าเปรียบกับทฤษฎีการตลาดแล้ว ไม่ต่างไปจากการสร้างจิตวิญญาณ “แบรนด์”

“ต้องชัดเจนว่าสไตล์เป็นอะไร จะเป็นแคชชวล หรือสปอร์ต โดยเฉพาะ ถ้าเปิดร้านใหม่ๆ อย่าหลายใจ เพราะว่าลูกค้าอยากได้ความชัดเจน ไม่เช่นนั้นเขาจะสับสน”

ภาณุ ยกตัวอย่างของกรณีแบรนด์ Greyhound ที่แม้จะอยู่ในตลาดมาได้ยาวนาน 25 ปี แต่เมื่อทำไปได้จุดหนึ่งลูกค้าก็เริ่มรู้สึกสับสน จนเป็นที่มาของการแตกแบรนด์ใหม่ Playhound

“เราเริ่มแบรนด์ Greyhound มาจากการทำเสื้อผ้าตามตัวเราเอง คือ เป็นกางเกงยีนส์ เสื้อยืด ง่ายๆ แต่พอเราอายุมากขึ้น เราต้องการเสื้อขาวไปประชุม ต้องมีแจ็กเกต พอทำไปแล้ว เรารู้สึกว่าลูกค้าเริ่มสับสน คนมีอายุ บอกว่าไม่ใช่แบรนด์ฉัน เด็กๆ ก็มาบอกนี่ไม่ใช่แบรนด์ฉัน เพราะมันไม่ชัดเจน”

แบรนด์ Playhound ถูกสร้างขึ้นโดยวาง Positioning ไว้ชัดเจน จับกลุ่มเป้าหมายที่อายุระหว่าง 20-28 ปี มหาวิทยาลัยปีสุดท้าย หรือเริ่มทำงาน เป็นคนโสด หรือถ้ามีแฟนก็เป็นประเภทที่มีหลายคน เป็นคนห่วงภาพลักษณ์ ไม่ได้เป็นหนอนหนังสือ สนุกกับการช้อปปิ้ง อยู่ในแวดวงศิลปะ ติดตามเทรนด์ใหม่ๆ ดูหนังฟังเพลง เรื่องสนุกกับ แฟชั่น แต่ไม่ต้องบ้าแฟชั่น ขับรถมินิ โฟล์ค

“ถามว่า กลุ่มเป้าหมาย แคบมั้ย…แคบ แต่ก็เป็นช่องว่างในตลาด เป็นคนที่มองมองหาสไตล์ก่อนราคา และคุณภาพ เป็นคนสนุกกับการใช้ชีวิต ยังไม่บ้างานมาก ชอบเที่ยวต่างจังหวัด คอลเลกชั่นของเราต้องมีขาสั้นเยอะ เป็นคนเที่ยวกลางคืนแน่ๆ ต้องมีชุดออกไปโชว์ ออกงานได้”

ข้อมูลผู้บริโภคเหล่านี้ ถูกนำมาใช้ในการออกคอลเลกชั่นใหม่ๆ ของแบรนด์ Playhond ซึ่งทุกคอลเลกชั่นจะมีเรื่องราวของการทดลองศิลปะ มีความสนุกสนาน เขายกตัวอย่าง คอลเลกชั่นปัจจุบัน ที่นำกระดาษมาเป็นวัตถุดิบร่วม ยิ่งซักไปเรื่อยๆ กระดาษจะยิ่งเปลี่ยนรูปไปเรื่อยๆ เหมือนกับได้สวมใส่เสื้อผ้าใหม่ใส่ทุกวัน

สร้างคอลเลกชั่น

กว่าจะได้แต่ละ “คอลเลกชั่น” ทีมงานต้องทำการบ้าน เสาะแสวงหาหาข้อมูล ดูนิทรรศการ อ่านหนังสือ เที่ยวผับ จากนั้นจึงนำกลับมาแชร์ข้อมูล เพื่อนำสร้างเป็นคอนเซ็ปต์สไตล์

เขายกตัวอย่าง คอลเลกชั่น “โอเรียลตัล เอ็กซเพรสของ เกรย์ฮาว ที่วางขายอยู่ในเวลานี้ ได้มาจากแรงบันดาลใจในการท่องเที่ยวอินเดียตอนเหนือ ซึ่งใช่ว่าจะนำมาใช้ได้ทั้งหมด ต้องประยุกต์ให้เหมาะกับสไตล์ของเกรย์ฮาว

