O2O – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Sat, 04 Dec 2021 08:56:09 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เปิดเเผน “แม็คโคร x โลตัส” เเท็กทีมเจาะตลาดอาเซียน ลุยค้าปลีก-ค้าส่ง ควบโมเดล O2O https://positioningmag.com/1365379 Fri, 03 Dec 2021 15:19:19 +0000 https://positioningmag.com/?p=1365379 หลังจาก ‘กลุ่มซีพี’ ประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง ด้วยการโยกกิจการกลุ่มโลตัส (Lotus’s)
ในไทยและมาเลเซีย มูลค่ารวม 217,949 ล้านบาท ไปอยู่ภายใต้กลุ่มแม็คโคร (Makro) ผนึกกำลังขยายธุรกิจไปในระดับภูมิภาค

ล่าสุดทาง บมจ.สยามแม็คโคร เสนอขายหุ้นสามัญของบริษัทให้แก่ประชาชนทั่วไป (Public Offering หรือ PO)
ที่ 43.50 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่าเสนอขายรวมไม่เกิน 62,205 ล้านบาท (รวมมูลค่าของหุ้นส่วนเกิน) โดยทั้งห้ผู้ถือหุ้นเดิมของ MAKRO CPALL และ CPF ที่ได้รับสิทธิ และนักลงทุนรายย่อยสามารถจองซื้อระหว่างวันที่ 4 – 9 ธันวาคมนี้ (อ่านรายละเอียดการจอง ที่นี่)

วันนี้ ทางทีมผู้บริหารทั้งฝั่งแม็คโครเเละโลตัส เเถลงถึง กลยุทธ์หลังระดมทุนครั้งใหญ่ เพื่อปรับโครงสร้างทางการเงิน ชำระเงินกู้จากสถาบันการเงินบางส่วน และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ พร้อมเผยทิศทางธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีกที่จะขยายไปในอาเซียน เเละการพัฒนาเทคโนโลยี เเพลตฟอร์ม O2O รองรับผู้บริโภคยุคใหม่ ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนยอดขายออนไลน์เป็น 15-20% ภายใน 3 ปี

ปักธงอาเซียน ผสมโมเดล O2O

สุชาดา อิทธิจารุกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MAKRO กล่าวว่า ตอนนี้แม็คโครและกลุ่มโลตัส มีฐานลูกค้าร่วมกันขนาดใหญ่ สเต็ปต่อไปจะเป็นการร่วมมือกันวางยุทธศาสตร์ที่มุ่งสร้างการเติบโตไปสู่ ‘ระดับภูมิภาค’ ขยายไปในทุกช่องทางทั้งการค้าส่งแบบ B2B (Business to Business) และค้าปลีกแบบ B2C (Business to Consumer)
โดยต่อยอดศักยภาพจากฐานธุรกิจในประเทศไทย ไปยังภูมิภาคเอเชียใต้และภูมิภาคอาเซียน

สำหรับรูปแบบธุรกิจจะเน้นไปที่ 3 กลุ่มธุรกิจใหญ่ๆ คือ Wholesale ธุรกิจเเบบค้าส่ง นำโดยกลุ่มเเม็คโครในประเทศไทย ที่ดำเนินธุรกิจมานาน กว่า 32 ปี กลุ่มที่สองคือ Retail ธุรกิจค้าปลีกในไทยเเละมาเลเซีย เน้นอาหารเเละสินค้าอุปโภคบริโภค นำโดยกลุ่มโลตัส ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ตเเละมินิซูเปอร์มาเก็ต เเละกลุ่มที่สาม คือ Malls ธุรกิจบริหารพื้นที่เช่าในศูนย์การค้าในไทยเเละมาเลเซีย โดยเมื่อรวมกันเเล้วสามารถทำยอดขายในปีที่ผ่านมาได้ถึง 4.3 เเสนล้านบาท

ทิศทางต่อไป จะขยายสาขาไปในหลายรูปแบบ เเละนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ พัฒนาระบบนิเวศออนไลน์ของการค้าปลีกรูปแบบใหม่ “ก้าวสำคัญคือเราจะสร้างแพลตฟอร์มแห่งโอกาส ทั้งฝั่งลูกค้า คู่ค้า ผู้ประกอบการ SMEs ผู้ผลิตสินค้ารายย่อยของไทยโดยจะพัฒนาแพลตฟอร์ม O2O ผสมระหว่างช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ (offline and online หรือ O2O) เพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภคในยุคดิจิทัล”

ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 กลุ่มเเม็คโคร มีศูนย์จำหน่ายสินค้ารวม 145 สาขา ประกอบด้วย สาขาในไทย 138 สาขา และต่างประเทศ 7 สาขา ได้แก่ กัมพูชา อินเดีย (ภายใต้แบรนด์ “LOTS Wholesale Solutions”) จีน และเมียนมา มีการจำหน่ายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ได้แก่ เว็บไซต์ Makroclick , Makro Application และ Makro Line Official Account

ส่วนกลุ่มโลตัส ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 มีร้านค้ารวม 2,164 แห่งทั่วประเทศไทย ประกอบด้วย ร้านไฮเปอร์มาร์เก็ต 222 แห่ง ซูเปอร์มาร์เก็ต 192 แห่ง และมินิซูเปอร์มาร์เก็ต 1,750 แห่ง ธุรกิจบริหารพื้นที่เช่าภายในศูนย์การค้า 199 แห่ง มีพื้นที่รวมประมาณ 720,000 ตารางเมตร (ไม่รวมศูนย์การค้าที่ลงทุนโดยกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าโลตัสส์ รีเทล โกรท (LPF) รวม 23 แห่ง)

“แผนการขยายสาขาของแม็คโคร จะเดินหน้าขยายเฉลี่ยปีละ 5 สาขา หลังสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลายจะเริ่มขยายสาขาในต่างประเทศ อย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยปีละ 4-6 สาขา โดยจะโฟกัสการทำตลาดในภูมิภาคอาเซียนเป็นหลัก”

โดยหลังได้รับเงินทุนจากการระดมทุนครั้งนี้ สัดส่วนการนำไปใช้จะเเบ่งเป็นครึ่งหนึ่งจะนำไปขยายธุรกิจเเละใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเเละอีกครึ่งหนึ่งจะนำไปชำระเงินกู้

ที่มา : Facebook แม็คโคร คู่คิดธุรกิจคุณ

โลตัสยุคใหม่ คีพสไตล์ SMART

ด้านแบรนด์ Lotus’s กำลังอยู่ในช่วงที่มีการ ‘ปรับภาพลักษณ์ใหม่’ รีเเบรนด์ให้ทันสมัยเเละถูกใจลูกค้ามากขึ้น
ด้วยการวางโพสิชันนิ่งเป็น “SMART Retailer” สมาร์ทในการช้อปปิ้งเเละการจับจ่ายใช้สอย

สมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจโลตัส ประเทศไทย เล่าว่า โลตัสมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้เพื่อสร้างประสบการณ์ช้อปปิ้งผ่านช่องทางที่หลากหลาย หรือ Omni-channel ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเเบบเฉพาะบุคคล รองรับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงเป็นแพลตฟอร์มที่ผู้ประกอบการจะใช้เป็นช่องทางเติบโตไปด้วยกัน

