MCOT – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 01 Dec 2021 07:18:50 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “อสมท” กางโรดแมป 4 ปีสู่เป้า “หุ้นยั่งยืน” เค้นรายได้จากสินทรัพย์-ปั้นคอนเทนต์ดิจิทัล https://positioningmag.com/1364771 Wed, 01 Dec 2021 06:13:37 +0000 https://positioningmag.com/?p=1364771 ยุคนายใหญ่คนใหม่ของ “อสมท” วางโรดแมปสู่ปี 2568 เป้าหมายเป็น “หุ้นยั่งยืน” ทำรายได้มั่นคง ยั่งยืน และเติบโต ยังยึดจุดเด่นคอนเทนต์ “ข่าว” ชูโรง เสริมด้วยคอนเทนต์บันเทิง พัฒนาทีมภายในพร้อมหาพาร์ตเนอร์เชิงกลยุทธ์จากภายนอก ต่อยอดสินทรัพย์ที่มีทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ให้สร้างรายได้สูงสุด ปั้นธุรกิจคอนเทนต์ดิจิทัล “The Trusted” และธุรกิจใหม่ สัดส่วนเพิ่มจาก 6% เป็น 22% ใน 3 ปี

2564 นับเป็นปีที่ “อสมท” เริ่มหายใจได้อีกครั้ง หลังขาดทุนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 โดยผลการดำเนินการสามไตรมาสแรกของปีนี้ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) มีกำไรแล้ว 100 ล้านบาท และน่าจะจบปีด้วยผลกำไรเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี

อย่างไรก็ตาม ไส้ในของการทำกำไรปีนี้ไม่ได้เกิดจากบรรทัดบนที่เพิ่มขึ้น แต่มาจากการตัดต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่สูงเกินหน้าเพื่อนร่วมอุตสาหกรรม โดยบริษัทมีการเปิดโครงการ “ร่วมใจจาก” มาตั้งแต่ปีก่อน จนพนักงานองค์กรลดลงจากเกือบ 1,400 คนเหลือ 970 คน ณ ขณะนี้

หลังผ่านปีของการตัดต้นทุน เมื่อ 3 เดือนก่อนบริษัทได้นายใหญ่คนใหม่มานั่งตำแหน่ง คือ “รศ.เกษมศานต์ โชติชาครพันธุ์” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และลงมือวางโรดแมปและกลยุทธ์อย่างรวดเร็ว

“รศ.เกษมศานต์ โชติชาครพันธุ์” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)

“เข้ามาถึงผมเหมือนมาทำวิจัยโฟกัสกรุ๊ปอยู่ประมาณ 2 เดือน จึงพบว่าจุดแข็งของเราคือ ‘ข่าว’ จริงๆ” รศ.เกษมศานต์กล่าว “จุดแข็งของ อสมท คือ ‘สำนักข่าวไทย’ ซึ่งคนมองว่าเราค่อนข้างเป็นกลาง ดังนั้นเราควรจะทำตรงนี้ให้ชัดว่าเราเชื่อถือได้ อ้างอิงได้”

นั่นทำให้ปี 2565 ซึ่งจะเป็นปีครบรอบ 70 ปี อสมท จะมีธีมการดำเนินงานเป็น “The Year of Trusted News and Smart Entertainment” ปูทางไปสู่เป้าหมายปี 2568

 

อสมท 2568 เป้าหมายขึ้นแท่น “หุ้นยั่งยืน”

รศ.เกษมศานต์ประกาศวิสัยทัศน์ปี 2568 ของบริษัทว่า ต้องการให้บริษัทขึ้นแท่นเป็น “หุ้นยั่งยืน” นั่นหมายถึงต้องทำกำไรต่อเนื่อง 3 ปี เมื่อถอดสมการย้อนกลับแล้ว ทำให้ อสมท ต้องหาเครื่องยนต์ทำรายได้เพิ่มขึ้น

หลังจากปี 2564 เป็นปีแห่งการ ‘Survival’ เอาตัวรอดได้สำเร็จแล้ว ลดต้นทุนจนคาดว่าปีหน้าจะไม่มีโครงการเลย์ออฟพนักงานอีก

ปี 2565 จะเป็นปีแห่งการสร้างความมั่นคง ต้อง ‘Stable’ และปี 2566-67 จะต้องเป็นปีที่รายได้เดินต่อแบบยั่งยืนและเติบโต ‘Sustainable & Growth’

 

ยกเครื่องเดิม เติมเครื่องยนต์ใหม่

จากโรดแมปดังกล่าว กลยุทธ์จะทำอย่างไร? รศ.เกษมศานต์ และทีม อสมท “สุนทรียา วงศ์ศิริกุล” ซีเอฟโอ และ “ผาติยุทธ ใจสว่าง” ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สำนักโทรทัศน์ ร่วมกางกลยุทธ์สำคัญๆ ที่จะใช้เพื่อยกเครื่องภายในและเติมเครื่องยนต์ใหม่ในการทำรายได้ ดังนี้

  • Reskill-Upskill คนในองค์กร – หลังผ่านช่วงที่ภายในองค์กรมี ‘ความเนือยและนิ่ง’ มาพักใหญ่ อสมท จะส่งเสริมให้พนักงานเพิ่มทักษะใหม่ให้ทันสมัย เพิ่มความเร็วมากขึ้นในระดับที่ไม่ใช่แค่ ‘speed’ แต่เป็น ‘sprint’ เหมือนการวิ่ง 100 เมตรก่อนเข้าเส้นชัย
  • จับมือพันธมิตรภายนอกในระดับกลยุทธ์ – เจรจาพันธมิตรที่จะมา ‘collab’ ร่วมกันคิดสร้างสรรค์คอนเทนต์ในช่อง โดยต้องการให้เป็นความร่วมมือระยะยาวและคิดร่วมกัน มากกว่าเป็นพาร์ตเนอร์เช่าออกอากาศเท่านั้น ขณะนี้มีการเจรจาแล้ว 2-3 ราย เพื่อจะทำให้องค์กรโตเร็วจากการใช้กลยุทธ์ outside-in
รายการชัวร์ก่อนแชร์ หนึ่งในรายการชูโรงของ MCOT ที่ผู้บริโภคให้ความเชื่อถือ
  • ต่อยอดสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้เป็นธุรกิจใหม่ – สินทรัพย์ของ อสมท ที่ยังสามารถหาผลประโยชน์ (monetize) ยังมีอีกมาก ตัวอย่างเช่น
    แพลตฟอร์ม The Shot ซึ่งจะรวมภาพถ่ายและวิดีโอนับแสนรายการตลอด 70 ปีของ อสมท มาขายลิขสิทธิ์ใช้งาน (แบบเดียวกับ Shutterstock) ขณะนี้เปิดหน้าเว็บไซต์แล้ว แต่จะเสร็จสมบูรณ์ราวไตรมาส 1/65
    รายการชัวร์ก่อนแชร์ ที่ได้รับความเชื่อถือสูง สามารถต่อยอดเป็นหลักสูตรฝึกสอนการตรวจสอบข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต กลายเป็นกิจการเพื่อสังคมในมุมการศึกษาได้
    NFT (non-fungible token) กำลังตั้งทีมศึกษาความเป็นไปได้ในการทำธุรกิจนี้ คาดจะเห็นความชัดเจนภายในไตรมาส 1/65
ย้อนอ่าน >> ธุรกิจทีวีเอาไม่อยู่ อสมท ขอแตกไลน์ ขยายสู่อสังหาฯ นำที่ดิน 70 ไร่ พระราม 9 มูลค่า 7 พันล้าน…
  • ทำรายได้ประจำจากสินทรัพย์จับต้องได้ – ที่ดินในมือ อสมท จำนวนมากทั่วประเทศ มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อสร้างแผนแม่บทในการหารายได้ประจำจากการ “ปล่อยเช่า” โดยมีที่ดินทำเลดีที่คาดว่าจะปล่อยเช่าได้ในปี 2565-66 คือ ที่ดินย่านรัชดา-พระราม 9 ขนาด 50 ไร่, ที่ดินบริเวณบางไผ่ 60 ไร่ และที่ดินบริเวณหนองแขม 40 ไร่
  • ผลิตคอนเทนต์ดิจิทัลโดยเฉพาะ – ที่ผ่านมาบริษัทมีการนำคอนเทนต์จากรายการต่างๆ ในสถานีวิทยุ-โทรทัศน์ตัดต่อขึ้นโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, YouTube ซึ่งสร้างรายได้เติบโตดี แต่ปีหน้าจะได้เห็นสื่อใหม่จากฝีมือสถานี เช่น The Trusted” เป็นการรวมทีมจากทั้งวิทยุ-โทรทัศน์มาผลิตรายการแบบเจาะกลุ่มผู้ชมบนออนไลน์โดยเฉพาะ เผยแพร่บนโซเชียลมีเดียของ The Trusted เริ่มจากรายการแนวข่าวและสาระก่อน
  • เสริมความบันเทิงในตลาดแมส – ในสถานีโทรทัศน์จะมีการเสริมคอนเทนต์บันเทิงให้เหมาะกับตลาดแมส จากเดิมมีจุดแข็งที่รายการการ์ตูน ขณะนี้มีพันธมิตรเป็นสตรีมมิ่ง ได้แก่ Monomax, WeTV, iQiyi ที่จะนำคอนเทนต์ลงฉาย และมีความร่วมมือผลิตซีรีส์ไทยลิขสิทธิ์ร่วมกัน ฉายในช่อง อสมท และนำไปหารายได้ผ่าน OTT ด้วย