“ถ้าเราจะทำเสื้อผ้าสไตล์แขก เราจะทำแขกเต็ม 100% ไม่ได้ เพราะเรามีสไตล์ของเราอยู่ในนั้น โจทย์ คือ ทำอย่างไรให้มีความเป็นโมเดิร์นให้ได้”

ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของฝรั่งในเมืองอินเดียเหนือคือคำตอบ ที่ถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมของการสร้างคอลเลกชั่น

“ชีวิตในบ้านฝรั่งในอินเดียเหนือ เขามีบัทเลอร์ประจำบ้านแต่งตัวยังไง มีคนขับรถ มีอุปกรณ์ของตกแต่ง เครื่องใช้ไม้สอย กระดุม ถ้าไปเที่ยวจะแต่งตัวอย่างไร ไปเอาเสื้อเก่าของอินเดียมาดูว่าเขาย้อมสียังไง มีความด่างยังไง ผ้าพื้นเมืองของเขามีเทคนิคอย่างไร”

ข้อมูลเหล่านี้ถูกแปรเป็นเทคนิคที่ใช้ในการทำคอนเซ็ปต์บุ๊ก ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นแผนที่ ใช้ในการสร้างคอลเลกชั่นในการทำงานตลอด 6 เดือน เปรียบเสมือนเป็น “ไบเบิล” เพื่อไม่ให้หลุดไปจากคอนเซ็ปต์

แม้จะต้องสร้าง “คอลเลกชั่น” ใหม่ๆ ตลอดเวลา แต่ต้องไม่ทิ้ง “ลุค”เก่า ที่เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ เช่น “กอมเด กักซอง” จะมีกางเกงทรงเดิมปนอยู่ทุกคอลเลกชั่น หรือ Prada ที่ต้องมีกระเป๋าพลาสติกอยู่ด้วยตลอดเวลาไม่ว่าจะเปลี่ยนไปกี่คอลเลกชั่นแล้วก็ตาม

ภาณุ เชื่อเสมอว่า การเป็นดีไซเนอร์ หรือครีเอทีฟที่ดี ต้องเป็นคนช่างสังเกต มองเห็นการเปลี่ยนแปลง การใช้ชีวิตของลูกค้า รู้ทันว่าโลกเขาทำอะไรกันอยู่ ศิลปินคนไหนกำลังดัง

“ลูกค้าซื้ออะไรน้อยลง หรือมากขึ้น สังเกต ใส่ใจรายละเอียด ทั้งของเราเองและของคู่แข่ง ดูว่า ดีกว่าเรายังไง ต้องรู้จัก Buyer คือ คนที่มาซื้อเสื้อผ้าของคุณไปขายในร้านของเขา จะเห็นเลยว่า Buyer ที่เป็นญี่ปุ่น เขาไม่ได้ดูเสื้อผ้าสวยหรือเปล่า แต่เขาจะดูละเอียด ตะเข็บเป็นยังไง กุ๊นหรือไม่กุ๊น

รายละเอียดเหล่านี้ คือสิ่งที่ทำให้เกิดแตกต่าง ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญของดีไซเนอร์ แน่นอนว่า คนเหล่านี้ต้องมีจินตนาการ แต่ที่จะขาดไม่ได้ ต้องนักปฏิบัติด้วย เพื่อทำให้ฝันให้เป็นจริง

“ผมพูดกับดีไซเนอร์ในออฟฟิศเลยว่า ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะออกแบบชุดเจ้าสาวที่สวยที่สุดในโลก แต่เสร็จหลังวันวิวาห์”
ความเป็นนักแก้ปัญหา ที่สามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เป็นอีกคุณสมบัติที่ดีไซเนอร์ต้องมี และต้องมาควบคู่กับการเป็นนักวางแผน ที่ต้องทำงานอย่างเป็นระบบ มีวินัย

“ใครคิดว่า ศิลปินต้องเละเทะ เป็นคนไม่มีระเบียบ คิดใหม่เลยนะครับ อาร์ตทิสรุ่นใหม่ต้องเป็นคนมีระบบ เพราะเราทำตลาดกับต่างประเทศ”