การเปิดสาขา ‘Lotus’s Go Fresh’ ซึ่งเป็นมินิซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อที่มีสินค้าหลากหลาย
ทั้งอาหารสด อาหารแห้ง ของใช้ในบ้าน เครื่องดื่มเเละสินค้าต่างๆ ก็เป็นเเนวทางหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของลูกค้าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันจะมีการพัฒนาร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ไปพร้อมๆ ด้วยศูนย์การค้าของบริษัท ทั้งในไทยเเละมาเลเซีย
ให้เป็น Smart Community Hubs มีพื้นที่ให้เช่าเพื่อทำธุรกิจมากกว่า 1 ล้านตรม. (เเบ่งเป็นในประเทศไทยราว 7 เเสนตรม.) โดยมีการปรับให้ร้านเข้าใกล้ชุมชนมากขึ้น อย่างโซนบางใหญ่จะเป็น Family Mall โซนลาดกระบังจะเป็นเเนว Service Mall เป็นต้น

ผู้บริหารโลตัส มองว่า ภาพรวมเศรษฐกิจจะค่อยๆ ทยอยฟื้นตัว หลังจากเปิดประเทศและผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ซึ่งจะส่งผลต่อการบริโภค เเละการเติบโตของกลุ่มโลตัส ซึ่งอัตราการเช่าพื้นที่ภายในศูนย์การค้าก็ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ คาดว่าจะกลับมาเต็มในระดับที่เคยได้ก่อนโควิดตั้งเเต่ช่วงกลางปีหน้าเป็นต้นไป

ทั้งนี้ โลตัสมีเเผนจะเดินหน้าเปิดสาขาในมาเลเซียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปีหน้ามีแผนขยายสาขาเฉลี่ย 10 สาขาต่อปี จากปัจจุบันที่มีสาขาอยู่ทั้งสิ้น 60 สาขา ส่วนประเทศอื่นๆ ยังอยู่ในระหว่างการศึกษา ซึ่งจะเน้นการลงทุนทั้งออฟไลน์บวกออนไลน์ไปด้วยกัน

Photo : Shutterstock

ตั้งเป้ายอดขายออนไลน์ 20% ใน 3 ปี

ด้าน ธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โลตัสส์ เอเชีย-แปซิฟิก (ยกเว้นประเทศจีน) ให้ข้อมูลว่า ธุรกิจออนไลน์ของเเม็คโครเเละโสตัสกำลังจะพัฒนานั้น ล้วนมาจากความเเข็งเเกร่งของฐาน ‘ออฟไลน์’ ที่มีอยู่เดิม คือใช้กำลังสาขาเเละซัพพลายเชน ผสานธุรกิจทางด้าน B2B และ B2C เข้าด้วยกัน จุดเเข็งคือตอนนี้กว่า 100 สาขาของเเม็คโครกลายเป็นจุดที่ส่งสินค้าออนไลน์ให้ลูกค้า ซึ่งจะได้รับของในเวลาอันสั้นตามเวลาที่จองไว้

โดยธุรกิจออนไลน์ของบริษัทในช่วง 9 เดือนเเรกของปีมีการเติบโตอย่างเห็นได้ชัด เพิ่มขึ้นถึง 60% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่เเล้ว โดยในส่วนของเเม็คโครมียอดขายออนไลน์ขยับจาก 1.22 หมื่นล้านบาท มาเป็น 1.83 หมื่นล้านบาท ขณะที่โลตัสทำยอดขายออนไลน์ได้ถึง 3.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่เเล้วที่ 1.5 พันล้านบาท

“จะมีการเปิดปรับปรุงแอปพลิเคชันและเพิ่มบริการใหม่เข้ามาตั้งเเต่ช่วงไตรมาส 1/65 เป็นต้นไป เริ่มจากแอปพลิเคชันของ MAKRO ก่อน และตามมาด้วยการปรับปรุงแอปพลิเคชันโลตัส ‘รูปแบบใหม่’ ซึ่งจะมีทั้ง การขายของออนไลน์ เป็นดิจิทัลทัชพอยต์ของฐานลูกค้าทั้งหมดมาไว้ในที่เดียว เเละใช้สาขาของโลตัสที่มีอยู่ถึง 2 พันสาขา มาส่งสินค้าให้ลูกค้าได้ภายใน 1 ชั่วโมง นอกจากนี้จะนำผู้ประกอบการ คู่ค้า ขึ้นมาขายบนเเพลตฟอร์มด้วยกัน ตามรูปแบบ B2B2C ecosystem ซึ่งจะได้เห็นในช่วงไตรมาส 2/65”

จากการส่งเสริมช่องทางการขายผ่านออนไลน์อย่างเต็มที่ครั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าจะเพิ่มสัดส่วนยอดขายจากช่องทางออนไลน์ของทั้งเเม็คโครและโลตัสเป็น 15-20% ให้ได้ภายใน 3 ปีนี้ จากปัจจุบันของเเม็คโครที่อยู่ระดับ 11-12%

 

]]>
1365379
‘ลาซาด้า’ ผุด Pop-up Store บนห้าง โกยลูกค้าออฟไลน์สู่ออนไลน์ https://positioningmag.com/1293816 Mon, 24 Aug 2020 08:47:16 +0000 https://positioningmag.com/?p=1293816 ทำตลาดอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากว่า 8 ปี ปัจจุบัน ‘ลาซาด้า’ (Lazada) มีผู้ใช้งานกว่า 70 ล้านคน/เดือน มีสินค้ากว่า 240 ล้าน SKU และสำหรับประเทศไทยถือเป็นตลาดที่ใหญ่สุดในภูมิภาค มียอดขายรวมเป็นเบอร์ 1 แซงทุกประเทศ โดยปีที่ผ่านมาผู้ใช้งานเติบโต 100% และจำนวนร้านค้าเติบโตถึง 2 เท่า แถมตลาดอีคอมเมิร์ซไทยยังมีสัดส่วนเพียง 3% ของค้าปลีก ซึ่งแปลว่ายังมีช่องว่างให้เติบโตอีกมาก จึงไม่น่าแปลกที่หากบริษัทแม่อย่าง ‘อาลีบาบา’ จะเอานวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้กับตลาดไทยที่แรก แถมยังทุ่มงบทำตลาดอย่างต่อเนื่อง ขนาดดาราเบอร์แรงอย่าง ‘เวียร์-เบลล่า’ ยังคว้ามาเป็นพรีเซ็นเตอร์มาแล้ว

