JustCo – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Fri, 26 Feb 2021 02:23:10 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 กลยุทธ์ตึกออฟฟิศ “เฟรเซอร์ส” จัดสัดส่วน Core & Flex รับเทรนด์ “สำนักงาน” ยืดหยุ่นสูง https://positioningmag.com/1320981 Thu, 25 Feb 2021 12:51:20 +0000 https://positioningmag.com/?p=1320981 “เฟรเซอร์ส” อสังหาฯ ในเครือของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เปิดกลยุทธ์ใหม่จัดสัดส่วนออฟฟิศแบบ Core & Flex สำนักงานรูปแบบดั้งเดิมผสมผสานกับพื้นที่ออฟฟิศแบบส่วนกลาง รองรับเทรนด์อนาคตเมื่อบริษัทหลายแห่งต้องการความยืดหยุ่นสูง มีโคเวิร์กกิ้งสเปซรองรับการเพิ่มและลดทีมได้เร็ว 

“โคเวิร์กกิ้งสเปซ” เป็นรูปแบบออฟฟิศที่อยู่ในไทยมาแล้วหลายปี ดีมานด์ในระยะแรกๆ อาจมาจากกลุ่มสตาร์ทอัพเป็นหลัก แต่ปัจจุบันบรรษัทขนาดใหญ่ก็ต้องการออฟฟิศรูปแบบนี้แล้วเช่นกัน ทำให้แลนด์ลอร์ดเจ้าของอาคารสำนักงานต้องพิจารณากลยุทธ์การจัดสรรพื้นที่กันใหม่ให้ตอบสนองความต้องการลูกค้า

รวมถึง “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ คอมเมอร์เชียล ประเทศไทย” เจ้าของตึกสำนักงาน 5 แห่ง พื้นที่รวม 209,000 ตร.ม. ได้แก่ มิตรทาวน์ ออฟฟิศ ทาวเวอร์, เอฟวายไอ เซ็นเตอร์, อาคารโกลเด้นแลนด์, สาทรสแควร์ และ ปาร์คเวนเชอร์ (*สองตึกหลังอยู่ภายใต้กองรีท GVREIT) มีการปักหมุดกลยุทธ์ใหม่ซึ่งจะทยอยปรับเปลี่ยนภายใน 3 ปีข้างหน้า

5 อาคารสำนักงานในพอร์ตของเฟรเซอร์สฯ คอมเมอร์เชียลฯ

“วิทวัส คุตตะเทพ” รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายโครงการเชิงพาณิชยกรรม เฟรเซอร์สฯ คอมเมอร์เชียลฯ เปิดเผยว่า กลยุทธ์ใหม่นี้คือการจัดสรรพื้นที่ Core & Flex ให้สมดุลกันในอาคารเดียว

โดยพื้นที่แบบ Core คือ พื้นที่สำนักงานแบบดั้งเดิม ส่งมอบพื้นที่เปล่าให้ผู้เช่าตกแต่งเอง คิดราคาตามตร.ม. และมีระยะสัญญาเช่ายาวอย่างน้อย 3 ปี ส่วนพื้นที่ Flex คือ พื้นที่ส่วนกลางที่ใช้ร่วมกับบริษัทอื่น เช่น โคเวิร์กกิ้งสเปซ ห้องประชุมส่วนกลาง ซึ่งปกติจะคิดราคาตามจำนวนคนที่ใช้งาน และมีระยะสัญญาสั้นต่ำสุดคือ 1 เดือน

ตารางเปรียบเทียบคุณสมบัติการจัดสำนักงานแบบ Core & Flex (Photo : เฟรเซอร์สฯ)