ความมีวินัย และทำงานเป็นระบบ ส่งผลไปถึงการก้าวไปสู่การทำธุรกิจแบบ “โกอินเตอร์” ซึ่งการเข้าสู่แฟชั่นโลกนั้น จำเป็นต้องมีช่วงเวลาที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน

“เวลานี้เราเตรียมตัวสำหรับฤดูใบไม้ร่วงแล้ว ซึ่งหมายถึงว่า เราต้องทำงานล่วงหน้า 12 เดือน เพราะในตลาดแฟชั่นโลก เขาจะมีระบบขายผ้า 8 เดือนล่วงหน้า จากนั้น ต้องนำสินค้าไปขายในงาน เทรดแฟร์ เขาจะให้เวลา 3 เดือน ผลิตสินค้าตัวอย่าง รับออเดอร์ ถึงจะวางขายได้ ทุกอย่างมันเป็นระบบ”

สรุปสุดท้ายของการอยู่ในธุรกิจแฟชั่น การมีความรักในการแต่งตัวเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเรียนรู้รูปแบบของธุรกิจ ติดตาม Trend ใหม่ และที่สำคัญต้องมองให้เป็นธุรกิจ

“การทำธุรกิจแฟชั่นหนักหนากว่าการแต่งตัวสวยๆ มาก ยังมีผ้าในสต็อกต้องแบกรับ ต้องไปขาย มีพนักงานในบริษัทที่ต้องรับผิดชอบ ดูแลให้เงินเดือน มันมากกว่าการที่เราแต่งตัวสวยๆ วันต่อวัน”

ทั้งหมดนี้ คือ ประสบการณ์ในโลกธุรกิจแฟชั่นของ “ภาณุ อิงควัติ” กับการขายสไตล์ ไม่ได้ขายแฟชั่น

4 แบรนด์

Greyhound ถือกำเนิดขึ้นในปี 2523 เริ่มจากเสื้อผ้าชายก่อน ถัดจากนั้นอีก 5-6 ปีจึงเพิ่มเสื้อผ้าผู้หญิง เกรย์ฮาววาง Positioning ชัดเจนว่าเป็นเสื้อผ้าเรียบง่าย มีกลิ่นอายของแฟชั่นบ้าง เน้นกลุ่มคนทำงานด้านศิลปะ มีทั้งเสื้อใส่ทำงาน วันหยุด และแฟชั่นหลุดโลก

Playhound เป็นแบรนด์น้องใหม่ ที่แตกออกมาจาก Playhound เน้นกลุ่มเป้าหมายที่เด็กลงมาช่วงอายุ 20-28 ปี มหาวิทยาลัยปีสุดท้าย หรือเริ่มทำงาน เป็นคนโสด หรือถ้ามีแฟนก็เป็นประเภทที่มีหลายคน ไม่ได้เป็นหนอนหนังสือ สนุกกับการช้อปปิ้ง อยู่ในแวดวงศิลปะ ติดตามเทรนด์ใหม่ๆ ดูหนังฟังเพลง เรื่องสนุกกับ แฟชั่น แต่ไม่ต้องบ้าแฟชั่น ขับรถมินิ โฟล์ค

Grey เป็นแบรนด์ น้องใหม่ภายใต้ Greyhound Grpoupn สร้างขึ้นในปี 2547 เน้นตลาด
ส่งออกโดยเฉพาะ ยังคงมุ่งไปยังลูกค้าที่อยู่ในแวดวงศิลปะ และแฟชั่น

ร้าน Greyhound Cafe เป็นร้านกาแฟและอาหาร เน้นการตกแต่งตามสไตล์ยุโรป เรียบง่าย ไม่หรูหรา
สาขาแรกเปิดตัวขึ้นในปี 2540 อยู่ที่ห้างสรรพสินค้าเอ็มโพเรียม จากนั้นแตกขยายสาขาไปตามห้างสรรพสินค้าไลฟ์สไตล์เซ็นเตอร์