ดัน LazMall เต็มสูบ

แค่การมีพรีเซ็นเตอร์ชื่อดัง คงไม่เพียงพอต่อการเติบโตขึ้น ดังนั้น ครึ่งปีหลังนี้ลาซาด้าจึงต้องงัดไม้เด็ดมาเขย่าตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยคุณธนิดา ซุยวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายธุรกิจ บริษัท ลาซาด้า ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า พระเอกของครึ่งปีหลังคือ ‘ลาซมอลล์’ (LazMall) ที่เปรียบเสมือน ‘ห้างสรรพสินค้าออนไลน์’ เพราะรวมแบรนด์ออฟฟิเชียลเอาไว้กว่า 6,000 แบรนด์ จาก 2,000 ร้านค้า ซึ่งมีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยในช่วง COVID-19 มีแบรนด์ใหม่ที่เข้าบนลาซมอลล์ประมาณ 600 แบรนด์ หรือเติบโต 3 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ และในส่วนของยอดขายเติบโต 160% ยอดคำสั่งซื้อเติบโต 130% จำนวนผู้ใช้เติบโต 110%

“ในลาซมอลล์มียอดใช้จ่ายสูงการการซื้อในลาซาด้าปกติถึง 3 เท่า อีกทั้งยังกลับมาซื้อซ้ำบ่อยกว่า ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีรอยัลตี้สูงกว่า แม้ราคาไม่ได้ถูกแต่ได้เซอร์วิสที่ดีก็พร้อมจ่าย ซึ่งการเติบโตนี้สะท้อนให้เห็นว่าตลาดพรีเมียมยังมีโอกาสอีกมาก”

แตกเซ็กเมนต์ใน LazMall และอัดงบการตลาดเพิ่ม

ถือเป็นครั้งแรกที่ลาซาด้าได้เตรียมงบการตลาดไว้ให้ลาซมอลล์โดยเฉพาะ จากปกติงบการตลาดจะใช้กับภาพรวม ไม่มีส่วนไหนพิเศษ นอกจากนี้ยังนำ ‘ดาต้า’ เข้ามาช่วยจับคู่แบรนด์เพื่อสร้างแคมเปญร่วมกัน (co-campaign) เพื่อช่วยเพิ่มการรับรู้ต่อแบรนด์และเสริมประสิทธิภาพการขาย โดยที่ผ่านมาแคมเปญของ Biotherm Homme x Phillips และ Asava x M.A.C มียอดขายเติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 100% จากช่วงเวลาปกติ

นอกจากนี้ ลาซาด้าได้แยกกลุ่มสินค้าที่มีโอกาสเติบโตขึ้นมาเป็นเซ็กเมนต์ใหม่ โดยเริ่มจาก ‘premium beauty mall’ ที่ขายเฉพาะสินค้ากลุ่มความงาม ซึ่งที่ผ่านมายอดขายเติบโตถึง 540% ส่วนผู้ซื้อเติบโต 330% และในครึ่งปีหลัง ได้เพิ่มเซ็กเมนต์ใหม่คือ ‘Thai Designer Club’ ที่รวบรวมแบรนด์แฟชั่นไทยไว้กว่า 50 แบรนด์บนแพลตฟอร์ม

ผุด ‘Lazada On Ground’ ป๊อปอัพสโตร์แห่งแรก

ตลอด 2 ปี ลาซาด้าได้กำเนินกลยุทธ์ O2O (Online to Offline) มาตลอด อาทิ เปิดตลาดนัดออฟไลน์ โดยให้ร้านออนไลน์มาขาย เพื่อให้ผู้บริโภคได้เห็นสินค้าจริง ก่อนที่จะสั่งซื้อบนลาซาด้า ซึ่งกิจกรรมนี้จะจัดทุก ๆ ไตรมาส มีร้านค้าเข้าร่วมประมาณ 100-300 ร้านค้า แต่ล่าสุด ลาซาด้าได้เปิดป๊อปอัพสโตร์ ‘Lazada On Ground’ แห่งแรกในประเทศไทย ณ สยามเซ็นเตอร์ โดยสโตร์ดังกล่าวจะโชว์สินค้ากว่า 40 แบรนด์ พร้อมกับสามารถสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ได้ นอกจากนี้ยังมีสตูดิโอไลฟ์ขายสินค้าโชว์กันสด ๆ

“ป๊อปอัพสโตร์เราไม่ได้เน้นยอดขาย แต่เน้นประสบการณ์ เพราะสินค้าบางอย่างมีราคาสูง ดังนั้นผู้บริโภคอาจต้องการลองสัมผัสสินค้าจริงก่อน อีกทั้งยังช่วยสร้างการรับรู้ขยายโอกาสในการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ ทั้งลูกค้าและร้านค้าห้างฯ ให้มาเข้าสู่แพลตฟอร์มลาซาด้าต่อไป”

ทั้งนี้ ลาซาด้ายังเห็นความต้องการของแบรนด์ที่จะเข้ามาบนออนไลน์ เพื่อเพิ่มช่องทางเข้าถึงลูกค้า แต่ที่บางร้านยังไม่ขึ้นออนไลน์เพราะมองว่าราคาที่สูงอาจไม่เหมาะกับออนไลน์ แต่ลาซมอลล์พิสูจน์ให้เห็นว่าตลาดพรีเมียมมีการเติบโต ส่งผลให้พรีเมียมแบรนด์ตัดสินใจง่ายขึ้น

การแข่งขันไม่ใช่แค่ราคา แต่ต้องดึงลูกค้าให้อยู่นานที่สุด

ด้วยความที่ตลาดยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก ดังนั้นการแข่งขันที่ผ่านมาจึงหนักหน่วง ไม่ว่าจะเรื่องของราคา บริการ และความเร็วในการจัดส่ง ซึ่งลาซาด้าก็ได้อุดช่องว่างนี้ทั้งหมด ทั้งการเปิดคลังสินค้าของตัวเอง รวมถึงการพูดคุยกับแบรนด์และร้านค้าเพื่อหาทางทำราคาสินค้าให้ถูกลง

“ตลาดค้าปลีกภายนอกเราเริ่มเห็นผลกระทบของกำลังซื้อที่ลดลงจากพิษเศรษฐกิจ โดยเราเริ่มเห็นว่ามูลค่าคำสั่งซื้อลดลง แต่เน้นซื้อบ่อยขึ้น ดังนั้นเราจึงเตรียมแผนในการรับมือ โดยคุยกับแบรนด์และร้านค้า ในการทำราคาสินค้าให้ถูกลง อย่างน้อยต้องต่ำกว่า 300 บาท”

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันในปัจจุบันไม่ใช่แค่ราคาและเซอร์วิสอีกต่อไป แต่เป็นการดึงลูกค้าให้อยู่บนแพลตฟอร์มนานขึ้น ดังนั้น ดาต้าจึงจำเป็นในการคิดแคมเปญที่ตอบโจทย์ เพื่อให้ลูกค้าใช้เวลาบนแพลตฟอร์มนานขึ้น ซึ่งในช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา ลูกค้าใช้เวลานานขึ้น 30% โดยลูกค้ากลุ่มใหญ่สุดของลาซาด้าเป็นกลุ่มอายุ 18-35 ปี คิดเป็นกว่า 50% รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 36-45 ปี

