RS – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Fri, 16 Aug 2024 08:10:23 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เจาะ 3 กลยุทธ์ ‘Content to Commerce’ ฉบับ ‘RS’ ที่ไม่ใช่แค่เอาศิลปินมาขายของ https://positioningmag.com/1486590 Fri, 16 Aug 2024 06:27:43 +0000 https://positioningmag.com/?p=1486590 อย่างที่รู้กันว่า อาร์เอส (RS) ในยุคใหม่ แม้จะกลับมาทำธุรกิจเพลงอีกครั้ง แต่ธุรกิจที่โดดเด่นในช่วงหลัง ๆ มาก็คือ คอมเมิร์ซ หรือก็คือฝั่งของ RS LiveWell อาทิ แบรนด์ well u, Vitanature+, Lifemate และ Camu C แต่ล่าสุด บริษัทได้เพิ่มแบรนด์ใหม่อีก 3 แบรนด์ และย้ำถึงการใช้กลยุทธ์ Content to Commerce ในแบบอาร์เอสจะเป็นอย่างไร

เปิด 3 แบรนด์ใหม่ให้คลุมทุกกลุ่มสินค้า

หากพูดถึงการขายของแล้ว ใครที่มีทรัพยากรอย่าง ช่องทาง การจำหน่ายและ อินฟลูเอนเซอร์ ศิลปินคนดังในมือก็ถือว่าได้เปรียบกว่าอยู่แล้ว คำถามคือ จะหยิบจับทรัพยากรมาเปลี่ยนเป็นสินค้าอย่างไร ซึ่ง อาร์เอส ก็ได้แตกกลยุทธ์ Content to Commerce ไว้ 3 รูปแบบ ผ่าน 3 แบรนด์ ได้แก่ 

  • ปากท้อง
  • bbooty
  • TellmeDarling by Daring&Co.

“เราพยายามให้เฮาส์แบรนด์ครอบคลุมอยู่ในหลายกลุ่มสินค้า เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ ซึ่งเรามีแต้มต่อคือ แพลตฟอร์มของตัวเอง เช่น  RS Mall และ ULife รวมถึงมีฟูลฟิลเมนต์กับซัพพลายเชนของตัวเอง”  กุ้ง – พรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส มิวสิค จำกัด กล่าว

พรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส มิวสิค จำกัด

น้ำพริกปากท้อง กับการ Co-Brand ธุรกิจในเครือ 

สำหรับกลยุทธ์ Strategic Partnerships จะเป็นการ Co-Brand ระหว่างธุรกิจในเครือ โดยบริษัทเลือกจะหยิบรายการ ปากท้องต้องรู้ ดูแล้วร้วยรวย รายการวาไรตี้เกี่ยวกับการนำเสนอนวัตกรรมของ SME รายย่อย ที่ฉายทางช่อง 8 ซึ่งมีกลุ่มแฟนคลับที่เหนียวแน่นกว่า 10 ล้านราย จนสามารถจัดงาน ปากท้องต้องรู้แฟร์ เพื่อเชื่อมระหว่างผู้ชมและ SME มาต่อเนื่อง 3 ปี

ด้วยกลุ่มฐานลูกค้าที่มี อาร์เอสจึงเริ่มดึงพิธีกรอย่าง เอ ไชยา-แป้ง ศรันฉัตร์ มิตรชัย ร่วมเป็นเจ้าของและพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกันจนเป็นแบรนด์ น้ำพริกปากท้อง โดยมีทั้งหมด 3 สูตร เพื่อเจาะ ตลาดน้ำซอสปรุงรสและน้ำพริก ในประเทศไทย ซึ่งเป็นตลาดใหญ่มูลค่าถึง 5.7 หมื่นล้านบาท เติบโต +8% 

“เรามองว่าตลาดนี้เป็นตลาดใหญ่และยังไม่มีผู้เล่นหลักที่ครองตลาดชัดเจน เราจึงกล้าเข้ามา และเริ่มจากน้ำพริกที่เป็นของแห้ง ทำให้สามารถเก็บได้นาน สามารถควบคุมคุณภาพได้ง่าย แต่อนาคตจะมีสินค้าอื่น ๆ แน่นอน” โบว์ – วรัญญา ราชพลสิทธิ์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส ลิฟเวลล์ จำกัด อธิบาย

จับใบเตย เดินตาม ริฮานน่า

อีกกลยุทธ์ก็คือ Star Commerce ดยเห็นต้นแบบอย่าง ริฮานน่า (Rihanna) นักร้องชื่อดังระดับโลกที่ก่อตั้งแบรนด์ Fenty Beauty ดังนั้น อาร์เอสจึงต้องการศิลปินที่มี Earned Media ที่แข็งแรง และต้องมี แพชชั่น เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ เพื่อมาเป็น เจ้าของผลิตภัณฑ์

โดยอาร์เอสเลือกจะดึง ใบเตย อาร์สยาม มาร่วมเป็นเจ้าของแบรนด์ bbooty เพื่อเจาะตลาด เครื่องสำอาง (Color Cosmetics) ที่มีมูลค่าถึง 20,087 ล้านบาท และเติบโตได้ถึง +33% และยังมีแนวโน้มที่จะโตขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในสินค้ากลุ่มประเภท Facial Makeup และ Lip Products

สาเหตุที่เป็น ใบเตย อาร์สยาม เพราะจากจำนวนผู้ติดตามบนโซเชียลมีเดียกว่า 6.5 ล้านบัญชี และส่วนใหญ่อายุประมาณ 20-35 ปี ซึ่งตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ นอกจากนี้ ใบเตยยังมี แพชชั่นที่อยากเป็นเจ้าของแบรนด์ผลิตภัณฑ์ความงาม อีกด้วย

“หลายคนคงมีคำถามว่าทำไมต้องเป็นใบเตย แต่เราเชื่อในการให้โอกาส และการมีคนพูดถึง ถือว่าดีกว่าไม่มีใครพูดถึง ซึ่งโมเดลนี้เราจะแบ่งรายได้กับศิลปินตามแต่ละช่องทางที่ตกลงกัน ซึ่งถือเป็นการช่วยสร้างรายได้อีกทางให้ศิลปิน”  พรพรรณ อธิบาย

ดึง Tellme ทำ Brand Collaborations

กลยุทธ์สุดท้าย Brand Collaborations โดยใช้จุดแข็งของตัวเองรวมกับจุดแข็งของพาร์ทเนอร์ เพื่อต่อยอดธุรกิจให้กับแบรนด์ ซึ่งอาร์เอสได้ร่วมกับแบรนด์ Tellme ที่กำลังต้องการ รีแบรนด์ให้เด็กลง ส่วนอาร์เอสมีแบรนด์ Daring&Co. ซึ่งเป็นแบรนด์อาหารเสริมจับกลุ่มวัยรุ่น Gen Z จึงได้ร่วมกันทำแบรนด์ TellmeDarling by Daring&Co. ออกแป้งทาหน้าในกลุ่มของ Facial Makeup ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าราว 5,131.3 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 8.4%

นอกจากนี้ อาร์เอสจะใช้กลยุทธ์ Music Marketing โดยออกเพลง Tellme Darling โดยได้ เบิ้ล ปทุมราชลำไย ไหทองคำ เป็นผู้ขับร้อง เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้ชื่อแบรนด์หรือชื่อสินค้ากลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้ฟัง เพื่อสร้าง Brand Awareness นอกจากนี้ ยังมีแผนจะทำการตลาดครบ 360 องศา ทั้งออนไลน์ และออนกราวด์ 

“ที่เราจับมือกับ Tellme เพราะเราอยากได้แบรนด์ที่เป็นตำนาน และจุดเด่นของ Tellme คือ การผลิตแป้งและช่องทางจัดจำหน่าย ซึ่งเราก็จะไปช่วยเขาในด้านมาร์เก็ตติ้ง เขาก็ไม่ต้องลงทุนตรงนี้ ส่วนเราก็ไม่ต้องลงทุนผลิตสินค้าเอง”

ไม่หวั่นพิษศก. มั่นใจคุณภาพ

แม้ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะไม่ดี ขณะที่สถานะด้านการเมืองก็ยัง ไม่มั่นคง แต่ พรพรรณ เชื่อว่า บริษัทมีความ ยืดหยุ่นในการบริหารความเสี่ยง และทั้ง 3 แบรนด์ที่ออกใหม่ก็มีการบริหารความเสี่ยงตั้งแต่แรก นอกจากนี้ สินค้าทั้ง 3 แบรนด์ยังเน้นที่ คุณภาพ เพื่อลบภาพของ แบรนด์ดารามาแล้วไป

“ทุกธุรกิจเราคิดเรื่องความเสี่ยงแล้ว และมีความยืดหยุ่นในการปรับแผนตามภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งเราเชื่อว่าเรามีความเสี่ยงน้อยกว่าทุก ๆ คน และสินค้าที่เราทำ ไม่ใช่สินค้าที่ ผู้บริโภคกล้าเสี่ยงกับของถูก ดังนั้น เราไม่กังวลเรื่องจีน เพราะเราเน้นเรื่องคุณภาพ ฟังก์ชันนอล เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง ไม่ได้ต้องการเป็นแค่แบรนด์ของดารา”

วรัญญา ราชพลสิทธิ์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส ลิฟเวลล์ จำกัด

วางเป้าโกย 1 พันล้าน พร้อมขยายไปตปท.

คาดการณ์สัดส่วนรายได้ของธุรกิจคอมเมิร์ซในปี 2567 อยู่ที่ 1,000 ล้านบาท แบ่งเป็น

  • รายได้จากทั้ง 3 แบรนด์ใหม่ คาดว่าจะอยู่ที่ 250 ล้านบาท 
  • รายได้จากแบรนด์สินค้าอื่นๆ ของ RS LiveWell ประมาณ 750 ล้านบาท

โดยอีกโอกาสที่อาร์เอสมองก็คือ โมเดิร์นเทรด และบิวตี้สโตร์ รวมถึงการขยายไป ตลาดต่างประเทศ โดยจะเริ่มในกลุ่มประเทศ CLMV ปัจจุบันอาร์เอสได้รุกตลาดต่างประเทศแล้วก็คือ ฟิลิปปินส์ โดยปัจจุบัน รายได้จากต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5-10% ของรายได้ฝั่งคอมเมิร์ซ

“เราอยากจะเน้นช่องทางตัวเอง แต่วางแผนจะเข้าออฟไลน์และต่างประเทศแล้ว เช่น โมเดิร์นเทรด และบิวตี้สโตร์ ซึ่งปัจจุบันตลาดฟิลิปปินส์เป็นตลาดที่มีโอกาสมาก เพราะประชากรส่วนใหญ่เป็นนิวเจน อยู่ในช่วงขาขึ้น และการบริโภคใกล้เคียงเรา นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์ยังไม่ผลิตสินค้าเอง เน้นบริโภคซึ่งไทยมี OEM ที่คุณภาพดี” พรพรรณ ทิ้งท้าย

]]>
1486590
ลมเปลี่ยนทิศ! เมื่อ RS คัมแบ็กธุรกิจ “เพลง” และ “สัตว์เลี้ยง” กำลังเป็นดาวรุ่งตัวต่อไป https://positioningmag.com/1432485 Tue, 30 May 2023 07:05:23 +0000 https://positioningmag.com/?p=1432485 RS มองแลนด์สเคปธุรกิจเพลงที่เปลี่ยนไป กลับมาบุกตลาดมากขึ้น ปิดดีลพาร์ตเนอร์ต่างประเทศต่อยอดธุรกิจ เตรียมสปินออฟดันเข้าตลาดหลักทรัพย์ปีหน้า บุกตลาดสัตว์เลี้ยงปั้นให้ครบอีโคซิสเท็ม ขึ้นแท่นดาวรุ่งตัวต่อไป