Profile

ภาณุ อิงควัติ จบการศึกษาด้านกราฟิกดีไซน์ จากประเทศอังกฤษ ใช้ชีวิตในวงการโฆษณามา 25 ปี ตำแหน่งสุดท้าย ประธานบริษัท ลีโอ เบอร์เนท นอกจากได้การยอมรับในธุรกิจโฆษณาแล้ว ภาณุยังสร้างชื่อในธุรกิจแฟชั่น ที่เขาให้เวลากับธุรกิจนี้อย่างเต็มตัวเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา กับการสร้างแบรนด์เกรย์ฮาว ที่เขาร่วมกับเพื่อนก่อตั้งขึ้นในปี 2523 ทุกวันนี้ภาณุยังรับหน้าที่เป็นครีเอทีฟ ไดเร็กเตอร์ ทั้ง 4 แบรนด์ เกรย์ฮาว, เพลย์ฮาว, เกรย์ และร้านเกรย์ฮาวคาเฟ่

หมายเหตุ
เรียบเรียงมาจากงานสัมมนา “ทำอย่างไรจึงสร้างแบรนด์ให้สำเร็จ” จัดขึ้นโดย คอตตอน ยูเอสเอ และสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ขึ้นเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2549

]]>
9150
พัชทรี ภักดีบุตร Designer VS Brand Pioneer https://positioningmag.com/8066 Sat, 05 Nov 2005 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=8066

พัชทรี ภักดีบุตร หรือ “รี่” 1 ใน 12 ดีไซเนอร์ชื่อดังที่รวมอยู่ในพ็อกเกตบุ๊ก “Born To Be Designer” เธอคือดีไซเนอร์มือเอก และหุ้นส่วนสาวแห่ง “เกรย์ฮาวด์ (Greyhound)” ผู้ได้รับมอบหมายให้ set-up แบรนด์คอนเซ็ปต์ของ “เกรย์ (Grey)” น้องใหม่ในเครือ และเป็นหัวเรือใหญ่ของ “เอิบ” ผลิตภัณฑ์ Home-Spa ที่เธอก่อร่างขึ้นมากับมือ

วนเวียนอยู่ในแวดวงดีไซน์กว่า 10 ปี วันนี้ รี่มีข้อสรุปชีวิตการทำงานว่า เธอมีความสุขมากที่ได้ดึงเอาจิตวิญญาณ ความเชื่อ ความชอบ และตัวตน ออกมาสะท้อนในดีไซน์อย่างเต็มที่ โดยที่ยังได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี “ดีไซเนอร์ก็เหมือนศิลปิน พอเริ่มโตก็อยากลองทำอะไรแบบของเรา อยากดึงจิตวิญญาณและตัวตนของเราออกมามากขึ้น”

แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ ข้อสรุปอีกข้อก็คือ ประสบการณ์และการเรียนรู้เป็นบันไดสำคัญ…หลังเรียนจบด้านการตลาดจากอังกฤษ รี่เริ่มต้นทำงานเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ให้กับ Leo Bernett บริษัทโฆษณาชื่อดัง ที่นี่เองเธอจึงได้รู้จักกับ ภาณุ อิงคะวัต เถ้าแก่แห่งเกรย์ฮาวด์ รี่ทำงานโฆษณาร่วม 4 ปี จึงลาออกเป็นฟรีแลนซ์ แต่ด้วยความชอบแต่งตัวของเธอที่โดดเด่นเข้าตา ภาณุจึงชวนมาร่วมหุ้นและเป็นดีไซเนอร์ให้เกรย์ฮาวด์ราว 9 ปีก่อน

ด้วยปรารถนาจะมีกิจการของตัวเองก่อนอายุ 30 ปี รี่จึงจุดคบไฟแห่งอาชีพแฟชั่นดีไซเนอร์ให้ลุกโชน อันเป็นช่วงที่เกรย์ฮาวด์ก็เตรียมบุกตลาดเสื้อผ้าผู้หญิงอย่างจริงจัง เธอจึงเป็นเสมือนเข็มทิศควานหาทางที่เหมาะสม ระหว่างสไตล์เกรย์ฮาวด์ เทรนด์ตลาด และลูกเล่นที่แฝงตัวตนของเธอ ซึ่งการทำงานที่ผ่านมาช่วยเธอได้ดี “จากที่เรียนการตลาดและทำงานโฆษณา เราก็เลยมี commercial concept บ้างไม่ใช่มีแค่ pure art”