“เราไม่กังวลเรื่องการแข่งขัน เราชอบการแข่งขันด้วยซ้ำ เพราะยิ่งทำให้เราต้องปรับตัว ขณะที่ภาพรวมตลาดอีคอมเมิร์ซไทยยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก ดังนั้นเพลเยอร์คงมีมาเรื่อย ๆ”

ทั้งนี้ COVID-19 ที่ผ่านมาส่งผลให้ยอดคำสั่งซื้อเติบโตกว่า 100% โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูปและเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านขนาดเล็กมีอัตราการเติบโต 3 เท่า ส่วนผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้านเติบโตถึง 7 เท่า

]]>
1293816
Lazada เปิดแผงขาย! ให้พนักงานขายหน้าร้านมาขายออนไลน์ ปิดดีลได้รับค่าคอมฯ ไปเลย https://positioningmag.com/1273836 Thu, 16 Apr 2020 16:55:16 +0000 https://positioningmag.com/?p=1273836 Lazada เดินเกมเปิดแคมเปญรับการระบาดไวรัส COVID-19 พนักงานหน้าร้านที่ถูกปิดทำการในช่วงนี้ หากปิดดีลขายสินค้าบริษัทผ่าน Lazada ได้ รับค่าคอมมิชชั่นไปเลย พร้อมจัดโปรฯ ฟรีค่าธรรมเนียมการโอนและค่าคอมมิชชั่น ช่วยเหลือ SMEs ที่ได้รับผลกระทบ 50,000 ราย

ภารดี สินธวณรงค์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย) เปิดเผยถึงแคมเปญ#StrongerTogether จากใจถึงใจ สู้ไปด้วยกัน’ ที่บริษัทจัดขึ้นรับมือการระบาดของไวรัส COVID-19 โดยแนวคิดแคมเปญคือต้องการช่วยเหลือร้านค้าและพนักงานร้านที่ขาดรายได้จากช่องทางออฟไลน์ ให้มาขายออนไลน์ได้มากขึ้น แคมเปญนี้มี 2 ส่วนดังนี้

1.SME Stimulus Package ช่วยทั้งผู้ขายเก่าและผู้ขายใหม่ที่เป็น SMEs 50,000 ราย ฟรีค่าคอมมิชชั่นและค่าธรรมเนียมการโอน ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน – 31 พฤษภาคม 2563 (ผู้ขายเก่าคือกลุ่มที่เปิดร้านก่อน 15 เมษายน 2563 และมียอดขายไม่เกิน 5,000 บาทต่อเดือน ส่วนผู้ขายใหม่ที่เปิดร้านในช่วง 15 เมษายน – 31 พฤษภาคม 2563 จะได้รับแพ็กเกจทันที)

2.O2O Promoter & Affiliate Program เป็นโปรแกรมให้ร้านค้าออนไลน์ที่ปกติแล้วมีพนักงานขายหน้าร้านออฟไลน์ด้วย เมื่อร้านถูกปิดในระยะนี้ สามารถดึงพนักงานขายหน้าร้านเดิมมาช่วยขายออนไลน์ได้

พนักงานของแบรนด์สามารถโพสต์สินค้าบริษัทตามโซเชียลมีเดียต่างๆ รวมถึงบน LazLive ซึ่งเป็นสตรีมมิ่งบน Lazada โดยพนักงานจะมี Tracking link ของแต่ละคนเพื่อนำลูกค้าเข้ามาในแพลตฟอร์ม Lazada หากปิดการขายได้จริง พนักงานจะได้ค่าคอมมิชชั่นทั้งจากแบรนด์และจาก Lazada ด้วย

ปัจจุบันมีร้านค้ากว่า 20 แบรนด์เข้าร่วมแล้ว เช่น Samsung, OPPO, Vivo, L’Oréal, Garnier, Maybelline, Huawei, Philips Avent, SHISEIDO และ EVEANDBOY มีพนักงานขายร่วมแคมเปญกว่า 15,000 คน และแบรนด์พบว่ามีลูกค้าซื้อเพิ่มขึ้น 37% มียอดขายเพิ่มขึ้น 42% ส่วนพนักงานมีผู้ที่สร้างค่าคอมมิชชั่นได้สูงสุด 28,000 บาทต่อเดือน

(ซ้าย) ธนิดา ซุยวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายธุรกิจ และ (ขวา) ภารดี สินธวณรงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย)

นอกจากนี้ ก่อนหน้านี้ Lazada ยังออกแคมเปญ #YesICAN ดึงผู้ค้าออฟไลน์จากย่านสยามสแควร์ มาบุญครอง สำเพ็ง ที่ยังไม่เคยมีหน้าร้านบน Lazada ให้มาร่วมขายบนแพลตฟอร์มนี้ โดยบริษัทจะดันทราฟฟิกการมองเห็นร้านให้เป็นพิเศษ

ฝั่งผู้ซื้อเอง บริษัทก็มีแคมเปญกระตุ้นยอดซื้อช่วง COVID-19 จัดโปรฯ ลดค่าจัดส่ง 30 บาท เมื่อซื้อ 3 ชิ้นขึ้นไป จนถึง 30 เมษายนนี้

ทั้งนี้ ภารดียังให้ข้อมูลด้วยว่า ช่วงต้นเดือนเมษายน 2563 ซึ่งผู้บริโภคลดการเดินทางและออกจากบ้าน Lazada พบว่าแพลตฟอร์มมีการเติบโตในทุกๆ ด้านเมื่อเทียบกับช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ดังนี้

  • มูลค่ายอดขายเพิ่ม 130%
  • จำนวนคำสั่งซื้อเพิ่ม 100%
  • จำนวนลูกค้าเพิ่ม 60%
  • ลูกค้าอยู่ในแอปฯ เฉลี่ย 11 นาที นานขึ้น 11%
  • จำนวนผู้ขายเพิ่มขึ้น 26,000 รายในเดือนเดียว รวมเป็นมากกว่า 2 แสนราย

สถานการณ์ COVID-19 ยังทำให้ความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนไป จากเดิมที่สินค้าขายดีจะเป็นกลุ่มสินค้าแฟชั่นและสมาร์ทโฟน-แท็บเล็ต ขณะนี้สินค้าแฟชั่น กลุ่มเสื้อผ้าสำหรับใส่ออกนอกบ้านมียอดขายต่ำลง และสินค้าที่ขายดีกลับเป็นชุดใส่อยู่บ้าน สบู่ แชมพู เครื่องฟอกอากาศ และอาหารเสริม เพราะคนอยู่ติดบ้านมากขึ้น และใส่ใจสุขภาพ

“เราคิดว่ายอดสั่งซื้อในช่วงนี้จะเป็น New Normal ของเราต่อไปแม้ว่าจะหมดช่วงการระบาดของ COVID-19 แล้ว เพราะมองว่าพฤติกรรมคนจะเปลี่ยนไปเลย เช่นการ Work from Home หลายบริษัทน่าจะพิจารณาแล้วว่าสามารถทำได้ ทำให้มีคนอยู่บ้านมากขึ้น และคนที่หันมาซื้อของออนไลน์ก็น่าจะยังซื้อต่อไปเพราะสะดวกสบายกว่า” ภารดีกล่าว