ทรานส์ฟอร์มไม่หยุดนิ่ง

RS หรือ “อาร์เอส กรุ๊ป” เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้เห็นการปรับตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อรับกับเทรนด์ กับกระแสที่เปลี่ยนของผู้บริโภค รวมไปถึงกระแสของโลกธุรกิจ เชื่อว่าหลายคนเติบโตมากับอาร์เอส เติบโตมากับบทเพลง ศิลปินที่มอบความบันเทิงให้แก่พวกเรา แต่อดีตธุรกิจเพลงมีรายได้หลักจากการขายเทป ซีดี การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลจึงทำให้ธุรกิจเพลงซบเซาลงไปบ้าง

ที่ผ่านมาเราจึงได้เห็นอาร์เอสเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ธุรกิจอื่นๆ อย่างรวดเร็ว จากธุรกิจเพลงสู่ธุรกิจ “ทีวีดิจิทัล” ในนามช่อง 8 และธุรกิจสุขภาพความงาม ในธุรกิจไลฟ์สตาร์ ตั้งแต่ปี 2557 เพราะมูลค่าตลาด และโอกาสในการเติบโตสูงมากขึ้นทุกปี ประกอบกับเทรนด์ของคนไทยที่ใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มตัว

หลังจากที่ทรานส์ฟอร์มมาเรื่อยๆ อาร์เอสก็ได้ปรับโครงสร้างธุรกิจในปี 2562 อย่างเต็มตัว เปลี่ยนหมวดหมู่ของธุรกิจจากธุรกิจสื่อ เป็นธุรกิจคอมเมิร์ซ หรือเรียกเต็มๆ ว่า Multi-Platform Commerce หรือ MPC เพราะในจังหวะนั้น รายได้จากการขายสินค้าแซงหน้าธุรกิจสื่อไปแล้ว

อาร์เอสใช้โมเดลขายสินค้าผ่านช่องทางสื่อในเครือ ทั้งทีวีดิจิทัล ช่อง 8 ทีวีดาวเทียม ช่อง 2, ช่องสบายดีทีวี, ช่องเพลินทีวี, วิทยุคูลฟาเรนไฮต์, สื่อออนไลน์ www.shop1781.com, LINE@shop1781, LINE@COOLanything รวมทั้งตัวแทนขายตรง LifestarBIZ โมเดิร์นเทรด และร้านค้าปลีกทั่วประเทศ

อีกหนึ่งการทรานส์ฟอร์มล่าสุดที่น่าสนใจไม่น้อย เมื่ออาร์เอสกลับมาบุกธุรกิจ “เพลง” อีกครั้ง หลังจากเงียบหายไป 15 ปี โดยที่ “เฮียฮ้อ” ได้ประกาศแผนตั้งแต่ปี 2563 ในปีนี้เริ่มเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนยิ่งขึ้น ควงคู่มากับธุรกิจ “สัตว์เลี้ยง” วางแผนทำเป็น Petconomy หรือครอบคลุมอีโคซิสเท็มทั้งหมด เนื่องจากเป็นธุรกิจขาขึ้น และเฮียฮ้อเองก็เป็นทาสหมาด้วยเช่นกัน

เมื่อธุรกิจเพลง “ไม่เหมือนเดิม”

ย้อนกลับไปในอดีต ธุรกิจเพลงเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่โดนดิสรัปต์มาตลอด ตั้งแต่ยุคเทปผีซีดีเถื่อน ทำให้ผู้ประกอบการต้องเสียรายได้ให้กับแผ่นเถื่อน และเมื่อยุคดิจิทัลเข้ามามีบทบาท คนก็ฟังผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น บททาทของเทอ หรือซีดี หรือที่เราเรียกกันว่า Physical ก็เริ่มลดลง

ซึ่งในอดีตตัวสินค้า Physical ทั้งเทป และซีดี เป็นรายได้หลักของผู้ประกอบการ และศิลปิน เพราะในยุคก่อนๆ ไม่คอ่ยมีงานอีเวนต์ หรือคอนเสิร์ตมากนัก รวมไปถึง Music Marketing ด้วย เมื่อรายได้การเทป ซีดีลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ จึงทำให้เฮียฮ้อตัดสินใจให้น้ำหนักกับธุรกิจเพลงน้อยลง แต่ไม่ถึงกับยุบธุรกิจไป เพราะยังมีรายได้ในส่วนของลิขสิทธิ์ต่างๆ อยู่บ้าง

แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ต้องยอมรับว่าธุรกิจเพลงในตอนนี้มีหลากหลาย Business Model และมีช่องทางการหารายได้ที่หลากหลายขึ้นกว่าในอดีตมาก ในช่วงกลางปี 2563 อาร์เอสจึงตัดสินใจคัมแบ็กธุรกิจอีกครั้งในรอบ 15 ปี ภายใต้ยูนิต RS Music ปัดฝุ่นค่ายเพลง และแตกเป็น 3 ค่ายหลักๆ ได้แก่ 1. RSIAM 2. Kamikaze และ 3. RoseSound

ในปีนี้แผนธุรกิจเพลงมีความชัดเจนยิ่งขึ้น เฮียฮ้อถึงกับเอ่ยปากว่า เตรียมสปินออฟบริษัทเพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์สำหรับระดมทุน และหารายได้ให้มากขึ้น โดยจะมีความชัดเจนในช่วงไตรมาส 2 ของปี

สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า

“แต่ก่อนที่เลิกทำธุรกิจเพลง เพราะว่ารายได้มาจากแค่แผ่นซีดีอย่างเดียว แต่ตอนนี้เห็นเทรนด์จากออนไลน์ สตรีมมิ่ง กิจกรรมต่างๆ คอนเทนต์ไปได้ไกลกว่านั้น เป็น Music Marketing รายได้มาจากทุกมิติ ขายโฆษณา แอดออนไลน์ สตรีมมิ่ง คอนเสิร์ต ละในมุมลูกค้าที่ซื้อสื่อ ซื้อกิจกรรมคอนเสิร์ต ก็สามารถเก็บเม็ดเงินโฆษณาได้ด้วย แผนตอนนี้จะมีการสปินออฟบริษัททำให้ธุรกิจมีมูลค่าเพิ่ม เพื่อได้ระดมทุนทำธุรกิจเพลง และจะมีพาร์ตเนอร์ต่างประเทศที่จะมาพร้อมเงินทุน ในปีนี้ตั้งเป้ารายได้จากธุรกิจนี้ 700 ล้านบาท”

เฮียฮ้อยังเสริมอีกว่า เพลงจะกลับมาเป็นธุรกิจหลักที่ให้ความสนใจ จริงๆ ธุรกิจเพลงยุคใหม่อาจจะไม่มากมายนัก แต่มีมาร์จิ้นดีมาก อีกทั้งธุรกิจเพลงยังน่าสนใจ เป็นคลื่นลูกใหม่ เป็น Soft Power ได้ด้วย

RS Music ยังมีแผนปิดดีลกับพาร์ตเนอร์ต่างประเทศในเร็วๆ นี้ ซึ่งเป็นดีลขนาดใหญ่ที่จะสร้างมูลค่าให้ทั้งกลุ่ม และเป็นจิ๊กซอว์สำคัญในการผลักดัน RS Music ให้มีศักยภาพ ขยายธุรกิจให้เติบโตได้ทั้งในประเทศ และระดับโลก และมีการปรับโครงสร้างธุรกิจเพลงใหม่ โดยรวมธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเสียงเพลงทั้งหมดมาไว้ด้วยกัน ได้แก่ 3 ค่ายเพลงหลัก, สถานีเพลง COOLFahrenheit, โชว์บิส, การทำการตลาดออนไลน์และ ออนกราวนด์ รวมถึง Artist Management

“สัตว์เลี้ยง” ขึ้นแท่นดาวรุ่ง

อีกหนึ่งธุรกิจที่อาร์เอสได้เริ่มบุกตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 นั่นก็คือ ธุรกิจ “สัตว์เลี้ยง” เปิดตัวแบรนด์ Lifemate เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยง เริ่มจากการทำอาหารเม็ดก่อน และแตกไลน์เป็นกลุ่มอาหารเปียก อาหารเสริม และของใช้ต่างๆ แต่เดิมรายได้ของ Lifemate จะอยู่รวมกับธุรกิจคอมเมิร์ซ แต่อาร์เอสได้ปรับโครงสร้าง แตกเป็นยูนิต Pet All สร้างอาณาจักรสัตว์เลี้ยงครบวงจร ตั้งเป้าสปินออฟเข้าตลาดหลักทรัพย์ในอีก 3 ปีข้างหน้าให้ได้

เฮียฮ้อบอกว่า “ตลาดสัตว์เลี้ยงน่าสนใจมาก ส่วนตัวเป็นทาสหมาอยู่แล้วด้วย และได้ติดตามอุตสาหกรรมนี้มานาน อยู่ในเทรนด์เติบโตทุกปี ล้อกับพฤติกรรมคนไทยที่เข้าสู่สังคมสูงวัย หรือครอบครัวเล็กลง คนเมืองมีลูกน้อยลง หลายคนเอาสัตว์เลี้ยงมาเป็นเพื่อน เลี้ยงสัตว์แทนการมีลูก รักสัตว์เหมือนลูก ในแผนปีนี้มีทั้งการเติบโตด้วยตัวเอง และ M&A จะทำอาณาจักรให้มีทั้งช็อป และศูนย์ Wellness สำหรับสัตว์เลี้ยง”

เมื่อไม่นานมานี้ได้จัดตั้ง บริษัท อาร์เอส เพ็ท ออล จำกัด (RS pet all) เพื่อลงทุนในธุรกิจสัตว์เลี้ยงแบบครบวงจร (Petconomy) ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยล่าสุดได้เข้าทุ่มงบลงทุน 100 ล้านบาท เข้าลงทุนใน บริษัท ฮาโตะ เพ็ท เวลเนส เซ็นเตอร์ จำกัด (Hato Pet Wellness Center) ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตสัตว์เลี้ยงครบวงจร และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน “Preventive Program” โปรแกรมการป้องกันดูแลและส่งเสริมให้สัตว์เลี้ยงมีสุขภาพแข็งแรง โดยมีสัดส่วนการลงทุน 51%

ในปี 2565 ฮาโตะ มีรายได้รวม 60 ล้านบาท หลังจากที่อาร์เอสเข้าลงทุนคาดว่าน่าจะมีรายได้เติบโตขึ้นเป็น 100 ล้านบาทภายในสิ้นปีนี้ โดยจะโฟกัสที่ 2 โมเดลธุรกิจด้วยกัน ได้แก่ การเปิด HATO Animal Hospital จำนวน 2 แห่งใจกลางกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสัตว์ระดับ 5 ดาว ที่ครบและครอบคลุมการรักษาทุกด้าน รวมถึงการพัฒนาสินค้าในกลุ่ม HATO Vet Select ภายใต้แบรนด์ HATO ซึ่งจะมีมากกว่า 10 SKUs ทั้งผลิตภัณฑ์กรูมมิ่ง แอนด์ สปา รวมถึง wellness treats ที่เป็นขนมเพื่อสุขภาพสำหรับสัตว์เลี้ยง โดยจะออกวางจำหน่ายผ่านทางออนไลน์ และเพ็ทช็อปทั่วประเทศ