เฟรเซอร์สฯ มองเทรนด์ของผู้เช่าทั่วโลกและในประเทศไทย พบว่า ความต้องการใช้สำนักงานแบบผสมผสานทั้ง Core และ Flex กำลังทยอยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยบริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่เริ่มวางนโยบายสำนักงานแบบยืดหยุ่น คือมีทั้งพื้นที่ Core ไว้เป็นแกนหลัก สำหรับกิจกรรมที่ต้องการความเป็นส่วนตัว และมีพื้นที่ Flex ในกรณีที่จะขยายทีมเร็ว หรือมีการตั้งโครงการระยะสั้น โดยสัดส่วนต่างกันไปแล้วแต่นโยบาย เช่น แบ่งแบบ 50:50 หรือ 80:20

เมื่อเป็นเช่นนี้ เฟรเซอร์สฯ ในฐานะเจ้าของอาคารจึงต้องจัดสรรพื้นที่ในอาคารให้มีโคเวิร์กกิ้งสเปซร่วมด้วย เพราะหากอนาคตลูกค้าต้องการลดพื้นที่ Core ไปเพิ่มส่วน Flex อาคารก็มีพื้นที่ไว้ตอบสนองทันที และอาจจะมีการทำโปรโมชันแพ็กเกจ เช่าทั้งพื้นที่ Core และ Flex กับเฟรเซอร์สฯ ได้ราคาที่ถูกลง

“เรื่องการทำรายได้ของบริษัทจะยังเท่าเดิม แต่ประเด็นคือเราต้องเก็บรักษาลูกค้าไว้กับเราให้ได้” วิทวัสกล่าว

 

เปิดกว้างเจรจาทุกแบรนด์ “โคเวิร์กกิ้งสเปซ”

ปัจจุบันในอาคารสำนักงาน 5 แห่งของเฟรเซอร์สฯ ที่มีการจัดสมดุลแล้วคือ มิตรทาวน์ ออฟฟิศ ทาวเวอร์ แบ่งเป็นพื้นที่ให้เช่าแบบ Core 70% และพื้นที่ทำเป็นสำนักงานแบบ Flex 30% ซึ่งพื้นที่ Flex ในอาคารนี้ก็คือโคเวิร์กกิ้งสเปซ “JustCo” กับพื้นที่ห้องจัดประชุมสัมมนา Victor Club ซึ่งทั้งสองแบรนด์อยู่ในเครือเฟรเซอร์สฯ

JustCo สามย่าน มิตรทาวน์ (Photo : FB@justcoglobal)

วิทวัสกล่าวว่า อาคารสำนักงานอีก 4 แห่งจะทยอยปรับให้มีพื้นที่ Flex ในอาคารเพิ่มขึ้น ตั้งเป้าไม่เกิน 30% โดยไม่ได้ปิดกั้นพันธมิตร ไม่จำเป็นต้องลงแบรนด์โคเวิร์กกิ้งสเปซเป็น JustCo สามารถพูดคุยกับแบรนด์อื่นได้ทุกเจ้า อย่างในอาคารสาทรสแควร์จะมี Regus เป็นโคเวิร์กกิ้งสเปซอยู่แล้ว แต่ต้องการจะให้มีเพิ่มขึ้นอีก

ความเร็วในการปรับเปลี่ยนนั้น ต้องขึ้นอยู่กับการคืนพื้นที่ของลูกค้าที่เช่าอยู่ปัจจุบัน หากมีการคืนพื้นที่ไม่ต่อสัญญา บริษัทก็พร้อมจะปรับเป็นพื้นที่แบบ Flex ได้ตามกลยุทธ์

 

ปี’63 ตลาดออฟฟิศสาหัส ลุ้นเศรษฐกิจฟื้น

สำหรับภาพรวมตลาดอาคารสำนักงานกรุงเทพฯ ปี 2563 วิทวัสระบุว่า ความต้องการเช่าพื้นที่ใหม่ลดลงถึง 50% จากปีก่อนหน้า โดยปี 2562 มีการเช่าพื้นที่สำนักงานเพิ่มมากกว่า 100,000 ตร.ม. แต่ปี 2563 ลดเหลือประมาณ 50,000 ตร.ม. เท่านั้น เนื่องจากวิกฤต COVID-19 ทำให้เกิดการล็อกดาวน์และเศรษฐกิจตกต่ำ (อ่านบทวิเคราะห์เกี่ยวกับตลาดออฟฟิศปี 2563-64 จากไนท์แฟรงค์ คลิกที่นี่)