]]>
1273836
“อีคอมเมิร์ซ” ชู O2O สร้างประสบการณ์ออฟไลน์-ดึงช้อปออนไลน์ https://positioningmag.com/1219800 Thu, 14 Mar 2019 08:30:23 +0000 https://positioningmag.com/?p=1219800 ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ออนไลน์” เป็นช่องทางสำคัญในการเข้าถึงลูกค้าที่วันนี้ใช้ชีวิตอยู่กับดิจิทัลแพลตฟอร์มมากขึ้น ธุรกิจ “อีคอมเมิร์ซ” ไทยจึงเป็นเทรนด์ที่เติบโตสูง จากการเข้ามาแข่งขันของ “อีมาร์เก็ตเพลส” ต่างชาติ ผู้ประกอบการในทุกธุรกิจจึงต้องปรับตัวมุ่งสู่เส้นทางออนไลน์ และผู้บริโภคเองพร้อมเข้าสู่ “ช้อปปิ้ง ออนไลน์”

ธนิดา ซุยวัฒนา ประธานเจ้าหน้าบริหารฝ่ายการตลาด บริษัท ลาซาด้า ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยเติบโต 10-20% ต่อปี และเห็นแนวโน้มการขยายตัวมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีสัดส่วนในตลาดค้าปลีกต่ำอยู่ที่ 2% เท่านั้น ขณะที่ สหรัฐฯ จีน เกาหลีใต้ สัดส่วนอยู่ที่ 10-15% นั่นเท่ากับว่าอีคอมเมิร์ซไทยยังมีโอกาสเติบโตอีกสูง

ธนิดา ซุยวัฒนา

ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตมาจากพฤติกรรมคนไทย ที่พบว่าคนไทยใช้เวลากับมือถือ 5.30 ชั่วโมงต่อวัน มากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 3.30 ชั่วโมงต่อวัน วันนี้ประชากรไทย 70 ล้านคน สัดส่วน 81% เข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟน แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของคนไทยที่จะเข้าสู่ตลาดช้อปปิ้ง ออนไลน์ ขณะที่ Ecosystem อื่นๆ ก็มีความพร้อมเช่นกัน ทั้งระบบอีเพย์เมนต์ ที่ทุกธนาคารพัฒนาระบบขึ้นมารองรับและนโยบายรัฐก็สนับสนุน รวมทั้งการขยายตัวของโลจิสติกส์

ตลาดอีคอมเมิร์ซไทย เรียกว่าเป็น Sunrise Market ที่มีโอกาสโตอีกมาก

“ดาต้า-AI” เสริมแกร่ง

ในยุคที่ทุกคนมุ่งสู่อีคอมเมิร์ซ ทำให้เกิดการแข่งขันสูง การทำธุรกิจจึงต้องมีความแม่นยำมากขึ้น ปีที่ผ่านมา ลาซาด้า ได้นำเทคโนโลยี Personalization เข้ามาใช้งาน โดยนำ “ดาต้า” ของผู้บริโภคมาวิเคราะห์ผ่าน AI ศึกษาพฤติกรรมของลูกค้าว่าสนใจสินค้าประเภทใด เพื่อนำเสนอสินค้าที่เหมาะกับแต่ละคน 

ดังนั้นการใช้งาน แอปพลิเคชั่น ลาซาด้า ของลูกค้าแต่ละคน จะเห็นสินค้าที่นำเสนอแตกต่างกัน พร้อมคาดเดาสินค้าที่น่าจะสนใจ ถือเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาดิสรัปต์พฤติกรรมผู้บริโภค ที่อาจยังไม่รู้ตัวว่าต้องการสินค้าประเภทใด แต่เทคโนโลยีจะนำเสนอให้ล่วงหน้า

หากวันนี้ ลูกค้าซื้อโทรศัพท์มือถือ AI จะคาดเดาได้ว่าน่าจะสนใจซื้อ เคสมือถือ หรืออีก 6 เดือนข้างหน้าอาจจะต้องซื้อที่ชาร์จไฟใหม่ หรืออีก 1 ปีอาจต้องเปลี่ยนมือถือใหม่ แอปพลิเคชั่นจะคาดเดาและเสนอสินค้าให้เห็นในแต่ละช่วงเวลา”

ในโลกออนไลน์ การใช้เทคโนโลยีต่างๆ จะใกล้เคียงกัน แต่สิ่งที่แตกต่างคือการนำ “ดาต้า” มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต้องบอกว่า “ในยุคนี้ใครมีดาต้ามากที่สุด จะสามารถสร้างจุดแข็งให้ธุรกิจเหนือคู่แข่งขันได้” ที่ลาซาด้า เราดูดาต้าลูกค้าเป็นรายชั่วโมงว่ามีพฤติกรรมการซื้อเป็นอย่างไร เพศ อายุใด ซื้อสินค้าใด ลูกค้าในต่างจังหวัดซื้อสินค้าใด โดยจัดกลุ่มลูกค้าไว้ถึง 20 เซ็กเมนต์ เพื่อนำเสนอสินค้าที่ตอบโจทย์ให้ได้มากที่สุด

มุ่ง O2O ดึงนักช้อปใหม่

ในยุคที่ออนไลน์เติบโตสูง ธนิดา บอกว่าคำถามที่เจอบ่อยมากคือ “ออฟไลน์” จะตายหรือไม่ แม้ลาซาด้าเป็นอีมาร์เก็ตเพลสอยู่ในฝั่งธุรกิจออนไลน์ แต่วันนี้ก็ต้องบอกว่าทั้ง “ออนไลน์และออฟไลน์” ต้องไปด้วยกัน เพราะโลกออฟไลน์และออนไลน์ในธุรกิจค้าปลีก ไม่ใช่โลกที่แตกต่างกันอีกต่อไป แต่เป็นโลกเดียวกัน

ปัจจุบันลาซาด้ามีทราฟฟิกผู้ใช้งานวันละ 5 ล้านคน มีการทำการตลาดทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ปีนี้ ลาซาด้า จะมีกลยุทธ์ O2O (ออฟไลน์ ทู ออนไลน์) มากขึ้น เช่น กิจกรรม LOL Market ตลาดนัดสินค้าแฟชั่น ที่จัดทุกไตรมาส เป็นการจัดพื้นที่ให้ร้านค้าดังบนอินสตาแกรม หรือ “ไอจี” กว่า 200 ร้านค้ามาออกบูธในพื้นที่ต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้นักช้อปที่อาจยังไม่สบายใจกับการช้อปปิ้ง ออนไลน์ และยังต้องการจับต้องและสัมผัสสินค้า แต่เมื่อลูกค้าเห็นสินค้าและตัดสินใจซื้อ จะต้องซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ของ ลาซาด้า คือ เว็บไซต์ และแอปพลิเคชั่น ส่วนใหญ่ยอดขายมาจากแอป 90%

การทำกิจกรรมออฟไลน์ เป็นการสร้างประสบการณ์ช้อปปิ้ง ที่ดึงลูกค้าใหม่เข้าไปสู่ช่องทางออนไลน์ และเกิดการซื้อซ้ำ