ปัจจุบันแบ่งธุรกิจออกเป็น เซอร์วิส และผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง ทั้งนำเข้าและผลิตในไทย โดย เซอร์วิส มีทั้งหมด 5 สาขา แบ่งเป็น 3 รูปแบบหลักๆ คือ 1. Hato Pet Wellness Center ให้บริการคลินิก และบริการอาบน้ำ, สปา 2. Hato Cat Wellness Center คลินิกยกระดับคุณภาพชีวิตแมวครบวงจร และ 3. HATO Home ที่มีโมเดลแบบ Private Pet Community ซึ่งประกอบด้วย คลินิก โรงแรม Pet Shop รวมถึงส่วนพักผ่อนหรือสถานที่ทำกิจกรรม อาทิ สนามหญ้าหรือสระว่ายน้ำสำหรับสัตว์เลี้ยงที่รวมการดูแลสัตว์เลี้ยงไว้ในที่เดียวแบบครบวงจร  นอกจากนี้ยังรุกเข้าสู่ธุรกิจโรงพยาบาลสัตว์ ซึ่งขณะนี้ เปิดบริการแล้ว 1 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลสัตว์กรุงเทพ-ชัยพฤกษ์

นอกจากที่ร่วมทุนกับ Hato แล้ว อาร์เอสเตรียมเป็น Pet Shop เป็นของตัวเอง ที่รวบรวมสินค้า และบริการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงแบบครบวงจร คาดว่าจะเปิดตัวในช่วงเดือนกรกฎาคม และขยายเพิ่มเติมอีก 6-7 สาขา

การที่อาร์เอสหันมาบุกธุรกิจอื่นๆ มากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากธุรกิจคอมเมิร์ซได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ และกำลังซื้อของผู้บริโภคที่อ่อนแรงลง ทำให้ต้องกระจายความเสี่ยงไปธุรกิจอื่นมากขึ้น

ทั้งนี้อาร์เอส กรุ๊ป ผลประกอบการไตรมาส 1/2566 ทำกำไรที่ 92 ล้านบาท จากรายได้รวม 813 ล้านบาท โดยกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 67% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวของธุรกิจสื่อ และรายได้จากการจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ที่สูงขึ้น รวมไปถึงการรับรู้กำไรพิเศษจากการขายหุ้น CHASE บางส่วน

ในปีนี้ตั้งเป้ารายได้รวมที่ 5,000-5,500 ล้านบาท มีกำไร 10-12% แบ่งสัดส่วนเป็นธุรกิจคอมเมิร์ซ 55% และธุรกิจมีเดีย และบันเทิง 45%

อ่านเพิ่มเติม

]]>
1432485
เปิดเบื้องหลังประวัติศาสตร์ ‘Grammy x RS’ แม้เป็นคู่แข่งแต่ไม่จำเป็นต้องเป็นศัตรู https://positioningmag.com/1425197 Tue, 28 Mar 2023 11:23:44 +0000 https://positioningmag.com/?p=1425197 ถือเป็นประวัติศาสตร์ที่วงการเพลงต้องจดจำ เพราะในที่สุดแฟนเพลงก็จะได้เห็นคอนเสิร์ตร่วมกันครั้งแรกในรอบ 40 ปี ของ 2 ค่ายใหญ่อย่าง แกรมมี่ (Grammy) และ อาร์เอส (RS) จุดเริ่มต้น เบื้องลึก เบื้องหลัง และการร่วมมือจากนี้จะเป็นอย่างไร Positioning จะมาอธิบายให้ได้อ่านกัน

จีบกันไปกันมากว่า 5 ปี

ภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เล่าว่า สำหรับการร่วมมือของแกรมมี่และอาร์เอสมีการคุยกันมานานแล้วแต่หลาย ๆ อย่างยังไม่ลงตัว จนกระทั่งจังหวะเวลาได้ ทั้ง 2 ค่ายจึงจัดตั้งกิจการร่วมการค้า (JOINT VENTURE) อะครอสเดอะยูนิเวิร์ส เพื่อจัดงานคอนเสิร์ตร่วมกัน โดยทุกอย่างแบ่งครึ่งเท่า ๆ กันทั้งการลงทุนและผลกำไร ขณะที่แต่ละค่ายก็จะทำในสิ่งที่ถนัด เช่น แกรมมี่ดูเรื่องการขายบัตร, งานโปรดักชั่น, งานครีเอทีฟ ส่วนอาร์เอสมองในภาพรวม ดูเรื่องงบประมาณ และการประชาสัมพันธ์ เป็นต้น

“ไม่มีใครจีบใครก่อน แต่จีบกันไปกันมาในช่วง 5 ปีมานี้ แต่เพราะจังหวะยังไม่เหมาะสม จนกระทั่งช่วงที่สถานการณ์โควิดคลี่คลาย และอาร์เอสก็ประกาศกลับมาทำเพลงอีกครั้ง การพูดคุยก็เลยลงตัว ซึ่งหัวใจสำคัญของดีลนี้ เรามองว่ามันคือ ความเท่าเทียมและความไว้ใจ”

ภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)

ทำปีเดียวไม่ได้ เพราะศิลปินเยอะ

เบื้องต้น คอนเสิร์ตที่จะจัดจะเป็น ซีรีส์คอนเสิร์ต (SERIES CONCERT) ของศิลปินยุค 90 และ 2000 เบื้องต้นจะจัดขึ้นปีละ 3 ครั้ง ครั้งละ 2 รอบ และจะจัดต่อเนื่องยาว 3 ปี ซึ่งสาเหตุที่ต้องจัดคอนเสิร์ตเป็นซีรีส์เพราะจำนวนศิลปินที่มีมากกว่าร้อยชีวิต ครอบคลุมทุกแนว ดังนั้น แต่ละคอนเสิร์ตก็จะมีธีมและศิลปินที่แตกต่างกันไป โดยจะประกาศปีต่อปี ซึ่งในปี 2023 นี้จะจัดขึ้นในเดือนกรกฎาคม กันยายน และตุลาคม ตามลำดับ

การเลือกศิลปินเรายึดจากช่วงปี 90 ถึง 2000 เพราะถือเป็นยุคที่รุ่งเรืองที่สุด และเรามองว่าเพลงเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่มีอายุไขแม้จะมีกระเเสใหม่ ๆ เข้ามา และจากพฤติกรรมทั่วโลกพบว่าคนฟังเพลงใหม่ ๆ 15% อีก 85% เป็นการฟังเพลงเก่า”

วางเป้า 3 ปีทำรายได้ 660 ล้านบาท

เบื้องต้น การลงทุนทำคอนเสิร์ตแต่ละปีจะอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านบาท คาดว่าจะทำรายได้ 220 ล้านบาท ทำกำไรประมาณ 50% โดยคาดว่าคอนเสิร์ตแต่ละครั้งจะสามารถจุดผู้ชมได้ 10,000 คน หรือประมาณ 60,000 คน/ปี ราคาบัตรอยู่ที่ 2,000-6,000 บาท

นอกจากนี้ ทุกคอนเสิร์ตยังเปิดรับสปอร์นเซอร์ ปัจจุบันมีประมาณ 10 แบรนด์ที่เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ซึ่งยังคงเปิดรับอยู่แต่ไม่ได้อยากจะเปิดรับมากเกินไป เพื่อให้ทุกแบรนด์สามารถเป็นที่จดจำได้

“เรามองการขายบัตรเป็นรายได้หลักส่วนสปอนเซอร์เป็นรายได้เสริม ซึ่งเราอยากทำคอนเสิร์ตไปยาว ๆ ไม่อยากให้มันจบ ดังนั้น จำนวนสปอนเซอร์ก็รับตามความเหมาะสม แต่ยอมรับราคาสปอนเซอร์อาจแพงขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่แบรนด์รับได้ ส่วนราคาบัตรยังอยู่ในระดับปกติภาวิต เสริม

ไม่ปิดกั้นโอกาสอื่น

วิทวัส เวชชบุษกร ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการเงิน บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า 2 ค่ายใหญ่อย่างแกรมมี่และอาร์เอสสามารถสร้างเม็ดเงินให้อุตสาหกรรมเพลงไทยได้ประมาณ 5,000 ล้านบาท ดังนั้น เชื่อว่าการจัดคอนเสิร์ตร่วมกันในครั้งนี้นอกจากจะสร้างความสุขให้ผู้ชม จะยังช่วยให้อุตสาหกรรมเพลงไทยสามารถเติบโตได้ เพราะการมีคอนเสิร์ตที่ทำรายได้ปีละ 200 ล้านบาทก็เท่ากับตลาดโต 20%

นอกจากนี้ยังระบุว่า คอนเสิร์ตเป็นแค่จุดเริ่มต้น เพราะเชื่อว่ายังมีโอกาสอื่น ๆ ให้ได้ทำอีก อย่างไรก็ตาม ทั้งสองค่ายอาจต้องมาคุยเรื่องทิศทางต่อไป ซึ่งจะขึ้นอยู่กับว่าฟีดแบ็กของผู้ชมจะเป็นอย่างไร เห็นโอกาสอะไร แต่ต้องมาประเมินอีกที

“อาร์เอสมองว่า การทำธุรกิจสมัยนี้เราสามารถมีพาร์ตเนอร์ได้ในหลาย ๆ รูปแบบ การร่วมกับแกรมมี่ก็เป็นอีกพาร์ตเนอร์ชิปหนึ่งที่ทำให้เรามองเห็นโอกาส ซึ่งทั้งเราทั้งแกรมมี่ต่างก็ไม่ปิดกั้นโอกาส เรามองหาโอกาสที่จะมาต่อ ยอดซึ่งกันและกัน”

(ซ้าย) วิทวัส เวชชบุษกร ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการเงิน บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน)

เป็นคู่แข่งไม่ใช่ศัตรู

ภาวิต ย้ำว่า อุตสาหกรรมเพลงไทยเองยังคงเติบโตได้อย่างมหาศาลเพียงแต่มันหมดยุคเทป, ซีดีมาสู่ยุคดิจิทัล หารายได้จากสตรีมมิ่ง Artist Management และคอนเสิร์ต ขณะที่ตลาดเพลงทั่วโลกเติบโตเฉลี่ย 9-12% ดังนั้น การเติบโตยังทำได้อย่างต่อเนื่อง แต่ภาพการแข่งขันก็เปลี่ยนไป ต้องแข่งขันกับเพลงทั่วโลก ค่ายเพลงใหม่ก็เพิ่มขึ้นเป็นร้อย ๆ แต่ค่ายก็ร่วมมือกับทุกค่าย เพราะสุดท้ายผู้บริโภคจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะให้เวลากับใคร ดังนั้น การแข่งขันในปัจจุบันมันไม่ใช่ว่าใครดีกว่าใคร แต่มันคือการแย่งเวลาผู้บริโภคมากที่สุด

“เราอยากสร้างประวัติศาสตร์ นี่เป็นสิ่งที่ทั้งแกรมมี่และอาร์เอสอยากทำให้เกิดขึ้น เพราะโอกาสแบบนี้บางทีร้อยปีอาจไม่เกิดขึ้น การที่เราเป็นคู่แข่งกันไม่จำเป็นต้องเป็นศัตรูกัน เราอยากทำให้เห็นว่ามันร่วมมือกันได้ ตอนนี้การแข่งขันในปัจจุบันมันไม่ใช่ว่าค่ายไหนดีกว่ากัน แต่มันคือใครแย่งเวลาผู้บริโภคมากที่สุดคนนั้นชนะ”