 

คอนเทนต์ดิจิทัล-ธุรกิจใหม่ แรงขับสำคัญ

จากแผนกลยุทธ์ทั้งหมด สุนทรียา ซีเอฟโอองค์กร รายงานตัวเลขสัดส่วนรายได้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนในอนาคต จากปัจจุบัน อสมท มีแหล่งรายได้แบ่งสัดส่วนดังนี้

  • ธุรกิจโทรทัศน์และธุรกิจข่าว 33%
  • ธุรกิจให้บริการโครงข่ายวิศวกรรม 30%
  • ธุรกิจวิทยุ 27%
  • ธุรกิจดิจิทัลและธุรกิจใหม่ 6%

ภายในปี 2567 ธุรกิจดิจิทัลและธุรกิจใหม่จะเพิ่มสัดส่วนเป็น 22% โดยมีแรงขับสำคัญจากการให้เช่าที่ดินที่ทำให้รายได้โตเร็ว ประกอบกับธุรกิจดิจิทัลที่จะเติบโต รวมถึงธุรกิจ Shop Mania ที่เป็นทีวีช้อปปิ้ง

“มีคนถามว่าช่อง 9 เราจะรีแบรนด์ไหม แต่เราพบว่า เราไม่ต้องเปลี่ยนแบรนด์ใหม่ แต่เราต้องทำให้แบรนด์สดชื่นขึ้นใหม่” รศ.เกษมศานต์กล่าว

]]>
1364771
“อสมท” ครึ่งปีแรกขาดทุน 1,062 ล้าน “เขมทัตต์” หมดวาระกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ https://positioningmag.com/1292709 Fri, 14 Aug 2020 15:29:27 +0000 https://positioningmag.com/?p=1292709 อสมท เปิดผลประกอบการรายได้ 6 เดือนแรก 684 ล้านบาท แต่ยังคงขาดทุน 1,062 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะ COVID-19  ด้าน “เขมทัตต์ พลเดช” หมดวาระ แต่งตั้ง “สิโรตม์ รัตนามหัทธนะ” ขึ้นรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่

บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เผยผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2563 มีรายได้ 319 ล้านบาท วางเป้าไตรมาส 3 มุ่งขับเคลื่อนองค์กรสู่ดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ

เขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า

อสมท รายงานงบการเงินในไตรมาส 2 ปี 2563 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2563 บริษัทมีผลขาดทุนสำหรับงวด ในไตรมาสที่ 2 จำนวน 184 ล้านบาท ซึ่งยังขาดทุนลดลง โดยคิดเป็นการเปลี่ยนแปลงดีขึ้นถึง 79% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้

ในงวด 6 เดือนแรกของปี 2563 ขาดทุนจำนวน 1,062 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ภาคธุรกิจต้องควบคุมค่าใช้จ่ายการใช้งบโฆษณาและประชาสัมพันธ์ และในจำนวนดังกล่าวเป็นขาดทุนจากการด้อยค่าจำนวน 765 ล้านบาท (บมจ.อสมท ได้บันทึกค่าใช้จ่ายซึ่งเป็นผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์จำนวน 765 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 1 ปี 2563)

รวมรายได้งวด 6 เดือนแรกของ ปี 2563 อสมท มีรายได้จำนวน 684 ล้านบาท ลดลง 28% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นรายได้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2563 จำนวน 319 ล้านบาท

ทั้งนี้ เขมทัตต์จะครบวาระการดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เนื่องจากอายุครบ 60 ปี ในวันที่ 28 สิงหาคม 2563 ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการ บมจ.อสมท ในการประชุมครั้งที่ 11/2563 เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2563

สิโรตม์ รัตนามหัทธนะ กรรมการบริษัท รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท

มีมติแต่งตั้ง สิโรตม์ รัตนามหัทธนะ กรรมการบริษัท รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท เป็นการชั่วคราว แทนนายเขมทัตต์ พลเดช โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2563 เพื่อให้การบริหารงานมีความต่อเนื่อง

สำหรับผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2563 ธุรกิจการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล (BNO) และการให้บริการเช่าช่องสัญญาณโทรทัศน์ดาวเทียม (MCOT Satellite Network) สร้างรายได้ 33% ธุรกิจวิทยุ 31% ธุรกิจโทรทัศน์ 28% ธุรกิจดิจิทัล 1% รายได้อื่นๆ 7% ธุรกิจโทรทัศน์และธุรกิจวิทยุยังคงเป็นธุรกิจหลักของบริษัท

  • ธุรกิจโทรทัศน์ มีรายได้ในช่วง 6 เดือนแรกจำนวน 201 ล้านบาท ลดลง 37% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยเป็นรายได้ในไตรมาสที่ 2 จำนวน 90 ล้านบาท
  • ธุรกิจวิทยุ มีรายได้ในช่วง 6 เดือนแรกจำนวน 233 ล้านบาท ลดลง 31% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยเป็นรายได้ในไตรมาสที่ 2 จำนวน 98 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 2 คลื่นวิทยุทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ต่างได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์ COVID-19 ทุกคลื่นวิทยุมีรายได้ลดลง จากไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม คลื่นลูกทุ่งมหานคร FM 95 MHz ทำรายได้สูงที่สุดในคลื่นวิทยุของ บมจ.อสมท และมีรายได้ลดลงน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ส่วนคลื่นวิทยุอื่นๆ เช่น คลื่นความคิด FM 96.5 MHz, Mellow FM 97.5 MHz, Active Radio FM 99 MHz คลื่นข่าว FM 100.5 MHz และคลื่น MET 107 MHz ใช้กลยุทธ์ในการรักษาฐานผู้ฟังและกลุ่มลูกค้าด้วยกิจกรรมการตลาดใหม่ๆ เช่น การใช้เทคโนโลยีสื่อสารผ่านโปรแกรม Zoom การจัดกิจกรรมร่วมกับลูกค้าผู้สนับสนุนรายการและผู้ฟัง
  • ธุรกิจการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (BNO) และให้เช่าช่องรายการบนดาวเทียมในระบบ C-Band มีรายได้ใน 6 เดือนแรกปี 2563 จำนวน 196 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.รายได้ธุรกิจการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิทัล ตามที่ กสทช.มีมติเห็นชอบให้ทดลอง ส่งสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ในระบบดิจิทัลเพื่อการศึกษาในการส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ของเยาวชนและครอบครัว ซึ่งทำให้ บมจ.อสมท รับรู้รายได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และ 2.รายได้จากธุรกิจการให้เช่าช่องสัญญาณดาวเทียม โดยเป็นรายได้ในไตรมาสที่สองปี 2563 จำนวน 105 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