 “โซเชียล คอมเมิร์ซ” เทรนด์แรง  

ปัจจุบันต้องบอกว่าเทรนด์ “โซเชียล คอมเมิร์ซ” เติบโตสูง เพราะพฤติกรรมของคนไทย 81% เข้าถึงอินเทอร์เน็ต โดย 50% ซื้อสินค้าออนไลน์ แต่ใน 50% ที่ซื้อของออนไลน์ ซื้อผ่านโซเชียล คอมเมิร์ซ ไมว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก ไอจี 

ทั้งพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ และลูกค้าอยู่บนโซเชียล คอมเมิร์ซจำนวนมาก เพราะมองว่า เฟซบุ๊ก และ ไอจี เป็นแพลตฟอร์มเอ็นเตอร์เทนเมนต์ เมื่อเห็นสินค้าก็สนใจซื้อ”

การทำตลาดอีคอมเมิร์ซปีนี้ ลาซาด้าจะใช้กลยุทธ์ โซเชียล คอมเมิร์ซ มากขึ้น โดยมีการทำ Live Streaming ผ่านแอปลาซาด้า ที่จะมีคอนเทนต์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ มากขึ้น เพื่อให้ลูกค้าใช้เวลาอยู่กับแอปมากขึ้น ระหว่างที่ดูคอนเทนต์จะมีการนำเสนอสินค้าให้เลือกช้อปได้ ตัวอย่างที่ลาซาด้าร่วมมือกับแบรนด์ลอรีอัล นำเสนอการถ่ายทอดสด ปารีส แฟชั่น วีค เมื่อลูกค้าเห็นลิปสติกที่นางแบบทา และสนใจ สามารถกดซื้อได้ทันที

ปีนี้ ลาซาด้าจะร่วมมือกับแบรนด์ต่างๆ ทำ Live Streaming มากขึ้น เพื่อให้ลูกค้าเลือกช้อปสินค้าที่แบรนด์นำมาเสนอผ่านคอนเทนต์เพิ่มขึ้น โดยถือเป็นอีกช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ่านโซเชียล คอมเมิร์ซ ที่เป็นเทรนด์ฮิตของผู้บริโภค และเป็นการขยายฐานลูกค้าอายุ 18-24 ปี  ซึ่งเป็นกลุ่มที่นิยมซื้อสินค้าช่องทางโซเชียล คอมเมิร์ซ

ผู้เล่นใหม่ดัน “ทีวีช้อปปิ้ง” โต

ทรงพล ชัญมาตรกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด (มหาชน) หรือ TVD ให้มุมมองว่าตลาดอีคอมเมิร์ซ เป็นแนวโน้มที่เติบโตมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังจากประเทศไทยเข้าสู่ 3G และมีการใช้งานเต็มที่ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา 

แต่ตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยแตกต่างจากประเทศอื่นๆ เพราะนิยมซื้อสินค้าผ่าน “โซเชียล คอมเมิร์ซ” จากพ่อค้าแม่ค้าเฟซบุ๊ก ไอจี ที่แม้ไม่รู้จักกันมาก่อนแต่ก็พร้อมซื้อ ประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกๆ ที่มีการขายสินค้าผ่านไอจี ทำให้ตลาด C2C เติบโตสูง

ในฝั่งของ ทีวี ช้อปปิ้ง และออนไลน์ ช้อปปิ้ง วันนี้ไม่ได้แย่งลูกค้ากันเอง แต่เข้าไปแข่งขันกับ “ค้าปลีก” ที่มีมูลค้า 3 ล้านล้านบาท ปีที่ผ่านมาธุรกิจทีวี ช้อปปิ้งไทยมีมูลค่า 15,000 ล้านบาท แต่ในเกาหลีใต้ มูลค่าอยู่ที่ 7 แสนล้านบาท สหรัฐฯ มูลค่า 1 ล้านล้านบาท ส่วนอีคอมเมิร์ซไทยมีเป็นสัดส่วน 2% ของตลาดค้าปลีก ทำให้ทั้งทีวี ช้อปปิ้ง และอีคอมเมิร์ซ ยังมีช่องว่างเติบโตได้อีกมาก

ปีนี้ภาพรวมทีวี ช้อปปิ้ง คาดว่ายังเติบโตได้ 25-35% จาก “ผู้เล่น” ที่เพิ่มขึ้นในฝั่งทีวีดิจิทัล โดยวันแรกที่ทีวี ไดเร็คทำธุรกิจเมื่อ 20 ปีก่อน มีผู้ประกอบการทีวี ช้อปปิ้ง ราว 10 ราย ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540 หลายรายออกจากตลาด ปัจจุบันมีผู้ประกอบการทีวี ช้อปปิ้ง 15 ราย โดยมี 4 รายที่เป็น “เจ้าของ” ช่องทีวีดิจิทัล

“ทีวี” ไม่ตาย “ออนไลน์” ยังโตไม่สุด

แม้ประชากรออนไลน์จะขยายตัวสูง แต่สำหรับผู้บริโภคไทยวันนี้ เป็นตลาดที่ยังมีความหลากหลายของกลุ่มเป้าหมาย ที่แบ่งเป็น กลุ่มหลัก คือ กลุ่มออนไลน์กลุ่มออฟไลน์และออนไลน์ และกลุ่มแอนะล็อก ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องดูแลลูกค้าทั้ง 3 กลุ่มที่ยังเติบโตตามไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของแต่ละกลุ่ม

วันนี้ทีวียังไม่ตาย และออนไลน์ยังไม่โตแบบสุดขีด การทำตลาดจึงต้องทำทั้ง 2 ช่องทาง แต่อีคอมเมิร์ซจะเป็นแพลตฟอร์มที่พลิกเกมการตลาดแน่นนอน”

เชื่อว่าเจ้าของสินค้าและแบรนด์ในยุคนี้ ต้องทำการตลาดมากกว่า 1 ช่องทาง สินค้าที่ทำตลาดทีวี ช้อปปิ้ง คือการได้นำเสนอคอนเทนต์แนะนำสินค้าผ่านช่องทางทีวี พร้อมสปอตโฆษณา เป็นสื่อที่เข้าถึงคนจำนวนมาก สามารถการสร้างการรับรู้ จากนั้นเมื่อนำเสนอผ่านช่องทางออนไลน์ ผู้บริโภคที่รู้จักแบรนด์มาแล้วจากสื่อทีวี มีโอกาสตัดสินใจซื้อทางออนไลน์ ในธุรกิจทีวี ช้อปปิ้ง ผู้ประกอบการทุกราย ทำการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ในรูปแบบ ออมนิ แชนแนล เพื่อเข้าถึงลูกค้าทุกช่องทาง

“ในยุคดิจิทัลดิสรัปชั่น ธุรกิจต้องปรับตัวเร็ว ไม่ว่าจะเป็นช่องทางการจำหน่ายหรือสินค้า เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคและคู่แข่งเพิ่มขึ้นได้ทุกเวลา” 