]]>
1425197
จับตาดีลใหญ่! RS เจรจาซื้อธุรกิจขายตรงจาก “ยูนิลีเวอร์” เสริม Omni Channel https://positioningmag.com/1371436 Mon, 24 Jan 2022 13:51:42 +0000 https://positioningmag.com/?p=1371436 กระแสข่าวมาแรง ตามสื่อสำนักหนึ่งออกมานำเสนอข่าว ระบุว่า RS เปิดดีลเจรจาเข้าซื้อหน่วยธุรกิจขายตรงจาก ยูนิลีเวอร์ มูลค่ากว่า 900 ล้านบาท เพื่อเข้ามาเสริมธุรกิจ Omni Channel ของบริษัท ล่าสุดอาร์เอสแจ้งตลาดหลักทรัพย์แล้ว

โดยมีใจความสำคัญว่า ตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้สอบถามมายังบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ”) และขอให้บริษัทฯ ชี้แจงถึงประเด็นเกี่ยวกับข้อมูลที่ปรากฎในหนังสือพิมพ์ข่าวหุ้น ฉบับลงวันที่ 24 มกราคม 2565 ว่าบริษัทฯเตรียมปิดดีลเจรจาซื้อกิจการยูนิลีเวอร์ นั้น

บริษัทฯ ใคร่ขอเรียนชี้แจงว่า บริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจบันเทิงที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน รวมทั้งการ
สร้างจุดยืนในฐานะผู้นำการผสมผสานความบันทิงและการค้าปลีกด้วยโมเดล Entertainmerce นอกจากนี้ จากการที่บริษัทฯ มีกลยุทธ์การทำ Mergers and Acquisitions (M&A) และ Joint Venture (JV) นั้น บริษัทฯ อยู่ในระหว่างการศึกษาการเข้าลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ เพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตและขยาย Ecosystem ของอาร์เอส กรุ๊ป

อย่างไรก็ตาม หากมีข้อชี้แจงใดๆ ที่บริษัทฯ มีหน้าที่แจ้งสารสนเทศต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทฯ จะแจ้งข้อมูลต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อไป

ทั้งนี้ในวันนี้ทางอาร์เอส กรุ๊ป ได้เปิดเผยถึงแผนการดำเนินธุรกิจในปีนี้ พร้อมทั้งกล่าวถึงกระแสข่าวที่เกิดขึ้นนี้ไว้ด้วยว่า กรณีกระแสข่าวที่สื่อสำนักหนึ่งออกมานำเสนอว่า อาร์เอส กรุ๊ป เตรียมปิดดีลซื้อธุรกิจขายตรงจากกลุ่มยูนิลีเวอร์นั้น ทางอาร์เอสยังไม่มีข้อมูลที่จะตอบในเรื่องนี้ แต่ก็ไม่ปฏิเสธกับกระแสข่าวที่เกิดขึ้น

ขณะที่แผนการทำ M&A ของอาร์เอส กรุ๊ป ในปีนี้มองไว้ 1-2ดีล แต่ละดีลวางงบลงทุนไว้ที่ 500-1,000 ล้านบาท

Source

]]>
1371436
เปิดใจ ‘เฮียฮ้อ’ จาก ‘ทาสน้องหมา’ สู่การปั้นแบรนด์ ‘Lifemate’ ธุรกิจที่ทำแล้วมีความสุขที่สุด https://positioningmag.com/1363572 Tue, 23 Nov 2021 12:21:31 +0000 https://positioningmag.com/?p=1363572 จากปกติหลายคนมักจะพูดว่า ‘เฮียฮ้อ’ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ นั้น ‘ยิ้มยาก’ แต่ในวันนี้กลับ ‘ยิ้มกว้าง’ เพราะพาเจ้า ‘แบงก์เกอร์’ สุนัขคู่ใจมาร่วมงานแถลงข่าวเปิดตัวแบรนด์ ‘Lifemate (ไลฟ์เมต)’ ผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยงที่เคยเกริ่นไว้ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคมปี 63 ว่า RS เตรียมลุยตลาดอาหารสัตว์เต็มตัว พร้อมบอกว่านี่เป็นธุรกิจที่ทำแล้วมีความสุขที่สุด

เฮีอฮ้อ เล่าถึงที่มาที่ไปว่าเหตุผลที่เข้ามาในตลาดก็เพราะเป็น ทาสน้องหมา นี่แหละ แม้ส่วนตัวจะเป็นคนรักสัตว์ แต่ก็เพิ่งจะได้เริ่มเลี้ยงอย่างจริงจังก็เมื่อตอน 6-7 ปีก่อน เพราะมองว่าเวลากำลังเหมาะสม จนในที่สุดลูกก็ไปหาสุนัขพันธุ์เฟรนซ์บลูด็อกมาให้เลี้ยง หรือก็คือเจ้า แบงก์เกอร์ จากนั้นก็ตามมาอีก 2 ตัว คือ เจ้า ไทเกอร์ (สุนัชพันธุ์อิงลิช บลูด็อก) และ เพลเยอร์ (พันธุ์พุดเดิ้ลผสมมอลทีส)

“ย้อนไปช่วงอายุ 30 กว่า ๆ เราก็เคยเลี้ยงหมา แต่เราทำงานหนักไม่มีเวลาให้เขาเลย แต่ตอนนี้เรามองว่าเป็นช่วงที่เหมาะแล้ว ทุกวันนี้พวกเขาก็เหมือนเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว เขาจะมานั่งตักเฮียทุกเช้า สาย ๆ ก็จะจูงเดิน เลิกงานก็เล่นกับเขาคลายเครียด มีเวลาก็อาบน้ำให้บ้าง”

เฮียฮ้อ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) และแบงก์เกอร์

เฮียฮ้อเล่าต่อว่า พอเรารักเขาเราก็เอาแต่ใจเขา อยากดูแลเขาให้เต็มที่ จากปกติเป็นคนไม่ค่อยเดินห้างฯ ช้อปปิ้ง แต่กลายเป็นว่าเราอยู่ในร้าน Pet Shop ได้เป็นชั่วโมง ๆ สามารถยินดีจ่ายเงินซื้อของให้ บางอย่างใช้แพงกว่าตัวเองด้วยซ้ำ นี่เลยเป็นจุดตั้งต้นให้เกิดแบรนด์ ‘Lifemate (ไลฟ์เมต)’

“เขาก็เป็นจุดตั้งต้นให้เราทำธุรกิจ เราเข้าใจเลยว่าเขาเป็นเพื่อนคู่ชีวิต เป็นมากกว่าสัตว์เลี้ยง แบรนด์เราเลยชื่อไลฟ์เมต และนี่เป็นธุรกิจที่ผมทำแล้วมีความสุขที่สุด”

ไม่ใช่แค่เรื่องของแพชชั่น แต่หากพูดถึงโอกาสทางธุรกิจแล้วต้องบอกว่าไม่น้อย เพราะปัจจุบัน วัฒนธรรมหรือมุมมองต่อสัตว์เลี้ยงของคนที่เปลี่ยนไป คนโสดมากขึ้น หรือแต่งงานแต่ไม่มีลูก รวมไปถึงเพศทางเลือก อีกทั้งสังคมสูงวัย ส่งผลให้คนเริ่มหาน้องหมาน้องแมวมาเลี้ยง ให้ความรักเอาใจใส่

และโดยเฉลี่ยแล้วเจ้าของสัตว์เลี้ยงจะมียอดใช้จ่ายเฉลี่ยที่ 14,200 บาท/ปี ขณะที่ตลาดสัตว์เลี้ยงตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเติบโตเฉลี่ย 10% และในหมวดอาหารสุนัขและอาหารแมวมีสัดส่วนประมาณ 45% หรือประมาณ 18,000 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มอีโคโนมี 60% กลุ่มสแตนดาร์ด 30% และกลุ่มพรีเมียม 10%

ดังนั้น แบรนด์ไลฟ์เมตจะเริ่มจาก อาหารแห้งชนิดเม็ด สำหรับเน้องหมาน้องแมวเป็นสินค้าตัวแรก โดยมีจุดเด่นด้านการดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยงแบบองค์รวม ซึ่งแบรนด์ไลฟ์เมตจะวางราคาไว้ที่จุดบนสุดของราคามาตรฐาน แต่คุณภาพใกล้เคียงกลุ่มพรีเมียม โดยความคาดหวังคือ เปลี่ยนใจคนที่มีกำลังระดับกลางยอมจ่ายเพิ่มอีกนิด หรือกลุ่มพรีเมียมที่หันมาซื้อไลฟ์เมตไม่ต้องไปรอสินค้านำเข้า

“เขาพยายามหาของดีที่สุดในราคาที่จับต้องได้ นี่เป็นจุดที่ทำให้เราเข้ามาเล่นในตลาดนี้ ตอนนี้กลุ่มพรีเมียมส่วนใหญ่นำเข้า คนอยากได้แต่ราคาเอื้อมไม่ถึง ดังนั้น เราจึงอยากทำสินค้าที่ดีเทียบเท่านำเข้า เราก็น่าจะทำตลาดได้” นางพรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพาณิชย์ กล่าวเสริม

นำสัตว์เลี้ยงพนักงานเป็นพรีเซ็นเตอร์

ไม่ใช่แค่เฮียฮ้อที่มีความสุขกับการทำแบรนด์ไลฟ์เมต แต่พนักงาน RS ก็มีส่วนร่วมด้วย โดยเฮียฮ้อเล่าว่า ได้ให้พนักงานนำสัตว์เลี้ยงของตัวเองมาประกวดเพื่อเป็น พรีเซ็นเตอร์ ให้กับแบรนด์ นอกจากนี้ยังได้ เพนตาแกรม บริษัทด้านดีไซน์ระดับโลกเป็นผู้ออกแบบแพ็กเกจจิ้งแบรนด์

ทั้งนี้ แบรนด์ไลฟ์เมตใช้งบการตลาด 30 ล้านบาท โดยจะทำแบบครบวงจร ทั้งสร้างการรับรู้ผ่านสื่อต่าง ๆ ในเครือ RS ไม่ว่าจะทีวี วิทยุ สื่อนอกบ้าน อีเวนต์ พรีเซ็นเตอร์ การให้สิทธิประโยชน์ผ่านเหรียญ Popcoin แคมเปญการแจกสินค้าตัวอย่าง การทำโปรโมชันต่าง ๆ นอกจากนี้ยังได้ อย่าง บอล-จารุลักษณ์ มาเขียนเนื้อร้องและทำนอง และขับร้องโดย นะ-รัตน จากวง Polycat 

เบื้องต้น ไลฟ์เมตจะเริ่มวางจำหน่ายวันที่ 1 ธ.ค. นี้ ผ่านร้านเพ็ทช็อป คลินิก และโรงพยาบาลสัตว์ทั่วประเทศ รวมถึงช่องทางออนไลน์ RS Mall, Shopee และ Lazada

ตั้งเป้ายอดขาย 320 ล้านบาทในปีแรก

ในปีแรก ไลฟ์เมตตั้งเป้าทำรายได้ 320 ล้านบาท และปีหน้าจะเริ่มทำในส่วนของ อาหารเปียก สแน็ค และอาหารเสริมสำหรับน้องหมาน้องแมว และมีโอกาสที่จะต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อาทิ แชมพู ด้วยแน่นอน และหากแบรนด์ประสบความสำเร็จ เฮียฮ้อก็พร้อมที่จะก้าวไปสู่อีโคซิสเต็มส์ของตลาด ไม่ว่าจะเป็น Pet Shop หรือแม้แต่ทำ โรงพยาบาลสัตว์ ก็มีโอกาสเป็นไปได้

