Snap – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 05 Sep 2023 11:13:08 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 กลับลำ! ซีอีโอ “Meta” “Snap” “Zoom” เลิกอวย Work from Home หันมากดดันพนักงานที่ไม่เข้าออฟฟิศ https://positioningmag.com/1443468 Tue, 05 Sep 2023 06:42:54 +0000 https://positioningmag.com/?p=1443468 หมดยุคทองของการ Work from Home แล้วหรือเปล่า? ล่าสุดทั้งซีอีโอของ Meta, Snap และ Zoom ต่างเปลี่ยนนโยบายให้พนักงานกลับมาเข้าออฟฟิศ และเริ่มกดดันลงโทษทางวินัยหรือไล่ออกพนักงานที่ไม่ยอมทำตาม ทั้งที่ก่อนหน้านี้ในช่วงโควิด-19 บรรดาซีอีโอต่าง อวย การทำงานจากบ้านว่าดีกับสมดุลชีวิตและการงานมากกว่า

3 ปีที่ผ่านมา โรคระบาดบีบให้หลายบริษัทต้องใช้นโยบาย Work from Home สำหรับพนักงานออฟฟิศ จนวิถีชีวิตการทำงานลักษณะนั้นเกือบจะมาแทนที่การเข้าออฟฟิศแบบเดิมๆ ไปโดยเฉพาะในโลกตะวันตก

อย่างไรก็ตาม บางบริษัทเริ่มทยอยเปลี่ยนใจ หันมาใช้นโยบาย “กลับเข้าออฟฟิศ” เหมือนเก่าแล้ว เช่น Meta และ Goldman Sachs ที่เริ่มต้นใช้นโยบายกลับเข้าออฟฟิศมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยมาพร้อมกับการตรวจสอบอย่างเข้มงวด หากพนักงานไม่เข้าออฟฟิศบ่อยครั้งเท่าที่กำหนด อาจจะมีบทลงโทษทางวินัยถึงขั้นไล่ออกได้

ที่ผ่านมาพนักงานส่วนใหญ่ให้ค่ากับบริษัทที่มีนโยบายอนุญาตการทำงานทางไกล (remote work) ไว้สูงมาก The Wall Street Journal เคยรายงานไว้ว่า พนักงานมองว่าการมีนโยบายยืดหยุ่นเรื่องที่ทำงานนั้นเทียบเท่ากับการให้เงินเดือนเพิ่ม 8% เลยทีเดียว ดังนั้น การปรับระบบกลับมาเข้มงวดเรื่องเข้าออฟฟิศจึงเป็นสิ่งที่สวนทางกับความรู้สึกพนักงาน

ในช่วงโควิด-19 มีซีอีโอหลายรายที่อวยยศให้การ Work from Home เป็นนวัตกรรมการทำงานที่ดี แต่ปัจจุบันนี้ ‘กลับลำ’ อย่างแรง เมื่อประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานไม่ได้ดีอย่างที่คิด

 

‘Mark Zuckerberg’ แห่ง Meta จากอวยสู่ไล่ออก

(Photo by David Ramos/Getty Images)

ย้อนไปในช่วงเดือนพฤษภาคม 2020 หลังล็อกดาวน์ในสหรัฐฯ ผ่านไป 2 เดือน Mark Zuckerberg ซีอีโอ Meta เคยกล่าวในการประชุมภายในบริษัทว่า การมีนโยบายที่ทำงานแบบยืดหยุ่นทำให้บริษัทมีโอกาสเปิดกว้างขึ้นในการจ้างงาน ‘ทาเลนต์’ เพราะทาเลนต์ที่ไม่ต้องการย้ายมาอยู่เมืองใหญ่ก็สามารถทำงานกับ Meta ได้

ในแง่ชีวิตส่วนตัวของพนักงาน เขามองว่าการทำงานทางไกลทำให้ตัวเขาเองมีพื้นที่และเวลาได้คิดมากขึ้น และได้ใช้ชีวิตกับครอบครัวมากขึ้น ซึ่งทำให้เขามีความสุขและทำงานได้มีประสิทธิภาพ

เมื่อปี 2020 Zuckerberg ถึงกับวาดฝันว่าพนักงานของ Facebook จะได้ทำงานทางไกลกันใน 5-10 ปีข้างหน้า เขาถึงขั้นบอกด้วยว่าในปี 2022 เขาจะเริ่มทำงานจากระยะไกลสักครึ่งปี