สำหรับการพัฒนาที่ดินย่านรัชดา-พระราม 9 (ที่ดิน 50+20 ไร่) อยู่ระหว่างการจัดทำข้อกำหนด การคัดเลือกผู้ลงทุนและเสนอผลประโยชน์ตอบแทนในการลงทุนให้แก่ บมจ.อสมท ที่คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในปี 2563 ทั้งนี้ราคาที่ดินประเมินในพื้นที่ดังกล่าว มีมูลค่า 5,000 ล้านบาท หากมีการพัฒนาที่น่าสนใจ ก็จะสร้างมูลค่าได้มากขึ้น”

]]>
1292709
วันสุดท้าย! MCOT Family “ลาจอ” ย้อนดูผลงาน 5 ปีทีวีดิจิทัลรายได้รั้งท้าย “อสมท” ย้ำไม่มีเลิกจ้าง https://positioningmag.com/1246418 Sun, 15 Sep 2019 06:05:34 +0000 https://positioningmag.com/?p=1246418 เที่ยงคืนวันนี้ (15 ..) ถึงคิว ช่อง 14  MCOT Family “ลาจอ” นับเป็นช่องที่ 5 จากจำนวน 7 ช่องที่ขอคืนใบอนุญาต ผลงาน 5 ปีทีวีดิจิทัลช่องเด็กทำรายได้ต่ำสุดในบรรดาช่องทีวีดิจิทัล รวม 157 ล้านบาท ขอคืนใบอนุญาตได้เงินชดเชย 163 ล้านบาท

จากข้อมูลของสำนักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงาน กสทช. จัดทำหนังสือ 5 ปี บนเส้นทางทีวีดิจิทัล : บทเรียนและการเปลี่ยนแปลง สรุปอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลตลอดช่วง 5 ปี (2557 – 2561) ตั้งแต่เริ่มประมูลถึงวันคืนใบอนุญาตก่อนจบสัญญา 15 ปี ในปี 2572

1 ใน 7 ช่องที่ขอคืนใบอนุญาต มีกำหนดยุติออกอากาศเที่ยงคืนวันที่ 15 ก.ย. 2562 หรือ เข้าสู่วันที่ 16 ก.ย. 2562 คือ ช่อง 14 MCOT Family ของ บมจ.อสมท

โดย อสมท เป็นรัฐวิสาหกิจในตลาดหลักทรัพย์ที่เข้าร่วมประมูลทีวีดิจิทัลในปลายปี 2556 ถือเป็นกลุ่มผู้ประกอบการรายฟรีทีวีรายเดิม ที่ประมูลใบอนุญาตเพิ่มอีก 1 ช่องใหม่ ในหมวดเด็ก เยาวชน และครอบครัว ด้วยมูลค่า 660 ล้านบาท ช่วงเริ่มต้นทีวีดิจิทัล ใช้ชื่อ MCOT Kids & Family หมายเลข 14 จากนั้นเดือนมิ.ย. 2557 เปลี่ยนมาเป็นชื่อ MCOT Family

ในยุคแอนะล็อก ช่อง 9 อสมท มีรายการสำหรับเด็กที่ได้รับความนิยมสูงอยู่แล้ว โดยเฉพาะรายการ ช่อง 9 การ์ตูน จึงประมูลช่องเด็กเพื่อต่อยอดคอนเทนต์ที่แข็งแกร่ง แต่การทำทีวีดิจิทัลช่องเด็ก มีข้อจำกัดเรื่องเงื่อนไขเนื้อหารายการ ที่ต้องเป็นรายการที่เหมาะสมกับเด็ก เยาวชน และครอบครัว และโฆษณาที่เหมาะสมกับผู้ชม ช่อง MCOT Family จึงลำบากในการเดินหน้าธุรกิจ

ตลอดช่วง 5 ทีวีดิจิทัล MCOT Family เป็นช่องที่ทำรายได้ “น้อยที่สุด” ในบรรดาช่องทีวีดิจิทัลทั้งหมด โดยปีแรก 2557 มีรายได้ 6 ล้านบาท ปี 2558 รายได้ 24 ล้านบาท ปี 2559 รายได้ 29 ล้านบาท ปี 2560 รายได้  50 ล้านบาท ปี 2561 รายได้ 48 ล้านบาท รวม 5 ปี รายได้ อยู่ที่ 157 ล้านบาท เรตติ้งดีที่สุด 0.029 ในปี 2561 และต่ำสุด 0.006 ปี 2557 จึงอยู่ในอันดับท้ายตาราง การคืนใบอนุญาต MCOT Family ได้รับเงินชดเชย จาก กสทช. รวม 163 ล้านบาท

เขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังจากยุติช่อง 14 MCOT Family อสมท ยังสนับสนุนส่งเสริมเยาวชน สังคมและครอบครัวตามภารกิจ ของ อสมท ผ่านสื่อต่างๆ ในเครือ

สำหรับการบริหารจัดการบุคลากรของช่อง 14 MCOT Family หลังยุติการออกอากาศ อสมท ไม่มีนโยบายเลิกจ้างบุคลากร ช่อง 14 MCOT Family โดยใช้วิธีโยกย้ายบุคลากรทั้งหมดของช่อง 14 MCOT Family ไปยังหน่วยธุรกิจและหน่วยหารายได้แทน ส่วนบุคลากรภายนอกยังคงดูแลพิธีกร ผู้ดำเนินรายการตามสัญญาที่ได้จัดทำไว้

ส่วนรายการพันธมิตรและคู่สัญญาที่ดำเนินงานร่วมกับช่อง 14 MCOT Family ส่วนใหญ่ได้สิ้นสุดสัญญาลงเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2562 ซึ่งเป็นปกติของการปรับผังรายการในทุก 6 เดือน และไม่ได้ต่อสัญญาใหม่ จากการบอกคืนใบอนุญาตตั้งแต่ 10 พ.ค. 2562.

]]>
1246418
ย้ายช่อง! “แม็กซ์ มวยไทย” ลงจอ MCOT – อมรินทร์ ยึดผังไพรม์ไทม์ 7 วันรวด https://positioningmag.com/1242038 Mon, 12 Aug 2019 05:16:01 +0000 https://positioningmag.com/?p=1242038 “แม็กซ์ มวยไทย” เป็นรายการถ่ายทอดสดมวยไทย 7 วัน ที่มาจุดกระแสสร้างเรตติ้งให้ช่องทีวีดิจิทัล ตั้งแต่ยุคที่อยู่กับช่อง 8 ปี 2558 – 2561 ครองเรตติ้งสูงสุดในกลุ่มรายการมวย หลังจากนั้นย้ายมาที่ สปริง 26 ตั้งแต่ 1 ก.ค. 2561 ถึงปัจจุบัน ถือเป็นรายการเรตติ้งสูงสุดของช่อง ตัวเลขล่าสุด เดือน ก.ค. อยู่ที่ 1.445   

แต่หลังจาก “สปริง 26” ขอคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล เตรียมลาจอเที่ยงคืน 15 ส.ค. นี้ “แม็กซ์ มวยไทย” ถูกจับตามาตลาอดว่า ทีวีดิจิทัล “ช่องใด” จะคว้ารายการนี้ไป เพราะถือเป็นรายการยาว 7 วัน ที่ต้องขยับผังเทเวลาถ่ายทอดสดตลอดสัปดาห์ โดยเฉพาะในช่วงไพรม์ไทม์ สุดท้ายมาสรุปลงตัวที่ อสมท และ อมรินทร์ทีวี

ยิงสด 2 ช่อง “MCOT-อมรินทร์”

“แม็กซ์ มวยไทย” เป็นการแข่งขันชกมวยไทย ถ่ายทอดสดจากเวทีมวย แม็กซ์ สเตเดี้ยม เมืองพัทยา จัดแข่งขันโดย อาสิระ เตาะเจริญสุข ประธาน บริษัท แม็กซ์ มวยไทย จำกัด โดยออกอากาศทางทีวีดิจิทัล 7 วัน เวลา 18.00 – 20.00 น.