“เราทำธุรกิจเรามีแพชชั่นหมด แต่เราทำแล้วสนุก เรายิ้มได้ และเป็นทิศทางที่มันน่าสนใจ โอกาสทางธุรกิจก็ตามมา ซึ่งเราวางตัวไม่ใช่แค่อาหารสัตว์แต่เป็น Pet Care เราต้องการดูแลสัตว์เลี้ยงในทุกมิติ ดังนั้นเป็นไปได้หมด”

อ่านมาจนถึงตรงนี้ คงจะเชื่อแล้วว่าเฮียฮ้อมีแพชชั่นกับสัตว์เลี้ยงอย่างเต็มเปี่ยมจริง ๆ ไม่แน่ว่า เราอาจได้เห็นแบรนด์ไลฟ์เมตในสถานะอื่น ๆ อีกเร็ว ๆ นี้ก็ได้

]]>
1363572
กางโมเดล RS Music ธุรกิจเพลงยุคใหม่ของ “เฮียฮ้อ” ศิลปินลงทุนเอง ต้องเป็น Influencer https://positioningmag.com/1307500 Tue, 24 Nov 2020 17:05:46 +0000 https://positioningmag.com/?p=1307500 “เฮียฮ้อ” ประกาศปัดฝุ่นธุรกิจเพลง RS Music โดยอยู่ภายใต้โมเดลใหม่ Music Star Commerce เปิด 3 ค่ายเพลง พร้อม 9 ศิลปินใหม่ RS ยุคใหม่ ศิลปินต้องลงทุนเอง และต่อยอดเป็น Business Partner ขายของต่อได้

ไม่ได้หายไป กลับมารุกใหม่ในจังหวะที่ใช่

เชื่อว่าหลายคนต้องมีประสบการณ์ และเติบโตมากับเพลงของ RS เรียกว่ายุคหนึ่งเป็นช่วงที่เพลง RS ครองเมือง ในตอนนี้ก็ยังย้อนวัยกลับไปฟังได้ ในยุคที่รุ่งเรืองขีดสุด RS เคยมีศิลปินในค่ายถึง 400 คน แต่ในตอนนั้นโจทย์ของธุรกิจยังเน้นในเรื่องธุรกิจเพลง

แต่เมื่อยุคสมัยที่เปลี่ยนไป RS ได้เริ่มปรับโมเดลธุรกิจให้เข้ากับสถานการณ์การแข่งขันของโลกธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจสื่อ เพลง ปรับโมเดลเข้าสู่ “คอมเมิร์ซ” เต็มตัว ทำให้ธุรกิจเพลงเริ่มลดบทบาทลง จนเหลือแค่ธุรกิจอีเวนต์ และเก็บค่าลิขสิทธิ์ แต่ยังมีค่ายเพลงอาร์สยามที่ยังคงแอคทีฟอยู่ค่ายเดียว

จนในปีนี้เรียกว่าเป็นปีที่เหมาะเจาะที่ RS จะปัดฝุ่นธุรกิจเพลง กลับมารุกครั้งใหญ่อีกครั้ง เปิดตัว 3 ค่ายเพลง RoseSound, Kamikaze และ RSIAM ภายใต้โมเดลธุรกิจใหม่ Music Star Commerce เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ศิลปิน และสอดคล้องกับธุรกิจของอาร์เอส กรุ๊ปในปัจจุบันที่เน้นในเรื่องคอมเมิร์ซ

เฮียฮ้อ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน)

“จริงๆ เราไม่เคยหยุดธุรกิจเพลง ไม่เคยหายไป เพลงยังเป็นต้นน้ำ เป็นรากฐานของ RS เพียงแต่มีการปรับตัวตามสภาพแวดล้อม ปีนี้กลับมารุกอย่างจริงจังมากกว่า ภายใต้โมเดล Music Star Commerce การทำเพลงไม่ใช่เรื่องยาก เราอยู่กับมันมาขนาดนี้ แต่อยู่ที่จังหวะว่าเมื่อไหร่ควรทำมากทำน้อย อยู่ที่การตัดสินใจในการขับเคลื่อนธุรกิจ อยู่ที่โจทย์ในตอนนั้น”

เฮียฮ้อมองว่า RS Music จะเป็นธุรกิจเพลงยุคใหม่ ที่ได้ปรับให้เข้ากับโมเดลธุรกิจของอาร์เอส กรุ๊ปในตอนนี้ มีการจัดโครงสร้างที่เหมาะสม มีทีมงานราว 20-30 คน มี 3 ค่ายเพลง กับ 9 ศิลปินใหม่ ถือว่าเพียงพอ และกำลังมีแผนเพิ่มในอนาคต เพียงแต่ต้องตอบโจทย์ธุรกิจในตอนนั้น

“แม้ตอนนี้คอมเมิร์ซจะเป็นธุรกิจหลัก แต่ธุรกิจเพลงไม่เคยขาดหายไป เพียงแต่เข้าไปอยู่ในแผนการเติบโตของ Entertainmerce การมาของ RS Music จึงถูกจังหวะ สร้างความท้าทายใหม่ เป็น RS ในยุคใหม่”

โมเดลใหม่ ศิลปินลงทุนเอง ปั้นสตาร์เป็น Business Partner

การเปิดตัว 3 ค่ายเพลง เป็นการเอากลิ่นอายเดิมๆ ของ RS มาปัดฝุ่นใหม่ แถมยังเอาค่ายดั้งเดิมอย่าง RoseSound กลับมาด้วย โดยที่ศิลปินใหม่ 9 คน ก็เป็นหน้าใหม่แกะกล่อง ไม่มีศิลปินเก่าเลย ส่วนแนวเพลงของแต่ละค่าย จะแยกตามไลฟ์สไตล์

โฬม อาร์สยาม
โฬม อาร์สยาม

RSIAM (อาร์สยาม) ปรับโฉมค่ายเพลงลูกทุ่ง ให้มีความ Mass Music มีศิลปินใหม่ 1 คน ได้แก่ โฬม อาร์สยาม

RoseSound (โรสซาวด์) แนวเพลง Trendy Music กับ 4 ศิลปิน ริศา, ติม, ดนุมาร์ค และมิวสิค

Kamikaze (กามิกาเซ่) แนวเพลง POP Music กับ 4 ศิลปินรุ่นใหม่ ได้แก่ GRACY, KKP, UTTER และ FRESHYBII 

ในศิลปิน 9 คนนี้ มีการเซ็นสัญญาทั้งหมด 8 ปี ตัวเลข 9 คนนี้เฮียฮ้อมองว่าไม่ได้น้อยไป เพราะไม่ได้มองที่ปริมาณ แต่มองที่ว่าสามารถตอบโจทย์ธุรกิจ และโมเดลได้หรือไม่

โดย RS Music ยุคนี้ก็มาพร้อมกับโมเดลใหม่ นั่นคือ ให้ศิลปินทุกคนลงทุนทำเพลงเอง ไม่ว่าจะเป็นโปรดักชั่นต่างๆ ทำ Music VDO เสื้อผ้า หน้าผม เพียงแต่ทาง RS จะเป็นผู้บริหารจัดการให้ ประเมินว่ามีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ทำให้ศิลปินมีความเสี่ยงน้อย และทำการตลาดให้ ใช้จุดแข็งจากการเป็นค่ายใหญ่

เฮียฮ้อเล่าว่าถ้าเป็นโมเดลแบบสมัยก่อนที่ทางค่ายลงทุนทำเพลงให้ศิลปิน มีต้นทุนเฉลี่ย 3-5 แสน/เพลง ตอนนี้ก็อยู่ในราคานี้ เพียงแต่ทางศิลปินลงทุนเองทั้งหมด ทางค่ายจะเป็นคนบริหารจัดการ ทำการตลาด แต่ถ้ารวมมูลค่าในการปั้นศิลปินแต่ละคนนั้น เฮียฮ้อบอกว่ามูลค่าหลายล้าน แต่ตอนนี้ใช้แค่ไม่กี่แสนเท่านั้น ทำเพลงแล้วลงโซเชียล มีเดียก็ได้แล้ว

รวมไปถึงศิลปินจะต้องต่อยอดกับโมเดล Music Star Commerce ได้ ในอนาคตอาจจะเชื่อมโยงกับสินค้าของ RS Mall หรือเปิดตัวสินค้า เป็น Business Partner ร่วมกันก็ได้ เพราะศิลปินแต่ละคนมีแพลตฟอร์ม และมีแฟนเพลงเป็นของตัวเอง

“ในอดีตเราจะคุยกันว่าเราจะสร้างศิลปินเป็นนักร้อง ซูเปอร์สตาร์ แต่ตอนนี้เราบอกว่าปลายทางเราต้องการให้เป็น Business Partner กัน อาจจะเป็นนักร้องดังด้วย และมีธุรกิจที่เป็นหุ้นส่วนด้วย” 

FRESHYBII
FRESHYBII

บอกลาบอยแบนด์ เกิร์ลกรุ๊ป

จะเห็นว่าคาแร็กเตอร์ของศิลปิน RS ส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นศิลปินในตำนานยุค 90 หรือค่ายเพลงรุ่นใหม่อย่าง Kamikaze ล้วนมีส่วนประกอบของวงที่เป็นบอยแบนด์ และเกิร์ลกรุ๊ปค่อนข้างเยอะ มีหลายวงที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่ศิลปินใหม่ของ RS Music ในยุคนี้ไม่มีที่เป็นวงเลย มีแต่ศิลปินเดี่ยว

เมื่อยิงคำถามนี้ เฮียฮ้อได้ให้คำตอบว่า “อยู่ที่โจทย์” ถ้ามีวงบอยแบนด์ หรือเกิร์ลกรุ๊ปที่สามารถเข้าระบบ และตอบโจทย์โมเดลนี้ได้ ก็อาจจะได้เห็น เพียงแต่ตอนนี้ยังไม่มีตรงโจทย์ เลยมีแค่ศิลปินเดี่ยว

เฮียฮ้อได้เล่าถึงหลักการเลือกศิลปินของ RS Music ยุคใหม่เพิ่มเติม ตอนนี้มุมมองจะแตกต่างจากเดิม ไม่ใช่แค่มีความสามารถ แต่ต้องมีไลฟ์สไตล์ที่ชัดเจนด้วย สามารถเป็น Influencer ได้

“หลักการเลือกศิลปินในตอนนี้จะมีความแตกต่างจากเดิมมาก การสร้างศิลปินจะต้องมองมากกว่าที่เคยมอง แต่ก่อนมองแค่ว่ามีความสามารถ การแสดงดี ร้องเพลงดี บุคลิกดี ตอนนี้โมเดลใหม่ต้องเน้นไลฟ์สไตล์ชัดเจน มีตัวตน มีชีวิตส่วนตัวน่าสนใจ เป็นคนอยู่ในโลกโซเชียล เป็น Influencer ได้”

ในส่วนของศิลปินเก่า ตอนนี้ RS ยังมีศิลปินค่าย RSIAM ที่ยังอยู่ในสัญญารวม 20 คน ซึ่งศิลปินเก่าจะกลับมาทำตลาดในมุมของการทำอีเวนต์ และคอนเสิร์ต มากกว่าการทำเพลงใหม่

หวังปั๊มรายได้จากเพลงเติบโตขึ้น

ในเรื่องของรายได้นั้น เฮียฮ้อก็หวังที่จะมีรายได้จากธุรกิจเพลงเพิ่มมากขึ้น โดยอาจจะอยู่ในรูปแบบของการชมในโซเชียลมีเดีย สตรีมมิ่ง งานแสดง กิจกรรมต่างๆ รวมไปถึงพรีเซ็นเตอร์