สืบเนื่องถึงปี 2564 ขณะนี้ผู้สนใจเช่าใหม่หลายรายก็ยังชะลอการตัดสินใจออกไปก่อน ทำให้ประเมินภาพตลอดปียาก เพราะขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ยกเว้นบางอุตสาหกรรมที่มาแรงสวนกระแส ได้แก่ ไอที อีคอมเมิร์ซ การเงิน และ สุขภาพ

“วิทวัส คุตตะเทพ” รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายโครงการเชิงพาณิชยกรรม เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ คอมเมอร์เชียล ประเทศไทย

ด้านผู้เช่าเดิมนั้น วิทวัสกล่าวว่ามีบางส่วนที่ไม่ต่อสัญญาเช่าหรือลดขนาดองค์กรเพราะพิษเศรษฐกิจ แต่ส่วนใหญ่แล้วยังต่อสัญญาตามปกติ ทำให้อาคารสำนักงานในเครือมีอัตราการเช่าเฉลี่ย 90% และบริษัทตั้งเป้าปีนี้จะรักษาอัตราการเช่าคงเดิมให้ได้

ในแง่ราคาเช่าออฟฟิศเฉลี่ยทั้งเครือเฟรเซอร์สอยู่ที่ 900 บาทต่อตร.ม.ต่อเดือน ปีก่อนมีการลดราคาพิเศษระยะสั้น 5-10% ให้ผู้เช่าเพื่อบรรเทาภาระในช่วงล็อกดาวน์ แต่ปีนี้ปรับลดให้เฉพาะบางบริษัทที่ยังไม่ฟื้นตัว ส่วนการต่อสัญญาใหม่ยังไม่มีการปรับราคาขึ้น แต่จะปรับลงหรือไม่นั้น บริษัทหวังว่าทั้งตลาดจะยังตรึงราคาไว้ ขึ้นอยู่กลไกดีมานด์-ซัพพลายของปีนี้

อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องจับตาคือ อาคารโกลเด้นแลนด์ ทำเลซอยมหาดเล็กหลวง 1 ของบริษัทซึ่งมีพื้นที่เช่าประมาณ 10,000 ตร.ม. กำลังจะหมดสัญญาเช่าระยะ 30 ปีในเดือนสิงหาคม 2565 โดยเจ้าของที่ดินคือ “สำนักงานบริหารจัดการทรัพย์สินวชิราวุธวิทยาลัย” ไม่อนุมัติต่อสัญญา จึงเป็นไปได้ที่เฟรเซอร์สฯ จะมีการลงทุนเทกโอเวอร์หรือก่อสร้างอาคารสำนักงานแห่งใหม่ขึ้นมาเติมเต็มพอร์ตส่วนนี้

]]>
1320981
เจาะกลยุทธ์โคเวิร์กกิ้ง “จัสโค” คิดแบบ “ท้องถิ่น” ลงมือทำแบบ “สากล” https://positioningmag.com/1241285 Sun, 04 Aug 2019 01:15:19 +0000 https://positioningmag.com/?p=1241285 ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีประชากรกว่า 60% ของประชากรโลก มีความหลากหลายด้านวัฒนธรรม ภาษา และเศรษฐกิจสังคม ดังนั้นการทำธุรกิจในแต่ละภูมิภาคจึงต้องมองความแตกต่างเชิงประชากรเป็นสำคัญ การใช้ “ไมตรีจิตแบบท้องถิ่น” ในธุรกิจจึงเป็นกุญแจสำคัญ ตอบโจทย์ความต้องการที่แตกต่างของผู้บริโภคในแต่ละตลาด