โอกาสแบรนด์โกยลูกค้าใหม่

จุรีรัตน์ ก้องเกียรติวงศ์

ทางด้านมุมมองของฝั่งแบรนด์จากการขยายตัวในยุคอีคอมเมิร์ซ จุรีรัตน์ ก้องเกียรติวงศ์ หัวหน้าสายงานดิจิทัล แผนกเครื่องสำอางชั้นสูง บริษัทลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันอีคอมเมิร์ซในประเทศที่พัฒนาแล้ว ผู้บริโภคจะนึกถึง Amazon เป็นแพลตฟอร์มหลักในการซื้อสินค้าออนไลน์ สำหรับตลาดอาเซียนและไทยตลาดอีคอมเมิร์ซมีการแข่งขันดุเดือดจากการเข้ามารุกตลาดของ “ผู้เล่น” รายใหญ่

นอกจาก ลาซาด้า ที่เข้าตลาดไทยมาก่อน ปีที่ผ่านมามีผู้ประกอบการรายใหญ่จากต่างประเทศ เข้ามาขยายธุรกิจอีคอมเมิร์ซอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ช้อปปี้เจดี เซ็นทรัล โดยมีเป้าหมายต้องการเป็นผู้ Dominate ตลาดไทยให้ได้มากที่สุด ด้วยหวังว่าในอนาคตจะเป็นเหมือน Amazon ที่ครองตลาดสหรัฐฯ และอีกหลายประเทศ

ด้านพฤติกรรมช้อปปิ้ง ออนไลน์ ของผู้บริโภคในประเทศที่พัฒนาแล้ว จะเน้น “ความสะดวก” ในการซื้อสินค้า ขณะที่ประเทศไทยจะมองหา “ดีล” และโปรโมชั่นราคาถูกในออนไลน์

วันนี้สิ่งสำคัญที่สุดของการทำอีคอมเมิร์ซ คือ ผู้บริโภค โดยต้องบาลานซ์ความเข้าใจผู้บริโภครุ่นเก่า ที่ยังอยู่บนช่องทางเดิม และต้องสร้างสรรค์การตลาดใหม่ๆ เพื่อเข้าถึงผู้บริโภครุ่นใหม่ ถือเป็นความท้าทายของแบรนด์ที่ต้องปรับตัว” 

ในยุคดิจิทัลแม้แบรนด์จะมีช่องทางออนไลน์ขององค์กรเป็นตัวเลือกให้ลูกค้าจับจ่าย แต่ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องขยายช่องทางออนไลน์อื่นๆ ด้วยเช่นกัน เพราะแบรนด์ไม่สามารถควบคุมลูกค้าได้ว่าจะต้องมาซื้อที่ช่องทางออนไลน์ของบริษัทเท่านั้น สินค้าจึงต้องไปอยู่ในดิจิทัลแพลตฟอร์มที่เข้าถึงลูกค้าและเหมาะสมกับภาพลักษณ์ของแบรนด์ 

การเติบโตของดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างๆ ถือเป็นโอกาสของแบรนด์ ที่มีโอกาสพบกับลูกค้ารายใหม่มากขึ้น

ส่องสินค้าฮอต-โปรฯ ฮิต “อีคอมเมิร์ซ”

สำหรับสินค้าที่ได้รับความสนใจในช่องทางอีคอมเมิร์ซและทีวี ช้อปปิ้ง รวมทั้งโปรโมชั่น เรียกได้ว่ามีความแตกต่างกันตามโปรไฟล์ลูกค้า

บนแพลตฟอร์ม ลาซาด้า ได้เปิดตัวบริการ Personalization ตอบโจทย์การนำเสนอสินค้าตามความชอบและสนใจ จากการใช้ AI วิเคราะห์ดาต้าผู้บริโภครายบุคคล ทำให้เห็นการเติบโตในทุกกลุ่มใกล้เคียงกัน แต่อันดับแรกๆ คือ แฟชั่น บิวตี้ มือถือ อิเล็กทรอนิกส์ สินค้าอุปโภคบริโภค

สำหรับทีวี ไดเร็ค ที่อยู่ในช่องทางทีวี เป็นสื่อที่มีผู้ชมหลักอายุ 40 ปีขึ้นไป สินค้าที่ขายดี คือ เครื่องครัว ที่เรียกว่าเป็นกลุ่มที่ทำยอดขายที่ดีตลอดกาล รองลงมาคือ ชุดชั้นในชายและสตรี และเครื่องออกกำลังกาย เกาะเทรนด์ดูแลสุขภาพ  

รูปแบบโปรโมชั่นในธุรกิจทีวี ช้อปปิ้ง ที่โดนใจกลุ่มผู้หญิง คือ “ลดราคา” ตัวอย่าง ซื้อ 1 แถม 1 กับลดราคา 50% ซึ่งมูลค่าที่ได้รับเท่ากัน แต่ผู้หญิงจะถูกใจกับโปรโมชั่นลดราคามากกว่า ส่วนลูกค้าผู้ชายชอบ “ของแถม” รูปแบบ ซื้อ 1 แถม 1 มากกว่า

ในมุมของ ลาซาด้า ที่มีการจัดแคมเปญลดราคาบ่อยครั้งอยู่แล้ว เช่น แคมเปญ 11.11 หรือ 12.12 ทำให้นักช้อปออนไลน์ส่วนใหญ่จะคุ้นชินกับการจัดโปรโมชั่นราคา จึงไม่ใช่ปัจจัยในการตัดสินใจซื้อ แต่สิ่งที่ลูกค้าต้องการคือสินค้าที่มาจากแบรนด์ที่เชื่อถือ เป็นเทรนด์ที่เห็นมากขึ้นในอีมาร์เก็ตเพลส 

ลาซาด้า จึงเปิดตัวบริการ LazMall ที่พูดได้ว่าเป็นห้างสรรพสินค้าใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันมี 350 แบรนด์ที่อยู่บน LazMall และได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะเป็นสินค้าที่มาจากแบรนด์โดยตรง ทั้งขายและส่งสินค้าเอง และคืนสินค้าได้ภายใน15 วัน ถือเป็นบริการที่ช่วยผลักดันการเติบโตในปีนี้. 