GRACY
GRACY

โมเดลการสร้างรายได้ให้กับธุรกิจเพลงจะมี 3 ข้อใหญ่ๆ ได้แก่

Music Star Commerce เพลงเป็นแค่เครื่องมือหนึ่ง ต่อยอดศิลปินให้เป็น Business Partner

– การบริหาร asset ทั้งหมด อาทิ การฟังเพลงผ่านระบบดิจิทัล การบริหารศิลปินในค่าย การขายลิขสิทธิ์เพลง รวมถึงการจัด event และ concert

– การทำโปรเจกต์ร่วมกับพาร์ตเนอร์ เพื่อทำให้เกิดคอนเทนต์ใหม่ๆ เช่น การทำ Project “RS X JOOX GENERATION JOOX” ที่นำเอาเพลงระดับตำนานของอาร์เอส มาให้ศิลปินที่อยู่ในกระแสปัจจุบันมาตีความ

ปัจจุบันธุรกิจเพลงสร้างรายได้สัดส่วน 7% หรือราวๆ 200 ล้านบาท เฮียฮ้อบอกว่าในยุคหนึ่งที่ธุรกิจเพลงรุ่งเรืองมากๆ เคยมีสัดส่วนรายได้จากเพลงถึง 90%

ต้องจับตาดูว่า โมเดลธุรกิจเพลงยุคใหม่ของ RS จะเวิร์กหรือไม่ แต่ก็ถือว่าเป็นการสร้างมิติใหม่ และ Disrupt วงการเพลง และปรับตัวให้เข้ากับโมเดลธุรกิจของตัวเองให้มากที่สุด

]]>
1307500
คุยกับ “เฮียฮ้อ” ทรานส์ฟอร์ม RS ยุคใหม่ : ทาสหมาตัวยง ลุยขายอาหารสัตว์ ปัดฝุ่นเพลง https://positioningmag.com/1293489 Thu, 20 Aug 2020 10:28:14 +0000 https://positioningmag.com/?p=1293489 RS เข้าสู่ยุคที่ 4 ของการดำเนินธุรกิจ ได้เปิดสำนักงานใหม่ย้ายจากลาดพร้าวสู่ย่านถนนประเสริฐมนูกิจ หรือเกษตร-นวมินทร์ ยุคที่ 4 นี้มีการปรับโมเดลใหม่หลายๆ อย่าง เตรียมลุยตลาดอาหารสัตว์เต็มตัว แถมยังเตีรยมปัดฝุ่นธุรกิจเพลงที่ห่างหายไปนานด้วย

RS สู่ยุคที่ 4

ถ้าฝั่งแกรมมี่มี “อากู๋” ฝั่ง RS ที่เป็นเหมือนคู่ปรับทางดนตรีมาตลอดก็ต้องมี “เฮียฮ้อ”

RS เป็นหนึ่งในตำนานเพลงยุค 90 ที่หลายๆ คนเติบโตมาพร้อมกับเพลง และศิลปินของ RS ถึงแม้ว่ายุคสมัยเปลี่ยนไป โมเดลธุรกิจต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อรับกับความต้องการของตลาด แต่ชื่อของ RS ก็ยังคงอยู่

RS ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2519 โดย “สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์” หรือเฮียฮ้อ และพี่ชาย “เกรียงไกร เชษฐโชติศักดิ์”  เริ่มก่อตั้ง RS และ Rose Sound จากธุรกิจตู้เพลง และค่ายเพลง ด้วยเงินลงทุน 50,000 บาท โดยมีสำนักงานแห่งแรกเป็นตึกแถวจำนวน 2 คูหา บนถนนอุรุพงษ์ ตอนนั้นเฮียฮ้อมีอายุ 19 ปี

อาร์เอส กรุ๊ป

จากนั้นในปี 2525 ก้าวเข้าสู่ธุรกิจเพลงวัยรุ่น ภายใต้บริษัท อาร์.เอส.ซาวด์ จำกัด โดยมีศิลปินวงแรกในสังกัดคือ วงอินทนิล ตามด้วย คีรีบูน, ฟรุตตี้, ซิกเซนต์, บรั่นดี, และ เรนโบว์ เป็นต้น

ในปี 2535 ย้ายสำนักงานจากตึกแถว 2 คูหา ถนนอุรุพงษ์ มายังอาคารเชษฐโชติศักดิ์ ซอยลาดพร้าว 15 และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น “บริษัท อาร์.เอส. โปรโมชั่น 1992 จำกัด”

ถ้านับถึงตอนนี้ RS มีอายุ 39 ปีแล้ว ย่างเข้าปีที่ 40 ผ่านการทรานส์ฟอร์มครั้งใหญ่หลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสู่ธุรกิจทีวีดิจิทัลเต็มตัวในปี 2557 ใช้ช่อง 8 เป็นหัวหอกหลัก ในปี 2559 เปิดบริษัท “ไลฟ์สตาร์ (LifeStar)” เข้าสู่ธุรกิจสุขภาพ และความงาม

จนถึงในปี 2562 มีการทรานส์ฟอร์มครั้งสำคัญที่ RS ได้ขอปรับย้ายหมวดธุรกิจ จากหมวดธุรกิจ “สื่อและสิ่งพิมพ์” มาเป็นหมวด “ธุรกิจพาณิชย์” หรือ MPC (Multi-platform Commerce) โดยกลุ่มนี้สร้างรายได้ได้ในสัดส่วนถึง 65% ของรายได้รวมของ RS และในปีเดียวกันนั้น “บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์” ก็ได้เข้าถือหุ้น RS จำนวน 68 ล้านหุ้น (หรือประมาณ 7%) เพื่อเชื่อมโยงฐานข้อมูลลูกค้า

เฮียฮ้อเริ่มเล่าว่า 39 ปีของ RS ที่ผ่านมา ได้แบ่งเป็น 3 ช่วงใหญ่ๆ จนในปีนี้ถึงยุคที่ 4 เป็นการรีแบรนด์ครั้งใหญ่ พร้อมกับย้ายสำนักงานใหญ่ด้วย

“ที่ผ่านมาแบ่ง RS เป็น 3 ช่วงด้วยกัน ช่วงแรกเป็นช่วงของปลาใหญ่กินปลาเล็ก ช่วงนั้นเราเป็นปลาเล็ก ช่วงวัยรุ่น คิดแค่ว่าจะเอาตัวรอดได้อย่างไรไม่ถูกกินก่อนที่จะโต พอเข้าสู่ช่วงที่ 2 คือช่วงปี 2535 เริ่มย้ายมาที่ลาดพร้าว ธุรกิจเริ่มใหญ่ขึ้น เป็นปลาใหญ่แล้ว ช่วงนี้จะเป็นปลาใหญ่กินปลาช้า แต่ในช่วงที่ 3 คือช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เป็นยุคปลาฉลามที่กินทุกปลา ปลาใหญ่ หรือปลาเล็กไม่สำคัญ” 

โลโก้ใหม่สุดมินิมอล พร้อมสำนักงานใหม่

ในปีนี้มีการรีแบรนด์ครั้งใหญ่ เฮียฮ้อบอกว่าไม่ใช่แค่เปลี่ยนโลโก้ใหม่ แต่ยังมีการจัดโครงสร้างองค์กรใหม่ ใช้ระบบ Agile ที่เน้นความรวดเร็ว คล่องตัว กำหนดวัฒนธรรมองค์กรใหม่ เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนด้วยคอนแทนต์ และสินค้านั่นเอง

โดยที่โลโก้ใหม่ที่ให้ภาพลักษณ์เรียบง่าย มินิมอล และแฝงไปด้วยความร่วมสมัยเป็นสากล ได้ทำงานร่วมกับ มารีน่า วิลเลอร์ กราฟฟิกดีไซเนอร์ผู้ออกแบบโลโก้ให้แก่ เทต โมเดิร์น พิพิธภัณฑ์ศิลปะชื่อดังในอังกฤษ โลโก้ใหม่ยังสื่อถึงความเป็นเป็นองค์กรที่ไร้ขีดจำกัด ไม่มีสี ไม่มีกรอบ เป็นตัวอักษรขาวหรือดำก็ได้

ส่วนสำนักงานใหญ่ที่ย้านมาอยู่ที่ย่านถนนเกษตร-นวมินทร์ มีพื้นที่รวมถึง 16 ไร่ เป็นพื้นที่ส่วนตัวของเฮียฮ้อ และให้ RS เป็นผู้เช่า ซึ่งบ้านของเฮียฮ้อก็อยู่ในระแวกเดียวกันด้วย

ย้ำจุดยืน Entertainmerce

RS ได้เข้าสู่วงการขายของได้ราว 4 ปี เริ่มต้นจากธุรกิจไลฟ์สตาร์ เฮียฮ้อเริ่มมองเห็นแล้วว่าธุรกิจสื่อเริ่มอยู่ในช่วงขาลง ยิ่งมีทีวีดิจิทัล ยิ่งแบ่งเค้กกันมากขึ้น ในขณะที่จำนวนคนดูเท่าเดิม จึงเริ่มเปลี่ยนวิธีจากให้เอยนซี่เป็นลูกค้าซื้อสปอตโฆษณา เป็นให้คนดูเป็นผู้ซื้อแทน ใช้สื่อในเครือทั้งหมดเป็นช่องทางการขาย

RS ได้ Disrupt ตัวเองด้วยการใช้โมเดลธุรกิจ Entertainmerce หรือ Entertainment + Commerce ธุรกิจมีการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขนาดขอย้ายจากหมวดธุรกิจ Entertainment มาอยู่หมวด Commerce ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

พรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพาณิชย์

การทำ Entertainmerce ของ RS ก็คือ การใช้ศักยภาพ ทรัพย์สินทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน ดารา นักแสดง คอนเทนต์ สื่อ ทีวี และวิทยุในมือทั้งหมด มาต่อยอดผสมผสานกับธุรกิจคอมเมิร์ซ เพื่อสร้างธุรกิจให้แข็งแรง

พรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพาณิชย์ เล่าว่า

“ในปี 2557 เป็นปีที่อุตสาหกรรมสื่อเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จากทีวี 4 ช่อง เป็น 24 ช่อง แต่สายตาคนดูเท่าเดิม RS เลยใช้วิธีแตกต่าง เอาเวลาครึ่งนึงของโฆษณามาทำธุรกิจใหม่ จนวันนี้ 5 ปีผ่านไป RS Mall เป็นการผสมช้อปปิ้งเข้ากับความบันเทิง เล่าถึงแนวทางการแก้ปัญหา เสนอข้อมูลเชิงลึกของลูกค้าได้” 

แม้ในแต่ละสื่อทุกช่องทางของ RS จะมีการขายของเก่งอย่างไร แต่โมเดล Entertainmerce ก็พิสูจน์ได้ว่ามันเข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้ และสามารถทำให้บริษัทอยู่รอดได้ และ RS ยังโตสวนกระแสวงการทีวีดิจิทัลที่มีการขาดทุนกันอย่างนัก ร่วมกับวิกฤต COVID-19 โดยที่ในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ สามารถสร้างรายได้ 586.2 ล้านบาท สร้างสถิติ New High สูงที่สุด และมียอดขายจากช่องทางออนไลน์โต 80%

ปัจจุบันมีฐานลูกค้า 1.4 ล้านราย แบ่งสัดส่วนเป็นคนกทม. 65% และคนต่างจังหวัด 35% ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงอายุ 40 ปี ขึ้นไป มียอดใช้จ่ายเฉลี่ย 2,000 บาท