คง วัน ซิง ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จัสโค โคเวิร์กกิ้ง จากสิงคโปร์ กล่าวว่าแนวคิดนี้ใช้ได้จริงกับธุรกิจในหลากหลายสาขา และที่ “จัสโค” ซึ่งผู้ให้บริการพื้นที่ทำงานแบบยืดหยุ่นในตลาดเอเชีย ได้สอดแทรกความเป็นท้องถิ่นในแต่ละประเทศ ที่ถือเป็นหัวใจของ “ฮาร์ดแวร์” เข้าไปในโคเวิร์คกิ้งสเปซ

ตั้งแต่การดีไซน์พื้นที่รวมไปถึงการตกแต่งสาขาทั้ง 35 แห่งใน 8 เมือง ครอบคลุมไปถึง “ซอฟต์แวร์” เพื่อสร้างประสบการณ์การทำงานให้กับผู้ใช้บริการ ผ่านการจัดอีเวนต์และเวิร์คช็อปต่างๆ ซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ของจัสโคในแต่ละสาขาจึงมีเอกลักษณ์ของเมืองนั้นๆ

คง วัน ซิง

ดีไซน์ “ฮาร์ดแวร์” ที่แตกต่าง

ทุกคนต้องใช้เวลาอยู่ “ที่ทำงาน” กว่าหนึ่งในสามของชีวิต ดังนั้นพื้นที่ทำงานควรจะเอื้อให้เกิดการทำงาน รู้สึกสะดวกสบาย และสร้างแรงบันดาลใจ พื้นที่ของ “จัสโค” ที่เปรียบเป็นฮาร์ดแวร์ จึงเน้นสิ่งอำนวยความสะดวกในการทำงานและการเดินทาง เลือกใช้เฟอร์นิเจอร์และสไตล์การตกแต่งที่แฝงเอกลักษณ์ของแต่ละเมือง

ตัวอย่าง สาขาของจัสโคในไต้หวัน ซึ่งเปิดให้บริการในไตรมาส 3 ปีนี้ ออกแบบหรือใช้วัสดุที่พบได้ในงานออกแบบสถาปนิกของไต้หวัน เช่น ไม้ไผ่ และเทคนิคความโค้งมนต่างๆ นอกจากนี้ยังนำวัสดุรีไซเคิลมาใช้กับงานเฟอร์นิเจอร์และการตกแต่ง เพื่อสนับสนุนการยืดอายุวัสดุให้เป็นขยะช้าลงและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเกาะไต้หวัน

ส่วนทั้ง 3 สาขาในอินโดนีเซีย มีองค์ประกอบในการตกแต่งพื้นที่ทำงานจากวัสดุธรรมชาติอย่างตะกร้าหวายและชิงช้าสาน เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปจากงานหัตถกรรมพื้นบ้านของอินโดนีเซีย

ในออสเตรเลีย ที่ผู้คนชอบดื่มกาแฟและการประชุมปรึกษาหารือ มักจะเกิดขึ้นในช่วงพักดื่มกาแฟ ดังนั้นสาขาทั้ง 4 แห่งของจัสโคในซิดนีย์และเมลเบิร์น จึงมีร้านกาแฟในพื้นที่โคเวิร์กกิ้ง เพื่อเอาใจสมาชิกที่เป็นคอกาแฟในระหว่างทำงาน

JustCo Sydney Australia

“พื้นที่ส่วนกลาง” หัวใจสำคัญ โคเวิร์กกิ้ง 

ในธุรกิจ โคเวิร์กกิ้งสเปซ “พื้นที่ส่วนกลาง” ถือเป็นหัวใจ โดย “จัสโค” ทุกสาขาจัดสรรพื้นที่ส่วนกลางไว้ถึง 30 – 40% เพื่อให้สมาชิกสามารถพักจากเรื่องงาน และมาพบปะติดต่อกับสมาชิกคนอื่นๆ หรือหามุมสงบ