ตัดภาพมาในปี 2023 บริษัท Meta กลับลำอย่างแรงเรื่องของการทำงานจากที่ไหนก็ได้ สำนักข่าว Business Insider รายงานว่า Meta จะเริ่มเข้มงวดเรื่องการกลับเข้าออฟฟิศของพนักงานตั้งแต่เดือนกันยายน 2023

พนักงานบางคนอาจจะได้รับอนุมัติให้ทำงานระยะไกลได้ แต่ส่วนใหญ่จะต้องเข้าออฟฟิศเกือบทั้งสัปดาห์การทำงาน พนักงานจะเริ่มถูกมอนิเตอร์จากฝ่ายบริหารว่าเข้ามาออฟฟิศจริง และจะเริ่มมีบทลงโทษทางวินัยหรือไล่ออก หากพนักงานไม่ให้ความร่วมมือเรื่องเข้าออฟฟิศ

ภาพการสนับสนุนของ Zuckerberg ว่าการทำงานแบบ Work from Home ช่วยขับเคลื่อนประสิทธิภาพนั้นไม่มีอีกแล้ว ปัจจุบันเขากล่าวว่า จากการติดตามดาต้าด้านประสิทธิภาพการทำงานในบริษัท เขาพบว่า “คนที่ทำงานจากบ้านไม่มีประสิทธิภาพ และวิศวกรที่มาออฟฟิศนั้นทำงานสำเร็จได้มากกว่า”

 

Snap: จากใช้เวลากับครอบครัว ตอนนี้ขอใช้เวลากับพนักงาน

Even Spiegel ซีอีโอของ Snap ในงาน Snap Partner Summit 2023 (Photo by Joe Scarnici/Getty Images for Snap, Inc.)

Even Spiegel ซีอีโอของโซเชียลมีเดียใหญ่ Snap ในอดีตก็คิดคล้ายๆ กัน หลังผ่านการทำงานจากบ้านในช่วงล็อกดาวน์ไปเพียงเดือนครึ่ง เขาถึงกับบอกสื่อว่า “ผมบอกทีมผมแล้วว่า ผมจะไม่กลับไปออฟฟิศอีก”

เหตุเพราะการทำงานจากบ้านทำให้เขาได้ใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้น ได้ทานอาหารเช้าและข้าวเย็นกับที่บ้าน ได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว

แต่ตัดภาพมาถึงเดือนพฤศจิกายน 2022 ดูเหมือน Spiegel จะใช้ชีวิตกับครอบครัวมาจนพอแล้ว

เอกสารภายในของ Snap มีคำสั่งให้พนักงานของบริษัททุกคนต้องกลับเข้าออฟฟิศ 4 วันต่อสัปดาห์ ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2023 ซึ่งนโยบายนี้ถูกกำหนดให้ใช้กับสำนักงานของ Snap ทั้ง 30 แห่งทั่วโลก

เหตุผลเพราะตอนนี้เขามองว่าการมาทำงานร่วมกันแบบเจอหน้ากันจะทำให้ได้ใช้ศักยภาพสูงสุดในการทำงาน และความสะดวกสบายส่วนตัวที่แต่ละคนต้องสละไปนั้น เขาเชื่อว่าจะนำมาสู่การประสบความสำเร็จร่วมกันในทีม

 

แม้แต่ Zoom ยังให้เข้าออฟฟิศ

อีริค หยวน ขึ้นเป็นวิทยากรในงาน Dropbox Work In Progress Conference ปี 2019 (photo: Matt Winkelmeyer/Getty Images for Dropbox)

ในยุคการทำงานทางไกลระหว่างเกิดโควิด-19 “Zoom” คือบริษัทสุดฮอตที่พุ่งทะยานตีคู่มากับบรรดาบริษัทวัคซีน

นั่นทำให้ Eric Yuan ซีอีโอของ Zoom ยากที่จะปฏิเสธไม่ให้พนักงานทำงานทางไกลได้ เพราะถ้าทำเช่นนั้นก็เหมือนปฏิเสธบริการของบริษัทตัวเอง

เมื่อเดือนมกราคม 2022 ในช่วงที่บริษัทอื่นเริ่มให้กลับเข้าออฟฟิศได้แล้ว แต่ Zoom ประกาศว่ามีพนักงานของบริษัทเพียง 2% ที่เลือกกลับมาออฟฟิศ ตามนโยบายของบริษัทที่ให้พนักงานมีทางเลือก สามารถ Work from Home ได้