ปัจจุบันออกอากาศทางช่อง สปริง 26 หลังจาก สปริง 26 คืนใบอนุญาตและต้องยุติการออกอากาศเวลาเที่ยงคืน วันพฤหัสบดี 15 ส.ค. นี้ “แม็กซ์ มวยไทย” ได้เปิดตัวพันธมิตรทีวีดิจิทัล 2 ช่อง เพื่อถ่ายทอดสดการแข่งขันต่อเนื่อง คือ อมรินทร์ทีวี ออกอากาศ 2 วัน คือ วันศุกร์และเสาร์ เวลาเดิม 18.00 – 19.30 น. เริ่มวันศุกร์ 16 ส.ค. นี้ เป็นต้นไป

พันธมิตรอีกช่องคือ อสมท ทางช่อง MCOT HD 5 วัน คือ ทุกวันอาทิตย์ – พฤหัสบดี เริ่มออกอากาศสดในวันอาทิยต์ที่ 18 ส.ค. นี้ เวลา 18.00 – 19.30 น.

“อสมท” รื้อผังส่ง “มวยสู้ศึกไพรม์ไทม์

เขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันรายการทีวีนอกจากรายการข่าว และรายการบันเทิงแล้ว รายการกีฬา ยังได้รับความสนใจจากผู้ชมจำนวนมาก โดยเฉพาะกีฬามวยไทย ที่สามารถสร้างเรตติ้งให้กับทุกสถานีทีวี เนื่องจากเป็นคอนเทนต์ที่ต้อง “ดูสด” และการแข่งขันรายการมวยต่างๆ เป็นรายการเฉพาะที่ไม่สามารถรับชมได้จากช่องอื่นๆ จึงสามารถสร้างฐานแฟนประจำทั้งคนไทยและต่างประเทศ

เดือน ส.ค. นี้ อสมท ได้ปรับผังรายการไพรม์ไทม์ใหม่ จับมือกับ “แม็กซ์ มวยไทย” MAX MUAY THAI ถ่ายทอดสดคอนเทนต์มวยไทยพรีเมียม 5 วัน ทุกวันอาทิตย์ถึงวันพฤหัสบดี เริ่มวันที่ 18 ส.ค. นี้ เวลา 18.00 – 19.30 น. ถือเป็นการออกอากาศสดทางทีวีดิจิทัล ช่องเอชดี เป็นครั้งแรก

ทุกวันจันทร์ – อังคาร : มวยไทย ไฟต์เตอร์ MUAY THAI FIGHTER เป็นรายการถ่ายทอดสด มวยไทยระดับนานาชาติ 4 คู่ชก นักชกไทย ต่างชาติ ทุกวันพุธ – พฤหัสบดี : เดอะโกลบอลไฟต์ แชมเปียนชาเลนจ์ THE GLOBAL FIGHT CHAMPION CHALLENGE เป็นรายการถ่ายทอดสดมวยไทยระดับนานาชาติ 4 คู่ชก นักชกไทย ต่างชาติ

]]>
1242038
เรตติ้งเปลี่ยน! “ช่อง 3 SD” ลาจอ อันดับท็อปเท็นว่าง “4 ช่อง” เข็นคอนเทนต์ใหม่ลงผังหวังเสียบแทน https://positioningmag.com/1241984 Mon, 12 Aug 2019 01:25:50 +0000 https://positioningmag.com/?p=1241984 เดือน .นี้ทีวีดิจิทัลจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ จากการคืนใบอนุญาต 7 ช่อง ที่จะเริ่มทยอยลาจอตั้งแต่เที่ยงคืนวันที่ 15 .นี้ เป็นต้นไป โดย 2 ช่องสุดท้ายคือ 3 Family และ 3 SD ยุติออกอากาศสิ้นเดือน .นี้

ในกลุ่ม 7 ช่องที่คืนใบอนุญาต ช่องที่มีเรตติ้งสูงสุด คือ ช่อง 3 SD หากย้อนสถิติ 5 ปี พบว่าขยับขึ้นมาต่อเนื่องและอยู่ในกลุ่มท็อปเท็นปัจจุบัน โดย ปี 2557 เรตติ้ง 0.017 อันดับ 17, ปี 2558 เรตติ้ง 0.083 อันดับ 13, ปี 2559 เรตติ้ง 0.234 อันดับ 7, ปี 2560 เรตติ้ง 0.279 อันดับ 7, ปี 2561 เรตติ้ง 0.309 อันดับ 9 และ ล่าสุดเดือน ก.ค. 2562 เรตติ้ง 0.288 อันดับ 9

4 ช่อง” เบียดชิงขึ้นท็อปเท็นเรตติ้ง  

ดังนั้นหลังจาก ช่อง 3 SD ที่ครองเรตติ้งติดท็อปเทนมาตั้งแต่ปี 2559 ถึงปัจจุบัน การเตรียมคืนใบอนุญาต “ลาจอ” ในคืนวันที่ 30 ก.ย. เวลาเที่ยงคืน นั่นหมายถึงตำแหน่งที่ “ว่างลง” ของเรตติ้งในกลุ่ม 10 อันดับแรก ทำให้อันดับรองลงไปจะขยับขึ้นมาแทน

ปัจจุบันทีวีดิจิทัลที่มีเรตติ้งอันดับ 10 – 13 มีตัวเลขใกล้เคียงกันมากและมีโอกาสสลับตำแหน่ง แบบเดือนต่อเดือน หลังจาก ช่อง 3 SD ยุติออกอากาศ เรตติ้งอันดับ 9 และ 10 จะขยับขึ้น โดยมี 4 ช่อง ลุ้นไต่อันดับขึ้น คือ พีพีทีวี, เนชั่นทีวี, MCOT HD และ GMM25 ที่จะเบียดชิงตำแหน่งกันแบบหายใจรดต้นคอ

การขึ้นมาอยู่ในกลุ่มท็อปเท็นเรตติ้งได้ หมายถึงโอกาสที่จะได้เม็ดเงินโฆษณาจากมีเดีย เอเยนซีและสินค้าที่จัดสรรเม็ดเงินให้กับกลุ่มนี้เป็นอันดับแรก ปัจจุบัน ช่อง 7 และช่อง 3 ยังเป็น 2 ช่องผู้นำเรตติ้งที่เอเยนซีเลือกลงโฆษณาสูงสุด สัดส่วน 50% ของงบโฆษณาทีวี ส่วนงบโฆษณาทีวีอีก 40% จะกระจายไปที่ “ทีวีดิจิทัล” เรตติ้งอันดับที่ 3 – 7 และอีก 10% อาจจะอยู่ที่อันดับที่เหลือแต่ไม่เกินอันดับ 10

ช่วงครึ่งปีหลังจึงเห็นการเปลี่ยนแปลง “ผังรายการ” ของกลุ่มท็อปเท็น ในการนำคอนเทนต์ใหม่ลงจอ หวังขยับเรตติ้งจากจุดเปลี่ยนคืนใบอนุญาตของ 7 ช่อง ซึ่งรวมกันแล้วครองส่วนแบ่งการตลาดผู้ชมราว 8% มีรายได้โฆษณารวมกัน 120 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 1,440 ล้านบาทต่อปี ทั้งผู้ชมและเม็ดเงินก้อนนี้ ก็จะไหลไปยังช่องทีวีดิจิทัลอื่นๆ แทน

สถาพร พานิชรักษาพงศ์

GMM25 เข็นคอนเทนต์ใหม่ไต่ท็อปเท็น

สถาพร พานิชรักษาพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล จำกัด กล่าวว่า ช่วงครึ่งปีหลัง 2562 ช่อง GMM25 วางแผนขยายฐานผู้ชมเพิ่มขึ้นทุกแพลตฟอร์ม โดยเดือน ส.ค. นี้ รายการ “ลูกทุ่งสู้ฟัด” ที่นำเสนอทุกวันอาทิตย์ 18.20 – 20.00 น. ทางหน้าจอทีวี ได้ต่อยอดไปสู่ On Ground โดยจะจัดบิ๊กอีเวนต์ “คอนเสิร์ตลูกทุ่งสู้ฟัด” ศิลปินจากแกรมมี่โกลด์ และผู้เข้าแข่งขันจากรายการ

หลังเริ่มออนแอร์รายการลูกทุ่งวิ่งสู้ฟัด ตั้งแต่เดือนพ.ค. ที่ผ่านมา พบว่าเรตติ้งขยับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมีฐานคนดูกลุ่มใหม่ภาคอีสาน ภาคกลาง รวมไปถึงประเทศลาว เดือน มิ.ย. – ก.ค. ช่วงไพร์มไทม์หัวค่ำเพิ่มขึ้น 82.51% จากเดือน เม.ย. – พ.ค.