ในสิงคโปร์ สาขาของจัสโค จะมีพื้นที่สำหรับสันทนาการ ซึ่งรวมถึงมุมนอนพัก ห้องนั่งสมาธิ โต๊ะฟุตบอล มินิกอล์ฟ และมุมปาเป้า เพื่อความต้องการของสมาชิกที่หลากหลาย

JustCo Marina Square

นอกจากได้เปิดตัว “จัสโคแล็บ” ที่อาคารมารีน่าสแควร์ เพื่อสนับสนุนกลุ่มลูกค้าสายสตาร์ทอัพโดยออกแบบโปรแกรมที่ช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับสตาร์ทอัพที่เพิ่งเริ่มต้น ให้ได้ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมของจัสโค รวมไปถึงกิจกรรม แฮคกะธอน มาสเตอร์คลาส และโอกาสในการเข้าถึง mentors ที่กลายมาเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จและเป็นที่รู้จัก

ในโลกยุคเศรษฐกิจดิจิทัลที่กำแพงการแบ่งแยกตามภูมิศาสตร์ได้พังทลายลง “การคิดแบบท้องถิ่น” แต่ “ลงมือทำแบบสากล” ถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำธุรกิจไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน.

]]>
1241285
เจ้าถิ่นว่าไง! ต่างชาติแห่เปิด Co-working Space ในไทย ยึดทำเลตึกเกรดเอใจกลางธุรกิจ จับลูกค้าองค์กร https://positioningmag.com/1172983 Tue, 05 Jun 2018 07:27:06 +0000 https://positioningmag.com/?p=1172983 ตลาดโคเวิร์กกิ้งสเปซ (Co-working Space) ของไทยกำลังเป็นที่หมายปองของบริษัทข้ามชาติ ที่มองว่าโอกาสของธุรกิจนี้ยังมีอีกมาก 

JLL ที่ปรึกษาและบริการอสังหาริมทรัพย์ ระบุถึง โคเวิร์กกิ้งสเปซ หรือที่นั่งทำงานร่วมให้เช่า เป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็วในกรุงเทพฯ หลังผู้ประกอบการรายใหญ่จากต่างประเทศเริ่มเปิดตัวในอาคารสำนักงานเกรดเอและคาดว่าจะมีอีกหลายรายตามเข้ามา

Spaces Summer Hill

โคเวิร์กกิ้งสเปซรายใหญ่จากต่างประเทศที่เข้ามาเปิดธุรกิจหรือเตรียมพื้นที่สำหรับเปิดธุรกิจในกรุงเทพฯ แล้ว ได้แก่ Spaces จากมีสาขาที่อาคารจตุรัสจามจุรี (และซัมเมอร์ฮิลล์ คอมมูนิตี้มอลล์ย่านพระโขนง), Justco เปิดสาขาแรกแล้วที่อาคารเอไอเอ สาธร ทาวเวอร์ และกำลังเตรียมเปิดอีกสาขาที่อาคารแคปปิตอล ทาวเวอร์ (ออล ซีซั่นส์ เพลส), WeWork เตรียมเปิดสาขาแรกที่อาคารเอเชีย เซ็นเตอร์ และ The Great Room ซึ่งจะเปิดสาขาแรกที่อาคารเกษร ทาวเวอร์ในเดือนนี้

ล่าสุด JustCo โคเวิร์กกิ้งสเปซจากสิงคโปร์ จับมือ แสนสิริ เปิดสาขาแรกในประเทศไทยที่อาคารเอไอเอ สาทร ทาวเวอร์

ยุพา เสถียรภาพอยุทธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริการธุรกิจอาคารสำนักงาน JLL กล่าวว่า “ผู้ประกอบการโคเวิร์กกิ้งสเปซรายใหญ่จากต่างประเทศ ล้วนเลือกเช่าพื้นที่เพื่อเปิดธุรกิจในอาคารสำนักงานเกรดเอในย่านศูนย์กลางธุรกิจ โดยส่วนใหญ่เช่าพื้นที่ขนาด 3,000 ตารางเมตรขึ้นไปสำหรับแต่ละสาขา นอกจากนี้ ผู้ประกอบการเหล่านี้บางรายยังมีแผนขยายสาขาเพิ่มอีกจำนวนมาก”

JustCo
JustCo

“ยังมีผู้ประกอบการโคเวิร์กกิ้งสเปซจากต่างชาติอีกหลายรายที่กำลังอยู่ระหว่างเตรียมเข้ามาเปิดธุรกิจในกรุงเทพฯ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศในเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น ฮ่องกง และมาเลเซีย และกำลังมองหาพื้นที่เช่าขนาด 2,000-3,000 ตารางเมตร ในอาคารสำนักงานเกรดเอ” ยุพา กล่าว

ในอดีต โคเวิร์กกิ้งสเปซที่เปิดให้บริการในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการไทยเกือบทั้งหมด โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักคือบริษัทสตาร์ทอัพและบริษัทเอสเอ็มอีที่มีจำนวนพนักงานน้อยและไม่จำเป็นต้องมีออฟฟิศเต็มรูปแบบ

รวมไปจนถึงกลุ่มคนทำงานอิสระที่ต้องการที่นั่งทำงานซึ่งมีความสะดวก และสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานได้ดีกว่าการนั่งทำงานที่บ้าน ตลอดจนถึงการมีโอกาสได้ปฏิสัมพันธ์กับผู้คนจากหลากหลายสาขาอาชีพหรือจากสาขาอาชีพที่ใกล้เคียงกัน

JustCo

ดังนั้น โคเวิร์กกิ้งสเปซที่มีอยู่ตั้งแต่ช่วงแรกๆ มักเปิดบริการอยู่ในตึกขนาดเล็กถึงขนาดกลาง รวมไปจนถึงศูนย์การค้า มีผู้ประกอบการจำนวนไม่มากนักที่เช่าพื้นที่อาคารสำนักงานเพื่อเปิดบริการ แบรนด์ต่างชาติ ได้แก่ BIGWork ที่สาธรนคร ทาวเวอร์

ส่วนตัวอย่างแบรนด์ไทย ได้แก่ Glowfish ที่อโศก ทาวเวอร์ และอาคารสาธร ธานี, Launchpad ที่อาคารเศรษฐีวรรณ, Draft Board ที่อาคารอรกานต์, Kloud ที่อาคารฟลอริช และ Meticulous Offices ที่เอสเอสพีทาวเวอร์

JustCo

ผู้ประกอบการรายใหญ่จากต่างชาติที่เข้ามาเปิดบริการและที่กำลังจะตามมาอีก มีกลุ่มเป้าหมายหลักอยู่ที่ลูกค้าประเภทองค์กร นับตั้งแต่บริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางที่ต้องการใช้โคเวิร์กกิ้งสเปซเป็นสำนักงานหลัก ไปถึงบริษัทขนาดใหญ่ ที่สามารถใช้โคเวิร์กกิ้งสเปซเป็นสำนักงานย่อย หรือสำรองที่นั่งทำงานไว้สำหรับให้พนักงานที่มักไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศ ให้สามารถเข้าไปใช้ได้

โดยผู้ประกอบการโคเวิร์กกิ้งสเปซเหล่านี้ บางรายสามารถจัดสรรที่นั่งทำงานให้ตรงตามความต้องการขององค์กรลูกค้ามากที่สุด ไม่ว่าจะในเรื่องของความเป็นสัดเป็นส่วน ตลอดไปจนถึงอัตลักษณ์ขององค์กร แต่ทั้งนี้ยังคงคอนเซ็ปต์ของโคเวิร์กกิ้งสเปซไว้ คือ การมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ไว้ให้ลูกค้าใช้ร่วมกัน และการออกแบบพื้นที่ให้ลูกค้าต่างรายยังคงมีโอกาสมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันได้