อย่างไรก็ตาม แม้จะสร้างโปรดักส์ที่เกี่ยวกับการทำงานทางไกลโดยตรง แต่ Yuan คือหนึ่งในกลุ่มซีอีโอที่ ‘รู้สึกคลางแคลงใจ’ กับการให้พนักงาน Work from Home ได้ตลอดไป เขาเป็นหนึ่งในคนที่มองว่าหลังผ่านช่วงโรคระบาดแล้ว ออฟฟิศต่างๆ น่าจะมีการทำงานแบบไฮบริดมากกว่า

ในที่สุด เมื่อเดือนสิงหาคม 2023 บริษัท Zoom แจ้งกับพนักงานของตนเองให้กลับมาออฟฟิศ โดยใครก็ตามที่อาศัยอยู่ในระยะ 50 ไมล์จากออฟฟิศ (ประมาณ 80 กิโลเมตร) จะต้องกลับมาทำงานในออฟฟิศอย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์

Yuan กล่าวว่า การทำงานทางไกลทำให้พนักงานยากที่จะทำความรู้จักกันและสร้างความเชื่อใจกัน “ความเชื่อใจเป็นรากฐานของทุกอย่าง ถ้าไม่มีความเชื่อใจ เราจะทำงานได้ช้าลง” Yuan กล่าวในการประชุมภายในบริษัท

“เราไม่สามารถอภิปรายกับคนอื่นได้ดีนัก เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ใช้ Zoom ทุกคนจะพยายามทำตัวให้เป็นมิตรมากๆ” Yuan กล่าวยอมรับว่า Zoom มักจะไม่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนไอเดียอย่างตรงไปตรงมา แต่ว่าบริษัทของเขาจะพยายามพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่อไป

น่าสนใจว่าการทำงานระยะไกลหรือ Work from Home ที่เคยถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ดี ทำให้พนักงานมีความสุขและมีเวลาส่วนตัวมากขึ้น และอาจจะกลายเป็นวิถีชีวิตแบบใหม่ ปัจจุบันนี้มีแนวโน้มมีข้อเสียมากกว่าข้อดี เมื่อองค์กรพบว่าวิธีการทำงานแบบนี้ทำให้พนักงานไม่มีวัฒนธรรมองค์กร และบางทีก็ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานด้อยลงด้วย

Source

]]>
1443468
10 แนวคิดไม่ธรรมดาของ Evan Spiegel แห่ง Snap https://positioningmag.com/1125488 Sun, 14 May 2017 05:23:40 +0000 http://positioningmag.com/?p=1125488 แม้จะยังไม่ได้บุกตลาดไทยเต็มที่ แต่ในสหรัฐอเมริกา “สแนป” (Snap Inc.) นั้น เป็นคู่แข่งของเฟซบุ๊ก (Facebook) ที่ได้รับความสนใจมากจากคนทุกวงการ ล่าสุด สแนปกำลังตกที่นั่งลำบากเพราะผลการดำเนินงานไตรมาสแรกพลาดเป้า จนทำให้มูลค่าหุ้นตกต่ำทันที 25% ทำให้ซีอีโอผู้ก่อตั้ง Snap Inc. วัย 26 อย่างอีวาน สปีเกล (Evan Spiegel) ถูกจับตาอย่างใกล้ชิดว่า ซีอีโอหนุ่มจะพูดกับนักลงทุนอย่างไรหลังประกาศตัวเลขไตรมาสล่าสุด

คำพูดเหล่านี้ถือเป็นครั้งแรกที่โลกได้ยินเสียงแนวคิดงานบริหารจากซีอีโอไฟแรงอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะคำพูดที่จะมาอธิบายเรื่องฐานผู้ใช้ที่เพิ่มขึ้น 8 ล้านคนเท่านั้นในไตรมาสที่ผ่านมา (เบ็ดเสร็จ 166 ล้านคน)

อีกปัจจัยที่ทำให้แนวคิดของ Spiegel เป็นที่สนใจ เพราะในขณะที่สื่อมวลชนอเมริกันตราหน้า Spiegel ว่า เป็นคน “หยิ่ง” (arrogant) แต่บริการที่ Spiegel คิดค้นก็สามารถครองใจวัยรุ่นได้อย่างเหนียวแน่นจริงจัง จนทำให้ Facebook และ Instagram ลงมือถอดแบบแทบทุกคุณสมบัติที่มีใน Snapchat ทั้งการเปิดให้ผู้ใช้แชร์ภาพแล้วลบได้อัตโนมัติ บริการตกแต่งภาพถ่าย และวิดีโอแบบเก๋ไก๋วัยรุ่นชอบ ซึ่งทั้งหมด Snap ตอบโต้อะไรไม่ได้มากนัก แต่ยังคงโกยเงินจากนักโฆษณามากขึ้นต่อเนื่อง บนจุดยืนของบริษัทที่บอกว่า ตัวเองเป็นบริษัทกล้อง หรือ “camera company” ไม่ใช่บริษัทผลิตแอปพลิเคชันธรรมดานะจ้ะ

10 ประโยคด้านล่างนี้ อ่านแล้วขอเชิญประเมินกันเองว่า Spiegel เป็นคนยโสจริงไหม?