ส่วนไพร์มไทม์ 20.10 น. มี “ละครค่ำ” เรื่องใหม่ “ปลาร้าทรงเครื่อง” คอมเมดี้และดราม่า ทุกวันพุธ – พฤหัส เริ่มตอนแรก 15 ส.ค. และเรื่อง “แรงเทียน” ละครดราม่า ทุกจันทร์ – อังคาร เริ่มวันที่ 2 ก.ย.

พร้อมคอนเทนต์รายการกีฬาครั้งแรกของช่อง GMM 25 ช่วงวีคเอนด์กับรายการใหม่ “มวยดี วิถีไทย” ถ่ายทอดสดจากสนามมวยบลูอารีน่า จ. สมุทรปราการ ทุกวันอาทิตย์ 12.00 – 14.00 น. เริ่ม 11 ส.ค. เจาะผู้ชมกลุ่มผู้ชายเพิ่มขึ้น จากเดิมฐานผู้ชมเป็นกลุ่มผู้หญิง 60%

“ปีนี้ GMM 25 เสริมคอนเทนต์เพื่อขยายกลุ่มเป้าหมายใหม่ตลาดแมสอีสานและเอาใจกลุ่มเป้าหมายเดิมในทุกแพลตฟอร์ม และดึงคอนเทนต์กีฬามวยมาออกอากาศครั้งแรก ต้องการเพิ่มฐานผู้ชมครึ่งปีหลังและเป้าหมายติดอันดับท็อปเท็นเรตติ้งทีวีดิจิทัลให้ได้ จากเดือน ก.ค. เรตติ้งอยู่ที่อันดับ 14”

สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์

“พีพีทีวี” ย้ำเวิลด์คลาสยิงสดพรีเมียร์ลีกยาว 3 ปี

“พีพีทีวี” เป็นช่องที่ไล่บี้ช่องอื่นๆ เพื่อขึ้นมายืนในตำแหน่งเรตติ้งท็อปเท็นได้ในปีนี้ เดือนก.ค. 2562 ครองอันดับ 10 เรตติ้ง 0.159 ถือเป็นตำแหน่งที่ขยับขึ้นมาต่อเนื่อง หากดูย้อนหลังไป 5 ปี เริ่มต้นในปี 2557 เรตติ้ง 0.015 อันดับ 19, ปี 2558 เรตติ้ง 0.073 อันดับ 14, ปี 2559 เรตติ้ง 0.114 อันดับ 13, ปี 2560 เรตติ้ง 0.149 อันดับ 13 และปี 2561 เรตติ้ง 0.164 อันดับ 12

กลยุทธ์ของช่องพีพีทีวี คือ ทุ่มไม่อั้นกับคอนเทนต์ระดับเวิล์ดคลาส แต่ละปีใช้งบราว 1,000 ล้านบาท คอนเทนต์ ไฮไลต์ คือ กีฬาระดับโลกโดยเฉพาะฟุตบอลลีกดัง โดยเปิดตัว เป็น “ฟรีทีวี” ที่ถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีก มาตั้งแต่ฤดูกาล 2015/16 และล่าสุดกับ 3 ฤดูกาลใหม่ ปี 2019/20 ถึง 2021/22 ภายใต้การบริหารลิขสิทธิ์ของ “ทรูวิชั่นส์”

สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี เอชดี ช่อง 36 กล่าวว่าได้ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกต่อเนื่องอีก 3 ฤดูกาลๆ ละ 30 แมตช์ เพื่อให้พีพีทีวีเป็นช่องฟรีทีวียอดนิยมของคอกีฬาตลอดระยะเวลาต่อเนื่อง หลังจากถ่ายทอดสดรายการนี้ 4 ปี และมีแฟนประจำที่ติดตามชม

ช่วง 5 เดือนหลังจากนี้ นอกจากฟุตบอลพรีเมียร์ลีกแล้ว “พีพีทีวี” ยังถ่ายทอดสดฟุตบอลบุนเดสลีกา รวมทั้งกีฬาอื่นๆ อีกหลากหลายรายการ เช่น ฟุตบอลโคปา อเมริกา (Copa America 2019) จากบราซิล ฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก 2019 จากประเทศฝรั่งเศส ฟุตบอล ICC 2019 การแข่งขันจักรยานยนต์ทางเรียบโมโตจีพี และศึกมวยชิงแชมป์โลกระหว่าง “ปาเกียว กับ เธอร์แมน”

ทีมผู้ประกาศข่าว พีพีทีวี

ตั้งแต่ครึ่งปีหลังยังได้ขยายเวลาข่าวเช้า จากเดิม 2 ชั่วโมง 30 นาที เป็น 3 ชั่วโมง 30 นาที เพื่อให้ผู้ชมเกาะติดสถานการณ์ข่าวเช้ายาวต่อเนื่อง ตั้งแต่เวลา 05.30 ถึงเวลา 09.00 น. ประกอบด้วย “โชว์ข่าวเช้านี้” และ “โชว์ข่าว 36” รวมทั้ง “เที่ยงทันข่าว” เวลา 11.00 – 12.30 น. “เป็นเรื่อง เป็นข่าว” เวลา 17.00 – 17.30 น. และ “เข้มข่าวค่ำ” เวลา 17.30 – 20.00 น.

เป้าหมายของ พีพีทีวี จะต้องมีรายได้เติบโตจากปีก่อน 100% หรือราว 1,000 ล้านบาท รวมทั้งทำเรตติ้งติดท็อป 5 ให้ได้ในอนาคต

“อสมท” เปิดผังใหม่ปลาย ส.ค. นี้  

MCOT 30 ของ อสมท เป็นช่องฟรีทีวีเดิมที่ต้องลุ้นเป็นหนึ่งในกลุ่มท็อปเท็นในยุคทีวีดิจิทัล หลังจากผู้ผลิตรายการที่เคยอยู่กับช่อง ทยอยย้ายรายการออกไปยังทีวีดิจิทัลช่องใหม่แต่ ยุคเริ่ม ปี 2557 เรตติ้ง ช่อง MCOT 30 ยังทำได้ดี อยู่ที่ 0.468 อันดับ 3 มาปี 2558 เรตติ้ง 0.226 อันดับ 6 หลังจากนั้นเริ่มลดลงไปอยู่ท้ายตารางกลุ่มท็อปเทน ปี 2559 เรตติ้ง 0.180 อันดับ 9, ปี 2560 เรตติ้ง 0.265 อันดับ 9, ปี 2561 เรตติ้ง 0.189 อันดับ 10 ล่าสุด ก.ค. 2562 เรตติ้ง 0.159 อันดับ 12

เขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าปลายเดือนส.ค. นี้ จะมีการปรับผังใหม่ โดยช่วงเช้า เน้นข่าวเศรษฐกิจทั่วไป ตลาดหุ้น และเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับปากท้องประชาชน ช่วงบ่าย เศรษฐกิจชาวบ้าน และกลุ่มสาระบันเทิง ส่วนช่วงเย็น รายการกีฬา ซีรีส์ต่างประเทศ และฮาร์ดทอล์ก เชื่อว่าปีนี้ยังคงทำเรตติ้งเกาะกลุ่มท็อปเท็นได้เหมือนปีก่อน