Spaces Summer Hill

JLL คาดว่า โคเวิร์กกิ้งสเปซจะเป็นที่นิยมของลูกค้าระดับองค์กรมากขึ้น ไม่เพียงเพราะเป็นรูปแบบที่นั่งทำงานซึ่งมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดสังคมของการทำงานร่วมกันเท่านั้น แต่ยังมีความยืดหยุ่นสูงด้วย โดยบริษัทที่ใช้โคเวิร์กกิ้งสเปซเป็นสำนักงานหรือที่ทำงาน ไม่จำเป็นต้องลงทุนตกแต่งสำนักงานเอง และไม่ต้องผูกพันกับสัญญาเช่ายาว จึงสามารถย้ายออกได้ง่ายกว่าการเช่าสำนักงานแบบเดิม นอกจากนี้ รูปแบบการให้บริการแบบสมาชิก ยังเปิดโอกาสให้สามารถปรับเพิ่มหรือลดจำนวนที่นั่งได้ตามการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของจำนวนพนักงานที่มีอยู่จริง

ด้วยกระแสการเติบโตของที่ทำงานรูปแบบใหม่นี้ ทำให้เจ้าของอาคารสำนักงานในกรุงเทพฯ เริ่มสนใจแนวคิดการปรับพื้นที่บางส่วนในอาคารของตนให้เป็นโคเวิร์กกิ้งสเปซ ซึ่งต่างจากเมื่อ 3-4 ปีที่แล้วที่ไม่มีเจ้าของอาคารสำนักงานสนใจแนวคิดนี้เลย

อย่างไรก็ดี การบริหารจัดการต้องอาศัยความเชี่ยวชาญที่ต่างจากการให้เช่าพื้นที่สำนักงานรูปแบบเดิม ทำให้ในเบื้องต้นนี้เจ้าของอาคารสนใจที่จะหาผู้ประกอบการโคเวิร์กกิ้งสเปซเข้ามาเป็นหุ้นส่วนมากกว่าที่จะเป็นผู้ดำเนินการเอง

รายงานการวิจัยจาก JLL ระบุว่า สถานที่ทำงานที่มีความยืดหยุ่นสูง ซึ่งหมายรวมถึงเซอร์วิสออฟฟิศและโคเวิร์กกิ้งสเปซ กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ทำให้ธุรกิจนี้ขยายตัวอย่างรวดเร็วทั่วโลก โดยเฉพาะเอเชียแปซิฟิก ซึ่งนับเป็นภูมิภาคที่มีการขยายตัวของเซอร์วิสออฟฟิศและโคเวิร์กกิ้งสเปซรวดเร็วที่สุดในโลก

โดยในปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตที่ 35.7% เทียบกับอเมริกาและยุโรปที่มีการขยายตัว 25.7% และ 21.6% ตามลำดับ นอกจากนี้ JLL ยังคาดการณ์ด้วยว่า ภายในปี 2573 โคเวิร์กกิ้งสเปซจะมีสัดส่วนคิดเป็นประมาณ 30% ของพื้นที่สำนักงานทั่วโลก

“แม้การใช้โคเวิร์กกิ้งสเปซเป็นที่ทำงานจะเป็นแนวคิดที่ยังใหม่สำหรับบริษัทส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ แต่จากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วในเมืองต่างๆ ทั่วโลกที่มีพัฒนาการไปไกลกว่า พบว่า ที่ทำงานรูปแบบนี้กำลังได้รับความนิยมในหมู่ลูกค้าระดับองค์กร จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าประหลาดใจหากโคเวิร์กกิ้งสเปซจะได้รับความนิยมในกรุงเทพฯ ด้วยเช่นกัน.

]]> 1172983