รี่เป็นอีกแรงสำคัญที่ผลักดันเกรย์ฮาวด์จนโด่งดังทั้งตลาดภายในและนอกประเทศเรื่อยมา กระทั่งภาณุให้เธอช่วยคิดเสื้อผ้า hi-fashion ขึ้นมา 1 เซต เพื่อโชว์ในงานแฟชั่นที่ฝรั่งเศส และก็ได้เสียงตอบรับดีมาก แต่ด้วยความยากในการผลิต เทคนิคที่เยอะกว่า ลวดลายที่ละเอียดกว่า accessories ที่มากกว่า วัสดุที่แปลกตากว่า เสื้อสไตล์นี้จึงไม่อาจขายในระดับเดียวกับเกรย์ฮาวด์ จึงกลายเป็นที่มาของแบรนด์ใหม่คือ เกรย์

เพราะเป็นผู้บุกเบิก รี่จึงทุ่มเวลาทั้งหมด set-up และดูแลแบรนด์เกรย์ “ตอนทำเกรย์ฮาวด์ เราทำงานให้กับแบรนด์ที่มีอยู่แล้ว เราจึงเข้ามาเพื่อทำให้แมตช์กับสิ่งที่เขาวางไว้ แต่เกรย์เราจับตั้งแต่ต้น จึงพูดได้เต็มปากว่าขายความเป็นตัวตนของเรา และจากประสบการณ์ที่สะสมมาก็ทำให้เราไม่ต้องใส่ใจการตลาดมากเท่าตัวตนจริงๆ ของเรา”

เกรย์เป็น conceptual design ที่มีสไตล์แบบ oriental chic คือเน้นความน่าหลงใหลของรูปแบบเอเชีย ทั้งความเชื่อ วัฒนธรรม ค่านิยม เทคนิค ภายใต้โครงสร้างเสื้อผ้าที่ผสมแนวตะวันตก ทั้งปวงนี้มาจากความเป็นเอเชียบวกกับความโมเดิร์นที่รี่รับเข้ามาในชีวิต จากการสังเกต การอ่าน การเดินทาง ฯลฯ โดยกลุ่มเป้าหมายเป็นคนที่ซาบซึ้งกับงานศิลปะและความเป็นเอเชียมากเป็นพิเศษ ที่สำคัญคือ พร้อมจะแปลกแยกจากเทรนด์

ประสบการณ์ตอนเซตคอนเซ็ปต์แบรนด์เกรย์ รี่ได้รับบทเรียนสำคัญคือ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม คอนเซ็ปต์ที่ชัดเจนเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด “ทุกครั้งที่ทำงาน เรามักจะหลงทาง หรือแกว่งตามเทรนด์และสิ่งที่เกิดรอบตัวได้ง่าย แต่ถ้าเรายึดมั่นในคอนเซ็ปต์ที่ชัด อย่างน้อยมันจะช่วยให้เราวกกลับเข้ามาสู่พระอาทิตย์ดวงนี้ของเรา”

สำหรับเอิบ ถือเป็นตัวตนในอีกมุมของรี่ที่สะท้อนศิลปะในการสร้างความรื่นรมย์และคุณภาพชีวิตของเธอได้ดีมาก “พี่เป็นคนชอบธรรมชาติ งานศิลปะ เครื่องหอม ชอบดูแลตัวเองจากธรรมชาติ และก็ work hard จนไม่มีเวลา แต่ก็ play hard คือกินดื่มเที่ยวและดูแลตัวเองในแบบที่ต้องได้ทั้งประโยชน์ พร้อมความรื่นรมย์ที่ครบทั้งรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ไปพร้อมกัน”

เอิบเปิดตัวเมื่อ 6 ปีก่อนในตลาดต่างประเทศ แต่เพิ่งเปิดตัวในรีเทลเมืองไทยไม่ครบ 3 ปีดี ทว่าความเคลื่อนไหวของเอิบกลับขยายตัวช้าลง ซึ่งบทเรียนครั้งนี้ รี่สรุปว่า “เพราะพื้นฐานสินค้ามันดีมาก การจะทำอะไรใหม่ๆ ให้ตื่นเต้นเร้าใจย่อมยากขึ้นโดยปริยาย ฉะนั้นปีหน้าเราคงต้องเตรียมตัวมากขึ้น ทางด้านครีเอทีฟที่ต้องลึกและกว้างขึ้น ร่วมกับแผนกิจกรรมการตลาดที่จริงจัง เพื่อรองรับกับ Erb Club ที่เพิ่งเปิดตัวปีนี้”