เนชั่น” ลุ้นโกยผู้ชมช่องสปริง 26 หลังลาจอ

ปี 2562 “เนชั่นทีวี” เป็นช่องข่าวที่สามารถไต่อันดับขึ้นมาอยู่ในกลุ่มท็อปเทนได้หลายครั้ง ล่าสุด ก.ค. 2562 เรตติ้ง 0.183 อยู่อันดับ 11 สถานการณ์นับตั้งแต่มีการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ทำให้รายการข่าวของเนชั่นทีวี ทำเรตติ้งขยับขึ้นต่อเนื่อง

หากย้อนไปดูเรตติ้ง 5 ปีก่อน เห็นได้ว่าอันดับจะอยู่ท้ายตาราง ปี 2557 เรตติ้ง 0.045 อันดับ 11, ปี 2558 เรตติ้ง 0.051 อันดับ 20, ปี 2559 เรตติ้ง 0.077 อันดับ 17, ปี 2560 เรตติ้ง 0.072 อันดับ 17, ปี 2561 เรตติ้ง 0.121 อันดับ 15

หลังจากช่อง สปริง 26 เตรียมยุติออกอาอากาศในเวลาเที่ยงคืนวันที่ 15 ส.ค. นี้ ผู้ชมช่องสปริง 26 มีโอกาสที่จะไหลไปช่องเนชั่นทีวีและปีนี้มีลุ้นติดอันดับท็อปเท็นเช่นกัน

]]>
1241984
สวนกระแสสื่อซบ! “อสมท” ขึ้นเงินเดือนพนักงาน 1,400 คน แต่ปลายปีมี “โครงการร่วมใจจาก” https://positioningmag.com/1240305 Thu, 25 Jul 2019 02:50:20 +0000 https://positioningmag.com/?p=1240305 ถือเป็นเรื่องที่สวนกระแสอุตสาหกรรมสื่อเลยทีเดียว เมื่อ “อสมท” ที่เผชิญปัญหาขาดทุนหลังยุคทีวีดิจิทัล ประกาศ “ขึ้นเงินเดือน” ประจำปี 2562 เป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2558 ที่ผลประกอบการเริ่มขาดทุน

โดยเมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2562 บมจ.อสมท มีการเผยแพร่สารจากกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ “เขมทัตต์ พลเดช” ที่มีเนื้อหาว่า ในรอบ 6 เดือนแรกปีนี้ อสมท ยังคงเป็นเหมือนธุรกิจในแวดวงสื่อที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปและการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจทีวีดิจิทัล ทำให้ธุรกิจสื่อไม่เติบโตและรุ่งเรืองเหมือนที่ผ่านมา รวมทั้ง อสมท ยังมีภาระต้นทุนด้านบุคลากรสูงและรูปแบบองค์กรที่ไม่เอื้อต่อการแข่งขันทางธุรกิจปัจจุบัน ทำให้ อสมท ไม่สามารถอยู่ในสถานะที่มั่นคง แข็งแรงและมีกำไรเหมือนที่ผ่านมา

ขึ้นเงินเดือนปี 62 ย้อนหลังให้ตั้งแต่ ม.ค.

แม้สถานการณ์ธุรกิจสื่อปัจจุบันยังไม่สดใสนัก แต่ผลการดำเนินงานของ อสมท ในปี 2561 เริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น ฝ่ายบริหารจึงได้เสนอคณะกรรมการ บมจ.อสมท พิจารณาปรับ “ขึ้นเงินเดือน” พนักงานระดับ “ผู้อำนวยการฝ่าย” ลงมา และจ่ายค่าครองชีพแบบเหมาจ่ายให้กับลูกจ้างรายวัน วงเงิน 15 ล้านบาท โดยมีผลย้อนหลังตั้งแต่เดือน ม.ค. 2562 โดยปลายเดือน ก.ค. นี้ พนักงาน อสมท จะได้รับเงินเดือนใหม่ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการทำงาน

ช่วง 4 – 5 ปีที่ผ่านมา อสมท ได้พยายามสร้างรายได้ใหม่ๆ ให้องค์กร นอกจากธุรกิจหลักด้านสื่อและลดค่าใช้จ่าย เพื่อให้สถานะทางการเงินของ อสมท ดีขึ้น มาตรการเยียวยาของรัฐด้วยการเปิดให้คืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ส่งผลให้ อสมท ในฐานะผู้ให้บริการโครงข่าย (Mux) มีรายได้ลดลงเช่นกัน จากลูกค้าผู้ใช้บริการโครงข่าย 2 รายคืนใบอนุญาต และจะยุติออกอากาศในเดือน ส.ค. นี้ รวมทั้ง อสมท ได้ขอคืนใบอนุญาตช่อง 14 MCOT Family ซึ่งจะยุติในเดือน ก.ย. 2562 และจะได้รับเงินชดเชยภายใน 2 เดือนหลังจากยุติออกอากาศ

ปลายปีเปิดโครงการร่วมใจจาก

แนวทางการดำเนินธุรกิจ 6 เดือนหลังปี 2562 อสมท จำเป็นต้อง “ลดต้นทุน” บางส่วนและปรับปรุงกระบวนการขายและการตลาดใหม่ ปรับปรุงรายการให้สามารถแข่งขันและแย่งชิงเม็ดเงินโฆษณาในตลาดได้ มุ่งเน้นสร้าง “แพลตฟอร์ม ดิจิทัล” เพื่อหารายได้รองรับการสิ้นสุดสัมปทานและสถานการณ์เม็ดเงินโฆษณาชะลอตัว

ปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจและองค์กร เพื่อลดการขาดทุนในธุรกิจเดิมและสร้างรายได้ใหม่ จากธุรกิจดิจิทัลและดาต้า ซึ่งอาจทำให้บางหน่วยงานต้องควบรวมกันเพื่อให้เกิดเป็นหน่วยงานใหม่ที่จะสร้างเสถียรภาพให้องค์กร โดยได้แต่งตั้งคณะทำงาน 4 คณะ เพื่อผลักดันให้การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้สำเร็จ โดยมีบทบาทดังนี้

  1. กำหนดค่าตอบแทนบุคลากรที่เหมาะสมและสามารถดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถและพัฒนาวัฒนธรรมองค์กร
  2. ปรับปรุงกระบวนการทำงานเพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานได้ดีขึ้น มีความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ
  3. กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินเพื่อสรรหา บรรจุบุคลากรในโครงสร้างองค์กรใหม่
  4. บริหารจัดการและสื่อสารการเปลี่ยนแปลงและดำเนินโครงการร่วมใจจาก

ภายใต้นโยบายการปรับโครงสร้างธุรกิจและองค์กรใหม่ อสมท เตรียมประกาศ “โครงการร่วมใจจาก” ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ โดยจะให้ผลประโยชน์ที่ดีที่สุดและเป็นธรรมกับผู้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะดำเนินการเพียงครั้งเดียวเท่านั้น เริ่มไตรมาสสุดท้ายปี 2562

ปรับองค์กรลดพนักงาน

จากการสอบถามเพิ่มเติมไปยัง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท กล่าวว่าการประกาศขึ้นเงินเดือนประจำปี 2562 ครั้งนี้ เป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2558 เพราะตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา อสมท ประสบภาวะขาดทุนมาถึงปัจจุบัน จากหลายปัจจัยทั้งเทคโนโลยี ดิสรัปชัน การแข่งขันในสื่อทีวี แต่ตัวเลขขาดทุนก็ลดลงเรื่อยๆ จึงมีการขึ้นเงินเดือนพนักงาน เฉลี่ยประมาณ 3% ตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการฝ่ายลงมา หรือเกือบทั้งหมดของพนักงาน 1,400 คน โดยผู้บริหารที่ไม่ได้ขึ้นเงินเดือนมีราว 20 คน เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้พนักงาน