]]>
1219800
จบดีล แกร็บซื้อกิจการ อูเบอร์ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว ระบุมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ ใส่เกียร์แกร็บฟู้ดขึ้นเบอร์ 1 https://positioningmag.com/1163160 Mon, 26 Mar 2018 04:31:55 +0000 https://positioningmag.com/?p=1163160 หลังจากตกเป็นข่าวมาพักใหญ่ ในที่สุด แกร็บ (Grab) ซื้อกิจการ “อูเบอร์” (Uber) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครอบคลุม 8 ประเทศ คือ กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม

แกร็บไม่ได้ระบุมูลค่าการซื้อกิจการครั้งนี้ บอกแต่เพียงว่า เป็นการซื้อกิจการของธุรกิจออนไลน์ในภูมิภาคนี้ที่มีมูลค่าสูงสุดในประวัติศาสตร์

โดยแกร็บจะควบรวมกิจการเรียกรถโดยสารผ่านแอปพลิเคชั่นและรับส่งอาหารของอูเบอร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าไว้ในแพลตฟอร์มการให้บริการขนส่งและบริการทางการเงิน ที่มีอยู่หลากหลายของแกร็บ

เพื่อต้องการก้าวสู่การเป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการแบบ O2O (Online to Offline) และผู้ให้บริการรับส่งอาหารชั้นนำของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครอบคลุมบริการเดินทาง บริการรับส่งอาหารและสินค้า รวมไปถึงบริการทางการเงินและการชำระเงินผ่านมือถือ

แกร็บ ระบุด้วยว่า เพื่อให้การบริหารจัดการต้นทุนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ภายหลังเข้าซื้อกิจการและสินทรัพย์ของอูเบอร์ในกัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม โดยในข้อตกลง อูเบอร์จะถือหุ้น 27.5%ในแกร็บ และ ดารา โคสโรว์ชาฮี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของอูเบอร์ ก็จะเข้าร่วมเป็นหนึ่งในทีมผู้บริหารของแกร็บ

“การเข้าซื้อกิจการในวันนี้คือจุดเริ่มต้นของยุคใหม่ เพื่อผลักดันให้แกร็บเป็นผู้นำแพลตฟอร์มในภูมิภาคที่สามารถจัดการต้นทุนด้วยการร่วมงานกับทีมงานของอูเบอร์เดิม ที่จะถูกเพิ่มศักยภาพของเราในการให้บริการที่ดีที่สุดแก่ลูกค้า เพื่อพัฒนาบริการอื่น ๆ อาทิ บริการรับส่งอาหาร บริการชำระเงินผ่านมือถือ และบริการทางการเงิน ต่อไป เพื่อทำให้ชีวิตผู้คนสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น” แอนโธนี่ ตัน ประธานกรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้งแกร็บ กล่าว

บุกแกร็บฟู้ดอาวุธสำคัญ

ทางด้าน ตัน ฮุ่ย หลิง ผู้ร่วมก่อตั้งแกร็บ กล่าวว่า แกร็บกำลังเร่งขยายธุรกิจแกร็บฟู้ดไปในทั่วทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในไตรมาสหน้า แกร็บจะมอบคุณค่าการให้บริการมากขึ้นให้แก่ลูกค้า พาร์ตเนอร์ผู้ขับขี่ และตัวแทน รวมไปถึงพันธมิตรคู่ค้าและร้านอาหารต่าง ๆ

ทั้งนี้ แกร็บฟู้ด จะเป็นอีกหนึ่งบริการที่ผลักดันการใช้งาน แกร็บเพย์ (GrabPay) ซึ่งเป็นบริการชำระเงินผ่านมือถือ รวมไปถึงช่วยสนับสนุนการเติบโตของแพลตฟอร์มบริการทางการเงินของแกร็บในอีกทางหนึ่ง

เปิดแผนแกร็บ กับบริการ O2O (Online to Offline)

เป้าหมายสำคัญของแกร็บในลำดับต่อไป คือ การก้าวไปสู่แพลตฟอร์มการให้บริการ O2O (Online to Offline) ชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครอบคลุมธุรกิจดังนี้

บริการรับส่งอาหาร :

แกร็บให้น้ำหนักกับการขยายขยายบริการแกร็บฟู้ดค่อนข้างมาก โดยจะเปิดเพิ่มอีกสองประเทศคือสิงคโปร์และมาเลเซีย จากเดิมที่มีให้บริการอยู่แล้วในประเทศอินโดนีเซียและไทย

หลังการควบรวมธุรกิจของอูเบอร์อีทส์เข้ามาในบริการ ‘แกร็บฟู้ด’ (GrabFood) แกร็บ มีแผนเปิดให้บริการแกร็บฟู้ดในทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เราดำเนินงานอยู่ภายในกลางปีนี้

บริการเดินทางขนส่ง :

สนับสนุนรัฐบาลและผู้ให้บริการขนส่ง เพื่อสร้างเครือข่ายการเดินทางสาธารณะที่หลากหลายในแบบไร้รอยต่อ จึงเป็นที่มาของการทดลอง ‘แกร็บไซเคิล’ (GrabCycle) ซึ่งเป็นบริการจักรยานและอุปกรณ์มือถือร่วม และบริการ ‘แกร็บชัตเติ้ล พลัส’ (GrabShuttle Plus) ซึ่งเป็นบริการรถโดยสารประจำทางแบบออนดีมานด์ ไปก่อนหน้านี้

บริการชำระเงินผ่านมือถือและบริการทางการเงิน :

ในส่วนนี้แกร็บระบุว่า จะขยายบริการภายใต้ ‘แกร็บไฟแนนเชียล’ (Grab Financial) ซึ่งรวมถึงบริการชำระเงินผ่านมือถือ บริการกู้ยืมสำหรับรายย่อย (micro-financing) และบริการประกัน รวมไปถึงบริการอื่น ๆ สำหรับลูกค้าที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน และผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อยหลายล้านรายในภูมิภาค

แกร็บได้กำหนดเปิดบริการ Mobile Wallet ของแกร็บเพย์ จะพร้อมเปิดให้บริการในทุกตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของแกร็บภายในปลายปีนี้

ใช้เวลา 2 สัปดาห์เปลี่ยนผ่าน

ในช่วงการเปลี่ยนภายหลังการ แกร็บและอูเบอร์จะทำงานร่วมกันในการย้ายฐานข้อมูลรายชื่อคนขับ และผู้โดยสารจากแอปพลิเคชั่นอูเบอร์ รวมไปถึงลูกค้าที่สั่งอาหาร ผู้จัดส่ง และพันธมิตรร้านอาหารจากแอปพลิเคชั่นอูเบอร์อีทส์ ไปยังแพลตฟอร์มของแกร็บ

โดยแอปพลิชั่นอูเบอร์จะให้บริการต่อไปอีกเป็นเวลาสองสัปดาห์ เพื่อให้เวลาแก่คนขับในการเข้าไปลงทะเบียนสมัครกับแกร็บทางช่องทางออนไลน์ที่ www.grab.com/th/comingtogether ในส่วนแอปพลิเคชั่นอูเบอร์อีทส์นั้น จะให้บริการต่อไปจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2561 และหลังจากนั้นข้อมูลรายชื่อผู้จัดส่งและพันธมิตรร้านอาหารก็จะถูกถ่ายโอนไปยังแอปพลิเคชั่นของแกร็บ

ปัจจุบัน แอปพลิเคชั่นของแกร็บมียอดดาวน์โหลดกว่า 90 ล้านครั้ง และมีเครือข่ายคนขับและตัวแทนกว่า 5 ล้านคน ปัจจุบัน แกร็บ ให้บริการใน 195 เมืองใน 8 ประเทศ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซียไ ทย เวียดนาม เมียนมา และกัมพูชา ครอบคลุมบริการรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ แท็กซี่ คาร์พูล รวมไปถึงบริการรับส่งอาหารและสินค้า รวมถึงการชำระเงินผ่ามือถือ และบริการทางการเงิน.

]]>
1163160