นอกจากเกรย์และเอิบ รี่ยังเป็นคอลัมนิสต์ให้อิมเมจลงคอลัมน์ Trend Focus โดยแบ่ง 2 วันในวันธรรมดาเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศเกรย์ฮาวด์ อีก 3 วันทำงานเป็นของเอิบ ซึ่งใน 5 วันนี้ เธอจะแวบไปเล่นโยคะ หาหมอ ออกงานสังคม ซื้อต้นไม้ ฯลฯ ส่วนเสาร์อาทิตย์เป็นวันพักผ่อนแบบที่เรียกว่า “เปื่อยอยู่กับบ้าน” เธอชอบเล่นกับสุนัขแสนรักทั้ง 4 ตัว ปลูกต้นไม้ ดูนก และสังสรรค์กับเพื่อนที่บ้านทุกวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวิธีชาร์จพลังที่ดีที่สุด

รี่เคยตั้งเป้าเกษียณอายุการทำงานเมื่อครบ 40 ปี แต่แล้วเธอก็เลื่อนมาที่อายุ 45 ปี เพราะยังสนุกกับงานและการเผยตัวตนผ่านงานดีไซน์ โดยถ้าวันนั้นมาถึง เธอวางแผนจะกลับไปใช้คอมพิวเตอร์อีกครั้ง หลังจากที่วางมือจากเมาส์และแป้นมาร่วม 10 ปี ด้วยเหตุผลที่ว่า เธอกลัวจะติดและกลัวจะต้องเสียชีวิตทางสังคมที่เธอแสนจะหวงแหน…

ขณะที่ชีวิตข้างหนึ่งต้องวิ่งวุ่นตามกระแสแฟชั่น ซึ่งเธอเรียกว่า “โลกมายา” แต่อีกด้าน เธอเรียกหาความสงบทุกครั้งที่มีโอกาส เช่น สวดมนตร์เมื่อรถติด รอหมอมาตรวจ ฯลฯ เรียกว่าทุกครั้งที่อยู่กับตัวเอง เธอจะต้องขัดเกลาสติด้วยการสวดมนตร์ เพื่อใช้ความสงบและสติวิเคราะห์กระแสมายาเหล่านั้น และนำสติออกไปใช้เผชิญกับโลกภายนอก เพื่อจะได้ทำปัจจุบันตรงนั้นให้ดีที่สุด ซึ่งเป็นปรัชญาดำเนินชีวิตของเธอ

ตะกอนความคิดที่รวมตัวเป็นผลึกแห่งประสบการณ์จากการใช้สติวิเคราะห์สิ่งต่างๆ รอบตัวผ่านมุมมองเวลา เหล่านี้ทำให้ตัวตนและจิตวิญญาณของรี่แข็งแกร่งและชัดเจนขึ้น จนเธอพร้อมที่จะผลักดันสิ่งที่อยู่ภายใน และสะท้อนความเป็นเธอออกมาเป็นศิลปะบนดีไซน์ของเกรย์และเอิบ “ทั้ง 2 แบรนด์พี่สร้างมา ถึงวันนี้พี่ก็ว่าพี่ชัดมาก”

Profile

Name : พัชทรี ภักดีบุตร
Age : 38 ปี
Education :
ปริญญาตรีสาขาการตลาด จาก Richmond University, London ประเทศอังกฤษ
Career Highlights :
– ปัจจุบัน หัวหน้าทีมดีไซเนอร์แบรนด์ Greyhound และแบรนด์ Grey
– MD บริษัท ปรมาลาภา จำกัด (เจ้าของแบรนด์ Erb)
– กราฟิกดีไซเนอร์ บริษัท Leo Bernett จำกัด
Family :
สมรสแล้ว สามี อภิชัย ภักดีบุตร อาชีพผู้กำกับหนังโฆษณา

]]>
8066