แต่ก็ยอมรับว่า อสมท จำเป็นต้องปรับลดพนักงาน เช่นเดียวกับธุรกิจสื่ออื่นๆ เพื่อให้โครงสร้างองค์กรใหม่กระชับขึ้น โครงการร่วมใจจาก ที่เปิดโอกาสให้พนักงานอายุ 40 ปีตอนปลายเป็นต้นไป เข้าโครงการสมัครใจลาออก โดยจะให้เสนอสิทธิผลประโยชน์ที่ดีที่สุดให้กับผู้เข้าร่วปีมโครงการ

สำหรับผลประกอบการตั้งแต่เริ่มต้นยุคทีวีดิจิทัล ปี 2557 อสมท เป็นหนึ่งในบริษัทที่ประสบปัญหาขาดทุน   

  •  2557 รายได้ 4,136 ล้านบาท กำไร 535 ล้านบาท
  • ปี 2558 รายได้ 3,745 ล้านบาท กำไร 71 ล้านบาท
  • ปี 2559 รายได้ 2,848 ล้านบาท ขาดทุน 782 ล้านบาท
  • ปี 2560 รายได้ 2,728 ล้านบาท ขาดทุน 2,541 ล้านบาท
  • ปี 2561 รายได้ 2,102 ล้านบาท ขาดทุน 373 ล้านบาท
  • ปี 2562 ไตรมาสแรก รายได้ 594 ล้านบาท ขาดทุน 31 ล้านบาท
]]>
1240305
“อสมท” ดิ้นหนีตาย ปรับใหญ่ทีวีดิจิทัล “เปิดสายช้อปปิ้งลงผังช่องเด็ก” ลดข่าวช่องหลักดันบันเทิงเสียบ https://positioningmag.com/1144138 Tue, 24 Oct 2017 00:25:16 +0000 https://positioningmag.com/?p=1144138 สมรภูมิแย่งยิงเค้กเรตติ้งคนดู และเม็ดเงินโฆษณา ที่นับวันก็ยิ่งเข้มข้น ยังคงเป็นโจทย์หินของ “ทีวีดิจิทัล” ต้องพลิกแผนหาลู่ทางใหม่ๆ ตลอดเวลา

อสมท เป็นอีกช่องที่ตัดสินใจยกเครื่องช่อง อสมท 14 (MCOT 14) ใหม่ เปลี่ยนคอนเซ็ปต์จากช่วงเริ่มประมูล ช่องเด็ก และครอบครัว เป็นช่องรับฮัลโหลสั่งซื้อสินค้า จาก SMEs Start up และ OTOP เปิดตัว (Soft Launch ) พ.ย.นี้ หวังกวาดรายได้ก่อน ค่อยรอเรตติ้งมา

เขมทัตต์ พลเดช ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อสมท ได้ปรับกลยุทธ์บริหารทีวีดิจิทัลทั้งสองช่องของอสมท ได้แก่ MCOT HD ช่อง 30 และ MCOT Family ช่อง 14 ใหม่ โดยตั้งเป้าให้ช่อง MCOT HD ช่อง 30 ได้เรตติ้งอยู่ในอันดับ 8 ภายในปีหน้า จากปัจจุบันอยู่ประมาณอันดับ 10

“การเปลี่ยนแปลงที่จะเห็นอันดับแรก คือเราปรับโฉมช่อง MCOT Family ช่อง 14 เป็นชื่อ ช่อง  MCOT 14 โดยเน้นรายการประเภทส่งเสริมธุรกิจ SMEs, ส่งเสริมการขายสินค้าผ่านระบบ e commerce ให้กับสินค้าประเภท OTOP ของแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ และเสริมด้วยการสนับสนุน Start up ธุรกิจของคนรุ่นใหม่”

อสมท จะเริ่มรีแบรนด์ช่อง 14 ในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ เป็นการ Soft Launch เพื่อทดลองตลาด โดยมีการเซ็นความร่วมมือกับสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เพื่อร่วมกันผลิตรายการ และรายการขายผลิตภัณฑ์สินค้าพื้นบ้านของแต่ละจังหวัด (OTOP) ที่มีสินค้ามากกว่า 600 รายการ โดยเป็นการขายผ่านระบบ e commerce และผ่านระบบ Call Center ที่อสมท กำลังเร่งทำระบบ Back up ของ Call Center ร่วมกับพาร์ตเนอร์ และระบบ Monitoring งบลงทุนประมาณ 20-30 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ อสมท จัดสรรงบประมาณลงทุน ช่อง MCOT 14  เพราะที่ผ่านมา เป็นการจัดผังรายการแบบรีรันรายการเดิมในสต๊อกจึงไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

“การรีแบรนด์ใหม่ครั้งนี้ เราเชื่อว่าจะพลิกโฉมช่องของเราให้เป็นที่รับรู้ จดจำของตลาดมากขึ้น โดยจะช่วยผลักดันให้เรตติ้งค่อยๆ ดีขึ้น จากเดิมที่ช่อง 14 เรตติ้งอยู่ในสามอันดับสุดท้ายของช่องดิจิทัลทั้งหมด ส่วนในแง่รายได้ก็จะเริ่มมีเข้ามาจากยอดขายสินค้า และการร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ สปอนเซอร์ และโฆษณา” นายเขมทัตต์ กล่าว

รูปแบบการขายสินค้าของช่อง จะแตกต่างจากพวกรายการ Home Shopping ที่มีอยู่ในปัจจุบันที่ซื้อเวลา และไปขายสินค้าของตัวเอง แต่ อสมท จะผลิตรายการร่วมกับพาร์ตเนอร์ และใช้บุคลากรของช่องในการนำเสนอรูปแบบสินค้า

นอกจากนี้ช่อง MCOT 14 ก็จะออกอากาศ 24 ชั่วโมง โดยเป็นการรีรันรายการ ผสมกับรายการขาสินค้า OTOP และ SMEs และคาดว่าจะใช้เวลาทดลองตลาดประมาณ 2-3 เดือน แล้วถึงจะเปิดตัวเป็นทางการในต้นปีหน้า และหากทุกอย่างเป็นไปตามแผน อสมท จะเริ่มมีรายได้จากช่อง MCOT 14 จากนั้นจะเริ่มผลิตละคร ซีรีส์สำหรับครอบครัว ที่เหมาะสมกับช่องตามมา

สำหรับสัดส่วนผังรายการเบื้องต้นที่วางไว้สำหรับช่อง MCOT 14 คือ เป็นรายการวาไรตี้ SMEs ที่รวมการขายสินค้า 65% รายการข่าว 10% กีฬา 10% และ รายการเด็กและการ์ตูน 15%

อย่างไรก็ตาม เขมทัตต์ ยืนยันว่าการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ไม่ได้ทำผิดกฏ กสทช. เพราะยังคงมีรายการสำหรับเด็กและครอบครัว เช่น การ์ตูน สารคดี อีกทั้งรายการที่ปรับใหม่ ก็เป็นรายการที่สามารถดูได้ทั้งครอบครัว

ถ้า กสทช. จะออกมาห้ามด้วยกฎกติกาต่างๆ เราก็ไม่สนใจแล้ว เพราะไม่ได้ผิดกฎอะไร ทุกวันนี้ทุกช่องต้องปรับกลยุทธ์หนีตาย สร้างรายได้กันทั้งนั้น

ทั้งนี้ ตัวอย่างของทีวีดิจิทัลที่ประสบความสำเร็จจากการเน้นการขายสินค้ามาแล้วคือช่อง 8 ของ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) จากตัวเลขผลประกอบการในไตรมาสที่สองของปีนี้ มีรายได้รวมอยู่ที่ 857.6 ล้านบาท มีรายได้จากการขายสินค้าประเภทเครื่องสำอางกว่า 300 ล้านบาท ในขณะที่รายได้จากกิจการทีวีดิจิทัลอยู่ที่ 435 ล้านบาท ซึ่งรายได้จากการขายสินค้าคิดเป็นสัดส่วน 35% เริ่มเข้ามาใกล้เคียงรายได้จากกิจการทีวีดิจิทัลที่อยู่ในสัดส่วน 50.75% ทำให้อาร์เอสประกาศว่า หากรายได้จากการขายสินค้าสูงกว่ารายได้กิจการทีวี ก็จะขอย้ายจากหมวดมีเดียในตลาดหลักทรัพย์ไปอยู่ในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคแทน

ลดข่าว ลุยเพิ่มซีรีส์จีน กีฬา ดัน MCOT HD 30 ขึ้นอันดับ 8

ในส่วนช่อง MCOT HD ช่อง 30 อสมท จะลดสัดส่วนเนื้อหารายการข่าว ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนถึง 40% ให้ลดลงมาเหลือ 30% เพื่อไปเพิ่มสัดส่วนรายการประเภทบันเทิง เพื่อเพิ่มเรตติ้งและรายได้

“รายการบันเทิงจะเริ่มก่อนเลยคือ ซีรีส์จีน โดยเฉพาะประเภทพีเรียดกำลังภายใน มีความทันสมัย โปรดักชั่นดี ภาพสวยน่าจะโดนใจผู้ชมคนไทยได้ ไม่แพ้ซีรีส์เกาหลีเรื่องแรกที่จะนำเข้ามา คือ วิหคนครา  หรือ Novo Land ซีรีส์กำลังภายในรุ่นใหม่ เริ่มออกอากาศไปแล้วตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา”

อสมท ยังได้เซ็นสัญญาความร่วมมือกับ Oversea China TV (OCTV ) ของ China International Broadcasting Network (CIBN)  ประเทศจีน โดยทางจีนสนใจซีรีส์ละครไทย ที่ อสมท จะผลิตเอง ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปทั้งการขายลิขสิทธิ์ในราคาพิเศษ และการแลกเปลี่ยนรายการกันซึ่งกันและกัน

ส่วนการผลิตละครไทยต้องใช้เวลา ซึ่ง อสมท อยู่ระหว่างการคัดเลือกผู้ผลิตละคร คาดจะมีประมาณ 15 เรื่องต่อปี เริ่มเห็นละครชุดใหม่ของ อสมท ประมาณกลางปีหน้า ซึ่ง อสมท หวังรายได้จากการขายลิขสิทธิ์ละครในตลาดต่างประเทศในอนาคตด้วย

นอกจากละคร และซีรีส์จีนแล้ว อสมท ยังได้ลิขสิทธิ์รายการกีฬาทั้งฟุตบอล และกอล์ฟต่างประเทศมาออกอากาศด้วย ตั้งแต่ ฟุตบอลรายการคาราบาวคัพ ของอังกฤษ และ English Football League (EFL ) และล่าสุดยังได้กีฬากอล์ฟระดับโลกอย่าง LPGA มาหนึ่งรายการอีก และตกลงกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมผลิตรายการเกี่ยวกับธุรกิจแวดวงอุตสาหกรรมด้วย

การปรับรูปแบบรายการทั้งหมดนี้ ยังอยู่บนพื้นฐานว่า อสมท เป็น Wisdom TV จากเมื่อก่อน มี Theme ว่า เป็นสังคมอุดมปัญญา ซึ่งรายการทั้งหมดก็ต้องอยู่ใน Theme นี้ ทั้งข่าว ละคร วาไรตี้ ซีรีส์เพราะพื้นฐานของ อสมท คือความน่าเชื่อถือ จากพื้นฐานการทำข่าว และบุคลากรข่าว

ปัจจุบันรายการที่มีเรตติ้งสูงสุดของช่อง MCOT HD คือ รายการวันนี้ที่รอคอย เป็นรายการที่ตามหาคนหาย และและพบว่ากลุ่มผู้ชมของช่องคือกลุ่มคนช่วงวัยทำงาน จนถึงสูงอายุ และเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งอาจจะรวมถึงเจ้าของบริษัท และธุรกิจใหญ่ๆ

เล็งต่อยอดปั้นรายได้จากยอดไลก์ แฟจเพจ โซเชียลมีเดีย

นอกจากนี้สื่อออนไลน์ที่กำลังเติบโตอย่างมาก เป็นหนึ่งในช่องทางที่อสมท กำลังหารูปแบบการสร้างรายได้จากช่องทางของ YouTube และ Facebook ที่มียอด Subscribers , Followers และยอด Likes ยอด Views สูงจาก 4  Accounts ได้แก่  MCOT HD, Nine Entertainment, สำนักข่าวไทย และ MCOT

โดย Nine Entertain มียอด Followers ใน Facebook สูงสุดอยู่ที่ 4 ล้าน และยอดคนติดตามที่ YouTube อยู่ที่ 276,000 Subscribers

“เราจะใช้ประโยชน์จากยอดสมาชิกเหล่านี้ เพื่อสร้างรายได้ในอนาคต และยังเป็นการเปิดช่องทางฐานคนดูใหม่ให้กับเราด้วย“

นอกจากนี้ อสมท ยังมีความร่วมมือกับ  LINE ในการผลิตรายการพิเศษให้กับ LINE โดยเริ่มจาก Nine Entertain รูปแบบที่สำหรับลูกค้า LINE โดยเฉพาะ ซึ่งในอนาคตจะขยายรูปแบบความร่วมมือ และรายได้มากขึ้นด้วย

สำหรับผลประกอบการของ อสมท ในไตรมาสที่สองของปีนี้ มีรายได้รวมอยู่ที่ 717 ล้านบาท มีรายได้หลัก 276.5 ล้านบาท มาจากกิจการทีวีดิจิทัล ในสัดส่วน 38.5% ของรายได้ทั้งหมด ตามมาด้วยรายได้จากกิจการวิทยุอยู่ที่ 263.9 ล้านบาท ด้วยสัดส่วนรายได้ 36.8% มาจากสัมปทานทีวี จากทีวีบอกรักสมาชิกของทรูวิชั่นส์ และอนาล็อกทีวีของบริษัทบางกอก เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ หรือ ช่อง 3 อนาล็อก รายได้รวมกันอยู่ที่ 147.9 ล้านบาท หรือในสัดส่วน 20.6% ของรายได้ทั้งหมด.

]]>
1144138
MCOT สั่งปิด “Seed 97.5” เหตุรายได้ลด https://positioningmag.com/1108948 Wed, 23 Nov 2016 07:01:37 +0000 http://positioningmag.com/?p=1108948 MCOT ประกาศยกเลิกกิจการ “ซี้ดเอ็มคอท” ที่เปิดตัวมา 12 ปี เหตุรายได้ลดลงต่อเนื่องจนขาดสภาพคล่อง ดึงคลื่นวิทยุ FM 97.5 MHz มาบริหารเอง

บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือ MCOT ออกประกาศแจ้งยกเลิกกิจการ “ซี้ดเอ็มคอท” ที่บริหารคลื่นวิทยุ FM 97.5 MHz ระบุ ประสบปัญหาสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจจากการลดลงของรายได้ต่อเนื่อง เป็นผลจากพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายที่เปลี่ยนไปจากเดิม แตกต่างจากสถานีวิทยุที่ บมจ.อสมท ดำเนินการเองที่ยังสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง จึงพิจารณาเห็นว่าบริษัทดังกล่าวไม่มีศักยภาพเพียงพอในการดำเนินกิจการต่อไปได้ และจะนำคลื่นวิทยุ FM 97.5 MHz มาบริหารเอง

สำหรับ ซี๊ด เอฟเอ็ม ออกอากาศในระบบเอฟเอ็ม ความถี่ 97.5 เมกะเฮิร์ตซ์ มาตั้งแต่ 1 มีนาคม 2548  โดยมีตุ้ย-ธีรภัทร์ สัจจกุล เป็นกรรมการผู้จัดการ  ซึ่งริษัทซี๊ดเอ็มคอท  MCOT ถือหุ้น 49%

1_seed

ที่มา : http://manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9590000117061

]]>
1108948