1.ประโยคน่าทึ่งชุดแรกจากปากของ Spiegel ที่ Business Insider บันทึกไว้เป็นเรื่องแนวคิดการเจาะตลาดวัยรุ่น เพราะเป็นประโยคที่สะท้อนว่า Spiegel มองตลาดกลุ่ม “ผู้สูงวัย” อย่างไร

Spiegel บอกสาเหตุที่ทำให้บริษัทวางวิสัยทัศน์ไว้ชัดเจนเรื่องเจาะกลุ่มวัยรุ่น โดยฟันธงว่า เพราะกลุ่มวัยรุ่นสนใจเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่มากกว่าวัยอื่น Spiegel เล่าว่า เคยสอนคุณย่าใช้อีเมล แต่ก็ล้มเหลวเล็กน้อย เพราะคุณย่าเลือกคุยโทรศัพท์มากกว่า ซึ่งแม้วันนี้คุณย่าคุณยายหลายคนจะใช้อีเมลแล้ว แต่เขามองว่าช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยกว่าจะผลักดันกลุ่มย่ายาย ให้มาถึงวันนี้ได้

2.Spiegel พูดถึงจุดยืนการเป็นบริษัทกล้อง หรือ “camera company” ของตัวเองได้อย่างน่าสนใจ เขายกตัวอย่างว่า เมื่อ Google โด่งดัง ทุกคนทุกบริษัทก็จะรู้สึกว่า ต้องมี “search strategy” เพื่อทำการตลาด หรือสร้างช่องทางธุรกิจบนบริการค้นหาข้อมูลออนไลน์ และเมื่อ Facebook โด่งดัง ทุกคนก็รู้สึกว่า ต้องทำ social strategy เพื่อหาช่องทางธุรกิจบนโลกโซเชียล

Spiegel บอกว่าถ้าใครอยากเป็นบริษัทสร้างสรรค์หรือ creative company ก็ควรทำใจให้สบายกับความจริงที่ว่า มีหลายคนกำลังรอลอกอยู่
Spiegel เหมารวมว่า กลุ่ม “คนแก่” เข็นให้ใช้บริการใหม่ยากเหลือเกิน

สำหรับ Snap ตัวเขาเชื่อว่า วันนี้หลายบริษัทกำลังรู้สึกว่า จำเป็นต้องวาง “camera strategy” เพื่อหาช่องทางธุรกิจผ่านการใช้งานกล้องบ้างแล้ว

3.Spiegel ไม่ได้ตื่นเต้นอะไรเมื่อต้องพูดถึงภาวะยอดผู้ใช้ Snap โต้ช้าเมื่อเทียบกับคู่แข่ง โดยบอกว่า หนึ่งในหลายเหตุผลที่อาจเป็นได้ คือภาวะ growth hacking ที่ทำให้ผู้ใช้ถูกดึงไปใช้งานบริการอื่นด้วย notification หรือการแจ้งเตือนบนหน้าจอสมาร์ทโฟน

Spiegel บอกว่า ภาวะแบบนี้ไม่เป็นธรรมชาติ โดยบอกว่า growth hacking เกิดขึ้นแล้วในอุตสาหกรรม ซึ่งผู้ใช้มักได้รับ notification หรือการแจ้งเตือนงานจำนวนมาก จนทำให้ผู้ใช้หลงไปใช้งานแอปพลิเคชันที่แจ้งเตือนเหล่านี้ก่อน

4.สำหรับเลนส์ (lenses) หรือเอฟเฟกต์ตกแต่งภาพ และวิดีโอที่ฮอตฮิตเหลือเกินบน Snapchat ซีอีโอหนุ่มพูดง่ายๆ ว่า เป็นเพราะผู้ใช้รู้สึกสนุกกับการได้เห็นตัวเองในภาพที่ถูกตัดต่อ ประเด็นนี้ต้องยกความดีให้ความสร้างสรรค์ที่ทำให้คู่แข่งไม่สามารถลอกเลียนได้