ทาสหมาตัวยง เตรียมขายอาหารสัตว์

ภายใต้ RS Mall ที่เป็นแพลตฟอร์มขายสินค้าของ RS มีสินค้าที่หลากหลาย ทั้งสินค้าแบรนด์ของ RS เอง และแบรนด์ที่รับมาขาย โดยสัดส่วนรายได้ 60% เป็นสินค้าในเครือ และอีก 40% เป็นสินค้าข้างนอก

ชาคริต พิชญางกูร หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจไลฟ์สตาร์ บอกว่า ในปีนี้จะบุกโมเดล Star Commerce Modelนำศิลปินดารามาร่วมคิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อตอบโจทย์กลุ่มแฟนคลับ เริ่มต้นที่ใบเตย อาร์สยาม กับแบรนด์ BT Cosmetics Color Collection มีสินค้าแป้ง Color Palette และ Lipstick

ดร.ชาคริต พิชญางกูร หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจไลฟ์สตาร์

อีกหนึ่งไฮไลท์ของไลฟ์สตาร์ คือ การบุกตลาด “อาหารสัตว์” นอกจากตัวเลขมูลค่าตลาดอันมหาศาลถึง 40,000 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 10% โดยตลอด ที่สำคัญคือ เฮียฮ้อเป็น “ทาสหมา” ตัวยง จึงรู้ว่าตลาดนี้มีโอกาสมากมายขนาดไหน

เฮียฮ้อเล่าว่า “เฮียเลี้ยงหมา 2 ตัว เริ่มจากตัวเองนี่แหละถึงรู้ว่าตลาดใหญ่มาก เอาจากอินไซต์ของตัวเองเลย ซื้อยาสระผมให้ตัวเองอย่างมากราคา 200 บาท แต่ซื้อให้หมา 700 บาท พวกทาสเนี่ยจ่ายให้หมาแมวเหมือนลูก บางอย่างซื้อดีกว่าลูกด้วยซ้ำ”

เฮียฮ้อเสริมอีกว่า เชื่อว่าอาหารสัตว์จะทำให้เรามีแต้มต่อได้ เพราะเป็นเรื่องของ Emotional ใช้ Storytelling ให้เหมาะสม ยิ่งตอนนี้เป็นเทรนด์ของสังคมอีกด้วย ซึ่งอาหารสัตว์ในตลาดมีหลายกลุ่ม แต่ของไลฟ์สตาร์จะอยู่ในกลุ่มไฮเอนด์ มีทีมคิดสูตรเป็นของตัวเอง คาดว่าจะวางจำหน่ายช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้

เบื้องหลังการปลุกชีพธุรกิจ “เพลง”

อีกหนึ่งไฮไลท์ของแผนธุรกิจในปีนี้ของ RS ก็คือ การที่กลับมาปัดฝุ่น “ธุรกิจเพลง” อีกครั้ง หลังจากที่ห่างหายไปนาน เพราะ RS โฟกัสกับธุรกิจสื่อ และคอมเมิร์ซ

RS Music ในปีนี้จะกลับมาเต็มรูปแบบด้วย 3 ค่ายเพลง RSIAM, Kamikaze และ RoseSound ทั้งหมดเป็นค่ายดั้งเดิมที่เคยมี แต่ศิลปินใหม่ทั้งหมด แต่มาพร้อมกับโมเดลธุรกิจใหม่ ไม่ใช่แค่งานเพลงอย่างเดียว ศิลปินจะต้องขายของได้ด้วย! จะเริ่มเปิดตัวในเดือนตุลาคม

สุกฤช สุขสกุลวัฒน์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจเพลง บอกว่า

“ความท้าทายครั้งสำคัญของธุรกิจเพลง คือ การปรับตัวเพื่อสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ที่แตกต่าง เพลงเป็นแค่เครื่องมือหนึ่ง แต่สิ่งที่จะสร้างและต่อยอดธุรกิจได้คือ สตาร์ ที่มีตัวตน มีคาแรคเตอร์ที่ชัดเจน และมีฐานแฟนคลับ ซึ่งทั้งหมดจะถูกเชื่อมโยงกับโมเดลธุรกิจใหม่ Music Star Commerce จากการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ศิลปิน และสอดคล้องกับธุรกิจของอาร์เอส กรุ๊ป”

ถ้าถามว่าทำไมในปีนี้ถึงเป็นจังหวะที่ RS จะกลับมารุกธุรกิจเพลงอีกครั้ง เฮียฮ้อบอกแค่ว่า วันนี้มี Business Model รองรับนั่นเอง

“หัวใจสำคัญของกลยุทธ์ RS รู้ว่าเมื่อไหร่ควรทำ ควรหยุด ควรช้า ควรเร็ว จังหวะในการทำธุรกิจคือสิ่งสำคัญ โตได้โต โตไม่ได้อย่าฝืน มาทำช่วงที่กลับมาได้  เราปรับตัวในธุรกิจเพลงตลอด สร้างโมเดลใหม่ๆ ทำให้ยังมีรายได้ ตอนนี้ทรานฟอร์มจนคอมเมิร์ซเป็นธุรกิจใหญ่ การกลับมารุกธุรกิจเพลงอีกครั้ง เอาค่าย RoseSound ค่ายเพลงแรกในชีวิตกลับมา เพราะวันที่มี Business Model พร้อมรองรับ ต้องต่อยอดกับโมเดลคอมเมิร์ซได้ เรามีต้นน้ำถึงปลายน้ำพร้อม”

เฮียฮ้อบอกว่าแต่เดิมโมเดลธุรกิจเพลงของ RS จะเป็นการวางตัวเป็นมาร์เก็ตติ้ง นั่นคือให้ศิลปินออกเงินเอง แต่ทางค่ายเป็นคนทำการตลาดให้ หรือมีหน้าที่ซัพพอร์ต แต่ตอนนี้มีธุรกิจคอมเมิร์ซ ไม่เลือกแค่ร้องดีมีคุณภาพ แต่ต้องต่อยอดคอมเมิร์ซได้ ขึ้นอยู่กับศักยภาพของศิลปิน เป็นพาร์ทเนอร์ เจ้าของแบรนด์ได้

ในปี 2562 RS มีรายได้รวม 3,200 ล้านบาท ในปีนี้ตั้งเป้ารายได้ที่ 4,200 ล้านบาท มีการปรับลดแผนจากเดิมที่วางไว้ที่ 5,000 ล้านบาทเพราะวิกฤต COVID-19

แบ่งสัดส่วนรายได้ธุรกิจคอมเมิร์ซ 65% ทีวี 20% วิทยุ 10 และเพลง 5%

เฮียฮ้อตั้งเป้ารายได้ไปถึง 10,000 ล้านบาท แต่ยังไม่บอกว่าภายในกี่ปี แต่ที่แน่ๆ คอมเมิร์ซยังเป็นธุรกิจใหญ่ที่จะยังคงมีสัดส่วนถึง 80%

]]>
1293489
RS โตสวน COVID-19 ไตรมาส 1/63 กำไรโต 184% สร้างนิวไฮสูงสุดเป็นประวัติการณ์! https://positioningmag.com/1277766 Mon, 11 May 2020 04:58:04 +0000 https://positioningmag.com/?p=1277766 อาร์เอส กรุ๊ป เปิดผลประกอบการไตรมาสแรก ปี 2563 ทำกำไรนิวไฮ ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงต้นปี ต่อเนื่องมาจนถึงวิกฤต COVID-19 ด้วยผลกำไรสุทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 186 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 184% จากไตรมาสสุดท้ายของปี 2562

สินค้าสุขภาพดันการเติบโต

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ RS เติบโต มาจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซ สินค้าสุขภาพ หลังจากที่ผู้บริโภคกังวลจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 อีกทั้งมาตรการ Work from Home ยังช่วยดันโฮมช้อปปิ้ง และธุรกิจสื่อช่อง 8 ด้วย

วิทวัส เวชชบุษกร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า

“จากการปรับแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ส่งผลให้กำไรในไตรมาสแรกของปี 2563 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีรายได้รวม 985 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 10% และมีกำไรสุทธิ 186 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 184% เทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 จากความสำเร็จในการมุ่งเน้นอัตราการทำกำไร และการสร้างรายได้จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใช้เทคโนโลยีมากขึ้นในการใช้ชีวิต และหันมาใส่ใจสุขภาพเป็นพิเศษในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ ธุรกิจ Commerce เติบโตขึ้นตามไปด้วย”

โดยมี RS Mall แพลตฟอร์มที่จำหน่ายสินค้าทั้งออนแอร์และออนไลน์ และบริษัท ไลฟ์สตาร์ จำกัด ทำรายได้รวม 500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% จากไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 โดยเป็นผลมาจากการขยายช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางออนแอร์เพิ่มขึ้น ผ่านช่องผู้นำทีวีดิจิทัล ร่วมกับการทำโปรโมชันที่ตอบโจทย์ลูกค้า

มีรายได้จากกลุ่มลูกค้าใหม่ ที่เติบโตสูงขึ้น 30% โดยปัจจุบัน RS Mall มีฐานข้อมูลลูกค้า1.35 ล้านราย

สื่อยังโตอยู่

ธุรกิจสื่อมีรายได้รวม 376 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 51% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ของปี 2562 โดยเรตติ้งของช่อง 8 ปรับตัวดีขึ้นในช่วงเดือนมกราคม-เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาในกลุ่มผู้ชมอายุ 15+ ซึ่งรายการที่มีเรตติ้งสูงสุดได้แก่ รายการข่าว ละคร ซีรีส์ และรายการมวย

“COOLfahrenheit” ภายใต้การดำเนินงานของ COOLISM ทุบทุกสถิติการฟังเพลงออนไลน์สูงสุดในรอบ 12 เดือน ด้วยการเข้าฟังมากสูงสุดกว่า 1.2 ล้านครั้งต่อชั่วโมง ในช่วงเวลาทำงาน Work from Home ตั้งแต่ 8.00-18.00 น. ปัจจุบัน ธุรกิจของ COOLISM เติบโตจากการขายสื่อโฆษณาบนคลื่นวิทยุและออนไลน์ และการจัดกิจกรรมร่วมกับผู้ฟังรายการ

ขณะที่ มาตรการ Work from Home ที่ผ่านมา ส่งผลให้รายได้ของธุรกิจเพลง ในเครืออาร์เอส กรุ๊ป จากการฟังและดาวน์โหลดผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น และจากการปรับกลยุทธ์การดำเนินงานแบบ Music Marketing ทำให้การบริหารต้นทุนมีประสิทธิภาพ และสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากการที่ศิลปินสามารถวางแผนการสร้างผลงานได้ด้วยตนเอง รวมถึงการบริหารลิขสิทธิ์เพลงเพิ่มขึ้นผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ

ซึ่งในไตรมาสแรกของปี 2563 บริษัทฯ มีการจัดคอนเสิร์ต “D2B Infinity Fun2020” เข้ามาสนับสนุนจึงทำให้รายได้จากธุรกิจเพลงเพิ่มขึ้นด้วย

ด้าน นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า

“ในไตรมาสแรกของปี 2563 นับเป็นการเริ่มต้นปีที่แข็งแกร่ง ด้วยผลการดำเนินงานที่เกินคาดหมาย จากการที่เรามองโอกาสและเตรียมพร้อมอยู่เสมอ จึงทำให้ธุรกิจของเราเติบโตมากกว่าที่จะได้รับผลกระทบ เรามีธุรกิจที่หลากหลาย และปรับกลยุทธ์อย่างรวดเร็วให้เข้ากับการใช้ชีวิตของผู้บริโภคแบบ New Normal โดยหลังจากนี้ โอกาสเติบโตทางธุรกิจของ อาร์เอส กรุ๊ป จะเกิดขึ้นจากการขับเคลื่อนกลยุทธ์ Entertainmerce เข้าไปในทุกธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ อาทิ

1) RS Mall จัดแคมเปญใหญ่ต่อเนื่อง เพื่อลดราคาสินค้า ช่วยเหลือผู้บริโภคที่เดือดร้อนในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซา

2) ไลฟ์สตาร์ เปิดตัวผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ ที่เน้นเสริมภูมิคุ้มกัน และร่วมมือกับพันธมิตรจากต่างประเทศ เพื่อนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาจำหน่ายบนแพลตฟอร์มต่างๆ ของ RS Mall

3) ช่อง 8 เปิดตัวรายการใหม่ให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ Entertainmerce สร้างคอนเทนต์ตรงกลุ่มเป้าหมาย ผนวกกับสินค้าและบริการในราคาที่คุ้มค่ากว่า และสร้างรายได้เพิ่มจากการขายคอนเทนต์ละครไปในประเทศต่างๆ และบนแพลตฟอร์มออนไลน์อื่นๆ

4) COOLISM เปิดตัวแอปพลิเคชัน COOLanything เพื่อเปลี่ยนผู้ฟังกว่า 2 ล้านรายต่อเดือน เป็นผู้ซื้อ สามารถฟังเพลงพร้อมเลือกซื้อสินค้าราคาพิเศษได้ในเวลาเดียวกัน สำหรับธุรกิจเพลง ขายลิขสิทธิ์เพลง สร้างรายได้เพิ่มจากช่องทางออนไลน์ (OTT media service)

]]>
1277766
ขายเก่ง! RS Mall รุกโมเดล Entertainmerce ผนึกทุกสื่อในเครือขายของ ปั๊มยอดขาย 3,200 ล้าน https://positioningmag.com/1260460 Tue, 14 Jan 2020 09:26:00 +0000 https://positioningmag.com/?p=1260460 RS Mall ปรับคอนเซ็ปต์โมเดล Entertainmerce นำทุกสื่อในเครือ และพันธมิตรขายของ พ่วงสร้างความบันเทิง ช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีมากขึ้น เป้ารายได้ 3,200 ล้านในปีนี้ พร้อมแผนรายได้รวมของกลุ่ม RS ทะลุหมื่นล้านในปี 2022

ยุคใหม่ของ RS ในรอบ 37 ปี

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเรียกว่าเป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดทุกปีจริงๆ สำหรับ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS ที่จากเดิมอยู่ในธุรกิจเพลง ก็เริ่มมุ่งหน้าเข้าสู่ธุรกิจสื่อ มีทีวีดิจิทัลช่อง 8” จนกระทั่งได้มีการทรานส์ฟอร์มครั้งยิ่งใหญ่สู่การเปลี่ยนกลุ่มธุรกิจเป็นกลุ่มคอมเมิร์ซอย่างเต็มตัว หลังพบว่าขายสินค้าเพื่อนสุขภาพ และความงามมีรายได้ที่ดีกว่า จนแซงหน้าธุรกิจสื่อไปแล้ว

ล่าสุด RS ได้เปลี่ยนช่องทางการขายสินค้าของตัวเองจาก Shop 1781 เป็น RS Mall เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา พร้อมกับกลยุทธ์ปี 2020 ในการปรับตัวเข้าสู่โมเดล Entertainmerce เรียกว่าเป็นการขายของที่พ่วงความบันเทิงในทุกสื่อในเครือมากขึ้น

งานนี้เฮียฮ้อสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ถึงกับออกปากเลยว่าปีนี้เป็นปีที่สำคัญของ RS ในรอบ 37 ปีเลยทีเดียว

“หลังจากที่ RS ได้ทรานส์ฟอร์มสู่ธุรกิจคอมเมิร์ซมาได้ 5 ปีแล้ว ได้ประสบการณ์ใหม่ๆ ได้เข้าใจตลาด และสภาพแวดล้อมธุรกิจ แต่ก็ยังเห็นช่องว่างในตลาดอีกมากที่จะเป็นโอกาสทางธุรกิจ ที่ผ่านมามีการเตรียมความพร้อมสู่ปี 2020 ได้มีการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ จัดทีมทำงาน ทีมบริหาร ลงทุนเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการขาย เรียกว่าเป็นปีสำคัญในรอบ 37 ปีของ RS ในการก้าวเข้าสู่ยุคใหม่”

Entertainmerce ขายของแบบพ่วงความบันเทิง

สำหรับโมเดล Entertainmerce เฮียฮ้อเล่าว่า เป็นการต่อยอดจากธุรกิจดั้งเดิมที่แข็งแกร่ง ที่ผ่านมา RS ยังไม่ได้ใช้จุดแข็งนั้นอย่างเต็มที่ ก็คือการมีสื่อในมือเยอะ จะช่วยในเรื่องการขายได้มากขึ้น

พรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพาณิชย์ กลุ่มธุรกิจสินค้าและแพลตฟอร์ม เล่าว่า

“เราไปเจออินไซต์อย่างหนึ่งพบว่าเรื่องช้อปปิ้งเป็นเรื่องของประสบการณ์ ความสนุก การค้นเจอสิ่งใหม่ๆ และความบันเทิง ถ้าเอาทุกอย่างมารวมกันมันได้จะช่วยสร้าง Conversion Rate ที่สูงขึ้น ยกตัวอย่างที่ประเทศจีนก็ใช้โมเดลแบบนี้ ก็ประสบความสำเร็จ”

ถ้าพูดถึงสื่อในมือของกลุ่ม RS มีทั้ง

  • TV ช่องของตัวเองคือช่อง 8 และพันธมิตร ไทยรัฐทีวีเวิร์คพอยท์ และอมรินทร์ ที่มีการวัดจำนวนคนดูกว่า 2.6 ล้านคนต่อวัน
  • วิทยุ Cool Fahrenheit Online มีคนฟังออนไลน์ 49 ล้านครั้งต่อเดือน
  • ดิจิทัล นับทุกช่องทางของกลุ่ม RS ได้แก่ YouTube มีผู้ติดตามรวมทั้งหมด 57 ล้านราย Instagram 12 ล้านราย และ Facebook 38 ล้านราย (RS นับทุกแอคเคาท์ในเครือรวมกันทั้งหมด)
  • On Ground งานอีเวนต์ และคอนเสิร์ตต่างๆ

ต้องมีหมื่นล้านภายในปี 2022

สำหรับกลยุทธ์ด้านสินค้าของ RS Mall จะประกอบไปด้วย การเพิ่มความหลากหลายของประเภทผลิตภัณฑ์ รวมถึงการนำเอาสินค้าสำหรับเทศกาลต่างๆ เข้ามาสร้างสีสัน การทำสินค้าเฉพาะสำหรับ RS Mall เท่านั้น เป็นการเปิดตัวที่ RS Mall เป็นที่แรก หรือแม้แต่การทำ Brand Collaboration

ส่วนด้านการนำเสนอ จะมีการสร้างรูปแบบการนำเสนอประเภทไลฟ์สด การสาธิตการใช้จริง รวมถึงการนำผู้มีประสบการณ์ในการใช้งานจริงมาร่วมให้ความคิดเห็นและแบ่งปันประสบการณ์

ในปีนี้กลุ่ม RS ตั้งเป้ารายได้รวม 5,200 ล้านบาท เติบโต 30% แบ่งสัดส่วนเป็นรายได้จากคอมเมิร์ซ 60% หรือ 3,200 ล้านบาท และสื่อ/ความบันเทิง 2,050 ล้านบาท มีสัดส่วน 40%

ในปีหน้าตั้งเป้ารายได้ของคอมเมิร์ซมีสัดส่วน 80% รวมทั้งตั้งเป้าหมายว่าทั้งกลุ่ม RS ในปี 2022 จะต้องมีรายได้ 10,000 ล้านบาท

]]>
1260460
“RS” คว้าลิขสิทธิ์ “ไทยไฟท์” มวยไทยระดับโลก ลงผังช่อง 8 https://positioningmag.com/1251261 Mon, 28 Oct 2019 10:25:13 +0000 https://positioningmag.com/?p=1251261 วงการทีวีดิจิทัลสะเทือนอีกครั้ง เมื่อ “เฮียฮ้อ-สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์” จับมือ “มด-นพพร วาทิน” ผู้จัดรายการมวยไทยดังระดับโลก “ไทยไฟท์” เตรียมลงผังรายการมวยช่อง 8 วางเป้าหมายขึ้นแท่นเป็นช่องมวยอันดับหนึ่งของประเทศ

ช่อง 8 ประกาศจับมือพันธมิตรยักษ์ใหญ่แห่งวงการมวย มด-นพพร วาทิน โปรโมเตอร์เจ้าของรายการมวยไทยระดับโลก “ไทยไฟท์” เป็นอีกรายการที่มีเรตติ้งค่อนข้างสูง มาลงจอช่อง 8 เป็นการดวลเดือดของนักมวยไทยทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ บนสังเวียนที่เต็มไปด้วยนักสู้ระดับแชมป์เปี้ยน โดยช่อง 8 ถ่ายทอดสดให้แฟนมวยไทยทั่วประเทศช่วงเวลาไพรม์ไทม์ ต้นปี 2563 

สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ตลอด 5 ปี เราได้ประกาศแผนธุรกิจเชิงรุก ตั้งเป้าขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตไปตามเป้าหมายโดยเร็ว และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารทีมช่อง 8 ให้แข็งแกร่ง โดยมุ่งเน้นการบริหารงานเชิงรุก ด้วยกลยุทธ์ Horizontal Integration การขยายธุรกิจในแนวราบ จากการหาพันธมิตรที่แข็งแกร่งเข้ามาร่วมเสริมทัพ ภายใต้การแข่งขันของทีวีดิจิทัลที่เป็นไปอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะรายการประเภทถ่ายทอดสดกีฬาสำคัญๆ อย่างมวย ที่ถือว่าได้รับความนิยมจากผู้ชมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นรายการ Sport Entertainment ที่ผสมผสานความน่าสนใจในเกมกีฬาและความบันเทิงเข้าด้วยกัน ซึ่งปัจจุบันเป็นตลาดใหญ่ที่มีมูลค่าราว 1.2 แสนล้านบาท (ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) ทำให้กระแสมวยจอตู้เข้มข้น กลับมาช่วงชิงคอนเทนต์กระชากเรตติ้งกันอย่างดุเดือด

ปัจจุบันทางช่อง 8 มีรายการมวยประจำอยู่ 2 รายการ ในวันเสาร์และอาทิตย์ เวลา 19.00 น. คือ “มวยฮาร์ดคอร์-มวยพันธุ์ดุ” โดยทำการถ่ายทอดสดวันแรกไปเมื่อวันเสาร์ที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา ทำเรตติ้งพุ่งแรงแตะหลักล้าน และศึก “มวยไทยซุปเปอร์แชมป์” ซึ่งอยู่ในกลุ่มผู้นำรายการมวยระดับแนวหน้าของประเทศ 

การเข้ามาของรายการมวย ไทยไฟท์ จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ช่อง 8 มีคอนเทนต์รายการที่หลากหลาย ดันเรตติ้งพุ่งทะยานรับช่วงไฮซีซั่น และยังเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่จะช่วยส่งให้ช่อง 8 เป็นที่สุดของคอนเทนต์มวยไทย.

]]>
1251261