5.Spiegel บอกว่า การบ้านชิ้นใหญ่ที่บริษัทต้องทำในวงการโฆษณาช่วง 10 ปีนับจากนี้ไป คือ การให้ความรู้กับบุคลากรในอุตสาหกรรมนี้ จุดนี้ Spiegel เชื่อว่า ตัวเองมีระบบ และทีมงานโฆษณาระดับหัวกะทิแล้ว (Spiegel ใช้คำว่า world-class ad units) และปีนี้ Snap ได้สร้างระบบวัดผลมากมายในการแสดงให้ธุรกิจเห็นแล้วว่า แคมเปญที่บริษัททำกับ Snap นั้นคุ้มค่า มี ROI สูง

สิ่งที่ Snap ต้องทำต่อจากนี้ คือ การให้ความรู้ต่อไป ที่ผ่านมา นักโฆษณาที่ลงโฆษณากับ Snap ก่อนหน้านี้ล้วนได้เห็นตัวเลขที่ยอดเยี่ยม ซึ่งบริษัทจะต้องแสดงให้ทุกคนเห็นต่อไปว่า การลงโฆษณากับ Snap นั้น มีประสิทธิภาพมากจริง

6.ดีเลิศเช่นนี้ทำไมรุ่งแต่ในบางประเทศ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว? เรื่องนี้ Spiegel พูดได้ดีว่า ในระยะยาว ตัวเขาเชื่อว่า Snapchat คือ บริการที่เหมาะสำหรับทุกคน เพียงแต่นี่คือช่วงเริ่มต้นของบริษัทเท่านั้น ทำให้ Snap ให้ความสำคัญกับตลาดอเมริกาเหนือ และยุโรปก่อนพื้นที่อื่น

7.Spiegel ยืนยันว่า ที่ไม่เคยตอบคำถามสื่อมวลชนเรื่องแนวทางออกสินค้าใหม่ของบริษัท ไม่ได้เป็นเพราะหยิ่ง แต่เพราะต้องการเซอร์ไพรส์ให้ทุกคนประหลาดใจ ซึ่งปีนี้จะมีเรื่องสนุกๆ ของ Snap รออยู่แน่นอน

Evan Spiegel กับ Miranda Kerr คู่หมั้นสาวอดีตซูเปอร์โมเดลของวิกตอเรียส์ซีเครต ผู้เคยโพสต์จวกยับ Facebook ฐานลอกเลียนแบบคุณสมบัติของ Snapchat
ภาวะ growth hacking ที่ผู้ใช้ถูกดึงไปใช้งานบริการอื่นด้วย notification หรือการแจ้งเตือนจำนวนมากบนหน้าจอสมาร์ทโฟน คือเหตุผลที่ซีอีโอมองว่าทำให้ยอดผู้ใช้ Snap โต้ช้าเมื่อเทียบกับคู่แข่ง

8.สำหรับสิ่งที่ต้องทำให้ดีขึ้น Spiegel มองว่า คือ การลดแรงเสียดทานระหว่างงานสร้างสรรค์ และงานผลักดันยอดผู้ใช้ให้ได้มากขึ้น กลยุทธ์นี้สะท้อนว่า Snap จะไม่ยอมให้แรงกดดันเรื่องตัวเลขฐานผู้ใช้ มามีอำนาจเหนือกว่าแรงบันดาลใจในการสร้างงาน

9.กรณีที่คู่แข่งลอกเลียนแบบบริการของ Snap ซีอีโอหนุ่ม 26 กะรัตบอกว่า เป็นเพราะความชื่นชอบ

Spiegel บอกว่า ถ้าใครอยากเป็นบริษัทสร้างสรรค์ หรือ creative company ก็ควรทำใจให้สบายกับความจริงที่ว่า มีหลายคนกำลังรอลอกอยู่ถ้าเราสามารถสร้างผลงานชิ้นเยี่ยมได้

10.Spiegel ฝากบอกถึงคู่แข่ง (และคู่ลอกเลียนแบบ) โดยไม่ได้ระบุชื่อ Facebook ว่า ท้ายที่สุดแล้ว ก็จะได้รู้กันว่าใครจะสอบได้ หรือสอบตก

Spiegel ยกตัวอย่างยาฮู (Yahoo) ว่า มีบริการค้นหาข้อมูลออนไลน์เช่นกัน แต่ก็ไม่ได้แปลว่า Yahoo จะประสบความสำเร็จเหมือน Google.

รูปแบบป้ายโฆษณาพร้อม “โลโก้รูปผี” ที่ไม่เหมือนใครของ Snap Inc. ในช่วงก่อนเปิดขาย IPO ที่ตลาดหุ้นนิวยอร์ก

ที่มา : http://manager.co.th/cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9600000048286

]]>
1125488